8 ตัวช่วย ให้การเขียนเรื่องสั้นง่ายกว่าที่คิด


8 ตัวช่วย ให้การเขียนเรื่องสั้นง่ายกว่าที่คิด



สวัสดีชาวไรเตอร์ทุกคนค่ะ เร็วๆ นี้จะมีการประกวดเรื่องสั้น “รางวัลพระยาอนุมานราชธน” ที่ทางเว็บไซต์เด็กดีร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดโอกาสให้น้องๆ ได้แสดงความสามารถพิเศษด้านการเขียน ซึ่งน้องๆ สามารถอ่านรายละเอียดได้ในบทความที่พี่หวานทำไว้ ห้ามพลาด! รางวัลพระยาอนุมานราชธน : งานประกวดที่อยากให้นักเขียนสายเรื่องสั้นเตรียมตัวให้พร้อม

อ๊ะ รู้แล้วนะว่ามีใครหลายคนเริ่มสนใจ คันไม้คันมืออยากคว้าปากกามาเขียนเรื่องสั้นส่งประกวดแล้วล่ะสิ แต่บางคนก็ยังลังเลเพราะว่าไม่รู้ว่าจะเขียนเรื่องสั้นยังไง เขียนไม่เป็น ถ้าใครที่มีปัญหานี้อยู่ล่ะก็ ไม่เป็นไรนะคะ เพราะในวันนี้พี่น้ำผึ้งมาพร้อมกับ ฮาวทูเขียนเรื่องสั้นยังไงให้ปัง ไม่นก ไม่พัง ไม่เท รับรองว่าพออ่านบทความนี้จบน้องๆ จะต้องอยากส่งประกวดแน่นอน และจะได้รู้ด้วยว่าการเขียนเรื่องสั้นนั้นไม่ยากอย่างที่คิดเลย 

 



 

การเขียนเรื่องสั้นจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก จะว่าคล้ายกับการเขียนนิยายก็ไม่เชิงซะทีเดียว จริงๆ แล้วออกแนวต่างกันซะมากกว่า ด้วยข้อจำกัดของหน้าหรือตัวอักษรแล้วนั้นทำให้ตัวละครมีพัฒนาการที่จำกัด ไม่สามารถเติบโตไปพร้อมกับเนื้อเรื่องได้อย่างช้าๆ แบบในนิยาย แถมบทสนทนาก็น้อยตามด้วย ดังนั้นคนทั่วไปมักคิดว่าการเขียนเรื่องสั้นนั้นยาก แต่จะยากไม่ยากนั้น น้องๆ ลองมาดูวิธีการเขียนเรื่องสั้นกันก่อนดีกว่า แล้วค่อยตัดสินทีหลังเนอะ :D

ก่อนเขียนเรื่องสั้น เราจำเป็นต้องรู้ก่อนว่าเป้าหมายเรื่องสั้นของเรามีกี่หน้า กำหนดก่อนเลยในใจ ส่วนมากแล้วถ้าเป็นการประกวดต่างๆ มักจะกำหนดจำนวนคำขั้นต่ำหรือจำนวนหน้าไว้ให้แล้วค่ะ และสำหรับการเขียนเรื่องสั้นลงนิตยสารต่างประเทศก็มักจะไม่เกิน 5000 คำขั้นต่ำ 

เอาล่ะค่ะ พี่ว่าถึงเวลาแล้วที่เราควรมาดูตัวช่วยการเขียนเรื่องสั้นง่ายๆ กัน พร้อมแล้วเลื่อนลงมาเลยดีกว่าค่า ^___^

 

เลือกเรื่องราวที่น่าสนใจ เหมาะกับการมาเขียนเรื่องสั้น

บางไอเดียหรือบางพล็อตที่เราคิดได้นั้นดูแปลกใหม่และไม่เหมาะกับข้อการนำมาต่อยอดเป็นเรื่องสั้นนัก อาจเป็นเพราะพล็อตซับซ้อนไป ขัดต่อข้อจำกัดในการเขียนเรื่องสั้น ถ้าหากน้องๆ กำลังคิดว่าเรื่องแบบไหนล่ะที่เหมาะกับการนำมาเขียน ส่วนมากแล้วมักเป็นเรื่องที่มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว ตัวละครและการหักมุมไม่ค่อยซับซ้อนมากเท่าไหร่นัก นอกจากนี้น้องๆ สามารถถามตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้ระหว่างที่มองหาไอเดียในการเขียนก็ได้นะ ไม่ว่าจะเป็น
 

  • เหตุการณ์สำคัญที่เป็นปมของเรื่องคืออะไร?
  • เราจะต่อยอดปมนั้นให้กลานเป็นเรื่องได้ยังไง

ถ้าเราตอบคำถาม 2 ข้อนั้นได้แล้วก็ลงมือทำตามข้อถัดมาเลย
 

 

ร่างโครงสร้างตัวละครและฉาก
มันก็เหมือนกับการเขียนนิยายนั่นแหละค่ะ เพราะหลังจากที่น้องๆ มีตีมเรื่องและเหตุการณ์สำคัญของเรื่องแล้ว น้องต้องสร้างตัวละครและฉาก ไม่ต้องเยอะมากนักสัก 2-3 ตัวกำลังพอดี จากนั้นลองลิสต์ดูว่าเขามีรายละเอียดอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็น
 
  • รูปร่าง ทั้งเสื้อผ้าหน้าผม กริยาท่าทาง
  • บุคลิกภาพ
  • อาชีพ
  • พื้นเพเดิมเป็นยังไง
  • เขาสนใจอะไร มีแพชชั่นยังไง หมกมุ่นเรื่องไหนเป็นพิเศษ
  • บทบาทในเรื่องเป็นยังไง


ในทำนองเดียวกัน น้องๆ ก็ต้องเซ็ตฉากดำเนินเรื่องไว้ด้วยค่ะ โดยอาจจะตั้งคำถามเหล่านี้ในใจ

  • เรื่องนี้เกิดขึ้นที่ไหน?
  • ฉากนี้มีส่วนสำคัญยังไงต่อเรื่องของเรา?
  • จุดไคลแมกซ์ของเรื่องจะวางตรงไหน?


อย่าลืมนะคะ น้องๆ ต้องมีไอเดียก่อนที่จะเริ่มต้นเขียนเรื่องสั้น ไม่ว่าจะเป็น ใครคือตัวเอก เรื่องเกิดขึ้นที่ไหน ทั้งหมดนี้จะช่วยไกด์ให้เราสามารถเขียนเรื่องสั้นได้โยไม่ตันค่ะ

 

เลือก POV ให้ถูก

ถ้าหากน้องๆ สงสัยว่า POV คืออะไร จริงๆ แล้วมันคือการบรรยายเรื่องจากมุมมองของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นบุรุษที่ 1, 2 หรือ ค่ะ มุมมองการบรรยาย หรือ POV นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะมันส่งผลต่อระดับการรับรู้ของนักอ่าน อินมาก อินน้อย เข้าใจเรื่องมาก เข้าใจเรื่องน้อย

เวลาที่เราบรรยาย ถ้าหากใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 ก็จะทำให้เรื่องเข้มข้น หนักแน่นและคนอ่านอิน รับรู้ถึงความรู้สึกและการกระทำของตัวละคร ณ เวลานั้นได้อย่างง่ายได้ ขณะที่ถ้าหากใช้ตัวละครบุรุษที่ 3 ในการบรรยายถึงตัวละคร A ความสตรองของตัวละคร A ก็จะน้อยลงค่ะ 

ในฐานะนักเขียน เรานี่แหละเป็นคนเลือกเองว่าจะให้ใครเป็นคนบรรยาย โดยมีเทคนิคการเลือกเล็กๆ น้อยๆ ดังนี้

บุรุษที่ 1 : การดำเนินเรื่องแบบนี้จะใช้ “ฉัน” หรือ “ผม” เป็นคนเล่า ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้มุมมองใคร ปกติแล้วคนเริ่มเขียนนิยายมักจะใช้มุมมองนี้แหละในการเล่าเรื่องเพราะว่ามันง่ายที่สุด! ข้อดีก็คือการเขียนมุมมองนี้ทำให้คนอ่านอินได้ เพราะคนอ่านสามารถเข้าถึงความคิด ประสบการณ์และการรับรู้ของตัวละคร ส่วนข้อเสียก็คือ ถึงจะเข้าใจตัวละครคนเล่ายิ่งกว่าเป็นเพื่อนสนิทกัน แต่กลับเข้าใจตัวละครอื่นๆ ได้น้อยจริงๆ

บุรุษที่ 2 : เป็นการใช้ “คุณ” เพื่อบรรยาย ไม่ค่อยนิยมเท่าไหร่หรอกค่ะ เรามักจะเห็นการบรรยายแบบนี้ในหนังสือฮาวทูซะมากกว่า ข้อดีของการใช้มุมมองนี้คืออยู่ๆ นักอ่านก็ดันกลายเป็นคนทำแอคติวิตี้ต่างๆ ในเรื่องซะเอง ส่วนข้อเสียก็คือ นอกจากจะไม่เป็นที่นิยมแล้ว มันยากที่นักอ่านจะจินตนาการได้ว่าสิ่งแวดล้อมเป็นยังไง แต่ถ้าใครอยากลองก็ไม่ว่ากันนะคะ

บุรุษที่ 3 : นี่คือการใช้มุมมองพระเจ้าในการบรรยายค่ะ ประเภท “เขา/เธอ/มัน” โดยพระเจ้าจะเกาะติดไปกับตัวละครที่พระเจ้าอยากให้นักอ่านรับรู้ ข้อดีของการใช้มุมมองนี้คือ เราจะได้สัมผัสตัวละครที่หลากหลาย รู้ถึงการกระทำและความคิดพวกเขา ส่วนข้อเสียก็คือเวลาพระเจ้าเปลี่ยนมุมมองไปเกาะตัวละครตัวอื่น ต้องระมัดระวังว่าถ้าหากเปลี่ยนกะทันหันอาจจะทำให้นักอ่านสับสนได้ค่ะ

อย่างที่น้องรู้กันดี การเลือก POV นั้นเราต้องถามตัวเองก่อนว่าใครคือคนที่เราอยากให้ดำเนินเรื่อง? แล้วทำไมต้องเป็นคนนั้น? คิดถึงเหตุการณ์ในเรื่องแล้วก็เลือกมุมมองที่เหมาะสมที่สุดนะคะ

 

เปิดเรื่องด้วยประโยคดึงดูดใจ

ไม่ว่าน้องจะเขียนนิยายหรือเรื่องสั้น น้องๆ ก็ควรต้องเปิดเรื่องดีๆ เข้าไว้เพื่อดึงดูดคนให้อยากอ่านในบรรทัดถัดๆ ไป โดยประโยคดึงดูดใจในที่นี่ไม่ใช่แค่คำพูดเด็ดๆ จากตัวละคร แต่ยังรวมไปถึงการตั้งคำถามกับนักอ่านด้วยค่ะ ซึ่งเราอาจจะดึงดูดความสนใจของนักอ่านด้วยเหตุการณ์ที่ผิดปกติ เหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมาย หรือจะเป็นความขัดแย้งกับบางสิ่งบางอย่าง รวมทั้งการเริ่มเรื่องด้วยความตึงเครียดและตัดบทอย่างฉับไว

นอกจากนี้น้องๆ อาจจะบอกเล่าเรื่องราวด้วยการบอกใบ้นักอ่านว่าตีมเรื่องและหัวข้อนี้คืออะไร เช่นในเรื่องของ Garcia Marquez เปิดเรื่องด้วยการพบร่างมนุษย์ที่จมน้ำ น้องจะต้องทำให้นักอ่านเกิดการตั้งคำถามขึ้นมาในหัว เช่นเกิดอะไรขึ้นกับชายจมน้ำคนนั้น? ใครเป็นคนทำ? และสุดท้ายแล้วไม่ควรเสียเวลาเวิ่นเว้อค่ะ เพราะการเขียนเรื่องสั้นนั้นมีจำนวนคำและจำนวนหน้าที่จำกัด ดังนั้นเพื่อให้เรื่องดำเนินต่อไปอย่างรวดเร็ว ต้องไม่เสียเวลา!


 

สร้างตัวละครที่น่าจดจำ

ตัวละครที่ดีไม่ว่าจะเป็นในนิยายหรือเรื่องสั้นคือตัวละครที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดดเด่น และทำให้นักอ่านจำได้ น้องต้องใช้เวลากับมันสักหน่อย น้องต้องรู้จักตัวละครนั้นดีพอๆ กับน้องรู้จักตัวเอง ซึ่งน้องอาจจะตั้งคำถามดังนี้ก็ได้ค่ะ

  • เขาเกลียดอะไร?
  • ความลับของเขาคืออะไร?
  • ความทรงจำที่ดีของเขาคืออะไร?
  • อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาเป็นอย่างนี้?
  • เขาป่วยมั้ย? มีโรคประจำตัวอะไรหรือเปล่า?
  • เขาเคยทำผิดพลาดมั้ย?


ในการเขียนเรื่องสั้นที่ดี น้องต้องแพลนตัวละครอย่างละเอียดและดูด้วยว่าถ้าตัวละครเราเผชิญหน้ากับเหตุการณ์สำคัญของเรื่องนี้ เขาจะได้รับผลกระทบอะไรบ้างค่ะ และอย่าลืมว่าสิ่งสำคัญก็คือต้องสร้างบทสนทนาที่เป็นที่น่าจดจำด้วยนะคะ

 

5W

ไม่ว่าจะเป็นนิยายหรือเรื่องสั้น เราต้องระลึกถึง ‘W’ ของเรื่องตลอด ได้แก่ ใคร (who), ทำอะไร (what), ทำไม (why), ที่ไหน (where) และเมื่อไหร่ (when) สำหรับใครและทำอะไรแล้วนั้น เราจะพบว่าทั้งคู่สามารถมีการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในนิยายมากกว่าในเรื่องสั้น ในนิยาย บทแรกและบทถัดไปไม่จำเป็นต้องเป็นคนเล่าคนเดียวกัน ขณะที่ในเรื่องสั้น การเปลี่ยนคนเล่าเรื่องบ่อยๆ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำนัก เพราะอาจทำให้นักอ่านงงได้

ในเรื่องสั้น “ทำไม” มักมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในตอนจบ เรามักพบว่าเรื่องสั้นหลายๆ เรื่องมีการหักมุมในตอนท้าย โดยเฉพาะการเฉลยเหตุผลว่า “ทำไมตัวละครถึงทำแบบนี้” ขณะที่ “สถานที่” หรือ “ที่ไหน” มันไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ในเรื่องสั้น เนื่องจากจำนวนหน้าที่จำกัดทำให้สิ่งแวดล้อมมักมีแค่สิ่งสำคัญที่เดียว
 

 

จุดไคลแม็กซ์

จุดไคลแม็กซ์คือจุดพีคของเรื่อง เป็นจุดที่เฉลยปมเรื่องทั้งหมด พอคนอ่านถึงจุดนี้แล้วจะต้องตกใจ รู้สึกว่ามันคาดเดาไม่ได้และอาจมีการก่นด่านักเขียนอย่างเราๆ เช่น จริงๆ แล้วตัวละครอาจจะโกหกเรามาตลอด หรืออะไรก็ตามที่ขัดแย้งกับตอนแรกๆ ที่เราเขียน ซึ่งน้องๆ อาจจะลองสร้างจุดไคลแมกซ์ตามแนวคิด 3 อย่างนี้ก็ได้นะคะ

  • ตอนเปิด : เมื่อนักอ่านอ่านได้สักพัก เขาจะต้องคาดเดาได้แล้วว่าหลังจากนี้ตอนจบควรเป็นยังไง
  • ได้รับการแก้ไข : ปมทุกอย่างถูกแก้ไขและเฉลยแล้วในจุดพีค แต่ต้องแน่ใจก่อนว่าตอนเฉลยนั้นน้องทำให้คนอ่านเคลียร์แล้ว ไม่งงแล้วว่าทำไมเป็นแบบนี้ สมเหตุสมผลทั้งสาเหตุที่ตัวละครทำและผลกระทบของตัวละครหลังจากนั้น
  • กลับไปสู่จุดเริ่มต้น : ตรวจสอบดูว่าตั้งแต่เริ่มเขียนมาเราทิ้งปมไว้เป็นอย่างดีแล้ว และมันก็สมเหตุสมผลพอที่จะถูกคลายในตอนค่ะ


 

ตอนจบ

เนื่องจากมันเป็นเรื่องสั้นนี่แหละ จุดนี้เป็นจุดที่แตกต่างจากการเขียนนิยาย เพราะนิยายส่วนมากแล้วจะมีตอนจบที่ตายตัว ไม่แฮปปี้เอนดิ้งก็แบดเอนดิ้งไปเลย แต่สำหรับเรื่องสั้น การทิ้งท้ายให้คนอ่านได้คิดต่อไปเองเป็นสิ่งที่ควรทำค่ะ เหมือนกับภาพยนตร์บางเรื่องที่ปล่อยให้เราไปคิดต่อเอง หลายคนอาจหงุดหงิด แต่เชื่อเถอะว่านั่นเหมาะที่สุดสำหรับเรื่องสั้นแล้ว 

อีกอย่างหนึ่งที่ควรทำก็คือเราไม่ควรบอกนักอ่านตรงๆ ในตอนท้ายเรื่องว่านักอ่านได้ข้อคิดอะไรหลังจากอ่านเรื่องสั้นนี้จบแล้ว น้องคะ นี่คือการเขียนเรื่องสั้นนะคะ ไม่ใช่เขียนนิทานอีสป จะได้บอกข้อคิดไว้ท้ายเรื่องด้วย เพราะงั้นอย่าทำเด็ดขาดค่ะ โนววว! จริงๆ แล้วเรื่องสั้นที่ดีต้องทำให้นักอ่านคิดเองได้ระหว่างอ่านว่าเขาได้อะไรจากเรื่องนี้ค่ะ

 

เป็นอย่างไรบ้างคะกับเทคนิคการเขียนเรื่องสั้นที่พี่น้ำผึ้งนำมาฝากในวันนี้ ใครคนไหนที่อยากเขียนเรื่องสั้นแต่เขียนไม่เป็น พี่ก็หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับน้องๆ นะคะ อย่าลืมคว้าปากกา วางโครงเรื่อง แล้วมาเขียนเรื่องสั้นส่งประกวดกันเถอะค่ะ นอกจากน้องๆ จะได้โชว์ของประลองฝีมือตัวเองแล้ง เงินรางวัลยังงดงามมากเลยนะคะ สำหรับวันนี้พี่ขอลาไปเขียนเรื่องสั้นบ้างอะไรบ้าง ครั้งหน้าจะนำเรื่องไหนมาฝากนั้น รอติดตามค่า ^_^



 


พี่น้ำผึ้ง :)
พี่น้ำผึ้ง
พี่น้ำผึ้ง - Columnist นักเขียนที่ชอบส่งต่อพลังบวกให้ทุกคน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

จดหมายรักสีหมอก Member 29 พ.ค. 60 22:32 น. 1

ขอบคุณกระทู้นี้มากๆเลยค่ะ หนูชอบแล้วก็อยากแต่งเรื่องสั้น มาเจอกระทู้นี้เลยช่วยนำไปปรับปรุงต่อ

ยอดผลงานชิ้นต่อไปได้มากเลย

ทำออกมาอีกเยอะๆเลยนะคะ เป็นกำลังใจให้ทำต่อไปค่ะ


1
กำลังโหลด

2 ความคิดเห็น

จดหมายรักสีหมอก Member 29 พ.ค. 60 22:32 น. 1

ขอบคุณกระทู้นี้มากๆเลยค่ะ หนูชอบแล้วก็อยากแต่งเรื่องสั้น มาเจอกระทู้นี้เลยช่วยนำไปปรับปรุงต่อ

ยอดผลงานชิ้นต่อไปได้มากเลย

ทำออกมาอีกเยอะๆเลยนะคะ เป็นกำลังใจให้ทำต่อไปค่ะ


1
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด