Nice Guys Finish Last: ไขข้อข้องใจ​ ทำไมพระรองแสนดีถึงนกตลอด?

Nice Guys Finish Last: ไขข้อข้องใจ
ทำไม
พระรองแสนดีถึงนกตลอด?

สวัสดีค่ะน้องๆ ชาวนักเขียนทุกคน เคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “พระรอง” ต่อให้แสนดีแค่ไหนก็เป็นได้แค่ “เพื่อน” มั้ยคะ? ฟังแล้วเจ็บแทนเนอะ ถ้าเราลองสังเกตดูดีๆ จะเห็นว่านิยายส่วนใหญ่ในโลกเนี่ย (พี่น้ำผึ้งตีให้เลย 99%) พระรองแสนดีที่คอยช่วยเหลือนางเอกต่างพากัน “นก” ทั้งนั้น นกจนกลายเป็นพญานกแล้วจ้า ต่อให้นักเขียนทำให้นักอ่านตกหลุมรักพระรองขนาดไหน ยังไง๊ ยังไงในตอนท้ายของเรื่อง...พวกเขาก็เป็นได้แค่เพื่อนเท่านั้น น่าเศร้าจริงๆ

เคยสงสัยกันมั้ยคะ ทั้งที่เหล่าพระรองทั้งหลายก็ทำทุกอย่างเพื่อคนอื่น ทำในสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าควรทำเพื่อคนที่เขารัก ไม่ว่าจะเป็นการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนในด้านต่างๆ แต่ทำไมเมื่อเวลาผ่านไป นางเอกกลับมองข้ามและไม่สนใจในความดีที่คุณพระรองอุตส่าห์ทำ ในท้ายที่สุดพระรองแสนดีก็ไม่ได้รับความรักตอบแทน เอ๊ะ… หรือนี่จะเป็นสูตรสำเร็จของการเขียนนิยายรัก? 

ในฐานะที่พี่น้ำผึ้งเป็นทั้งนักเขียนและนักอ่าน ด้วยความสงสัย “ทำไม๊ ทำไมคนดีๆ ต้องนกตลอดด้วยนะ” พี่จึงได้พยายามค้นหาคำตอบที่ว่านี้ ทั้งอ่านงานวิจัย ทั้งอ่านหนังสือนิยาย จนในที่สุดพี่ก็ได้ข้อสรุปมาอย่างชัดเจนว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้พระรองแสนดีนกค่ะ น้องๆ คนไหนที่สงสัยเหมือนกับพี่ เรามาหาคำตอบด้วยกันดีกว่า!

 

พระรองแสนดีไม่ใช่สูตรสำเร็จของนิยาย แต่คือ…

น้องๆ รู้มั้ยคะว่านิยายก็เปรียบเสมือนโลกใบหนึ่ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่นักเขียนส่วนใหญ่อยากให้โลกใบนี้ของเราสมจริงเหมือนกับชีวิตจริง ดังนั้นถ้าให้พี่น้ำผึ้งพูดถึง “พระรอง” ในแบบที่พี่เข้าใจ พี่น้ำผึ้งมองว่าจริงๆ แล้ว “พระรองแสนดี” ก็คือ “ผู้ชายดีๆ” ที่นกในชีวิตจริงนั่นเอง! 

นักเขียน (อย่างพี่) ชอบสร้างคาแร็กเตอร์ด้วยการหยิบเพื่อนแสนดีที่แอบชอบเราแต่เราไม่ได้รู้สึกมากกว่านั้น หรือหยิบเพื่อนในชีวิตจริงที่ดี๊ดีแต่ไม่เคยสมหวังในความรักสักครั้งมาเป็นพระรองในเรื่อง (ชีวิตน่าสงสารเหลือเกิน ชีวิตจริงนกแล้ว ในนิยายยังนกอีก ต้องทำบุญด้วยอะไรเนี่ย) ขณะที่พระเอกของเราก็มักจะเป็นคนที่เราแอบชอบ น้องๆ เป็นเหมือนกันหรือเปล่าคะ?

แล้วถ้าให้สังเกตนะ พระเอกที่เราเจอในนิยายส่วนมากมักจะเย็นชา แบดบอยหน่อยๆ ส่วนเพื่อนพระเอกนี่แสนดีเวอร์ นางเอกก็จะประมาณ คนดีๆ ไม่ชอบหรอก ชอบคนแบดๆ (ฮา) ลงล็อคเลยค่ะ ตรงตามชีวิตจริงเป๊ะเลย รู้นะว่าเป็นเหมือนกัน

พูดง่ายๆ ก็คือ เรามักเขียนอะไรที่คล้ายๆ กับชีวิตจริงนั่นแหละ ในเมื่อรอบกายเรามีผู้ชายแสนดี (ที่นก) ในนิยายของเราก็ต้องมีเหมือนกัน มันถึงจะเพอร์เฟคท์! นั่นจึงเป็นเหตุให้ว่าทำไมนิยายของเราถึงมีพระรองแสนดีที่นก 

 


คาเมล่ากับชอว์น
ต่อให้ชอว์นแสนดีแค่ไหนก็เป็นได้แค่เพื่อนของเธอเท่านั้น
(ขอบคุณรูปภาพ: Billboard)

 

Nice Guy : ผู้ชายแสนดีคืออะไร? 

ก่อนอื่นเรามานิยามคำว่า “แสนดี (Nice)” กันดีกว่า จากงานวิจัย Dating preferences of university women: An analysis of the nice guy stereotype ของ Herold & Milhausen ที่ตีพิมพ์ในปี 1999 กล่าวว่า โดยทั่วไปบุคคลที่ “แสนดี” จะถูกกำหนดให้เป็นคนที่มีความเมตตา ช่างเอาใจใส่ เต็มไปด้วยความอบอุ่นและเคารพอีกฝ่าย แต่พอมันเป็นเรื่องของความรักและความสนใจในแง่โรแมนติก ไอ้ที่นิยามมาข้างต้นเนี่ย ปัดตกไปได้เลย เพราะทุกอย่างตาลปัตรจ้า บุคคลแสนดีกลับต้องเป็นคนกล้าหาญ แข็งแรงหรือเซ็กซี่ ไม่ใช่คนน่าเบื่อ อ่อนแอ เดาได้ ขาดประสบการณ์และไม่น่าดึงดูดอีกต่อไป!

ถ้า “แสนดี” หมายถึงความอ่อนแอและน่าเบื่อจริงๆ ล่ะก็ แปลว่าบรรดาผู้ชายแสนดีทั้งหลายก็ไม่น่าสนใจล่ะสิ? แต่จากคำจำกัดความแบบคลาสสิกของคำว่า “แสนดี” ความเมตตา ความรู้สึกอ่อนไหวต่ออารมณ์และความห่วงใยต่อคนอื่นๆ ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งนะ

อย่างไรก็ตามคำว่า “แสนดี” ถูกนิยามให้ชัดเจนขึ้นเมื่อนักวิจัย Urbaniak & Kilmann และทีมได้หยิบโปรไฟล์ของคนประเภท "Nice Todd (คนแสนดี)," "Neutral Todd (คนกลางๆ)," และ "Jerky Todd (แบดบอย)" มาทำการทดลองด้วยการให้ผู้หญิงเลือกเดตกับบุคคลเหล่านี้ในงานวิจัยเรื่อง Physical attractiveness and the “nice guy paradox”: Do nice guys really finish last? 

จากผลการทดลองพบว่าผู้หญิงเลือกเดตกับหนุ่ม “Nice Todd” มากที่สุด ตามมาด้วยหนุ่มประเภท Neutral Todd และหนุ่มแบดบอยทั้งหลายกลับเป็นคนประเภทที่สาวๆ ร้องยี้ นักวิจัยกล่าวว่า ผู้ชายประเภท Nice Todd ถูกมองว่าเป็นคู่แต่งงานที่ดี เป็นแฟนที่มั่นคง และเป็นเพื่อนที่แสนดี ถ้าผู้หญิงต้องการเลือกใครสักคนมาเป็นคู่ชีวิต ก็ต้องเป็นหนุ่มแสนดีนี่แหละ 

ดังนั้นจากงานวิจัยทั้ง 2 ชิ้น เราเลยสามารถนิยามคำว่า "หนุ่มแสนดี" แบบสรุปได้ว่า ผู้หญิงมักคิดว่าหนุ่มแสนดีเป็นคนฉลาด แต่ขาดความมั่นใจ (Urbaniak & Kilmann, 2003) ทำนองเดียวกัน หนุ่มเเสนดีเป็นหนุ่มที่มีเสน่ห์น้อยกว่า แต่เป็นคนที่ให้ความสนใจในความสัมพันธ์ระยะยาว (Herold & Milhausen, 1999)

 

ทำไมพระรองแสนดีถึงนกตลอด?

ในฐานะที่พี่น้ำผึ้งเป็นนักอ่านด้วย ก็จะขอเล่าความรู้สึกของตัวเองเวลาที่เห็นนางเอกเลือกหนุ่มแบดบอยที่ชอบทำให้เธอเสียใจ ทั้งที่คนข้างๆ เธออย่างพระรองเนี่ยดี๊ดีสักหน่อย จริงๆ สงสารพระรองมากเลยนะ หน้าตาก็ดี นิสัยก็ดี แต่ดันไม่ใช่ผู้ถูกเลือกซะอย่างนั้น แถมยังแอบหงุดหงิดนางเอกนิดๆ ที่แบบ...คนดีๆ ทำไมไม่เลือกหรอ (กรณีที่หน้าตาพระเอกและพระรองดีพอๆ กัน) ทำไมต้องเลือกคนที่ทำให้เราเสียใจด้วย (ฮา) นี่เธอโง่ใช่มั้ยยัยนางเอก ฟีลประมาณนี้เลย

แต่พอมานั่งคิดดูดีๆ นางเอกไม่ได้โง่หรอก มันน่าจะมีเหตุผลซ่อนอยู่นั่นแหละ (ไม่ใช่เหตุผลที่นักเขียนกำหนดให้พระเอกต้องคู่กับนางเอกนะ) อย่างที่กล่าวไปตอนต้นค่ะ นิยายก็เหมือนกับชีวิตจริง ดังนั้นหลักการบางอย่างในชีวิตจริงก็สามารถนำมาประยุกต์ได้ในนิยายของเราได้ พี่น้ำผึ้งจึงเริ่มหาเหตุผลมารองรับและในที่สุดก็พบสาเหตุหลักๆ 3 ข้อที่ทำให้ “ผู้ชายดีๆ” หรือในที่นี้คือพระรองแสนดีนกตลอด
 

เพราะพระรองไม่เปิดโอกาสให้นางเอกทุ่มเทบ้าง

รู้มั้ย เมื่อเราทำสิ่งดีๆ ให้กับใคร มันหมายความว่าเราเริ่ม “ลงทุน” ให้กับความสัมพันธ์นั้นแล้ว การลงทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเวลา ความพยายามและเงินมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงเมื่อเวลาผ่านไป การลงทุนเหล่านั้นทำให้เรารู้สึกว่าวันเวลาที่ได้ใช้ร่วมกับคนที่เรารักนั้นคุ้มค่า ทำให้เรารู้ว่าเรารักเขามากแค่ไหน แล้วเราก็มุ่งมั่นในความสัมพันธ์ครั้งนี้นะ นี่แหละที่เรียกว่าหลักการของ “sunk costs” การทำให้คนอื่นพึงพอใจและปฏิบัติต่อพวกเขาเป็นอย่างดีทำให้เรารักและให้คุณค่าพวกเขา

อย่างไรก็ตาม อีกฝ่านดันไม่ได้รู้สึกเหมือนที่เรารู้สึกน่ะสิ เพราะผู้ที่ได้รับสิ่งดีๆ ไม่จำเป็นต้องรู้สึกรัก “ผู้ให้” เสมอไปค่ะ เขาอาจรู้สึกไม่โอเคหรือไม่รู้สึกอะไรเลยก็ได้ ความรักน่ะซื้อไม่ได้หรอกนะ จำไว้ หากยังไม่เห็นภาพ พี่น้ำผึ้งจะพูดให้ฟังง่ายๆ ก็คือ พระรองทำทุกอย่างเพื่อนางเอกเพราะเขาชอบเธอ! แต่ใช่ว่านางเอก (ที่ได้รับทุกสิ่งทุกอย่างที่ต้องการ) จะตกหลุมรักเขาสักหน่อย ถูกมั้ย? พระรองต่างหากที่รู้สึกรักเธอ ขณะที่นางเอกอาจจะไม่รู้สึกอะไรเลยก็ได้ เห็นภาพชัดเนอะ?

ทีนี้ทางฝ่ายพระรองเนี่ยก็จะเป็นผู้ที่ “ทำ” เพื่อนางเอกฝ่ายเดียว เขาเอาแต่รอเธอ ทำแต่สิ่งดีๆ ให้ ซื้อของขวัญ พาไปเลี้ยงขนม ไปรับไปส่ง ฯลฯ ด้วยเหตุนี้แหละเลยทำให้พวกเขามีความรัก (sunk costs) ต่อคนที่เขาสนใจ (ในที่นี้คือนางเอก) แต่นางเอกของเราไม่ได้ทุ่มเทอะไรเท่าเขาเลย เธอไม่ได้ให้สิ่งใด ดังนั้นนางเอกไม่ได้อินเลิฟหรือมุ่งมั่นที่จะสานสัมพันธ์กับพระรองให้เป็นมากกว่าเพื่อนเลย

เมื่อเทียบกับพระเอกแบดบอดหรือคนที่นางเอกสนใจ พวกเขาไม่ได้ทำอะไรนางเอกหรอก พวกเขาก็แค่อยู่นิ่งๆ แล้วรอให้นางเอกเข้าหา เอาใจ และทำให้พวกเขาสบายใจ นางเอกของเราก็ทำสิ ทุ่มเทให้กับเขา นั่นเป็นเพราะนางเอกรู้สึกรักและอยากผูกมัดกับพระเอกไง 

จากที่พี่สังเกตในนิยายนะ พระเอกส่วนใหญ่ไม่ได้แสนดีหรอกค่ะ เขาไม่ได้ “ทำทุกอย่าง” เพื่อนางเอก ดังนั้นฉะนั้นสาเหตุที่ทำให้พระรองนกเป็นเพราะเขาทุ่มเทอยู่ฝ่ายเดียว ซึ่งถ้าน้องๆ คนไหนอยากให้พระรองเลื่อนขั้นเป็นพระเอก (ในเรื่องหน้า) จงทำยังไงก็ได้ให้นางเอกทุ่มเทให้กับความสัมพันธ์นี้บ้าง อย่าลืมนะ เมื่อเหล่าเธอๆ ทำเพื่อพระรอง มันหมายถึง เธอเองก็ตกหลุมรักเขาเช่นกัน แต่ถ้าเธอปฏิเสธ นั่นหมายถึง...เธออาจจะไม่มีวันรักเขาเลย!

 


นี่ก็ชอบนกเช่นกัน
(ขอบคุณรูปภาพ: Moonlight Drawn by Clouds)

 

เพราะพระรองให้รางวัลคนที่มีพฤติกรรมไม่ดี

คนเราเรียนรู้จากผลของพฤติกรรมของตน กล่าวคือ เมื่อคนทำพฤติกรรมอย่างใดอย่างนึงแล้วได้รับรางวัล พวกเขาก็มักจะทำสิ่งเดียวกันซ้ำอีกครั้ง ในทางตรงข้าม ถ้าพฤติกรรมนั้นทำให้เขาถูกลงโทษ พวกเขาก็จะอายและเลิกทำมันในอนาคต แค่นี้แหละ ง่ายๆ

พระรองของเรา ขึ้นชื่อว่าแสนดี๊แสนดี เขาดูแลนางเอกดีมาก ยิ่งกว่านางฟ้าตัวน้อยๆ ตลอดเวลา แม้แต่ตอนที่เธอไม่สมควรได้รับการปฏิบัติดีๆ จากเขา ไม่ว่านางเอกจะเมินเฉย ผลักไสไล่ส่ง หรือแสดงพฤติกรรมแย่ๆ ใส่ พระรองก็ตั้งหน้าตั้งตาทำแต่สิ่งดีๆ ให้เธอ

ชาวพระรองมัก “คิด” ว่า เดี๋ยววันหนึ่งเธอก็คงเห็นคุณค่าในตัวเขาเองแหละ อุตส่าห์ทำดีขนาดนี้เเล้ว เดี๋ยววันหนึ่งพวกเขาก็คงหยุดพฤติกรรมเหล่านั้นเอง แต่ความจริงแล้วผิดมหันต์ เหล่านางเอกไม่มีทางเปลี่ยนพฤติกรรมหรอก เพราะไม่ว่าเธอจะแสดงพฤติกรรมสุดงอแงขนาดไหน ชาวพระรองก็ยังคงดีกับเธอเรื่อยมา นั่นเเปลว่า ไม่ว่าเธอจะดีหรือแย่ เขาก็จะยังคงดีกับเธอเสมอ

ยกตัวอย่างเช่น พระรองไม่สบายใจที่นางเอกกลับไปคืนดีกับพระเอกแบดบอยที่เคยนอกใจเธอ แต่พระรองก็ไม่ต่อว่าอะไร แถมยังทำอาหารเย็นให้กินเป็นการปลอบใจ นั่นหมายถึงพระรองเพิ่งจะให้รางวัลกับนางเอกไปและสนับสนุนให้เกิดพฤติกรรมนี้ต่อไป หรือถ้าพระรองพาเธอออกไปในคืนที่เธอหงุดหงิดไม่พอใจและจู้จี้ มั่นใจได้เลยว่าเธอจะทำมันอีกครั้ง เพราะทำแล้วพระรองก็ไม่ว่า ยังคงตั้งหน้าตั้งตาทำดีกับเธอต่อไป ถูกมั้ยล่ะ?

เพราะงั้นในนิยายเรื่องถัดไป หากเราอยากให้พระรองเลื่อนขั้นเป็นพระเอก หัดลงโทษนางเอกเวลาที่เธอทำผิดบ้าง อย่าเอาแต่แสนดีเลย...เดี๋ยวจะนกโดยไม่รู้ตัวนะ

 

เพราะพระรองทำตัวว่างเพื่อนางเอกเกินไป

จากที่พี่สังเกตนะ พบว่าในนิยายหลายๆ เรื่อง มีหนึ่งการกระทำของพระรองที่ชอบทำเหมือนกัน นั่นคือ “ทำตัวว่างเพื่อนางเอก” ต่อให้ตัวเองจะยุ่งขนาดไหน แค่นางเอกโทรหากริ๊งเดียวก็ว่างเพื่อเธอแล้วจ้า! พวกเขาทำเพราะคิดว่านี่เป็นสิ่งที่สามารถทำให้นางเอกตกหลุมรักเขาได้ แต่จะบอกให้เลยนะว่าผิดมหันต์

จริงๆ แล้วเราทุกคนล้วนมีตัวช่วยในการตัดสินใจ หนึ่งในนั้นคือ “Rule of scarcity” หรือกฎของการขาดแคลน โดยทั่วไปเราเชื่อว่าสิ่งที่เราขาดหรือสิ่งที่เราต้องทุ่มเทอย่างหนักเพื่อให้ได้มาเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ส่วนอะไรที่ได้มาง่ายๆ หรือมีอยู่แล้วมักเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าสำหรับเรา แม้ว่านี่จะไม่ใช่ความจริงเสมอไป แต่ก็เป็นความจริงมากพอที่จะยืนยันได้ว่ามันถูกนำไปใช้กับทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่เว้นแม้แต่คน

ใช่ค่ะน้องๆ โชคไม่ดีเท่าไหร่นักที่บรรดาพระรองแสนดี เหล่า Nice guys ทั้งหลายมีทุกอย่างจริงๆ ยกเว้นสิ่งที่ทำให้นางเอกรู้สึกคาดเดาได้ว่าพวกเขาพร้อมจะว่างเพื่อเธอเสมอ พระรองกระตือรือร้นที่จะเอาใจนางเอก พอใจที่จะทิ้งชีวิตของพวกเขาแล้ววิ่งเข้าหาเธอตลอดเวลา พวกเขาพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้เธอมีความสุข เมื่ออ่านใจของชาวพระรองจะพบว่าลึกๆ แล้วพวกเขาก็หวังว่าการกระทำแสนดีของตนจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกซาบซึ้ง พวกเขาเชื่อว่าการทำตัวว่างจะทำให้เธอตกหลุมรักเขา แต่แล้วไง? สุดท้ายก็ถูกมองข้ามและนกตามเดิม แถมนี่ยังเป็นพฤติกรรมที่ทำให้พวกเขาดูไม่มีคุณค่าในสายตาบรรดานางเอกด้วย!

ตัดภาพไปยังบรรดาพระเอกแบดบอยทั้งหลายที่ชอบ “เล่นตัว” พวกเขาไม่เคยว่างเลย นัดเดตกันอยู่ดีๆ ก็แคนเซิลเฉย พวกเขาปฏิบัติกับเธอในแบบที่เขาอยากจะทำ เอาแต่ใจตัวเองว่างั้น พวกเขาไม่ได้ทำอะไรนอกจากละเลยเธอ แต่นางเอกดันพบว่าพวกเขามีเสน่ห์ดึงดูดและน่าสนใจซะอย่างนั้น เล่นเอาพระรองงงเป็นไก่ตาแตก

เห็นความแตกต่างของพระเอกแบดบอยกับพระรองแสนดีหรือยังคะ? พระรองว่างตลอด ฉันพร้อมอยู่ข้างเธอนะ แต่แบดบอยจะทำตัวยุ่งๆ ซึ่งการทำตัวยุ่งหรืออยู่ๆ ก็แคนเซิลนัดนี่แหละเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขามีความมั่นใจและรู้สึกว่าตัวเองสำคัญ ทำให้นางเอกรู้สึกว่าคนๆ นี้มีคุณค่ามากนะ เราต้องทำยังไงก็ได้เพื่อได้เขามา

ดังนั้นถ้าอยากให้พระรองเป็นที่น่าสนใจสำหรับนางเอก พระรองแสนดีก็แค่ไม่จำเป็นต้องว่างเพื่อเธอตลอดเวลา หัดปฏิเสธบ้าง อย่าให้ทุกอย่างที่เธอร้องขอ แค่เล่นตัวสักนิด เธอก็จะพบว่าเขาน่าสนใจมากขึ้น

 


อเล็กซ์ หนุ่มแสนดีที่นกตลอดกับโรซี่ 
(ขอบคุณรูปภาพยนตร์: Love, Rosie)

 

แต่ความจริงแล้วบรรดา Nice guys ทั้งหลายก็ไม่นกนะ!

แม้พระรองแสนดีจะนก แต่ก็ใช่ว่าผู้ชายแสนดีทุกคนจะนกนะ เพราะยังมีนิยายหลายเรื่องที่พระเอกแสนดีได้คู่กับนางเอก (เราจะมองข้ามประเด็นที่ทั้งคู่ถูกจับวางให้ต้องคู่กัน) แต่กว่าจะถึงวันที่คู่กันก็เล่นเอานักอ่านเสียน้ำตาไปหลายหยด หรือลุ้นจนหนังสือแทบขาด

ยกตัวอย่างเช่นนิยายเรื่อง Love, Rosie ที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ สำหรับนิยายเรื่องนี้พระเอกอย่าง “อเล็กซ์” เป็นหนุ่มนักเรียนแพทย์แสนดี เพอร์เฟคท์แมน ทำทุกอย่างเพื่อเพื่อนสนิทอย่าง “โรซี่” จนไม่สามารถก้าวออกจากเฟรนด์โซนได้ ไม่ว่าจะทำดียังไง สุดท้ายสาวน้อยโรซี่ก็ดันไปเลือกแบดบอยอยู่ดี จะว่าไปอเล็กซ์ก็แสนดีตั้งแต่เด็กจนโรซี่มีลูก และขนาดเขาเดตกับสาวฮอตหรือตัดสินใจแต่งงานกับผู้หญิงคนใหม่ เขาก็ยังแสนดีกับเธออยู่ แต่ท้ายที่สุดหนุ่มแสนดีคนนี้ก็ได้แต่งงานกับโรซี่ในตอนจบ เล่นเอานักอ่านลุ้นไม่หาย 

พี่น้ำผึ้งจึงลองนั่งวิเคราะห์ดู ขอบอกได้คำเดียวว่า พฤติกรรมของอเล็กซ์ตรงกับ 3 ข้อที่กล่าวมาไม่มีผิด มันจึงเป็นเหตุให้ว่าทำไมหนุ่มแสนดีคนนี้จึงนกตลอด และในตอนท้ายของเรื่อง อเล็กซ์เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ hard to get มากขึ้น (ทั้งตั้งใจก็ดี ไม่ได้ตั้งใจก็ดี) โรซี่ก็เริ่มรู้สึกว่าการจะได้อเล็กซ์มาเป็นแฟนนั้นยากกว่าที่เธอคิด เขาเริ่มไม่ว่างเพื่อเธอ (แหงล่ะ ก็เขาไปอยู่กับภรรยาของเขาไง) เขาเริ่มตีตัวออกห่าง โรซี่เริ่มเข้าใจความรู้สึกตัวเองว่าเธอชอบเขา แล้ววันหนึ่งเธอก็ตัดสินใจ “พยายาม” และ “ทุ่มเท” อย่างหนักเพื่อให้ได้ “หัวใจของอเล็กซ์” กลับมาอีกครั้ง เห็นไหม บอกแล้วว่าคนแสนดีไม่จำเป็นต้องนกก็ได้นะ! น้องๆ ที่อยากเลื่อนขั้นให้พระรองต้องเริ่มจากการ "สอนพระรอง" ให้รู้จักเล่นตัวค่ะ

 

เป็นยังไงบ้างคะกับเรื่องราวนกๆ ของพระรองแสนดีที่พี่นำมาฝากในวันนี้ พี่น้ำผึ้งคิดว่าพระรองที่ทั้งน่ารัก ทั้งแสนดีก็คงเรียกเสียงกรี๊ดจากบรรดานักอ่านไม่น้อย แถมยังลุ้นอยากให้คู่กับนางเอก แต่ด้วยความที่นักเขียนวางคู่ตัวละครไว้แล้ว ดังนั้นต่อให้พระรองดีและหล่อให้ตายแค่ไหน สุดท้ายก็แพ้ทางพระเอกอยู่ดี นี่แหละจึงอาจเป็นที่มาของนิยายสมัยใหม่ที่เดี๋ยวนี้ถูกเขียนเป็นซีรี่ส์ภาคต่อ โดยในแต่ละเล่มก็บอกเล่าเรื่องราวของ "พระรองแสนดีทั้งหลาย" (โดยที่เขาเป็นพระเอกเอง) เพื่อให้บรรดาแฟนๆ แม่ยกได้อ่านกัน ซึ่งนับว่าเป็นอะไรที่ดีไม่น้อยที่นักเขียนให้ความสำคัญกับพระรอง อย่าลืมนะ...พวกเราทุกคนล้วนมีเรื่องราวเป็นของตัวเองค่ะ พระรองแสนดีของเราเองก็เช่นกัน 

 พี่น้ำผึ้ง :) 

ขอบคุณข้อมูลจาก

งานวิจัย Physical attractiveness and the “nice guy paradox”: Do nice guys really finish last?  
งานวิจัย 
Dating preferences of university women: An analysis of the nice guy stereotype

https://www.AttractionDoctor.com
https://www.thespicylife.com/

 


 

Deep Sound แสดงความรู้สึก

 

 

พี่น้ำผึ้ง
พี่น้ำผึ้ง - Columnist นักเขียนที่ชอบส่งต่อพลังบวกให้ทุกคน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

รันเซีย Member 28 ก.ย. 61 19:53 น. 1

อ่านบทความของพี่น้ำผึ้งแล้ว รู้สึกว่าแรงบันดาลใจพลุ่งพล่านเลยทีเดียว ฮี่ๆ ^^

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ นะคะ

#ถ้าเขียนไม่ออกจะแวะมาอีกค่ะ ^^

0
กำลังโหลด

3 ความคิดเห็น

รันเซีย Member 28 ก.ย. 61 19:53 น. 1

อ่านบทความของพี่น้ำผึ้งแล้ว รู้สึกว่าแรงบันดาลใจพลุ่งพล่านเลยทีเดียว ฮี่ๆ ^^

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ นะคะ

#ถ้าเขียนไม่ออกจะแวะมาอีกค่ะ ^^

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด