ดูแล้วมาคุยกัน! “Little Witch Academia” มังงะแนวคิดดีจากญี่ปุ่นที่กำลังจะฉายทางบน Netflix

สวัสดีชาวเด็กดีผู้น่ารักทุกคนค่ะ กลับมาพบกันกับพี่ซูมอีกแล้วนะคะ หลังแจกความมืดมนกันไปหลายคอลัมน์พอสมควร ครั้งนี้ขอมาแจกความสดใสกันบ้าง กับแอนิเมชั่นเรื่อง Little Witch Academia ที่ดัดแปลงมาจากมังงะชื่อเดียวกัน โดยเรื่องนี้เคยลงในนิตยสาร อัลตร้าจั๊มป์ กับ ริบบ้อน ของ สำนักพิมพ์ชูเอฉะ มาก่อน ทั้งยังมีภาพยนตร์อนิเมะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ที่ประเทศญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 2015 อีกด้วย ปัจจุบัน เรื่องนี้กำลังออกอากาศทางโทรทัศน์ความยาวทั้งหมด 25 ตอน ทางช่อง Tokyo MXBS11KTV และล่าสุดสดๆ ร้อนๆ ไม่กี่วันที่ผ่านมา ลิตเติ้ลวิชอะคาเดเมียได้ถูกซื้อลิขสิทธิ์ไปฉายในช่องดูหนังออนไลน์ชื่อดังอย่าง NetFlix เรียบร้อย ทำเอาแฟนคลับชาวไทยเฮเพราะได้ดูซับไทยแบบถูกลิขสิทธิ์กันอย่างแน่อน !

ภาพประชาสัมพันธ์จาก https://www.facebook.com/sakugath

หากสนใจดูผ่าน Netflix คลิกที่รูปเลยจ้า

ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเที่ยวที่บรรยายสรรพคุณความเลิศไว้ซะดิบดีด้านบน วันนี้เราจะมาวิเคราะห์กันค่ะว่าเพราะอะไรกันหนอ เรื่องลิตเติ้ลวิชอะคาเดเมียถึงเป็นอนิเมชั่นเหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย เด็กหัวเราะชอบใจ ผู้ใหญ่ยิ้มมีความสุขเหมือนได้ย้อนกลับไปในวัยเด็กกันอีกรอบ  โดยเพื่อความสะดวกอ่านง่ายเห็นประเด็นชัดเจน พี่จึงขอแบ่งออกเป็นหัวข้อเรียงไปดังนี้

ทำความเข้าใจกับเรื่องย่อกันก่อน

ลิตเติ้ลวิชอะเคเดเมียเป็นเรื่องราวของเด็กผู้หญิงชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง ชื่อของเธอคือ คาการิ อัตสึโกะ หรือทุกคนมักเรียกสั้นๆ ว่า อัคโกะ เธอเข้ามาเรียนที่ ลูน่า โนว่า โรงเรียนสำหรับฝึกหัดการเป็นแม่มดตามแบบอย่างไอดอลตั้งแต่วัยเยาว์ของเธอคือ แม่มดสาวไชนี่ชาริอ็อต ทั้งที่ตนเองไม่ได้มีเวทมนตร์อะไรเลย และต้องพยายามมากกว่าคนอื่นหลายเท่าตัว ทว่าทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนไปเมื่ออัคโกะได้ค้นพบ ไชนี่ร็อต ไม้คฑาของไชนี่ชาริอ็อตโดยบังเอิญในป่าต้องห้าม

รูปโปสเตอร์การแสดงของไชนี่ชาริอ็อตที่อัคโกะติดไว้ที่ผนังห้องนอนในหอพักของเธอเสมอ

อะไรคือธีมหลักที่เรื่องนี้ต้องการบอก

ถ้าว่ากันด้วยธีมหลักของเรื่องนี้ พี่คิดว่ามีสองธีมคือ หนึ่งได้แก่การทำตามความฝันและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ของอัคโกะ กับ สองคือ อัคโกะต้องการสานต่ออุดมการณ์ของแม่มดสาวไชนี่ ชาริอ็อตที่เชื่อว่าเวทมนตร์เป็นสิ่งมหัศจรรย์ สรรค์สร้างให้ผู้คนบนโลกเต็มไปด้วยรอยยิ้มแห่งความสุข สวนทางกับยุคที่เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้าจนผู้คนส่วนใหญ่เลิกให้ความสำคัญกับเวทมนตร์ เพราะคิดว่ามันเป็นเรื่องล้าสมัย ทั้งที่แท้จริงแล้ว มันเป็นต้นกำเนิดอารยธรรมหลายๆ อย่าง ตรงจุดนี้พี่คิดว่าแอบคล้ายกับพวกวัฒนธรรม ประเพณีในสมัยโบราณที่กำลังถูกหลงลืมไป เพราะคนส่วนใหญ่หันมาสนใจกับเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถ้าไม่มีคนให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้แล้วล่ะก็ ทุกอย่างอาจจะเลือนหายไปตามกาลเวลา ซึ่งก็เป็นที่น่าเสียดายมากเลยว่าไหมคะน้องๆ   

 

ตัวละครหลักที่ส่งผลต่อเนื้อเรื่อง

เนื่องจากอนิเมะเรื่องนี้มีตัวละครหลายตัวมากมายก่ายกอง ไม่สามารถนำมารีวิวครบทุกคนได้ในทีเดียว บทความนี้พี่จึงขอพูดถึงตัวละครหลักที่ส่งผลต่อเรื่องราวเยอะที่สุดสามคน ได้แก่ 

คาการิ อัตสึโกะ หรือ อัคโกะ  

เธอคนนี้เป็นใคร

คาการิ อัตสึโกะ หรือ อัคโกะ ลูกสาวคนเดียวของบ้านคาการิ มีอุปนิสัยร่าเริงสดใส เฮฮาปาจิงโกะ และบ้าพลังเอามากๆ ถ้าขึ้นชื่อว่าจะทำอะไรจะอาศัยลูกบ้าทำจนกว่าจะสำเร็จ เข้ามาเรียนที่ลูน่าโนว่าตามไชนี่ ชาริอ็อต เพราะประทับจากโชว์ของแม่มดคนนี้ที่เคยไปดูสมัยยังเป็นเด็กน้อย

มองโลกอย่างอัคโกะ

อัคโกะเป็นบุคคลมองอะไรในแง่บวกเสมอค่ะ สาวพลังใจเกินร้อยคนนี้เชื่อว่าทุกปัญหามีทางออกเสมอ ไม่ว่ามันจะหนักหนาแค่ไหนก็ตาม เธอพร้อมจะเอาลูกบ้าฟันฝ่าเอาชนะมันให้ผ่านไปอย่างสวยงามจงได้ แม้บางครั้งจะมีสภาพสะบักสะบอมอย่างที่ปรากฏในหลายๆ ตอนก็ตาม

           

ไดอาน่า คาเวนดิช 

เธอคนนี้เป็นใคร

ไดอาน่า คาเวนดิช  สาวสมบูรณ์แบบตามแบบอุดมคติ สวย รวย เก่ง แห่งบ้านคาเวนดิช ภายใต้ความสุขุมนุ่มลึก ดูเป็นผู้ใหญ่แสนเพียบพร้อมสมบูรณ์ดูนางพญาในบางเวลาจึงชวนให้อัคโกะเข้าใจผิดว่าหยิ่ง เข้าหายาก ทั้งที่จริงแล้วเธอเป็นคนจิตใจดี นุ่มนวล และค่อนข้างเป็นมิตรเลยทีเดียว แค่ติดว่าแสดงออกทางอารมณ์ไม่เยอะเท่าแม่นางอัคโกะของพี่เท่านั้นเอง

มองโลกอย่างไดอาน่า

ด้วยนิสัยอันเป็นผู้ใหญ่ สุขุมทุกกระเบียดนิ้วของไดอาน่า ส่งผลให้เธอค่อนข้างทำอะไรเป็นขั้นเป็นตอนเป๊ะครบถ้วนสมบูรณ์ตามระบบแบบแผนที่ยึดถือกันมาทุกอย่าง สิ่งที่น่าเสียดายคือด้วยความที่เธอเป็นคนยึดติดกับกรอบมากเกินไป บางครั้งมันจึงทำให้พลาดโอกาสเปิดประสบการณ์ที่ตนเองไม่เคยลองไป (แม้สุดท้ายอัคโกะจะเป็นลากเธอไปก็ตาม 555)

 

แอนดริว ฮันบริดจ์

เขาคนนี้เป็นใคร

ใครบอกว่าเรื่องลิตเติ้ลวิชอะคาเดเมียมีแต่ผู้หญิง ขอบอกว่าคิดผิดมหันต์ ผู้ชายก็มีนะคะ! เขาคนนี้เป็นตัวละครที่ไม่พูดถึงไม่ได้ในฐานะของตัวละครฝั่งคนธรรมดาไม่มีเวทมนตร์ ชื่อของพ่อหนุ่มหน้ามนคนนี้คือ แอนดริว ฮันบริดจ์ เป็นลูกชายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรของประเทศอันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนลูน่าโนว่า แถมเขาคนนี้ยังเป็นญาติห่างๆ กับไดอาน่าอีกด้วย

ส่วนอุปนิสัย เดิมทีพ่อคุณเป็นคนนิ่งมาก ไม่ค่อยแสดงออกทางอารมณ์ตามประสาพวกคุณชายที่ต้องรักษามารยาท ถ้าให้พูดก็คือเก๊กหน้าหล่อเดินเท่ตลอดเวลา แต่พอมาเจอกับอัคโกะของเราป่วนเข้าไป ชีวิตถึงได้มีสีสันขึ้นมาบ้าง เริ่มยิ้มออกขึ้นมาบ้าง

มองโลกอย่างแอนดริว

แอนดริวเป็นตัวแทนของตัวละครที่เป็นคนธรรมดาไม่มีเวทมนตร์อะไร ชีวิตของเขาอยู่ไม่เคยทำอะไรมากไปกว่าการทำตามทุกอย่างตามใจพ่อของเขา ดังนั้นโลกที่แอนดริวมองจึงไม่มีอะไรมากไปกว่าชีวิตที่ซึมกะทือเพราะทุกอย่างถูกวางไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าเขาต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้บิดาพอใจ เมื่อมาเจอกับอัคโกะมุมมองของชายหนุ่มจึงเปลี่ยนไปทีละน้อย แอนดริวจึงได้รู้ว่าการมีความฝัน และทำตามมันเป็นเรื่องที่เขาเองก็หลงลืมไปเสียนานจนคิดว่าถ้าไม่ได้เจออัคโกะจอมป่วน เขาอาจจะลืมไปจริงๆ ว่าสิ่งที่ตนเองอยากทำคืออะไร

โมเม้นท์ความเห็นที่ไม่ลงรอยกันระหว่างพ่อกับแอนดริว


 

ว่ากันด้วยเรื่องพล็อต

มาถึงเรื่องพล็อต อันนี้ต้องขอบอกว่ายกให้เป็นไฮไลท์เด็ดประจำเรื่องนี้ไปเลยค่ะ หลายคนอาจจะคิดว่าการ์ตูนก็มีเพื่อความบันเทิง ดูหรืออ่านเอาสนุกก็พอ แต่ความคิดนั้น ใช้ไม่ได้กับเรื่องลิตเติ้ลวิชอะคาเดเมียค่ะ ลองมาดูประเด็นสาระที่พี่ได้สรุปแบ่งเป็นหัวข้อย่อยเหล่านี้ดูนะคะ

 

สีหน้ามีความสุขยามเมื่ออัคโกะน้อยพูดถึงไอดอลของเธอ

ไอดอลมีไว้เป็นแนวทาง ไม่ได้มีเพื่อเลียนแบบ

อัคโกะมีไอดอลหรือแบบอย่างในการดำเนินชีวิตเป็นแม่มดสาว ไชนี่ชาริอ็อต ผู้ได้ชื่อว่าทั้งสวยทั้งเก่ง และแสนจะสมบูรณ์แบบ ในช่วงแรกๆ ของเรื่อง อัคโกะให้ความสำคัญกับการทำตามไชนี่ ชาริอ็อตมากโดยไม่เคยเข้าใจเลยว่าความฝันที่แท้จริงของตัวเองคืออะไร รู้แค่เพียงว่า... อยากเฉิดฉายเช่นเดียวกับชาริอ็อตเท่านั้น ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป ได้เรียนรู้และผ่านบททดสอบทั้งหลายที่ประเดประดังเข้ามา จนกระทั่งได้ปลดผนึกบทร่ายของไม้เท้าไชนี่ร็อตทั้งเจ็ดบท อัคโกะจึงเข้าใจว่าสิ่งที่เธอต้องการจริงๆ ในชีวิตไม่ใช่การเป็นแม่มดที่เฉิดฉายและสวยงามแบบไชนี่ ชาริอ็อตผู้นั้น แต่สิ่งที่เธอต้องการจริงๆ คือการใช้เวทมนตร์สร้างความสุข สร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้ผู้คนบนโลกใบนี้ เธอมีชาริอ็อตเป็นเพียงแค่แนวทาง ทว่าท้ายที่สุดแล้ว เธอก็มีเส้นทางของตัวเอง และมีตัวตนของตัวเอง เธอไม่ใช่ชาริอ็อตคนที่สอง แต่เป็นอัคโกะคนที่หนึ่งต่างหาก และนี่แหละสิ่งที่เธอได้ค้นพบในที่สุด 

แล้วน้องๆ ที่กำลังอ่านบทความนี้ล่ะคะ มีไอดอลในดวงใจกันรึเปล่า ถ้ามีก็ลองตั้งคำถามกับตัวเองดูนะคะว่าที่เหตุผลที่เราเลือกเขาคนนั้นเป็นไอดอลเพราะอะไรกันแน่ ไม่แน่ว่าน้องๆ อาจจะค้นพบคำตอบทก็ได้ว่า แท้จริงแล้ว คนทุกคนมีเส้นทางเป็นของตัวเอง เราไม่อาจเลียนแบบใคร ไม่อาจเป็นแบบใคร แล้วมีความสุขได้ เพราะแต่ละคนต่างก็มีชีวิตที่แตกต่างกัน ดังนั้น ถ้าอยากมีความสุขหรือประสบความสำเร็จ เราควรเลือกทิศทางของตัวเอง ไม่ใช่ทำตามคนอื่นๆ 

 

ไดอาน่าสาวน้อยคู่แข่งตัวเอ้ของอัคโกะ

คุณค่าของคนไม่ได้วัดกันที่ความเก่งเพียงด้านใดด้านหนึ่ง

ถ้าให้เปรียบเทียบกันแล้ว พี่คิดว่าอัคโกะของเรา ดูไปดูมาก็คล้ายโนบิตะนะคะ เพราะไม่ได้เรื่องเท่าไหร่และออกจะมึนๆ ส่วนไดอาน่าก็เป็นตัวแทนของเดคิซุงิ เพราะทั้งเก่งและสมบูรณ์แบบ (ขอยกตัวอย่างตัวละครจากโดราเอม่อนมาเปรียบเทียบ จะได้เห็นภาพชัดๆ ค่ะ) และข้อเปรียบเทียบแบบนี้มันไม่ได้มีอยู่แค่ในการ์ตูนเท่านั้นนะ เพราะชีวิตจริงของเรา ก็ต้องเผชิญกับเรื่องแบบนี้ตลอดเวลา ว่าไหมคะ 

อัคโกะ เป็นตัวแทนของคนที่ไม่ได้มีดีด้านการเรียน ใจร้อน ความอดทนก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ทว่าอัคโกะก็มีข้อดีตามแบบของเธอคือ มองโลกในแง่ดีและมีนิสัยบ้าพลัง ถ้าทำไม่ได้เธอก็จะไม่ยอมแพ้ จะหาทางทำมันจนได้โดยไม่แคร์สื่อเลยว่าผลมันจะออกมาแหวกแนวพิสดารขนาดไหน มองแง่หนึ่งเหมือนคนดันทุรัง แต่อีกแง่ก็คือ คนไม่ยอมแพ้ และอดทนค่ะ 

ส่วน ไดอาน่า เป็นตัวแทนของคนเก่ง ไม่ว่าหยิบจับอะไรก็ดีไปหมดในสายตาของผู้ใหญ่ มีอุปนิสัยตั้งใจ ทำอะไรก็จริงจังเสมอ เคารพในความเป็นระเบียบแบบแผนที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา ถ้าอะไรมันดีอยู่แล้วก็จะทำแบบนั้นต่อไป ดังนั้นสิ่งที่สาวน้อยแสนสมบูรณ์แบบคนนี้ขาดไปคือ ความคิดสร้างสรรค์และความกล้าที่จะลองคิดออกนอกกรอบที่เธอฝังตัวเองอยู่มาทั้งชีวิต

ด้วยเหตุประการทั้งปวง จากความโดดเด่นกันไปคนละด้านของตัวละครสองตัวนี้ พี่คิดว่าไม่ควรเอามาเปรียบเทียบกันค่ะ เพราะคนเราแต่ละคนต่างก็มีดีในแบบของตนเองได้โดยที่เราไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบกับใคร ถ้าหากว่าจะตัดสินคนเก่งจากความสามารถในการเรียนเพียงอย่างเดียว พี่คิดว่าโลกนี้คงมีแต่คนเหมือนๆ กันหมด จะทำอะไรก็สไตล์เดียวกัน ไม่มีอะไรใหม่ ดูขาดสีสันค่ะ โลกย่อมประกอบด้วยคนหลากหลายแบบ และแต่ละแบบต่างก็โดดเด่นในแบบของตัวเอง จริงไหมคะ 

 เมื่อทุกคนต้องร่วมมือกันเอาชนะอุปสรรค

รวมใจให้เป็นหนึ่ง นี่แหละคือเวทมนตร์สร้างปาฏิหาริย์ของจริง  

หัวข้อย่อยนี้เป็นหัวข้อที่พี่ชอบมากที่สุดค่ะ เนื่องจากเป็นประเด็นชูโรงที่ส่งผลให้เรื่องลิตเติ้ลวิชอะคาเดเมียต่างจากเรื่องอื่นๆ ในแวดวงการ์ตูนค่ะ เรื่องนี้สอนให้เรารู้ว่า พลังเวทมนตร์อันยิ่งใหญ่สามารถสร้างปาฏิหาริย์ได้ไม่ใช่เวทมนตร์ที่มีแหล่งพลังงานอำนาจจากคริสตัลที่อยู่ในโรงเรียนลูน่าโนว่า หรือกระทั่ง “แกรน เทอริสออนท์” เวทมนตร์โบราณซึ่งร่ำลือกันว่ามีอำนาจสามารถเปลี่ยนโลกทั้งใบได้ ทว่าเป็นพลังใจจากทุกคนที่ร่วมด้วยช่วยกันคนละไม้คนละมือ ส่งแรงเชียร์ให้อัคโกะและไดอาน่าเอาชนะศัตรู และปกป้องทุกคนให้ได้ รอยยิ้มของทุกคนในตอนท้ายเรื่องเป็นคำตอบได้อย่างดีว่า เหตุผลที่ทำให้โลกใบนี้สวยงามและน่าอยู่ ไม่ได้มาจากเวทมนตร์หรืออิทธิฤทธิ์เหนือธรรมชาติใดๆ แต่มันมาจากจิตใจอันงดงามของมนุษย์ ความสุข ความปรารถนาดีต่อกัน การรู้จักแบ่งปันความสุขให้กับผู้อื่น ความมีน้ำใจและความเห็นอกเห็นใจนั่นเองค่ะ พี่เองก็เชื่อเหมือนกับที่เรื่องลิตเติ้ลวิชอะคาเดเมียบอกนะคะว่าถ้าหากคนบนโลกนี้รู้จักยิ้มมากขึ้น ทำสิ่งดีๆ ต่อกันให้มากขึ้น แทนที่จะเอาแต่ตั้งแง่ใส่กัน ทำหน้าบึ้งตึงใส่กัน หรือคิดจะจองล้างจองผลาญ แทงข้างหลังกันและกัน โลกของเราคงจะน่าอยู่ขึ้นมากทีเดียวค่ะ  
 

เกร็ดความรู้น่าสนใจจากเรื่อง

ว่าด้วยเรื่องอิทธิพลจากตำนานเคลติกที่ปรากฏในเรื่อง

ขอทำความเข้าใจก่อนว่าเคลติกเป็นชื่อของตำนานจากอังกฤษแถบสก๊อตแลนด์ เวลส์ รวมทั้งไอร์แลนด์ค่ะ ตำนานเคลติกไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไหร่ เพราะการหลอมรวมของศาสนาคริสต์ อีกทั้งร่องรอยที่ปรากฏตามศิลปะ หรือเอกสารลายลักษณ์อักษรยังมีน้อยมาก จึงไม่ได้รับความนิยมมากเท่าพวกกรีกหรือโรมัน รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้เรื่องลิตเติ้ลวิชอะคาเดเมียมีอะไรน่าค้นหาคือการนำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับตำนานแม่มดจากเคลติกมาผสมกับความเหนือจินตนาการแฟนตาซีน่ารักมุมิได้อย่างลงตัว อาทิ มีการใช้คำจากภาษาไอร์แลนด์เดิมมาเป็นส่วนประกอบเวลาเรียกคำหรือเทศกาล เช่น ในตอนที่ 13 ซึ่งเป็นเทศกาลประจำปีของโรงเรียนลูน่าโนว่าที่ทุกคนต้องเข้าร่วม คำว่า samhain” หมายถึง วันที่ 31 ตุลาคม หรือวันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นวันเข้าช่วงฤดูหนาวแรก และสิ้นสุดการเก็บเกี่ยว ซึ่งเทศกาลต่อไปคือวันฮาโลวีนนั่นเอง

อาจารย์เออร์ซูล่ากำลังอธิบายแผนผังบทร่ายของไม้เท้าไชนี่ร็อดให้อัคโกะฟัง

ว่าด้วยเรื่องเฟมินิสต์

ส่วนหนึ่งที่ทฤษฏีนี้มาเกี่ยวกับชื่อเรื่องด้วยคงเป็นเรื่องนี้เกี่ยวกับ “แม่มด” เลยกลายเป็นว่าสอดคล้องกับ ทฤษฏีเฟมินิสต์อันเป็นทฤษฏีที่ว่าด้วยเรื่องของสิทธิความเสมอภาคระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ไปโดยปริยาย สังเกตได้ว่าตลอดทั้งเรื่องตัวละครฝั่งผู้ชายมีบทบาทน้อยมาก หรือแทบไม่มี ซ้ำผู้หญิงในเรื่องยังเถียงโต้แย้งความคิดเห็นได้อย่างตรงไปตรงมา และเมื่อเผชิญหน้ากับอุปสรรคปัญหาระดับวิกฤติภายในชาติ พวกตัวละครผู้ชายไร้เวทมนตร์กลับทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการต้องหวังพึ่งเหล่าแม่มดจากลูน่าโนว่าที่เป็นความหวังเดียวที่จะจัดการให้อุปสรรคผ่านพ้นไปได้ ชนิดที่ต้องขอยกมงสตรีแกร่งแห่งปีให้พวกแม่มดน้อยในเรื่องนี้ทีเดียว

 

แอนดริวกับอัคโกะเจอกันครั้งแรกก็ชุลมุนแล้ว

แถมไม่ต้องบอกเลยนะคว่าคนพาหนีคือเจ้าถิ่นลูน่าโนว่าอย่างอัคโกะน้อยของเรานั่นแหละ 5555

เป็นอย่างไรกันบ้างคะน้องๆ กับการวิเคราะห์เรื่องลิตเติ้ลวิชอะคาเดเมียที่บอกเลยว่าครบเครื่องทั้งในด้านเนื้อหาสาระและความสนุก แบบไร้พิษภัยเด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี เรื่องนี้นอกจากตัวอนิเมะที่พี่นำมาวิเคราะห์ให้ดูกันไปในวันนี้แล้ว ยังมีฉบับมังงะที่เป็นการ์ตูนเล่มตีพิมพ์ด้วย น่าเสียดายที่ยังไม่มีโอกาสแปลเป็นภาษาไทย (ใครอยากจะไปไซโคสำนักพิมพ์ไหนก็บอกพี่ด้วยนะคะ) และไม่รู้มีใครคิดเหมือนพี่ไหมว่าอยากให้เรื่องนี้มีฉบับนิยายจังเผื่อจะได้อรรถรสไปอีกแบบบ้าง 

ภาพปกฉบับหนังสือการ์ตูนรวมเล่ม

สุดท้ายนี้ก่อนจะจากกันไป คิดว่าคงมีหลายคนที่ท้อ ถามตัวเองว่าทำไมทำตามความฝันมันยากแบบนี้ หมดกำลังใจอยากจะล้มเลิกมันซะตอนนี้ อย่าเพิ่งล้มเลิกแล้วมองอัคโกะกับไดอาน่าเป็นตัวอย่างค่ะ ไม่มีใครเริ่มต้นแล้วประสบความสำเร็จตั้งแต่แรกหรอกนะคะ ทุกคนย่อมต้องผ่านอุปสรรค ขัดเกลาตัวเอง จนท้ายที่สุดผลจากความอดทนจะตอบแทนเราเองค่ะ ยังไงขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนนะคะ สู้!

วันนี้พี่ขอลาไปก่อน ไว้พบกันใหม่โอกาสหน้านะคะ

ด้วยรักและห่วงใย

พี่ซูม

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพประกอบจาก

http://littlewitchacademia.jp/

https://www.reddit.com/r/LittleWitchAcademia/comments/60jvxb/use_of_celtic_language_in_lwa/

https://my.dek-d.com/0012/writer/viewlongc.php?id=446421&chapter=219

https://www.pinterest.com/pin/363876844875053945/

https://www.pinterest.com/pin/530580399834786302/

http://littlewitch.wikia.com/wiki/Andrew_Hanbridge

พัณณิดา ภูมิวัฒน์, (2548). ปวงเทพผู้นิราศ. กรุงเทพฯ : นวนิตา.

พี่ซูม

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด