วิจารณ์หนังสือ : A Monster Calls เพราะชีวิตจริงไม่ได้สวยงามเหมือนเทพนิยาย!


 
สวัสดีน้องๆ ชาวนักเขียนนักอ่านทุกคนค่ะ ช่วงนี้เดี๋ยวฝนตกเดี๋ยวแดดแรง อากาศแปรปรวนมากๆ ไปไหนอย่าลืมพกร่มพกเสื้อกันฝนรักษาสุขภาพกันด้วยนะคะ

เริ่มคำทักทายมาอย่างสบายๆ แล้วขอเข้าเรื่องเลยว่า... วันนี้พี่ซูมจะขอมาชวนทุกคนพูดคุยถึงหนังสือเรื่อง “A Monster Calls” ผลงานจากปลายปากกาของ แพทริค เนส (Patrick Ness) หนังสือเล่มนี้มีจุดเด่นน่าสนใจคือเป็นหนังสือเล่มแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัลนวนิยาย คาร์เนกี้ (Carnegie Medal) และรางวัลภาพประกอบหนังสือสำหรับเด็ก เคทกรีนอเวย์ (Kate Greenaway) พร้อมๆ กัน หนังสือได้รับความนิยมมาก ได้รับการซื้อลิขสิทธิ์ไปขายในประเทศต่างๆ มากมาย รวมทั้งภาษาไทย ที่ใช้ชื่อว่า... “ผู้มาเยือนหลังเที่ยงคืน” แปลโดย วรรธนา วง์ฉัตร สำนักพิมพ์เวิร์ด วอนเดอร์  และล่าสุด หนังสือเรื่องนี้ ก็ได้รับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ออกฉายไปหลายประเทศด้วยนะคะ เรียกได้ว่าเป็นกระแสมาแรงมากในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
  
หน้าปกหนังสือฉบับแปลภาษาไทย
 
มาพูดถึงเนื้อเรื่องกันบ้างดีกว่าค่ะ หนังสือเล่มนี้เล่าถึงเด็กผู้ชายวัยสิบสองปีคนหนึ่งชื่อ คอเนอร์ โอ’ มัลเลย์ ผู้มีปัญหารุมล้อมมากมายสารพัดอย่าง ทั้งโดนกลุ่มหัวโจกประจำชั้นเรียนรุมแกล้ง ซ้ำร้ายตอนนี้แม่ของเขากำลังป่วยหนัก ด้วยโรคร้ายที่รักษาไม่ได้ ความกดดันและความเครียดส่งผลต่อสภาพจิตใจของคอเนอร์อย่างหนัก จนกระทั่งวันหนึ่ง เด็กชายนอนหลับและฝันไปว่าได้พบกับปีศาจต้นยู เจ้าปีศาจมาเพื่อเล่านิทานให้เขาฟังทั้งหมดสามเรื่อง โดยมีข้อแลกเปลี่ยนว่าเรื่องสุดท้ายคอเนอร์ต้องเป็นคนเล่าเรื่องของตัวเองบ้าง ฟังแล้วก็น่าคิดเหมือนกันนะคะว่าเรื่องทั้งหมดนี้จะลงเอยอย่างไร เพราะถ้าเป็นเทพนิยายเรื่องอื่นๆ ส่วนใหญ่ตัวละครที่กำลังเผชิญชะตากรรมแบบนี้ มักจะได้ผู้ช่วยดีๆ เช่น ซินเดอเรลล่าเอง ก็เจอนางฟ้าใจดี หรือเจ้าหญิงนิทรา ก็เจอนางฟ้าสามองค์ สโนไวท์ก็มีคนแคระ แต่สำหรับคอเนอร์แล้ว เจ้าปีศาจไม่ได้มาเพื่อช่วย แต่มาเพื่อเล่านิทานให้ฟัง และนิทานพวกนั้นก็ไม่ได้สนุกสนานหรือบันเทิงแต่อย่างใด น่าคิดเหมือนกันนะคะว่า เรื่องราวของคอเนอร์จะลงเอยอย่างไร 

ทว่าแม้เนื้อหาอาจจะดูดาร์คๆ และเคร่งเครียด แต่ในความไม่สวยไม่งามนั้น ก็มีบางอย่างที่ส่งผลต่อความรู้สึก และทำให้พี่ซูมได้ข้อคิดดีๆ หลายอย่างมากค่ะ ซึ่งพี่ก็ได้สรุปมาให้น้องๆ ได้อ่านด้วยกันแล้วในวันนี้ หากว่าใครเคยอ่านหนังสือเล่มนี้ พี่ซูมเชื่อว่า น้องๆ น่าจะเข้าใจประเด็นที่พี่ต้องการสื่อนะคะ 

ลองไปดูกันค่ะว่าพี่ได้ประเด็นใดจากหนังสือเรื่องนี้บ้าง   

 
ข้อคิดที่ 1 : มนุษย์เป็นส่วนผสมของสีขาวและสีดำ
เวลาเราฟังนิทาน มักจะพบว่า... ตอนจบของเรื่องส่วนใหญ่จะจบสวยงาม ทำนองว่า "แล้วทุกคนก็อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขตลอดไป" ใช่ไหมคะ สำหรับ A Monster Calls เหมือนจะเป็นข้อยกเว้นค่ะ เช่น นิทานเรื่องแรก ก็ทำให้เราสับสนกับการกระทำของตัวละครได้แล้ว ปีศาจเล่าถึงอาณาจักรแห่งหนึ่ง พระราชามีรัชทายาทองค์เดียว และยังทรงพระเยาว์มาก ไม่สามารถขึ้นครองราชย์ได้ ต่อมา พระราชาได้อภิเษกสมรสใหม่กับพระราชินีผู้อ่อนวัยกว่า ซึ่งเป็นแม่มดจำแลงกายมา เรื่องนี้แค่ฟังเผินๆ เราอาจจินตนาการต่อไปไกลได้ว่า... แม่มดจำแลงนางนี้ต้องใจร้ายใจดำ และต้องหาทางขัดขวางไม่ให้เจ้าชายขึ้นครองบัลลังก์อย่างแน่นอน พี่ซูมคงจะไม่เฉลยก็แล้วกันค่ะว่า... ตอนจบเป็นอย่างไร รู้แต่มันทำให้พี่ซูมได้คิดว่า... แท้จริงแล้ว มนุษย์เราไม่ได้มีแค่สีดำกับสีขาว แต่เป็นส่วนผสมระหว่างสองสีนี้ หลังจากอ่านนิทานเรื่องแรกจบ ทำให้พี่ซูมคิดได้ว่า... ต่อจากนี้เวลามองใคร คงไม่อาจมองเขาได้แค่ด้านเดียวอีกแล้ว แต่ต้องมองให้รอบคอบและครบทุกมุมในแบบที่เขาเป็น ต้องพิจารณาทั้งข้อดีและข้อเสียของแต่ละบุคคลอย่างระมัดระวัง สิ่งที่พี่ซูมได้จากการอ่านก็คือ โลกนี้ไม่มีใครดีไม่มีใครเลวไปซะทั้งหมดหรอกค่ะ มนุษย์ส่วนใหญ่เปรียบเป็นส่วนผสมของสีขาวและสีดำ หรือ “สีเทา” จริงอยู่ว่าทุกคนล้วนคาดหวังให้ทุกอย่างจบลงอย่างสวยงาม แต่ในความเป็นจริง ชีวิตคนเราก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นไปเสียหมด อ่านจบ พี่ซูมก็เกิดข้อสงสัยว่า... ในชีวิตจริงนั้น เราจะเอาอะไรมาตัดสินว่าถูกหรือผิด เพราะคำตอบจากหนังสือเล่มนี้ ทำให้เราได้คิดว่า... ทุกเรื่องราว ทุกเหตุการณ์บนโลกใบนี้ ล้วนมีที่มาที่ไปเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน เปรียบได้กับเหรียญที่มีสองด้านนั่นเอง

ดังนั้น นิทานเรื่องแรกนี้จึงสอนให้เรารู้ว่า 
อย่าตัดสินทุกอย่างจากเพียงด้านเดียว จงมองให้ลึกและกว้าง รวมทั้งใช้เหตุผลในการตัดสินใจมากกว่าใช้อารมณ์และการคาดเดาจากประสบการณ์ของตนเอง
 

 
ข้อคิดที่ 2 : ใครกันแน่ที่เห็นแก่ตัว 
ข้อคิดที่ 2 นี้ พี่ซูมได้มาจากนิทานเรื่องที่สองค่ะ สารภาพว่าตอนอ่านนิทานเรื่องแรก คาดเดาไว้แล้วผิดไปสุดกู่ พออ่านเรื่องที่สอง พี่ซูมก็เลยคิดเยอะหน่อยค่ะ สำหรับเรื่องนี้ เจ้าปีศาจเล่าเรื่องชายผู้ละโมบโลภมากคนหนึ่ง อาชีพหมอยา (เภสัชกรในปัจจุบัน) ชาวบ้านรังเกียจเพราะนิสัยเห็นแก่เงิน วันหนึ่ง หมอยาต้องการต้นยูที่อยู่ใกล้ๆ กับโบสถ์ เพื่อมาปรุงยา... จึงไปขอบาทหลวงแต่ก็ถูกปฏิเสธ เพราะขัดกับความเชื่อบางอย่างทางศาสนา จนกระทั่งต่อมา เกิดโรคระบาด ลูกสาวของบาทหลวงล้มป่วยอย่างหนัก มีเพียงหมอยาที่จะรักษาได้ บาทหลวงก้มหัวขอร้องยอมทำทุกอย่าง แต่ได้รับคำปฏิเสธตอบแทน...
 
และนิทานเรื่องนี้ ก็สอนให้เรารู้จักคำว่าเห็นแก่ตัวได้อย่างลึกซึ้ง คนทั่วไปอาจจะมองว่า หมอยาเป็นคนเห็นแก่ตัว คิดค่ารักษาในราคาแพง แต่เมื่อมองให้ลึกๆ แล้ว การกระทำหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้น ทำให้เราเริ่มสงสัยว่า... แท้จริงแล้ว ใครเห็นแก่ตัวกันแน่ ตัวอย่างที่นักเขียนนำมาเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ก็คือบาทหลวงนี่แหละค่ะ ความศรัทธาอันมากเกินไป ที่จะรักษาต้นยูเอาไว้ ทั้งๆ รู้แก่ใจว่า ถ้าหากยอมให้หมอยานำไปใช้ ก็จะได้ยาที่สามารถช่วยเหลือชีวิตของผู้คนได้มากมาย จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ คือเมื่อบาทหลวงมองว่าหมอยาเห็นแก่ตัว มีอคติในใจ ก็ปฏิเสธที่จะช่วยเหลือหมอยา ส่วนหมอยาเอง ก็ไม่แตกต่างกัน เมื่อบาทหลวงเดือดร้อนมา และผู้ที่เกี่ยวข้องเองก็ไม่ใช่ตัวบาทหลวง แต่เป็นลูกสาวของบาทหลวงต่างหาก ก็ไม่ยอมรักษา เพราะอคติและยังจดจำความแค้นที่บาทหลวงไม่ยอมมอบต้นยูให้เอาไว้ การได้ฟังนิทานเรื่องที่สองทำให้พี่ซูมเกิดข้อสงสัยว่า... "ใครกันแน่ที่เห็นแก่ตัว" และถ้าหากพฤติกรรมแบบนี้ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ผู้คนต่างก็หันหน้าไปคนละทาง เพราะมองว่าอีกฝ่ายเคยทำร้ายตัวเองมาตลอด มันใช่เป็นการเพิ่มความแค้นให้ไม่จบไม่สิ้นหรือไม่...? พูดแล้วก็นึกถึง สงครามในประเทศต่างๆ ที่รบกันเพียงเพราะความขัดแย้งทางการเมือง ประชาชนไม่ได้มีส่วนรู้เห็นอะไรด้วยเลย เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจแท้ๆ น่าเศร้ามากๆ เลยนะคะ และน่าถามมากด้วยว่า "ใครกันแน่ที่เห็นแก่ตัว" 
 
 

ข้อคิดที่ 3 : ความสงสารอาจเป็นดาบสองคมโดยเราไม่รู้ตัว

หลายครั้ง เราคิดว่าคนที่สงสารคนอื่น เห็นใจคนอื่น เป็นคนดี แต่เมื่อมองอีกด้านหนึ่ง ความสงสารอาจจะทำร้ายคนอื่นได้โดยเราไม่รู้ตัวเช่นกัน คอเนอร์ ตัวละครในเรื่องนี้ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากค่ะ ใครๆ ก็สงสารเขา เป็นห่วงเขา แต่แทนที่จะทำให้เด็กน้อยอิ่มใจหรือรู้สึกดี กลับกลายเป็นเขามองว่าตัวเองไม่มีตัวตน เป็นคนไร้ค่า ไม่ว่าจะทำอะไร ทุกคนก็คอยประคับประคองและเป็นห่วงเป็นใย กลายเป็นว่า ไอ้ความสงสาร ความหวังดีนี้ ทำให้เด็กชายอดไม่ได้ที่จะโทษตัวเอง เรื่องนี้ทำให้พี่ซูมอดคิดถึงปัญหาของคนพิการไม่ได้ค่ะ มีหลายๆ ครั้งที่คนพิการออกมาพูดว่า เขาก็แค่อยากให้ทุกคนปฏิบัติต่อเขาเหมือนคนธรรมดาทั่วไป ไม่ได้อยากเป็นคนพิเศษอะไรเลย แค่นั้นก็มีค่ามากพอแล้ว บางที คอเนอร์อาจไม่แตกต่างกัน เขาอาจจะแค่อยากทำอะไรที่เป็นตัวของตัวเอง โดยไม่ต้องมีใครมาคอยช่วยเหลือ ห่วงใย บางครั้ง ความสงสารนั้นก็ทำให้ผู้รับลำบากใจได้เหมือนกัน 

เรื่องความรู้สึกของคนนั้น ละเอียดอ่อนมากจริงๆ ค่ะ และการจะเข้าใจใครสักคนก็ไม่ง่ายเลย บางครั้ง 
การที่คนคนหนึ่งต้องเผชิญกับความทุกข์หรือเรื่องเลวร้าย อาจไม่ได้หมายความว่า เขาต้องการการประคบประหงม หรือได้รับความสงสารจากใคร เพราะในความเป็นจริงแล้ว เขาอาจจะอยากยืนหยัดด้วยตัวเอง และใช้ชีวิตไม่แตกต่างจากคนอื่นก็ได้

ข้อคิดที่ 4 : ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย หนีอย่างไรก็ไม่พ้น 

ในเรื่องนี้ พฤติกรรมของคอเนอร์ทำให้เราได้เข้าใจธรรมชาติหลายๆ อย่างของมนุษย์อย่างชัดเจน นั่นคือ เมื่อเกิดปัญหา หลายๆ ครั้ง มนุษย์ไม่อยากรับรู้ความจริง ก็เลยหลอกตัวเองไปเรื่อยๆ คุณยายของคอเนอร์พูดไว้น่าคิดและน่าฟังมากค่ะ นางบอกว่า พ่อแม่ของคอเนอร์เลือกที่จะปิดบังความจริงกับลูก ไม่ยอมให้ลูกเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบัน ในชีวิตจริง มันมีนะคะ พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบนี้ แทนที่จะบอกความจริงก็ปิดบัง และมันทำให้ท้ายที่สุด ลูกก็ยืนหยัดในสังคมได้อย่างลำบาก คอเนอร์เองก็เช่นกัน เมื่อพ่อแม่ทำแบบนี้ ท้ายที่สุด เขาก็เลยเลือกที่จะไม่ยอมรับความจริง และบอกตัวเองว่า... เดี๋ยวแม่ก็หายแล้ว ทุกอย่างก็จะกลับเป็นปกติ และชีวิตก็จะกลับเป็นเหมือนเดิม สิ่งที่เกิดขึ้นเลยกลายเป็นว่าเด็กชายหนีความจริงไปเรื่อยๆ ซึ่งท้ายที่สุด มันก็เป็นไปไม่ได้หรอกค่ะ เพราะสุดท้าย เขาก็ต้องรับรู้ความจริงอยู่ดี ชีวิตจริงก็เหมือนกัน ต่อให้เราพยายามหนีความจริงแค่ไหน มันไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย และในที่สุดไม่ช้าไม่นานความจริงย่อมปรากฏออกมาอยู่ดี เพราะฉะนั้น จงกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความจริงเสมอค่ะ เพื่อตัวของเราเอง 
 

ข้อคิดที่ 5 : ุทุกคนต้องหาทางออกของชีวิตด้วยตัวเอง 

ปัญหาหลักของคอเนอร์คือ ปัจจัยรอบๆ ตัว ส่งผลให้เด็กชายไม่อาจค้นหาทางออกของชีวิตได้ ปัจจัยเหล่านั้นได้แก่ ครอบครัว สังคม รวมไปถึงจิตใจที่อ่อนแอของเด็กชายเองด้วย ทำให้เขาไม่อาจมองเห็นทางออกของชีวิตได้ ชีวิตของเราก็เป็นแบบนั้นค่ะ เคยไหมคะ ช่วงเวลาที่ชีวิตย่ำแย่มากๆ ปัญหาถาโถมมาพร้อมๆ กัน บางทีเราก็สับสนหาทางออกไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุด เราก็ต้องหาทางออกให้ได้ และต้องยืนหยัด ตอนจบของหนังสือเรื่องนี้ ได้ทิ้งท้ายให้เราคิดหาคำตอบด้วยตัวเองว่า ชีวิตของคอเนอร์จะเป็นอย่างไร นักเขียนเลือกวิธีการนำเสนอได้ดีและน่าสนใจมากๆ ค่ะ เขาให้นักอ่านอย่างเราได้หาทางออกของชีวิต (ของคอเนอร์) ด้วยตัวเราเอง สำหรับพี่ซูมแล้ว มองว่าเขาต้องการให้เรารู้จักคิดและมองทุกอย่างผ่านสายตาของเราเอง... ซึ่งพี่ซูมเองก็มีคำตอบในใจแล้ว มันอาจจะแตกต่างจากน้องๆ คนอื่นๆ ก็ได้ แต่ที่แน่ๆ มันก็คือทางออกที่เราค้นหาด้วยตัวเอง และนั่นแหละสำคัญที่สุดค่ะ 

คอเนอร์กับคุณแม่ในฉบับคนแสดง

หลังจากอ่านหนังสือเรื่องนี้จบ สารภาพว่าพี่ซูมแอบน้ำตาหยดแหมะใส่หนังสือไปหลายหยดอยู่นะคะ หนังสือเล่มนี้ ทำให้พี่ได้ทบทวนตัวเอง และได้คิดว่า กว่าเราจะก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาเดียวกับคอเนอร์มาได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยจริงๆ เราเองก็เคยผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการหลอกตัวเอง การฝืนตัวเอง การหลบหนีเข้าไปในโลกแห่งจินตนาการ ไม่ยอมรับรู้โลกความเป็นจริง ซึ่งเราก็ไม่แตกต่างจากคอเนอร์เลยค่ะ และทั้งหมดนี้ มันก็เกิดขึ้นได้แค่ชั่วคราวเท่านั้น ท้ายที่สุด การยืนหยัดเผชิญหน้าและแก้ไขปัญหานั่นต่างหากจะทำให้เราก้าวต่อไปและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ 

ยังไงก็อย่าลืมนะคะว่าเราไม่ได้แบกโลกไว้ทั้งใบ ยังมีความรักมิตรภาพจากคนรอบตัวเราคอยเป็นกำลังใจให้อยู่เสมอ ขอเพียงแค่เปิดใจยอมรับ แล้วน้องๆ จะพบว่ามีอะไรดีๆ อีกหลายอย่างรอเราอยู่ค่ะ ^ ^  

วันนี้ขอลาไปด้วยภาพโปสเตอร์จากฉบับคนแสดงนะคะ
แล้วยังไงพบกันใหม่โอกาสหน้าค่ะ

 

พี่ซูม

 


 

พี่ซูม

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
กำลังโหลด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยเจ้าของ

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด