อกหักเหรอ? รักษาได้ง่ายๆ ด้วยการเขียนนิยาย!

อกหักเหรอ? รักษาได้ง่ายๆ ด้วยการเขียนนิยาย!

 

สวัสดีค่ะชาวนักเขียนเด็กดีทุกคน เวลาอกหักรู้สึกยังไงกันบ้างคะ แรกๆ อาจจะเหมือนมีอะไรมาตีหัว ยังมึนอยู่หน่อยๆ จากนั้นเมื่อได้สติเราก็จะเริ่มรู้สึกเศร้า เหงา เจ็บปวด ยิ่งถ้าเลิกกับแฟนนะยิ่งรู้สึกเหมือนกับว่าส่วนหนึ่งในชีวิตหายไป คิดว่าหลายคนคงเคยผ่านจุดนี้กันมาบ้างแหละ ถือว่าเป็นรสชาติหนึ่งในชีวิต อย่างไรก็ตาม น้องๆ เคยรู้มั้ยคะว่าการเลิกราไม่ได้ทำให้เราเจ็บปวดเท่านั้น แต่มันยังทำลายสุขภาพของเราได้ด้วย! น่ากลัวเป็นบ้า

งานวิจัยกล่าวว่า อาการอกหักไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาทางจิตวิทยาเช่นความเหงา ความทุกข์ หรือแม้แต่การขาดความพึงพอใจในชีวิตเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปถึงปัญหาสุขภาพของเราด้วย เช่น การเลิกกันมีแนวโน้มที่จะทำให้เราไม่สบาย มีโอกาสเป็นโรคหัวใจ หรือแม้กระทั่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิต!

มีคนบอกว่าเมื่อเวลาผ่านไปเราจะรู้สึกดีขึ้นเอง แต่เราก็คงไม่อยากให้ตัวเองเจ็บปวดนานๆ ใช่มั้ยล่ะ แล้วเราจะมีหนทางในการพาตัวออกจากความมืดมิดนี้มั้ย? นอกจากการฮีลตัวเองด้วยการบำบัด ออกกำลังกาย กินอาหารดีๆ และพักผ่อนแล้ว มีอะไรอีกบ้างนะที่จะช่วยซ่อมแซมหัวใจที่บอบบางของเราได้นี้? ในฐานะนักเขียน ขอบอกเลยว่ามันมีค่ะ เพราะงานวิจัยชิ้นใหม่กล่าวว่า “หัวใจของเราจะได้รับการฟื้นฟูอย่างรวดเร็วเมื่อเราเขียนถึงความสัมพันธ์ที่ร้างราไป!” เพราะงั้นวิธีที่เวิร์คที่สุดในการรักษาอาการเฮิร์ทที่หัวใจคือการเขียนมันออกมาในรูปแบบเรื่องเล่าและนิยายไงล่ะ!




(via: pixabay) 

 

ปลดปล่อยความรู้สึกด้วยการเขียน

เมื่อไม่นานมานี้ ทีมวิจัยจากภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยแอริโซนามองว่า “การเล่าเรื่องบรรยาย” มีผลต่ออัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการผันแปรของการเต้นของหัวใจ HRV และความดันโลหิตของคนที่เพิ่งเลิกรากับแฟนหรือคู่รัก จนทำให้เกิดงานวิจัยที่มีชื่อว่า Expressive Writing Can Impede Emotional Recovery Following Marital Separation และตีพิมพ์ลงในวารสาร Clinical Psychological Science

แต่ก่อนอื่นอยากให้เข้าใจว่า “การเขียนระบายอารมณ์ (Expressive writing)” เป็นหนึ่งในวิธีบำบัดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้ว โดยคนที่เข้ารับการบำบัดจะต้องเขียนถึง “ความคิดและความรู้สึกที่ลึกที่สุด” เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เจ็บปวดในชีวิต ซึ่งแนวคิดหลักที่ซ่อนอยู่ภายใต้การบำบัดคือการบรรเทาอารมณ์ โดยมันจะช่วยให้คนสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ รวมทั้งยังสามารถช่วยให้เราเข้าใจถึง "ความรู้สึก" ของสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นการเขียนระบายอารมณ์ยังช่วยพัฒนาสุขภาพทางกายอีกด้วย มันทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราแข็งแรงขึ้น ช่วยลดความดันโลหิตและลดอัตราการเต้นของหัวใจของเรา
 


ผู้คนกำลังเขียนข้อความรำลึกถึงผู้โดยสารและลูกเรือที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 9/11 Flight 93
(via: getty)

 

แต่เมื่อมันเป็นเรื่องของ “การอกหัก” การเขียนแบบไหนล่ะที่จะช่วยเรา? งานวิจัยบางชิ้นบอกว่าการเขียนไม่ใช่วิธีฉลาด ไม่มีการเขียนแบบไหนที่ช่วยเราได้ มีแต่จะทำให้สิ่งต่างๆ แย่ลงเรื่อยๆ เพราะการคร่ำครวญร่ำไห้ถึงอดีตและสิ่งที่ผิดพลาดมากเกินไปจะทำให้เรารู้สึกลำบากใจมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นใหม่ของไคล์ บอร์รัซซาและทีมจากมหาวิทยาลัยแอริโซนาอย่าง Expressive Writing Can Impede Emotional Recovery Following Marital Separation ได้เพิ่มคีย์เวิร์ดสำคัญลงไป นั่นคือ “การเล่าเรื่อง” เขากล่าวว่าแค่จดบันทึกความคิดและความรู้สึกของเราที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจเช่น การเลิกกัน การถูกเท อาจไม่ค่อยช่วยอะไรมากนัก แต่ถ้าเขียนมันออกมาในรูปแบบเรื่องเล่าหรือนิยายแล้วล่ะก็ มันจะช่วยรักษาบาดแผลในจิตใจได้มากขึ้นค่ะ

 

การเขียนที่แตกต่างมีผลต่อหัวใจเราได้ยังไง?

ไคล์ บอร์รัซซาและทีมนักวิจัยได้ยืมตัวคนที่เพิ่งถูกหักอกหรือเพิ่งเลิกกับแฟนสดๆ ร้อนๆ จำนวน 109 คนมาแยกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกให้เขียนระบายอารมณ์แบบปกติ อีกกลุ่มให้เขียนระบายอารมณ์ด้วยวิธีการเล่าเรื่อง และกลุ่มสุดท้ายให้เขียนอย่างเป็นกลางโดยไม่ใส่ความรู้สึกใดๆ ลงไป โดยผู้เข้าร่วมการทดลองจะต้องใช้เวลาเขียนมัน 20 นาทีต่อวัน เป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน

ในส่วนของรูปแบบการทดลองนั้น กลุ่มที่ได้รับภารกิจให้เขียนระบายอารมณ์แบบปกติจะต้องเขียนถึงความรู้สึกที่ลึกอยู่ข้างในหลังจากการเลิกราเป็นเวลา 20 นาที ส่วนกลุ่มที่เขียนระบายอารมณ์ด้วยวิธีการเล่าเรื่องเองก็ต้องเขียนถึงความรู้สึกที่ลึกอยู่ข้างในหลังจากเลิกราเช่นกัน แต่แค่เขียนมันออกมาเป็นเรื่องเล่าคล้ายๆ นิยาย โดยในวันที่ พวกเขาต้องเล่าเรื่องราวในวันที่สิ้นสุดความสัมพันธ์ ในวันที่ 2 พวกเขาต้องเขียนถึงประสบการณ์การเลิกรา และในวันที่ 3 พวกเขาต้องเขียนถึงจุดจบของการเลิกรา
 


ความเจ็บปวดที่เกิดจากการเลิกราอาจทำให้เรารู้สึกท่วมท้นและส่งผลเสียต่อสุขภาพของเรา
แต่การเขียนถึงมันอาจสามารถช่วยได้

(via : Lichtenstein Hopeless โดย Jennifer M)

 

ทั้งนี้เพื่อให้ผลการทดลองออกมาสมบูรณ์ที่สุด คนกลุ่มที่ 2 จะต้องเข้าใจว่านี่เป็นการเขียนเกี่ยวกับประสบการณ์การเลิกราในรูปแบบของการเล่าเรื่อง (ส่วนมากมักเขียนออกมาในรูปแบบนวนิยาย) ไม่ใช่การเขียนระบายอารมณ์แบบที่เขียนไปเรื่อยๆ ไม่มีจุดประสงค์ ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงได้รับข้อความแนวทางประกอบการเขียน ได้แก่ข้อความที่ว่า “ลองนึกถึงวันที่คุณและคนรักของคุณเจอกัน" และ "เมื่อไหร่ที่คุณตระหนักว่าคุณและแฟนของคุณกำลังเดินทางไปสู่การเลิกรา? ช่วงเวลานั้นเป็นยังไง?”

ขณะที่กลุ่มสุดท้ายถูกขอร้องให้เขียน “อย่างต่อเนื่องและปราศจากอารมณ์” เป็นเวลา 20 นาที โดยเขียนเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาทำก่อนและหลังจากเลิกรา

ในช่วงเวลา 7 เดือนครึ่ง อาสาสมัครได้รับการตรวจร่างกาย 3 ครั้ง นักวิจัยวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ความผันแปรของอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตของพวกเขา มาดูกันเถอะว่าอาสาสมัครสามกลุ่มนี้เป็นยังไงบ้าง

 

ถ้ามันเจ็บนัก ก็ใส่มันลงไปในเรื่อง!

ปรากฏว่าการเล่าเรื่องสร้างความมหัศจรรย์ให้แก่สุขภาพของเรา ผลการศึกษาพบว่าอาสาสมัครกลุ่มที่ 2 มีอัตราการเต้นหัวใจต่ำกว่ากลุ่มที่ 3 ที่เขียนแบบปราศจากอารมณ์

นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมในกลุ่มการเขียนด้วยการเล่าเรื่องบรรยายมีการเปลี่ยนแปลงในจังหวะการเต้นของหัวใจสูงขึ้น (Heart Rate Variability หรือ HRV หรือความแปรปรวนของอัตราการเต้นของหัวใจ) โดย HRV เป็นตัววัดสมรรถภาพของร่างกายในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและความเครียด ซึ่งถ้ามีความแปรปรวนสูงแปลว่าเรามีสุขภาพดี เช่นเดียวกับอัตราการเต้นของหัวใจต่ำค่ะ

ในทางตรงกันข้าม อาสาสมัครที่เขียนระบายอารมณ์เฉยๆ มีอัตราการเต้นหัวใจ ความดันโลหิตและความแปรปรวนของอัตราการเต้นของหัวใจเหมือนกับกลุ่มที่ 3

 

เหตุใดการเล่าเรื่องจึงช่วยฟื้นฟูหัวใจ?

เชื่อว่าพออ่านมาถึงบรรทัดนี้ น้องๆ คงเกิดคำถามแล้วแหละว่าทำไมแค่เล่าเรื่องหรือเขียนนิยายถึงช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจของเราให้ดีขึ้นได้ ซึ่งงานนี้บอร์รัซซา หัวหน้าทีมวิจัยได้อธิบายไว้ว่า “การเขียนเล่าเรื่องไม่ได้เป็นแค่การเขียนขึ้นเพื่อทบทวนประสบการณ์หรือทบทวนความรู้สึกเท่านั้น แต่มันยังช่วยให้พวกเขาเข้าใจสิ่งต่างๆ มากขึ้นและทำให้ร่างกายสามารถเรียนรู้ในการปรับตัว”

“อย่างไรก็ตาม การเขียนเล่าเรื่องอาจเป็นอุปสรรคสำหรับคนที่กำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้” เขากล่าว “แต่มันสามารถช่วยให้ผู้คนเข้าใจในประสบการณ์ของพวกเขามากขึ้น มันสามารถช่วยให้พวกเขาก้าวไปข้างหน้ามากกว่าติดอยู่ในลูปอารมณ์ลบซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 


(via: pixabay)
 

แน่นอนว่าการเยียวยาหัวใจด้วยการเขียนเล่าเรื่องอาจทำให้เรารู้สึกเจ็บปวดเพราะต้องนึกถึงประสบการณ์แย่ๆ นั้น แต่เชื่อเถอะว่าการเขียนมันออกมาเป็นเรื่องราวจะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขียนมันให้กลายเป็นนิยายหนึ่งเรื่อง มีตัวละคร มีการดำเนินเรื่อง มีความรู้สึก

ทีนี้เมื่อเราใส่ทั้งประสบการณ์ ความคิดและความรู้สึกทั้งหมดออกมาผ่านทางตัวละครและการบรรยายของเราแล้ว น้องๆ จะต้องแปลกใจมากที่มันทำให้เรารู้สึกดีขึ้น มันจะช่วยให้เราเข้าใจอารมณ์ของตัวเอง และไม่แน่นะ เผลอๆ มันอาจจะช่วยให้น้องเข้าใจความรู้สึกและการกระทำของอีกฝ่ายว่าเหตุใดเขาถึงทำแบบนี้กับเราด้วย อย่าลืมว่าทุกคนมีเหตุผลเป็นของตัวเองค่ะ

แล้วก็...ไม่แน่นะคะ เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงของเราอาจทำให้เรากลายเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ โด่งดังเป็นพลุแตกเลยก็ได้นะ ^ ^

 

 พี่น้ำผึ้ง :)



 

ขอบคุณข้อมูลจาก

Sbarra, D., Boals, A., Mason, A., Larson, G. and Mehl, M. (2013). Expressive Writing Can Impede Emotional Recovery Following Marital Separation. Clinical Psychological Science, 1(2), pp.120-134.


https://www.tandfonline.com/doi/abs/10.1080/17439760.2012.671346

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/26168197

https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/24618083

https://uanews.arizona.edu/story/narrative-journaling-may-help-hearts-health-postdivorce



 

Deep Sound แสดงความรู้สึก

   

พี่น้ำผึ้ง
พี่น้ำผึ้ง - Columnist นักเขียนที่ชอบส่งต่อพลังบวกให้ทุกคน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ฝนตกในคืนที่พระจันทร์สว่าง Member 25 พ.ค. 61 10:14 น. 1

การเขียนนิยายเปิดโอกาสให้เรามอง"ปัญหา"ในรูปแบบ"บุคคลที่สาม" พอเราใคร่ครวญถึงปัญหาในแบบบุคคลภายนอกด้วยสติก็ทำให้เรารู้วิธีแก้ไขให้ปัญหานั้นหายไปได้โดยง่ายกว่าในมุมที่เราคิดว่าเป็นปัญหาของเราเอง จิตวิทยาจ้า

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด