10 สเต็ปสุดเจ๋ง สร้างเรื่องให้โด่งดังเหมือน ‘Avengers' จาก Marvel


 

10 สเต็ปสุดเจ๋ง สร้างเรื่องให้โด่งดังเหมือน ‘Avengers’ จาก Marvel

สวัสดีค่ะชาวนักเขียนเด็กดีทุกคน นาทีนี้ไม่มีอะไรจะร้อนแรงไปกว่า “Avengers: Endgame” ภาพยนตร์ชื่อดังจากค่าย Marvel ที่ตอนนี้ขึ้นแท่นหนังทำเงินที่ 2 ของโลกตลอดกาล เล่นเอาล่มเรือไททานิกได้เลยทีเดียว พี่น้ำผึ้งเองก็เป็นแฟนคลับของ Marvel ค่ะ ชื่นชอบภาพยนตร์และคอมิกของค่ายนี้มากๆ ประทับใจตั้งแต่พล็อต โครงเรื่อง บทสนทนา ไปจนถึงตัวละครที่ไม่ได้มีดีแค่เหล่าซูเปอร์ฮีโร่ 

ลองนึกภาพว่าเราได้รับมอบหมายให้เขียนบทภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งสิ นั่นคือสิ่งที่ “มาร์คุส” และ “แม็คฟีลี่” เผชิญเมื่อพวกเขาเข้าสู่จักรวาลมาร์เวล การจะเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ยิ่งใหญ่ได้ มันมีองค์ประกอบต่างๆ มากมาย ไม่ใช่แค่ขอบเขตเรื่อง แต่ยังรวมไปถึงตัวละคร ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของเรื่องด้วย สำหรับบางคนมันอาจกลายเป็นเรื่องยาก    แต่สำหรับสองนักเขียนบทแห่ง Marvel พวกเขาได้เปลี่ยนความยากให้เป็นความท้าทาย จนก่อให้เกิดบทภาพยนตร์ยิ่งใหญ่ที่ครองใจคนทั่วโลกอย่าง Avengers

ในวันนี้พี่น้ำผึ้งได้นำความลับการสร้างบทภาพยนตร์ตามแบบฉบับมาร์คุสและแม็คฟีลี่มาฝากน้องๆ ทุกคนค่ะ เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักเขียนชาวเด็กดีเพื่อใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานนิยายของตัวเอง เอาล่ะ   ไม่พูดเยอะเดี๋ยวเจ็บคอ   พี่ว่าเราไปดูกันเลยดีกว่าว่า 10 สเต็ปการสร้างเรื่องตามแบบฉบับ Marvel มีอะไรบ้าง 

 


 

สร้างเทมแพลท

ก่อนสร้างบทภาพยนตร์ เราต้องรู้ก่อนว่าเราจะเขียนอะไรและเป็นประเภทไหน อย่าง Infinity War ให้ความรู้สึกว่าเป็นภาพยนตร์สงคราม เหมือนกับเรื่อง Dirty Dozen ภาพยนตร์โด่งดังช่วงยุคปลาย 70 ที่เกี่ยวกับจารชนสงครามล้วนๆ หรืออย่างก็อดซิล่า หนังมอนส์เตอร์สุดน่ากลัวที่ให้อารมณ์เหมือนกับเรื่อง Jaws ดังนั้นจึงมีกลิ่นอายของความสยองขวัญและความสั่นประสาทปนอยู่ การรู้ประเภทของสิ่งที่กำลังเขียนนับว่าดี มันจะเป็นสิ่งที่ไกด์เราตอนสร้างพล็อต เขียนเรื่อง และสร้างตัวละคร เช่นเดียวกับนิยายนั่นแหละค่ะ น้องๆ ต้องรู้ก่อนว่าเราจะเขียนนิยายแนวไหน โทนเรื่องเป็นยังไง มันจะช่วยให้เราวางแผนถูกสร้างเรื่องราวได้อย่างถูกต้อง

 

Clip

กว่าจะเป็นกัปตันอเมริกา

โฟกัสที่ความเป็นมนุษย์

นี่เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะกับตัวละคร ใครๆ ก็อยากเห็นตัวละครที่มีการพัฒนา การเปลี่ยนแปลง และชื่อที่น่าจดจำ  มีตัวละครมากมายที่โลดแล่นอยู่ในโลกของภาพยนตร์และนิยาย หน้าที่เราคือ   เราจำเป็นต้องทำยังไงก็ได้ให้คนรู้สึกสนใจ ซึ่งนั่นอาจหมายถึงการสร้างปมให้แก่ตัวละคร ที่สำคัญ ก่อนจะปล่อยพวกเขาสู่สายตาคนทั่วไป เช็กให้ดีก่อนว่าตัวละครของเรามีหัวใจ มีความเป็นธรรมชาติ และมีแบ็กกราวน์ที่น่าสนใจ ลองดูอย่างตัวละครใน Avengers สิ พวกเขาไม่ได้มีชีวิตที่ราบรื่น กัปตันสูญเสียความรัก โทนี่สูญเสียหัวใจ ธอร์มีปัญหากับพ่อ ส่วนแบล็กวิโดว์ต้องก้าวข้ามผ่านอดีตของเธอให้ได้ แต่ทั้งหมดมีหน้าที่เพื่อพิทักษ์โลก! ซึ่งนี่คือเสน่ห์อย่างหนึ่งของพวกเขา

 

Clip

เมื่อเหล่า Avengers เจอกันเป็นครั้งแรก

แนะนำตัวละครด้วยวิธีสนุกๆ

“ตัวละครจำนวนมากที่เราตาม” เป็นหนึ่งสิ่งที่ทำให้ผู้คนตกหลุมรักงานของเรา ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ซีรีส์หรือนิยาย จริงๆ นะ ดูอย่าง Game of Thrones สิ ตัวละครเยอะเวอร์แต่เราก็ยังชอบ หรือแม้กระทั่ง Avengers ที่มีตัวละครเยอะไม่แพ้กัน เพราะงั้นหากตัวละครเยอะเบอร์นี้แล้ว เราควรแนะนำพวกเขาให้คนอ่านรู้จักด้วยวิธีน่าสนใจ เป็นภาพที่ทำให้คนอ่านจำติดตาได้ เช่น เมื่อเราพบกับตัวละครใน Marvel เราจำได้แม่นยำเลยว่า สตีฟ โรเจอร์หรือกัปตันอเมริกาโดนเตะตูด โทนี่ระเบิดสิ่งต่างๆ นาตาชาเตะก้นแฮปปี้ สก็อตต์ ลังจ์อยู่ในคุก ใครๆ  ก็ชอบการเปิดตัวแบบนี้ มันทำให้ตัวละครโดดเด่น ทำให้เห็นว่าพวกเขาฉลาด บ่งบอกถึงบุคลิกภาพ รวมทั้งเรื่องราวที่น่าจะเกิดขึ้นในภายหลัง

 

Clip

ธานอสเล่นใหญ่ เขวี้ยงพระจันทร์เลย

เล่นใหญ่เข้าไว้

เรื่องความเล่นใหญ่นี่ขอยกให้ Marvel เลยจ้า ไม่ใช่แค่งบร้อยล้านเท่านั้นที่ใหญ่นะ แต่ทีมเขียนบทยังชอบให้ตัวละครเล่นใหญ่ด้วย ซึ่งนั่นเป็นเสน่ห์ของ Marvel เลยจ้ะ เล่นใหญ่ในที่นี้หมายถึง “คิดให้ใหญ่” เข้าไว้ โยนความคิดบ้าๆ ลงไปในเรื่อง เช่น เมื่อธานอสเขวี้ยงพระจันทร์ มันคือเขาเขวี้ยงพระจันทร์จริงๆ (เล่นใหญ่มั้ย) ดังนั้นหากน้องๆ จะเขียนสักฉากในนิยายให้น่าสนใจ ลองเล่นใหญ่ดู คิดถึงสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน คิดในสิ่งที่เชื่อว่ามีแต่คนบ้าเท่านั้นที่จะทำ จากนั้นลงมือทำเลย ยิ่งใหญ่ยิ่งดี   รับรองว่าแตกต่าง!!

 

เขียนเอ้าท์ไลน์ของโมเมนต์ต่างๆ

เฮ้ เรามาพูดถึงเรื่องเอ้าท์ไลน์สักนิดนึง รู้ว่านักเขียนบางคนไม่ถูกจริตกับการวางโครงเรื่อง แต่ทีมนักเขียนบทของ Avengers เขาวางโครงเรื่องไว้เสมอนะ การพิมพ์สิ่งที่ปรากฎขึ้นในหัวโดยยังไม่ต้องเรียบเรียงเป็นคำพูดสวยงามเป็นประโยชน์ต่อเรามาก ในแง่มุมที่ทำให้เรารู้ว่าจะเขียนอะไรต่อไปในอนาคต นอกจากนี้พวกเขายังใช้การวางโครงเรื่องเพื่อเจาะลึกในแต่ละสถานการณ์ เช่น  ช่วงเวลานี้จะเป็นยังไง มีใครอยู่ในฉากบ้าง ที่สำคัญที่สุด การวางโครงเรื่องยังช่วยให้เราไม่มีวันตัน เพราะทุกครั้งที่ตัน เราจะย้อนกลับมาดูไอเดียที่เคยวางไว้ ทันใดนั้นก็จะปิ๊งเหมือนเราใส่ถุงมือธานอสนั่นแหละ ทุกครั้งที่เราคิดถึงเอ้าท์ไลน์ พี่อยากให้เราคิดถึง infinity stones ทั้ง 6 ที่เราต้องออกตามหา ใส่การผจญภัยนู่นนั่นนี่ลงไปสักหน่อย แค่นี้ก็ทำให้การวางโครงเรื่องของเราสนุกขึ้นแล้ว

 

Clip

สัมภาษณ์ผู้เขียนบท Avengers Endgame

ไม่เป็นไร ถ้าหากจะเดินผิดเส้นทาง

ดร.สเตรนจ์เคยบอกในภาค Infinity War ว่า “มีหนทางอยู่ 14 ล้านครั้ง แต่มีเพียงแค่ 1 ครั้งเท่านั้นที่เราจะชนะ” งานเขียนเองก็เช่นกันค่ะ มันมีโอกาสที่เราจะเดินเกมผิดไปบ้าง แต่เราจะท้อแท้ไม่ได้ ไม่ว่ายังไงก็ต้องเขียนต่อไป แม้ว่าจะเหมือนไม่มีทางออกก็ตาม ไม่แน่นะว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นอาจกลายเป็นเรื่องราวที่สวยงามและน่าจดจำสำหรับคนอ่าน ความเจ็บปวดเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ จงแข็งแกร่งอย่างไอรอนแมนนะ!   แล้วไม่ต้องห่วง  สองนักเขียนบทแห่ง   Marvel  ก็เคยผ่านความเจ็บปวดนี้มาก่อน!!
 

เขียนร่างแรกให้อ้วกไปข้างหนึ่ง

มาร์คุสและแม็คฟีลี่ สองผู้เขียนบท Avengers เล่าให้ฟังถึงการวางโครงเรื่องตามแบบฉบับของเขา แรกเริ่ม พวกเขาจะเขียนทุกสิ่งทุกอย่างออกมาให้หมด ชนิดที่ว่าเอาให้อ้วกตายไปข้างหนึ่ง จากนั้นพวกเขาจะเลือกฉากที่ตัวเองรักเพื่อนำไปสร้างพล็อตและต่อยอดเป็นเรื่องราวจริงจัง ไม่ลืมที่จะปรับแต่งให้สมบูรณ์แล้วค่อยเขียนทีหลัง   จากนั้นก็ไปสู่ขั้นตอนถัดไปเลย

 

รีไรต์และขัดเกลา

ทันทีที่เราได้ร่างแรกอออกมาแล้ว อย่าลืมอ่านทวนซ้ำและรีไรต์ด้วยนะ แล้วไม่ต้องมาทำเป็นบ่น มันคือสิ่งที่นักเขียนทุกคนต้องทำเพื่อให้งานของเราออกมาดีที่สุด การรีไรต์จะช่วยให้เราเห็นภาพนิยายของตัวเองได้กว้างขึ้น สิ่งไหนที่ดีที่เด่นก็ปรับให้ดีกว่าเดิม ส่วนสิ่งไหนด้อยก็แค่แก้ไขให้มันดีขึ้น นักเขียนบางคนรีไรต์ไม่ต่ำกว่าสามครั้ง แต่คำแนะนำของพี่คือรีไรต์เท่าไหร่ก็ได้ที่เรารู้สึกสบายใจ อ้อ แล้วก็ไม่ต้องรู้สึกเหนื่อยหรอกนะ ขนาดเรื่อง Avengers ยังตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน รีไรต์ไม่รู้กี่ร้อยครั้ง

 

Clip

จริงๆ ธานอสเป็นคนน่ารัก

สร้างตัวร้ายให้เหมือนตัวเอก

เห็นทีประโยคที่ว่า “ตัวร้ายทุกตัวคือฮีโร่ในเรื่องราวของพวกเขาเอง” คงจะจริง ตอนที่มาร์คุสและแม็คฟีลี่เขียน Infinity War พวกเขาเล่าว่าพวกเขาจงใจสร้างเรื่องราวการผจญภัยของฮีโร่ ซึ่งฮีโร่ที่ว่านั่นจะเป็นใครไปไม่ได้เลย นอกจากธานอส ตัวร้ายใต้หน้ากากวีรบุรุษ นับว่าเป็นความคิดที่ดีนะ การมีสตอรี่ของธานอสเป็นจริงเป็นจังช่วยให้พวกเขาสร้างสิ่งที่น่าเชื่อถือได้มากขึ้น เมื่อธานอสชนะสงคราม มันทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของเขาที่เต็มไปด้วยความย้อนแย้งที่ซ่อนอยู่ในใจของตัวเอง และเมื่อถึงจุดที่ต่ำที่สุด เขาฆ่ากาโมร่า ลูกสาวที่เขารัก ซึ่งจุดหักมุมไม่ธรรมดาอย่างนี้แหละทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจดจำ น้องๆ ลองสร้างสตอรี่ของตัวร้ายดูสิ แล้วจะพบว่าโครงสร้างนิยายของเราดูมีมิติขึ้น

 

สร้างเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อตัวละคร

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องราวของเหล่าฮีโร่อิมแพ็คต่อนักอ่านอย่างเรามาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตัวละครมีมิติ มีเรื่องราวและปูมหลัง นั่นทำให้พวกเราผูกพันกับตัวละคร ดูอย่างตอนต้นของ Endgame สิ สปอยล์นิดนึงว่าทุกคนหายไปราวกับอากาศธาตุ เราอยากรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับคนที่หายไป รวมทั้งเหล่าอเวนเจอร์สทั้งหมดด้วย อย่าลืมว่า Avengers ไม่ใช่เรื่องราวมหากาพย์ที่มีแค่สัตว์ประหลาดกับการระเบิด แต่มันยังเป็นเรื่องของความรู้สึกตัวละครหลังเสียคนสำคัญไป เหมือนกับเราเห็นเพื่อนสนิทของตัวเองหายไปต่อหน้าต่อตานั่นแหละค่ะ คนทั้งคนหายไปเชียวนะ ยิ่งใหญ่ไปอีก ดังนั้นจงสร้างเรื่องให้ใหญ่และกระทบต่อจิตใจตัวละครเข้าไว้ ปล่อยให้นักอ่านตั้งข้อสงสัย   เพียงแค่นี้เรื่องราวของเราก็จะน่าสนใจมากขึ้นค่ะ

 

จัดเต็มครบเรียบร้อยแล้วนะคะกับ 10 เทคนิคดีๆ จากสองนักเขียนบทผู้ยิ่งใหญ่แห่ง Marvel ส่วนตัวแล้วพี่ชื่นชอบเทคนิค “การสร้างเรื่องให้วายร้าย” มาก โดยเฉพาะประโยคที่ว่า “ตัวร้ายทุกตัวคือฮีโร่ในเรื่องราวของพวกเขาเอง” ก็จริงแหละค่ะ วายร้ายใช่ว่าจะเลวเสมอไป พวกเขาก็แค่ถูกนำเสนอผ่านมุมของฮีโร่เท่านั้น เลยทำให้เรารับรู้ตัวตนเพียงด้านเดียวของพวกเขา ดูอย่างธานอสสิ หากมองดีๆ จะพบว่าเขาไม่ใช่วายร้ายที่เลวสุดขั้วชั่วสุดขีด ลึกๆ   แล้วเขาเองก็เป็นฮีโร่ในเรื่องของเขาเช่นกัน ซึ่งตัวละครที่ไม่ขาวและดำจนเกินไปของ   Marvel  นี่แหละคือเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ทำให้พี่ชื่นชอบเรื่องราวจาก   Marvel   มาก  ขอบคุณมาร์คุสกับแม็คฟีลี่ รวมถึงทีมงานที่สร้างสรรค์เรื่องราวสนุกๆ ให้พวกเรานะคะ

พี่น้ำผึ้ง :)

 

ขอบคุณข้อมูลจาก nofilmschool.com

Deep Sound แสดงความรู้สึก

พี่น้ำผึ้ง
พี่น้ำผึ้ง - Columnist นักเขียนที่ชอบส่งต่อพลังบวกให้ทุกคน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

6 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
ปีศาจหัวโต Member 31 พ.ค. 62 17:00 น. 2

แนะนำตัวละครด้วยวิธีสนุกๆ ข้อคิดนี้ดีมากเลยฮะ

ถ้าคนอ่านตกหลุมรักตัวละครของเราแล้ว อะไร ๆ ที่ตามก็จะง่ายละ

คนจะติดงอมแงมเหมือนที่ดูหนังมาร์เวล ตัวละครเยอะ แต่นี่จำได้ทุกตัวเลย

0
กำลังโหลด
ระเบียงแคคตัส Member 31 พ.ค. 62 21:46 น. 3

จริงครับ บางครั้งการสร้างวายร้ายที่ดูโดดเด่นมีหลายมุม ก็ทำให้เรื่องดูสนุกขึ้น ในหนังหลายเรื่องผมแทบไม่สนพระเอกเลยสนแต่ตัวร้าย

0
กำลังโหลด
ฝนตกในคืนที่พระจันทร์สว่าง Member 2 มิ.ย. 62 22:15 น. 4

แต่ละคนในเรื่องมีเรื่องเป็นของตัวเองเสมอไม่ว่าตัวละครจะเยอะขนาดไหน จุดเด่นอีกอย่างของสายนี้คือให้ความสำคัญเเละสตอรี่ของเกือบทุกตัวละคร พอมารวมกันนี่ก็รวมดาวเลย ดังนั้นการเจาะในแต่ละตัวละครเเละไม่ปล่อยใครในเรื่องให้เป็นnpcแบนๆจึงเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องนึง


จุดเด่นของสายอีกอย่างคือตัวร้ายด้วยหมดยุคตัวร้ายแบนๆที่ชั่วบริสุทธิ์แล้ว ซึ่งอันนี้คือจุดเด่นในแนวคิดเรานะ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Hameii Member 5 มิ.ย. 62 20:43 น. 6

เป็นคนชอบรีไรท์มากๆๆๆๆ ถึงจะเหนื่อยกว่าตอนเขียนดราฟท์แรก เเต่ทุกครั้งที่รีไรท์เสร็จจะรู้สึกรักนิยายตัวเองมากขึ้น

ชอบเทคนิคสร้างเรื่องให้วายร้ายเหมือนกันค่ะ เวลาเราเขียนตัวละครเพื่อให้ผ่านกล้องเฉยๆ ก็อดสงสารพวกเขาไม่ได้ ทุกคนควรมีเรื่องราวของตัวเองจริงๆ แง วิ่งกลบไปกอดตัวร้ายในนิยายตัวเองแป๊บบบบ TwT


ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ อีกเเล้วนะคะ >/\<

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด