อาณาจักรแฟนตาซี : ความเปลี่ยนแปลง ทิศทางที่เปลี่ยนไปและแนวโน้มของนิยายแฟนตาซีในอนาคต

อาณาจักรแฟนตาซี : ความเปลี่ยนแปลง ทิศทางที่เปลี่ยนไป
และแนวโน้มของนิยายแฟนตาซีในอนาคต

สวัสดีค่ะชาวนักเขียนเด็กดีทุกคน สำหรับบทความ “อาณาจักรแฟนตาซี : ความเปลี่ยนแปลง ทิศทางที่เปลี่ยนไปและแนวโน้มของนิยายแฟนตาซีในอนาคต” ในวันนี้ พี่น้ำผึ้งเขียนขึ้นมาเพื่อเอาใจนักเขียนแฟนตาซีโดยเฉพาะ ในฐานะที่พวกเรา (รวมทั้งพี่) เป็นนักเขียนแฟนตาซี การเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของนิยายแฟนตาซีเป็นอะไรที่ดีไม่น้อย เพราะมันทำให้เราเข้าใจนิยายแฟนตาซีมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้เราสามารถคาดเดาแนวโน้มความเป็นไปของนิยายแฟนตาซีที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตได้

น้องๆ รู้กันหรือเปล่าว่างานเขียนเชิงแฟนตาซีนั้นมีมานานแล้วตั้งแต่ 1500 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยในยุคนั้นจะเน้นตำนานเทพฮินดูจากฝั่งอินเดียเป็นหลัก แต่ยังไม่มีคำนิยามชัดเจนว่าแฟนตาซีเป็นยังไง แม้กระทั่งช่วงทศวรรษที่ 1940 ก็ยังไม่มีใครสามารถนิยามงานเขียน “แฟนตาซี” ได้อย่างเป็นทางการ! คนสมัยนั้นจึงเหมารวมว่าทุกอย่างเป็น “เทพนิยาย” หมด แต่มันเป็นเทพนิยายจริงๆ หรือ?

 


จอร์จ แมคโดนัลด์ นักเขียนที่มีอิทธิพลต่อผลงานของลูอิส
(via: awesomestories.com)


พลังเหนือธรรมชาติและความมหัศจรรย์เป็นองค์ประกอบของวรรณกรรมมาตั้งแต่เริ่มแรก ไม่ว่าจะเป็นนิทานหรือนิทานพื้นบ้าน ต่อมาจึงมีการใส่เรื่องราวเพิ่มเติมลงไปในงานเขียนเพื่อทำให้เรื่องดูน่าอัศจรรย์มากขึ้นลงช่น เรื่องราวของอัศวินยุโรปและความโรแมนติก ณ ตอนนั้น โรแมนซ์ถือเป็นสิ่งสำคัญในนิยายแฟนตาซีเลยค่ะ ยกตัวอย่างเช่นพันหนึ่งราตรี สำหรับนักเขียนชื่อดังในยุคนี้คงหนีไม่พ้น จอร์จ แมคโดนัลด์ (1824 –1905) นักเขียนแฟนตาซีที่สร้างผลงานยอดเยี่ยมไว้มากมาย งานเขียนของเขาได้รับการยกให้เป็นผลงานวรรณกรรมที่สำคัญ

ต่อมาในศตวรรษที่ 20 วงการแฟนตาซีก็เปลี่ยนไปเพราะผลงานของ 2 เจ้าพ่อแห่งวงการแฟนตาซี” ที่มีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อนักเขียนสายแฟนตาซี ทั้งคู่เริ่มทำให้นักเขียนหันมาสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นมหากาพย์แฟนตาซีมากขึ้น

 


2 เจ้าพ่อแห่งวงการแฟนตาซี
 (via: theimaginativeconservative.org)

 

2 เจ้าพ่อแห่งวงการแฟนตาซี

ถ้าพูดถึงนักเขียนนิยายแฟนตาซี หลายคนอาจนึกถึงเจ.เค. โรว์ลิ่งเป็นอันดับต้นๆ (แหงล่ะ) แต่ถ้าให้ตีวงแคบหน่อย ประมาณว่านักเขียนนิยายแฟนตาซีที่ยิ่งใหญ่และมีอิทธิพลต่อนักเขียนยุคหลังๆ น้องๆ จะนึกถึงใครกันเอ่ย? คราวนี้พวกเราก็จะคิดคำตอบได้ง่ายขึ้น เพราะ 2 เจ้าพ่อแห่งวงการแฟนตาซีโลกจะเป็นใครไปไม่ได้เลยนอกจาก “ซี.เอส. ลูอิส (C.S. Lewis)” และ “เจ.อาร์.อาร์. โทลคีน (J.R.R. Tolkien)” เจ้าของอาณาจักรนาร์เนียและจักรวาลเดอะลอร์ด ออฟ เดอะริง

เคยรู้กันหรือเปล่าว่าเจ้าพ่อแห่งนิยายแฟนตาซีทั้งสองเป็นเพื่อนรักกัน ทั้งคู่เจอกันครั้งแรกในปี 1926 ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ด้วยความที่ซี้ปึ๊กกันนี่แหละ พวกเขาจึงเข้าร่วมกลุ่ม "อิงคลิงส์ (Inklings)" (กลุ่มสร้างสรรค์ทางด้านวรรณกรรมอย่างไม่เป็นทางการในมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เป็นกลุ่มที่คอยส่งเสริมงานเขียนโดยเฉพาะแฟนตาซี) เพื่อแลกเปลี่ยนงานเขียนและแบ่งปันความคิดเห็นเกี่ยวกับงานเขียนซึ่งกันและกัน ใครจะไปรู้ว่ากลุ่มเล็กๆ อย่าง "อิงคลิงส์" จะทำให้นิยายแฟนตาซีในวงการน้ำหมึกบูมเปรี้ยงปร้าง พลิกโลกเปลี่ยนโฉมรูปแบบของนิยายแฟนตาซีเลยทีเดียว

เรื่องนี้ได้รับการยืนยันจาก ฟิลิป ซาเลสกี้ นักเขียน อาจารย์ และบรรณาธิการชาวอเมริกัน เขาได้เขียนลงในหนังสือ The Fellowship: The Literary Lives of the Inklings: J.R.R. Tolkien, C. S. Lewis, Owen Barfield, Charles Williams ไว้ว่า “ถ้าไม่มีอิงคลิงส์ก็จะไม่มี Dungeons & Dragons (ต้นกำเนิดเกม Fantasy RPG ในปัจจุบัน) ไม่มีแฮร์รี่ พอตเตอร์ ไม่มีฟิลิป พูลแมน (นักเขียนแฟนตาซี เจ้าของผลงานธุลีปริศนา)” เห็นมั้ยว่า 2 เจ้าพ่อนั้นยิ่งใหญ่จริงๆ
 

 


(via: amazon)


ลูอิสเป็นคนแรกในกลุ่มที่ได้ตีพิมพ์นิยายเรื่องแรกของเขาอย่าง “นาร์เนียกับตู้พิศวง” จากนั้นจึงได้คลอดมหากาพย์นาร์เนียออกมาอีก 7 เล่มภายใน 7 ปี! สำหรับยุคนั้น อาณาจักรนาร์เนียเป็นสถานที่แปลกประหลาดและดูเหมือนว่าจะเป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ มากด้วย ดังนั้นนาร์เนียจึงขึ้นแท่นเป็น “วรรณกรรมสำหรับเด็ก” โดยปริยาย ต่อมาในช่วงยุคทศวรรษที่ 1950 นาร์เนียเริ่มกลายเป็นที่นิยมในวงกว้างและมีแฟนๆ ทุกเพศทุกวัยคอยติดตาม พอดีกับที่โทลคีนได้ตีพิมพ์ลอร์ดออฟเดอะริงส์

