7 เรื่องลับที่ต้องรู้ก่อนดู ‘A Wrinkle in Time ย่นเวลาทะลุมิติ’!


7 ​เรื่องที่ต้องรู้ก่อนดู ‘A Wrinkle in Time ย่นเวลาทะลุมิติ

 

สวัสดีค่ะน้องๆ ชาวเด็กดีทุกคน ปีนี้มีหนังสือที่ดัดแปลงเป็นหนังเพียบมาก แต่ละเรื่องดังๆ ทั้งนั้น สำหรับเดือนนี้นอกจากหนังรักเพศเดียวกันอย่าง Love, Simon ก็คงหนีไม่พ้นหนังไซไฟแฟนตาซี A Wrinkle in Time” หรือ “ย่นเวลาทะลุมิติ” ที่ค่ายดิสนีย์ขอส่งตัวแม่อย่าง “โอปราห์ วินฟรีย์” เข้าประกวดเป็นนักแสดงนำ

จากนิยายคลาสสิกของเจ้าแม่นิยายไซไฟ แฟนตาซีระดับโลก “มาเดลีน แลงเกิล (Madeleine L'Engle)” สู่ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ A Wrinkle in Time เป็นเรื่องราวของเด็กหญิงอัจฉริยะกับภารกิจข้ามจักรวาลของเธอเพื่อช่วยพ่อของเธอ ไหนๆ หนังก็เข้าโรงเดือนนี้แล้ว วันนี้พี่น้ำผึ้งเลยชวนน้องๆ มาดู “7 เรื่องที่ต้องรู้ก่อนดู A Wrinkle in Time ย่นเวลาทะลุมิติ” ค่ะ

 


(via: The Mary Sue)
 

ก่อนที่ A Wrinkle in Time จะได้ตีพิมพ์ แลงเกิลเกือบเทมันแล้ว

เหมือนกับนักเขียนคนอื่นทั่วไป มาเดลีน แลงเกิลเองก็เคยมีช่วงเวลาที่อยากหยุดเขียนนิยาย เททิ้งให้มันจบๆ ไป ในตอนนั้นครอบครัวของเธอบังเอิญประสบปัญหาด้านการเงิน แลงเกิลไม่สามารถหาเงินมาช่วยสามีผู้เป็นนักแสดงของเธออย่าง ฮิวจ์ แฟรงคลินเพื่อเลี้ยงลูกๆ ได้ ไหนจะค่าใช้จ่ายส่วนตัวอีก บอกเลยว่าเธอเครียดและกดดันมาก

จนในที่สุดหลังจากที่เธอได้รับจดหมายปฏิเสธจากสำนักพิมพ์ในวันคล้ายวันเกิดครบรอบอายุ 40 ปีของเธอในปี 1958 มาเดลีน แลงเกิลตัดสินใจหยุดเขียนนิยายและเดินหน้าหางานทำที่เป็นหลักแหล่งอย่างจริงจัง ให้ทายว่าเธอทำได้มั้ย?

คำตอบก็คือไม่ แลงเกิลพบว่าตัวเองไม่สามารถหยุดเขียนนิยายได้ เลือดนักเขียนมันแล่นอยู่ในตัวเธอตลอดเวลา ตอนนั้นแหละเธอแลงเกิลจึงกลับมาเขียน A Wrinkle in Time อีกครั้งและเขียนจบในปี 1960 ก่อนสุดท้ายจะได้ตีพิมพ์ในปี 1962 แถมยังคว้ารางวัล Newberry Medal ในปีถัดมาอีกด้วย

ในปี 2012 หนังสือเล่มนี้มีอายุครบรอบ 50 ปี น้องๆ รู้มั้ยคะว่าเกิดอะไรขึ้น? เราพบว่า A Wrinkle in Time มียอดขายมากกว่า 10 ล้านเล่มทั่วโลก ดีงามไปอีก ลองคิดดูว่าถ้าเธอหยุดเขียนไป มันคงไม่มีวันนี้แน่นอน!

 


หนังสือเรื่อง A Wrinkle in Time
(via: amazon)

 

เป็นหนังสือที่นกมาเยอะ เพราะหาแนวลงตัวไม่ได้

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ A Wrinkle in Time ถูกสำนักพิมพ์ปฏิเสธถึง 26 ครั้ง เพราะไม่รู้ว่าเป็นนิยายสำหรับเด็กหรือผู้ใหญ่ บางสำนักพิมพ์ก็ปฏิเสธด้วยเหตุผลที่ว่า “นี่เป็นนิยายไซไฟ แฟนตาซีที่ซับซ้อนเกินกว่าเด็กๆ จะเข้าใจได้” บางที่ก็ปฏิเสธด้วยเหตุผลทางศาสนา กลัวว่าจะเกิดปัญหากับชาวคริสต์บ้างอะไรบ้าง ก็ว่ากันไป แต่โชคยังดีเพราะมีอีกหนึ่งสำนักพิมพ์ที่เข้าใจและมองเห็นส่วนดีที่แฝงอยู่ภายในหนังสือเล่มนี้

ทีรอน เรนส์ เอเย่นต์ของแลงเกิลบอกกับสำนักข่าว The New Yorker ถึงเหตุผลที่จอห์น ฟาร์ราต้องการตีพิมพ์ A Wrinkle in Time ว่า มันเป็นเพราะฟาร์ราเป็นคนเคร่งศาสนาและชอบไปโบสถ์ ประเด็นของศาสนาที่ปรากฏในหนังสือนั้นน่าสนใจและมีแง่คิด ฟาร์ราชื่นชมว่าหนังสือเล่มนี้เป็นอะไรที่ “ฉลาด” มาก

A Wrinkle in Time เป็นหนังสือที่จะพาเราไปรู้จักโลกของฟิสิกส์และทำให้เราตกหลุมรักปรัชญาที่แฝงอยู่ในเรื่อง แลงเกิลคิดว่าความเชื่อทางจิตวิญญาณและควอนตัมฟิสิกส์ไม่ใช่สิ่งที่แตกต่างกัน แต่เป็นสิ่งที่ซ้อนทับกัน หนังสือของเธอเล่มนี้จึงเป็นแรงบันดาลใจในการเรียนรู้เกี่ยวกับโลกและอวกาศที่ห่างไกล แถมยังเป็นแรงบันดาลใจให้เราเป็นคนที่ดีขึ้นด้วยค่ะ

 


เจนิซ โวสส์ นักบินอวกาศที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก A Wrinkle in Time
(via: space.com)

 

หนังสือเล่มนี้ ส่งคนไปอวกาศจริงๆ

ในฤดูร้อนของปี 1966 เจนิซ โวสส์ (Janice E. Voss) นักเรียนเกรดหกจากโรงเรียนแห่งหนึ่งในอเมริกาได้หยิบหนังสือ A Wrinkle in Time มาอ่าน การเดินทางข้ามเวลาและท่องเที่ยวไปในอวกาศที่เกิดขึ้นในเรื่องทำให้เจนิซ โวสส์กลายเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักบินอวกาศของ NASA ในเวลาต่อมา

หลังจากที่มาเดลีน แลงเกิลรู้เรื่องของเจนิซ โวสส์ เธอได้ส่งนิยายเรื่องนี้ไปให้โวสส์ก่อนที่เธอจะขึ้นไปทำภารกิจใหม่ในอวกาศ ต่อมาในวันที่ 1 กรกฎาคม 1997 โวสส์ได้ขึ้นไปในอวกาศเป็นครั้งที่ 4 เวลานั้นเธอได้นำหนังสือเล่มโปรดติดตัวขึ้นไปด้วย ขณะที่โวสส์กำลังอยู่ในวงโคจรของโลกบนกระสวยอวกาศโคลัมเบีย เธอได้อ่าน A Wrinkle in Time อย่างมีความสุข การได้อ่านหนังสือเล่มโปรดที่เป็นแรงบันดาลใจให้เราในที่ๆ มันเป็นของเราคงจะเป็นอะไรที่ดีไม่น้อยเลยนะคะ ว่ามั้ย?

 


หนังสือชุด Time Quintet
(via: amazon.com)

 


หนังสือเรื่อง Many Ways 
(via: amazon.com)

 

ซีรี่ส์ชุดนี้สอดคล้องกับวันสิ้นโลกในไบเบิล

A Wrinkle in Time เป็นหนึ่งในหนังสือชุด “Time Quintet” ที่มาเดลีน แลงเกิลเขียนขึ้นมา มันคือซีรี่ส์ที่พูดถึงเรื่องราวของครอบครัวเมอร์รี่กับภารกิจกอบกู้โลก ในหนังสือเล่ม “Many Waters” ลูกๆ ของครอบครัวเมอร์รี่พบว่าตนเองเกี่ยวข้องกับโนอาห์และครอบครัวของเขาในช่วงวันน้ำท่วมโลก

ในหนังสือมีฉากที่ฑูตสวรรค์พยายามช่วยเด็กๆ ขณะที่เนฟิลิมลึกลับที่ปรากฏใน Genesis 6:4 ของพระคัมภีร์นั้นรับบทเป็นตัวร้าย อีกทั้งชื่อเรื่องยังมาจากเพลงซาโลมอน 8:7 ที่ว่า  "Many waters cannot quench love, neither can the floods drown it. If a man were to give all his wealth for love, it would be utterly scorned." ด้วยค่ะ

 


(via: amazon.com)

 

แลงเกิลเขียนคำนำให้หนังสือของ C.S. Lewis

แลงเกิลอ่านหนังสือของลูอิส และหนังสือของพวกเขามักถูกนำมาเปรียบเทียบ เนื่องจากภายใต้เรื่องราวสุดแฟนตาซี มันมีเรื่องของศาสนาเป็นองค์ประกอบด้วย แม้ทั้งคู่จะมีความขัดแย้งกันในเรื่องศาสนา แต่แลงเกิลก็ไปเข้าร่วมการประชุมของลูอิสที่อ๊อกซ์ฟอร์ดหลังจากที่เธอกลายเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้นในหนังสือเล่มใหม่ของลูอิสอย่างเรื่อง “A Grief Observed” ที่ได้ตีพิมพ์ในปี 1989 แลงเกิลนี่แหละก็เป็นคนเขียนคำนำให้ งานเขียนชิ้นนี้เป็นเรื่องราวการต่อสู้กับหายนะของลูอิสที่เกิดขึ้นหลังจากเขาสูญเสียภรรยาเพราะโรคมะเร็ง ซึ่งมันสะท้อนกับชีวิตของแลงเกิล เธอเองก็เศร้าโศกหลังจากสามีของเธอเสียชีวิตด้วยเช่นกัน

เมื่อถามถึงการเปรียบเทียบระหว่างผลงานของเธอกับลูอิส แลงเกิลบอกสำนักข่าว Scholastic ว่า ฉันคิดว่าข้อแตกต่างหลักๆ คือ ซี.เอส.ลูอิสมีคำตอบมากมายและฉันก็มีคำถามมากมาย”

 


3 Mrs. W
 

เป็นหนังสือที่ถูกแบนมาก่อน

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ นอกจากจะถูกสำนักพิมพ์ปฏิเสธถึง 26 ครั้งแล้ว A Wrinkle in Time ยังเป็นหนังสือที่เคยถูกแบนด้วยค่ะ! อย่าว่าแต่เคยถูกแบนเลย จนถึงตอนนี้ก็ยังมีหลายคนแบนหนังสือเล่มนี้ ทำไมน่ะเหรอ? มาๆ จะเม้าธ์ให้ฟัง

นวนิยายเรื่องนี้มีองค์ประกอบที่น่าอัศจรรย์มากมาย ตั้งแต่ความเป็นฟิสิกส์ควอนตัมไปจนถึงความลึกลับของสามสาว "Mrs. W" มันเลยทำให้หนังสือเล่มนี้ตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มคริสเตียนหัวโบราณซึ่งมักตามหาหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องเกี่ยวกับเวทมนตร์มาสอนในโรงเรียน

อีกทั้งคริสเตียนหัวโบราณยังวิพากษ์วิจารณ์ภาพลักษณ์ของแลงเกิลที่มีต่อศาสนา โดยเฉพาะการอ้างว่าพระเยซูไม่ได้เป็นบุคคลสูงสุด กล่าวคือในตอนกลางของหนังสือ มีการเปรียบเทียบพระเยซูกับพระพุทธเจ้า ไอน์สไตน์ คานธีและดาวิซี กลุ่มเคร่งศาสนาจึงโจมตีว่านิยายเรื่องนี้คือบ่อนทำลายความเชื่อทางศาสนา นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไมหลายคนถึงแบนหนังสือเล่มนี้ อย่างไรก็ตามก็ยังมีคนชื่นชอบ A Wrinkle in Time มากมาย ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมนิยายสุดคลาสสิกเล่มนี้ถึงเป็นนิยายไซไฟ-แฟนตาซียอดเยี่ยมแห่งศตวรรษที่ 20 ค่ะ

 


แคทเธอรีน แฮนด์ ผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้
(via: Zimbio)

 

ภาพยนตร์ A Wrinkle in Time เกิดขึ้นเพราะเด็กผู้หญิงเกรด 5 คนหนึ่ง

ที่ LA ในปี 1963 แคทเธอรีน แฮนด์ นักเรียนเกรดห้าถูกลงโทษด้วยการส่งตัวไปยังห้องสมุดเนื่องจากเธอพูดมากเกินไป ที่นั่นเอง เธอได้พบกับหนังสือ A Wrinkle in Time และตกหลุมรักไปกับความน่าตื่นเต้นของนิยายเล่มนี้ เธอเขียนจดหมายถึงผู้ชายคนหนึ่งที่คิดว่าเขาสามารถช่วยสานฝันให้หนังสือเล่มนี้เป็นจริงได้ เขาคนนั้นคือ “วอลต์ ดิสนี่ย์” แต่น่าเศร้า แฮนด์ไม่กล้าส่งจดหมายนั้นไปหาเขา แถมสามปีต่อมาดิสนี่ย์ก็เสียชีวิตลง

เมื่อแฮนด์ก้าวขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในวงการฮอลลีวูด เธอได้นำหนังสือเล่มมาปรับเปลี่ยนก่อนนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ รวมทั้งยังได้พบกับแลงเกิลที่คอยช่วยเธอในด้านลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ พวกเขายังคงปรับบทหนังจนกระทั่งแฮนด์กลายเป็นผู้อำนวยการสร้างและผู้ผลิตโทรทัศน์ในปี 2003

น่าเศร้าสำหรับแฮนด์และแลงเกิลที่ในตอนนั้น A Wrinkle in Time ยังเป็นแค่ละครทีวี จนกระทั่งแฮนด์ไล่ตามความฝันของตัวเองไม่หยุดหย่อน ในที่สุดเธอก็สามารถทำในสิ่งที่หลายคนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ขึ้นมา เพราะในตอนนี้ 54 ปีหลังจากที่แคทเธอรีน แฮนด์อ่านหนังสือ A Wrinkle in Time เธอได้ขึ้นแท่นเป็นผู้ผลิตภาพยนตร์ A Wrinkle in Time ของดิสนีย์

 

 
เด็กหญิงอัจฉริยะที่ต้องออกตามหาพ่อที่หายไปในจักรวาล

 

เป็นอย่างไรบ้างคะกับเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับ A Wrinkle in Time ที่พี่นำมาฝากในวันนี้ สำหรับพี่น้ำผึ้ง พี่คิดว่า A Wrinkle in Time เป็นหนังสือที่ค่อนข้างเฟมินิสต์ในระดับหนึ่ง กล่าวคือในยุคนั้น (ช่วง 60) ตัวเอกของนิยายไซไฟ แฟนตาซีมักเป็นผู้ชาย ยากนักที่จะเจอผู้หญิง แต่ว่าแลงเกิลคิดต่าง เธอให้เด็กหญิงเม็กเป็นตัวเอกของเรื่อง ดูๆ ไปแล้วก็เหมือนเป็นการปูทางเลยนะคะ เพราะเดี๋ยวนี้นิยาย YA ก็ล้วนแต่มีตัวเอกเป็นผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ น่าประทับใจมากๆ เลยค่ะ

A Wrinkle in Time ดีงามขนาดนี้ ก่อนไปดูหนังอย่าลืมคว้าหนังสือมาอ่านด้วยนะคะ รับรองว่าเปิดโลกของเราแน่นอน ^o^

 
 พี่น้ำผึ้ง :)

 

ขอบคุณข้อมูล

https://www.newyorker.com/magazine/2004/04/12/the-storyteller-cynthia-zarin
https://uproxx.com/movies/jennifer-lee-wrinkle-in-time-frozen-2/2/
https://www.scholastic.com/teachers/articles/teaching-content/madeleine-lengle-interview-transcript/
https://www.npr.org/templates/story/story.php?storyId=14266537
https://www.biblegateway.com/passage/?search=Song+of+Solomon+8%3A7&version=KJV
https://www.biblegateway.com/passage/?search=Genesis+6%3A1-4&version=CSB
https://www.npr.org/2018/03/06/589537709/the-wrinkle-in-time-movie-began-as-a-fifth-grader-s-dream
http://www.nytimes.com/2001/03/15/nyregion/public-lives-busier-than-ever-at-82-and-oh-yes-still-writing.html
https://hellogiggles.com/news/wrinkle-in-time-banned-reason/

ขอบคุณรูปภาพบางส่วนจากภาพยนตร์

 

คลินิกนักเขียน ตอน รวม 9 เทคนิคเขียนนิยายให้ฟินและปังตามแบบฉบับ ‘เจ้าหญิงผู้เลอโฉม’
พี่น้ำผึ้ง
พี่น้ำผึ้ง - Columnist นักเขียนที่ชอบส่งต่อพลังบวกให้ทุกคน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด