คุยกับ 'ครูมอลลี่' ตอนที่ 2 : ชวนมารู้จักเรื่องสั้นให้มากขึ้นและเเนะนำหนังสือที่นักเขียนสายเรื่องสั้นควรอ่าน!



คุยกับ 'ครูมอลลี่' : ชวนมารู้จักเรื่องสั้นให้มากขึ้น
และเเนะนำหนังสือที่นักเขียนสายเรื่องสั้นควรอ่าน!


สวัสดีค่ะน้องๆ ทุกคน^^ หลายคนน่าจะเห็นบทความเกี่ยวกับการประกวดเรื่องสั้นเพื่อชิงรางวัลพระยาอนุมานราชธนกันไปบ้างแล้วใช่มั้ยคะ เตรียมตัวกันไปถึงไหนแล้วเอ่ย? สำหรับใครที่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง วันนี้พี่หวานก็มีบทความเพิ่มเติมที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสั้นมาฝากเช่นเคยค่ะ สำหรับบทความก่อนหน้านี้ซึ่งพี่หวานได้พูดคุยกับคุณครูมอลลี่พอหอมปากหอมคอเกี่ยวกับเรื่องสั้นไปบ้างเเล้ว ในวันนี้พี่หวานก็จะพาครูมอลลี่มาทำความรู้จักกับน้องๆ ให้มากขึ้นผ่านการคุยกันเกี่ยวกับเรื่องสั้นเช่นเดิมค่ะ โดยเฉพาะใครที่ติดตามรออ่านคำแนะนำดีๆ เพื่อที่จะได้นำไปปรับปรุงงานเขียนของตัวเองให้ดีขึ้นเนี่ย ต้องรีบเลื่อนลงไปอ่านบทความนี้เลยค่ะ

 

คุยกับ 'ครูมอลลี่'



สวัสดีค่ะครูมอลลี่ กลับมาพบกันอีกครั้งเเล้ว วันนี้ครูมีเรื่องราวอะไรดีๆ มาเล่าให้ฟังบ้างคะ^^
ครูมอลลี่:
 วันนี้ครูมอลลี่จะมาทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับงานวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้น เรื่องที่ครูมอลลี่จะพูดคุยในวันนี้เป็นความรู้ระดับเบื้องต้น อีกทั้งเรื่องสั้นที่ครูมอลลี่หยิบมาพูด  แม้จะค่อนข้างมีอายุขัยสักหน่อย แต่ถือว่าเป็นเรื่องสั้นระดับคลาสสิกของไทยทีเดียว แม้วิธีการเขียนยังไม่ซับซ้อนนัก แต่ในแง่ศิลปะถือว่าน่าศึกษา เหมาะอย่างยิ่งที่จะเป็นตัวอย่างแก่นัก(สมัคร)เขียนจะทำความเข้าใจ ก่อนที่จะเขยิบไปสู่การสร้างงานที่เป็นแบบฉบับของตัวเองค่ะ

 
น่าสนใจมากเลยค่ะ เพราะว่าเด็กๆ หลายคนก็อาจจะมองข้ามลักษณะเบื้องต้นของงานเขียนไป ทำให้อาจจะสร้างสรรค์งานได้ไม่ตรงจุด การที่ครูมอลลี่หยิบเรื่องพื้นฐานมาพูดแบบนี้น่าจะเป็นความรู้ใหม่สำหรับใครหลายคนเลยล่ะค่ะ คงต้องให้ครูช่วยอธิบายซักหน่อยว่าลักษณะงานวรรณกรรมประเภท เรื่องสั้น นี่เป็นยังไง
ครูมอลลี่:
เราพูด ๆ กันว่าเรื่องสั้นๆ  บอกได้ไหมว่าเรื่องเป็นคืออะไร ส่วนใหญ่จะบอกว่าเรื่องสั้นคือเรื่องที่ไม่ยาว นั่นเป็นการพูดแบบ “กำปั้นทุบดิน”ค่ะ เพราะว่าพูดอีกก็ถูกอีก วันนี้ครูมอลลี่ก็เลยจะพูดให้เป็นหลักวิชาสักหน่อย หากไปตอบคำถามนี้กับใครจะได้แสดงภูมิรู้ว่าเราพอจะมีความรู้จริงจังอยู่เหมือนกันนะ

เรื่องสั้นเป็นงานเขียนร้อยแก้วที่มีขนาดไม่ยาวนัก มีตัวละครจำนวนไม่มาก และจะต้องมุ่งเน้นไปที่ตัวละครสำคัญของเรื่องหรือเหตุการณ์ที่มีความหมายกับเรื่อง เพื่อให้เรื่องไปสู่จุดสุดยอด แม้ว่าเรื่องสั้นจะมีลักษณะหลายอย่างคล้ายกับนวนิยาย แต่ความกระชับรวดเร็วและความสมบูรณ์ แม้จะมีจำนวนคำไม่มากนัก เป็นคุณสมบัติสำคัญที่บ่งชี้ความแตกต่างระหว่างเรื่องสั้นและนวนิยาย

ความหมายของเรื่องสั้นดังกล่าว มิได้เป็นข้อสรุปที่แน่นอนตายตัว เนื่องจากเรื่องสั้นเป็นเป็นงานศิลปะที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อความแปลกใหม่ น่าสนใจ จึงมีคุณลักษณะใหม่ ๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามา  อย่างไรก็ตามลักษณะของเรื่องสั้นโดยทั่วไปก็เป็นดังที่นำเสนอไว้ข้างต้น ตอนนี้พอเข้าใจแล้วนะคะว่าเรื่องสั้นเป็นอย่างไร  และจากนี้เราเข้าใจตรงกันแล้วนะคะ


พอฟังครูอธิบายก็พอจะเห็นความเเตกต่างชัดเจนขึ้นมาเลยค่ะ แล้วเรื่องสั้นนี่เราสามารถจัดแบ่งเป็นประเภทต่างๆ ได้อีกมั้ยคะ
ครูมอลลี่: การจัดประเภทของเรื่องสั้นขึ้นอยู่กับว่าจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง  เท่าที่ผ่านมานั้นมีผู้ใช้เกณฑ์เรื่ององค์ประกอบของเรื่องสั้น และเกณฑ์เรื่องรูปแบบและเนื้อหา มาจัดแบ่งประเภทของเรื่องสั้น  การใช้เกณฑ์เรื่ององค์ประกอบในการจัดประเภทของเรื่องสั้น มีประโยชน์ในการทำความเข้าใจเรื่องสั้นเรื่องนั้นๆ ว่าให้ความสำคัญที่องค์ประกอบส่วนใด  เหมาะสำหรับการศึกษาเรื่องสั้นเพื่อความเข้าใจวิธีการสร้างสรรค์ ส่วนการใช้เกณฑ์เรื่องรูปแบบและเนื้อหาจะมีประโยชน์ในการศึกษาเรื่องสั้นในแง่การจัดกลุ่มความคิดที่แสดงออกในเรื่องสั้น 

 

(หนังสือ 'เรื่องสั้นตัวอย่าง' ของอาจารย์เจือ)

           
เจือ สตะเวทิน และประทีป เหมือนนิล เป็นผู้ที่ใช้เกณฑ์เรื่ององค์ประกอบในการจัดประเภทเรื่องสั้น และแบ่งออกเป็น 4 ประเภท  ได้แก่

1.เรื่องสั้นชนิดผูกเรื่อง (Plot Story)

คือเรื่องสั้นที่เน้นความสำคัญของโครงเรื่องยิ่งกว่าองค์ประกอบส่วนอื่น เน้นการสร้างเรื่องให้มีความขัดแย้งเพื่อให้ผู้อ่านสนใจติดตามเรื่อง  เรื่องสั้นประเภทได้แก่เรื่องที่จบแบบหักมุมพลิกความคาดหมาย  โบราณมาก ๆ ก็คือเรื่องมักจะพบในเรื่องสั้นยุคแรก ๆ  เรื่องสั้นประเภทนี้ ได้แก่  สร้อยคอที่หาย ของ ประเสริฐอักษร  เรื่อง สัญชาตญาณมืด ของ อ. อุดากร แม้ว่าในปัจจุบันยังมีคงมีเรื่องสั้นประเภทผูกเรื่องอยู่มาก แต่วิธีการจบแบบพลิกความคาดหมายนั้นไม่ค่อยเป็นที่นิยมกันเท่าใดนัก

2.เรื่องสั้นชนิดสร้างตัวละคร (Character Story)

เรื่องสั้นประเภทนี้ผู้แต่งมุ่งให้ความสำคัญกับตัวละครเป็นพิเศษ เรื่องจึงดำเนินและคลี่คลายไปสู่จุดสุดยอดของเรื่องโดยอาศัยพฤติกรรมของตัวละครเป็นสำคัญ เช่นเรื่อง มอม ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช  ชาเก๊าะ ของ มนัส จรรยงค์  หมู่เคน ของปกรณ์ ปิ่นเฉลียว เป็นต้น

3.เรื่องสั้นชนิดสร้างบรรยากาศ (Atmosphere Story)

เป็นเรื่องสั้นที่เน้นการสร้างบรรยากาศเรื่อง  เหมือนกับผู้อ่านได้เข้าไปอยู่ร่วมในเหตุการณ์นั้น ๆ ด้วยตนเอง เรื่องประเภทนี้มักจะเป็นเรื่องลึกลับสยองขวัญชึ่งต้องใช้ความสามารถในการบรรยายเรื่องราวให้ผู้อ่านมีอารมณ์คล้อยตาม  ได้แก่ ซึงผี ของ มนัส จรรยงค์  ตุ๊กแกนรก ของ ปกรณ์ ปิ่นเฉลียว เป็นต้น

4.เรื่องสั้นชนิดให้แนวคิด (Theme  Story)

เป็นเรื่องสั้นที่ผู้แต่งมุ่งที่นำเสนอแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งเป็นสำคัญ อาจเป็นแนวคิดทางปรัชญา สังคมการเมือง หรือแนวคิดเกี่ยวกับครอบครัวที่ผู้เขียนเห็นว่ามีความน่าสนใจ ผู้อ่านจะได้ความบันเทิงและได้เนื้อหาสาระในเวลาเดียวกัน  เรื่องสั้นประเภทนี้ ได้แก่ เศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึก ของ อาจินต์ ปัญจพรรรค์ ลูกองุ่น ของ สุรชัย จันทิมาธร ถนนสายที่นำไปสู่ความตาย ของ วิทยากร เชียงกูล เป็นต้น


            ผู้ที่วางรากฐานการศึกษาเรื่องสั้นอีกคนหนึ่งก็คือ สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นผู้ใช้ลักษณะรูปแบบ และเนื้อหาในการแบ่งประเภทของเรื่องสั้น  โดยสุชาติเน้นไปที่เรื่องสั้นไทยสมัยใหม่เป็นสำคัญ และนำเสนอแนวคิดนี้ในหนังสือชื่อ ถนนสายที่นำไปสู่ความตาย 
 

(หนังสือเรื่อง 'ความเงียบ' ของอาจารย์สุชาติ)


โดยอาจารย์ได้จัดแบ่งประเภทเรื่องสั้นได้ 5 กลุ่ม ได้แก่  กลุ่มอัตถนิยม กลุ่มสัญลักษณ์ กลุ่มเหนือจริง และกลุ่มกระเทาะสังคม  ในระยะหลังสุชาติ สวัสดิ์ศรี ก็ได้เพิ่มเติมเรื่องสั้นอีกประเภทหนึ่ง คือ เรื่องสั้นแนวทดลอง  ดังนั้นการจัดแบ่งประเภทของเรื่องสั้นโดยใช้รูปแบบและเนื้อหาเป็นเกณฑ์ตามแนวคิดของสุชาติ สวัสดิ์ศรี จึงมีทั้งหมด 6 ประเภท ได้แก่ 

1. กลุ่มอัตถนิยม (Realism) เรื่องสั้นในกลุ่มนี้จะเน้นการสร้างเรื่องที่สมจริงเป็นหลัก ทั้งการบรรยายฉาก  ตัวละคร  รวมไปถึงการสร้างความขัดแย้งต่าง ๆ จะเป็นไปอย่างสมจริง  การดำเนินเรื่องเน้นความเรียบง่าย เข้าใจได้ทันที  ได้แก่เรื่องชายผ้าเหลือง ของ ศรีดาวเรือง บนสะพานสูง ของ กรณ์ ไกรลาศ  เป็นต้น

2. กลุ่มสัญลักษณ์ (Symbolism) เรื่องสั้นในกลุ่มนี้จะให้ความสำคัญกับการนำเสนอเรื่องอย่างไม่ตรงไปตรงมา แต่จะสื่อผ่านสัญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง อาจเป็นฉาก ตัวละคร ฯลฯ ผู้อ่านจะต้องตีความจึงจะสามารถเข้าใจความคิดที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอได้  เรื่องสั้นประเภทนี้ได้แก่  รถเมล์  ของ ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์  ความในใจของกระดูกในฟาร์มจระเข้ ของ วัฒน์ วรรยางกูร เป็นต้น

3. กลุ่มเหนือจริง (Surrealism) เรื่องสั้นในกลุ่มนี้จะใช้วิธีการเขียนที่แปลกแหวกแนวออกไป กล่าวคือ ใช้สิ่งของที่ดูเหมือนจริงมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ โดยใช้วิธีการต่าง ๆ เช่น บางครั้งใช้สัญลักษณ์ บางครั้งใช้การเล่าเรื่องที่เป็นโลกแห่งความฝัน  บางครั้งใช้วิธีการเขียนคล้ายกับว่าเป็นนิยายวิทยาศาสตร์  บางครั้งใช้วิธีตัดภาพกลับไปกลับมาแบบเทคนิคของภาพยนตร์ยุคใหม่ เช่น รถไฟเด็กเล่น ของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี มนุษย์ข้อมือ ของ สุวัฒน์ ศรีเชื้อค่ำคืนอันโหดร้ายในวันว่างเปล่า ของ วิสา คัญทัพ  เป็นต้น

4. กลุ่มกระเทาะสังคม(Satirical) เรื่องสั้นในกลุ่มนี้จะใช้วิธีการเขียนในเชิงสมจริง  หากแต่เป็นการสะท้อนสภาพสังคม ทำนองคล้ายกับเป็นนิทานเปรียบเทียบ เช่น นางสาวไทยรอบสุดท้าย ของ อนุช อาภาภิรม ฉันคือต้นไม้  ของ ไมตรี ลิมปิชาติ เป็นต้น

5. กลุ่มแปลกแยก (Alienation) เรื่องสั้นในกลุ่มนี้เน้นตรงความคิดที่ว่ามนุษย์ในปัจจุบันได้ขาดออกจากกฎเกณฑ์ความเชื่อแบบเก่า  การดำเเนินเรื่องมักเป็นการรำพึงชองจิตใต้สำนึกเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น ถนนสายที่นำไปสู่ความตาย ของ วิทยากร เชียงกูล  ลูกองุ่น  ของ สุรชัย จันทิมาธร เป็นต้น

6. กลุ่มทดลองหรือเรื่องสั้นแนวทดลอง เรื่องสั้นในกลุ่มนี้เน้นการนำเสนอเรื่องที่มีลักษณะสร้างสรรค์ในด้านกลวิธีที่ไม่ผูกติดกับกรอบและกฎเกณฑ์การสร้างสรรค์เรื่องสั้นที่เคยเป็นมาในอดีต เรื่องสั้นประเภทนี้ จึงไม่จำกัดรูปแบบเนื้อหาและแนวทางในการสร้างสรรค์ ขอเพียงแต่ให้มีความแปลกใหม่อย่างชนิดที่คาดคิดไม่ถึงเกิดขึ้นในเรื่องสั้นเรื่องนั้น ๆ เรื่องสั้นกลุ่มนี้ได้แก่ หมึกหยดสุดท้าย ของ วินทร์ เลียววาริณ  หน้ากาก ของ กระแสร์ บางพาน นิทาน อนาคด  ของ ฉัตรเฉลิม ตันติสุข เป็นต้น 
 

แบบนี้ก็แสดงว่าวรรณกรรมเรื่องสั้น ก็ยังสามารถจำแนกประเภทได้ตามลักษณะเเละเกณฑ์ต่างๆ แล้วเเต่ชนิดของงานอีกหลากหลายเลยนะคะเนี่ย สำหรับหนูก็ถือเป็นความรู้ใหม่เช่นกันค่ะ 
ครูมอลลี่: 

การจัดประเภทเรื่องสั้นดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเป็นสามารถนำมาใช้จำแนกเรื่องสั้นเพื่อความเข้าใจบันเทิงคดีประเภทนี้ แต่การจะเลือกเกณฑ์อย่างไรขึ้นอยู่กับว่า ผู้อ่านต้องการจะทำความเข้าใจในเรื่องใด  หากต้องการทำความเข้าใจในระดับขององค์ประกอบก็คงจะต้องใช้วิธีการของเจือ สตะเวทิน และประทีป เหมือนนิล หากต้องการทำความเข้าใจในระดับของรูปแบบและเนื้อหาสาระก็อาจจะใช้วิธีการของสุชาติ สวัสดิ์ศรีเป็นแนวทาง 

วันนี้ต้องขอบคุณครูมอลลี่ที่นำความรู้เกี่ยวกับเรื่องสั้นมาพูดคุยกันด้วยนะคะ อยากให้ครูช่วยฝากอะไรอีกสักเล็กน้อยก่อนที่เราจะจบบทความนี้ไปด้วยค่ะ
ครูมอลลี่:
พวกเราจะเป็นใคร มาจากไหนไม่สำคัญ  แต่สิ่งที่เรามีร่วมกันคือ จิตใจที่รักการสร้างสรรค์อักษรศิลป์  ครูมอลลี่จะพาพวกเราก้าวสู่โลกแห่งจินตนาการนั้นด้วยความเต็มใจ  แล้วเจอกันสัปดาห์หน้านะคะ ด้วยรักจากใจครูมอลลี่ ^^

 
และสำหรับบทความนี้ก็เป็นบทความที่ 2 ที่พี่หวานมีโอกาสได้คุยกับครูมอลลี่ ผู้ที่มีความรู้อย่างเต็มเปี่ยมเกี่ยวกับการเขียนเเละงานวรรณกรรม การได้พูดคุยกับครูที่มีประสบการณ์แบบนี้ก็ทำให้เราได้รับรู้ความรู้ใหม่ๆ ไปในตัวด้วยเลยนะคะเนี่ย โดยเฉพาะน้องๆ คนไหนที่สนใจอย่างส่งผลงานเข้าร่วมโครงการประกวดงานวรรณกรรม "รางวัลพระยาอนุมานราชธน" ก็สามาระอ่านบทความของครูมอลลี่เเละรีบไปเตรียมตัวกันได้นะคะ ส่วนใครที่เพิ่งผ่านเข้ามาอาจจะสนใจ สำหรับรายละเอียดโครงการต้องรีบไปดูที่นี่เลยค่ะ >>คลิก<< รางวัลมากมายรอมอบให้คนที่มีความฝันเเละมีความสามารถอยู่นะคะ เเล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่ะ^__^

 
พี่หวาน
 
พี่หวาน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด