ไขความลับนักเขียน! 5 ข้อที่เราเรียนรู้ได้จากพล็อตนิยายจดหมายสื่อรัก!

 

ไขความลับนักเขียน! 
5 ข้อที่เราเรียนรู้ได้ จากพล็อตนิยายจดหมายสื่อรัก!


สวัสดีน้องๆ ชาวเด็กดีทุกคนค่ะ ก่อนอื่นเลยพี่แนนนี่เพนอยากถามก่อนว่าน้องๆ เคยเขียนจดหมายหาเพื่อนกันบ้างไหมเอ่ย ไม่ต้องรอคำตอบพี่แนนนี่เพนก็เดาได้เลยว่าส่วนใหญ่ (มากๆๆๆ) ต้องไม่เคยเขียนแน่นอน (ยุคนี้สงสัยเขียนกันแต่อีเมล) ที่ถามน้องๆ เรื่องการเขียนจดหมาย เพราะวันนี้พี่แนนนี่เพนอยากพาน้องๆ ไปรู้จักกับความคลาสสิกของจดหมายที่ทำเอารุ่นพ่อรุ่นแม่เราเป็นแฟนกันมานักต่อนักแล้ว (แต่ถ้าเป็นยุคนี้ นักเขียนเขาก็พัฒนาพล็อตเป็นอีเมลแทน!!)
 
น้องๆ คงสงสัยว่าวันนี้พี่แนนนี่เพนจะมาแนะนำเคล็ดลับอะไรกันแน่ ต้องบอกก่อนว่าช่วงนี้พี่แนนนี่เพนกำลังอินพล็อตนิยายจดหมายเอามากๆ มีหนังรักวัยรุ่นกระแสดีเรื่องหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ตอนนี้ คงไม่มีใครไม่รู้จัก  To All The Boys I've Loved Before หรือชื่อไทยว่า แด่ชายทุกคนที่ฉันเคยรัก หนังรักยอดนิยมเรื่องล่าสุดของเน็ตฟลิกส์ ที่ดัดแปลงมาจากนิยายขายดีของ The New York Times พล็อตเรื่องคร่าวๆ เน้นไปที่เรื่องความรักของเด็กวัยรุ่นทั่วไปก็จริง แต่สิ่งที่พี่แนนนี่เพนเห็นว่าน่าสนใจมากๆ ก็คือ เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นได้จาก "จดหมาย" นางเอกของเรื่อง "ลาร่า จีน ซอง คัฟวีย์" เป็นเด็กสาววัยรุ่นที่แอบรักหนุ่มๆ อยู่ข้างเดียว แต่ก็ไม่สมหวังเพราะหนุ่มๆ ทั้งหมดนั้น บางคนก็มีเจ้าของแล้ว หรือไม่เธอก็ไม่กล้าบอกความรู้สึกกับเขา ผลสุดท้าย เธอก็เลยเลือกที่จะเขียนจดหมายสารภาพรัก แล้วเก็บเอาไว้อ่านคนเดียว ทว่าวันดีคืนดี โลกพลิกกลับ เมื่อหนุ่มๆ ทั้งห้าที่เธอเขียนจดหมายถึง กลับเดินเข้ามาบอกเธอว่า "มันคงเป็นไปไม่ได้!" เอาแล้วสิ จดหมายไปถึงมือหนุ่มๆ ได้อย่างไรกันนะ!!! ใครกันขโมยจดหมายพวกนั้นไป 

สำหรับพี่แนนนี่เพนแล้ว การใช้เทคนิคเขียนจดหมายในการดำเนินเรื่อง เป็นอีกวิธีหนึ่งที่น่าสนใจ และสามารถนำมาใช้เป็นเทคนิคในการเขียนนิยายได้ดีทีเดียวค่ะ ตอนนี้จดหมายที่เขียนด้วยปากกาได้พัฒนามาเป็นจดหมายอิเล็คทรอนิคส์หรืออีเมลแล้ว ดังนั้นก็ถือได้ว่าอีเมลเป็นการเขียนจดหมายอีกรูปแบบหนึ่งนะคะ สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังในการใช้เทคนิคเขียนจดหมายนั้น เป็นการนำเสนอเรื่องราวผ่านมุมมองของบุคคลที่หนึ่ง จึงอาจทำให้มุมมองการเขียนแคบ ไม่กว้างเหมือนการเขียนมุมมองบุคคลที่สาม เพราะเราเขียนผ่านสายตาของตัวละครใดตัวละครหนึ่ง แต่ถ้าหากไม่ติดขัดอะไร เทคนิคนี้ก็เป็นทางเลือกที่ทำให้นิยายของเราแตกต่างจากนิยายของคนอื่นได้อยู่นะคะ 
 


 

พล็อตนิยายจดหมายสื่อรักคืออะไร 

เชื่อว่าน้องๆ อาจจะยังไม่แน่ใจว่าพล็อตจดหมายสื่อรักเป็นยังไง จะเขียนเล่าเรื่องออกมาแนวไหนได้บ้าง เรามาเริ่มกันที่หัวข้อ การเขียนนิยายในรูปแบบจดหมายกันก่อน นิยายส่วนใหญ่ที่เราเคยอ่านจะเล่าเรื่องในเชิงบรรยายให้เห็นเรื่องราวและการกระทำของตัวละครผ่านมุมมองของการเล่าเรื่องจากบุคคลที่ 1,2 หรือ 3 ส่วน นิยายที่มีการใช้จดหมายเป็นเครื่องมือในการเล่าเรื่องจะมีการบรรยายแทรกสลับกับการเล่าเรื่องผ่านจดหมาย มีรูปแบบการเล่าเรื่อง คือแบบมีตัวละครเขียนจดหมายคนเดียวถึงตัวละครอีกตัว, แบบตัวละครสองตัวเขียนโต้ตอบกัน และแบบมีตัวละครหลายตัวเขียนจดหมายถึงกันไปมา พอยุคสมัยเปลี่ยนไปเรื่องเล่าที่เขียนจดหมายด้วยปากกาได้เปลี่ยนไปเป็นจดหมายอิเล็คทรอนิคส์หรืออีเมล และมีการเล่าเรื่องผ่านการส่งข้อความออนไลน์เพิ่มเข้ามาอีก น้องๆ จะเห็นได้ว่านิยายจดหมายมีการปรับวิธีการสื่อสารออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่คือ เสน่ห์ของตัวละครในจดหมายที่แตกต่างจากพล็อตนิยายทั่วไป 
 

ต้นแบบนิยายพล็อตจดหมายสื่อรักที่น่าสนใจ 


นิยายพล็อตจดหมายสื่อรักมีอยู่มากมาย แต่ถ้าจะให้พี่แนนนี่เพนเลือกมาแนะนำน้องๆ นักเขียนเด็กดี ต้องเป็น 3 เรื่องนี้เท่านั้นค่ะ นักเขียนสร้างสรรค์ออกมาได้แปลกใหม่ แตกต่าง และน่าสนใจมากๆ เหมาะที่จะอ่านเพื่อศึกษาเทคนิคการเขียนจริงๆ จะเป็นเรื่องอะไรบ้างนั้น เลื่อนลงไปดูพร้อมๆ กันเลยค่ะ 
 

Love, Simon เป็นหนังที่ดัดแปลงมาจากนิยายเรื่อง Simon vs. the Homo Sapiens Agenda ของนักเขียน เบ็กกี้ อัลเบอร์ทัลลี (Becky Albertalli) ว่าด้วยเรื่องของไซมอน สเปียร์ เด็กหนุ่มมัธยมปลายที่ต้องปิดบังตัวตนเรื่องที่เขาเป็นเกย์เพื่อให้ชีวิตของเขาเป็นปกติสุขในสังคม ไซมอนใช้ชีวิตเหมือนเด็กในวัยเดียวกันแต่เขามีโลกออนไลน์ที่สามารถเปิดเผยตัวตนของเขาได้เพิ่มเข้ามา วันหนึ่งเด็กหนุ่มเจอผู้ใช้นามแฝงออนไลน์ว่า "บลู" เป็นเด็กโรงเรียนเดียวกันและเป็นเกย์เหมือนกันกับเขา เมื่อไซมอนได้ส่งอีเมลพูดคุยเรื่องราวต่างๆ กับบลู เขาตกหลุมรักอีกฝ่ายและเกิดเป็นเรื่องราวความรักขึ้น แต่แล้วตัวตนของไซม่อนก็ถูดเปิดเผยให้คนทั้งโรงเรียนได้รับรู้ เด็กหนุ่มยอมรับและเผชิญกับความจริง เขาปรับความเข้าใจกับคนรอบข้างและได้รับกำลังใจกลับมา ทำให้ไซมอนมีความสุขกับชีวิตและท้ายที่สุดเขาก็สมหวังในความรัก    
 
ลักษณะพล็อตจดหมายสื่อรักที่ปรากฏในเรื่อง : Love, Simon นำเสนอเรื่องราวต่างๆ ผ่านตัวละครสองตัวที่เขียนโต้ตอบกันผ่านอีเมลจนนำมาซึ่งการเปิดเผยความจริงและความรัก ในชีวิตจริง ไซมอนปิดบังความลับเรื่องที่เขาเป็นเกย์ ไม่ให้ใครรู้ แต่ในโลกออนไลน์ เขาส่งอีเมลพูดคุยกับเพื่อนเกย์วัยเดียวจนตกหลุมรักอีกฝ่าย ทว่าสุดท้าย ความรักก็ทำให้ไซมอนตัดสินใจเขียนอีเมลฉบับสุดท้ายถึงเพื่อนในโรงเรียน ยอมรับเรื่องที่เขาเป็นเกย์ รวมถึงสารภาพความในใจที่มีต่อ บลู เด็กหนุ่มที่เขาหลงรัก 

 

 
Love, Rosie เป็นหนังรักแนวโรแมนติก-คอมเมดี้-ดราม่าที่ดัดแปลงมาจากนิยายเรื่อง Where Rainbows End ของนักเขียนสาว เซซิเลีย อเฮิร์น (Cecelia Ahern) บอกเล่าเรื่องราวผ่านจดหมาย อีเมล และข้อความออนไลน์ ถึงความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลงไประหว่างสองตัวละครหลักคือ โรซี่ ดันน์ และ อเล็กซ์ สจ็วต ทั้งสองคนเป็นเพื่อนสนิทที่คบกันมากันตั้งแต่เด็ก แล้ววันหนึ่งพวกเขาก็ถูกแยกออกจากกันเมื่ออเล็กซ์และครอบครัวย้ายไปยังบอสตัน โรซี่และอเล็กซ์ติดต่อกันผ่านจดหมายและอีเมลเพื่อบอกเล่าความเป็นไปของแต่ละฝ่าย แม้อุปสรรคระหว่างทั้งคู่จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนไม่น่าจะสมหวัง แต่ท้ายที่สุดเรื่องราวความรักและมิตรภาพของทั้งคู่ก็ได้ดำเนินมาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อจดหมายสารภาพรักของอเล็กซ์ที่หายไปได้ถูกไปส่งถึงมือของโรซี่
 
ลักษณะพล็อตจดหมายสื่อรักที่ปรากฏในเรื่อง : Love, Rosie นำเสนอเรื่องราวต่างๆ ผ่านตัวละครสองตัวที่เขียนโต้ตอบกันผ่านจดหมาย อีเมล และข้อความออนไลน์ จดหมายและอีเมลที่โรซี่กับอเล็กซ์ส่งถึงกันได้สร้างความผูกพันทางไกลให้กับคนทั้งคู่ โรซี่กับอเล็กซ์อยู่ในความสัมพันที่คลุมเครือระหว่างมิตรภาพกับความรัก ท้ายที่สุดจดหมายสารภาพรักของอเล็กซ์ที่หายไปถูกส่งไปหาโรซี่ เนื้อหาในจดหมายเป็นจุดคลี่คลายปมของเรื่องว่าทั้งสองคนต่างแอบรักกัน 

 


 
To All The Boys I've Loved Before เป็นนิยายซีรีส์ขายดีของเจนนี่ ฮัน ที่เพิ่งจะถูกดัดแปลงไปเป็นหนังรักวัยรุ่นในชื่อเดียวกัน เนื้อเรื่องเล่าถึงเด็กสาววัยรุ่นที่ชื่อลาร่า จีน เธอเป็นเด็กมัธยมปลายที่ชอบเพ้อฝัน เวลาที่แอบชอบใครก็จะเขียนเก็บเป็นจดหมายเอาไว้ จนวันหนึ่งจดหมายที่เขียนได้ถูกส่งไปถึงเหล่าชายหนุ่มที่เธอเคยหลงรัก และหนึ่งในนั้นมีแฟนของพี่สาวรวมอยู่ด้วย ลาร่า จีนจึงทำข้อตกลงกับหนึ่งในเจ้าของจดหมายซึ่งก็คือปีเตอร์ หนุ่มนักกีฬาสุดฮ็อตประจำโรงเรียน เด็กสาวไม่ต้องการให้แฟนของพี่สาวรู้ว่าเธอเคยคิดอะไรกับเขา เรื่องราววุ่นวายจึงเกิดขึ้น และสุดท้ายลาร่าตัดสินใจเขียนจดหมายถึงคนที่เธอเลือก 
 
ลักษณะพล็อตจดหมายสื่อรักที่ปรากฏในเรื่อง : To All The Boys I've Loved Before นำเสนอเรื่องราวของตัวละครเพียงคนเดียวที่เขียนจดหมายถึงตัวละครอื่นๆ จนส่งผลให้เกิดเรื่องราวต่างๆ ตามมา จุดเริ่มต้นเกิดจากจดหมายรักของลาร่า จีน ที่เขียนถึงผู้ชายที่เธอแอบชอบ จดหมายที่เธอเขียนเก็บไว้ถูกส่งไปถึงผู้ชายทั้งห้าคน หนึ่งในนั้นมีแฟนของพี่สาวเธอด้วย ลาร่าจึงทำข้อตกลงกับหนึ่งในผู้ชายทั้งห้าให้ช่วยเหลือเป็นแฟนหลอกๆ ชีวิตของลาร่าต้องเผชิญกับความวุ่นวายจากจดหมายรัก และสุดท้ายเด็กสาวได้ตัดสินใจเขียนจดหมายถึงคนที่ทำให้เธอตกหลุมรักได้อีกครั้ง   
 
หากสังเกตให้ดี พล็อตนิยายทั้งสามเรื่องมีจดหมายและอีเมลเป็นสื่อกลางในการติดต่อหากัน เมื่อลองวิเคราะห์นิยายที่นำมาเป็นกรณีศึกษา พี่แนนนี่เพนพบความลับที่น่าสนใจซุกซ่อนอยู่ในนิยายพล็อตจดหมายอย่างแนบเนียน เรามาไขความลับที่ทำให้พล็อตนิยายจดหมายของพวกเขาได้รับความนิยมกัน!   
    

ความลับที่ซ่อนอยู่ในพล็อต “จดหมายสื่อรัก” 


1. ความลับของจดหมาย(สื่อรัก)
หากพูดถึงเสน่ห์ของนิยายพล็อตจดหมายคงเป็น ความรู้สึกที่เหมือนไม่มีผู้บรรยายอยู่เลยนี่แหละ ข้อดีของการเล่าเรื่องผ่านจดหมายคือทำให้ตัวละครเป็นตัวของตัวเอง และเป็นที่รู้จักมากขึ้น (ในมุมมองคนอ่าน) ทั้งยังทำให้เรื่องที่กำลังจะเล่าสามารถสื่อสารผ่านตัวละครและจดหมายโดยตรงได้เลย ไม่จำเป็นต้องอธิบายหรือบรรยายเพิ่มเติมอีก อย่างในเรื่อง Love, Rosie อเล็กซ์เขียนจดหมายสารภาพความในใจถึงโรซี่ มีใจความว่า เขาต้องการดูแลโรซี่กับลูกสาวของเธอ และไม่อยากเสียหญิงสาวไปอีกเป็นครั้งที่สาม ดังนั้นหากโรซี่คิดเหมือนกันกับเขา ขอเพียงโรซี่ติดต่อกลับมาเท่านั้น จะเห็นได้ว่าเนื้อความในจดหมายได้บอกเล่าถึงการจากลาของทั้งสองคน และชายหนุ่มต้องการเพียงโอกาสอีกสักครั้ง จากข้อความแสดงให้เห็นถึงบุคคลิกตัวละครว่าเป็นคนใจเย็น สามารถอดทนเฝ้ารอความรักจากหญิงสาวได้ นี่จึงเป็นการสร้างคาแรคเตอร์ให้ตัวละครโดยที่ตัวละครเป็นคนเล่าเรื่องด้วยตัวเอง ทำให้ผู้อ่านรู้จักตัวละครได้มากขึ้น และเห็นเส้นเรื่องของนิยายผ่านจดหมายที่เล่า  
 
2. ความลับของคนแอบรัก 
ความลับข้อนี้คงเป็นพล็อตนิยายที่ได้รับความนิยมตลอดกาล ไม่แปลกใจเลยหากในพล็อตจะประกอบไปด้วยจดหมาย อีเมล รูปถ่าย หรือไดอารี่ของคนที่แอบรัก ในนิยายทั้งสามเรื่องที่ยกมาเป็นกรณีศึกษา ความลับในข้อนี้ คือ ความจริงที่ซ่อนอยู่ในจดหมาย โดยจดหมายในเรื่องเปรียบเสมือนตัวแทนความรู้สึกที่พูดไม่ได้ของพวกเขา การเขียนบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ลงในจดหมาย เป็นการเปิดเผยความลับและตัวตนอย่างหนึ่ง นักเขียนสร้างตัวละครให้ใช้จดหมายติดต่อหากัน เพื่อแสดงให้เห็นโลกอีกใบหนึ่งที่ตัวละครพร้อมจะเล่าเรื่องราวต่างๆ มากมายให้คนๆ หนึ่งเท่านั้นได้รับรู้ การแอบรักของตัวละครทั้งสามเรื่องแตกต่างกันไปในแง่ของแรงจูงใจ คือ โรซี่และอเล็กซ์เขียนจดหมายหากันด้วยความห่วงใยที่แอบซ่อนอยู่ในฐานะเพื่อนสนิทคิดไม่ซื่อ ไซมอนเขียนอีเมลถึงบลูเพื่อพูดคุยและบอกเล่าชีวิตในอีกด้านที่คุยกับใครไม่ได้ และลาร่า จีนเธอเขียนจดหมายถึงคนที่เคยหลงรักเพื่อทดแทนความเป็นจริงที่เธอไม่มีความกล้าไปสารภาพรักด้วยตัวเอง จะเห็นได้ว่าจดหมายของตัวละครทุกตัวล้วนซ่อนความรู้สึกต่างๆ ไว้มากมาย หากน้องๆ อยากจะเขียนพล็อตนิยายแนวแอบรักสักเรื่องให้น่าติดตาม มาลองใช้พล็อตจดหมายสื่อรักกัน
 
3. ความลับในชีวิตประจำวัน
พล็อตนิยายที่เล่าเรื่องด้วยจดหมายมักถูกมองว่าอ่านไปนานๆ แล้วน่าเบื่อ ความลับที่ไม่น่าลับของข้อนี้ก็คือ ความสม่ำเสมอนั่นเอง การโต้ตอบของตัวละครผ่านจดหมาย เป็นการบอกเล่าเรื่องราวในชีวิตประจำวัน ทำให้เราได้เห็นความคืบหน้าของตัวละครในแต่ละตอน ในส่วนนี้สำคัญสำหรับมากๆ หากเราไม่ให้ตัวละครเล่าเรื่องของตัวเอง ตัวละครอื่นๆ จะไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ถ้าอยากจะเขียนนิยายโดยใช้พล็อตจดหมายสื่อรัก  ควรระวังเรื่อง ประเด็นที่แฝงมาพร้อมกับการเขียนจดหมาย ใน Love, Rosie จดหมายถูกใช้ลดความห่างไกลของตัวละคร ใน Love, Simon จดหมายถูกใช้เพื่อเปิดเผยตัวตนของไซมอน และใน To All The Boys I've Loved Before จดหมายถูกใช้เป็นความลับของลาร่า จีน ดังนั้น เคล็ดลับที่ควรนำไปใช้ในพล็อตจดหมาย คือ ต้องสร้างตัวตนให้จดหมายในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วการเขียนจดหมายจะไม่น่าเบื่ออีกต่อไป 
 
4. ความลับในจดหมายฉบับสุดท้าย  
พล็อตจดหมายสื่อรักจากนิยายชื่อดังทั้งสามเรื่องใช้วิธีซ่อนปมและคลายปมผ่าน “ความลับ” ที่ถูกซ่อนไว้ในจดหมาย ผู้เขียนนิยายใช้ จดหมายเป็นตัวละครลับที่เปิดเผยตัวตนของตัวละครให้เรารู้จักตั้งแต่แรกเริ่ม เรื่องราวที่ดูเหมือนธรรมดานี้ กลายเป็นคำตอบของปมปัญหาต่างๆ ได้ในตอนท้าย เมื่อถอดปริศนาแล้ว จะพบว่า สิ่งสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จทั้งหมดนี้ก็คือ "การวางพล็อต" ซึ่งเป็นพื้นฐานที่นักเขียนทุกคนควรต้องเรียนรู้และทำให้ได้ ถ้าน้องๆ สังเกตให้ดี จะพบว่า นิยายที่ประสบความสำเร็จ มักมีโครงเรื่องที่ชัดเจน มีเส้นเรื่องที่แข็งแรง มีการวางช่วงเวลาที่มั่นคง ไม่ผิดเพี้ยน หรือไม่สับสนกันเอง ถ้าหากนักเขียนคนไหนทำแบบนี้ได้ ก็สามารถสร้างปมปริศนาต่างๆ และคลายปมให้คนอ่านเข้าใจได้ไม่ยากค่ะ 
 
5. ความลับของยุคสมัย 
ตอนนี้เราอยู่ในยุคที่การสื่อสารรวดเร็วทันใจ มีสื่อสังคมออนไลน์ที่สามารถติดต่อกันได้ง่ายๆ เพียงแค่กดๆ จิ้มๆ ผ่านโทรศัพท์ หรือผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ ต่างจากอดีตที่ต้องอดทนรอคอยจดหมายกระดาษ กว่าจะมาถึง ก็รอกันไป ทำให้การดำเนินเรื่องอาจจะล่าช้าไปบ้าง สิ่งที่พี่แนนนี่อยากบอกทุกคนก็คือ การเล่าเรื่องให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เราอยู่นั่นเอง นักเขียนทุกคนควรเรียนรู้และสร้างพล็อตที่ทันสมัย เข้ากับช่วงเวลาที่ตัวเองมีชีวิตอยู่ นิยายสามเรื่องที่พี่แนนนี่เพนยกมา ล้วนแต่แสดงให้เราเห็นถึงสิ่งนี้ นักเขียนไม่ได้ให้ตัวละครเขียนจดหมายหากัน แต่เลือกวิธีสื่อสารผ่านอีเมลแทน เพราะถ้าเขียนเรื่องของจดหมาย คงยากที่จะทำให้คนอ่านอิน... ในเมื่อทุกคนต่างกดมือถือกันรัวๆ แทบไม่มีใครอีกแล้วที่จะส่งจดหมายหากัน... 

อย่างไรก็ตาม พี่แนนนี่เพนไม่ได้ถึงกับปิดโอกาสเรื่องเขียนจดหมายเสียทีเดียว เพียงเพราะมันไม่เข้ากับยุคสมัย ถ้าหากว่าน้องๆ คนไหนอยากให้ตัวละครใช้วิธีเขียนจดหมายถึงกัน ก็สามารถทำได้ค่ะ เพียงแต่เราอาจต้องหาเหตุผลสนับสนุน เพื่อให้พล็อตของเรามั่นคงและน่าเชื่อถือ เช่น อาจจะเขียนให้ตัวละครนั้นส่งจดหมายย้อนไปอดีต เหมือนอย่างที่นักเขียนญี่ปุ่นชื่อดัง ฮิงาชิโนะ เคโงะ ใช้ในนิยายแฟนตาซีของเขา เรื่อง ปาฎิหาริย์ร้านชำของคุณนามิยะ นั่นเอง (ลองไปหาอ่านกันได้ค่ะ ตัวละครในเรื่อง ได้รับจดหมายจากบุคคลในอดีต และได้สื่อสารกันผ่านกล่องนมที่อยู่หน้าร้านขายของชำ เนื้อเรื่องมีการเชื่อมโยงอดีตและปัจจุบันเข้าหากันได้อย่างน่าสนใจทีเดียว)   
 
เป็นยังไงกันบ้างคะ กับความลับทั้ง 5 ข้อที่อยู่เบื้องหลังพล็อตนิยายแนวจดหมายที่พี่แนนนี่เพนนำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ จะเห็นได้ว่าพล็อตนิยายจดหมายนั้นมีเสน่ห์มากเพราะ จดหมายหนึ่งฉบับแทนความลับต่างๆ ได้มากมาย ถ้าหากเราวางพล็อตให้ดีๆ ก็จะสามารถนำเสนอเรื่องราวหลายอย่างผ่านการเล่าเรื่องของตัวละครได้ค่ะ 

น้องๆ คนไหนอยากจะลองเขียนพล็อตจดหมายสื่อรักดูบ้าง พี่แนนนี่เพนแนะนำให้เริ่มจากการคิดว่า... เราจะส่งจดหมายถึงใคร และส่งไปทำไม ถือเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่สำคัญไม่น้อยค่ะ สำหรับพี่แนนนี่เพนเอง ชอบพล็อตจดหมายสื่อรักเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว เพราะเป็นสิ่งที่คลาสสิกที่สุดในการเล่าเรื่องท่ามกลางเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาอยู่ตอนนี้ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าพล็อตนิยายจะเป็นรูปแบบไหน ท้ายที่สุดก็อยู่ที่ ความตั้งใจของคนเขียนที่อยากเล่าเรื่องราวดีๆ ให้เราได้อ่านกัน ดังนั้นไม่ต้องกังวลไปนะคะว่าถ้าไม่ใช้พล็อตแบบนี้แล้ว นิยายจะไม่ดีพอ เขียนให้เต็มที่ก็พอแล้วค่ะ 

 

พี่แนนนี่เพน
 
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
Deep Sound แสดงความรู้สึก
พี่แนนนี่เพน
พี่แนนนี่เพน - Columnist สาวเหนือที่มีความสุขกับการเขียนนิยาย และเชื่อว่านิยายให้อะไรดีๆ กับสังคมเสมอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
กำลังโหลด

4 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
Sylvia1969 Member 22 เม.ย. 63 01:39 น. 3

เราว่าพล็อตแบบนี้มันทำให้นิยายดูน่าติดตามมากขึ้นนะ เหมือนเราได้ไปแอบอ่าน ไดอารี่หรือบันทึก หรือจดหมายของใครสักคน มันทำให้อยากรู้ไปเรื่อยๆว่าพวกเขาจะคุยหรือคิดอะไรกันอยู่นะ อย่างlove,rosieนี่เราชอบมาก เหมือนได้แอบอ่านเรื่องราวของใครสักคนผ่านจดหมาย อีเมล์ หรือข้อความแชท มันไม่น่าเบื่อเลย อ่านแล้วรู้สึกลื่นไหล แต่จะเขียนออกมาให้คนอ่านได้อินจริงๆได้นั้นเราว่าก็ปราบเซียนอยู่เหมือนกันนะ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด