​วิจารณ์หนังสือ : เรื่องเล่าของสาวรับใช้ อ่านแล้วสงสัยเรื่องสิทธิเสรีภาพและความหมายของเพศหญิง

 

วิจารณ์หนังสือ เรื่องเล่าของสาวรับใช้ :
 อ่านแล้วสงสัยเรื่องสิทธิเสรีภาพของตัวเอง  

 
สวัสดีค่ะชาวนักอ่านนักเขียนเด็กดีทุกคน แอดมินไม่แน่ใจว่า มีใครเคยอ่านหรือดูซีรี่ส์เรื่อง แฮนด์เมดส์ เทล หรือชื่อไทยว่า เรื่องเล่าของสาวรับใช้ มาก่อนไหมคะ แอดมินได้เห็นตัวหนังสือก่อน และสะดุดตาเพราะหน้าปกสวยดี แอดมินชอบสีตัดกัน ขาว แดง และดำที่อยู่บนปก ก็เลยซื้อมาลองอ่าน สารภาพว่าตอนแรกๆ อ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ เพราะเนื้อหาค่อนข้างหนักและอ่านยาก แต่พออ่านไปจนกลางเรื่อง ก็เริ่มเข้าใจความรู้สึกของตัวละครมากขึ้นและอินไปกับ “ฉัน” ในเรื่องด้วย (นิยายเรื่องนี้เล่าโดยใช้มุมมองบุรุษที่ 1 ค่ะ โดยเราจะมองเห็นเหตุการณ์และเรื่องราวต่างๆ ผ่านสายตาของนางเอก ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มสาวรับใช้) 
 
ความจริงแล้ว แอดมินได้ยินชื่อของมาร์กาเร็ต แอทวู้ดมานานแล้ว แต่เพิ่งจะเคยอ่านหนังสือของนักเขียนคนนี้เป็นเรื่องแรก เมื่ออ่านจบก็เกิดความประทับใจ และทำให้อยากจะอ่านผลงานเรื่องอื่นๆ ต่อ เพราะคิดว่า ถ้าเขียนอะไรแนวนี้ได้ เรื่องอื่นๆ ก็น่าจะมีทัศนคติคล้ายๆ กัน บางทีเวลาเราอ่านหนังสือ การได้อ่านทัศนคติของนักเขียน ก็ทำให้เราเกิดความประทับใจในตัวคนคนนั้น และอยากทำความรู้จักให้มากขึ้น เห็นด้วยไหม...? 
 
หน้าปกเรื่องเล่าของสาวรับใช้
 
ปกเรื่องเล่าของสาวรับใช้
 
หนังสือเรื่องนี้เขียนจากความทรงจำในอดีตของนักเขียน 
หลังจากไปค้นหาข้อมูลหนังสือเพิ่มเติม แอดมินก็พบว่า มาร์กาเร็ต แอทวู้ด เขียนหนังสือเรื่องนี้ในปี ค.ศ. 1984 โดยเธอบอกว่า ตอนเขียน จะใช้วิธีเขียนลงในกระดาษก่อน จากนั้นค่อยพิมพ์ลงกระดาษด้วยคีย์บอร์ดที่เช่ามา ระยะนั้น เธออาศัยอยู่ในเบอร์ลินตะวันตก ประเทศเยอรมัน เป็นช่วงเวลาที่กำแพงเบอร์ลินยังคงอยู่ (กำแพงเบอร์ลินถูกทุบในปี ค.ศ. 1989) และจักรวรรดิโซเวียตก็กำลังเรืองอำนาจ การได้สัมผัสบรรยากาศของสงครามเช่นนี้ ทำให้มาร์กาเร็ต แอทวู้ด ได้ซึมซับเรื่องราวต่างๆ จนเกิดไอเดียเขียนเป็นหนังสือขึ้นมา ซึ่งผลงานเรื่องนั้นก็คือ เรื่องเล่าของสาวรับใช้นี่เอง
 
ตัวนักเขียนเองเกิดในปี ค.ศ. 1939 อันเป็นช่วงเวลาของสงครามโลกครั้งที่สองและมีการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง เธอบอกว่าความรู้สึกของการอยู่ท่ามกลางสงครามก็ยังคงอยู่ในใจเรื่อยมา ช่วงแรกๆ ของชีวิตนักเขียน เธอไม่กล้าจะเขียนอะไรพาดพิงถึงเรื่องการเมืองหรือสงคราม แต่เลี่ยงไปเขียนแนววิทยาศาสตร์แทน จนกระทั่งถึงวันหนึ่ง เธอก็พบว่า การเขียนความจริงในใจเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แม้ว่าประสบการณ์ที่เคยพบเจอนั้นจะไม่แตกต่างจากฝันร้าย แต่เธอก็คิดว่า... มันมีเรื่องราวในแบบของมัน
 
สิ่งแรกที่มาร์กาเร็ต แอทวู้ดนึกถึงเลยคือ สาธารณรัฐกิเลียด เธอเขียนถึงมันโดยมีพื้นฐานจากการแพ่กระจายของกลุ่มพิวริทัน ซึ่งเป็นลัทธิทางศาสนาในช่วงศตวรรษที่ 17 แอทวู้ดเชื่อว่า กลุ่มพิวริทัน เป็นรากฐานโครงสร้างหลักของสังคมอเมริกันในปัจจุบัน เพียงแต่คนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่ค่อยจะยอมรับเท่าใดนัก ทำเลที่ตั้งในเรื่องนั้น มาจากเคมบริดจ์ แมสซาชูเซตต์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสถานที่ที่ถูกใช้ประหารคนที่คิดต่างในเรื่องนั้น แอทวู้ดบอกว่า ไม่ใช่ที่ไหนอื่น แต่เป็นกำแพงของมหาวิทยาลัยนี่แหละ!
 
ฉากท่ามีเพศสัมพันธ์ในซีรี่ส์ที่ขาดความรักและอารมณ์ แค่เพื่อให้มีบุตรสืบสกุล
 
การตั้งครรภ์เกิดขึ้นแค่เพื่อสืบสกุล ไม่ใช่เกิดเพราะความรัก
 
หนังสือเรื่องนี้ ได้แรงบันดาลใจจากลัทธิพิวริทัน
ถ้าใครเคยอ่านหนังสือหรือดูซีรี่ส์ จะจำได้ว่า... ประชากรในสาธารณรัฐกิเลียด ต้องเผชิญกับภาวะสภาพแวดล้อมเป็นพิษ และทำให้ประชากรทั้งชายและหญิงจำนวนมากเป็นหมัน ไม่สามารถถือกำเนิดทารกได้ (งานวิจัยในปัจจุบัน เริ่มพบว่า... ชายชาวจีนกำลังเผชิญกับปัญหานี้อย่างหนัก) ท่ามกลางการปกครองแบบชนชั้น ที่เน้นเผด็จการ ทำให้ชนชั้นปกครองตัดสินใจที่จะกำหนดกฎขึ้นมาใหม่ นั่นคือ ผู้ที่มีสิทธิ์มีบุตรได้ ต้องเป็นผู้อยู่ในตำแหน่งชนชั้นสูง และผู้หญิงที่พิสูจน์แล้วว่าสามารถมีลูกได้ ก็จะถูกส่งไปตามบ้านเหล่านี้ ในฐานะของ “สาวรับใช้” เราจะได้อ่านเรื่องราวคล้ายคลึงกันจากพระคัมภีร์ไบเบิ้ล ที่กล่าวถึง ยาโคป ภรรยาสองคนของเขา ได้แก่ ราเชลและเลอาห์ และสาวรับใช้ทั้งสองคน ที่มีชื่อว่า บิลฮาห์และศิลปาห์ ก็เท่ากับว่า มีผู้ชายหนึ่งคน ผู้หญิงสี่คนและบุตรชายในครอบครองอีก 12 คน ซึ่งเกิดจากสาวรับใช้ด้วยและเกิดจากภรรยาตัวจริงด้วย แต่แน่นอนว่าสาวรับใช้ไม่มีสิทธิ์ในตัวบุตร บุตรย่อมตกเป็นของภรรยาออกหน้า หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ภรรยาที่ร่ำรวยและมีสถานะทางสังคมสูงส่ง นั่นเอง โดยแอทวู้ดบอกว่า เรื่องราวในไบเบิ้ลนี่แหละ เป็นแรงบันดาลใจทำให้เธออยากเขียนเรื่องเล่าของสาวรับใช้ 
 
ตัวละครเอกในเรื่องนั้น มีชื่อว่า ออฟเฟร็ด โดยชื่อ คำว่า of มาจากความหมายว่า “เป็นของ” และ fred ก็คือชื่อนายผู้เป็นเจ้าของบ้าน หรือในความหมายก็คือ ผู้ที่เกิดมาเสียสละเพื่อเฟร็ด ตลอดทั้งเรื่อง เราจะไม่ได้รู้จักชื่อเสียงเรียงนามของนางเอกเลย... แอทวู้ดบอกว่า เธอโดนนักอ่านมากมายเฝ้าสอบถามไม่หยุดหย่อนว่าทำไมไม่ใส่ชื่อล่ะ และเจ้าตัวก็ตอบกลับไปว่า มีคนมากมายในประวัติศาสตร์ที่ถูกปรับเปลี่ยนชื่อ หรือไม่ก็หายตัวไปเสียเฉยๆ หลายคนก็ตีความกันไป คิดว่าออฟเฟร็ดน่าจะชื่อนั้นชื่อนี้ แอทวู้ดบอกว่า เรื่องนี้เธอเปิดกว้างเอาไว้ แล้วแต่คนอ่านจะตีความ บางคนก็คิดว่า ออฟเฟร็ดน่าจะมีชื่อว่า “จูน” เพราะในเรื่องจะมีตัวละครชื่อจูนที่หายตัวไป ซึ่งแอทวู้ดไม่ออกความเห็นหรือตอบโต้แต่อย่างใด สำหรับแอดมินแล้วมองว่า การที่นักเขียนเปิดประเด็นให้นักอ่านได้คิดเองนั้น กลายเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้หนังสือเล่มนี้กลายเป็นที่พูดถึง เพราะส่วนใหญ่เวลาเราอ่านหนังสือ นักเขียนมักจะสรุปคำตอบให้เราอย่างชัดเจน ไม่ได้เปิดโอกาสให้เราได้ลองคิดในแบบของเราเลย เมื่อแอทวู้ดทำเช่นนี้ ก็เลยทำให้คนอ่านเกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมและได้ใช้จินตนาการของตัวเองด้วยค่ะ 
 
เรื่องเล่าของสาวรับใช้ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากกว่า 40 ภาษา ในปี ค.ศ. 1990 ก็ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ เคยเป็นละครโอเปร่า บัลเล่ต์ นวนิยายภาพ และในปี ค.ศ. 2017 ที่ผ่านมา ก็ถูกนำไปสร้างเป็นซีรี่ส์ และได้รับความนิยมอย่างสูง ภาพโปสเตอร์สาวใช้ชุดแดง สวมหมวกสีขาว เป็นที่ติดตาคนดูอย่างเราเป็นอย่างดี ฉากที่ถูกกล่าวถึงมากๆ น่าจะไม่พ้นฉากที่บรรดาสาวรับใช้ต้องมารวมตัวกัน และฉากที่น่าเจ็บปวดคือ การที่สาวรับใช้เริ่มโทษกันเอง ซัดทอดกันเอง เพื่อเอาตัวรอด คงเพราะอำนาจนั่นเองที่บีบคั้นให้คนเราต้องเจอช่วงเวลาลำบาก และในช่วงเวลาลำบากนั้น คนส่วนใหญ่ย่อมเลือกหาทางเอาตัวรอด นอกจากเรื่องของสาวใช้เริ่มโทษกันเองแล้ว ก็ยังรวมไปถึงฉากที่ผู้หญิงเลือกที่จะทำร้ายกันเองได้ลงคอ ทั้งที่เป็นเพศเดียวกัน หากใครเคยอ่านหนังสือ ก็จะจำได้กับบทของ “ป้า” ที่เป็นผู้มีศรัทธา และคอยสั่งสอนให้สาวรับใช้ทั้งหลายทำทุกอย่างเพื่อนายของตน แม้แต่การถูกข่มขืนเพื่อให้คลอดบุตรก็ตามแต่ (ในเรื่องนี้ เวลาเจ้านายมีความสัมพันธ์กับสาวรับใช้ จะต้องกระทำในวันไข่ตกเท่านั้น และต้องกระทำโดยห้ามมีอารมณ์ร่วม เพราะถือว่าเป็นสิ่งผิด ดังนั้นจึงไม่ต่างจากการข่มขืนเลย) ป้าบางคนก็เป็นซาดิสม์ ชอบทำร้ายสาวรับใช้ และมีความโหดร้ายอยู่ในตัวมาก จะว่าไปแล้ว พฤติกรรมของผู้หญิงเหล่านี้ ทำให้เราอดนึกถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันไม่ได้ เพราะมันมีให้เห็นอยู่รอบตัวเรานี่แหละ  
 
ถ้าต้องสวมเสื้อแบบเดิมทุกวัน ชีวิตจะเป็นอย่างไร
 
ปกเรียบๆ แต่ทรงพลัง
 
หนังสือเรื่องนี้ทำให้เราสงสัยเรื่องสิทธิเสรีภาพและความหมายของเพศหญิง 
คำถามสำคัญที่ได้จากการอ่านอีกเรื่องก็คือ เรื่องเล่าของสาวรับใช้นั้น เป็นหนังสือที่พูดถึงเรื่องเฟมินิสต์ใช่หรือไม่ เพราะเมื่อได้ลองอ่านแล้ว เราก็จะพบว่ามันพูดถึงผู้หญิงหลากหลายวัย หลากหลายพฤติกรรม และนั่นแหละคือพล็อตหลักของเรื่อง การที่ผู้หญิงเลือกที่จะกดขี่ข่มเหงกันเอง ทำร้ายกันเอง จริงอยู่ที่ว่า สาวรับใช้ทำหน้าที่รับใช้สามีของหญิงชั้นสูง แต่เมื่อพูดดูผลในตอนท้าย ผลผลิตสำคัญคือทารก ก็กลายเป็นของหญิงชั้นสูงเหล่านั้นใช่หรือไม่ ความอยากได้ลูกทำให้หญิงชั้นสูงเลือกที่จะใช้ “ร่าง” ของสาวรับใช้เป็น “พื้นที่” ในการใช้ผลิตทายาทของสามี จากนั้นก็ชิงเอาเด็กมาเป็นของตัวเอง
 
จึงเกิดคำถามว่า... ความจริงแล้ว ผู้หญิงควรต้องกลายมาเป็นเครื่องมือใช่หรือไม่ ทุกคนควรมีสิทธิ์กำหนดชะตาชีวิตของตัวเองได้หรือไม่ ในยุคปัจจุบัน มันเหมือนเรากำลังพยายามทำแบบนั้น แต่ในความเป็นจริงล่ะ มันเป็นแบบนั้นหรือเปล่า และการที่หญิงชั้นสูงไม่สามารถมีลูกได้นั้น ทำไมมันกลายเป็นความผิดอันใหญ่หลวง จนกระทั่งต้องไปหาสาวรับใช้มาทดแทนสิ่งเหล่านี้ การไม่มีลูกเลย... จะทำให้ผู้หญิงหมดคุณค่าหรือไม่ การที่สาธารณรัฐกิเลียตเข้ามากำหนดการตั้งครรภ์ของสาวรับใช้ทั้งหลายนี้ เป็นการริดลอนสิทธิมากมายแค่ไหน ในเรื่องนั้น สาวรับใช้ส่วนใหญ่จะมีลูกแล้ว และถูกพรากเอาเด็กไปเป็นของรัฐ จากนั้นพวกเธอก็ต้องทำหน้าที่เป็น “อู่” ในการผลิตเด็กของชนชั้นสูง และเมื่อคลอดบุตร เด็กก็กลายเป็นของคนอื่นอยู่ดี ไม่ใช่ของพวกเธออีกนั่นแหละ 
 
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ เรื่องของสีเสื้อผ้า พวกภรรยาชนชั้นสูงจะสวมเสื้อผ้าสีฟ้าอันแสดงถึงความบริสุทธ์ (มาจากเสื้อผ้าของพระแม่มารี) ส่วนสาวรับใช้จะสวมเสื้อผ้าสีแดง เป็นตัวแทนของเลือดประจำเดือน (และตัวแทนของแมรี่ แมกเดอลีนด้วย) แต่สาวรับใช้ต้องก้มหน้า ซ่อนใบหน้าอยู่ใต้หมวกขาว ไม่ให้ใครเห็น และต้องแต่งกายเหมือนกันหมด ไม่ให้มีความแตกต่าง อันนี้ก็จะแสดงให้เห็นถึงแนวคิดเผด็จการ ที่ไม่อยากให้ใครแต่งกายแตกต่าง และใช้เสื้อผ้าเป็นตัวกำหนดสถานะสังคมของกลุ่มคนแต่ละคน เช่น เครื่องแบบของชาวนาจีน หรือ เครื่องแบบของชาวเยอรมัน เป็นต้น ข้อสังเกตดังกล่าว ทำให้เราสัมผัสได้ว่า หนังสือเล่มนี้ น่าจะวิเคราะห์วิจารณ์การปกครองของรัฐเผด็จการอยู่พอสมควร มันแสดงให้เราเห็นว่าถ้าคนเราไม่มีโอกาสได้เป็นอิสระ ไม่มีโอกาสได้เป็นตัวของตัวเอง ชีวิตถูกบีบอยู่ในกรอบตลอดเวลา พวกเขาจะต้องเผชิญกับอะไร ทั้งนี้ไม่รวมฉากประหารบนกำแพง ที่ทำให้เราได้รู้ว่า... ถ้าคนเราคิดแตกต่างจากผู้มีอำนาจ สิ่งที่จะได้พบก็คือ ความตาย
 
สุดท้ายการอ่านเรื่องเล่าของสาวรับใช้ ก็ทำให้เราเกิดคำถามอยู่ลึกๆ ว่า แท้จริงแล้ว โลกของเราเคยเดินพ้นผ่านจากจุดที่อยู่ในเรื่องหรือไม่ ชีวิตที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เรามีอิสระอย่างจริงจังใช่ไหม หรือแท้จริงแล้ว เราก็ตกเป็นทาสของอะไรบางอย่างอยู่นั่นเอง การอ่านหนังสือเรื่องนี้ ทำให้เราอดคิดถึงแนวคิดของมาร์กซ์ ไม่ได้ มาร์กซ์บอกว่า สังคมแบ่งเป็นสองชนชั้นเสมอ คือชนชั้นสูงกับชนชั้นล่าง และแน่นอนว่าชนชั้นล่างก็จะโดนกดขี่อยู่ร่ำไป จนกระทั่งทนไม่ไหว ก็จะลุกฮือขึ้นมาสักที มันทำให้เราสงสัยว่า... จะมีสักวันไหม ที่มนุษย์จะอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข โดยไม่ต้องมีใครเป็นผู้ปกครอง และไม่ต้องมีใครเป็นผู้ถูกปกครอง...? 
 
จะมีสักวันไหมที่โลกเราจะก้าวไปสู่จุดนั้น... จุดที่ทุกคนเป็นมิตรต่อกัน ดีต่อกันและไม่ต้องควบคุมกันและกัน? เป็นคำถามสำคัญที่แอดมินได้จากการอ่านหนังสือเรื่องนี้จบค่ะ
 
ทีมงานนักเขียนเด็กดี
 
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก 
https://www.nytimes.com/2017/03/10/books/review/margaret-atwood-handmaids-tale-age-of-trump.html 
https://www.newyorker.com/culture/cultural-comment/yes-the-handmaids-tale-is-feminist 
https://electricliterature.com/the-epilogue-of-the-handmaids-tale-changes-everything-you-thought-you-knew-about-the-book-82c67bc42888
https://en.wikipedia.org/wiki/The_Handmaid%27s_Tale 
https://www.theguardian.com/books/2012/jan/20/handmaids-tale-margaret-atwood 
https://th.wikipedia.org/wiki/ยาโคบ
 
ทีมงาน writer

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด