1+4 แม่พลอยและ "นางในอื่นๆ" ที่คนพูดถึงมากที่สุด (จากนิยาย)

 
 

5 อันดับ "นางใน" ที่คนพูดถึงมากที่สุด (จากนิยาย)  
 

สวัสดีชาวนักเขียนนักอ่านเด็กดีทุกคนค่ะ ช่วงเวลาแห่งการสูญเสียที่ผ่านมา สังเกตได้ว่ากระทู้ในเว็บบอร์ดของเว็บไซต์เด็กดีดอทคอม ได้มีผู้นำประวัติเกี่ยวกับ “เจ้านายชั้นผู้ใหญ่” ในอดีตมานำเสนอเป็นจำนวนมาก (พี่ลาเต้เป็นหนึ่งในนั้น เขียนได้สนุกจนแอดมินติดหนึบหนับเชียวค่ะ) หลังจากอ่านกระทู้ดังกล่าว สิ่งที่แอดมินสนใจมากๆ เลยคือ “นางใน” ค่ะ
 
ตัวแอดมินเอง ได้อ่านและได้รู้จัก “นางใน” ครั้งแรกเลยจากนิยายเรื่อง “ร่มฉัตร” ของคุณทมยันตี นักเขียนรุ่นใหญ่ที่สำนวนเฉียบขาดจริงๆ จากนั้นก็ประทับใจและชื่นชอบมาตลอด (บางครั้งแอบอยากเป็นนางในเองด้วยซ้ำ)
 
หลายคนอาจยังไม่แน่ใจว่านางในคืออะไร ตามความรู้ความเข้าใจของแอดมิน คือผู้หญิงที่เกิดในตระกูลสูงและถูกส่งตัวเข้ามาร่ำเรียนวิชากุลสตรีในวัง โดยวิชาดังกล่าวนั้น ได้แก่ กับข้าวกับปลาทั้งคาวและหวาน การเย็บปักถักร้อย ตลอดจนความรู้ด้านการเล่าเรียนเขียนอ่าน พูดง่ายๆ “นางใน” น่าจะเหมือน นักเรียนในโรงเรียนสอนหลักสูตรการเป็นกุลสตรีนั่นเอง
 
เอาละ เราไปดูกันดีกว่าว่า มี “นางใน” คนไหนที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักจากตัวหนังสือบ้าง
 

 
หม่องหลวงเนื่อง นิลรัตน์
จากเรื่องชีวิตในวัง โดยหม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์
 
ส่วนตัวแอดมินไม่เคยอ่านหนังสือเรื่อง “ชีวิตในวัง” มาก่อน แต่ได้ยินเพื่อนเล่าให้ฟังบ่อยมาก ถึงชีวิตของหม่อมหลวงเนื่อง ผู้เขียนหนังสือเรื่องนี้ ที่แปลกกว่านิยายเรื่องอื่นๆ คือ หม่อมหลวงเนื่องมีตัวตนอยู่จริง และเพื่อจะเสียชีวิตไปเมื่อไม่นานมานี้เอง (ปี พ.ศ. 2553 อายุได้ 97 ปี) ครั้นยังมีชีวิต หม่อมหลวงเนื่องทำหน้าที่ข้าหลวงประจำห้องเครื่องในพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ท่านจึงรับสืบทอดตำรับตำราอาหารชาววังเอาไว้ในทุกรูปแบบ
 
ในงานสัปดาห์หนังสือที่ผ่านมา แอดมินบังเอิญผ่านไปเห็นหนังสือเรื่อง “ชีวิตในวัง” ฉบับตีพิมพ์ใหม่ ปกสีฟ้าสดใส ก็เลยซื้อติดมือมาด้วย เมื่อได้อ่าน ก็พบว่าหนังสือเล่มนี้ ให้ข้อมูลดีๆ มีประโยชน์เยอะมาก เนื่องจากแอดมินเกิดไม่ทัน จึงไม่มีโอกาสได้รู้หรือได้เป็น “นางใน” กับเขา (ถึงเกิดทันก็คงเป็นไม่ได้เพราะวาสนาไม่ถึง แง) แต่การได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เหมือนเราได้ตามติดชีวิต “นางใน” อย่างใกล้ชิด และรู้สึกสนุกมากๆ โดยเฉพาะเรื่องสูตรอาหาร หม่อมหลวงเนื่องถ่ายทอดเอาไว้ในหนังสืออย่างละเอียด เนื้อเรื่องในแต่ละตอนไม่ยาวเลย อ่านสบายๆ เขียนเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย อ่านแล้วได้ความรู้ดีๆ ได้รู้จัก “นางใน” มากขึ้นเยอะเลยค่ะ หม่อมหลวงเนื่องมีอารมณ์ขันและเล่าเรื่องได้กระชับฉับไว อ่านแล้วเราเห็นภาพเด็กหญิงตัวเล็กๆ ที่ค่อยๆ เติบโตขึ้นพร้อมภาระและความรับผิดชอบสำคัญ จนเรานึกเอาใจช่วยและสนุกไปกับเธอค่ะ 
 
ใครอยากซื้อแนะนำนะคะ ได้ความรู้ดีๆ เยอะมาก สนพ. พลอยแกมเพชรค่ะ
 

 
แม่พลอย
จากเรื่องสี่แผ่นดิน โดยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช
 
สำหรับชื่อ “แม่พลอย” แอดมินคงไม่ต้องพูดอะไรมาก เชื่อว่าทุกๆ คนเคยได้ยินชื่อนี้ แม่พลอยนั้น นอกจากจะเป็น “นางใน” แล้ว ยังมีชื่อเรื่องอยู่มาจนถึงสี่แผ่นดิน จากการบอกเล่าในเรื่อง พบว่าพลอย “เข้าวัง” เป็นนางในตั้งแต่ยังเด็กเล็ก และได้เรียนรู้วิชาการเป็น “นางใน” อย่างเจนจบ แอดมินชอบคำบรรยายนี้ค่ะ อ่านแล้วรู้สึกว่า บอกได้ดีว่านางในทำอะไรกัน
 
พลอยเรียนหนังสือพร้อมกับช้อย ชื่อ มูลบรรพกิจ และยังทำอย่างอื่นสม่ำเสมอ เช่น การเจียนหมากจีบพลูยาว ใส่เชี่ยนหมากเสวยของเสด็จ ตลอดจนดูแลเครื่องทรงต่างๆ ตอนกลางคืน พลอยไปถวายงานพัดเสด็จ”, จากหนังสือ สี่แผ่นดิน 
 
คำว่า “เสด็จ” นั้นหมายถึงเจ้านายชั้นสูง “นางใน” เมื่อเข้าวังมาแล้ว ก็จะมาอาศัยพึ่งพาบารมีของท่าน และได้ศึกษาวิชาความรู้ต่างๆ จนแตกฉาน แล้วแต่ว่าใครสนใจด้านไหน สำหรับพลอย นักเขียนไม่ได้ระบุลงไปอย่างละเอียด แต่จะพูดรวมๆ มากกว่าว่าพลอยได้รับถ่ายทอดคุณสมบัติของกุลสตรีอันงดงามมาอย่างครบถ้วน  
 

 
แม่วาด
จากเรื่องร่มฉัตร โดยทมยันตี
 
ร่มฉัตรเป็นนิยายเรื่องแรกที่เปิดโลก “นางใน” ให้กับแอดมิน ครั้งแรกที่อ่านนิยายเรื่องนี้ใหม่ๆ ยอมรับว่าแอดมินตื่นตาตื่นใจกับโลกของ “นางใน” มาก อารมณ์ประมาณว่า... มีเรื่องแบบนี้ในประเทศไทยด้วยหรือ ที่สำคัญ ด้วยสำนวนของทมยันตี ทำให้เราอ่านไปแล้วรู้สึกอิน ตัวอักษรของท่านแฝงด้วยอารมณ์ การดำเนินเรื่องมีความน่าสนใจและเต็มไปด้วยชีวิตชีวา เส้นทางชีวิตของวาดถูกเรียงร้อยเป็นเรื่องราวที่สวยงาม ด้วยความที่แม่ของวาด เคยเป็น “นางใน” ผู้มีฝีมือด้านร้อยดอกไม้และได้ถวายการรับใช้ใกล้ชิด เสด็จ มากที่สุดคนหนึ่ง ทำให้แม่ใฝ่ฝันอยากให้วาดได้เข้าวังเหมือนกับตัวเอง ความฝันนี้สำเร็จ แต่วาดต้องเสียแม่ไป
 
หลังกำพร้าแม่ วาดเข้าวังและมีแม่กลิ่นเป็นเพื่อนสนิท คอยซุกซนเล่นหัวกัน วาดเป็นเด็กหญิงเรียบร้อยกิริยามารยาทงาม และได้ถ่ายทอดฝีมือต่างๆ ไว้ครบถ้วน ไม่ว่าจะตำราอาหารคาวหวานหรืองานเย็บปักถักร้อย ทมยันตีบรรยายบรรยากาศในวังได้อย่างละเอียดลออ ทำให้คนอ่านอย่างเรารู้สึกเหมือนหลุดเข้าไปในโลกที่ไม่เคยรู้จัก แต่ก็น่าตื่นตาตื่นใจและน่าสนใจ เราได้รู้จักห้องเครื่อง อันเป็นที่ปรุงอาหารคาวหวาน ได้รู้จักวิถีชีวิตของชาววัง รวมถึงได้รู้ด้วยว่าชาววังชอบอาหารรสหวาน ได้รู้จักโขลน ผู้คอยควบคุมดูแลสถานการณ์ในวัง รวมถึงได้รู้วิธีการเข้าห้องน้ำในวังด้วย (อ่านแล้วแอบทึ่งเบาๆ) ทมยันตีเป็นนักเขียนที่มีความสามารถมาก เธอได้สอดแทรกเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ ผ่านบทสนทนา ผ่านสถานการณ์ต่างๆ และทำให้เราอ่านแล้วจดจำได้
 
สรุปว่า จากหนังสือทั้ง 5 เรื่องที่ยกมา แอดมินคิดว่า ร่มฉัตร เป็นนิยายที่ให้ความรู้เรื่อง “นางใน” ได้ละเอียดที่สุด ทมยันตีบรรยายชีวิตในวังของวาดไว้ได้ละเอียดมากๆ จากเด็กหญิงตัวน้อย เติบโตเป็นสาวสวย กิริยามารยาทงาม และได้สมรสไปกับคุณอรรถ หนุ่มสูงศักดิ์นักเรียนนอก ณ จุดนี้ แอดมินคิดว่าร่มฉัตรยังแสดงถึงวิถีชีวิตของชนชั้นสูงในไทยได้อย่างชัดเจน ผู้หญิงตระกูลสูง ก็ต้องได้ครองคู่กับผู้ชายที่ดีมีความรู้ นิยายเรื่องนี้สะท้อนสังคมไทยในช่วงสมัยรัชกาลที่ 7 ได้อย่างน่าสนใจมากๆ ค่ะ (ภายหลัง คุณอรรถ สามีของวาดได้เข้าร่วมกับคณะราษฎร์ด้วย และเป็นหนึ่งในผู้นำการปฏิวัติการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 - - แต่เนื่องจากไม่ใช่เรื่องของนางใน เราจึงขอข้ามไปไม่พูดถึง)
 
ถ้าใครอยากรู้ชีวิตของคนในวัง (ไม่เฉพาะแค่ “นางใน”) แอดมินแนะนำให้อ่านร่มฉัตรเลยค่ะ ความรู้แน่นมากจริงๆ
 


 
อุมา
จากเรื่องผ้าทอง โดยแก้วเก้า
 
ผ้าทอง เป็นหนึ่งในนิยายในดวงใจของแอดมินเลยค่ะ นิยายเรื่องนี้เป็นผลงานของอาจารย์ว. วินิจฉัยกุลหรือแก้วเก้า (เรื่องนี้เขียนในนามปากกาแก้วเก้า) ในเรื่องเล่าถึงชีวิตในวังของอุมา เด็กสาวสวยผู้มีความรักและหลงใหลในการเย็บปักถักร้อย ฝีมือการปักผ้าของอุมานั้น นักเขียนเปรียบเทียบกับนางพิมพิลาไลยหรือนางวันทอง ที่บอกว่า เส้นไหมแม้นเขียนแนบเนียนดี สิ้นฝีมือแล้วแต่นางเดียว”
 
แก้วเก้าไม่ได้เล่าวิถีชีวิตในวังละเอียดแบบที่ทมยันตีเล่า แต่ส่วนใหญ่แล้ว จะบอกเล่าเรื่องราวของอุมามากกว่า เราได้เห็นชีวิตของ “นางใน” ผ่านอุมา ในแต่ละวัน ก็จะฝึกปรือฝีมือในด้านต่างๆ และเมื่ออุมามีความเชี่ยวชาญด้านการปักผ้า เราจึงได้รู้จักเรื่องสะดึง เส้นไหม ลายปักผ้าต่างๆ (ลายเทพนม ลายประจำยาม เป็นต้น) และยังได้รู้ด้วยว่า “นางใน” เหล่านี้ ทำงานสวยๆ เพื่อนำขึ้นถวาย “เสด็จ” ในหนังสือมีฉากที่อุมานำผ้าทองอันงดงามของเธอขึ้นถวายและได้รับรางวัลกลับคืนมา เป็นสร้อยทอง สลักเป็นรูปหลอดด้าย เข็มปักผ้า และปลอกนิ้ว ฉากนี้แสดงให้เห็นถึงพระเมตตาที่เจ้านายมีต่อคนในปกครองได้เป็นอย่างดีค่ะ
 
การบรรยายของแก้วเก้ายังทำให้เราได้เห็นฝีมือของช่างไทยสมัยก่อนได้อย่างไม่น่าเชื่อ สิ่งนี้ถูกนำเสนอผ่าน “ครู” ของอุมา ครูเป็นผู้สอนอุมาในเรื่องการปักผ้าและสร้างผลงาน แอดมินประทับใจมาก มีสถานการณ์สำคัญหนึ่ง เมื่ออุมาเครียดและไม่สบายใจ เธอจึงไปหาครูเพื่อสนทนาให้จิตใจสงบ ครูบอกอุมาว่า การจะสร้างงานฝีมือ คุณต้องมีจิตใจสงบ และมีความนิ่งมากพอ จึงจะเกิดเป็นสมาธิ และทำให้สร้างผลงานอันงดงามออกมาได้ สิ่งนี้ แสดงให้เห็นว่าเวลาคนไทยสมัยก่อนสร้างผลงานพวกนี้ ไม่ว่าจะวาดภาพ ปักผ้า หรือเขียนลาย พวกเขาไม่ได้ทำแบบลวกๆ แต่ใช้สมาธิและความอดทนมาก และผลงานเหล่านี้ก็มีความสำคัญมากจนไม่อาจประมาณค่าได้ และ “วัง” นี่เอง เป็นสถานที่ผลิตผลงานดีๆ และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ จะว่าไป การเป็น “นางใน” ก็เหมือนการที่เราไปฝึกความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของเราให้โดดเด่นมากขึ้น และนำมารับใช้ประเทศชาตินั่นเองค่ะ  
 
แอดมินชอบเวลาผู้เขียนบรรยายฉากอุมาปักผ้า เหมือนเธอหลุดเข้าไปในโลกของตัวเอง มีความภูมิใจ มีความสุข ความสงบ ความรัก และความฝัน ทุกอย่างเธอถ่ายทอดลงบนผืนผ้าอันงดงาม... และถ้าความสุขของอุมาคือการปักผ้า แอดมินคิดว่าความสุขของแอดมินคือการเขียนหนังสือนะคะ ทั้งสองอย่างนี้เป็นงานศิลปะที่ต้องใช้เวลาและใช้สมาธิมากๆ ค่ะ
 

 
ลอออร
จากเรื่องมาลัยสามชาย โดยว. วินิจฉัยกุล
 
พูดถึง “มาลัยสามชาย” หลายคนอาจจะงงๆ ว่า มีพูดถึง “นางใน” ด้วยหรือ จำได้แต่เรื่องของ “ทองไพรำ” ยายผู้หญิงตัวร้ายที่มารยาเจ้าเสน่ห์ คำตอบคือ “มีค่ะ” ลอออร นางเอกของเรื่องเป็น “นางใน” ตั้งแต่เด็กๆ ช่วงแรกของเรื่อง เธอมีชื่อว่า "ลออ" แต่เมื่อเข้าวัง พบว่ามีนางในคนอื่นชื่อเดียวกันอยู่ก่อนแล้ว เสด็จผู้เป็นเจ้านายโดยตรงของลอออรจึงเปลี่ยนชื่อเธอเป็น “ลอออร” ให้เพราะและเข้ากับตัว
 
ถ้าอ่านในช่วงแรกๆ ของเรื่อง จะพบว่าลอออรเป็นสตรีที่งามพร้อม รูปงามบอบบาง และมีกิริยามารยาทหมดจด นอกจากนี้ยังมีฝีมือด้านการเย็บปักถักร้อยตลอดจนอาหารคาวหวาน (ในเรื่องมีฉากที่ลอออรเคี่ยวสตูให้คุณยศ ผู้เป็นสามีรับประทานด้วย)   
 
อย่างไรก็ตาม จุดเด่นของมาลัยสามชาย ไม่ใช่เรื่องของชีวิตนางใน แต่เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของผู้หญิงในอดีต ที่ส่วนใหญ่มักจะมีสามีเพียงคนเดียว ลอออรเป็นผู้หญิงที่ไม่รู้โชคดีหรือโชคร้าย เธอมีสามีถึงสามคนและแต่ละคนล้วนแต่เป็นผู้ดี มีความรู้ความสามารถ และแม้จะไม่ได้มีการสรุปในเรื่อง แต่นักอ่านอย่างแอดมินคิดเอาเองว่า ผู้เขียนต้องการสื่อว่า การใช้ชีวิตอย่างเป็นระเบียบเรียบงาม ดังที่ได้รับการอบรมมาครั้งสมัยเป็น “นางใน” ทำให้ลอออรสามารถผูกใจสามีไว้ได้ครบถ้วน (อาจจะยกเว้นสามีคนแรกอย่างยศ ที่ไปพ่ายแพ้ให้แก่เพลิงโลกีย์ของทองไพรำ) และเป็นเสน่ห์ที่ทำให้เธอเป็นที่หมายปองของผู้ชายมากมายในเรื่อง การอ่านนิยายเรื่องนี้ ทำให้แอดมินรู้สึกว่า... การเป็นนางใน ก็คือการสร้างตัวตนให้กลายเป็น “กุลสตรีชั้นสูง” และทำให้ตัวเองมีคุณค่ามากขึ้น เพราะอย่างนี้ พ่อแม่สมัยก่อนถึงอยากส่งลูกเข้าไปในวัง เพื่อจะได้เรียนรู้ความรู้อันเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตนั่นเองค่ะ วังก็เหมือนโรงเรียน และการเป็นนางใน ก็คือการเข้าโรงเรียนหญิงล้วนนั่นแหละ
 
สรุปหลังจากรีวิวนางในทั้งห้าคนครบแล้ว แอดมินพบว่า... เรื่องราวของนางในนั้นมีเสน่ห์มาก การได้อ่านวิถีชีวิตของหญิงสาวเหล่านี้ผ่านตัวอักษร ทำให้เราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ และได้เข้าใจสังคม วัฒนธรรมของคนไทยในอดีตได้มากขึ้น รวมถึงได้รู้ค่านิยม การวางตัว การดำเนินชีวิต ฯลฯ ดังนั้น ถ้าใครมีโอกาส ลองหาหนังสือทั้งห้าเล่มมาอ่านกันดูนะคะ แอดมินเองตอนนี้กำลังอ่าน ชีวิตในวัง ย้อนทวนค่ะ เพราะอยากลองทำเมนูอาหารสูตรหม่อมหลวงเนื่องบ้าง (จะกินได้ไหมน้า สงสัยได้แค่ชาบูนางในไปก่อน T___T)
 
ใครอ่านเล่มไหนพูดคุยกันได้นะคะ ^ ^
 
ทีมงานนักเขียนเด็กดี 
 
 
ทีมงาน writer

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

นาถลดา - พิณศิริ กิตติปภา Member 29 ต.ค. 59 09:38 น. 5

มาลัยสามชาย เดิมทีนางเอกชื่อ 'ลออ' นะครับ ไม่ใช่ 'อร' แล้วเมื่อเข้าวัง เสด็จทรงเห็นว่าไปพ้องกับ 'แม่ลออ' ของอีกวังหนึ่ง จึงโปรดประทานชื่อให้ใหม่ว่า 'ลอออร'

0
กำลังโหลด
น่ารักนะ 29 ต.ค. 59 06:23 น. 4
โดยส่วนตัวชอบ สี่แผ่นดิน มากกว่า เนื่องจาก -เราชอบเรื่องราวแบบไม่เยิ่นเย่อ จะเห็นได้ว่า ผู้เขียนบอกเล่าเหตุการณ์โดยผ่านทางความคิดของตัวละคร ตัวละครเด็ก ก็เป็นความคิดเด็กๆ ตัวละครผู้ใหญ่ก็เป็นความคิดผู้ใหญ่ บางตอนไม่เน้นอธิบายฉากอย่างละเอียด -คำพูดคำจา คารมคมคายแสดงออกถึงความฉลาดของตัวละคร(จริงๆแล้วคือตัวผู้เขียนเอง) การใช้ภาษาดีเยี่ยมในด้านบทสนทนา เช่น "เสด็จให้มาทูลถามเสด็จ ว่าเสด็จจะเสด็จหรือไม่เสด็จ ถ้าเสด็จจะเสด็จ เสด็จจะเสด็จด้วยมังคะ" เยี่ยมรักเลย
0
กำลังโหลด
songkran4368 Member 28 ต.ค. 59 23:07 น. 2

สี่แผ่นดินเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดร่มฉัตร(คุณทมยันตีพูดเอง) รู้สึกว่าคุณทมยันตีอ่านสี่แผ่นดินแล้วรู้สึกยังไม่พอใจเบาๆ  เลยออกมาเขียนร่มฉัตร ที่นางเอกอยู่ได้ถึง5แผ่นดิน(เกทับกันเบาๆ) ซึ่งจะเห็นได้ว่าร่มฉัตรบรรยายชีวิตนางในวังได้ละเอียดกว่า

0
กำลังโหลด
namt 28 ต.ค. 59 23:09 น. 3
เราชอบมาลัยสามชายนะ มันมีทั้งเรื่องประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงและมุมมองของชนชั้นขุนนางเก่าสมัยนั้นด้วย เหมือนเรื่องจะบอกว่า ผู้หญิงที่มีคุณค่าในตัวเอง ไม่ว่าจะต้องเจอต้องผ่านอะไรมา ก็จะยังคงรักษาคุณค่าของตัวเองไว้ได้(สมัยก่อนเขาถือว่าผู้หญิงสามผัวคือผู้หญิงไม่ดี แต่นางเอกเรื่องนี้ ถึงสามผัวแต่ก็ไม่มีใครสามารถว่าอะไรนางได้ เพราะนางวางตัวดีรักษาคุณค่าของตัวเองไว้ได้) เราชอบตอนที่ตระกูลคุณชดต้องเสียบ้านใช้หนี้ให้นายทุน แล้วคนแต่งเอากลอนจากเรื่องรามเกียรติตอนเสียกรุงลงกามาบรรยายอะ คือมันสะท้อนถึงอารมณ์ของชนชั้นขุนนางสมัยนั้นได้เลิศมาก
0
กำลังโหลด

5 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
songkran4368 Member 28 ต.ค. 59 23:07 น. 2

สี่แผ่นดินเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดร่มฉัตร(คุณทมยันตีพูดเอง) รู้สึกว่าคุณทมยันตีอ่านสี่แผ่นดินแล้วรู้สึกยังไม่พอใจเบาๆ  เลยออกมาเขียนร่มฉัตร ที่นางเอกอยู่ได้ถึง5แผ่นดิน(เกทับกันเบาๆ) ซึ่งจะเห็นได้ว่าร่มฉัตรบรรยายชีวิตนางในวังได้ละเอียดกว่า

0
กำลังโหลด
namt 28 ต.ค. 59 23:09 น. 3
เราชอบมาลัยสามชายนะ มันมีทั้งเรื่องประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงและมุมมองของชนชั้นขุนนางเก่าสมัยนั้นด้วย เหมือนเรื่องจะบอกว่า ผู้หญิงที่มีคุณค่าในตัวเอง ไม่ว่าจะต้องเจอต้องผ่านอะไรมา ก็จะยังคงรักษาคุณค่าของตัวเองไว้ได้(สมัยก่อนเขาถือว่าผู้หญิงสามผัวคือผู้หญิงไม่ดี แต่นางเอกเรื่องนี้ ถึงสามผัวแต่ก็ไม่มีใครสามารถว่าอะไรนางได้ เพราะนางวางตัวดีรักษาคุณค่าของตัวเองไว้ได้) เราชอบตอนที่ตระกูลคุณชดต้องเสียบ้านใช้หนี้ให้นายทุน แล้วคนแต่งเอากลอนจากเรื่องรามเกียรติตอนเสียกรุงลงกามาบรรยายอะ คือมันสะท้อนถึงอารมณ์ของชนชั้นขุนนางสมัยนั้นได้เลิศมาก
0
กำลังโหลด
น่ารักนะ 29 ต.ค. 59 06:23 น. 4
โดยส่วนตัวชอบ สี่แผ่นดิน มากกว่า เนื่องจาก -เราชอบเรื่องราวแบบไม่เยิ่นเย่อ จะเห็นได้ว่า ผู้เขียนบอกเล่าเหตุการณ์โดยผ่านทางความคิดของตัวละคร ตัวละครเด็ก ก็เป็นความคิดเด็กๆ ตัวละครผู้ใหญ่ก็เป็นความคิดผู้ใหญ่ บางตอนไม่เน้นอธิบายฉากอย่างละเอียด -คำพูดคำจา คารมคมคายแสดงออกถึงความฉลาดของตัวละคร(จริงๆแล้วคือตัวผู้เขียนเอง) การใช้ภาษาดีเยี่ยมในด้านบทสนทนา เช่น "เสด็จให้มาทูลถามเสด็จ ว่าเสด็จจะเสด็จหรือไม่เสด็จ ถ้าเสด็จจะเสด็จ เสด็จจะเสด็จด้วยมังคะ" เยี่ยมรักเลย
0
กำลังโหลด
นาถลดา - พิณศิริ กิตติปภา Member 29 ต.ค. 59 09:38 น. 5

มาลัยสามชาย เดิมทีนางเอกชื่อ 'ลออ' นะครับ ไม่ใช่ 'อร' แล้วเมื่อเข้าวัง เสด็จทรงเห็นว่าไปพ้องกับ 'แม่ลออ' ของอีกวังหนึ่ง จึงโปรดประทานชื่อให้ใหม่ว่า 'ลอออร'

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด