วิจารณ์หนังสือ : ใต้ฝุ่น “ถ้านี่เป็นความฝัน ฉันก็ไม่ปรารถนาจะตื่นขึ้นมาอีก”


วิจารณ์หนังสือ : ใต้ฝุ่น
“ถ้านี่เป็นความฝัน ฉันก็ไม่ปรารถนาจะตื่นขึ้นมาอีก”


สวัสดีน้องๆ นักอ่านชาวเด็กดีทุกคนนะจ๊ะ ห่างหายกันไปนานสำหรับบทความวิจารณ์หนังสือ ซึ่งในวันนี้เราได้กลับมาแล้ว!  แถมต้องบอกเลยว่าเรากลับมาพร้อมกับความยิ่งใหญ่และใหญ่ยิ่งด้วยการแนะนำหนังสือที่พี่นัทตี้อยากจะให้น้องๆ ทุกคนได้ไปหามาอ่านกันมาก… เพราะการันตีความดีงามได้จากรางวัล ARC Award หรือ Amarin Readers Choice Award ประจำปี 2017 ที่เป็นรางวัลจากการประกวดต้นฉบับเพื่อเฟ้นหาต้นฉบับที่ดีที่สุดเพื่อคนอ่าน ตามจุดประสงค์ของโครงการที่ว่า มากกว่ารางวัลคือคนอ่าน!


 


 

ใต้ฝุ่น เป็นนวนิยายที่เคลื่อนไหวไปบนความเป็นจริง
ณ สถานที่ที่ไม่เคยไกลไปจากการรับรู้
และในอีกด้านหนึ่ง มันก็ใกล้มากพอที่เรา
จะต้องหันมามองรอบตัวเรา มองบ้านเมืองของเรา

                                                          แพรวสำนักพิมพ์


ใต้ฝุ่น เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวของหญิงสาวคนหนึ่งที่ท่องเวลาข้ามแดนไปใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอัฟกานิสถาน ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองยังสงบสุขสวยงาม แถมประชากรทุกคนล้วนมีความสุข ก่อนที่สงครามจะทำให้ประเทศที่เคยเจริญรุ่งเรืองเต็มไปด้วยวัฒนธรรมเหลือเพียงแค่ซากปรักหักพัง น้ำตา เสียงสะอื้น และรอยยิ้มที่หายไปของประชาชนนั้นไม่เคยจางหายไปจากความทรงจำของเมย์ มิลเลอร์…
 
ซึ่ง โกลาบ จัน ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้สร้างความประทับใจให้กับพี่นัทตี้ในฐานะคนอ่านเป็นอย่างมาก เพราะถึงแม้ว่าเรา ผู้ซึ่งไม่เคยรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์มากเท่าไหร่ แต่เมื่ออ่านไปแล้วกลับรู้สึกสนอกสนใจและอยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในตอนนั้นขึ้นมาทันที ใครที่กังวลว่าจะเข้าไม่ถึง อ่านแล้วจะไม่เข้าใจ โกลาบ จัน ได้ใช้วิธีดึงดูดคนอ่านอย่างเราด้วยการใช้ตัวละครของเมย์ มิลเลอร์ นางเอกของเรื่องมาเป็นผู้บอกเล่าสถานการณ์ รวมถึงสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับเราไปพร้อมๆ กันกับเธอ


 

เมย์ มิลเลอร์ หญิงสาวผู้เติบโตขึ้นมาท่ามกลางวัฒนธรรมที่แตกต่าง


ในปี ค.ศ. 2011 เมย์ มิลเลอร์ หญิงสาวลูกครึ่งไทย-อังกฤษ คอลัมนิสต์ของนิตยสารฉบับหนึ่งที่อังกฤษได้เดินทางมายังเมืองมุมไบ ประเทศอินเดียเพื่อมาหาแรงบันดาลใจในการเขียนงานชิ้นใหม่ โดย เมย์ ได้เติบโตขึ้นมาท่ามกลางสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่าง และด้วยความแตกต่างนี้ได้หล่อหลอมให้หล่อนกลายเป็นคนเปิดกว้างในการเรียนรู้วิถีชีวิตรวมถึงผู้คนที่มีสถานะทางสังคมที่แตกต่างกันไป ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของตัวละครตัวนี้ แถมตัวละครของเมย์ มิลเลอร์ก็ไม่ใช่ผู้หญิงอ่อนแอ เพราะเธอเป็นคนเข้มแข็งและเด็ดเดี่ยวมาก เธอคิดเสมอว่าเธอสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาใคร (สังเกตได้จากการเดินทางมาอินเดียคนเดียว) แต่สุดท้ายเมื่อเมย์ได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง มันกลับทำให้เธอกลายเป็นคนที่นึกถึงคนอื่นมากขึ้น พร้อมกับเรียนรู้ที่จะเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับในเวลาเดียวกัน…


 

มัรยัม, ดอกเตอร์ซาฮิบ กรุงคาบูล อัฟกานิสถาน



 
หลังจากที่ เมย์ มิลเลอร์ ได้ใช้ชีวิตตามปกติสุขที่อินเดีย มีอยู่วันหนึ่งที่จู่ๆ ก็ได้เกิดเหตุการณ์ระเบิดกลางกรุงขึ้นมา ส่งผลทำให้ดวงวิญญาณของเมย์ มิลเลอร์ได้เข้าไปอยู่ในร่างของเด็กสาวนามว่า มัรยัม ซึ่งเป็นคนสติไม่ดี แถมมัรยัมยังทำให้หล่อนได้รู้จักกับดอกเตอร์ซาฮิบ นายจ้างของเธอที่ค้นพบความผิดปกติบางอย่างในตัวของสาวใช้ แต่ที่น่าตกใจไปมากกว่านั้นก็คือ เธอได้เดินทางข้ามเวลามาในปี 1975 ซึ่งเป็นเวลาก่อนหน้ากว่า 36 ปี! แถมที่แห่งนี้ก็ไม่ใช่มุมไบ แต่เป็นกรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน!

 

ประโยคหนึ่งที่เมย์ มิลเลอร์ หรือมัรยัมเคยพูดไว้กับดอกเตอร์ซาฮิบ
 
ดอกเตอร์ซาฮิบ หรือ ราฮิม จาฮานี คุณหมอหนุ่มผู้เคร่งขรึมเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่สำคัญ และพร้อมจะทำให้เราตกหลุมรักเขาได้ทุกเมื่อ ซึ่งต้องบอกเลยว่าราฮิมเป็นตัวละครที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวในประเทศอัฟกานิสถานให้พวกเราได้เข้าใจและรู้จักในทุกแง่มุม แถมด้วยนิสัยของ ความรักชาติมากกว่าชีวิต ของเขานับว่าเป็นสิ่งที่โดดเด่นมากสำหรับตัวละครตัวนี้ และเมื่อใดที่เมย์ พยายามเตือนถึงอันตรายที่กำลังจะเกิดในอนาคตให้เขาได้รับรู้ เขากลับไม่เชื่อ เพราะภาพที่เขาเห็นกับสิ่งที่เมย์พยายามที่จะบอกมันกลับสวนทางกัน แต่ไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วตัวละครของเมย์ มิลเลอร์คนนี้จะมาทำให้หน้าประวัติศาสตร์มีอันแปรเปลี่ยนไปหรือไม่ ต้องมาลุ้นกัน!


 

“นี่สินะ เรื่องราวที่ไม่เคยถูกบันทึกในประวัติศาสตร์เล่มไหน”


นวนิยายเรื่อง “ใต้ฝุ่น” เล่มนี้จะพาให้คนอ่านอย่างเราได้เห็นอะไรต่อมิอะไรในมุมมองของคนอัฟกานิสถานให้มากขึ้น ราวกับว่าผู้เขียนได้พาเราเข้าไปอยู่ในสถานการณ์จริงด้วยตัวเอง เหมือนเป็นการเปิดโลกทัศน์แห่งการเรียนรู้ใหม่ๆ อีกทั้งยังได้เห็นความแตกต่างในเรื่องสังคมของประเทศอัฟกานิสถานสมัยก่อนกับปัจจุบันทั้งในเรื่องอิสระ และการแสดงออก เพราะสมัยก่อนไม่มีการแบ่งแยกเพศหรือชนชั้น คนในสังคมทุกคนล้วนเท่าเทียมกัน อีกทั้งเรายังได้รู้อีกว่า ชาวอัฟกันนั้นผูกพันกับการร้องรำทำเพลง และถือว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยไปด้วยวัฒนธรรม จากตัวอย่างบางตอนของเรื่องที่พี่นัทตี้ได้นำมาให้น้องๆ ได้อ่านกันคร่าวๆ ดังนี้...

 

จากตอนหนึ่งที่ดอกเตอร์ซาฮิบพูดกับมัรยัม
 


 


ใต้ฝุ่น คือความงามแห่งความจริงในอีกรูปแบบของนวนิยาย
ที่จะบอกกับเราว่า แม้ไม่อาจเปลี่ยนความจริงของสงคราม
แต่เราก็สามารถมีชีวิตอยู่ท่ามกลางฝุ่นละอองแห่งความสูญเสียนั้นได้
เพียงเพราะชีวิตยังมีสิ่งที่เรียกว่า
“ความรัก” ที่ถูกถมทับ
อยู่ใต้ฝุ่นละอองของซากสงครามนั้น

                                                                                  แพรวสำนักพิมพ์

 
อ่านมาถึงตรงนี้ พี่นัทตี้เชื่อว่าน้องๆ ทุกคนคงจะได้รู้จักกับนิยายเรื่องนี้กันไปบ้างแล้ว แถมพี่นัทตี้ยังจะบอกอีกว่า พี่ไม่อยากให้น้องๆ ทุกคนพลาดหนังสือเล่มนี้โดยเด็ดขาด เพราะตั้งแต่กระดาษแผ่นแรกไปจนถึงแผ่นสุดท้าย เนื้อหาและเรื่องราวในแต่ละแผ่นล้วนมีค่า และสร้างความประทับใจให้กับคนอ่านอย่างเราได้ตลอด ไม่มีเนื้อหาตอนไหนที่น่าเบื่อ มีแต่จะยิ่งทวีคูณความสนุก ความตื่นเต้น และความลุ้นระทึกให้เราได้สัมผัส รวมถึงเรื่องราวของความรักและความเสียสละอันยิ่งใหญ่ของเหล่าตัวละคร ถ้าน้องๆ อยากสัมผัสกับนวนิยายที่เป็นมากกว่าความรักและการสูญเสียพี่นัทตี้ขอแนะนำให้ทุกคนไปอ่าน “ใต้ฝุ่น” เล่มนี้เลยจ้า...

 

"เราจะพบกันหลังสงครามยุติ  เมื่อใด...  สงครามสิ้นสุดเมื่อเราพบกัน"


 
และพี่ก็หวังว่าบทความวิจารณ์หนังสือในวันนี้จะไม่ทำให้ทุกคนผิดหวัง และอิ่มเอมไปกับเรื่องราวอันมีค่าผ่านปลายปากกาของ โกลาบ จัน ถ้าใครสนใจก็สามารถไปหาซื้อหนังสือนิยายเล่มนี้มาอ่านกันได้ หรือใครที่อ่านแล้วสามารถมาพูดคุยแสดงความคิดเห็นให้อ่านกันได้นะจ๊ะ สำหรับวันนี้พี่นัทตี้ต้องขอตัวลาไปก่อน เอาไว้พบกันใหม่ในโอกาสหน้า สวัสดีจ้า 
 
พี่นัทตี้ :)

 
พี่นัทตี้
พี่นัทตี้ - Columnist บุคคลผู้เสพติดการดูหนังแนวสยองขวัญ ที่มีความฝันอยากจะเป็นนักเขียน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น