เมื่อลอร์ดออฟเดอะริงส์ได้เผยแพร่สู่สายตานักอ่าน มันกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อวงการแฟนตาซีาระดับโลก ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้งานเขียนของโทลคีนมีอิทธิพลต่อนิยายแฟนตาซีเป็นอย่างมาก เขาเป็นต้นแบบและเป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนหลายคน เชื่อเถอะว่ายากที่จะหานักเขียนคนไหนที่สร้างสรรค์สิ่งยิ่งใหญ่ได้เท่าโทลคีนอีกแล้ว มันไม่ใช่แค่ลอร์ดออฟเดอะริงส์เท่านั้น แต่ยังมีผลงานอีกหลายเรื่องที่กลายเป็นรากฐานต่อนิยายแฟนตาซีในยุคปัจจุบัน ซึ่งด้านล่างนี้คือตัวอย่างสิ่งที่มีอิทธิพลต่อวรรณกรรมแฟนตาซีเรื่องอื่นๆ ค่ะ

  • ตำนานแห่งซิลมาลิน (The Silmarillion) ได้ยึดแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างโลกไว้ โดยโลกในหนังสือเล่มนี้มีถึง 3 ยุคด้วยกัน เรียกได้ว่าเป็นยิ่งกว่ามหากาพย์เลยทีเดียว มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้นักเขียนหลายคนขยายจักรวาลของตัวเองให้ยิ่งใหญ่แบบไม่มีที่สิ้นสุด
  • เดอะ ฮอบบิท (The Hobbit) มีสัตว์ที่พูดได้และมีธีมเรื่องที่เรียบง่าย เหมาะสำหรับวรรณกรรมเด็กแนวแฟนตาซีและเทพนิยาย
  • ลอร์ดออฟเดอะริงส์ (Lord of the Rings) กลายเป็นต้นแบบของนิยายแฟนตาซีระดับสูงที่เราคุ้นหูคุ้นตากันในปัจจุบัน มีการทำภารกิจ ตัวเอกเป็นคนดี มีที่ปรึกษาที่ฉลาด ปราบปรามความชั่วร้าย มีดาร์คลอร์ดและเป็นนิยายไตรภาค!
     

ยิ่งไปกว่านั้นโทลคีนยังได้คิดค้นภาษาและตำนานเป็นของตัวเองด้วย มันเลยทำให้ “มัชฌิมโลก (Middle Earth)” เปรียบเสมือนจักรวาลที่มีอยู่จริงก่อนที่จะเกิดโลกใบนี้ขึ้นมา โทลคีนกลายเป็นต้นแบบของนักเขียนแฟนตาซีหลายคนให้สร้างสรรค์เรื่องราวที่ยาวเป็นมหากาพย์ มีโลก ภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง

 

ากยุคของโทลคีนสู่ความแตกต่างของนิยายแฟนตาซี

นักเขียนแฟนตาซีบางคนดูเหมือนจะได้แรงบันดาลใจจากลอร์ดออฟเดอะริงส์มาเต็มๆ เช่นวรรณกรรมชุดเจอร์เอล แชนนารา (Sword of Shannara) ของเทอร์รี่ บรู๊คส์ที่ตีพิมพ์ในปี 1977 เรียกได้ว่างานเขียนชิ้นนี้ถอดแบบโทลคีนมาเป๊ะๆ เลยค่ะ

อย่างไรก็ตาม ในโลกแห่งความเป็นจริง เมื่อมีคนเห็นด้วยย่อมมีคนเห็นต่างเป็นเรื่องปกติ กรณีของโทลคีนเองก็เช่นกัน มันยังมีนักเขียนคนอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยไปกับแนวคิดที่ซ่อนอยู่ในงานเขียนของโทลคีนซะทีเดียว โดยนักเขียนคนหนึ่งได้กล่าวว่า

ผมชื่นชมโทลคีนอย่างมาก แต่การอุปมาที่โทลคีนได้สร้างขึ้น - แนวคิดเรื่องของ Dark Lord และลูกสมุนที่ชั่วร้าย นั้นสมควรถูกล้มล้าง สงครามแห่งความดีและความชั่วกลายเป็นเรื่องที่มีอยู่ในหนังสือแฟนตาซีอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าในท้ายที่สุด การต่อสู้ระหว่างความดีและความชั่วที่แท้จริงเกิดขึ้นอยู่ภายในจิตใจของมนุษย์แต่ละคน มันไม่จำเป็นต้องมีกองทัพของคนใส่เสื้อสีขาวและกองทัพของคนใส่เสื้อสีดำ ในเมื่อฉันมองโลกนี้และเห็นว่าจริงๆ แล้วลมหายใจของมนุษย์เป็นสีเทา


จอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน
(via: express.co.uk)

 

นักเขียนคนนี้เป็นใคร? คำตอบก็คือจอร์จ อาร์.อาร์. มาร์ตินค่ะ เขาเริ่มจากการเขียนสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่าA Song of Ice and Fire” ผลงานชิ้นนี้สะท้อนถึงคำพูดข้างต้นได้เป็นอย่างดี มาร์ตินหลีกเลี่ยงการเขียนให้กลุ่มตัวดีปะทะกับปีศาจร้าย! ถึงแม้ว่าเขาจะหยิบดาบและเวทมนตร์ของโทลคีนมาใช้ แต่งานเขียนกลับแตกต่างอย่างสิ้นเชิง เพราะมันกลายเป็นเรื่องราวที่เต็มไปด้วยตัวละครที่มีความคลุมเครือทางศีลธรรม รวมทั้งโลกที่ "สมจริงมากขึ้น"

อย่างไรก็ตามมาร์ตินไม่ใช่นักเขียนเพียงคนเดียวที่คิดเห็นอย่างนี้ ยังมีนักเขียนหลายคนที่ปรับเปลี่ยนให้ดูสมจริงมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น The First Law ของโจ อเบอร์ครอมบี และผลงานสุภาพบุรุษโจร (Gentleman Bastard Series) ของสก็อตต์ ลินช์ วรรณกรรมทั้งสองเรื่องเองก็เลือดสาดมากขึ้น สมจริงมากขึ้นและตัวละครมีคุณธรรมจริยธรรมมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเออร์ซูลา เค. เลอกวินที่สามารถทำให้โลกของโทลคีนสมบูรณ์ยิ่งกว่าเดิม ในเอิร์ธซีของเธอ มันเป็นโลกที่ซับซ้อน ตัวละครมีความหลากหลายและน่าเชื่อถือ
 


(via: amazon)

 

แต่จินตนาการของนักเขียนกว้างไกลกว่านั้น แฟนตาซีของพวกเขาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จากโลกที่มีความเป็นยุคกลางสู่โลกสมัยใหม่ นักเขียนพาตัวละครออกจากป่าเขาและมุ่งหน้าสู่เมืองกรุง พูดง่ายๆ ก็คือพวกเขาใส่ความเหนือธรรมชาติลงไปในโลกของเราเอง!

เริ่มจากดินแดนใต้พิภพ (Neverwhere) ของนีล เกแมนที่นักอ่านหลายคนคาดเดาว่ามันน่าจะเป็นเมืองที่อยู่ใต้ “ลอนดอน” ต่อมาก็เป็นผลงานสุดป๊อบปูล่าของแอนน์ ไรซ์ในปี 1976 อย่าง Interview With The Vampire อันเป็นต้นกำเนิดของแวมไพร์และทำให้เกิดงานเขียนที่แสดงให้เห็นถึงการประสบความสำเร็จของโลกแวมไพร์ในศตวรรษที่ 21 อย่างทไวไลท์ (Twilight) 

 


(via: amazon)
 

ยังมีอะไรอีกนะ? อ๋อ นิยายแฟนตาซีประวัติศาสตร์ไงล่ะ แฟนตาซีแนวนี้เริ่มเติบโตขึ้นในทศวรรษที่ 1970 และยังมีแฟนตาซีแนว Steampunk ที่เป็นลูกผสมระหว่างความวินเทจและเทคโนโลยีด้วย เมื่อเวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้ แฟนๆ นิยายและนักเขียนทั้งหลายอาจเริ่มรู้สึกได้ว่ามีนิยายแฟนตาซีที่ไม่ใช่แค่แนวโทลคีนอยู่มากมายอยู่ในตลาดน้ำหมึก

ถึงอย่างนั้น นิยายแฟนตาซีก็ยังไม่เป็นที่นิยมในวงกว้างเท่าไหร่นัก จนกระทั่งเจ.เค. โรว์ลิ่งได้เขียนแฮร์รี่ พอตเตอร์ขึ้นมา นั่นจึงเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการน้ำหมึกแฟนตาซี ผู้คนมากมายโดยเฉพาะเด็กๆ เริ่มหันมาอ่านนิยายแฟนตาซีมากขึ้น ทำให้เกิดผลงาน YA และวรรณกรรมสำหรับเด็กตามมาอีกมากมาย เช่น เพอร์ซีย์ แจ็คสัน เป็นต้น

 

ต่อไป อนาคตของแฟนตาซีจะเป็นยังไง?

พออ่านจนถึงบรรทัดนี้ น้องๆ คงมีคำถามเกี่ยวกับแนวโน้มของนิยายแฟนตาซีในโลกของเรา เมื่อคิดถึงเรื่องนี้ อยากให้ลองสังเกตว่านิยายแฟนตาซีที่เป็นปรากฏการณ์ในโลกเช่น แฮร์รี่ พอตเตอร์, เกมชิงบังลังก์, ทไวไลท์ หรือแม้แต่ฮังเกอร์เกมที่เป็นนิยายแฟนตาซีแบบดิสโทเปีย ล้วนแล้วแต่ดำเนินเรื่องในโลกอันน่าอัศจรรย์ของตัวเอง

หากมองย้อนกลับไปจะเห็นได้ชัดว่านิยายแฟนตาซีมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่สมัยของโทลคีน สังเกตง่ายๆ จากเดอะฮอบบิทที่เริ่มต้นด้วยการไม่มีตัวละครผู้หญิงเลยสักคน แต่ต่อมาในนิยายแฟนตาซียุคหลังๆ ผู้หญิงกลายเป็นตัวละครสำคัญและมีอิทธิพลมาก บางเรื่องถึงขั้นกลายเป็นตัวเอกเลยทีเดียว เช่น เฮอร์ไมโอนี่ จากแฮร์รี่ พอตเตอร์, แคตนิส จากเดอะฮังเกอร์เกม และทริสส์ จากไดเวอร์เจน ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องค่อนข้างยากที่จะทำนายอนาคตของอาณาจักรแฟนตาซีว่าจะไปในทิศทางไหน แต่อย่าเพิ่งสิ้นหวังไปค่ะ เพราะยังมีบางเว็บไซต์เช่น Tor.com ได้ คาดเดาเทรนด์แฟนตาซีที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอีก 1 ปีข้างหน้าว่ามีแนวโน้มจะดำเนินตามรูปแบบดังนี้ 
 

  • รากฐานของตัวละครและโลกแฟนตาซีจะไม่ได้รับอิทธิพลเพียงแค่จากวัฒนธรรมยุโรปและยุคกลางอีกต่อไป แต่ยังได้รับอิทธิพลมาจากแอฟริกา เอเชีย อเมริกาพื้นเมือง หรือแม้แต่วัฒนธรรมของคนพลัดถิ่น (diasporic) อีกด้วย
  • แฟนตาซีจะค่อยๆ ทับซ้อนกับความโรแมนติก เรื่องราวลึกลับและระทึกขวัญ เราจะได้เห็นแฟนตาซีในรูปแบบอื่นๆ อีกมากมายเพราะนักเขียนและนักอ่านนิยายแฟนตาซียังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • แฟนตาซีในประเทศต่างๆ เริ่มมีอิทธิพลต่อวงการแฟนตาซีระดับโลก เช่น รัสเซียเพิ่งบุกเบิกงานเขียนประเภท "LitRPG" ขึ้นมา มันเป็นเรื่องที่ดำเนินอยู่ในโลกของวิดีโอเกมและกลายเป็นที่นิยมมากขึ้นในโลก คล้ายๆ กับแนวออนไลน์ของไทยที่เคยบูมอยู่ช่วงหนึ่งนี่แหละค่ะ
     

ในท้ายสุดไม่ว่าอนาคตของนิยายแฟนตาซีจะไปทางไหน การที่งานเขียนของเราจะมีคนอ่านหรือไม่นั้น ทั้งหมดขึ้นอยู่กับ “จักรวาลที่เราสร้างขึ้น” ว่ามันสามารถทำให้คนอยากหนีไปจากโลกความเป็นจริงได้หรือเปล่า อย่าลืมว่าแท้จริงแล้วโลกแฟนตาซีก็เปรียบเหมือนโลกใบหนึ่งที่ไม่ต่างจากโลกแห่งความเป็นจริงที่เรากำลังอยู่สักเท่าไหร่ มันมีชีวิตและจิตวิญญาณที่รอให้พวกเราค้นหา สิ่งสำคัญคือการสร้างสรรค์ผลงานให้มีคุณค่าและน่าติดตามค่ะ สำหรับเรื่องอนาคตจะเป็นยังไงนั้นต้องรอลุ้นกันต่อไป แล้วน้องๆ ล่ะคะ คิดยังไงบ้าง อย่าลืมแบ่งปันความคิดเห็นให้ฟังด้วยนะคะ

 พี่น้ำผึ้ง :)

 

ขอบคุณ
Zaleski, P. and Zaleski, C. (n.d.). The fellowship.
http://deverry.com/?p=285
http://tvtropes.org/pmwiki/pmwiki.php/Main/CreationMyth
http://www.newsweek.com/legacy-lifetime-jrr-tolkiens-extended-impact-563520
https://www.meetup.com/NYC-Area-Friends-of-Tolkien-Fantasy/messages/boards/thread/35253452?_cookie-check=87ddnJm0LXgGTJp
https://blog.reedsy.com/a-century-of-fantasy/

คลินิกนักเขียน ตอน รวม 9 เทคนิคเขียนนิยายให้ฟินและปังตามแบบฉบับ ‘เจ้าหญิงผู้เลอโฉม’
พี่น้ำผึ้ง
พี่น้ำผึ้ง - Columnist นักเขียนที่ชอบส่งต่อพลังบวกให้ทุกคน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

มนุษย์ทะเล Member 28 มี.ค. 61 14:26 น. 2

ก้าวต่อไปของนิยายเเฟนตาซี จะมีการนำเสนอความเป็นมหภาค ในส่วนผสมนักเขียนและนักอ่านรุ่นใหม่ๆ มากขึ้น ในแนวทางที่จะสามารถเข้าถึงนักอ่านทุกกลุ่มได้อย่างทั่วถึง ...เอ๊ะ พูดเอง งงเอง เท่าๆที่รู้งานแนวไหนดัง งานแนวนั้นคนก็จะเเห่กันเขียนตาม แต่จะดีหรือไม่ คนอ่านเป็นผู้ตัดสิน

0
กำลังโหลด
masked v Member 26 มี.ค. 61 22:58 น. 1

“ผมชื่นชมโทลคีนอย่างมาก แต่การอุปมาที่โทลคีนได้สร้างขึ้น - แนวคิดเรื่องของ Dark Lord และลูกสมุนที่ชั่วร้าย – นั้นสมควรถูกล้มล้าง สงครามแห่งความดีและความชั่วกลายเป็นเรื่องที่มีอยู่ในหนังสือแฟนตาซีอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าในท้ายที่สุด การต่อสู้ระหว่างความดีและความชั่วที่แท้จริงเกิดขึ้นอยู่ภายในจิตใจของมนุษย์แต่ละคน มันไม่จำเป็นต้องมีกองทัพของคนใส่เสื้อสีขาวและกองทัพของคนใส่เสื้อสีดำ ในเมื่อฉันมองโลกนี้และเห็นว่าจริงๆ แล้วลมหายใจของมนุษย์เป็นสีเทา”


เมื่อสิบกว่าปีก่อน เคยเขียนนิยายแฟนตาซีในยุคที่นิยายแฟนตาซีกำลังเบ่งบานในเมืองไทย แต่เน้นไปในเรื่องสงคราม การชิงไหวชิงพริบทางการเมือง โดยไม่มีปีศาจ ไม่มีจอมมาร แต่เป็นการแย่งชิงอำนาจในอาณาจักร ลองส่งต้นฉบับไปที่สำนักพิพ์หัวเรือใหญ่ที่บุกเบิกแนวแฟนตาซี


คำตอบที่ได้รับคือ


"สำนวนและการบรรยายดีมาก แต่สำนักพิมพ์เรายังไม่มีแผนจะตีพิมพ์นิยายในแนวนี้"

2
Honey.T Columnist 27 มี.ค. 61 09:19 น. 1-1
สู้ๆ นะคะ เอามาอัปลงเว็บเลยค่ะ ถ้าสำนักพิมพ์การันตีว่าสำนวนและการบรรยายดีมาก พี่น้ำผึ้งเชื่อว่าต้องคนอ่านแน่นอนค่ะ
0
กำลังโหลด
ยูมิโกะ คอลรอส(yumiko) Member 23 พ.ค. 61 22:22 น. 3

The Silmarillion มีเรื่องที่ไม่ใช่ ขาว vs ดำ อย่างเดียว แต่มี เทา vs เทา ปนอยู่ด้วย(ที่เอลฟ์ก็ทำเรื่องชัวๆ ตัวละครมีมิติ เทพก็งี่เง่าเป็น เป็นต้น)

ปล.แต่จอมมารคือชั่วสุดโต่งจริง ดำสนิท....

0
กำลังโหลด

4 ความคิดเห็น

masked v Member 26 มี.ค. 61 22:58 น. 1

“ผมชื่นชมโทลคีนอย่างมาก แต่การอุปมาที่โทลคีนได้สร้างขึ้น - แนวคิดเรื่องของ Dark Lord และลูกสมุนที่ชั่วร้าย – นั้นสมควรถูกล้มล้าง สงครามแห่งความดีและความชั่วกลายเป็นเรื่องที่มีอยู่ในหนังสือแฟนตาซีอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าในท้ายที่สุด การต่อสู้ระหว่างความดีและความชั่วที่แท้จริงเกิดขึ้นอยู่ภายในจิตใจของมนุษย์แต่ละคน มันไม่จำเป็นต้องมีกองทัพของคนใส่เสื้อสีขาวและกองทัพของคนใส่เสื้อสีดำ ในเมื่อฉันมองโลกนี้และเห็นว่าจริงๆ แล้วลมหายใจของมนุษย์เป็นสีเทา”


เมื่อสิบกว่าปีก่อน เคยเขียนนิยายแฟนตาซีในยุคที่นิยายแฟนตาซีกำลังเบ่งบานในเมืองไทย แต่เน้นไปในเรื่องสงคราม การชิงไหวชิงพริบทางการเมือง โดยไม่มีปีศาจ ไม่มีจอมมาร แต่เป็นการแย่งชิงอำนาจในอาณาจักร ลองส่งต้นฉบับไปที่สำนักพิพ์หัวเรือใหญ่ที่บุกเบิกแนวแฟนตาซี


คำตอบที่ได้รับคือ


"สำนวนและการบรรยายดีมาก แต่สำนักพิมพ์เรายังไม่มีแผนจะตีพิมพ์นิยายในแนวนี้"

2
Honey.T Columnist 27 มี.ค. 61 09:19 น. 1-1
สู้ๆ นะคะ เอามาอัปลงเว็บเลยค่ะ ถ้าสำนักพิมพ์การันตีว่าสำนวนและการบรรยายดีมาก พี่น้ำผึ้งเชื่อว่าต้องคนอ่านแน่นอนค่ะ
0
กำลังโหลด
มนุษย์ทะเล Member 28 มี.ค. 61 14:26 น. 2

ก้าวต่อไปของนิยายเเฟนตาซี จะมีการนำเสนอความเป็นมหภาค ในส่วนผสมนักเขียนและนักอ่านรุ่นใหม่ๆ มากขึ้น ในแนวทางที่จะสามารถเข้าถึงนักอ่านทุกกลุ่มได้อย่างทั่วถึง ...เอ๊ะ พูดเอง งงเอง เท่าๆที่รู้งานแนวไหนดัง งานแนวนั้นคนก็จะเเห่กันเขียนตาม แต่จะดีหรือไม่ คนอ่านเป็นผู้ตัดสิน

0
กำลังโหลด
ยูมิโกะ คอลรอส(yumiko) Member 23 พ.ค. 61 22:22 น. 3

The Silmarillion มีเรื่องที่ไม่ใช่ ขาว vs ดำ อย่างเดียว แต่มี เทา vs เทา ปนอยู่ด้วย(ที่เอลฟ์ก็ทำเรื่องชัวๆ ตัวละครมีมิติ เทพก็งี่เง่าเป็น เป็นต้น)

ปล.แต่จอมมารคือชั่วสุดโต่งจริง ดำสนิท....

0
กำลังโหลด
Wild Pig Member 21 เม.ย. 66 05:39 น. 4

JRR Tolkein ได้ให้แรงบันดาลใจ stephen king ในการเขียนนิยายแฟนตาซีชุดที่ดีที่สุดของลุงแกอย่าง The Dark tower ซึ่งมันคือนิยายต่างโลกเวอร์ชั่นตะวันตกที่ถูกเขียนและนำออกมาขายตอนปี 1982 เป็นนิยายต่างโลกที่ผมชอบที่สุด มันคือการเอาไอเดียของ 'นำแหวนไปทำลาย' เป็นการ 'พิชิตหอคอยทมิฬ' ซึ่งไอหอคอยทมิฬเนี่ยแฟน Tolkein น่าจะเดาออกกัน มันคือหอคอย บารัดดูร์

Dark tower คือนิยายต่างโลกที่ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยอ่านมา เพราะตัวละครเอกไม่ใช่ตัวละครต่างโลก แต่เป็นตัวละครที่ต้องดั้งด้นพิชิตหอคอยทมิฬอันเป็นศูนย์กลางของพหุจักรวาล เลยกลายเป็นว่าเขาต้องดึงเอาคนโลกอื่นมาช่วย และเดินทางตะลุยผ่านมิติต่างๆไป ฟังๆดูอาจจะจำเจ เหมือนงานเขียนแนว 'การดั้งด้นของผู้แสวงบุญ' ทั่วไป แต่เทคนิคการบรรยาย การเล่าเรื่อง เนื้อหาที่อยู่ข้างใน อย่างดี

และมีแปลไทยสองเล่ม ผมคิดว่านักเขียนนิยายออนไลน์ในเด็กดี โดยเฉพาะพวกที่เขียนแนวต่่างโลกควรไปศึกษาอย่างมาก เพราะตอนนี้นิยายแฟนตาซีออนไลน์ในไทยมันซ้ำซาก จำเจ และเขียนซ้ำๆเหมือนๆกัน แทบจะก็อปวาง เปลี่ยนชื่อตัวละคร อ็ากกกกกกก เบื่อ!!

1
กำลังโหลด
กำลังโหลด