มาดูกัน! เขียนนิยายสไตล์ไหนเหมาะกับเราที่สุด 


เชื่อว่านักเขียนหลายๆ คนที่กำลังเริ่มต้นเขียนนิยาย หรือเขียนนิยายมาได้สักพักหนึ่งแล้ว ต้องเคยเจอปัญหาหรืออุปสรรคที่ทำให้เขียนนิยายไม่จบเรื่อง หรือหยุดเขียนนิยายกลางคันไปไม่มากก็น้อย พี่แนนนี่เพนเองก็เคยเจอปัญหาแบบนี้เหมือนกันค่ะ แต่พอเริ่มเข้าใจตัวเอง รู้สไตล์การเขียนที่เราชอบ จากประสบการณ์ต่างๆ ก็ทำให้เรามองเห็นแนวทางการเขียนที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งพี่คิดว่าหลายๆ ปัญหาที่ทำให้เราเกิดอาการตัน เขียนนิยายไม่ออก หรือหมดแพชชั่น ส่วนหนึ่งก็น่าจะมาจากการที่เรายังรู้จักตัวเองไม่ดีพอว่า เราเหมาะกับการเขียนแบบไหน ดังนั้น ในวันนี้พี่ก็หวังว่าเรื่องราวที่นำมาแชร์ จะช่วยให้เราค้นพบสไตล์การเขียนที่เหมาะกับเรากันนะคะ ถ้าพร้อมแล้วก็ไปดูกันเลย! 
 

วิธีการเขียนแบบไหนเหมาะกับเราที่สุด !

อย่างที่เรารู้กันดีว่านักเขียนทุกคนมีวิธีการเขียนที่แตกต่างกัน บางคำแนะนำของทีมงานเด็กดีก็อาจจะใช้ได้ผลกับนักเขียนคนหนึ่ง ส่วนอีกคนหนึ่งอาจจะนำไปใช้ไม่ได้เลยก็ได้ หรือบางคำแนะนำก็เหมาะกับการนำไปใช้เพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น พอมาคิดๆ ดูแล้ว เรื่องได้ผลหรือไม่ได้ผลเนี่ยก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของเรา หรือบางทีก็อยู่ที่อารมณ์ของเราเหมือนกันนะคะ เช่น วิธีการคิดของนักเขียนแต่ละคนก็แตกต่างกัน ตั้งแต่การสังเกต และการเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ เข้าด้วยกัน ในส่วนของเรื่องเวลา นักเขียนก็มีเวลาว่างหรือภาระงานในชีวิตจริงที่ต้องรับผิดชอบแตกต่างกันไป หรือแม้แต่เป้าหมายการเขียน ก็มีทั้งคนที่เขียนเป็นงานอดิเรก และตั้งใจเขียนเป็นอาชีพ ดังนั้น จึงไม่มีคำแนะนำไหนที่เหมาะสำหรับเราร้อยเปอร์เซ็นต์หรอกค่ะ แต่เราสามารถค้นหาวิธีที่เหมาะกับเราเพียงแค่คนเดียวได้ โดยการเลือกตัวอย่างจากที่เราเคยทำจริงๆ จากวิธีการเหล่านี้กันค่ะ 
 

1. ชอบค้นหาข้อมูลแบบไหน : ค้นหาล่วงหน้าก่อนเขียน VS. ค้นหาเมื่อถึงตอนที่ไม่รู้ข้อมูล 

ถ้าเราเลือกค้นหาล่วงหน้าก่อนเขียน : เรามีข้อมูลที่สนใจอยู่แล้วค่ะ เรามองเห็นภาพรวมของนิยายว่าจะต้องใช้ข้อมูลเหล่านี้ หรือกำลังมองหาไอเดียที่อยากนำมาเป็นจุดเด่น วิธีการค้นหาสไตล์นี้เหมาะกับคนที่ชอบวางพล็อตไว้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นพล็อตคร่าวๆ หรือโครงร่างแบบจัดเต็ม 

ถ้าเราเลือกค้นหาเมื่อถึงตอนที่ไม่รู้ข้อมูล : เราเป็นคนที่ใช้จินตนาการนำทาง ชอบเล่าเรื่องด้วยอารมณ์และความรู้สึก วิธีการค้นหาสไตล์นี้เหมาะกับคนคิดเร็วทำเร็ว และอาจจะไม่ใช่คนที่ชอบด้นสดเสมอไป แต่ชอบอารมณ์ที่ต่อเนื่องของฉาก และตัวละคร 
 

2. ชอบเขียนแบบไหน : เขียนตามโครงเรื่อง VS. เขียนฉากที่อยากเขียน

ถ้าเราเลือกเขียนตามโครงเรื่อง : เราเป็นคนค่อนข้างจริงจัง และอยากทำให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ข้อดี คือเรามีภาพในหัวชัดเจน รู้ว่าจะต้องเขียนไปในทิศทางไหน แม้ว่าจะเขียนออกนอกทะเลบ้างเราก็มีจุดหมายให้กลับมา แต่ข้อควรระวัง คือเราอาจจะกดดันตัวเองมากเกินไป ทั้งการพยายามเขียนให้อยู่ในโครงร่าง และคาดหวังว่าจะได้รับผลตอบรับที่เหมาะกับความพยายามของเรา 

ถ้าเราเลือกเขียนฉากที่อยากเขียน : เราเป็นคนประเภทชอบวางพล็อตเรื่องเอาไว้คร่าวๆ บางฉากก็เกิดจากจินตนาการในหัว หรือไอเดียที่แวบเข้ามาทันที การที่เราชอบเขียนนิยายกระโดดจากฉากหนึ่งไปฉากหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องที่ผิดหรือถูก ในส่วนของข้อดีก็คือเรามีไอเดียสดใหม่เสมอ และสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวก่อนหน้าให้เข้ากับฉากที่เราอยากเขียนได้ แต่ในส่วนของข้อควรระวัง คือ เราอาจจะออกนอกทะเล หรือหาทางกลับมายังจุดเดิมได้ยาก ต้องระวังเลยนะ 
 

3. ชอบทำอะไรระหว่างเขียน : เขียนไปด้วยแก้ไขไปด้วย VS. เขียนต่อไปเรื่อยๆ 

ถ้าเราเลือกเขียนไปด้วยแก้ไขไปด้วย : เราเป็นคนชอบความเพอร์เฟ็กต์ ค่อนข้างให้ความสำคัญกับทุกกระบวนการเขียนเลยค่ะ เราเป็นได้ทั้งคนที่ชอบวางพล็อตและชอบด้นสด ใครที่เลือกการเขียนสไตล์นี้แสดงว่าเรามีความคิดอยากพัฒนาตัวเองอยู่เสมอค่ะ

ถ้าเราเลือกเขียนต่อไปเรื่อยๆ : เราไม่ใช่คนขี้เกียจนะคะ อย่าเพิ่งเข้าใจผิด สำหรับคนที่ชอบเขียนต่อไปเรื่อยๆ วิธีการนี้จริงๆ ค่อนข้างเหมาะกับนักเขียนมือใหม่ หรือคนที่เพิ่งเริ่มเขียนนิยายได้ไม่นานค่ะ แม้จะมีหลายคนบอกว่าควรพิถีพิถันตั้งแต่เรื่องแรก แต่หากเรามีไอเดียที่อยากเล่า ลองพยายามเขียนให้จบก่อน แล้วค่อยกลับมารีไรต์หรือแก้ไขในภายหลังได้ค่ะ 
 

4. ใช้เวลาเขียนแบบไหน : เขียนหนึ่งตอนให้เสร็จ VS. เขียนหนึ่งตอนนานแค่ไหนก็ได้

ถ้าเราเลือกเขียนหนึ่งตอนให้เสร็จ : เรามีเป้าหมายในการเขียนนิยายที่ค่อนข้างชัดเจน หรือไม่ก็มีชาเลนจ์ที่อยากทำให้ได้ การเขียนนิยายของคนสไตล์นี้ น่าจะมีพล็อตหรือโครงร่างคร่าวๆ อยู่แล้ว หรือหากไม่มีก็อาจจะเป็นปัจจัยเรื่องเวลาที่ต้องทำให้เสร็จให้ได้ แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม หากเราเลือกแนวทางนี้ เราจะต้องเขียนนิยายจบได้แน่นอน 

ถ้าเราเลือกเขียนหนึ่งตอนนานแค่ไหนก็ได้ : เราค่อนข้างให้อิสระตัวเองพอสมควร ไม่ว่าเราจะมีปัจจัยเรื่องเวลา หรือเป้าหมายในการเขียนยังไงก็ตาม คนที่เลือกการเขียนสไตล์นี้ มักจะเขียนนิยายด้วยฟีลลิ่ง หรือแรงบันดาลใจ บางครั้งอาจจะต้องเปิดเพลงบิ้วอารมณ์กันหน่อย ซึ่งการเขียนของคนสไตล์นี้ จะมีเรื่องราวของนักเขียนสอดแทรกเข้าไปในนิยายอยู่เสมอ
 

5. ชอบคิดตอนจบแบบไหน : มีตอนจบอยู่แล้วแต่แรก VS. คิดออกอีกทีตอนใกล้ๆ 

ถ้าเราเลือกมีตอนจบอยู่แล้วแต่แรก : เรามีทิศทางการเขียนนิยายที่ชัดเจนเลยค่ะ แต่ค่อนข้างกดดัน ข้อดีของคนที่เลือกการเขียนสไตล์นี้คือมีแนวทางในการดำเนินเรื่อง และสามารถพาตัวละครไปถึงจุดสิ้นสุดได้ แต่ก็มีข้อควรระวัง คือ หากเราไม่ได้วางพล็อตหรือโครงเรื่องให้ชัดเจน หรือไม่ได้มีเส้นเรื่องที่พาไปถึงจุดจบ ตัวละครของเราอาจจะมีคาแรกเตอร์ที่ผิดปกติ มีการดำเนินเรื่องที่คำนึงถึงแต่จุดจบ โดยขาดการนำเสนอเรื่องราวระหว่างทางได้ 

ถ้าเราเลือกคิดออกอีกทีตอนใกล้ๆ : เราเขียนนิยายโดยที่เราอยากให้ตัวละครเป็นตัวนำเรื่อง และอาศัยสถานการณ์ หรืออารมณ์ ณ ขณะนั้นของเราเป็นส่วนช่วยในการดำเนินเรื่อง วิธีการนี้ค่อนข้างน่าสนใจตรงที่เรื่องราวเป็นไปในแบบที่มันควรจะเป็น แต่ข้อควรระวังคือ เราอาจถูกปัจจัยภายนอก เช่น ความคิดเห็นจากนักอ่านทำให้เราเกิดความสับสนว่าจะจบนิยายตามใจฉัน หรือจบตามที่นักอ่านนำเสนอ ซึ่งไม่ว่าเราจะลือกตอนจบแบบไหน อย่าลืมเคารพการเดินทางของตัวละครที่ผ่านมา และความสมเหตุสมผลด้วยค่ะ 
 

นอกเหนือจากทั้ง 5 ข้อนี้แล้ว ยังมีเรื่องของแรงจูงใจ หรือนิสัยของเรา ที่ทำให้เราอยากเขียนนิยายมากขึ้นด้วยค่ะ เช่น 

1. ชอบเขียนนิยายตอนไหน : เขียนช่วงเช้า กลางวัน หรือเย็น เป็นประจำ หรือเมื่อมีเวลาว่าง 

2. ชอบบรรยากาศแบบไหน : ตอนเขียนนิยายต้องเปิดเพลงฟัง หรือต้องเงียบๆ เขียนนิยายได้ทุกที่ หรือเขียนได้เฉพาะสถานที่ที่ชอบ 

3. ชอบความกดดันไหม : มีเดดไลน์ให้ตัวเองเสมอ หรือเขียนเรื่อยๆ ตามใจฉัน 
 


 

ไม่ว่าเราจะเลือกการเขียนนิยายสไตล์ไหน จะตรงกับที่เราทำในชีวิตประจำวันจริงหรือไม่ พี่แนนนี่เพนอยากให้ทุกคนโฟกัสไปที่การลงมือเขียนก่อนเป็นอันดับแรกเลยค่ะ จากนั้นเราจึงจะเริ่มมองเห็นว่า เราหยุดเขียนตอนนั้นๆ เพราะอะไร แล้วมันก็จะค่อยๆ ลงล็อกในแต่ละข้อว่า เรากำลังเขียนนิยายแบบไหน แล้ววิธีไหนที่เราเลือกใช้บ่อยที่สุด ซึ่งเราอาจจะยังหาตัวเองไม่เจอเลยทันทีที่อ่านบทความนี้จนจบ แต่เชื่อว่าทุกคนจะต้องมองเห็นกระบวนการเขียนนิยายของตัวเองชัดเจนขึ้นแน่นอนค่ะ และหากใครที่คิดว่าพร้อมสำหรับการเขียนนิยายแล้ว ก็มาเริ่มลงมือเขียนนิยายกันได้เลยค่ะ   : bit.ly/writer-howto 

พี่แนนนี่เพน
 

Deep Sound แสดงความรู้สึก

พี่แนนนี่เพน
พี่แนนนี่เพน - Columnist สาวเหนือที่มีความสุขกับการเขียนนิยาย และเชื่อว่านิยายให้อะไรดีๆ กับสังคมเสมอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น