ชวนอ่าน! 3 นิยายที่บอกเล่าเรื่องราวของกษัตริย์ไทย ฉบับ ว. วินิจฉัยกุล

 

ชวนอ่าน!
3 นิยายที่บอกเล่าเรื่องราวของกษัตริย์ไทย
ฉบับ ว. วินิจฉัยกุล

 
ในสามโลกหาไม่มีเช่นนี้แล้ว
พระผู้เป็นฉัตรแก้วสโมสร
ปกป้องปวงประชามหานิกร
ให้คลายร้อนผ่อนเย็นเป็นนิจมา
 
ทูลอำลาอาลัยใจจะขาด
ข้าพระบาทกราบลงที่ตรงหน้า
ส่งเสด็จครวญคร่ำทั้งน้ำตา
เมื่อพระสู่ชั้นฟ้ามหานิพพาน
คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ (แก้วเก้า/ว.วินิจฉัยกุล)
 
ถ้าจะพูดถึงนักเขียนที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และมักจะสร้างสรรค์ผลงานอันแสดงถึงแนวคิดนี้อย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าจะต้องมีชื่อของ “ว. วินิจฉัยกุล” หรือ “แก้วเก้า) อยู่เป็นอันดับต้นๆ นักเขียนท่านนี้ มีผลงานมากกว่า 100 เล่ม ล้วนแต่เป็นผลงานสร้างสรรค์ ทรงคุณค่า และมีประโยชน์ต่อสังคม ผลงานของท่านหลายเรื่อง ถูกนำไปสร้างเป็นละคร เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็น โสดสโมสร, เบญจรงค์ห้าสี, เรือนไม้สีเบจ, เงาพราย, น้ำใสใจจริง, เจ้าบ้านเจ้าเรือน ฯลฯ
 
เนื่องจากช่วงนี้ เป็นช่วงเวลาของความสูญเสียและเศร้าโศก คนทั้งประเทศอยู่ในภาวะเจ็บช้ำ แอดมินจึงตัดสินใจเลือกหยิบยกผลงานของอาจารย์ว. วินิจฉัยกุลมานำเสนอ เพื่อให้นักเขียนนักอ่านเด็กดีได้ทำความรู้จักและได้ติดตามผลงานที่ถ่ายทอดความรู้และความน่าสนใจของสถาบันกษัตริย์ของไทย จะได้รู้ว่าประเทศของเราโชคดีเพียงใด
 
หวังว่าผลงานทั้ง 3 เรื่องที่ยกมา จะมีประโยชน์แก่นักเขียนนักอ่านทุกคน ไม่มากก็น้อย
 
*บทกลอนด้านบน อาจารย์ว. วินิจฉัยกุล แต่งขึ้นเพื่อไว้อาลัยให้แก่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ แอดมินขออนุญาตหยิบยกมาพูดถึงในเว็บไซต์เด็กดีดอทคอมแห่งนี้ และขอขอบพระคุณอาจารย์มา ณ ที่นี้ค่ะ  
 

รัตนโกสินทร์

เรื่องย่อ / คำโปรย :
คำว่า “รัตนโกสินทร์” หมายถึง รัตนโกสินทร์ตอนต้น เรื่องราวในนิยายเริ่มต้นช่วงปลายรัชกาลที่ ๑ เล่าเรื่องราวของ “ฟัก” หนุ่มลูกจีนที่เกิดให้เมืองไทย บิดาของฟักคือ “เจ้าสัวนายเตา” มีฐานะร่ำรวยจากกิจการการค้า แรกเริ่มเดิมที เจ้าสัวอยากให้ลูกชายคนโตไปเรียนต่อเมืองจีน แต่สุดท้ายก็แคล้วคลาดกัน “แม่พลับ” มารดา มีความหวังจะให้ฟักเข้ารับราชการไทย จังหวะชีวิตมาถึง เมื่อ “ส้มจีน” พี่สาวออกเรือนไปกับลูกชายข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีตำแหน่งเป็นถึงตุลาการ ฟักจึงมีโอกาสได้ติดสอยห้อยตาม คัดลอกหนังสือให้ท่านจนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญวิชาการทางด้านกฎหมาย ในช่วงแรกนั้น ฟักหลงรัก “แม่ช้อง” สาวสวยตาคม ทว่าด้วยชะตาชีวิต ทำให้ถูก “คุณสน” แย่งชิงตัวคนรักไป ฟักกัดฟันเดินหน้าต่อ ร่ำเรียนเขียนอ่านจนไต่เต้าเป็นข้าราชการมีหน้ามีตา ในที่สุดฟักก็ได้พบคู่แท้คือ “แม่เพ็ง” อดีตเด็กหญิงที่ฟักเคยช่วยชีวิตไว้
 
คุณค่าที่ปรากฎในนิยาย :  
ถ้าใครเคยอ่านเรื่อง “รัตนโกสินทร์” เชื่อว่าประเด็นแรกที่นึกถึงน่าจะเป็นประเด็นเดียวกับแอดมิน นั่นคือประเด็นเรื่อง “ความรัก” ของฟัก เนื่องจากเหตุการณ์ทั้งหมดในเรื่อง... เกิดขึ้นในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ จึงเป็นที่รู้กันว่า ในช่วงเวลานั้น เพศชายเป็นใหญ่ ยิ่งเป็นเพศชายที่มีตำแหน่งข้าราชการใหญ่ มีความสามารถ มียศฐาบรรดาศักดิ์ ย่อมไม่แปลกที่จะมีภรรยาหลายคน ทว่าฟักไม่เป็นเช่นนั้น ว. วินิจฉัยกุล สร้างตัวตนของข้าราชการหนุ่มอนาคตไกลผู้นี้ว่า เป็นผู้เห็นแก่เกียรติและสัจจะวาจายิ่งนัก เมื่อแรกรัก ฟักเคยรับปากและให้สัญญากับแม่เพ็งว่า... จะมีแม่เพ็งเป็นเมียเพียงคนเดียว และจะไม่มีเมียอื่น เมื่อต่อมามีเหตุการณ์พลิกผัน จนทำให้ใครหลายคนในครอบครัวต้องการให้ฟักมีภรรยาอีกคน และแม่เพ็งก็ยินยอม ฟักกลับพูดได้อย่างน่าฟังว่า “ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งตุลาการ ต้องรักษาวาจาและคำพูด และต้องมีความยุติธรรม” ดังนั้น ฟักจะไม่ยอมมีภรรยาใหม่เด็ดขาด ในสายตาแอดมิน นี่แหละ คือจุดเด่นที่สุดของนิยายเรื่องนี้ การสร้างตัวละครเพศชายที่ให้เกียรติผู้หญิง และประพฤติตนดีงาม คู่ควรแก่ตำแหน่งอันสูงศักดิ์
 
จุดเด่นในเรื่องนี้ ยังทำให้เราได้รู้ได้เข้าใจวิถีชีวิตของคนไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น อาจารย์ว. วินิจฉัยกุลใส่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ได้อย่างน่าสนใจ ท่านถึงกับกล่าวถึง “สุนทรภู่” ซึ่งเป็นกวีในช่วงยุครัชกาลที่ ๒ ด้วยซ้ำ (ฟักได้พบสุนทรภู่และยังได้ฟังกลอนจากท่านด้วย) นอกจากนี้ เมื่ออ่านไป ทำให้เรามองเห็น “ภาพ” ของชาวไทยในอดีตได้มากขึ้น ทำให้เราได้รู้ว่าความผูกพันระหว่างข้าราชการและพระมหากษัตริย์นั้นมีที่มา และความจงรักภักดี ก็เกิดจากความบริสุทธิ์ใจแท้ๆ ไม่ใช่เสแสร้งแกล้งทำ ฟักคือตัวแทนของชาวจีนที่มาเกิดและเติบโตในเมืองไทย และสุดท้ายได้พึ่งพาพระบารมีของกษัตริย์ไทย จนก่อเกิดเป็นความภักดีจากใจจริง อาจารย์ว. วินิจฉัยกุลทำให้เราเข้าใจที่มาที่ไปของระบบกษัตริย์แบบ “พ่อปกครองลูก” ซึ่งไม่มีที่ไหนอีกแล้วนอกจากประเทศไทยได้อย่างลึกซึ้ง  
  
แนวคิดที่ได้จากเรื่อง :
สัจจะวาจาและความยุติธรรมคือสิ่งสำคัญ
 

สองฝั่งคลอง

เรื่องย่อ / คำโปรย :  
เรื่องราวในหนังสือเกิดขึ้นในช่วงรัชกาลที่ ๖ จนถึงปัจจุบัน เนื้อหาเล่าถึงเด็กหญิงทับทิมผู้กำพร้าแม่ และต้องอาศัยอยู่กับคุณปู่คุณย่าในบ้านริมฝั่งคลอง แถวคลองสาน คุณปู่ของทับทิมดำรงตำแหน่ง “เจ้าคุณทหาร” มีบุตรสาวคนโตชื่อยี่สุ่น ซึ่งมีลูกสาวสองคนคือ สาคร และ เฟื่อง และมีลูกชายคนเล็กชื่อ โกเมน เด็กหญิงรุ่นหลานทั้งสามคนนั้นไม่ถูกชะตากัน เนื่องจากทับทิมเป็นคนไม่สวยและพูดจาแข็งกร้าว ทว่าปู่ของทับทิมคอยดูแลกวดขันอย่างใกล้ชิด ทั้งอบรมสั่งสอน บ่มเพาะวิชาความรู้ให้เด็กหญิงตัวน้อยเพื่อให้เธอเป็นคนใฝ่ดีและบูชาความรู้ ต่อมา คุณปู่คุณย่าเสียชีวิต ยี่สุ่นทนเสียงเรียกร้องของลูกสาวไม่ไหว จึงไม่ยอมให้ค่าเล่าเรียนแก่ทับทิม เพราะอับอายว่าหลานจะเรียนสูงกว่าลูก เคราะห์ดีที่ทับทิมเข้มแข็งพอ จึงนำข้าวของของแม่ไปขาย และสุดท้ายก็สามารถเรียนสำเร็จปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมา ทับทิมได้สมรสกับ คุณลาน ลูกชาย “เจ้าคุณยุติธรรม” และต้องเผชิญกับความลำบากในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รวมไปถึงเข้าไปเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงปกครอง หรือปฏิวัติ 2475 อย่างไรก็ตาม ทับทิมสามารถใช้ความรู้วิชาและจิตใจอันดีงาม ตามที่ได้รับคำอบรมสั่งสอนจากคุณปู่คุณย่า เอาตัวรอดมาได้สำเร็จ และอยู่ต่อมาจนถึงยุคปัจจุบัน พร้อมมีบุตรหลานพร้อมหน้าพร้อมตา
 
คุณค่าที่ปรากฎในนิยาย :  
นิยายเรื่องนี้ เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2468 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงพ.ศ. 2489 หนึ่งปีหลังสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล ช่วงเวลานี้ ประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลงและผันผวนทางสังคมอย่างมากมาย มีการเปลี่ยนรัชกาล 3 รัชกาลด้วยกัน และการเปลี่ยนแปลงในช่วงปี พ.ศ. 2475 ยังสร้างผลกระทบต่อจิตใจของคนไทยทั้งประเทศ อาจารย์ว. วินิจฉัยกุล บันทึกเรื่องราวเหล่านี้ไว้อย่างละเอียด ผ่านบทสนทนาประจำวัน หรือเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่ปู่ของทับทิม ถูก “ดุลยภาพ” หรือให้ออกจากราชการ แล้วมีเงินทองน้อยลงจนแทบไม่พอเลี้ยงคนในครอบครัว ตลอดจนเรื่องการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในยุคของจอมพลแปลก พิบูลย์สงคราม ต้องมีการเปลี่ยนชื่อ รณรงค์ให้คนไทยกินก๋วยเตี๋ยว เลิกกินหมาก สวมหมวก เป็นต้น เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเหล่านี้ ทำให้แอดมินค่อนข้างแปลกใจ ระหว่างที่อ่านไป ก็รู้สึกเหมือนได้เห็นโลกใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า คนสมัยก่อนคงลำบากพอใช้ เพราะต้องปรับตัวหลายอย่างทีเดียว
 
อย่างไรก็ตาม อาจารย์ว. วินิจฉัยกุลก็ยังคงไม่ทิ้งเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ในเรื่องได้พูดถึงความเจ็บปวดของเจ้าคุณยุติธรรม บิดาของคุณลาน พระเอกของเรื่อง อย่างชัดเจน ท่านไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติ และเชื่อมั่นในองค์พระมหากษัตริย์เรื่อยมา แนวคิดตรงกันข้ามนี้ ปรากฎอย่างละเอียด แต่ก็ไม่ใช่เป็นประเภทนำเสนอแบบหักดิบ เพราะอาจารย์ได้ให้เหตุผลของทั้งสองฝ่ายเอาไว้ ด้วยน้ำหนักที่มากพอกัน เราในฐานะคนอ่านจึงต้องรู้จักอ่านและนำมาวิเคราะห์ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ว่าเจ้าของเรื่องสรุปหรือตัดสินใจให้ ที่สำคัญ เนื่องจากเนื้อหาในเรื่องนี้อยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง จึงได้มีการโยงเรื่องของเสรีไทยเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยคุณลานได้พาเสรีไทย (กลุ่มที่สนับสนุนอังกฤษ ในช่วงญี่ปุ่นยึดครองประเทศไทย) เข้ามาแอบอยู่ในบ้าน และได้มีตำรวจญี่ปุ่นมาค้นบ้านด้วย อ่านแล้วทำให้เราเห็นภาพเป็นฉากๆ และได้รู้ว่า ชาวบ้านในสมัยนั้นลำบากแค่ไหน และต้องวางตัวอย่างระมัดระวังเพียงใด
 
นอกจากภาพของสังคมและวัฒนธรรมที่ปรากฎในเรื่องแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เด่นชัดคือ อาจารย์ว. วินิจฉัยกุล ได้ใส่ข้อคิดในการดำเนินชีวิตไว้อย่างน่าสนใจ ผ่านชีวิตของตัวละคร ทับทิมนั้นไม่มีทรัพย์สมบัติมากมายเช่นที่ เฟื่อง สาครและโกเมนได้ แต่เธอใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ประหยัด และรู้จักความควรไม่ควร ในขณะที่หลานอีกสามคนใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย ไม่รอบคอบ ติดฝิ่น โดนผู้ชายหลอกลวง เพราะคิดว่าตัวเองเกิดมาร่ำรวย ไม่ต้องทำอะไรก็มีบุญวาสนา ผลสุดท้าย ทำให้ครอบครัวแตกแยก และบ้านต้องถูกขาย ในขณะที่ทับทิม ค่อยๆ เก็บออม ใช้ชีวิตอย่างระวัง จนสุดท้ายก็กลายเป็นชนชั้นกลางผู้มีเงินทอง นิยายเรื่องนี้ ทำให้เราได้รู้ซึ้งถึงคำว่า “มีวิชาความรู้ก็เหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน” เพราะต่อให้เรามีเงินทองปริมาณมหาศาลแค่ไหน ถ้าไม่รู้จักดำเนินชีวิตอย่างระวัง ก็มีสิทธิ์ที่จะล้มเหลวได้เท่ากับคนที่ฐานะย่ำแย่กว่าเช่นกัน
 
แนวคิดที่ได้จากเรื่อง :
ความรู้และความดีคือสิ่งที่มนุษย์ควรใส่ใจ มากกว่าสมบัติหรือเงินทองนอกกาย
  

ราตรีประดับดาว   

เรื่องย่อ / คำโปรย :  
คำนำสนพ. ได้บอกไว้ว่า
 
สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเป็นสัจธรรมที่ดำเนินมาเป็นเวลาหลายชั่วอายุ ชีวิตที่เกิดมาแต่ละชีวิต มีทั้งรัก โลภ โกรธ หลง ทำให้แต่ละคนมีความเป็นไปอย่างไม่อาจหลีกหนีปัญหาที่เกิดขึ้นมาได้...เช่นเดียวกับตัวละคนใน "ราตรีประดับดาว"
 
วิถีแห่งชีวิตของ เกด สาวน้อยจากจังหวัดเพชรบุรี ที่ถูกลิขิตให้ต้องเข้ามาเวียนวนกับเหตุการณ์ความเปลี่ยนแปลงผกผันต่างๆ ของครอบครัวตนเองกับนายทหารหนุ่มที่มีอนาคตก้าวไกล แต่ก็มีชีวิตที่ต้องประสบกับความเป็นจริงเรื่องปัญหาต่างๆ รอบด้าน ... ความรัก ความอดทน ที่สามารถนำพาเธอไปสู่ความสำเร็จในชีวิตบั้นปลาย
 
นับเป็นตัวอย่างของครอบครัวไทยในยุคที่ผู้หญิงยังต้องยึดมั่นอยู่กับวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีอยู่ ... ว.วินิจฉัยกุล นำเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้ บรรจงเรียงร้อย 'ราตรีประดับดาว' อย่างสวยงามและชวนติดตาม...
 
ใช่แล้ว นิยายเรื่องนี้บอกเล่าชีวิตของ แม่เกด สาวน้อยธรรมดาๆ คนหนึ่งจากเพชรบุรี ผู้เคยถูกหลวงตาผู้ขึ้นชื่อเรื่องทำนายดวง ทำนายว่า ชะตาจะขึ้นสูงสุด แต่ก็จะต้องเจ็บปวดผิดกับใครๆ เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเมื่อ คุณนาถ นายทหารรูปงามเดินทางมาที่บ้านของพ่อเกด และตัดสินใจสู่ขอเกดไปเป็นภรรยา ทว่าเมื่อเกดตั้งครรภ์และมีลูก ทำให้ไม่สามารถเดินทางตามคุณนาถไปยัง บางกอก (กรุงเทพฯ) ได้ ก็ทำให้คุณนาถไปหลงเสน่ห์ของ “เนื้อทอง” ผู้หญิงอีกคน กว่าเกดจะตามหาคุณนาถพบ ก็พบว่าสามีของตนไปหลงใหลผู้หญิงคนใหม่เสียแล้ว
 
คุณค่าที่ปรากฎในนิยาย :  
สารภาพตรงๆ ว่า คุณนาถ เป็นหนึ่งในพระเอกของอาจารย์ว. วินิจฉัยกุลที่แอดมินแอบไม่ชอบสุดๆ เลยค่ะ เพราะความอ่อนไหว โลเล ทำให้คุณนาถไปมีภรรยาใหม่ คือ เนื้อทอง ผู้ซึ่งแม้จะเป็นเมียน้อย แต่ก็ไม่เคยจะลดราวาศอก และโจมตีเมียหลวงหน้าใสๆ อย่างเกดแบบไม่ให้ตั้งตัว อย่างไรก็ดี เนื่องจากเกดถูกอบรมมาอย่างกุลสตรี มีจิตใจงดงาม ทำให้เธอยังไม่อาจตัดใจจากสามีได้ เมื่อเขาถูกเนื้อทองทอดทิ้ง เพราะตกเป็นผู้ต้องหาหลังไม่ยอมเข้าร่วมการปฎิวัติ พ.ศ. 2475 เกดก็ให้อภัยอย่างเต็มใจและรับเขากลับมาเป็นสามีเหมือนเดิม (แอดมินแค้นใจเบาๆ)
 
นอกจากเรื่องชิงรักหักสวาทแล้ว แอดมินขอสารภาพว่า นิยายเรื่องนี้ นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ได้ละเอียดมาก อาจารย์ว. วินิจฉัยกุลได้กล่าวถึงตัวละครที่มีจริงในประวัติศาสตร์หลายคนทีเดียว หนึ่งในนั้นคือ จอมพลแปลก พิบูลย์สงคราม ในเรื่องเขาคือหนุ่มน้อยอนาคตไกล ผู้หวังดีต่อประเทศชาติ แต่... คงเหมือนที่คุณนาถกล่าวเอาไว้ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย ว่า อำนาจนั้นเหมือนขนมหวาน เมื่อเกิดการปฏิวัติจริง ให้ระวังว่าคณะปฏิวัติอาจมีปัญหากันเอง และอาจแบ่งอำนาจได้ไม่ลงตัว (ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง) สำหรับแอดมิน นิยายเรื่องนี้ ทำให้คนที่สนใจเรื่องการเมืองการปกครองอย่างแอดมินอ่านแบบตาไม่กะพริบ ก็ในหนังสือหรือตำราไทยเล่มไหนๆ ก็ไม่เคยสอนอย่างละเอียดลออแบบนี้นี่นา อาจารย์ว. วินิจฉัยกุลได้จำลองเหตุการณ์ในช่วงปฏิวัติให้เราได้เห็นเป็นฉากๆ ตั้งแต่กระบวนการคิด สาเหตุที่ทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้น และท่านยังนำเสนอความคิดของทั้งฝั่งเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ เชื้อพระวงศ์ทั้งหลาย รวมไปถึงความคิดจากฝั่งทหารผู้ตัดสินใจปฏิวัติ ซึ่งนี่แหละ คือความเก่งกาจของอาจารย์ เพราะเราอ่านแล้ว “เข้าใจทุกฝ่าย” และไม่โกรธฝ่ายไหนเลย แอดมินรู้สึกว่าอาจารย์ต้องการจะสื่อว่าในสถานการณ์นั้น ทุกคนมีเจตนาดีและหวังดีต่อชาติบ้านเมือง เพียงแต่ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ทำให้สถานการณ์อิหลักอิเหลื่อและไปไกลเกินที่ตั้งใจไว้ ซึ่งก็นั่นแหละค่ะ อย่างที่บอก แอดมินอ่านแล้วเข้าใจทุกฝ่ายจริงๆ และอยากบอกน้องๆ ทุกคนที่อ่านเรื่อง ปฏิวัติ พ.ศ. 2475 แล้วไม่เข้าใจว่า จงหาราตรีประดับดาวมาอ่าน เราจะเข้าใจสถานการณ์ได้ดีมากจริงๆ
 
เป็นนิยายที่ควรจะกลายเป็นตำราเรียนหรือเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ค่ะ งานดีมากจริงๆ เรื่องนี้
 
แนวคิดที่ได้จากเรื่อง :
บางครั้งความรักของคนเราอาจไม่สมบูรณ์แบบ แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับใจเราเลือกเอง    
 
ส่วนตัวแอดมินอ่านครบทั้ง 3 เรื่องและชอบทั้ง 3 เรื่อง จุดเด่นของนิยายฉบับอาจารย์ว. วินิจฉัยกุลคือ “ข้อมูล” ที่ปรากฎในผลงานค่ะ ทุกครั้งที่อ่านงานของอาจารย์ แอดมินจะได้ข้อมูลใหม่ๆ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เรื่องราวดีๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน ยิ่งเมื่อทั้ง 3 เรื่อง เล่าถึงประเทศไทยในอดีต ก็เหมือนพาเราย้อนเวลาไปสัมผัส “ประวัติศาสตร์ไทย” มากขึ้น การบรรยายของอาจารย์ละเอียดลออ ใส่ใจแม้จุดเล็กๆ น้อยๆ อ่านแล้วเห็นภาพและฉากต่างๆ ได้ชัดเจน หลายเหตุการณ์ เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ และอาจารย์ได้นำจินตนาการส่วนตนมาสร้างสรรค์เป็นผลงานใหม่ๆ ทำให้คนอ่านอย่างเราได้ประโยชน์มากๆ แอดมินต้องขอขอบพระคุณอาจารย์ ที่ได้แบ่งปันความรู้ทางประวัติศาสตร์ให้แก่นักอ่านรุ่นหลังๆ ผ่านผลงานอันน่าชื่นชมค่ะ
 
สุดท้าย หวังว่าทุกคนอ่านแล้วจะได้ประโยชน์จากนิยายทั้ง 3 เรื่อง เหมือนที่แอดมินได้นะคะ
สนใจลองหาอ่านกันดู เข้าไปเช็คข้อมูลที่
 
เพจสำนักพิมพ์ เพื่อนดี อักษรโสภณ
เว็บไซต์สำนักพิมพ์ เพื่อนดี
 
หรือถ้าใครจะไปเดินงานหนังสือช่วงวันที่ 13-24 ตุลาคม 2559 นี้ ก็สามารถอุดหนุนผลงานเหล่านี้ได้ที่บูทสนพ. เพื่อนดี อักษรโสภณ I01 plenary hall ค่ะ
 
ทีมงานนักเขียนเด็กดี 
 
ทีมงาน writer

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

5 ความคิดเห็น

มัณทนา Member 19 ต.ค. 59 15:28 น. 1

ราตรีประดับดาวเอามาสร้างเป็นละครยากนะคะและไม่ควรสร้างด้วย

เพราะมีการพูดถึงบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง

0
กำลังโหลด
Yukionna Member 20 ต.ค. 59 12:06 น. 2
เคยอ่านราตรีประดับดาวค่ะ ไปเจอที่ห้องสมุดรร. ชอบสำนวนภาษาและการบรรยายมาก แต่อ่านไม่จบ หยุดอ่านช่วงที่แม่เกดโดนเนื้อทองอวดเบ่งใส่ รับไม่ได้จริงๆที่ผญ.คนนึงจะทนขนาดนี้เพราะความรัก อีตาคุณนาถก็ดูไม่ไยดีอะไรเลย หมางเมิน สนแต่ลูก สุดท้ายเลยหยุดอ่านทั้งๆที่ค่อนข้างชอบการบรรยาย
0
กำลังโหลด
~โรตีกล้วยหอม~ Member 20 ต.ค. 59 19:50 น. 3

ชอบผลงานของคุณหญิงมากเลยค่ะ อ่านแล้วให้ข้อคิดดี และให้ข้อมูลประวัติศาสตร์ของยุคนั้น เหมือนได้เข้าไปอยู่ในนั้นจริงๆ ภาษาอ่านเข้าใจง่ายและสละสลวยมากด้วยค่ะ

0
กำลังโหลด
PitiBangkok2522 Member 22 ต.ค. 59 15:00 น. 4

เขียนได้ดี

ชอบนิยายของอาจารย์ ว.วินิจฉัยกุล อ่านแล้วให้อะไรหลายแง่มุม ข้อคิด

. . . .

รัตนโกสินทร์ บทประพันธ์ชิ้นเยี่ยมของอาจารย์

สร้างเป็นละครเมื่อปี 2539 ทำออกมาได้ประทับใจเช่นกัน

... 

รัตนโกสินทร์ คือแผ่นดิน ที่หล่อหลอม หัวใจ 

ร้อยความรักรวมผู้คน

มากมายอาศัยอยู่ร่วมชายคา 

เชื้อชาติไหนก็พี่น้อง

ล้วนพวกพ้อง ข้องเกี่ยวนาน เนิ่นมา 

ทุกชีวิตมีสุขใจใต้ฟ้า...ใต้บารมี จักรีวงศ์

และเมื่อความรักของเราเกิดขึ้น

จากดวงใจสองดวงที่ซื่อตรง 

บนแผ่นดินแห่งความรัก

ด้วยศรัทธาที่มั่นคง 

รักย่อมยืนยง ตลอดไป 

ขอแค่มีเธอกับฉัน และมีรักที่ผูกพันหัวใจ 

ก็สุขแล้วบนแผ่นดินกว้างไกล แห่งรัตนโกสินทร์ ......

.

.

.

****ชอบเพลงประกอบละครรัตนโกสินทร์ มากๆ

============================

และสองฝั่งคลอง เรื่องนี้เนื้อหาก็ดีมาก อ่านสนุก

เป็นเมื่อปี 2536 แม่ทับทิม (แหม่ม จินตหรา)

(แซม ยุรนันท์)

กระทู้ ย้อนรอย... ละครสองฝั่งคลอง

 https://www.dek-d.com/board/view/3692033/

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด