ไอเดียสุดเจ๋ง! มาแต่งนิทานเป็นกิมมิคดึงความสนใจจากนักอ่านกันเถอะ

ไอเดียสุดเจ๋ง! มาแต่งนิทานเป็นกิมมิค
ดึงความสนใจจากนักอ่านกันเถอะ

              เคยสงสัยสัยกันไหมคะว่า ทำยังไงนักอ่านถึงจะสนใจนิยายของเรา จนนำไปสู่การคลิกเข้ามาอ่าน และจดจำจนนำไปบอกต่อนักอ่านคนอื่นๆ โดยที่เราไม่ต้องโปรโมตนิยายด้วยตัวเองเลย คำตอบของคำถามนี้ สำหรับพี่แนนนี่เพนมองว่า นิยายที่เราเขียน คือปัจจัยที่สำคัญที่สุดค่ะ เพราะไม่ว่าเราจะโปรโมต หรือส่งต่อให้เพื่อนๆ ช่วยกันแชร์มากขนาดไหน ถ้านิยายของเราไม่ได้มีความน่าสนใจ หรือดึงดูดกลุ่มนักอ่านที่ชื่นชอบในเรื่องราวนั้นๆ ได้ มันก็จะมีคนสนใจแค่เพียงชั่วคราว และไม่ได้ทำให้นักอ่านรู้สึกว่า “ฉันชอบเรื่องนี้จนอยากแชร์ต่อ” 

              แล้วทำยังไงให้นิยายของเราน่าสนใจจนสามารถดึงดูดนักอ่านได้กันล่ะ? พี่ตอบตรงนี้เลยว่ามีหลายวิธีเลยค่ะ แต่ในวันนี้พี่ขอเอาไอเดียการแต่งนิทานมานำเสนอนักเขียนทุกคน เพราะมันเป็นวิธีง่ายๆ ที่สร้างความสนใจให้นักอ่าน และเรื่องราวของเราได้ดีเลยค่ะ แต่ก่อนจะอ่านบทความนี้ ขอให้ทุกคนนึกถึงนิยายที่ชอบมากๆ แล้วตอบตัวเองก่อนว่า เราจำอะไรในนิยายเรื่องนั้นได้บ้าง จากนั้นให้จดหรือจำสิ่งที่เรานึกขึ้นได้ในแวบแรกเก็บไว้ แล้วมาอ่านไอเดียที่จะสร้างกิมมิคให้นิยายของเรากันเลย
 


Coffee photo created by rawpixel.com - www.freepik.com
 

              ก่อนจะสร้างกิมมิคในนิยาย มารู้จักเจ้าตัวกิมมิคกันสักนิดหนึ่งค่ะ เคยได้ยินคนพูดกันบ่อยๆ ใช่ไหมคะว่า ไม่มีกิมมิคเลย กิมมิคเรื่องนี้น่าสนใจ แล้วอะไรคือกิมมิคของเรื่องนี้กันล่ะ ถ้าให้อธิบายคำว่า กิมมิค (Gimmick) ในความหมายของนิยาย พี่คิดว่ากิมมิคคงมีความหมายคล้ายๆ กับคาแรกเตอร์ของตัวละครนั่นแหละค่ะ เพราะเมื่อใดก็ตามที่พูดถึงกิมมิคในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มันหมายถึง สิ่งที่คนให้ความสนใจ เห็นแล้วจดจำได้ ทำนองนี้เลยค่ะ เหมือนกับตัวละครที่มีคาแรกเตอร์ไม่เหมือนกัน แต่เรารู้ว่าคนแบบนี้ นิสัยแบบนี้ ลักษณะแบบนี้ คือ ฮีโร่ หรือตัวร้าย นั่นเอง กิมมิคจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการจดจำยังไงล่ะ 

              ถ้าทุกคนพอเข้าใจกันแล้ว เรามาต่อกันอีกนิดหนึ่งว่า ทำไมต้องแต่งนิทานลงไปในนิยายของเราด้วยล่ะ จริงๆ การเอานิทานมาเป็นส่วนประกอบในนิยายนั้นมีมานานมากแล้วค่ะ อย่างในวรรณกรมเยาวชน หรือหนังสือสำหรับเด็กหลายๆ เรื่องก็มีการสอดแทรก แฝงข้อคิดบทเรียนเตือนใจผ่านการเล่านิทานอยู่ไม่น้อย โดยทั่วไปแล้วการนำนิทานมาเล่าในนิยาย มักจะใช้ข้อดีของการเล่านิทานคือ ดำเนินเรื่องด้วยสถานการณ์ที่เรียบง่าย แต่คุ้นเคย ตามด้วยความขัดแย้ง และจบลงด้วยส่วนที่สำคัญที่สุดของนิทานทุกเรื่องด้วยบทเรียนที่ต้องเรียนรู้กันนั่นเอง ซึ่งเรื่องราวใดก็ตามที่ไม่มีบทเรียน เรื่องราวนั้นอาจจะไม่ได้เป็นนิทานเสมอไปค่ะ 

               ถ้าหากพร้อมกันแล้ว เรามาลองสร้างกิมมิคในนิยายด้วยการแต่งนิทานกันเลย
 

มาดู 4 ขั้นตอน แต่งนิทานให้เป็นกิมมิคที่น่าจดจำกัน!

ขั้นตอนที่ 1 กำหนดบทเรียนของนิทาน

              เลือกบทเรียนหรือข้อคิดที่สำคัญที่สุดออกมา แล้วใช้เป็นกุญแจไขประตูสู่เรื่องราวทั้งหมดค่ะ บทเรียนนี้ต้องไม่ใช่บทเรียนที่เฉพาะเจาะจงในบางสถานการณ์เท่านั้นนะคะ (สถานการณ์ในนิทาน) เราต้องเลือกบทเรียนที่เป็นภาพรวม และไม่ควรมีแง่คิดที่แฝงไว้มากจนเกินไป ให้จบในหนึ่งบทเรียนจะทำให้เกิดการจดจำได้ดีที่สุดค่ะ  
 

ขั้นตอนที่ 2 เลือกตัวละครหลัก

              สำคัญมากเช่นกันค่ะ นิทานส่วนใหญ่นิยมใช้สัตว์ วัตถุสิ่งของ หรือมนุษย์ที่ผิดปกติ นำมาใช้เป็นตัวละครหลักเสมอ บางเรื่องมีตัวละครเพียงตัวเดียว และบางเรื่องมีมากกว่าสอง แต่ไม่เกิน 5-10 ตัวละคร ซึ่งหากมีน้อยๆ จะดูน่าสนใจและน่าจดจำกว่าค่ะ เพราะมีจุดให้โฟกัสมากขึ้น ในขั้นตอนนี้ เราต้องเลือกตัวละครที่สามารถใส่ความหมายแฝงได้ เป็นสากล และนักอ่านส่วนใหญ่เข้าใจ เช่น สิงโตเป็นเจ้าป่า สุนัขจิ้งจอกเจ้าเล่ห์ นกฮูกฉลาด เป็นต้น จำไว้ว่าตัวละครที่นำมาใช้ต้องสามารถเปรียบเทียบถึงเรื่องราวหรือพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมได้ด้วยค่ะ 
 

ขั้นตอนที่ 3 กำหนดความขัดแย้ง 

              ตัวละคร>ลักษณะนิสัยตัวละคร>ความขัดแย้ง>บทเรียน ลองร่างแผนผังแบบนี้ดูค่ะ แล้วจะทำให้นิทานของเรามีความชัดเจนมากขึ้นแน่นอน อย่างกระต่ายกับเต่าก็เป็นสัญลักษณ์สากลเรื่องช้ากับเร็ว และใช้ความขี้เกียจหรือความประมาทมาเป็นบทเรียนของเรื่อง เห็นไหมคะว่าขั้นตอนที่ 1 กับ 2 นั้นสำคัญมาก บทเรียนกับตัวละคร และลักษณะของตัวละคร คือสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญเลยค่ะ
 

ขั้นตอนที่ 4 ลงมือเขียน

              จำไว้ว่านิทานเป็นเรื่องที่สั้นมากๆ และที่สำคัญอ่านเข้าใจง่าย ดำเนินเรื่องไม่ซับซ้อน เรามีหน้าที่ทำให้ตัวละครดำเนินเรื่องตามคาแรกเตอร์ที่เราวางไว้ และพาไปให้ถึงบทสรุปของเรื่องให้ได้ นี่คือภารกิจของเราค่ะ! 
 

แต่งนิทานในฉากไหนดี?

              เรียงมาให้เป็นข้อๆ เลยค่ะ ลองเลือกสถานการณ์ที่ใช่สำหรับนิยายของเราในตอนนี้กันค่ะ 

1. ต้องการเปิดเผยเรื่องราวบางอย่าง

2. ต้องการเปิดเผยภูมิหลังของตัวละคร

3. ต้องการคลี่คลายสถานการณ์

4. ต้องการให้ตัวละครได้เห็นความจริง

5. ต้องการสร้างปมเรื่องใหม่   ฯลฯ 

              นอกเหนือจาก 5 ข้อนี้ ยังนิยมใช้นิทานเป็นฉากเปิดเรื่อง หรือใช้แทนความรู้สึกลึกๆ ของตัวละครด้วยค่ะ และสิ่งที่ควรจำไว้เลยคือ อย่าลืมบทเรียนในตอนจบของนิทานทุกเรื่องนะคะ 
 

              เป็นยังไงกันบ้างคะ น่าสนใจมากๆ เลยใช่ไหม พี่แนนนี่เพนคิดว่าจะลองแต่งนิทานดูสักเรื่องหนึ่งค่ะ มันเหมือนเราคิดพล็อตขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งเลย น่าสนุกดีนะคะ แล้วถ้าหากเราทำแล้วมันไม่เวิร์ค ไม่เป็นกิมมิคให้นักอ่านจดจำ อย่างน้อยที่สุด เราก็ได้พัฒนาฝีมือ ได้ฝึกวางเรื่องให้ซับซ้อนขึ้น ลองมองว่านี่คือการฝึกฝนอย่างหนึ่ง อย่าเพิ่งไปคาดหวัง แค่เราทำได้ ก็ถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งแล้วค่ะ นอกจากนี้ นักอ่านที่ติดตามนิยายของเรา ก็ยังได้อ่านนิทานที่เราเขียน ได้เห็นเราสร้างไอเดียใหม่ๆ ขึ้นมาด้วยนะ ใครลองแต่งดูแล้ว คอมเมนต์ชวนพี่ไปอ่านกันได้นะคะ จะตามไปอ่านแน่นอนค่ะ ^^

พี่แนนนี่เพน

ขอบคุณข้อมูลจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Gimmick

Deep Sound แสดงความรู้สึก

พี่แนนนี่เพน
พี่แนนนี่เพน - Columnist สาวเหนือที่มีความสุขกับการเขียนนิยาย และเชื่อว่านิยายให้อะไรดีๆ กับสังคมเสมอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

Shadow_J Member 7 ส.ค. 63 23:41 น. 2

เป็นบทความที่ดี แต่นำไปใช้ยากมาก ลำพังแค่นิยายตัวเองอย่างเดียวก็หนักแล้ว 555 ต้องมาวางเรื่องซ้อนในนิทานอีก แต่ถ้าทำได้นิยายคงดูมีมิติมากขึ้นเยอะเลย


ขอบคุณทีมงานสำหรับบทความดีๆ ครับ

0
กำลังโหลด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
Shadow_J Member 7 ส.ค. 63 23:41 น. 2

เป็นบทความที่ดี แต่นำไปใช้ยากมาก ลำพังแค่นิยายตัวเองอย่างเดียวก็หนักแล้ว 555 ต้องมาวางเรื่องซ้อนในนิทานอีก แต่ถ้าทำได้นิยายคงดูมีมิติมากขึ้นเยอะเลย


ขอบคุณทีมงานสำหรับบทความดีๆ ครับ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด