37 นักเขียนชื่อดังกับนิสัยการนอนหลับที่ทำให้งานเขียนประสบความสำเร็จ!

37 นักเขียนชื่อดังกับนิสัยการนอนหลับ
ที่ทำให้งานเขียนประสบความสำเร็จ! 

"การทำงานในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันเป็นประจำเหมือนที่สตีเฟ่น คิง ทำ
และจากนักเขียนทั้ง 37 คนที่ตื่นนอนในช่วงเวลาเดียวกันเสมอ 
เป็นหนึ่งในวิธีที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จเหมือนพวกเขาได้แน่นอนที่สุด"

สวัสดีค่ะนักเขียนชาวเด็กดีทุกคน เคยได้ยินสำนวน The early bird gets the worm หรือ The early bird catches the worm กันมาบ้างไหมเอ่ย สำนวนนี้แปลตรงตัวว่า นกที่ออกหากินตั้งแต่เช้าย่อมจับหนอนมากินได้ก่อน เปรียบถึง คนที่ตื่นแต่เช้า, เตรียมตัวแต่เนิ่นๆ, หรือเริ่มก่อนเป็นคนแรกๆ มักจะได้เจอกับเรื่องดีๆ หรือได้เปรียบกว่าคนที่มาเริ่มทีหลังนั่นเอง แน่นอนว่าสำนวนนี้ใช้ได้กับทุกแวดวงการทำงานเลยค่ะ รวมทั้งแวดวงนักเขียนของเราด้วย ซึ่งการที่พี่ยกสำนวนนี้มา พี่ไม่ได้กำลังจะบอกให้ทุกคนตื่นแต่เช้าเพื่อมาเขียนนิยายกันนะคะ หากลองกลับไปดูความหมายของสำนวนนี้กันดูอีกรอบ จะเห็นว่าใจความสำคัญอยู่ที่ “การเริ่มต้น” ทำสิ่งต่างๆ มากกว่าค่ะ ไม่ว่าคุณจะตื่นนอนในช่วงเวลาไหนก็ตาม อยู่ที่ว่าคุณ “เริ่มต้นทำสิ่งๆ นั้นในทุกๆ วัน” ได้หรือเปล่า 

ในบทความนี้ พี่แนนนี่เพนจึงมีเรื่องราวของนักเขียนชื่อดังระดับโลกที่สร้างสรรค์ผลงานจนได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย และพวกเขามีสิ่งๆ หนึ่งที่คล้ายคลึงกันแทบทุกคนนั่นก็คือ “นิสัยการนอนกับงานเขียนที่ประสบความสำเร็จ” นั่นเอง หากถามว่าสองสิ่งนี้เชื่อมโยงหรือมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างไร เรามาดูเรื่องราวของ “Creative Sleep” ศิลปะการนอนหลับของสตีเฟ่น คิง ที่ทำให้เราสามารถเขียนนิยายไปด้วยและหลับฝันไปด้วยได้ รวมถึงนิสัยการนอนของนักเขียนชื่อดังทั้ง 37 คนที่มักจะตื่นขึ้นมาในช่วงเวลาใกล้เคียงกันเสมอได้เลยค่ะ

ว่าด้วยศิลปะการหลับเพื่อสร้างสรรค์ของสตีเฟ่น คิง

คงไม่ต้องกล่าวถึงประวัติของสตีเฟ่น คิง เจ้าพ่อนิยายสยองขวัญผู้โด่งดังให้มากความ เขาเป็นนักเขียนที่เชื่อมือได้ มีแนวคิด และไอเดียที่ค่อนข้างน่าสนใจ ใครที่อยากเขียนนิยายแล้วเห็นภาพชัดเจนอาจจะต้องพึ่งเคล็ดลับ “การหลับเพื่อสร้างสรรค์ (Creative Sleep)” ของคิงกันค่ะ เพราะเขาสังเกตศิลปะการนอนหลับนี้มานาน จนสามารถหาจุดเชื่อมโยงระหว่างการเขียนนิยายและการฝันขณะตื่นขึ้นมาได้ 

สตีเฟ่น คิง เปรียบความฝันกับการเขียนนิยายว่าเป็นเรื่องเดียวกัน เช่นเดียวกับห้องที่จะใช้ในการเขียนนิยาย ควรจะเป็นเหมือนห้องนอนของเรา มีความเป็นส่วนตัว และเป็นสถานที่ที่เราสามารถไปถึงความฝันได้ ส่วนตารางเวลาในการเขียนนิยาย ถ้าเป็นไปได้เราควรจะเริ่มเขียนในเวลาที่ใกล้เคียงกันทุกวัน และหยุดเขียนเมื่อเราทำได้ตามเป้าที่กำหนดไว้แล้ว การที่เรามีทั้งห้องที่สามารถเขียนนิยายได้ ตารางเวลา และเป้าหมาย ตามที่กล่าวมา จะทำให้เราฝึกฝนตัวเองจนกลายเป็นนิสัย เราสามารถฝันขึ้นมาได้เหมือนตอนที่เรากำลังหลับ เพราะสิ่งที่เราทำอยู่นี้ก็เหมือนการเตรียมตัวนอนหลับที่เราทำเป็นประจำอยู่ทุกวัน เช่น การทำอะไรสักอย่างก่อนนอน นอนในเวลาใกล้เคียงกันทุกวัน และบางคนอาจจะตั้งใจว่าคืนนี้จะฝันเรื่องอะไรดีนั่นเอง 

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเขียน หรือการนอนหลับ เราทุกคนจำเป็นต้องใช้ความนิ่ง เพื่อให้สมองได้ปลดล็อคออกจากการคิดวนเวียนกับเรื่องต่างๆ จากชีวิตประจําวัน และในเมื่อเราสามารถฝึกสมองและร่างกายให้คุ้นเคยกับการนอนเป็นเวลาหก เจ็ด หรือแปดชั่วโมงได้ เราสามารถฝึกความคิดขณะตื่นขึ้นมาให้นอนหลับอย่างสร้างสรรค์ และสร้างฝันที่ตื่นขึ้นมาในตอนกลางวันในงานเขียนได้เช่นเดียวกัน 

สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะที่เรานอนหลับนั้น มีผลต่อช่วงเวลาที่เราตื่นนอนทุกครั้งแน่นอน ดังนั้นไม่ว่าความฝันนั้นจะเกิดขึ้นตอนที่เราหลับหรือตื่น ก็อยู่ที่เราแล้วว่าจะปล่อยให้ความฝันนั้นผ่านเลยไป หรือจะนำความฝันนั้นมาต่อยอดเป็นงานเขียนที่มาจากจินตนาการของเรา  

37 นักเขียนชื่อดังกับนิสัยการนอนหลับที่ทำให้งานเขียนประสบความสำเร็จ! 

Maria Popova บรรณาธิการของ Brain Pickings ได้ตั้งข้อสงสัยว่าจริงๆ แล้วงานวรรณกรรมที่ประสบความสำเร็จกับพฤติกรรมการนอนหลับของนักเขียน อาจจะมีความสัมพันธ์บางอย่างเชื่อมโยงกันอยู่ก็ได้ และเธอก็ได้ทำการค้นคว้าข้อมูลจากหนังสือ บทสัมภาษณ์ และไดอารี่ต่างๆ จนได้ข้อมูลของนักเขียนทั้ง 37 คนที่มีเวลาการตื่นนอนที่ค่อนข้างชัดเจน ซึ่งพี่เห็นว่าข้อมูลเรื่องนิสัยการนอนของนักเขียนเหล่านี้น่าสนใจมากๆ ค่อนข้างตรงกับสำนวน The early bird gets... ที่พี่อยากนิยามสำนวนนี้ในอีกความหมายหนึ่งว่า “คนที่เตรียมพร้อม ย่อมประสบความสำเร็จได้มากกว่า” เพราะสิ่งที่พวกเขาทำกันจนเป็นกิจวัตรประจำวันนั้น อาจจะเชื่อมโยงถึงความจริงที่ว่านิสัยการนอนที่เป็นประจำช่วยให้งานเขียนของพวกเขาประสบความสำเร็จได้ 

ต่อจากนี้เป็นไทม์ไลน์ช่วงเวลาของนักเขียนที่ตื่นนอนขึ้นมาเร็วที่สุด เริ่มต้นด้วยการนอนไม่หลับของ Balzac ที่ทำให้เขาตื่นตั้งแต่ตีหนึ่ง และสิ้นสุดลงด้วยการตื่นนอนที่ไม่เป็นเวลาของ Bukowski ในตอนเที่ยง รวมถึงแสดงผลงานของนักเขียนแต่ละคนที่สร้างสรรค์งานเขียนจนมีชื่อเสียงระดับโลก

ช่วงเวลา 01.00 น.

1. ออนอเร เดอ บาลซัก (Honoré de Balzac, 1799-1850) นักเขียนชาวฝรั่งเศส ผู้เขียนนิยายเรื่อง La Comédie humaine ที่นำเสนอฉากชีวิตของชาวฝรั่งเศสหลังจากที่นโปเลียนที่ 1 สิ้นอำนาจลง บาลซักมีอิทธิพลต่อนักเขียนผู้มีชื่อเสียงอีกหลายคน รวมถึงนักเขียนนวนิยาย อีมิล โซลา, ชาร์ลส์ ดิกเกนส์, กุสตาฟว์ โฟลแบร์, และเฮนรี เจมส์ นอกจากนี้ ผลงานของบาลซักอีกหลายเรื่อง ได้รับการดัดแปลงจนกลายเป็นภาพยนตร์ และยังเป็นแหล่งข้อมูลที่สร้างแรงบันดาลใจแก่นักเขียน ผู้สร้างภาพยนตร์ และนักวิจารณ์อีกมากมาย 

ช่วงเวลา 04.00 น.

2. ฮารูกิ มูรากามิ (Haruki Murakami, 1949- ) เป็นนักเขียนชาวญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงในระดับโลก ผลงานของเขาถูกนำไปแปลมากกว่า 50 ภาษา สไตล์การเขียนนิยายของเขามักจะสอดแทรกอารมณ์ขัน และตลกร้ายของธรรมชาติ รวมถึงเรื่องราวหลากมิติประหลาดๆ ที่ทำให้นักอ่านอยากติดตาม และค้นหาสิ่งที่เขาซ่อนไว้ในงานเขียน โดยนักเขียนที่มีอิทธิพลต่อเขาได้แก่ เรย์มอนด์ แชนด์เลอร์, เคิร์ท วอนเนกัต และ ริชาร์ด บราทิแกน

3. ซิลเวีย แพลท (Sylvia Plath, 1932-2963) คือ กวีหญิงคนสำคัญของอเมริกา ชื่อเสียงของเธอโด่งดังมาจากนวนิยายและบทกวีชุดต่างๆ เช่น Ariel, Crossing the Water (1970), Winter Trees (1971) และ The Collected Poems (1981) ซึ่งได้รับรางวัลพูลิตเซอร์อันทรงเกียรติในปี 1982 โดยนวนิยายเรื่องแรกและเรื่องสุดท้ายของเธอได้แก่ ในกรงแก้ว (The Bell Jar)

ช่วงเวลา 05.00 น.

4. โทนี มอร์ริสัน (Toni Morrison,1931-2019) นักเขียนหญิงชาวแอฟริกันอเมริกันคนแรก ที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ในปี 2536 และมีผลงานที่ถูกตีพิมพ์แล้วถึง 11 เล่ม โดยนิยายเรื่องแรกของเธอ คือนิยายเรื่อง Bluest Eye ถูกตีพิมพ์ในปี 1970 ขณะที่หนังสือที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ ได้แก่นิยายเรื่อง Beloved
 

5. โอลิเวอร์ แซ็กส์ (Oliver Sacks, 1933-2015) เขาเป็นทั้งประสาทแพทย์และนักเขียนที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องราวของคนไข้ให้คนทั่วไปอ่านแล้วเข้าใจได้ง่าย ผลงานของเขาที่สร้างชื่อ ได้แก่ The Man who mistook his wife for a hat และ Musicophilia
 


6. เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin,1706-1790) เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันที่นอกจากจะสร้างผลงานที่น่าจดจำแล้วเขายังมีฐานะเป็นนักการเมือง ที่เป็นทั้งนักเขียน และผู้นำการเคลื่อนไหวคนสำคัญไปสู่การแยกตัวออกจากอาณานิคมและร่วมก่อตั้งชาติสหรัฐอเมริกา

7-10. Margaret Mead,1901-1978, Immanuel Kant,1724-1804, Edith Sitwell,1887-1964, Twyla Tharp,1941-

ช่วงเวลา 06.00 น.

  11. เออร์เนสต์ มิลเลอร์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway,1899-1961) นักเขียนรางวัลโนเบล และนักเขียนเรื่องสั้นชาวอเมริกัน เจ้าของผลงาน The Old Man and the Sea

12. เคิร์ต วอนเนกัต (Kurt Vonnegut,1922-2007) เขาเป็นนักเขียนที่มีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของศตวรรษที่ 20 และผลงานสร้างชื่อของเขาได้แก่ โรงฆ่าสัตว์หมายเลข 5 (Slaughterhouse-Five) วอนเนกัต เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนิสัยการนอนไว้ว่า

“ฉันตื่นนอนเวลา 7:30 น. และทำงานสี่ชั่วโมงต่อวัน เก้าถึงสิบสองในตอนเช้าห้าถึงหกโมงในตอนเย็น นักธุรกิจจะได้รับผลลัพธ์ที่ดีกว่าหากพวกเขาศึกษาการเผาผลาญของมนุษย์ ไม่มีใครทำงานได้ดีแปดชั่วโมงต่อวัน ไม่มีใครควรทำงานเกินสี่ชั่วโมง”

13-17. Isaac Asimov,1920-1992, Edith Wharton,1862-1937, Flannery O'Connor, 1925-1964, Vladimir Nabokov, 1899-1977, maira Kalman, 1949- 

ช่วงเวลา 07.00 น.

18. ชาร์ลส์ ดิกคินส์ (Charles Dickens,1812-1870) เป็นนักเขียนนักประพันธ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของอังกฤษ ผลงานที่สร้างชื่อให้กับเขาได้แก่ A Christmas Carol, และ Oliver Twist

19-20. Roger Ebert,1942-2013, Johann Wolfgang von Goethe,1749-1832

 

ช่วงเวลา 08.00 น.

21. ฟรานซ์ คาฟคา (Franz Kafka, 1883-1924) เป็นนักเขียนนิยายชาวยิวที่มีผลงานโดดเด่นมากๆ แม้ว่างานของเขาส่วนใหญ่จะเป็นงานที่ยังเขียนไม่เสร็จ แต่เรื่องราวที่เขาต้องการสื่อ รวมถึงภาษาที่ใช้ในการเขียน ส่งผลให้นักอ่านเข้าใจโลกในมุมมองของชายหนุ่มที่แฝงไปด้วยการกดขี่ทางอำนาจอย่างเต็มเปี่ยม โดยผลงานของเขาได้แก่ นิยายเรื่อง The Castle (ซึ่งหยุดเขียนกลางประโยคและมีเนื้อหาที่กำกวม), The Trial (ไม่ได้เรียงลำดับบท และบางบทก็เขียนไม่เสร็จ) และ Amerika (ชื่อเดิมที่ตั้งไว้คือ The Man who Disappeared) 

22-26.  Stephen King (1947), Gay Talese (1932), Charles Darwin (1809-1882). Susan Sontag (1933-2004), Carl Jung (1875-1961)

ช่วงเวลา 09.00 น.

27. ซี. เอส. ลูอิส (C.S. Lewis,1898-1963) คือนักเขียนชาวอังกฤษที่เป็นที่รู้จักจากวรรณกรรมชุดตำนานแห่งนาร์เนีย ( The Chronicles of Narnia) และได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเขียนเรื่องศาสนาคริสต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 โดยผลงานการเขียนด้านศาสนาที่มีชื่อเสียงของเขาได้แก่ The Screwtape Letters และ  Mere Christianity

28-32. Ray Bradbury (1920-2012), Leo Tolstoy (1828-1910), Gore Vidal (1925-2012), Virginia Woolf (1882-1941), William S.Burroughs (1914-1997)

ช่วงเวลา 10.00 น.

32-35. simone de Beauvior (1908-1986), Gertrud Stein (1874-1946), James Joyce 1882-1941

ช่วงเวลา 11.00 น.

36. เอฟ. สกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (F.Scott Fitzgerald, 1896-1940) เขาคือหนึ่งในนักเขียนอเมริกันที่สำคัญของศตวรรษที่ 20 ฟิตซ์เจอรัลด์ได้รับยกย่องว่าเป็นนักเขียนที่ถ่ายทอดภาพของสังคมสมัยนั้นได้ละเอียดและงดงามที่สุด ซึ่งผลงานที่ทำให้ผู้คนตกหลุมรักเขาก็คือนิยายเรื่อง The Great Gatsby 
 

ช่วงเวลา 12.00 น.

37. ชาลส์ บูเคาว์สกี (Charles Bukowski,1920-1994) เป็นกวี นักเขียนนิยาย และเรื่องสั้น งานของเขามักจะเน้นชีวิตของชาวอเมริกันที่ยากจน จนได้รับฉายาจากไทม์ว่า “นักเขียนเอกแห่งชีวิตอเมริกันชั้นต่ำ” (laureate of American lowlife)

 

ทั้งหมดนี้ คือนิสัยการนอนของนักเขียนชื่อดังที่ไม่มีใครสามารถให้คำตอบที่แน่ชัดได้ว่า ช่วงเวลาตื่นนอนของพวกเขาเกี่ยวข้องกับการสร้างงานเขียนที่ทรงคุณค่าขึ้นมาบนโลกใบนี้หรือไม่ แต่หากลองพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในแต่ละช่วงเวลา จะเห็นว่านักเขียนทั้ง 37 คนนี้ มีระยะเวลาการตื่นนอนที่ใกล้เคียงกัน และค่อนข้างเป็นชีวิตประจำวันของพวกเขา ซึ่งหากเทียบกับผลงานที่พวกเขาสร้างขึ้นมา ก็ดูมีเค้าโครงที่ทำให้เชื่อได้ว่าช่วงเวลาตื่นนอนเหล่านี้อาจส่งผลในทางใดทางหนึ่งให้งานเขียนของพวกเขาประสบความสำเร็จขึ้นมาได้ ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่พี่อยากให้ทุกคนได้สังเกตกัน ก็คือพวกเขาทุกคนมีกิจวัตรประจำวัน นั่นแสดงให้เห็นว่า การทำงานในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันเหมือนที่สตีเฟ่น คิง ทำและจากนักเขียนทั้ง 37 คนที่ตื่นนอนในช่วงเวลาเดียวกันเสมอ เป็นหนึ่งในวิธีที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จเหมือนพวกเขาได้แน่นอนที่สุด แล้วทุกคนล่ะคะ คิดเห็นกับเรื่องนี้ยังไงบ้าง ^^

พี่แนนนี่เพน

 

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก
https://www.brainpickings.org/2013/10/14/stephen-king-on-writing-and-creative-sleep/
https://www.brainpickings.org/2012/11/20/daily-routines-writers/
https://www.brainpickings.org/2013/12/16/writers-wakeup-times-literary-productivity-visualization/
https://en.wikipedia.org/wiki/Honor%C3%A9_de_Balzac
http://www.harukimurakami.com/author 
https://en.wikipedia.org/wiki/Sylvia_Plath 

Deep Sound แสดงความรู้สึก

พี่แนนนี่เพน
พี่แนนนี่เพน - Columnist สาวเหนือที่มีความสุขกับการเขียนนิยาย และเชื่อว่านิยายให้อะไรดีๆ กับสังคมเสมอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด