​รวม 57 เทคนิคลับเขียนนิยายให้น่าสนใจ จากนักเขียนทั่วโลก


รวม 57 เทคนิคลับเขียนนิยายให้น่าสนใจ จากนักเขียนทั่วโลก  
 
กลับมากันอีกแล้วกับรวมเทคนิคเคล็ดลับการเขียนนิยายจากบรรดานักเขียนชื่อดังทั่วโลกให้อ่านกันเพลินๆ วันนี้แอดมินจัดมาให้ทั้งหมด ... ข้อ หวังว่าจะสร้างประโยชน์ให้คนอยากเป็นนักเขียนได้ไม่มากก็น้อย 
 

 
คาร์ล ซิมเมอร์ (Carl Zimmer) 
ผู้เขียนเรื่อง A Planet of Viruses, The Tangled Bank และ Brain Cuttings
 
1 หาข้อมูลให้มากที่สุดจากทุกที่ ทุกแหล่ง อินเทอร์เน็ต, ผู้คน, สถานที่ต่างๆ 
2 พร้อมจัดการข้อมูลมากมาย ด้วยวิธีต่างๆ แล้วแต่ถนัด 
3 เวลารีไรท์ต้องพร้อมตัดเนื้อหา มันจะเจ็บปวด แต่ถ้าอยากเป็นนักเขียน คุณต้องทำ 
 
เดวิด เชงค์ (David Shenk)
ผู้เขียนเรื่อง The Forgetting และ The Genius in All of Us
 
4 เขียนให้ดีที่สุด แม้จะใช้เวลานานแค่ไหนก็ตาม ไม่มีคำว่าเขียนเยอะเกินไป ใช้เวลาเขียนมากเกินไป จำไว้ว่าผลงานที่ดีจะคงอยู่ได้ยาวนาน และผลงานนั้นอาจเปลี่ยนชีวิตคนได้เลย เพราะงั้นเขียนให้เต็มที่ที่สุด 
5 รับฟังคำวิจารณ์ด้วย ถ้าเป็นไปได้ พยายามหาคนอ่านที่หลากหลาย หาคนอ่านที่แตกต่างและเยอะที่สุด จากนั้นก็ลองถามความเห็นจากคนอ่านเหล่านั้น ไม่ได้หมายความว่าต้องแก้ไขตามที่คนอ่านบอก แต่อยากให้รับฟัง จะได้รู้ว่าคนอื่นคิดอย่างไรกับผลงานของเรา
6 ใส่ตัวตนของตัวเองลงในงานเขียนด้วย ไม่ได้จะบอกให้เขียนเรื่องของตัวเองลงในนิยาย แต่ไม่ว่ายังไงผลงานเรื่องนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของคุณ มันจะมีมุมมองของคุณ มีวิธีคิดของคุณ มีประสบการณ์ของคุณ ไม่ว่ายังไง ผลงานที่เขียนก็ต้องเป็นตัวของคุณ 
 
คอรี่ ด็อคโตโร (Cory Doctorow) 
ผู้เขียนเรื่อง With a Little Help, For the Win, Makers และ Down and Out in the Magic Kingdom
 
7 เขียนทุกวัน อะไรที่ทำทุกวันจะทำให้มันง่ายขึ้น ถ้าหากวันไหนยุ่งมากๆ ก็เขียนสัก 100-200 ตัวอักษร แต่พยายามเขียนทุกวัน 
8 เขียนทั้งๆ ที่ไม่พร้อม ทั้งที่อารมณ์ไม่ดี เขียนๆ ไปก่อน จะดีจะเลวขอให้ได้เขียน
9 แม้จะรู้สึกว่างานห่วย ก็เขียนต่อไปเรื่อยๆ บางทีจิตใต้สำนึกอาจจะผิด และงานของคุณอาจจะไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด จงเขียนต่อไป มันอาจเป็นงานที่ดีก็ได้ใครจะรู้ 
10 เขียนทั้งที่รอบตัววุ่นวาย ทำให้ได้แม้รอบตัวจะเสียงดังอึกทึก คนจะเดินไปเดินมาก็จงเขียนให้ได้ ถ้าทำได้ คุณจะพัฒนาแน่นอน อย่ามัวแต่เฝ้ารอบรรยากาศดีๆ แล้วจึงเขียน อยากเป็นนักเขียนจริงต้องเขียนให้ได้ในทุกสถานการณ์ 
 
บิลล์ วาสิค (Bill Wasik)
ผู้เขียนเรื่อง And Then There’s This: How Stories Live and Die in Viral Culture
 
11 นักอ่านคาดหวังว่าจะได้อ่านเรื่องที่ลึก ไม่ใช่เรื่องตื้นๆ ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่พวกเขาสนใจ คุณต้องทำการบ้านให้ดีที่สุด และต้องเขียนให้ชัดเจน อาจจะไม่ต้องให้ข้อมูลมากมาย แต่ต้องเขียนให้พวกเขาเกิดอารมณ์ร่วมให้ได้ 
12 แม้จะเขียนเรื่องย่อเอาไว้ แต่ระหว่างทางที่เขียนอาจมีเรื่องราวหลายอย่างเกิดขึ้น และคุณสามารถปรับเปลี่ยนพล็อตได้เสมอ แต่ที่ห้ามเปลี่ยนเลยคือโครงสร้างหลักของเรื่อง พยายามยึดโครงหลักเอาไว้ แต่พล็อตเล็กๆ น้อยๆ ยิบๆ ย่อยๆ สถานการณ์ต่างๆ ฉากต่างๆ สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม 
 
จีออฟ มาโนห์ (Geoff Manaugh)
ผู้เขียนเรื่อง The BLDGBLOG Book
 
13 อยากเขียนอะไรไม่ต้องลังเล เพราะถ้าคุณมัวแต่ลังเลมันอาจจะสายเกินไป อาจมีคนแย่งเอาไอเดียไปเขียนก่อนก็ได้ ถ้าคิดออกแล้วเขียนเลย 
14 อย่าจดไว้หลายที่จนเกินไป ถ้าเป็นไปได้พยายามจดไว้รวมในที่เดียว แล้วเซฟไฟล์สำรองไว้ดีกว่า ไม่แนะนำให้จดในโทรศัพท์นิด จดในสมุดหน่อย หรือพิมพ์ลงคอมพิวเตอร์อีกด้วย ควรจะจดทุกสิ่งทุกอย่างไว้ด้วยกันหมด จะได้จำได้ว่ามีข้อมูลอะไรบ้าง 
15 เขียนให้รวดเร็ว ว่องไว ถ้าเอาแต่ชักช้า คิดนู่นคิดนี่ ระวังจะไม่ได้ออกผลงานเป็นเล่มสักที 
16 เขียนแล้วให้คนอื่นอ่านด้วย ไม่ใช่เขียนแล้วอ่านอยู่คนเดียว ถ้าทำแบบนั้นคงไม่มีวันเก่ง
 
มาร์ค ฟรอนเฟลเดอร์ (Mark Frauenfelder)
ผู้เขียนเรื่อง The Mad Professor and Rule the Web 
 
17 ถ้ารู้สึกว่าข้อมูลที่ได้มายังไม่พอเขียนนิยาย ก็หาข้อมูลเพิ่มก่อน อย่าเขียนไปมั่วๆ ถ้าเป็นไปได้แนะนำให้สัมภาษณ์จากบุคคลที่มีข้อมูลที่ต้องใช้จะดีที่สุด 
18 เขียนเรื่องที่ตัวเองอยากอ่าน 
 
เดโบราห์ บลูม 
ผู้เขียนเรื่อง The Poisoner’s Handbook และ Ghost Hunters
 
19 เทคนิคส่วนตัวของฉันคือ เขียนบทนำเป็นบทสุดท้าย คนอื่นๆ อาจรู้สึกว่าแปลก แต่ฉันมองว่า เมื่อเราเขียนถึงตอนจบแล้ว เราจะเขียนบทนำได้น่าสนใจที่สุด 
20 ฉันมักจะเขียนให้ตัวละครเอกเจอกับปัญหาและต้องแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง คิดว่าเป็นการสร้างพัฒนาการให้ตัวละครได้ดี ถ้าสนใจจะลองเอาไปทำบ้างก็ไม่ว่ากัน
21 พยายามหาประโยคชัดๆ ที่อธิบายความหมายของนิยายตัวเองให้ได้ภายในหนึ่งประโยค จะทำให้เขียนได้ง่ายขึ้น 
22 ดราฟท์แรกของฉันห่วยแตกมาก ส่วนใหญ่ก็จะเขียนๆ ไปก่อน ไม่ค่อยมีเหตุผลเท่าไหร่ แล้วค่อยไปแก้ไขเอาตอนรีไรท์ 
23 ฉันเสพติดการหาข้อมูล และชอบจดไว้อย่างละเอียด ข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์มากๆ และใช้กับงานเขียนได้เสมอ
 
ออกัส ไครสเลอร์ (August Kleinzahler)
ผู้เขียนเรื่อง Sleeping It Off in Rapid City และ Cutty, One Rock
 
24 เวลามีปัญหากับพล็อตหรือคิดไม่ออกว่าจะเขียนอะไร ลองใช้วิธีเล่าให้คนอื่นฟังแล้วรอฟังผลตอบรับดู เชื่อว่าความเห็นที่ได้น่าจะช่วยให้แก้ปัญหาได้ 
25 เวลาจะเขียน ผมพยายามจะเป็นคนปากจัด 
26 สิ่งสำคัญที่สุดของการเขียนคือ โครงสร้าง เวลาเขียน ต้องมีโครงสร้างที่ชัดเจนและรู้ว่าจะเขียนถึงอะไร
 
เบน คาสโนชา (Ben Casnocha)
ผู้เขียนเรื่อง My Start-Up Life
 
27 ดราฟท์แรกใช้ไม่ได้เสมอ บางที ผมว่าดราฟท์ที่ 20 ก็ยังห่วยอยู่เลย รีไรท์ต่อไป
28 วางแผนกันอินเทอร์เน็ตออกไปจากชีวิต เวลาเขียนผมจะปิดการเข้าถึงทั้งหมดจะได้ไม่เสียสมาธิ
 
แบร์รี่ บอยซ์ (Barry Boyce)
ผู้เขียนเรื่อง The Mindfulness Revolution และ In the Face of Fear
 
29 เวลาเขียนอย่าเครียดมาก จำไว้ว่าโครงสร้างแน่นและชัดเจน ที่เหลือแก้ไขได้ 
30 การวางแผนก่อนเขียนเป็นเรื่องสำคัญ จริงๆ แล้ว การเขียนนิยายต้องการการจัดการมากกว่าที่คิด และคุณยังต้องการกำลังใจ + ความคิดสร้างสรรค์ด้วย 
31 การเป็นนักเขียนไม่ได้หมายความว่า คุณจะเขียนไม่หยุด เขียนแบบเครียดตลอดเวลา ถ้ารู้จักวางแผนและแบ่งเวลาให้ถูก ก็จะสามารถเขียนงานที่ดีได้ในเวลาที่วางไว้ 
 
ปีเตอร์ คอนเนอร์ส (Peter Conners) 
ผู้เขียนเรื่อง Growing Up Dead: The Hallucinated Confessions of a Teenage Deadhead และ White Hand Society: The Psychedelic Partnership of Timothy Leary & Allen Ginsberg 
 
32 ไม่ว่าจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับอะไร พยายามหาหนังสืออ้างอิงมาอ่านเยอะๆ โดยเฉพาะหนังสือที่แสดงความคิดต่างจากสิ่งที่เราเขียน พวกนี้สำคัญมาก 
33 เขียนอย่างตรงไปตรงมา จะสื่อสารถึงคนอ่านได้ดีกว่าเขียนแบบใช้ภาษาประดิษฐ์ 
34 อย่าเอาแต่คิดเรื่องโปรโมต ก็แค่เขียนด้วยความรัก 
เดวิด ครอสบี้ (David Crosby)
ผู้เขียนเรื่อง Long Time Gone และ Since Then 
 
35 รักในงานที่เขียน
36 กำหนดเวลาเขียนให้ชัดเจน 
 
พอลล่า สแพน (Paula Span)
ผู้เขียนเรื่อง When the Time Comes 
 
37 ก่อนจะเขียนแนะนำให้หาข้อมูลก่อน และต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน เมื่อลงมือเขียน ให้จำไว้ว่า เรามุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายเดียวเท่านั้น และนั่นแหละที่สำคัญ 
 
รูดี้ ซีโมน (Rudy Simone) 
ผู้เขียนเรื่อง Aspergirls: Empowering Women with Asperger Syndrome และ Asperger’s On the Job 
 
38 การหาข้อมูลด้วยวิธีทำแบบสอบถามเป็นเรื่องน่าสนใจ ลองไปใช้ดูได้ค่ะ
 
จอห์น สจ๊วทซ (John Schwartz)
ผู้เขียนเรื่อง Walking Tall When You’re Not Tall at All
 
39 การเขียนฉากเปิดนั้นสำคัญสำหรับผมในระดับหนึ่ง แต่ที่สำคัญกว่าคือ เขียนให้จบ 
 
ซิลเวีย บูร์สไตน์ (Sylvia Boorstein)
ผู้เขียนเรื่อง Happiness is An Inside Job and It’s Easier Than You Think
 
40 เวลาเขียนนิยายอย่าเปิดอีเมลหรือเฟซบุ๊ก เขียนต่อไปเรื่อยๆ อย่าหยุด
41 เวลาเขียนอย่าเพิ่งไปอ่านงานของคนอื่น เดี๋ยวติดสำนวนมา
42 ควรจะมีนักอ่านสักคนไว้อ่านนิยายที่คุณเขียน จะได้ความเห็นที่ดีมาปรับปรุง
43 ถ้าเขียนไม่ออก ให้ลุกจากคอมพิวเตอร์ ไปทำอย่างอื่น แล้วถามตัวเองว่า ไอ้ที่อยากเขียนจริงๆ มันคืออะไร เมื่ออารมณ์คงที่แล้ว ค่อยกลับไปเขียน
44 ผมไม่ชอบเขียนจากเริ่มต้นไปจนจบ แต่ชอบเขียนสลับตอนไปเรื่อยๆ รู้สึกว่าท้าทายดี และผมชอบพิมพ์งานเขียนออกมา แล้ววางเรียงไว้จนกว่าจะครบเล่ม 
45 สำหรับดราฟท์แรก ผมมีระยะเวลาการเขียนชัดเจน จะเขียนเละเทะแค่ไหนก็ได้ แต่ดราฟท์แรกต้องเสร็จทันเวลา ส่วนตอนรีไรท์ จะเป็นอีกกระบวนการที่ใช้เวลานานกว่า 
 
นิรนาม (Anonymous)
ผู้เขียนเรื่อง notable books on science and psychology
 
46 อยากเป็นนักเขียน ต้องสุขภาพแข็งแรงไว้ก่อน ถ้าไม่สบายกาย ใจก็ไม่สบาย งานก็ออกมาไม่ดี  
47 สิ่งที่ได้หลังจากเขียนจบไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่เป็นความสุขอันยิ่งใหญ่ มันเหมือนการเดินทางที่มีจุดจบอันน่าประทับใจรออยู่
 
เดวิด แกนส์ (David Gans)
ผู้เขียนเรื่อง Playing in the Band and Conversations with the Dead
48 ความฝันของนักเขียนทุกคนคือ เขียนงานที่บรรณาธิการไม่แก้เลย ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ 
 
จอช แชงค์ (Josh Shenk)
ผู้เขียนเรื่อง Lincoln’s Melancholy
 
49 ดราฟท์แรกเขียนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ต้องกล้าหาญ ต้องฮึกเหิม และต้องเขียนให้เต็มที่ 
50 กำหนดเวลาการเขียนไว้ให้ชัดเจน ไม่ใช่เขียนไปเรื่อยๆ โดยไม่มีกำหนด 
51 หาเวลาเขียนเงียบๆ คนเดียว อย่าวุ่นวายมาก 
 
จอห์น ทาร์เรนท์ (John Tarrant) 
ผู้เขียนเรื่อง Bring Me The Rhinoceros & Other Zen Koans That Will Save Your Life และ The Light Inside the Dark: Zen, Soul & the Spiritual Life
 
52 ไอเดียไม่ได้ลอยลงมาง่ายๆ สิ่งที่ต้องทำคือ ไปหามันมา จะได้เอามาเขียน
53 ก่อนนอนลองถามตัวเองว่าเขียนเกี่ยวกับอะไร เป้าหมายคืออะไร วันนี้เขียนอะไรไปบ้างและพรุ่งนี้จะเขียนอะไร 
54 คำถามสำคัญ ถ้าต้องอธิบายนิยายตัวเองในหนึ่งประโยค จะบอกว่าอะไร
 
โจนาห์ เลห์เลอร์ (Jonah Lehrer)
ผู้เขียนเรื่อง How We Decide และ Proust Was a Neuroscientist
 
55 เขียนเสร็จจงปรินท์ออกมาใส่กระดาษ ตรงไหนไม่พอใจวงแดงๆๆๆๆๆๆๆๆๆ สะใจดี 
 
เซ็ธ มูกิ้น (Seth Mnookin)
ผู้เขียนเรื่อง The Panic Virus และ Feeding the Monster 
 
56 ตั้งเป้าหมายการเขียนไว้ทุกวัน อย่างผมผมตั้งไว้วันละ 200 ตัวอักษร ต้องเขียนให้ได้   
57 เขียนในสิ่งที่คุณเชื่อ นั่นจึงสำคัญที่สุด 
 
ทีมงานนักเขียนเด็กดี
  
ทีมงาน writer

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด

4 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด