คุยกับ 'ครูมอลลี่' ตอนที่ 3 : มือใหม่ หัดเขียน...เพราะเรื่องสั้นคือการสร้างสรรค์เพื่อความสนุกสนาน



คุยกับ 'ครูมอลลี่' ตอนที่ 3 : มือใหม่ หัดเขียน
เพราะเรื่องสั้นคือการสร้างสรรค์เพื่อความสนุกสนาน


สวัสดีค่ะเหล่านักอ่านนักเขียนชาวเด็กดีไรท์เตอร์ทุกคน^^ สำหรับวันนี้หลายคนมีนัดกับพี่หวานที่คอลัมน์คลินิกนักเขียนกับครูมอลลี่เช่นเคย อย่าเพิ่งลืมกันนะคะ เพราะพี่หวานจะนำคำแนะนำดีๆ จากการพูดคุยกับครูมอลลี่ผู้เชี่ยวชาญเเละมากประสบการณ์ด้านการเขียนมาฝากน้องๆ จนกว่าจะถึงวันเปิดรับสมัครผลงานเลยล่ะค่ะ

สำหรับสัปดาห์นี้ก็เป็นการลงลึกในเรื่องของ "มือใหม่ หัดเขียน" จากที่พี่หวานได้คุยกับครูมอลลี่มาตลอดจนเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 นี้แล้วก็พบว่าคุณครูมอลลี่ค่อนข้างให้ความสำคัญกับนักเขียนมือใหม่ ที่อยากจะลองส่งผลงานเข้ามาประกวด เพราะครูมอลลี่เล็งเห็นว่านักเขียนมือใหม่นี่แหละค่ะที่จะเข้ามามีส่วนปรับเปลี่ยนรูปแบบของวงการงานเขียนวรรณกรรมไทย เพื่อไม่เป็นการเสียเวลาเลื่อนลงมาดูดีกว่าค่ะว่าวันนี้ครูมอลลี่จะมาคุยอะไรกับเรากันบ้าง


 

คุยกับ 'ครูมอลลี่'


สวัสดีค่ะครูมอลลี่ เจอกันอีกครั้งเเล้วนะคะ ไม่ทราบว่าวันนี้ครูมีเรื่องราวน่าสนใจอะไรเกี่ยวกับการเขียนเรื่องสั้นมาฝากน้องๆ เด็กดีบ้างคะ
ครูมอลลี่ : แม้ว่าเรื่องสั้นจะเป็นงานเขียนประเภทร้อยแก้ว แต่ก็เป็นร้อยแก้วที่แตกต่างกับข่าวสารและสารคดีทั่วไป ทั้งนี้เพราะจุดมุ่งหมายของงานเขียนประเภทเรื่องสั้นแตกต่างกับงานเขียนประเภทข่าวหรือสารคดี เนื่องจากเรื่องสั้นสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความสนุกสนานเป็นหลัก ไม่ใช่เพื่อความรู้  ถ้าหากจะได้ประโยชน์ทางความรู้ก็ถือว่าไม่ผิดนะคะ  แต่เป็นจุดมุ่งหมายรองลงไป สำหรับมือใหม่หัดเขียนที่ผ่านมาเยี่ยมเยียน ลองอ่านเรื่องที่ครูมอลลี่เสนอแนะดูนะคะ
 

แล้วอย่างนี้ถ้าเรื่องสั้นเป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อสร้างความสนุกสนาน การเขียนเรื่องสั้นถือว่ามีสูตรสำเร็จตายตัวมั้ยคะครู
ครูมอลลี่ : การเขียนเรื่องสั้นไม่มีหลักอะไรที่แน่แท้ชัดเจนเหมือนสูตรคณิตศาสตร์หรือสูตรเคมี (ที่เด็กๆ อาจจะกำลังปวดหัวจากโรงเรียน) ร้อยทั้งร้อยของนักเขียนเรื่องสั้น มาจากนิสัยรักการอ่าน อ่านมากก็มีข้อมูลมาก อ่านมากก็มีแรงบันดาลใจมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านักอ่านทุกคนจะเป็นนักเขียนได้นะคะ  ขึ้นอยู่กับแรงขับภายในของแต่ละคนด้วยว่า มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะการถ่ายทอดสิ่งที่มันอัดแน่นอยู่ในหัวใจพร้อมที่จะระเบิดออกมาให้คนอื่นรับรู้หรือไม่ จากนั้นจึงบรรจงถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดนั้นด้วยตัวอักษร  ข้อแนะนำที่ครูมอลลี่เสนอในวันนี้ จึงเป็นเพียงแนวทางกว้างๆ ให้น้องๆ หนูๆ ทั้งหลายมีเกณฑ์พอที่จะเกาะเกี่ยวพึ่งพา นำความฝันที่จะก้าวสู่โลกนักเขียนเป็นจริงขึ้นมา 
 
 
สำหรับครูมอลลี่คิดว่าส่วนประกอบที่สำคัญของเรื่องสั้นมีอะไรบ้างคะ
ครูมอลลี่ : การเขียนเรื่องสั้นนั้นนอกจากแรงปรารถนาในหัวใจแล้ว  อาจต้องรู้จักสิ่งที่ประกอบสร้างเรื่องสั้นให้เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา ศัพท์ทางวรรณกรรมเรียกว่า องค์ประกอบของเรื่องสั้น  ได้แก่ เนื้อเรื่อง โครงเรื่อง ตัวละคร แนวคิดหรือแก่นเรื่อง  ฉากและบรรยากาศ  นอกจากนั้นยังจะต้องเข้าใจศิลปะการประพันธ์เรื่อง อันได้แก่ กลวิธีการเล่าเรื่อง กลวิธีการนำเสนอเรื่อง และศิลปะการใช้ภาษาอีกด้วย

วันนี้ครูมอลลี่จะขอกล่าวถึง 2 เรื่อง คือ เนื้อเรื่องและโครงเรื่องค่ะ  ส่วนประกอบเรื่องอื่นๆ ขออุบเอาไว้เล่าต่อสัปดาห์หน้า หวังว่าเด็กๆ ทุกคนคงจะยังอยู่เป็นเพื่อนกับครูมอลลี่เช่นเคยนะคะ

 
เเน่นอนว่าหวานเเละน้องๆ เด็กดีทุกคนยังอยู่กับครูมอลลี่ตรงนี้เหมือนเช่นเคยเลยค่ะ ว่าแต่ว่าองค์ประกอบของเรื่องสั้นประเภทเนื้อเรื่องและโครงเรื่องควรมีลักษณะแบบไหนคะ
ครูมอลลี่ : เนื้อเรื่องและโครงเรื่องนั้นเป็นองค์ประกอบส่วนแรกที่นักเขียนเรื่องสั้นพึงเข้าใจในเบื้องต้น ก่อนที่จะไปสู่ความเข้าใจองค์ประกอบอื่นๆ ต่อไป  เนื้อเรื่องและโครงเรื่องนั้นแม้ว่าจะเป็นการเล่าเหตุการณ์เหมือนกัน แต่ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน  อะไรเล่าจะบ่งบอกความแตกต่างดังกล่าวได้ ครูมอลลี่จะค่อย ๆ อธิบายให้ฟังนะคะ
           
เนื้อเรื่อง คือ การเล่าเหตุการณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามลำดับเวลาว่าอะไรเกิดก่อนอะไรเกิดหลัง แม้ว่าเรื่องราวที่ปรากฏในเรื่องสั้นนั้น  ผู้แต่งมิได้กล่าวอย่างตรงไปตรงมาก็ตาม บางคนเล่าเรื่องแบบย้อนอดีต บางคนเล่าเรื่องจากตัวละครตัวนั้น โยงไปตัวโน้นตัวนี้ อะไรทำนองนั้นถือเป็นกลวิธีการเขียนค่ะ คนอ่านเนื้อเรื่องเพื่อให้รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นและอะไรจะเกิดขึ้นอีกต่อไป แต่เมื่อเวลาเราจะลงมือเขียนเรื่องสั้น  การเขียนเรื่องย่อของเรื่องที่เราจะเขียนอาจเป็นเรื่องยากและอาจไม่จำเป็น นักเขียนส่วนใหญ่จึงสร้างเค้าเรื่องอย่างกว้างๆ เอาไว้ ถ้าเปรียบกับการวาดภาพก็คือการสเก๊ตซ์เค้าโครงสิ่งที่กำลังจะวาดลงบนกระดาษ ก่อนที่จะลงรายละเอียดต่อไป เพื่อให้ภาพนั้นเด่นชัดขึ้นมา  ในแง่ของวรรณกรรมเราก็ทำแบบเดียวกัน  เพียงแต่เราทำเป็นเค้าเรื่องและมีคำเรียกเค้าเรื่องนี้ว่า “โครงเรื่อง”  หรือ “พล็อต” นั่นเอง
           
โครงเรื่อง คือ การวางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องโดยใช้เหตุผลมาเป็นเกณฑ์ในการลำดับเหตุการณ์  โครงเรื่องจึงเป็นการเลือกเรื่องเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องและจำเป็นกับจุดมุ่งหมายของเรื่องมาแสดงให้เข้าใจอย่างมีเหตุผล  การสร้างโครงเรื่องที่ดีและสนุกนั้น ผู้เขียนจะต้องสร้างข้อขัดแย้งและอุปสรรคปัญหาให้เกิดขึ้น และนำไปสู่การแก้ไขปัญหา อุปสรรคหรือข้อขัดแย้งนั้น

 
เหมือนหนูจะเคยเห็นเรื่องการสร้างความขัดแย้งมาบ้าง เเต่รบกวนครูมอลลี่ช่วยอธิบายในส่วนนี้ให้น้องๆ คนอื่นได้เข้าใจมากขึ้นนิดนึงนะคะ เพื่อจะได้นำไปปรับปรุงงานเขียนให้น่าสนใจขึ้น
ครูมอลลี่ : การสร้างความขัดแย้งในโครงเรื่อง ทำได้หลายวิธี วิธีที่นักเขียนนำมาใช้ ได้แก่ 

 
  • การสร้างความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ เป็นความขัดแย้งระหว่างตัวละครในเรื่อง อาจมาจากความขัดแย้งด้านความคิด ด้านการกระทำ หรือด้านผลประโยชน์ และนำมาซึ่งการต่อสู้รูปแบบต่าง ๆ นักประพันธ์จำนวนมากนิยมใช้ความขัดแย้งประเภทนี้ เพราะสร้างได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด 
     
  • การสร้างความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสังคม เป็นความขัดแย้งที่เกิดจากตัวละครในเรื่องกับระบบสังคม ทำให้ตัวละครต้องถูกบีบคั้นกดดันจากคนรอบข้าง ต้องประสบกับความคับข้องใจจนต้องหาทางออกให้แก่ชีวิตด้วยวิธีการต่าง ๆ
     
  • การสร้างความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับตนเอง  เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์ อันเนื่องมาจากการทำตามความเรียกร้องในจิตใจของตัวเองกับความถูกต้องเหมาะสม ซึ่งอาจเป็นคุณธรรมหรือศีลธรรม หรืออาจมาจากลักษณะทางกายภาพที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำสิ่งที่ตนเองปรารถนา ทำให้ตัวละครต้องประสบความทุกข์แสนสาหัส
     
  • การสร้างความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสาเหตุภายนอกหรือสิ่งแวดล้อม  เป็นความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับปัจจัยภายนอกที่มีอำนาจอยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์ อันได้แก่ ธรรมชาติ พระเจ้า ศาสนา ตลอดจนชะตากรรมของมนุษย์
     
จากหลายความขัดเเย้งข้างต้นจำเป็นที่ต้องมีคาวมขัดแย้งเหล่านี้มั้ยคะ
ครูมอลลี่ : อย่างไรก็ตาม เรื่องสั้นจำนวนไม่น้อยที่ความขัดแย้งในเรื่องไม่เด่นชัด ในกรณีเช่นนี้ เรื่องสั้นเรื่องนั้นจะต้องมีเหตุการณ์หรือข้อคิดที่น่าสนใจชดเชย เป็นเหมือนจุดรวมความน่าสนใจในตอนท้ายซึ่งครูคิดว่าการมีโครงเรื่องที่ดีก็น่าสนใจมากค่ะ

ในทางวรรณกรรมก็มีการให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับโครงเรื่องที่ดีเอาไว้หลายประการ  ครูมอลลี่รวบรวมเอาไว้ให้เป็นแนวทางแก่น้องๆ หากว่าจะสร้างโครงเรื่องของเรื่องสั้นจะได้มีเกณฑ์ในการพิจารณา ซึ่งลักษณะของโครงเรื่องที่ดีเป็นอย่างนี้ค่ะ
 
  1. ​มีความสัมพันธ์กันระหว่างเหตุการณ์ต่าง ๆ ในเรื่องประดุจลูกโซ่ที่เกี่ยวเนื่องกันจากเรื่องเล็กไปสู่เรื่องใหญ่อย่างมีเอกภาพ รายละเอียดที่จำเป็นไม่มากไม่น้อยจนเกินไปจนเรื่องแน่น หรือหลวม เหตุการณ์ในเรื่องได้รับการคัดเลือกแล้วว่าเหมาะสมกับเรื่อง
     
  2. สร้างความสนใจใคร่รู้เรื่องต่อไป คือ ทำให้คนอ่านอยากติดตามเรื่องต่อไป
     
  3. มีข้อขัดแย้งที่น่าสนใจในโครงเรื่อง เช่น ข้อขัดแย้งระหว่างคนต่างวัย ต่างความคิด ข้อขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรม
     
  4. ไม่มีเหตุบังเอิญ ถ้าหากมี ผู้แต่งต้องมีความสามารถพอที่จะใช้อย่าง  ใช้เป็น
     
  5. ชี้ให้ผู้อ่านเห็นโลกหรือสังคมมนุษย์และชีวิตมนุษย์อย่างกว้างขวางหรือลึกซึ้ง
     
 ครูมอลลี่เชื่อว่า พวกเรามีเรื่องที่จะเขียนอยู่ในใจแล้ว ลองคิดผูกร้อยเป็นโครงเรื่องขึ้นมาสิคะ เหตุการณ์ในโครงเรื่องบางส่วนอาจจะอิงความจริง บางส่วนอาจจะแต่งเติมขึ้นมา ลงมือสิคะ รออะไรอยู่ นักเขียนมือใหม่ของครูมอลลี่!


วันนี้ได้มาคุยกับครูมอลลี่เป็นครั้งที่ 3 เเล้วก็ยังรู้สึกสนุกเหมือนทุกครั้งเลยค่ะ พี่หวานเเละทางเด็กดีไรท์เตอร์รู้สึกดีใจมากๆ ที่ครูมอลลี่มาร่วมพูดคุยกันเเลกเปลี่ยนความเห็นเเละได้เเนะนำจุดเล็กๆ ที่หลายคนอาจจะมองข้ามไป ก็หวังว่าน้องๆ นักอยากเขียน เล่ามือใหม่หัดเขียนทุกคนจะมีความมั่นใจในงานของตัวเองมากขึ้นด้วยนะคะ หรือถ้าใครตามไม่ทันก็สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดการประกวดรางวัลพระยาอนุมานราชธนได้ที่นี่เลย >>คลิก<< แล้วพบกันใหม่บทความหน้าค่ะ อย่าเพิ่งหายกันไปไหนซะก่อนล่ะเด็กๆ ^___^

 
พี่หวาน
พี่หวาน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด