แจกทริก 10 ข้อสุดปัง สร้างบทสนทนาในนิยายให้สมจริง

แจกทริก 10 ข้อสุดปัง
สร้างบทสนทนาในนิยายให้สมจริง

 

 

เราไม่สามารถเขียนนิยายได้โดยปราศจากบทสนทนา

และนิยายของเราจะดีไม่ได้หากไม่มีบทสนทนาที่ดี

การเรียนรู้วิธีเขียนบทสนทนาอาจเป็นเรื่องยากสำหรับบางคน หากไม่มีคำแนะนำที่ถูกต้อง เราก็อาจเดินหลงทางได้ นี่คือเหตุผลที่วันนี้พี่ได้นำแนวทางการเขียนบทสนทนาให้สมจริง 10 ข้อมาฝาก เพราะพี่ต้องการให้พวกเราชาวนักเขียนเด็กดีมีทักษะความรู้ที่จำเป็นในการคิดและเขียน รวมทั้งเปลี่ยนมันให้เป็นนวนิยายขายดีจนอาจกลายเป็นอาชีพเหมือนกับนักเขียนท่านอื่นๆ 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าบทสนทนานั้นสำคัญ หากบทสนทนาไม่น่าเบื่อ นักอ่านก็อยากอ่านต่อ ดังนั้นวันนี้เรามาตกนักอ่านด้วย "การสร้างบทสนทนาที่สมจริงและน่าสนใจ" กันเถอะ ถ้าทุกคนพร้อมแล้ว เตรียมปากกากับกระดาษให้พร้อม แล้วมาดูกันเลยว่า เราจะทำยังไงให้บทสนทนาในนิยายของเราสมจริง

 

via: freepik
via: freepik

01 พูดออกเสียงเป็นอย่างแรก

วิธีที่ง่ายที่สุดในการดูว่าบทสนทนาของเราสมจริงหรือไม่คือ "การอ่านออกเสียงดังๆ" ซึ่งการได้ยินสิ่งที่ใครบางคนควรจะพูดจะช่วยให้เราตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่า บทสนทนานั้นฟังดูสมจริงมั้ย หรือมันแปร่งๆ ไป เนื่องจากนักอ่านของเราต้องจินตนาการอยู่เเล้วว่าเหล่าตัวละครกำลังพูดอะไรออกมา

สิ่งหนึ่งที่ควรรู้ก็คือ บางครั้งบทสนทนาอาจฟังดูเลี่ยนๆ นิดหน่อย เนื่องจากบทสนทนาที่เขียนกับพูดจริงนั้นมีความแตกต่าง และบทสนทนาในนิยายมีไว้เพื่อให้นักอ่านเข้าใจเนื้อเรื่องกับตัวละคร มันจึงค่อนข้างแตกต่างจากสิ่งที่เราได้ยินในชีวิตประจำวันของเรา

บางครั้งเราก็อาจคิดว่าบทสนทนานี้ดูดราม่าเล็กน้อย แต่ไม่เป็นไร! เราสามารถทำให้มันดูเหมือนคนพูดจริงๆ ได้ แต่ถ้าเรารู้สึกว่ามันแปร่งๆ หรือไม่สามารถจินตนาการออกได้ว่าหากคนจริงๆ พูดจะเป็นยังไง ถึงเวลาแล้วที่เราอาจต้องแก้ไขบางอย่าง  

ตอบคำถามเหล่านี้ขณะที่กำลังอ่านออกเสียงบทสนทนากับตัวเอง

  • มีคนพูดแบบนี้ในชีวิตจริงใช่มั้ย?
  • บทสนทนานี้ช่วยให้พล็อตไปข้างหน้า หรือพัฒนาคาแร็กเตอร์ของตัวละครมั้ย?
  • การพูดประโยคนี้เป็นเรื่องง่ายใช่มั้ย?
  • ตอนพูดได้หยุดพักในบางจุดที่ไม่ได้เว้นวรรคไหม (หากเกิดเหตุการณ์นี้ให้เว้นวรรคซะ เพื่อให้นักอ่านตีความว่าเราได้ยินอย่างไร!)

เคล็ดลับบทสนทนาเพิ่มเติม: อัดเสียงตัวเองตอนอ่านบทสนทนาแล้วกลับมาฟัง วิธีนี้จะช่วยให้เราระบุได้ว่าคำหรือประโยคใดฟังดูไม่เข้ากัน

 

02 เอาบทสนทนาสัพเพเหระออกไป

นักอ่านไม่สนหรอกว่าตัวละครกินข้าวเย็นอะไรมาเมื่อวาน เว้นแต่อาหารมื้อนั้นจะมียาพิษและกำลังซึมเข้าสู่กระแสเลือดซึ่งส่งผลต่ออันตรายในทันที การพูดคุยเกี่ยวกับอากาศ สัตว์เลี้ยงของตัวละคร หรืออะไรก็ตามที่ไม่สำคัญและไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่องเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ มันทำให้นิยายของเราเวิ่นเว้อ แถมยังทำให้อัตราการเขียนนิยายช้าลงอีกด้วย ดังนั้นตัดบทสนทนาสัพเพเหระออกไปซะ หากว่ามันไม่สำคัญต่อเนื้อเรื่อง ก่อนนักอ่านจะเบื่อ

 

03 ทำให้สั้น กระชับ แต่อิมแพ็ก

บทสนทนาในหนังสือไม่ได้หมายถึงบทสนทนาในแบบที่เราพูดจริงๆ อย่างน้อยก็ไม่ใช่บทสนทนาเต็มรูปแบบ ถ้าเป็นเช่นนั้นหนังสือแต่ละเล่มจะมีความยาวมากขึ้นเป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งมาจากการที่มนุษย์มักพูดในสิ่งที่ไม่มีจุดหมายมากมาย

เมื่อเป็นเรื่องของการเขียนบทสนทนาในนิยาย เราต้องทำให้มันสั้นและสะเทือนอารมณ์มากกว่าในชีวิตจริง วิธีที่ดีที่สุดในการเข้าถึงเนื้อหาของบทสนทนาคือ ตัดทุกอย่างที่ไม่ส่งผลกระทบต่อฉากทันที เช่น 

"เฮ้ เป็นยังไงบ้าง" สิ่งนี้อาจไม่จำเป็นเว้นแต่ว่ามันจะมีความสำคัญต่อฉากของเรา อย่างไรก็ตาม นี่ไม่รวมกับเหตุการณ์ที่ตัวละครพบกับใครบางคนเป็นครั้งแรกนะ

โดยพื้นฐานแล้ว ควรตัดสิ่งที่ไม่พัฒนาตัวละครของเรา พล็อตหรือพล็อตย่อยใดๆ ออก

 

04 ให้ตัวละครมีเอกลักษณ์ในการพูด

ลองนึกถึงชีวิตจริง เราทุกคนล้วนมี "การพูด" ในแบบที่เป็นของตัวเอง เราต่างมีประโยคของเราหรือคำโปรดที่เราชอบใช้ นี่แหละคือส่วนสำคัญของการพัฒนาตัวละครในนิยายของเรา ยกตัวอย่างเช่น บางคนอาจใช้คำว่า "บางที" หรือ "อาจจะ" แต่ใช้ไม่บ่อยนัก นี่เป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ควรใส่ใจ 

อีกหนึ่งวิธีที่เราสามารถทำได้คือการใช้โครงสร้างประโยคมาช่วย

ตัวละครของเราพูดประโยคสั้นๆ กระชับหรือไม่? หรือพวกเขาอธิบายมุมมองของตัวเองอย่างฉะฉานและลื่นไหล? หรือพวกเขาเป็นคนที่ชอบพูดยืดยาว

ความแตกต่างนี้สำคัญมาก นักอ่านของเราควรสามารถบอกความแตกต่างระหว่างตัวละครตามประโยคของพวกเขาได้ ยกเว้นกลุ่มคนสนิทใกล้ชิดกันที่อาจสามารถมีลักษณะการพูดคล้ายกันได้ กล่าวคือ ถ้าเพื่อนสนิทของตัวละครหลักพูดทำนองเดียวกับตัวละครหลักก็ไม่เป็นไร ในฐานะมนุษย์ เราอาจเผลอติดวิธีการพูดของคนที่ใกล้ตัวเรามาโดยไม่รู้ตัวได้ - คนที่เราพูดด้วยเป็นประจำ

 

05 เพิ่มคำแสลงของโลกคุณลงไปด้วย

ส่วนสำคัญของบทสนทนาที่มักถูกมองข้ามคือ "คำแสลง" แม้แต่ในโลกของเราเองก็มีการพัฒนาคำสแลงใหม่ๆ ทุกวัน และบางครั้งคำนั้นอาจดูบ้าคลั่งหรือน่าสับสน ยกตัวอย่างเช่นคำว่า "เกียมตัว" คำนี้ดูเหมือนจะคำว่าไหม้เกรียมรึเปล่า แต่ที่จริงแล้วมันเป็นคำที่หมายถึงว่า "เตรียมตัว" ต่างหาก

ประเด็นคือ การสร้างคำแสลงที่ไม่เหมือนใครให้กับโลกนิยายของเรา เป็นสิ่งที่น่าสนใจ และเราสามารถเพิ่มในบทสนทนาได้ มันช่วยให้นักอ่านรู้จักตัวละครของเรามากขึ้นโดยไม่ต้องพูดอะไรมาก

 

สร้างบทสนทนาให้สมจริง
สร้างบทสนทนาให้สมจริง
(via: freepik)

 

06 ลักษณะการพูดของตัวละครต้องสอดคล้องตลอดทั้งเรื่อง

มันคงไม่สมเหตุสมผลหากตัวละครของเราที่เป็นคนพูดติดๆ ขัดๆ หรือประหม่าเวลาคุยกับคนแปลกหน้า จะกลายเป็นคนที่พูดคล่องปรื๋ออหรือมีความกล้าทันที (เว้นแต่ว่ามันเป็นหนึ่งในพล็อตเรื่อง) สิ่งสำคัญคือ

ต้องทำให้ลักษณะการพูดของตัวละครคงที่และสอดคล้องตลอดทั้งเรื่อง 

เพราะมันสะท้อนถึงคาแร็กเตอร์ของพวกเขา ไม่ใช่เป็นคนพูดห้วนๆ อยู่มาวันนึงตื่นขึ้นมาแล้วพูดคะขา แบบนี้ก็ไม่ใช่

 เช่นเดียวกับเคล็ดลับในข้อ 4  หากเขาเป็นคนที่ใช้คำใดคำหนึ่งบ่อย ลองให้พวกเขาใช้คำนั้นทุกครั้งเพื่อรักษาลักษณะการพูดที่สม่ำเสมอของตัวละคร

 

07 คำนึงถึงคนที่ตัวละครกำลังคุยด้วย

ในชีวิตจริงเราไม่ได้พูดลักษณะเดียวกันกับทุกคน เสียงและสไตล์ในการพูดของเราจะเปลี่ยนไป ขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังพูดกับใคร เช่น เราจะพูดกับแม่แตกต่างจากที่เราพูดกับเพื่อนสนิท แม้ว่าการเขียนบทสนทนาให้สอดคล้องกับสไตล์และน้ำเสียงของตัวละครเราเป็นเรื่องสำคัญ แต่เราก็ควรคำนึงถึงผู้ที่พูดในบทสนทนาของพวกเขาและปรับเปลี่ยนตามนั้น

 

08 อย่าพูดยาวเกินไป

ในชีวิตจริงไม่ค่อยมีคนพูดติดต่อกันเป็นเวลานาน มันอาจเป็นเรื่องสำคัญสำหรับตัวละครของเราที่จะต้องพูดอะไรยืดยาว แต่อย่าลืมลองแบ่งคำพูดออกด้วยการใช้ภาษากายหรือวิธีการอื่นๆ มาแทรก เพื่อให้นักอ่านได้หยุดพักหายใจ บทสนทนาที่ยาวยืดเกินไปอาจทำให้รู้สึกยืดเยื้อมาก และท้ายที่สุดก็ทำให้การเว้นจังหวะของเรื่องช้าลง ซึ่งจะดีมากหากเราใช้เพื่อจุดประสงค์นี้

วิธีหนึ่งในการแยกย่อหน้ายาวๆ หากคนๆ หนึ่งพูดไปสักพัก (เช่นเวลาที่พวกเขาเล่าเรื่องแปลกๆ) คือการเพิ่มปฏิกิริยาภาษากายของตัวละครอื่นๆ แทรกเข้ามา

แต่ถ้าเราพยายามขับเคลื่อนพล็อตไปในอัตราที่คงที่ ให้หลีกเลี่ยงย่อหน้าที่มีคำพูดยาวๆ

 

09 ตัดคำทักทายและคำลาออกไป

คำทักทาย "สวัสดีจ้า" เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในชีวิตจริง แต่ในหนังสือล่ะ? ไม่มากนะ

นักอ่านของเรารู้ดีพอที่จะสันนิษฐานได้ว่ามีคำทักทายเกิดขึ้น นอกจากนี้สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นส่วนสำคัญในนิยายตามปกติ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมี

บทสนทนาแบบนี้อาจทำให้นักอ่านรู้สึกเบื่อ

"เฮ้ ชาร์ลี่!"

"ว่าไงตัวแสบ?"

“ไม่มีไรมาก นายเป็นยังไงบ้าง?”

“ฉันสบายดี นายก็รู้ เหมือนเดิมๆ”

“อ่า...ฉันเข้าใจ มีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นกับนายบ้าง”

“ไม่เลย พูดจริงๆ”

การตัดสิ่งเหล่านี้จะช่วยเร่งความเร็วของเรื่อง และทำให้บทสนทนาน่าสนใจเนื่องจากตัวละครพูดในสิ่งที่ควรต้องพูด

 

10 แสดงให้เห็นว่าตัวละครของเราเป็นยังไง

หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการพัฒนาตัวละครคือ "บทสนทนา" ลองคิดตามดู เมื่อเราพบคนใหม่ๆ เราจะเรียนรู้เกี่ยวกับพวกเขาได้อย่างไร? คำตอบคือผ่านสิ่งที่พวกเขาพูดไงล่ะ

เราอาจพบใครบางคนที่ใหม่มากๆ และจากการแลกเปลี่ยนพูดคุย มันทำให้เราได้เรียนรู้ว่าพวกเขาเป็นใครและดำเนินชีวิตอย่างไร เราสามารถค้นพบว่าพวกเขาเป็นคนขี้อาย กล้าหาญ ซื่อบื้อ หรือมีน้ำใจ และพูดจานุ่มนวลผ่านคำพูดของพวกเขา

บทสนทนาของเราควรทำเช่นเดียวกันกับตัวละครของเรา ตัวอย่างเช่น

เธอปล่อยให้เส้นผมหล่นปรกหน้าเธอขณะที่เธอก้มมองข้างล่างและใช้เท้าขูดอะไรเหนียวๆ บนทางเท้า “คุณคิดอย่างนั้นจริงเหรอ” น้ำเสียงของเธอนุ่มนวล ดวงตาของเธอยังคงจับจ้องที่พื้นแทนที่จะเป็นผู้ชายคนใหม่ที่ยืนอยู่ตรงหน้าเธอ

ตัวอย่างนี้แสดงให้เราเห็นว่า ตัวละครมีลักษณะอย่างไรในสถานการณ์หนึ่งๆ ดังนั้นเราจึงรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิ่งที่เธอเป็นดังนี้ เธอเป็นคนขี้อาย เห็นได้จากการที่เธอไม่สบตาตอนที่เธอพูด

 

ข้อผิดพลาดในบทสนทนาที่ควรหลีกเลี่ยง
ข้อผิดพลาดในบทสนทนาที่ควรหลีกเลี่ยง
(via: freepik)

 

ข้อผิดพลาดในบทสนทนาที่ควรหลีกเลี่ยง

เราทุกคนทำผิด แต่ถ้าเราต้องการเป็นนักเขียนที่ได้รับการตีพิมพ์ (หรือแค่เขียนนิยายที่ยอดเยี่ยม) เราไม่ควรทำ 3 สิ่งเหล่านี้ในบทสนทนาของนิยายเรา!

01 ใช้ชื่อบุคคลนั้นซ้ำๆ

มันอดไม่ได้ที่จะให้ตัวละครของเราเรียกชื่อกันบ่อยๆ แต่นี่ไม่ใช่วิธีที่เราพูดในชีวิตจริง เว้นแต่เราจะพยายามดึงดูดความสนใจของพวกเขาหรือเน้นย้ำ (หรือเตือน!) ตามปกติ เราจะไม่พูดชื่อพวกเขา

ตัวอย่างที่ไม่ควรทำ

“รีเบคก้า ฉันต้องการคุณจริงๆ แต่คุณไม่ได้อยู่ที่นั่น”

“ฉันขอโทษแอชลีย์ ฉันแค่ยุ่งทั้งเรื่องเรียนและงาน”

“โอเค แต่นั่นไม่ใช่ข้อแก้ตัวที่ดีนะรีเบคก้า”

“เธอพูดถูกแอชลีย์ มันไม่ใช่"

 

02 ใส่ข้อมูลทั้งหมดผ่านบทสนทนา

เป็นเรื่องดีที่จะให้ตัวละครบางตัวอธิบายองค์ประกอบบางอย่างที่นักอ่านไม่เข้าใจ อย่างไรก็ตามมันจะกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อและไม่สมจริงเมื่อพวกเขาทำสิ่งนี้มากเกินไป ความจริงแล้วเราควรค่อยๆ เปิดเผยโลกของนิยายต่อนักอ่านผ่านการดำเนินเรื่อง ไม่ใช่ผ่านบทสนทนาทั้งหมด

 

03 หลีกเลี่ยงการใช้คำซ้ำๆ ต่อท้ายบทสนทนา

ประเภทเขาตอบ ฉันพูด เขาถาม ฉันกระซิบ หรืออะไรก็ตามที่บ่งบอกถึงการพูดคุยไม่ควรมีเยอะเกินไป ไม่อย่างนั้นอาจทำให้นักอ่านรู้สึกรำคาญ จนบางคนอาจปิดหนังสือเราทันที ไม่ใช่ว่ามีไม่ได้ แต่ไม่ควรมีมากเกินเหตุ เช่น

“ฉันต้องการคุณจริงๆ แต่คุณไม่ได้อยู่ที่นั่น” แอชลีย์บอก

“ฉันขอโทษ ฉันแค่ยุ่งทั้งเรื่องเรียนและงาน” รีเบคก้าตอบ

“โอเค แต่นั่นไม่ใช่ข้อแก้ตัวที่ดีนะ” แอชลี่ย์ตะโกน

“เธอพูดถูก มันไม่ใช่" รีเบคก้ากระซิบ

 

เมื่อปราศจากบทสนทนาที่มีประสิทธิภาพ แม้แต่พล็อตนิยายที่ยอดเยี่ยมที่สุดก็พังได้  

ถ้าหากบทสนทนาของตัวละคนไม่ได้เรื่อง นักอ่านก็มีสิทธิ์วางหนังสือของเราลง ดังนั้นการสร้างบทสนทนาให้สมจริงและน่าสนใจเป็นเรื่องสำคัญ มันไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ง่าย เพียงแค่ทำตาม 10 ข้อที่่พี่นำมาฝากนี้ เราก็สามารถทำให้นักอ่านติดใจกับบทสนทนาในนิยายของเราแล้ว ใครใช้แล้วเป็นยังไง อย่าลืมเเชร์ให้ฟังด้วยนะคะ ^ ^

 

พี่น้ำผึ้ง :) 

คลิกเพื่ออ่านเคล็ดลับนิยายทั้งหมด

 

ขอบคุณข้อมูลจาก
self-publishingschool.com
พี่น้ำผึ้ง
พี่น้ำผึ้ง - Columnist นักเขียนที่ชอบส่งต่อพลังบวกให้ทุกคน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

4 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด