วิทยาศาสตร์มีคำตอบ เหตุใดการอ่านนิยายช่วยให้เราเป็นคนที่มีคุณภาพมากขึ้น?


 

วิทยาศาสตร์มีคำตอบ
เหตุใดการอ่านนิยายช่วยให้เรา
เป็นคนที่มีคุณภาพมากขึ้น?

 

สวัสดีค่ะชาวเด็กดีทุกคน เชื่อว่าน้องๆ ชาวเด็กดีหลายคนรักการอ่าน โดยเฉพาะการอ่านนวนิยาย ว่างเป็นไม่ได้ ขอเปิดเว็บเด็กดีอ่านนิยายสักหน่อย ก็แหม... การอ่านนิยายดีต่อพวกเราในหลายๆ ด้าน มันช่วยให้เราผ่อนคลาย หลับง่าย ลดความเครียดผ่านเสียงหัวเราะหรือหยดน้ำตา ช่วยให้เราหนีออกจากความเป็นจริง รวมทั้งยังนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ที่แตกต่างจากเรา ซึ่งช่วยให้เรามองโลกนี้ได้กว้างขึ้น ในเมื่อการอ่านมันดีแบบนี้ ไม่ชอบก็แปลกแล้ว!

น้องๆ รู้มั้ย เมื่อเร็วๆ นี้ งานวิจัยวิทยาศาสตร์ได้ทำการสำรวจและพบว่า การอ่านนิยายช่วยให้เราเป็นคนที่มีคุณภาพ!! ทำให้จิตใจอ่อนโยนและเข้าอกเข้าใจเพื่อนมนุษย์มากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นผลปรากฎว่าคนที่อ่านนิยายเป็นประจำได้ประโยชน์จากการอ่านหนังสือ “คนเดียว” อย่างแท้จริง (จริงๆ ไม่จำเป็นต้องอ่านคนเดียว อ่านกับเพื่อนก็ได้) ด้วยค่ะ วันนี้พี่น้ำผึ้งเลยถือโอกาสนำข้อมูลดีๆ มาฝากน้องๆ ว่าทำไมการอ่านนิยายถึงมีประโยชน์ และมันช่วยให้เราเป็นคนที่คุณภาพได้ด้วยเพราะเหตุใด! พร้อมแล้วตามไปดูกันเลยดีกว่าจ้า

 


(via: unsplash.com)
 

การอ่านช่วยเพิ่มการเชื่อมโยงของสมอง

ในปี 2013 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอมโมรีได้สำรวจสมองของคนกลุ่มหนึ่งเป็นเวลามากกว่า 9 วัน ครึ่งหนึ่งของกลุ่มอ่านนวนิยายเรื่อง “ปอมเปอี” ของโรเบิร์ต แฮร์ริส ส่วนที่เหลือไม่ได้อ่าน จากการตรวจสอบ fMRIs (การถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก) ของสมองผู้อ่าน แสดงให้เห็นว่ามีการเชื่อมต่อของสมองบางส่วนเกิดขึ้น ตั้งแต่กลีบขมับด้านซ้าย (ที่เกี่ยวข้องกับการประมวลภาษา) รวมไปถึงร่องกลาง (central suculus) อันเป็นพื้นที่ที่เชื่อมต่อกับการตอบสนองทางประสาทสัมผัสหลัก ซึ่งทั้งหมดมีส่วนช่วยในเรื่องความเข้าใจของสมองที่มีต่อการมองเห็นการเคลื่อนไหว ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะสมองแสดงภาพการเคลื่อนไหวและอารมณ์ของตัวละครที่เราอ่านในหนังสือ

ที่น่าสนใจเหนือสิ่งอื่นใดคือความจริงที่ว่า “แม้อาสาสมัครจะไม้ได้อ่านนิยายขณะที่เข้าเครื่องสแกนเนอร์ แต่การเชื่อมต่อของสมองยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราเรียกมันว่า ‘shadow activity’ ที่เกือบจะเหมือนกับความทรงจำของกล้ามเนื้อ (muscle memory)” เกรกอรี่ เบิร์นส์ หัวหน้าทีมวิจัยเผย ดังนั้น กล่าวได้โดยสรุปว่า แม้เราจะอ่านหนังสือจบแล้ว แต่สมองของเราจะยังคงรักษาประโยชน์เหล่านั้นไว้อยู่ชั่วขณะหนึ่ง

 

การอ่านช่วยให้เรามีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้น

ปี 2013 นักวิจัยได้ทำการทดสอบว่าการอ่านมีผลต่อความเห็นอกเห็นใจของผู้อ่านอย่างไรในงานวิจัย How Does Fiction Reading Influence Empathy? An Experimental Investigation on the Role of Emotional Transportation นักวิทยาศาสตร์ผู้ทำการศึกษาเรื่องนี้เขียนไว้ในบทความของพวกเขาว่า “มีคนกล่าวว่าคนที่อ่านนิยายเยอะๆ จะกลายเป็นคนช่างเอาใจใส่มากกว่าคนที่ไม่อ่านนิยายเลย เพราะนิยายเป็นแบบจำลองของประสบการณ์ทางสังคมที่ผู้คนฝึกฝนและพัฒนาทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล”

เนื่องจากนักวิจัยต้องการทราบว่าอะไรกันแน่ที่เป็นสาเหตุของความเห็นอกเห็นใจ ระหว่างการอ่านที่ก่อให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ หรือผู้ที่มีความเห็นอกเห็นใจมีแนวโน้มที่จะอ่านนิยาย ดังนั้นการทดลองจึงเริ่มต้นขึ้น นักวิจัยได้มอบหมายให้ผู้เข้าร่วมการทดลอง (นักอ่าน) อ่านข้อความจากนิยายและไม่ใช่นิยาย ผลปรากฎว่าคนที่อ่านนิยายรู้สึกถึงการส่งผ่านทางอารมณ์ขณะอ่านนิยาย พวกเขามีความเห็นอกเห็นใจมากกว่า เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้อ่านนิยาย

ถ้าน้องๆ สงสัยว่าทำไมการเอาใจใส่จึงสำคัญ? นักวิทยาศาสตร์ตอบว่า “การเพิ่มความเอาใจใส่หรือความเห็นอกเห็นใจเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนเรา เพราะการเอาใจใส่นั้นเกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ ประสิทธิภาพการทำงาน รวมทั้งพฤติกรรมการเข้าสังคมและการทำงานร่วมกับผู้อื่น”
 


(via: unsplash.com)
 

ในปีเดียวกัน นักวิจัยจาก New School ของมหาวิทยาลัย NYC ได้ทำการวิจัยเพิ่มเติม เมื่อเปรียบเทียบความสามารถในการระบุอารมณ์ผ่านการบอกเป็นนัยจากใบหน้า (facial cues) ระหว่างคนสองกลุ่มที่รวมกันจำนวน 1,000 คน ซึ่งจัดว่าเป็นขนาดตัวอย่างที่ค่อนข้างใหญ่สำหรับการศึกษาในลักษณะนี้

กลุ่มแรกอ่านวรรณกรรม (ข้อความจากเชคอฟและ Téa Obreht) และอีกกลุ่มอ่านนิยายที่มีชื่อเสียง (นิยายรักเรื่องหนึ่งของ Danielle Steele และ “Gone Girl” โดย Gillian Flynn) ผลปรากฎว่าคนที่อ่านวรรณกรรมได้คะแนนในการทดสอบสูงกว่า หมายความว่าพวกเขาเข้าใจความรู้สึกของผู้คนรอบข้างได้ดีขึ้น

แล้วทำไมประเภทของนวนิยายสร้างความแตกต่างในการตีความหมายทางอารมณ์ได้ขนาดนี้ล่ะ? งานนี้อีมานูเล คาสเตโน หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้ทำวิจัยได้เขียนคำอธิบายไว้ว่า “เราเชื่อว่าความแตกต่างที่สำคัญอย่างหนึ่งระหว่างวรรณกรรมและนิยายยุคใหม่คือขอบเขตที่ตัวละครมีความซับซ้อน คลุมเครือ ยากที่จะทำความรู้จัก ฯลฯ (กล่าวอีกนัยหนึ่งคือมนุษย์) เทียบกับภาพลักษณ์ที่เรียบง่าย” ดังนั้นเราจึงสามารถสรุปได้ง่ายๆ ว่า การอ่านนิยายที่มีตัวละครซับซ้อนอาจทำให้เรารู้สึกถึงอารมณ์ของคนจริงๆ ในชีวิตได้

ต่อมาในปี 2017 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย (USC) พบว่าการอ่านนิยายช่วยให้คนมีจิตใจเมตตาต่อกันและมีความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์มากขึ้น โดยไม่คำนึงถึงภูมิหลังทางวัฒนธรรม ภาษา หรือความแตกต่าง สำหรับงานวิจัยนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองโดยใช้เครื่อง fMRIs เครื่องเดิมในการทำแผนที่สมองเพื่อดูการตอบสนองต่อการบรรยายในสามภาษา ได้แก่ อังกฤษ เปอร์เซียและจีนแมนดารีน ผลคือพวกเขาพบรูปแบบของการกระตุ้นสมองในตอนที่ผู้คนเข้าใจความหมายของเรื่องราวโดยไม่คำนึงว่านั่นเป็นภาษาอะไร นอกจากนี้งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Human Brain Mapping ยังเสนออีกว่า การอ่านนิยายหรือเรื่องเล่ามีผลมากๆ ต่อการกระตุ้นการรู้จักตัวเองและเอาใจใส่ผู้อื่นให้ดีขึ้นโดยไม่คำนึงถึงภาษาหรือพื้นเพแหล่งกำเนิด

 


(via: unsplash.com)
 

การอ่านช่วยเสริมสร้างทฤษฎีจิตให้แข็งแกร่งขึ้น

ทฤษฎีจิต หรือ Theory of Mind (ToM) คือความสามารถในการรับรู้จิต ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ ความรู้สึก ความตั้งใจ ความรู้และมุมมอง ทั้งของตัวเองและคนอื่น  รวมทั้งเข้าใจว่าคนอื่นมีความเชื่อ ความปรารถนาและความตั้งใจที่แตกต่างจากตัวเอง หรือแบบที่คนทั่วไปรู้จักว่า “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” นั่นเอง

จากกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเรา พบว่าการอ่านนิยายเป็นกิจกรรมที่สามารถพัฒนาความสามารถด้านนี้ ตรงข้ามกับการดูทีวีและภาพยนตร์ ในงานวิจัย Preschoolers exposure to television can stall their cognitive development พบว่าเด็กที่ดูโทรทัศน์ (หรือแม้กระทั่งเปิดทีวีทิ้งไว้เป็นเบื้องหลังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบ้านในอเมริกาทำถึง 1 ใน 3) ขาดความเข้าใจผู้อื่น ยิ่งไปกว่านั้น จากการสำรวจในอเมริกาพบว่า 42% ของนักศึกษามหาวิทยาลัยไม่อ่านหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือประเภทไหนก็ตาม ส่งผลให้พวกเขามีประสิทธิภาพในการรับรู้อารมณ์ความรู้สึกและมุมมองของผู้อื่นได้ต่ำกว่าคนที่อ่านหนังสือ ดังนั้นจะสรุปว่าคนที่อ่านนิยายสามารถเข้าใจหัวอกผู้อื่นได้ดีก็คงไม่แปลกเท่าไหร่นัก

 

การอ่านช่วยให้เราฉลาดขึ้น

นอกจากการอ่านจะช่วยให้เราเข้าใจหัวอกผู้อื่นมากขึ้น การอ่านยังทำให้เราฉลาดขึ้นด้วยค่ะ โดยนักวิจัยที่ University of Edinburgh และ King's College London ได้ทำการทดสอบฝาแฝด 1,890 คู่อายุ 7 ถึง 16 ปี เป็นจำนวน 5 ครั้ง เพื่อดูทักษะการอ่านและ IQ นักวิจัยพบว่าเด็กๆ มีความสามารถในอ่านการดีกว่าเมื่อเทียบกับฝาแฝดของพวกเขาที่ไม่ได้อ่านหนังสือ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการคิดและการพูดอีกด้วย นักวิจัยจึงคาดการณ์ว่าการอ่านไม่เพียงแค่ช่วยให้ผู้คนจดจำข้อเท็จจริงได้ แต่มันทำให้คนได้ฝึกฝนการคิดอย่างเป็นนามธรรมผ่านกระบวนการจินตนาการไปตามพล็อตเรื่องและตัวละครในนิยาย

 


(via: bustle.com)

 

การอ่านช่วยให้เรารู้สึกดีกับตัวเองและรู้สึกดีกับชีวิตมากขึ้น

โจซี่ บิลลิงตันจากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลทำการสำรวจผู้ใหญ่จำนวน 4,164 คนและพบความแตกต่างที่น่าสนใจระหว่างคนที่อ่านหนังสือเป็นประจำกับคนที่ไม่อ่านหนังสือเลย คนที่อ่านนิยายมักรู้สึกผ่อนคลาย พวกเขามีระดับความเครียดและความหดหู่น้อยกว่าคนที่ไม่อ่านนิยาย รวมทั้งมีความภาคภูมิใจในตัวเองและรับมือกับความท้าทายได้ดีเมื่อเทียบกับคนที่ไม่อ่านหนังสือ ยิ่งกว่านั้นพวกเขายังมีความสุขกับชีวิต เข้าใจความรู้สึกของคนรอบข้างพวกเขาได้อย่างดี และยังสามารถตระหนักถึงประเด็นทางสังคมและความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้อย่างแข็งแกร่งด้วย 
 

การอ่านช่วยปกป้องความทรงจำของเรา

หากไม่อยากเป็นคนที่มีความจำปลาทอง ขอแนะนำให้อ่านหนังสือเข้าไว้ ทำไมน่ะเหรอ? เพราะงานวิจัยฉบับหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ด้าน Neurology ของสหรัฐอเมริกากล่าวว่า การอ่านช่วยปกป้องสมองของเราเมื่อเรามีอายุมากขึ้น โดยนักวิจัยได้ทำการทดสอบความสามารถในการจดจำและการคิดของคนจำนวน 294 คนต่อปี เป็นเวลาประมาณหกปีก่อนที่พวกเขาจะเสียชีวิต (ซึ่งโดยเฉลี่ยจะเสียชีวิตตอนอายุประมาณ 89 ปี) หลังจากที่เสียชีวิตแล้ว สมองของพวกเขาถูกชันสูตรเพื่อใช้เป็นหลักฐานของภาวะสมองเสื่อม เช่นแผล, พลากและแทงเกิล ผลปรากฎว่าผู้ที่อ่านหนังสือในช่วงต้นและช่วงปลายของชีวิตไม่ค่อยเกิดอาการหลงๆ ลืมๆ เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้อ่านหนังสือค่ะ ดีงามแบบนี้ไม่อ่านนิยายไม่ได้แล้วนะ!

 

เป็นยังไงบ้างคะกับเรื่องที่พี่น้ำผึ้งนำมาฝากในวันนี้ พออ่านงานวิจัยต่างๆ จบแล้วรู้สึกเลยว่าบางทีเราควรให้ความสำคัญกับการอ่านนิยายมากกว่านี้ พี่เชื่อว่าการอ่านให้ประโยชน์กับเรามหาศาล ซึ่งไม่ใช่แค่ช่วยผ่อนคลายเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เราเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น เพราะจริงๆ แล้ว นิยายเกิดจากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ถ่ายทอดออกมาผ่านตัวอักษร ดังนั้นมันจึงทำให้คนอ่านเข้าใจสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะคน ได้ดียิ่งขึ้น เหมือนอย่างที่เดวิด คิดด์ นักวิจัยจาก New School ได้กล่าวกับเว็บไซต์ The Guardian ไว้ว่า “นิยายไม่ใช่แค่เป็นการจำลองสถานการณ์ทางสังคม แต่เป็นประสบการณ์สังคม” 

แล้วสำหรับน้องๆ ล่ะคะ การอ่านให้อะไรกับเราบ้าง?

พี่น้ำผึ้ง :)

 

ขอขอบคุณ

Bal, P. and Veltkamp, M. (2013). How Does Fiction Reading Influence Empathy? An Experimental Investigation on the Role of Emotional Transportation. PLoS ONE, 8(1), p.e55341.

Dehghani, M., Boghrati, R., Man, K., Hoover, J., Gimbel, S., Vaswani, A., Zevin, J., Immordino-Yang, M., Gordon, A., Damasio, A. and Kaplan, J. (2017). Decoding the neural representation of story meanings across languages. Human Brain Mapping, 38(12), pp.6096-6106.

Kidd, D. and Castano, E. (2013). Reading Literary Fiction Improves Theory of Mind. Science, 342(6156), pp.377-380.

Ritchie, S., Bates, T. and Plomin, R. (2014). Does Learning to Read Improve Intelligence? A Longitudinal Multivariate Analysis in Identical Twins From Age 7 to 16. Child Development, 86(1), pp.23-36.

http://esciencecommons.blogspot.com/2013/12/a-novel-look-at-how-stories-may-change.html
https://pressroom.usc.edu/found-in-translation-usc-scientists-map-brain-responses-to-stories-in-three-different-languages/
https://th.wikipedia.org/wiki
https://www.psychologytoday.com/intl/blog/the-athletes-way/201401/reading-fiction-improves-brain-connectivity-and-function
https://www.eurekalert.org/pub_releases/2013-11/ica-pet111913.php
https://www.aan.com/PressRoom/Home/PressRelease/1195
https://www.theguardian.com/books/booksblog/2013/oct/08/literary-fiction-improves-empathy-study 

Deep Sound แสดงความรู้สึก

พี่น้ำผึ้ง
พี่น้ำผึ้ง - Columnist นักเขียนที่ชอบส่งต่อพลังบวกให้ทุกคน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด