“เด็กหญิงจากโลกอดีต” นักเขียนสาวที่มีงานแปลเป็นอาชีพหลัก และก้าวสู่เส้นทางนักเขียนด้วยความฝัน!

อย่าคิดว่างานของเราดีพอแล้ว อย่าหยุดอยู่แค่นี้

เด็กหญิงจากโลกอดีต

สวัสดีค่ะ น้องๆ ชาวเด็กดีทุกคน ช่วงนี้พี่แนนนี่เพนเห็นกระแสนิยายแปลกำลังได้รับความนิยมจากนักอ่านจำนวนมาก พี่เลยอยากชวนทุกคนมารู้จัก “พลอย” นักเขียนสาวนามปากกา “เด็กหญิงจากโลกอดีต” ที่เบื้องหลังของเธอคือ “นักแปล” ผู้มีผลงานมาแล้วมากมาย ทั้งแปลหนังสือสำหรับเด็กสามขวบ แปลนิยายรักวัยรุ่น ตลอดจนแปลหนังสือบริหารธุรกิจนู่นเลยค่ะ งานแปลของเธอค่อนข้างหลากหลายพอๆ กับแนวนิยายที่เขียนเลยค่ะ ตั้งแต่รักแฟนตาซีเรื่อง ปริศนาปราสาทครอสตัน มาจนถึงนิยายวายเรื่อง รักของผม (ไม่) ส้มหวาน ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของเพื่อนสนิทในรั้วมหา’ ลัยออกมาได้อย่างกลมกล่อม แถมยังเป็นนิยายวายเรื่องแรกที่ทำให้พลอยมองเห็นเส้นทางนักเขียนชัดเจนมากขึ้นอีกด้วย 

แค่เรื่องราวเบื้องหลังของนักแปล ก็ทำให้พี่แนนนี่เพนมีเรื่องมาคุยกับพลอยได้ยืดยาวมากพอแล้ว แต่เรื่องเล่าจากนิยายวายเรื่องล่าสุดของเด็กหญิงจากโลกอดีตก็น่าสนใจไม่แพ้กันเลยสักนิด เรามาทำความรู้จักนักเขียนสาวคนนี้ รวมถึงนิยายที่เธอเขียน และเบื้องหลังการทำงานของนักแปลที่ทุ่มเทกันแบบสุดๆ กันเลยค่ะ 
 

อ่านผลงานของ     เด็กหญิงจากโลกอดีต


 

“พลอย” นักเขียนนามปากกาเด็กหญิงจากโลกอดีต และนักแปลนามปากกาเพตรา

สวัสดีชาวเด็กดีทุกคนค่ะ เด็กหญิงจากโลกอดีตนะคะ หรือจะเรียกว่าพลอยก็ได้ค่ะ พลอยยังมีอีกนามปากกาหนึ่งที่ยังไม่เคยเปิดเผยที่ไหนเลย แอบบอกตรงนี้เลยแล้วกันว่าคือ เพตรา ค่ะ จริงๆ นามปากกาเพตรานี้ใช้มาก่อนเด็กหญิงจากโลกอดีตอีกค่ะ แต่ใช้สำหรับหนังสือนิยายแปลอย่างเดียว ส่วนหนังสือประเภทอื่นๆ ที่พลอยเขียนหรือแปลพลอยจะใช้ชื่อจริงว่า พชร อยู่สวัสดิ์ ค่ะ ตอนนี้ก็เริ่มทำงานแปลมาน่าจะตั้งแต่ราวๆ ปลายปี 2012 ค่ะ จากนั้นก็ค่อยๆ ขยับมาทำงานเขียนบ้าง ตอนนี้ทำทั้งงานแปลและงานเขียนเลยค่ะ 
 

แม้อาชีพหลักจะเป็นนักแปล แต่การเป็นนักเขียนคือความฝัน 

งานแปลเป็นอาชีพหลักค่ะ จุดเริ่มต้นตลกมาก ตอนนั้นเพื่อนของแฟนที่เคยไปอยู่ญี่ปุ่น เขาสมัครแปลหนังสือญี่ปุ่นพวกไลต์โนเวลกับมังงะแล้วก็ได้งานทำควบคู่ไปกับงานประจำ พลอยก็เลยนึกขึ้นได้ว่าเราน่าจะทำบ้างนะ สมัยนั้นทำงานเป็นเลขาฯ บริษัทต่างชาติ แต่รู้สึกว่าอยากทำงานอะไรที่ใช้ภาษาจริงๆ จังๆ มากกว่านี้ บวกกับความรู้สึกที่ว่าเราอยากกลับไปเขียนอีกจังเลยมันก็เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ถ้าเราได้แปล เราน่าจะได้อ่านเพิ่มมากขึ้นด้วย น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ดี สุดท้ายก็เลยลองสมัครไป และได้เริ่มทำงานกับสำนักพิมพ์เกรซ หรือชื่อเดิมคือสำนักพิมพ์ภัทราค่ะ 

งานแปลเป็นความฝันของเราไหมคะ? 

พลอยไม่แน่ใจว่าเรียกว่าเป็นความฝันได้ไหม เพราะฝันจริงๆ คืออยากเป็นนักเขียนมากกว่า แต่คงต้องเรียกว่ามันเป็นงานที่เราเลือกและเป็นงานที่เราภูมิใจ ตอนสมัยเรียนก็เคยคิดนะคะว่าน่าจะทำงานแปล เพราะว่าจะได้ใช้ภาษาที่เรียนมาได้อย่างเต็มที่ พลอยคิดแค่นั้นแล้วก็ตัดสินใจเลยว่าคงต้องทำงานแปลเนี่ยแหละ ด้วยความที่ชอบภาษาอังกฤษ พอเห็นเพื่อนสมัครงานแปลก็เหมือนเป็นตัวกระตุ้นให้เราทำในสิ่งที่คิดว่าเหมาะกับเรา 

แต่กลายเป็นคิดผิดมากๆ พลอยจะถนัดภาษาอังกฤษมากกว่า ตอนเรียนเอกภาษาอังกฤษ ถูกสอนมาว่าให้คิดเป็นภาษาอังกฤษ จนกระทั่งพอเรียนทั้งปริญญาตรีและปริญญาโทจบก็คิดเป็นภาษาอังกฤษไปเลย แต่แท้จริงแล้วการจะแปลให้ดี เราต้องเก่งภาษาปลายทางมากๆ อาจจะยิ่งกว่าหรือเทียบเท่าภาษาต้นทางเลย เพื่อที่จะเรียบเรียงออกมาได้ถูกต้องและสละสลวย ฉะนั้นช่วงแรกที่เริ่มทำงานแปลจึงลำบากมากๆ เพราะว่าพลอยเขียนภาษาไทยไม่ได้เรื่องเลย ไม่มีคลังคำ ที่ผ่านมาก็อ่านแต่หนังสือภาษาอังกฤษ กลับกลายเป็นว่าพอพลอยเริ่มมาเขียนนิยาย งานแปลก็ดีขึ้นไปด้วย เนื่องจากการฝึกเขียนเยอะๆ ช่วยพัฒนาการคิดและการเขียน ทำให้พอไปแปลกลับแปลได้เป็นธรรมชาติกว่าเดิม 
 

เส้นทางนักเขียนที่เริ่มต้นมาจาก “แฟนฟิก”

ย้อนไปสมัยมัธยมต้น พลอยชอบเขียนมากๆ แต่ตอนนั้นจะชอบเขียนแฟนฟิกศิลปินวง w-inds. จากประเทศญี่ปุ่นค่ะ เขียนเล่นๆ ลงตามบอร์ดนะคะ เป็นแฟนฟิกวาย สมัยนั้นวายยังไม่แพร่หลายเลย จะเรียกว่าใต้ดินก็ได้มั้ง แต่ว่าพอขึ้นมหาวิทยาลัยก็หยุดเขียนไปเลยค่ะ เพราะว่ามุ่งเรื่องเรียนอย่างเดียว พลอยเรียนเอกภาษาอังกฤษด้วย แทบจะไม่ได้เขียนภาษาไทยเท่าไหร่เลยค่ะ แต่พอเรียนจบทำงาน พลอยก็เริ่มรับงานแปลฟรีแลนซ์ไปด้วย นิยายที่แปลเล่มแรกชื่อว่า ‘Silk is for Seduction’ ของ Loretta Chase ชื่อเรื่องภาษาไทยว่า ‘เล่ห์รักร้อยดวงใจ’ ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เกรซค่ะ หลังจากนั้นพักหนึ่งพลอยก็ออกมาทำฟรีแลนซ์อย่างเดียว รับงานหลากหลายมากขึ้น มีทั้งงานแปลหนังสือฮาวทู แปลหนังสือนิทาน แล้วก็เขียนหนังสือสอนภาษาสำหรับเด็กเล็ก งานแปลนิยายก็ยังทำอยู่ด้วยค่ะ พลอยรับงานสลับกันไปแล้วแต่ว่าช่วงไหนมีโอกาสให้เราทำอะไรบ้าง งานที่ผ่านมาเลยค่อนข้างหลากหลายเรียกได้ว่าทำตั้งแต่หนังสือสำหรับเด็กสามขวบไปจนถึงงานแปลนิยายเลยไปถึงหนังสือบริหารธุรกิจนู่นเลยค่ะ

แต่กว่าจะเริ่มเขียนนิยายก็ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2017 ค่ะ ปีนั้นเป็นปีที่หยุดเขียนครบราวๆ 10 ปีพอดี จริงๆ ที่ตอนแรกไปรับงานแปลก็เพราะว่าอยากกลับมาเขียนนิยายอีกครั้ง หลังจากจบมัธยมปลายพลอยหมดไฟไปเลย รู้สึกว่าตัวเองเขียนอะไรที่ไม่ใช่แฟนฟิกศิลปินไม่ได้เลย แล้วพอเราเริ่มโตขึ้น ไม่ได้ตามศิลปินเหมือนตอนเด็กๆ ก็ไม่รู้จะเขียนอะไร มีความรู้สึกอยากเขียนงานที่เป็นนิยายจริงๆ นะ แต่ไม่มีวัตถุดิบเลย ช่วงที่ไม่ได้เขียนพลอยก็ผันตัวไปเป็นนักอ่าน งานแปลช่วยให้ได้อ่านมากขึ้นด้วยค่ะ จนตอนนั้นคิดว่ามันถึงเวลาแล้วแหละที่จะกลับมาเขียนอีกครั้ง พอถึงเดือนกุมภาพันธ์จะนึกถึงช่วงที่กลับมาเขียน แล้วคิดว่าเราผ่านมาอีกปีแล้วนะ 
 


 

อยากเป็น “เด็กหญิงจากโลกอดีต” ที่เขียนนิยายได้อีกครั้ง

เด็กหญิงจากโลกอดีตมาจากตัวเราเองค่ะ ตอนนั้นที่ตั้งนามปากกา พลอยคิดถึงตัวเองตอนเด็กๆ ที่มีความมุ่งมั่นในการเขียน แต่พอโตขึ้นก็กลับหมดไฟ พอตัดสินใจเริ่มเขียนอีกครั้งเลยพยายามจะนึกถึงพลังความรักที่มีต่อการเขียนของเด็กหญิงคนเดิม เพราะเด็กคนนั้นก็คือตัวเราเอง เมื่อก่อนพลอยเขียนแฟนฟิกเยอะมากเลย ในเวลาไม่กี่ปีเขียนได้ยี่สิบเรื่องได้มั้ง ทั้งเรื่องสั้นและยาวรวมกันนะคะ แต่เรื่องยาวก็หลายเรื่อง มันเขียนไปด้วยความปรารถนาอันแรงกล้า และอาจจะด้วยความเป็นเด็ก เขียนไปโดยที่ไม่ได้คิดผิดถูกอะไรมากนัก พลอยอยากกลับไปเป็นแบบนั้นอีก เด็กหญิงจากโลกอดีตก็คือตัวเราที่กลับมาเขียนอีกครั้ง

ตอนนี้นอกจากเด็กหญิงจากโลกอดีต เพตรา แล้วก็ชื่อจริง ยังไม่มีนามปากกาอื่นนะคะ ในอนาคตอาจจะอวตารไปเขียนแนวอะไรแปลกๆ ด้วยนามปากกาใหม่ แต่ถึงตอนนั้นก็คงเก็บไว้เป็นความลับ สรุปคือถึงมีมากกว่านี้ก็ไม่บอกหรอก อิอิ
 

ผลกระทบและสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานแปล 

การทำงานแปลมาก่อนกระทบกับการเขียนนิยายมากค่ะ ทั้งวิธีคิด สำนวน และการนำเสนอ หนังสือแปลหรือนิยายแปล ไม่ว่าจะยังไงก็มีสำนวนของมัน และมีวัฒนธรรมต่างๆ ติดมากับภาษาต้นฉบับด้วย อย่างงานแปลญี่ปุ่น งานแปลจีน และงานแปลฝรั่ง ถ้าหากเราลองคิดเปรียบเทียบกันดูจะรู้เลยว่าต่างกันมาก เพราะฉะนั้นอย่างแรกเลยคือพลอยติดสำนวนภาษาอังกฤษ ยิ่งถนัดเขียนภาษาอังกฤษ วิธีการคิดและเขียนก็เป็นแบบภาษาอังกฤษด้วย เพื่อนที่ช่วยพิสูจน์อักษรให้ยังพูดเลยว่าประโยคมันติดสำนวนฝรั่ง ใช้คำเชื่อมแปลกๆ ที่ในภาษาอังกฤษใช้แบบนี้ แต่ภาษาไทยไม่ใช้กัน อันนี้คือเรื่อง ‘รักของผม (ไม่) ส้มหวาน’ นะคะ แต่ถ้าเขียนนิยายไทยไปเลยก็จะไม่เป็น เหมือนเราปรับโหมด แต่พอเป็นนิยายที่กลุ่มเป้าหมายอายุน้อยลงมาหน่อย พลอยจะติดสำนวนฝรั่ง พวกวัฒนธรรมก็เหมือนกัน พลอยจะชินกับวัฒนธรรมเมืองนอกมากกว่า เพราะพลอยเรียนมาทางด้านนี้ ภาษามันแทรกซึมอยู่ในทุกๆ อย่างของคนที่พูดภาษานั้นเลยก็ว่าได้ค่ะ เวลาเขียนบางทีพลอยจะต้องไปปรึกษาเพื่อนๆ ก่อนว่าเรื่องแบบนี้มันปกติหรือเปล่า คนไทยคิดหรือทำแบบนี้ไหม แต่ตรงนี้ถ้าเป็นนิยายวัยรุ่นหน่อยคงจะไม่มีปัญหาเท่าไหร่ เพราะสมัยนี้เรารับวัฒนธรรมต่างชาติกันมามาก ถ้าเขียนนิยายรักไทยๆ จะมีปัญหา

แต่งานแปลก็ช่วยงานเขียนมากๆ เลยเหมือนกันค่ะ งานแปลทำให้รอบคอบ ทั้งการสะกดคำและความหมายต้องตรวจแล้วตรวจอีกว่าคำนี้ถูกหรือเปล่าในบริบทนี้ เพราะว่าเคยโดนบ.ก.ติงมาเป็นคำๆ เลยตั้งแต่สมัยเริ่มงานใหม่ๆ ตอนแปลจะใช้ดิกชันนารีเป็นสิบๆ เล่ม พอมาเขียนก็ใช้วิธีเดิม (บางทีแปลอังกฤษเป็นไทยอีก เพราะนึกไม่ออก) นอกจากนั้นงานแปลทำให้เราเข้าใจการเล่าเรื่องและการบรรยายหลายๆ รูปแบบด้วยค่ะ เพราะว่านิยายหรือหนังสือแต่ละเรื่องที่แปลก็ต่างคนเขียน นักเขียนแต่ละคนเลือกคำ มีวิธีการบรรยายและนำเสนอไม่เหมือนกัน แล้วเวลาแปลเราจะต้องอ่านหนังสือเล่มนั้นซ้ำๆ อย่างน้อยห้ารอบ ทำให้เราเข้าใจมันลึกซึ้งถึงแก่น พอมาเขียนเราจะไม่ค่อยตัน ไม่ค่อยรู้สึกว่าถ้าจะเล่าเหตุการณ์แบบนี้ต้องอธิบายยังไงนะ เพราะเราจะเห็นมาเยอะแล้ว ตอนแปลเลือกคำยากกว่าอีกด้วยซ้ำ บางคำไม่มีภาษาไทยก็มี
 

งานแปลต้องคิดเหมือนต้นฉบับต่างจากงานเขียนที่คิดได้อิสระมากกว่า

เสน่ห์ของงานแปลคือเป็นงานที่ลึกซึ้งและละเอียดอ่อน งานแปลต้องผ่านหลายกระบวนการ คือต้องอ่านให้แตกก่อน จากนั้นต้องเขียนให้ถูกตามต้นฉบับ แล้วยังต้องให้มันสละสลวยในภาษาไทยของเราด้วย เหมือนเราต้องเป็นนักอ่าน แล้วก็เป็นนักเขียนด้วย อะไรที่นักเขียนเข้าใจเราก็ต้องเข้าใจ อะไรที่นักเขียนรู้สึกเราก็ต้องรู้สึก และเขียนมันออกมาให้ได้ มันเป็นงานที่ยากมากๆ จนถึงตอนนี้ก็ยังรู้สึกว่ายังทำได้ไม่ดีพอ 

แปลกับเขียนหลายคนอาจจะคิดว่าคล้าย แต่สำหรับพลอยคือต่างกันมาก งานแปลเราไม่ได้เป็นตัวของตัวเองหรอกค่ะ เวลาเลือกคำก็จะเลือกเพราะว่าคำนี้มันถูกต้อง นักแปลรุ่นเก่าๆ เขาใช้กันมาอย่างนี้ คราวที่แล้วบ.ก. แก้เป็นแบบนี้มานะ เราก็ต้องพยายามจำและเรียนรู้ คราวต่อไปเราก็จะใช้ให้ถูกต้อง เราจะเขียนอะไรตามใจตัวเองไม่ได้เลย ต้องแปลตามที่นักเขียนสื่อ จะไม่ค่อยกล้าคิดคำอะไรเอง ตรงกันข้ามกับงานเขียนที่เราอิสระกว่ามากค่ะ
 

อ่านผลงานของ     เด็กหญิงจากโลกอดีต

ส่วนเรื่องการหาข้อมูล ส่วนมากหาข้อมูลเยอะทั้งเขียนและแปล แต่ว่าก็จะต่างกันนิดหน่อย เวลาแปลเราหาข้อมูลเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่นักเขียนเข้าใจก่อน บางทีเราต้องแปลอะไรที่เราไม่เคยรู้เรื่องมาก่อนเลยก็จะต้องสืบค้นนานมาก นอกจากนั้นอาจจะต้องเขียนอธิบายเพิ่มในเชิงอรรถอีก ซึ่งตรงนี้เราก็ต้องหาข้อมูลมา ในส่วนที่เราเองไม่รู้เพื่อมาบอกนักอ่านอีกที หรืออะไรที่เรารู้อยู่แล้ว แต่คิดว่านักอ่านอาจจะไม่คุ้นเคย เราก็ต้องอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆ ส่วนมากข้อมูลที่ต้องหาเพิ่มคือเรื่องที่เราไม่รู้หรือไม่ได้สนใจมาก่อน งานแปลจึงให้ความรู้กับเรามากๆ พลอยเคยแปลนิยายวายคาวบอย ตอนนั้นได้รู้เรื่องใหม่ๆ เพียบเลย ตรงนี้เป็นจุดเด่นของงานแปลเลยค่ะ บางคนที่ไม่ชอบก็อาจจะคิดว่าน่าเบื่อมั้ง แต่พลอยชอบ มันเหมือนเราได้พัฒนาตัวเอง เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอด แต่ส่วนมากถ้าเป็นหนังสือ non-fiction ข้อมูลก็หาได้ทั่วไปในอินเทอร์เน็ตนะคะ แต่ถ้าเป็นนิยายก็มีบางทีที่ไม่เข้าใจจริงๆ ก็จะเมลถามคนเขียน

งานเขียนส่วนมากเราจะเริ่มจากเรื่องใกล้ตัว หรือเรื่องที่เรารู้อยู่แล้ว อย่างนั้นมันก็จะง่ายหน่อย ไม่ต้องหาข้อมูลมาก แต่มันก็ไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไป พลอยเคยต้องเขียนเรื่องที่ไม่รู้มาก่อนเหมือนกัน อย่างเรื่อง ‘สรวงอำพราง’ เป็นนิยายแนวโรแมนติกลึกลับ นางเอกทำงานที่สวนสนุก เราก็จำเป็นต้องรู้ว่าในสวนสนุกเป็นยังไง ตอนนั้นก็ต้องไปเที่ยวสวนสนุก หาข้อมูลเยอะเหมือนกันค่ะ หรืออย่างตอนเขียนหนังสือสอนคำศัพท์ภาษาอังกฤษสำหรับเด็กเล็ก ทำกับสำนักพิมพ์ลิตเติ้ลฮาร์ท ต้องจินตนาการว่าพาน้องๆ ไปเที่ยวท้องฟ้าจำลอง เราเองก็ต้องไปที่นั่นเองจริงๆ เพื่อให้ได้รู้ว่าที่ท้องฟ้าจำลองมีอะไรบ้าง แล้วเด็กๆ ควรจะรู้คำศัพท์อะไรบ้าง ตอนเขียนเกี่ยวกับสัตว์โลกก็ซื้อหนังสืออ้างอิงมาเยอะแยะเลย สรุปแล้วการหาข้อมูลเขียนเหมือนจะเสียเงินมากกว่า และต้องไปค้นหาด้วยตัวเอง เป็นงานที่เราต้องใกล้ชิดกับข้อมูลมากกว่า
 

นักแปลและนักเขียนต่างต้องใช้จินตนาการเหมือนกัน 

เรื่องนี้พลอยกลับคิดว่าต้องใช้จินตนาการมองพอๆ กันเลยค่ะ โดยเฉพาะถ้าเป็นนิยายแปล เพราะว่าแนว non-fiction ส่วนมากเนื้อหาจะเป็นข้อมูล หรือการบอกเล่าเรื่องราวทั่วๆ ไป อาจจะไม่ต้องใช้ความรู้สึกมาก แต่ว่าถ้าเป็นนิยาย ไม่ว่าจะเขียนหรือแปลเราก็ต้องใช้ความรู้สึกในการทำความเข้าใจด้วย นักเขียนส่วนมากก็จะมีการใช้คำที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ภาษาในนิยายจะไม่เหมือนภาษาหนังสือประเภทอื่น บ่อยครั้งเราก็ต้องใช้ความรู้สึกสัมผัสกับภาษา แล้วจินตนาการว่าถ้าเป็นภาษาไทยเราจะบรรยายอย่างไรได้บ้างเพื่อให้สื่อความรู้สึกนั้นออกมาได้ตรงที่สุดค่ะ  
 

แนวนิยายที่เขียนเลือกจากแนวที่ใช่ ณ เวลานั้น 

จริงๆ พลอยชอบหลายแนวนะคะ เพราะว่าในฐานะนักอ่านพลอยก็อ่านแทบทุกแนวเลยค่ะ และในฐานะนักแปลก็แปลมาหลายประเภท สามปีกว่าที่ผ่านมา พลอยเขียนนิยายมาสี่เรื่อง แต่ว่า ‘ปริศนาปราสาทครอสตัน’ มีสามภาค รวมๆ กันแล้วเลยได้หก แต่ในสี่เรื่องมีสามแนวคือรักแฟนตาซี รักโรแมนติก ลึกลับ แล้วก็วาย พลอยบอกไม่ได้เหมือนกันว่าชอบแนวไหนมากที่สุด เพราะว่าก็ชอบหมดเลย เห็นตอนนี้พลอยเขียนนิยายฟีลกู๊ด แต่จริงๆ พลอยชอบอ่านนิยายสยองขวัญของ Stephen King มาก แต่ว่าหลังจากนี้พลอยก็คงจะเขียนนิยายวายไปอีกนานเลยค่ะ เพราะว่าตอนนี้มีพล็อตอยู่หกเจ็ดเรื่องได้ 

ส่วนเรื่องแนวที่เขียน ขอตอบแบบอินดี้ๆ ได้ไหมคะ พลอยเลือกแนวที่ใช่สำหรับพลอย ณ เวลานั้น พลอยว่าตอนนี้มันคือเวลาของนิยายวายสำหรับพลอยนะ ตอนนี้พลอยแปลนิยายวายกับสำนักพิมพ์ไพรด์ (แก้วกานต์) ด้วยค่ะ มีผลงานออกมาสองเรื่องแล้ว เรื่องที่สามก็กำลังทำอยู่ค่ะ ทำมานานแล้วเหมือนกันเพราะว่าเป็นซีรีส์มีสามเล่ม และด้วยความเป็นสาววายมาตั้งแต่เด็ก ยังไงพล็อตแนวๆ นี้มันมาได้ตลอดอยู่แล้วด้วย ตอนนี้พลอยเลยฟินอยู่ในดงวายค่ะ ไม่ได้หมายความว่าพลอยจะเขียนแนวอื่นควบคู่ไปไม่ได้นะ ถ้ามีเวลาก็คงจะเขียนหลายๆ แนวพร้อมกัน แต่ตอนนี้หลักๆ คือมุ่งนิยายวายค่ะ
 

อ่านผลงานของ     เด็กหญิงจากโลกอดีต


 

รักของผม (ไม่) ส้มหวาน นิยายวายเรื่องแรกที่ตั้งใจเขียนแนว Coming of age

เมื่อก่อนพลอยเขียนแต่ฟิกวาย เพราะฉะนั้น ‘รักของผม (ไม่) ส้มหวาน’ เลยถือเป็นนิยายวายจริงๆ เรื่องแรกของพลอย พลอยเป็นสาววายมาตั้งแต่เด็ก การอ่านหรือดูอะไรที่เป็นวายๆ มันเป็นธรรมชาติมาก เพราะฉะนั้นพอเขียนก็มีความสุข มันเหมือนเป็นการแบ่งปันอะไรฟินๆ กันระหว่างสาววายด้วยกัน แต่ว่านิยายวายมันเป็นมากกว่ากระแส พลอยเป็นคนที่คุ้นเคยกับเรื่องรักเพศเดียวกันและเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ต่างจากความรักต่างเพศเลย สำหรับพลอยความรักก็คือความรัก พลอยมีคนใกล้ชิดทั้งเพื่อนทั้งคนในครอบครัวที่รักเพศเดียวกันเยอะแยะเลย การเขียนนิยายวายของพลอยมันเลยไม่ใช่แค่เขียนเรื่องราวฟินๆ แล้วจบไป แต่มันเป็นการแสดงมุมมองในเรื่องนี้ด้วย สมัยนี้ยังมีคนกีดกันรักเพศเดียวกันอยู่เลยนะคะ พลอยอยากแสดงจุดยืนว่าความรักไม่ว่าจะในมิติไหนๆ มันก็เป็นเรื่องที่ดีทั้งนั้น และคนที่อ่านงานวายก็ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้หญิง หรือเป็นสาววายเท่านั้น เพราะเรานำเสนอข้อความที่มันลึกซึ้งกว่านั้นลงไปด้วย เรียกได้ว่ามันเป็นนิยายรักเรื่องหนึ่งที่ไม่มีการแบ่งเพศ

นิยายเรื่องนี้เริ่มต้นมาจากชื่อก่อน ขำตัวเองมากๆ น่าจะเมื่อสองหรือสามปีก่อน ตอนนั้นพลอยยังเขียน ‘ปริศนาปราสาทครอสตัน’ อยู่เลยมั้ง วันนั้นพลอยหยิบส้มมากิน แล้วมันหวานมาก คือพลอยไม่ชอบกินส้มที่มีรสหวานนำ ชอบเปรี้ยวๆ มากกว่า พลอยเลยปิ๊งไอเดียชื่อนิยายวายขึ้นมาว่า ‘รักของผม (ไม่) ส้มหวาน’ อยากจะเขียนเรื่องราวความรักระหว่างเด็กหนุ่มนักศึกษาสองคน ที่มีเรื่องของเด็กสาวที่ชื่อส้มหวานเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ตอนนั้นก็คิดไว้แค่นี้แหละ แต่เพิ่งได้มาเขียนจริงๆ ก็เมื่อปลายปีที่แล้ว เพราะว่าพลอยติดภาระอื่นๆ อยู่ 

ตอนที่จะเริ่มวางพล็อตและทรีตเมนต์ พลอยมีตัวตั้งแค่สามอย่างคือ ความรักในรั้วมหาวิทยาลัยของเพื่อนสนิท มีรุ่นน้องผู้หญิงชื่อส้มหวาน เป็นนิยายฟีลกู๊ด มีแค่นี้จริงๆ นอกนั้นต้องปั้นขึ้นมาใหม่หมด เหมือนให้โจทย์ตัวเอง ช่วงปีที่แล้วเป็นปีที่เกิดเรื่องสะเทือนใจขึ้นหลายเรื่อง คนในครอบครัวป่วยหลายคน อย่างคุณแม่ของพลอยก็ตรวจเจอว่าเป็นมะเร็งเต้านม ป้าและน้าก็เจอพร้อมๆ กันเลยค่ะ ตอนนั้นพลอยต้องเข้าค่ายบ่มเพาะนักเขียนของสำนักงานศิลปวัฒนะธรรมร่วมสมัยด้วย มีงานที่จะต้องส่งกับพี่เลี้ยงและทางโครงการ ยังไม่รวมงานแปลอีก แล้วยังเป็นช่วงที่โดนคุกคาม คือตั้งแต่เด็กพลอยก็เคยถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน และเคยโดนคุกคามมาหลายครั้ง พอปีที่แล้วหลายๆ อย่างมันเกิดขึ้นพร้อมกัน สภาพจิตใจเลยพังทลาย หมอวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวล (anxiety) แล้วก็โรคเครียดหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (PTSD) ซึ่งที่ผ่านมาพลอยไม่เคยรักษา แต่ปล่อยให้มันดีขึ้นและหายไปเอง สมัยก่อนคนยังไม่รู้จักโรคซึมเศร้ากันแบบตอนนี้

พลอยอยากจะปลดปล่อยความรู้สึกวิตกกังวลและความหวาดกลัวออกไปผ่านตัวหนังสือ ก็เลยเขียนให้นายเอกมีอาการคล้ายๆ กัน แต่มีจุดกำเนิดที่ต่างกัน เพราะว่าโรคนี้มันมีตัวกระตุ้นได้หลายอย่าง การตายของคนใกล้ชิดก็เป็นหนึ่งในนั้น ปลื้มฟ้าจึงเป็นเด็กหนุ่มที่สูญเสียพ่อไปตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น ต้องเติบโตมากับแม่ที่มีอารมณ์ที่เกรี้ยวกราด ถูกกดดันและถูกบังคบมากมาย และเพราะว่าตัวละครอยู่ในวัยนักศึกษา พลอยเลยอยากให้มันออกแนว ‘coming of age’ หรือแนวเปลี่ยนผ่านจากวัยเรียนสู่วัยผู้ใหญ่อย่างเต็มตัวด้วย ตัวละครจึงมีความเครียดของคนวัยนี้เพิ่มเข้ามาอีก 

ส่วนพระเอกในเรื่อง ทิวเขา ก็เป็นเหมือนที่พักพิงสำหรับคนที่ไม่รู้จะหันไปพึ่งพาใครอย่างปลื้มฟ้า พลอยอยากจะนำเสนอจากประสบการณ์ในวัยเด็กที่เคยถูกกลั่นแกล้งจนไม่ไว้ใจใคร และมองโลกในแง่ร้าย ในกรณีของปลื้มฟ้านั้นค่อนข้างแย่กว่าตรงที่ว่าเขาเป็นอย่างนั้นมาจนถึงมหาวิทยาลัยเลย พลอยคิดว่าตอนที่เรารู้สึกโดดเดี่ยว เราก็อยากจะมีใครสักคนที่รับฟัง และไม่ต้องตัดสินเรา แต่เพราะเรากลัวและไม่คิดว่าจะมีคนที่เข้าใจ เราเลยไม่อยากต้องเริ่มปฏิสัมพันธ์กับใครก่อน ตอนสร้างตัวละครก็เลยเขียนให้ทิวเขาเป็นคนที่เข้ามารับฟังตรงนี้ ทิวเขาเป็นเด็กหนุ่มที่ป็อปปูลาร์ ใครๆ ก็รักและมีเพื่อนเยอะ แต่มีปมเคยโดนเพื่อนหักหลัง พอเข้ามหาวิทยาลัยจึงไม่อยากจะวุ่นวายกับเพื่อนกลุ่มใหญ่ๆ พลอยคิดว่าทั้งสองคนเป็นคู่ที่ลงตัว มาเจอกันในเวลาที่เหมาะสม เติมเต็มในสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการด้วยมิตรภาพ ซึ่งพัฒนาไปเป็นความสัมพันธ์แบบคู่รัก 
 

สิ่งที่นักอ่านจะได้รับจากนิยายเรื่องนี้!

พลอยคิดว่านิยายเรื่องนี้สะท้อนแง่มุมอื่นๆ นอกจากความรักของเพื่อนสนิท เพราะว่ายังมีมิตรภาพระหว่างตัวละครอื่นๆ ในเรื่องที่เข้ามาเสริมให้มันกลมกล่อมขึ้น แล้วก็มีการนำเสนอเรื่องความรักเพศเดียวกัน อัตลักษณ์ สภาพจิตใจของคนที่เคยผ่านเรื่องร้ายๆ มา ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียคนในครอบครัว หรือการถูกปฏิเสธโดยคนรัก แล้วก็มีปริศนาเรื่องส้มหวานให้ขบคิด 

สิ่งที่เป็นลักษณะเด่นของเรื่องนี้น่าจะเป็นโทนการเล่าเรื่องมั้งคะ นักอ่านหลายคนคอมเมนต์ว่าเป็นนิยายที่ให้ความรู้สึกหน่วงๆ อย่างบอกไม่ถูก คือมันดราม่านะ มีเรื่องหนักๆ แต่ก็บรรยายออกมาให้อ่านไปได้เรื่อยๆ แบบอบอุ่นใจ ไม่รู้เหมือนกันค่ะ อันนี้พลอยเล่าตามที่นักอ่านบอกมา พลอยเองก็อธิบายไม่ถูก อยากให้ลองอ่านดูค่ะว่ารู้สึกแบบนี้จริงไหม แล้วความรู้สึกแบบนี้มันควรจะเรียกว่าอะไรกันแน่
 

ฟีดแบ็กจากนักอ่านช่วยเยียวยาจิตใจได้ดีที่สุด

พลอยรู้สึกดีขึ้นตั้งแต่ที่ได้เขียนนิยายเรื่องนี้เลยค่ะ มันช่วยเยียวยาเรามากๆ เป็นเหมือนแสงสว่างในความมืด ทิวเขาที่ช่วยรักษาจิตใจของปลื้มฟ้าก็เหมือนช่วยพลอยไปด้วย เรื่องนี้พลอยเสนอมุมมองเรื่องมิตรภาพของเพื่อนด้วย พอเขียนก็เขียนรู้สึกว่าชีวิตเราความจริงแล้ว มันไม่ได้โดดเดี่ยวหรอก เพียงแต่เราจมอยู่กับสิ่งที่เคยทำร้ายเราจนอาจจะคิดถึงสิ่งดีๆ ไม่ออก แล้วด้วยความที่อยากจะเขียนให้มันเป็นแนวฟีลกู๊ด มันก็เลยผ่อนคลายด้วยมั้งคะ แต่ในตอนที่ป่วยอยู่นิยายเรื่องนี้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เรียกได้ว่าเป็นเพียงไม่กี่อย่างที่ทำให้พลอยมีความสุขได้

ตอนที่เริ่มลงใหม่ๆ กลับเครียดขึ้นมาเสียอีกค่ะ เพราะว่าช่วงแรกๆ จะยังไม่ค่อยมีคนอ่านเท่าไหร่ ได้ชื่อว่าเป็นนักเขียน ยังไงก็ต้องเครียดเรื่องยอดวิวเป็นธรรมดา แต่ว่าพอลงไปอย่างสม่ำเสมอ ก็มีนักอ่านติดตามเพิ่มขึ้น กระแสตอบรับยิ่งทำให้มีความสุขมากขึ้นไปอีกค่ะ ทุกคอมเมนต์มีส่วนช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจเราหมดเลย เวลามีนักอ่านอินๆ เราจะดีใจมาก เหมือนพวกเขาได้รับรู้ความรู้สึกของเรา ทุกข์และสุขไปกับเราด้วย บางคนบอกว่าเข้าใจความรู้สึกของตัวละคร มันจึงเป็นสิ่งที่ยืนยันว่าเราไม่ได้เป็นแบบนี้คนเดียวหรอก เวลามีคนบอกว่าชอบทิวเขาจัง ทิวเขาดีจังเลย เราก็จะนึกในใจว่า ใช่ไหมล่ะ ใครๆ ก็ต้องการคนอย่างทิวเขาในชีวิต 
 

แพลนนิยายต่อไปในอนาคต

นาทีนี้กำลังปั่นภาคพิเศษ ‘รักของผม (ไม่) ส้มหวาน’ อยู่ค่ะ ส่วนที่กำลังลงอยู่ตอนนี้คือรีไรต์เรียบร้อยแล้ว แล้วก็กำลังเขียนนิยายเรื่องใหม่อยู่ ชื่อเรื่องว่า ‘GRAY AREA ระยะต่อต้าน’ เป็นเรื่องของตัวละครหนึ่งจากเรื่องส้มหวาน ขออุบไว้ก่อนว่าเป็นใคร แต่คิดว่านักอ่านคงพอเดาได้ อยากให้คอยติดตามกันด้วยนะคะ
 

ความทรงจำจากนิยายเรื่องแรกที่ทำให้เติบโตขึ้น

จำได้แม่นมาก เพราะว่าเพิ่งผ่านไปแค่สามปีกว่า ‘ปริศนาปราสาทครอสตัน’ เป็นนิยายเรื่องแรกที่ลงในเว็บเด็กดีค่ะ ตอนนั้นยังเขียนแบบไม่ค่อยวางแผน จนถึงตอนนี้ยังไม่ได้รีไรต์เลยค่ะ เพราะว่ามันต้องแก้ไขเยอะมากๆ งานช้างเลย แต่วันหนึ่งจะต้องกลับไปเขียนใหม่ให้ได้ เพราะว่าถึงคุณภาพจะยังไม่ดีเท่าเรื่องใหม่ๆ แต่เป็นนิยายที่รักมากๆ พลอยลงนิยายรักแฟนตาซีโรงเรียนเวทมนตร์ในช่วงที่ความนิยมซาลงมากแล้ว คนติดตามเลยไม่เยอะเท่าไหร่ แต่ว่าทุกๆ คนคือกำลังใจ และมีนักอ่านหลายคนที่คอมเมนต์ว่ารักเรื่องนี้ จะรอเรื่องนี้ พลอยไม่มีวันลืมเรื่องนี้เลย นอกจากนั้นระยะเวลาที่เขียนสามภาคประมาณปีครึ่ง เป็นช่วงที่ทำให้เติบโตขึ้นมากๆ เลยค่ะ ทั้งเรื่องการวางพล็อตและเรื่องสำนวนการเขียน 
 

อ่านผลงานของ     เด็กหญิงจากโลกอดีต


 

การเขียนนิยายบนเว็บเด็กดีทำให้คิดถึงช่วงเวลาเก่าๆ

คิดถึงบรรยากาศช่วงตอนเด็กๆ มั้งคะ จำได้ว่าช่วงที่พลอยเริ่มเขียนแฟนฟิก ตอนนั้นพลอยยังไม่ได้ลงเด็กดี แต่ก็เห็นว่าเว็บเด็กดีเปิดให้ลงนิยาย เว็บเด็กดีทำให้คิดถึงช่วงเวลาเก่าๆ ค่ะ ถ้าเป็นเรื่องนิยายยังไงก็คิดถึงเด็กดีที่แรก คุณแม่ของพลอยก็อ่านนิยายเด็กดี 

แล้วนักอ่านด็กดีในช่วงที่ผ่านมาเป็นยังไงบ้างคะ 

เทียบกับสมัยก่อนคนอ่านเยอะขึ้นมากเลยค่ะ โดยเฉพาะปีสองปีนี้ บรรยากาศคึกคัก คนเขียนก็มากขึ้นด้วย ตั้งแต่พลอยลงนิยายมา พลอยได้รับกำลังใจจากนักอ่านเยอะมากๆ นักอ่านน่ารักมากเลยค่ะ
 

ลองขายนิยายออนไลน์ครั้งแรกกับผลตอบรับที่เกินคาด

ถึงจะทำงานหนังสือมาหลายปี แต่พลอยก็รู้สึกว่าตัวเองยังใหม่มากๆ กับการเขียนนิยายออนไลน์ ตอนตัดสินใจลองขายดูคือคิดว่ามันเป็นก้าวแรกของการเป็นนักเขียนออนไลน์แบบเต็มตัวค่ะ ถามว่าคาดหวังไหม พลอยว่านักเขียนทุกคนก็คาดหวังนั้นแหละ แต่ว่าพลอยทำใจไว้พอสมควรจะว่าอาจจะขายไม่ได้ เพราะว่ายังไม่เคยขายมาก่อนเลย แถมเปลี่ยนแนวใหม่ วิวก็ไม่ได้เยอะอะไรขนาดนั้นด้วย

ฟีดแบ็กเป็นยังไงบ้างคะ

ดีใจมากที่มีนักอ่านสนับสนุน ตอนแรกคิดว่าคงขายไม่ได้แน่ๆ แต่พอมีคนซื้อเราก็มีกำลังใจ เริ่มคิดว่ามันน่าจะพอไปได้ ที่น่าประหลาดใจมากๆ คือมีคนมาซื้อเรื่อยๆ ตอนแรกคิดว่าพอผ่านไปแล้วจะเงียบ ยอดจะหยุดอยู่แค่นั้น มีนักอ่านคนหนึ่งคอมเมนต์ว่า ‘เป็นเรื่องแรกเลยที่กดซื้อ’ ตอนนั้นดีใจที่สุดในโลกเลย เหมือนนักอ่านเป็นโลกทั้งใบของเรา ทุกๆ การซื้อทำให้เรามีความสุขมากๆ ค่ะ 
 

นักเขียนก็คือนักเขียน มีเพียงแพลตฟอร์มที่เปลี่ยนไปเท่านั้น

พลอยเริ่มเรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนตอนที่มีผลงานเขียนหนังสือสอนภาษา แต่มันก็ยังไม่เต็มปากเต็มคำเท่าไหร่ เพราะจริงๆ แล้วเราก็อยากเขียนนิยาย มันคือเป้าหมายตั้งแต่แรกเริ่มของเรา ตอนนี้พอเริ่มมีนักอ่านสนับสนุน เลยรู้สึกว่าเราก้าวเข้าใกล้ความฝันมากขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ ถึงแม้ว่าจะเป็นการเขียนออนไลน์ พลอยว่าตอนนี้โลกของเรามันเปลี่ยนไปเยอะ นักอ่านหันมาอ่านทางมือถือและแท็บเล็ตกันมากขึ้น แค่แพลตฟอร์มที่เปลี่ยนไปเท่านั้นค่ะ ยังไงนักเขียนก็คือนักเขียน พลอยเชื่ออย่างนั้นนะ
 

งานเขียนเป็นงานที่ต้องอาศัยความมุ่งมั่นและอดทน

ยอมรับตามตรงแบบไม่โลกสวยเลยนะ ทุกข์มากๆ เลยค่ะ เพราะว่าเป็นคนที่ตั้งความหวังกับตัวเองไว้สูง คิดว่าต้องทำให้ได้สิ แต่ในโลกนี้มันไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ พลอยผ่านวันที่ต้นฉบับงานแปลมีขีดฆ่าแก้ไขทั้งหน้ามาแล้ว มันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก งานเขียนก็เหมือนกัน เคยถูกวิจารณ์มามาก แต่ทุกอย่างนั้นคือประสบการณ์ พลอยเก็บทุกอย่างมาคิดและพยายามปรับปรุงแก้ไข ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่ดีพอ แต่เราก็พัฒนางานของเราให้ดีขึ้นได้ทุกๆ วันที่เราตั้งใจทำงาน

พลอยเป็นคนให้กำลังใจไม่เก่งเลย อาจจะเป็นเพราะว่าเราก็เจอมามากมั้งเลยไม่ค่อยมีคำแนะนำที่สวยหรู หรือคำปลอบใจเท่าไหร่ สำหรับตัวพลอยเอง ไม่ว่าจะทำอะไรมันไม่มีคำว่าง่าย แต่อยากบอกทุกคนว่าอย่าท้อนะคะ ถึงแม้จะคนอ่านน้อย หรือไม่มีคอมเมนต์ หรือโดนวิจารณ์มา งานเขียนเป็นงานที่ต้องอาศัยความมุ่งมั่นและอดทนมากกว่าที่หลายคนคิด เพราะฉะนั้นอันดับแรกเราต้องเขียนให้จบให้ได้ สิ่งที่สำคัญคืออย่าคิดว่าตัวเราดีพอแล้ว งานหนังสือเป็นงานละเอียด เราต้องแก้ไขและปรับปรุงอยู่เสมอ ทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ และจะต้องพัฒนาตัวเองทุกวัน 
 

เป้าหมายบนเส้นทางนักเขียนต่อจากนี้

ขอแค่มีนักอ่านที่จะติดตามกันต่อไปเรื่อยๆ ก็พอแล้วค่ะ ทุกวันนี้พลอยเขียนนิยายแล้วมีความสุข และความสุขนั้นเพิ่มพูนเมื่อมันถูกส่งต่อไปยังนักอ่าน 
 

ถึงนักอ่านชาวเด็กดีทุกคน!

ขอบคุณทุกคนมากๆ ที่ติดตามผลงานของพลอย ทุกยอดวิวคือกำลังใจ พลอยดีใจที่คนอ่านชอบและสนุกไปกับนิยายของพลอย มันคือความสุขที่แท้จริงของนักเขียนคนนี้ค่ะ 

พลอยฝากติดตาม ‘รักของผม (ไม่) ส้มหวาน’ และเป็นกำลังใจให้พลอยในนิยายเรื่องต่อๆ ไปด้วยนะคะ ขอฝากแฟนเพจเด็กหญิงจากโลกอดีต ทวิตเตอร์ @GFTPsince2017 และติดตามผลงานได้ที่เพจ Pride by Kaewkarn ด้วยค่ะ 
 

โอ้โห กว่าจะแปลงานออกมาได้ชิ้นหนึ่งนอกจากจะเก่งภาษาแล้ว เรายังต้องเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียนต้นฉบับ ตลอดจนบริบทของสังคม ณ ขณะนั้นอีกด้วย พอได้เห็นความพยายามและความทุ่มเทของนักแปลจากคำบอกเล่าของนักเขียนสาวแล้ว พี่แนนนี่เพนรู้สึกได้เลยว่าเบื้องหลังงานแปลทุกๆ ชิ้น นักแปลทำงานกันหนักมาก ต่อไปนี้เวลาพี่อ่านงานแปลก็จะรู้สึกขอบคุณนักแปลทุกคนมากๆ ที่เป็นสื่อกลางถ่ายทอดเรื่องราวผ่านกำแพงภาษาให้เราได้อ่านงานดีๆ มาแล้วมากมาย 

นอกจากนี้ เรื่องราวการเป็นนักเขียนของ “เด็กหญิงจากโลกอดีต” รวมถึงนิยายที่เธอเขียน ยังสะท้อนแง่คิดและมุมมองการสร้างงานเขียนว่า งานชิ้นหนึ่งไม่ได้เสร็จสมบูรณ์เมื่อเขียนจบแล้วเท่านั้น การเขียนนิยายทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งกลับมามีความสุขได้อีกครั้ง และยังได้รับกำลังใจดีๆ จากนักอ่านแบบไม่คาดคิดอีกด้วย ทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน ผลงานนิยาย หรือแม้แต่นักอ่าน ทุกชิ้นส่วนเหมือนจิ๊กซอว์ที่ช่วยต่อเติมกันและกัน จนทำให้วันนี้ “เด็กหญิงจากโลกอดีต” กลายเป็นนักเขียนในดวงใจของนักอ่านหลายๆ คนไปแล้วค่ะ ^^

และสำหรับใครที่สนใจในงานเขียน มาเริ่มลงมือเขียนนิยาย และศึกษาการขายได้ง่ายๆ ที่ลิงก์นี้เลยค่ะ : bit.ly/writer-howto

พี่แนนนี่เพน 
 

อ่านผลงานของ     เด็กหญิงจากโลกอดีต

ขอบคุณรูปภาพจากเพจ Pride by Kaewkarn 

5 เรื่องต้องรู้! เปิดขาย “แพ็กเกจใหม่” อย่างไรไม่ให้เสียสิทธิ์แคมเปญ “ลดราคา”

พี่แนนนี่เพน
พี่แนนนี่เพน - Columnist สาวเหนือที่มีความสุขกับการเขียนนิยาย และเชื่อว่านิยายให้อะไรดีๆ กับสังคมเสมอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
OnigiriCat Member 2 พ.ค. 63 20:26 น. 2
รู้จักเด็กหญิงจากโลกอดีต จากนิยาย Croston College ครับ เห็นปกแล้วคิดถึง Harry Potter ก็เลยเริ่มติดตาม (ผมชอบ Harry Potter) และเรื่องต่อ ๆ มา "รักของผม (ไม่) ส้มหวาน" ซึ่งฉีกจากแนวเดิมไปเป็นแนว Y แต่ลองทิ้งอคติเรื่อง Y แล้วอ่านดูก็พบว่าสนุกดี ให้ความรู้สึกเหมือนเล่าเรื่องชีวิตวัยเรียน เคล้าดราม่าวัยรุ่นมากกว่า คือมันมีอะไรมากกว่าเรื่อง Y (แสดงความเห็นในฐานะผู้ชายที่อ่านแล้วนะครับ)
สิ่งที่ชอบคือเรื่องการใช้สำนวนของผู้เขียน มีรูปแบบใกล้เคียงกับนิยายแปล อ่านแล้วลื่นไหล ผมมีหนังสือนิยายที่ เพตรา เป็นผู้แปลอยู่หนึ่งเล่ม ซึ่งเคยขึ้นแนะนำในเพจนานมาก ๆ แล้ว ลองซื้อมาอ่านดูก็สนุกดีครับ แปลดีมาก แต่ผมมีแค่เรื่องเดียวนะ เนื่องจากไม่ได้อยู่สายนี้ แค่ซื้อมาเพื่อทดลองอ่านสำนวนเฉย ๆ ถ้าใครที่ต้องการจะหาแนวฟีลส์กู๊ดอ่านสบาย ๆ ก็ลองดูได้ครับ... https://sv1.picz.in.th/images/2020/05/02/UA7aEI.md.jpg
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด