8 แบบฝึกหัดเด็ด ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งตัวละคร : มาค้นหาตัวตนที่แท้จริงของตัวละครกันเถอะ

8 แบบฝึกหัดเด็ด ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งตัวละคร 
มาค้นหาตัวตนที่แท้จริงของตัวละครกันเถอะ

 

สวัสดีค่ะชาวนักเขียนเด็กดีทุกคน ในการอ่านนิยายสักเรื่อง นักอ่านจะไม่มีวัน “รู้จัก” ตัวละครได้เลยถ้านักเขียนไม่รู้จักตัวละครของตนอย่างถ่องแท้ ไม่รู้ว่าตัวละครของเราเป็นใครและอะไรเป็นแรงผลักดันของเขา ด้วยเหตุนี้เองนักเขียนจึงต้องทำความใกล้ชิดสนิทสนมเป็นการส่วนตัวกับตัวละครของเรา เอ...แล้วจะทำยังไงดีนะเราถึงจะกลายเป็นเพื่อนซี้ของตัวละครของเราได้? บอกเลยว่าวิธีง่ายๆ ก็คือ “ทำแบบฝึกหัดสำหรับการพัฒนาตัวละคร” ค่ะ

ซึ่งแบบฝึกหัดเพื่อการพัฒนาตัวละครที่พี่น้ำผึ้งหยิบมาฝากน้องๆ นั้นเป็นวิธีที่ดีมาก เพราะมันจะช่วยให้เราเข้าใจบุคคลที่เราสร้างขึ้นผ่านปากกาและกระดาษ (หรืออาจจะนิ้วและคีย์บอร์ด ฮ่าๆ) นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งข้อมูลที่เราสามารถดึงออกมาใช้ได้ระหว่างเขียนนิยายด้วย ดังนั้นเพื่อที่จะช่วยให้ตัวละครของเรามีชีวิตชีวา เราได้แบ่งขั้นตอนการพัฒนาตัวละครออกเป็น 3 ขั้นด้วยกัน ได้แก่

  • กำหนดแรงจูงใจทางอารมณ์ของตัวละครเราในปัจจุบัน
  • ใส่ตัวละครของเราลงในบริบท
  • มอบชีวิตให้ตัวละครสักหน่อย


สำหรับกลเม็ดเคล็ดลับฉบับนี้พี่น้ำผึ้งขอหยิบยกหัวข้อ “กำหนดแรงจูงใจทางอารมณ์ของตัวละคร” มาพูดถึงกันก่อนค่ะ เนื่องจากนี่เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เรารู้จักตัวละครของงเราระดับจิตวิญญาณก่อนพาพวกเขาออกไปโลดแล่นสู่สายตานักอ่านค่ะ

 

กำหนดแรงจูงใจทางอารมณ์ของตัวละคร

การวางเป้าหมายพื้นฐานของตัวละครเป็นสิ่งสำคัญต่อพวกเขาอย่างแท้จริง มันจะช่วยให้เราเห็นสิ่งที่กำลังผลักดันพวกเขาอยู่ในขณะนี้ รวมทั้งมันทำให้เรารู้ว่าทำไมนักอ่านถึงต้องสนใจเรื่องราวของพวกเขา หากตัวละครไม่มีเป้าหมาย นิยายของเราก็จะเป็นเพียงแค่เรื่องราวเรียบง่ายและแบนราบ ไม่มีความน่าสนใจใดๆ

ด้านล่างต่อไปนี้คือแบบฝึกหัดในการพัฒนาตัวละครที่จะช่วยให้เราเปรียบเสมือนอีกจิตวิญญาณหนึ่งของตัวละคร และยังช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นในเป้าหมายชีวิตของพวกเขาอีกด้วย
 

แบบฝึกหัด 1: ความจริงจะช่วยให้เข้าถึงตัวละคร

เชื่อว่าน้องๆ คงรู้จักเกม “Truth or Dare” ที่ชอบเล่นกันในกลุ่มเพื่อนซี้ใช่มั้ยล่ะ บางคนกล้าหาญที่จะประกาศ "กล้า!" และรอความท้าทายอันน่าอายที่เพื่อนๆ จะให้เราทำอย่างเลี่ยงไม่ได้ ส่วนบางคนก็เลือก “ความจริง...?” และรอคำถามล้วงลึกจากเพื่อน เชื่อหรือไม่ว่าคำถามเหล่านี้แหละช่วยให้เราเพิ่มเลเวลซี้ปึ๊กกับเพื่อนได้ เช่นกันค่ะ ถ้าเราอยากสนิทสนมกับตัวละคร เราก็ต้องใช้คำถามเหล่านี้มาช่วย

เพื่อที่จะดำดิ่งลงไปในอารมณ์ของตัวละครอย่างลึกซึ้ง เราต้องตั้งคำถามกับตัวละครของเรา วิธีก็ง่ายๆ แค่ตั้งคำถามดีๆ ตั้งคำถามที่ทรงพลังและเป็นประโยชน์ อย่าให้ดูเหมือนว่าเรากำลังคุกคามตัวละครของเราอยู่ (คำถามประมาณว่าตัวละครของเราชอบกินอะไรอาจไม่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินเรื่องของเราสักเท่าไหร่) ซึ่งพี่ได้รวบรวมคำถามที่น่าสนใจที่พี่เชื่อว่าสามารถช่วยให้เราเข้าใจ “ความปรารถนาและแรงขับเคลื่อน” ของตัวละครมากขึ้น มาฝากน้องๆ เผื่อนำไปปรับใช้กันค่ะ
 

36 คำถามที่ทำให้คนตกหลุมรักกัน

เป็นคำถามที่คิดค้นในปี 1997 โดยดร.แอรอน อาร์เธอร์ นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยบรู๊ค มันเป็นคำถามที่ทำให้คนแปลกหน้ามีโอกาสตกหลุมรักกันโดยไม่รู้ตัว

สำหรับ 36 คำถามที่ทำให้คนตกหลุมรักกันนี้ พี่น้ำผึ้งมองว่ามันน่าสนใจและน่าหยิบมาใช้เนื่องจากเป็นคำถามที่ทำให้เรารู้จักตัวตนของตัวละครมากขึ้น อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพในการสร้างความใกล้ชิดสนิทสนมระดับจิตวิญญาณกับตัวละครของเรา ดังนั้นมันจึงช่วยให้เรารู้จักเป้าหมายและตัวตนของตัวละครได้ง่ายๆ ค่ะ ซึ่งพี่ก็ได้ยกตัวอย่างคำถามมาให้ดูกันค่ะ
 

  • ถ้าสามารถเชิญใครก็ได้ในโลกมารับประทานอาหารเย็นด้วยกัน คุณจะเชิญใคร?
  • คุณอยากมีชื่อเสียงหรือเปล่า ในด้านไหนล่ะ?
  • ก่อนโทรหาใครสักคน คุณเคยซ้อมก่อนหรือเปล่าว่าจะพูดอะไร? ทำไมล่ะ?
  • อะไรบ้างที่ทำให้วันนั้นเป็นวันที่ “ยอดเยี่ยม” ของคุณ
  • ครั้งสุดท้ายที่ร้องเพลงกับตัวเองคือเมื่อไหร่? แล้วร้องให้คนอื่นฟังล่ะ?
  • ถ้าคุณสามารถอยู่ได้จนถึงอายุ 90 ปี คุณสามารถเลือกให้กายหรือใจของคุณหยุดอยู่แค่อายุ 30 คุณจะเลือกหยุดอะไร?
  • คุณอยากตายแบบไหน?
  • ในชีวิตนี้คุณตื้นตันกับอะไรมากที่สุด?
  • หากคุณสามารถเปลี่ยนวิถีที่ถูกเลี้ยงดูมา คุณอยากเปลี่ยนอะไร?
  • มีเวลาให้ 4 นาที จงเล่าเรื่องชีวิตของคุณให้ได้มากที่สุด?
  • ถ้าต้องตื่นขึ้นมาแล้วมีคุณสมบัติหรือความสามารถหนึ่งอย่าง คุณอยากให้มันเป็นอะไร?
  • อะไรคือความทรงจำที่มีค่าที่สุดของคุณ?

ส่วนคำถามที่เหลือ น้องๆ สามารถไปตามได้ที่ 36 Questions That Lead to Love ได้เลยจ้า
 

The Proust Questionnaire

สำหรับคำถามชุดนี้มีทั้งหมด 35 ข้อ เป็นคำถามที่คิดค้นโดยนักกวีและนักเขียนชาวฝรั่งเศสอย่าง Marcel Proust ลักษณะคล้ายๆ กับ 36 คำถามที่ทำให้คนตกหลุมรักนี่แหละค่ะ มันจะช่วยเปิดเผยตัวตนของเรา (และตัวละครของเรา) ทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของคนมากขึ้น คำถามก็ประมาณว่า

  • ความสุขของคุณคืออะไร?
  • นิสัยอะไรของคุณที่ทำให้คุณรู้สึกแย่?
  • ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของคุณคืออะไร?
  • คำพูดติดปากของคุณคืออะไร?
  • ถ้าไม่เป็นตัวคุณ ในตอนนี้คุณจะเป็นใคร?
  • สิ่งที่คุณให้ความสำคัญที่สุดในเพื่อนของคุณ?
  • คุณอยากอยู่ที่ไหนที่สุด?
  • ถ้าคุณตายและกลับชาติมาเกิดเป็นคนหรืออะไรก็ได้ คุณอยากเป็นอะไร?
  • เหตุการณ์ใดทำให้คุณโกหก?
  • ถ้าคุณสามารถเปลี่ยนสิ่งหนึ่งเกี่ยวกับตัวคุณเองได้ สิ่งนั้นคืออะไร?
  • คำขวัญประจำใจของคุณคืออะไร?
     

ส่วนคำถามที่เหลือ น้องๆ สามารถไปตามได้ที่ The Proust Questionnaire ได้เลยค่ะ

 

แบบฝึกหัด 2: ให้พวกเขาเผชิญกับสถานการณ์ Dilemma

คนเรามีรีเอคชั่นต่อสถานการณ์แต่ละอย่างแตกต่างกัน ตัวละครก็เช่นกัน ซึ่งเป้าหมายพื้นฐานของตัวละครจะช่วยให้เรารู้ว่าพวกเขาจะตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ อย่างไร

หลังจากได้เป้าหมายแล้ว ขั้นตอนต่อมาก็คือการหยิบพวกเขาไปวางไว้ในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้พวกเขาเผชิญหน้ากับความท้าทาย จากนั้นจึงดูรีเอคชั่นของตัวละคร วิธีง่ายๆ สำหรับหัวข้อนี้คือ ทำยังไงก็ได้ให้ตัวละครเกิดความขัดแย้งในตัวเอง

สำหรับไอเดียในการสร้างความขัดแย้ง ไม่ต้องคิดไปไกลเลยค่ะ ความขัดแย้งที่ทำให้เราเข้าใจตัวตนของมนุษย์มากที่สุดคือประเด็นความขัดแย้งทางศีลธรรมเหล่านี้ (และแน่นอน อย่าลืมวิเคราะห์จากมุมมองของตัวละครเรานะ)
 

The Robin hood Problem

ตัวละครของเราเป็นพยานในคดีอาชญากรรม

ผู้ชายคนหนึ่งได้ปล้นธนาคาร แต่แทนที่จะเก็บเงินไว้เพื่อตัวเขาเอง เขากลับบริจาคเงินให้กับสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ทำให้สถานรับเลี้ยงเด็กมีเงินเพียงพอที่จะจ่ายค่าอาหาร เสื้อผ้าและเลี้ยงดูเด็กๆ คุณรู้ว่าใครเป็นคนก่ออาชญากรรม หากคุณไปหาตำรวจพร้อมข้อมูล ธนาคารก็มีโอกาสที่จะได้เงินกลับคืน แต่เด็กจำนวนมากก็จะสูญเสียโอกาสจากเงินนี้ ตัวละครของเราจะทำอะไร?

  • การขโมยเป็นสิ่งที่ผิด ไปแจ้งความ จบเรื่อง
  • เก็บข้อมูลไว้กับตัวเองเพราะเงินถูกนำไปใช้ในทางที่ดี

     

The Trolley Problem

เหตุการณ์มีอยู่ว่า รถไฟกำลังวิ่งลงมาตามทาง มีคน 5 คนถูกมัดติดกับรางรถไฟและไม่สามารถขยับเขยื้อนไปไหนได้ ถัดจากตัวละครของเราคือคันโยกที่สามารถควบคุมการเปลี่ยนเส้นทางของรถไฟ แต่โชคร้ายที่เส้นทางนั้นมีคนหนึ่งคนถูกมัดไว้อยู่ ซึ่งคนๆ นี้เป็นหัวหน้าครอบครัวและต้องคอยดูแลลูกๆ กับภรรยาของเขา ตัวละครของเราจะทำอย่างไร?

  • ไม่ทำอะไร ให้ห้าคนนั้นตาย
  • สับคันโยกเพื่อช่วยคน 5 คน แต่ฆ่าคนๆ เดียว

Clip

The Trolley Problem

จากนั้นจดสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในหัวของตัวละครเมื่อพิจารณาถึงผลกระทบจากการกระทำของพวกเขา ตัวอย่างเช่น ถ้าตัวละครตัดสินใจที่จะไม่ดึงคันโยก พวกเขาอาจอธิบายให้คนอื่นรู้ว่าตัวเขาไม่มีเวลาพอที่จะเข้าถึงคันโยกได้ หรือหากพวกเขามีแนวโน้มจะดึงคันโยก พวกเขาอาจรู้สึกผิดหลังจากทำ เป็นต้น

 

แบบฝึกหัด 3: ทำสิ่งที่ไม่คาดฝัน

คนเรามีความต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงสูงมาก โดยเฉพาะตัวละครที่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ดังนั้นมันเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีเหตุการณ์บางอย่างที่ “ยิ่งใหญ่” และ "เฉพาะเจาะจง" เกิดขึ้นกับพวกเขาเพื่อให้พวกเขาเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นนิสัย บุคลิก หรือทัศนคติ เหตุการณ์นี้ไม่จำเป็นต้องปรากฏอยู่ในเรื่องของเรา แต่เราสามารถกำหนดสิ่งที่เราต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงไว้ในเรื่องได้

ยกตัวอย่างเช่น ในตอนเริ่มต้นของ A Christmas Caroline เอเบเนเซอร์ สครูจเป็นคนขี้เหนียว แล้งน้ำใจและไร้เมตตา อย่างไรก็ตามในตอนท้ายของเรื่อง สครูจกลายเป็นคนมีน้ำใจและเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ แล้วอะไรที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขาเปลี่ยนไป? การมาเยือนของภูติในอดีต ปัจจุบันและอนาคตหรือเปล่า? หรือว่าการตระหนักรู้ถึงการกระทำด้านลบของเขา? แต่ไม่ว่ามันจะเป็นอะไร การเปลี่ยนแปลงของเขาไม่เพียงแต่ส่งผลต่อคนรอบข้าง แต่ยังส่งผลต่อชีวิตของเขาด้วยค่ะ

สำหรับแบบฝึกหัดนี้ ให้เราพิจารณาว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ตัวละครของเราเปลี่ยนไปโดยดูจากเหตุการณ์หรือคุณลักษณะ นิสัยต่างๆ ที่ขัดกับความรู้สึกของเรา เช่น ถ้าตัวละครของเราเป็นพลเมืองดี มันไม่น่าเป็นไปได้ที่พวกเขาจะก่ออาชญากรรม แล้วมีอะไรบ้างล่ะที่จะทำให้เขากล้าเสี่ยงทำสิ่งที่ขัดแย้งกับความเชื่อหรือนิสัยเดิมของตัวเอง แค่นี้ก็จะเป็นการบังคับให้ตัวละครของเราเปลี่ยนไปแล้วค่ะ

 

เป็นอย่างไรบ้างคะกับแบบฝึกหัดในหัวข้อ “กำหนดแรงจูงใจทางอารมณ์ของตัวละคร” กระซิบก่อนว่าอยากให้ตั้งใจทำ เพราะนี่เป็นแบบฝึกหัดที่จะช่วยให้เราเข้าถึงจิตวิญญาณของตัวละครเรามากขึ้น อย่าลืมว่าเป้าหมายพื้นฐานคือสิ่งที่กระตุ้นให้ตัวละครของเราเกิดพฤติกรรมต่างๆ อันนำมาสู่เรื่องราวทั้งหมดในนิยาย มันจะช่วยให้เรารู้ว่า “เหตุใดนักอ่านถึงต้องติดตามนิยายของเรา”  

สำหรับครั้งหน้าพี่น้ำผึ้งจะมาต่อกันในภาค 2 ของ “แจก 8 แบบฝึกหัดเด็ด ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งตัวละคร” กันนะจ๊ะ รอติดตามได้เลยจ้า ส่วนครั้งนี้ใครอยากแชร์คำตอบให้พี่น้ำผึ้งและเพื่อนๆ ชาวนักเขียนเด็กดีได้อ่านกันก็สามารถแชร์ได้เลย ยินดีอ่านให้ค่า ^o^

 

 พี่น้ำผึ้ง :)

ขอบคุณ

https://www.elitesingles.ca/en/mag/single-life/36-questions
https://www.vanityfair.com/magazine/2000/01/proust-questionnaire
https://nlcsethicsproject9fsilviasicheri.weebly.com/
https://www.theguardian.com/science/head-quarters/2016/dec/12/the-trolley-problem-would-you-kill-one-person-to-save-many-others
https://blog.reedsy.com

 

Deep Sound แสดงความรู้สึก

พี่น้ำผึ้ง
พี่น้ำผึ้ง - Columnist นักเขียนที่ชอบส่งต่อพลังบวกให้ทุกคน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Cheshire. Member 6 มิ.ย. 61 13:59 น. 5

ไม่อยากเชื่อว่า 36 คำถามก็สามารถเอามาช่วยพัฒนาตัวละครได้ เรานี่เอาไปเขียนเป็นหนึ่งเรื่องเลย 55555555 >_<

1
กำลังโหลด

6 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Cheshire. Member 6 มิ.ย. 61 13:59 น. 5

ไม่อยากเชื่อว่า 36 คำถามก็สามารถเอามาช่วยพัฒนาตัวละครได้ เรานี่เอาไปเขียนเป็นหนึ่งเรื่องเลย 55555555 >_<

1
กำลังโหลด
panjung1772 Member 3 ก.ค. 61 19:28 น. 6

ขอบคุรสำหรับบทความนะคะ ยอมรับว่ายังไม่เกต555จะพยายามทบทวนแล้วศึกษาเพิ่งก่อนลงมืแต่งค่ะ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด