13 ทางลัดสุดปัง สร้างตัวละครให้คนอ่านรู้สึกว่าอัจฉริยะ!

13 ทางลัดสุดปัง สร้างตัวละครให้คนอ่านรู้สึกว่าอัจฉริยะ!

 

จะดีแค่ไหนหากเรามีตัวละครฉลาดๆ สักตัวในเรื่อง ตัวละครที่ทำให้นักอ่านรู้สึกสนใจและมองว่านี่มันคือเสน่ห์ของเรื่องชัดๆ

ใครๆ ต่างก็ตกหลุมรักตัวละครที่แสนอัจฉริยะ แต่จะสร้างตัวละครยังไงให้ดูฉลาดล่ะ? แล้วจะทำยังไงให้น่าเชื่อถือด้วย? นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราพยายามเขียนอัจฉริยะระดับผู้บงการ!!! แบบเชอร์ล็อก โฮล์มส์ นักสืบอัจฉริยะ จอมโจรคิดผู้แสนเจ้าเล่ห์ หรือเฮอร์ไมโอนี่ เกรนเจอร์ ผู้ปราดเปรื่อง

แต่ไม่ต้องกังวลใจไป ทางลัด 13 ข้อที่พี่นำมาฝากในวันนี้ช่วยได้แน่นอน เครื่องมือเหล่านี้จะช่วยให้เราแสดงให้เห็นว่าตัวละครของเราฉลาดแค่ไหน และช่วยให้เราสร้างตัวละครที่ชาญฉลาดตั้งแต่เริ่มต้น

พร้อมแล้วไปดูกันเลย!!

 

 

ทางลัดที่ 1: ทำให้นักอ่านเห็นถึงความอัจฉริยะของตัวละคร

นักเขียนเป็นคนขี้โกง เราใช้วิธีแก้ปัญหาย้อนหลัง 

แค่เริ่มต้นจากคำตอบ จากนั้นใส่เบาะแสและข้อมูลที่ทำให้คนอ่านเข้าใจผิดตามแต่ที่เราต้องการ 

นี่เป็นเครื่องมือที่ยอดเยี่ยมสำหรับการสร้างตัวละครอัจฉริยะ เราไม่จำเป็นต้องอธิบายเสมอไปว่าตัวละครมาถึงข้อสรุปเหล่านี้ได้อย่างไร เพียงแต่แสดงให้นักอ่านเห็นว่าตัวละครนี้มีความสามารถในการทำเช่นนั้น

เชอร์ล็อก โฮล์มส์ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในเรื่องนี้ ลองดูจากซีนหนึ่งในซีรี่ส์ Sherlock ของ BBC

นี่แสดงให้เห็นว่าโฮล์มส์อยู่เหนือกว่าคนอื่นๆ ถึงสอง (หรือยี่สิบ) สเต็ป หลังจากทำตามทริคนี้หนึ่งหรือสองครั้ง เราก็สามารถขายความเป็นอัจฉริยะของตัวละครของเราได้อย่างสิ้นเชิง

 

ทางลัดที่ 2: อย่าปล่อยให้ตัวละครสนับสนุนดูโง่

ลองจินตนาการตามดูว่า

  • ตัวละครสุดฉลาดเดินเข้ามาในห้อง...
  • ...แก้ปัญหาง่ายๆ ด้วยวิธีที่อ่านแล้วรู้สึกทึ่ง...
  • ...ซึ่งทำให้ตัวละครอื่นๆ ดูเหมือนคนโง่งี่เง่าทันที

วิธีแก้ปัญหาของเราห้ามดูเป็นเรื่องง่าย และตัวละครสมทบของเราก็โง่ไม่ได้

ดังนั้นจงสร้างตัวละครสนับสนุนที่มีความเชี่ยวชาญ ทำให้เห็นว่าพวกเขาทำงานหนักแค่ไหน มีวิธีแก้ปัญหาอย่างไรและไม่มีอะไรได้ผล เมื่อตัวละครสุดอัจฉริยะของเราเดินเข้ามา แสดงให้เราเห็นคำตอบที่ไม่คาดคิด เราจะได้แฮปปี้กับความฉลาดของพวกเขา!

 

C-3PO 
C-3PO 
(via: https://sites.google.com/a/tupr.ac.th/star-wars)

 

ทางลัดที่ 3: ใช้ศัพท์ทางเทคนิคที่ไม่มีใครเข้าใจได้ และเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์

Technobabble (a.) ศัพท์ทางเทคนิคที่คนไม่เข้าใจ

Technobabble กับความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ที่เหนือมนุษย์ เช่น C-3PO ตัวละครหุ่นยนต์ในสตาร์ วอร์ส ที่สามารถสื่อสารได้ถึง 7 ล้านรูปแบบ คือทางลัดสู่ความฉลาด 

แน่นอนว่าทางลัดเหล่านี้ใช้งานได้ง่ายมาก แต่ให้ระวังว่าหากใช้มากเกินไป อาจทำให้ความน่าสนใจของเรื่องลดลง

เพียงแค่ให้นักอ่านได้ลิ้มลองรสชาติความฉลาดที่เกิดจากทางลัดนี้ แสดงให้พวกเขาเห็นถึงส่วนลึกของภูเขาน้ำแข็งแห่งขุมสติปัญญามหาศาลของตัวละครเรา... หรือใช้การพูดพล่าม / การคำนวณในฉากเพื่อสร้างผลกระทบทางอารมณ์ที่ทำให้นักอ่านรู้สึกทึ่ง

ไม่งั้นก็แค่ปล่อยไว้นอกเรื่อง

 

ทางลัดที่ 4: คุณทำอะไรได้บ้างกับความทรงจำที่สมบูรณ์แบบ?

เช่นเดียวกับทางลัดด้านบน ควรให้ตัวละครของเรามีความทรงจำที่เหมือนภาพถ่าย เปิดโอกาสให้ตัวละครของเราได้ทำให้นักอ่านเห็นว่า 

พวกเขาสามารถระลึกถึงสิ่งต่างๆ ที่ 99% ของมนุษย์ไม่สามารถทำได้!

อย่าลืมใส่ข้อบกพร่องของตัวละครเราด้วย เพื่อขัดแย้งกับความทรงจำอันยอดเยี่ยม เช่น ชาลลันจาก The Stormlight Archives เป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของตัวละครที่ฉลาดซึ่งมีข้อบกพร่องที่คอยรั้งเธอไว้

 

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
(via:  https://i.guim.co.uk)

ทางลัดที่ 5:  อธิบายให้คนที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญฟัง

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์เคยกล่าวว่า “ถ้าคุณไม่สามารถอธิบายได้ง่ายๆ แสดงว่าคุณไม่รู้จักมันดีพอ”

คำอธิบายง่ายๆ หรือการเปรียบเทียบเป็นวิธีที่ดีในการพิสูจน์ความเชี่ยวชาญของตัวละครเรา นอกจากนี้ยังเป็นเคล็ดลับง่ายๆ ในการอธิบายแนวคิดที่ยากซึ่งช่วยให้นักอ่านของเราเข้าใจมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามเราควรทำให้มันสนุกสนานและเพลิดเพลิน 

อย่ามัวแต่จมอยู่กับการทิ้งข้อมูลให้นักอ่านสำหรับทุกๆ แนวคิดที่เกิดขึ้น

 

ทางลัดที่ 6: หรือปล่อยเบลอไป

นอกจากนี้ไอน์สไตน์ยังกล่าวอีกว่า “ถ้าฉันสามารถอธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจได้ ฉันก็คงไม่คุ้มกับรางวัลโนเบล”

บางครั้งแนวคิดอันชาญฉลาดของเราก็ฉลาดเกินไป บางครั้งสติปัญญาของตัวละครของเรามีมากมายเกินกว่าคนที่อยู่รอบๆ ตัวเขาจะเข้าใจได้ ไม่เป็นไร เราจะใช้สิ่งนั้นให้เป็นประโยชน์ด้วยการให้ตัวละครที่ฉลาดของเราพูดว่า

"คุณคงไม่เข้าใจหรอก"

แต่ระวังความหยิ่งผยองเกินไป ซึ่งมันเป็นลักษณะที่อาจทำให้นักอ่านไม่ชอบตัวละครของเราได้

 

เฮอร์ไมโอนี่ เกรนเจอร์
เฮอร์ไมโอนี่ เกรนเจอร์
(via:  https://i.pinimg.com)

ทางลัดที่ 7: ให้ตัวละครแสดงความหลงใหล มีแพสชั่นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

แพสชั่นจะเป็นอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการขี่ม้าหรือการขับรถ หน้าที่เราก็แค่แสดงให้นักอ่านเห็นถึงแพสชั่นหรือสิ่งที่ตัวละครหลงใหล ทำให้นักอ่านสัมผัสหน่อยว่า....

  • มันน่าหลงใหลอย่างไร?
  • สิ่งนี้ทำให้วันของตัวละครเราสดใสขึ้นมาแบบไหน?
  • ทุกๆ นาทีของมันทำให้ชีวิตของตัวละครมีความสุขและง่ายขึ้นอย่างไร?

ตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมจริงๆ คือ ตัวละครหลักที่หลงรักคณิตศาสตร์จาก The Calculating Stars เธอรักวิชาคณิตศาสตร์ของเธอมาก แถมเธอยังโฟกัสที่มันในช่วงเวลาที่เครียดหนักเพื่อผ่อนคลายด้วย

วิธีการแสดงให้เห็นถึงแพสชั่นของตัวละคร

  • ค้นคว้าในขณะที่เรากำลังเขียนตัวละครตัวนี้
  • ชมบทสัมภาษณ์จากผู้เชี่ยวชาญ
  • อ่านชีวประวัติ ตำราเรียน หรือลงคอร์สออนไลน์

เลียนแบบภาษาและดูว่าผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ หลงใหลในเรื่องนี้อย่างไร!

 

ทางลัดที่ 8: จับตัวละครให้มีอาวุธ

มีกี่ครั้งที่เห็นฉากแบบนี้

  • เริ่มต้นที่ตัวละครหยุดอยู่ที่จุดตรวจ
  • ยามพูดว่า “เราไม่อนุญาตให้คุณเข้าไปโดยมีอาวุธ”
  • ตัดมาที่ห้านาทีต่อมา ตัวละครแอบเอาอาวุธเข้ามาจากเสื้อผ้า

นี่เป็นวิธีที่ง่ายมากในการแสดงความเชี่ยวชาญของตัวละครเราด้วยการให้เขาอยู่กับอาวุธ และนี่เองก็เป็นวิธีในการสร้างโลกที่ง่ายมากด้วยเช่นกัน หากเราใช้หนังสือหรือสิ่งประดิษฐ์มาเป็นอาวุธ ลองนึกถึงหนังสือที่เฮอร์ไมโอนี่อ่านในแฮร์รี่ พอตเตอร์สิ!
 

เชอร์ล็อก โฮล์มส์ และหมอวัตสัน
เชอร์ล็อก โฮล์มส์ และหมอวัตสัน
(via:  https://i.dailymail.co.uk)

 

ทางลัดที่ 9: ตัวละครอื่นๆ จดจำความอัจฉริยะของเขา

ลองดูตัวอย่างจากเชอร์ล็อก โฮล์มส์

เมื่อเทียบกับคนส่วนใหญ่ หมอวัตสันเป็นคนฉลาด เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่มีประสบการณ์ เคยทำสงครามกับกองทัพอังกฤษถึงสองครั้งในฐานะศัลยแพทย์ ทุกครั้งที่โฮล์มส์ปิดคดี วัตสันมักเขียนเรื่องราวของโฮล์มส์ลงบล็อก นี่คือกุญแจสำคัญของเทคนิคนี้

ดังนั้นเมื่อวัตสันบอกว่าเชอร์ล็อก โฮล์มส์เป็นอัจฉริยะเราก็เชื่อ

 

ทางลัดที่ 10:  ตัวละครรู้ในสิ่งที่คาดไม่ถึง

ลองให้โอกาสตัวละครของเราแสดงความจริงที่ไม่คาดคิด เช่น

  • ความจริงที่ไม่ค่อยมีใครรู้
  • ข้อเท็จจริงที่โต้แย้งได้ง่าย
  • เรื่องไม่สำคัญที่น่าสนใจในโลกแห่งความเป็นจริง

อาจเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องยัดเยียดข้อเท็จจริงให้นักอ่านปวดหัวมากไป เว้นแต่ตัวละครจะเรียกร้อง ซึ่งนี่เป็นเครื่องมือที่ยอดเยี่ยมสำหรับการสร้างโลกเช่นกัน

แต่มีข้อควรระวังอย่างหนึ่ง...

อย่าทำให้ตัวละครของเรารอบรู้ไปซะหมดจนถึงขั้นต้องจับผิดคนอื่นๆ เว้นแต่เราจะพยายามสร้างตัวละครที่น่ารำคาญ

 

ดร.สเตรนจ์
ดร.สเตรนจ์
(via:  https://cdn.vox-cdn.com)

 

ทางลัดที่ 11: พลังแห่งการทำนายที่เหลือเชื่อ

นี่เป็นวิธีที่ยอดเยี่ยม เพราะช่วยให้เราทำบางสิ่ง นั่นคือ

สร้างความตึงเครียดในการเล่าเรื่องที่ไม่เหมือนใคร

ตัวอย่างเช่น อัจฉริยะของเราอาจทำนายอุบัติเหตุที่เลวร้าย หรืออาจอธิบายถึงสถานการณ์บางอย่างที่น่ากลัว แบบดร.สเตรนจ์ ใน Avengers: Infinity War 

สิ่งนี้ทำให้เกิดคำถามที่น่าทึ่ง เช่น จะเกิดขึ้นหรือไม่? จะเลวร้ายขนาดไหน?

และยังช่วยให้นักอ่านรีบเปลี่ยนหน้าไปยังหน้าถัดไปให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

และพัฒนาตัวละครที่ชาญฉลาดของเราด้วยวิธีที่น่าสนใจ

จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากทำนายสองหรือสามเหตุการณ์ติดต่อกัน... และผู้อ่านเริ่มเชื่อว่าตัวละครของเรารู้ทุกอย่าง

ตัวละครของเราทำนายผิดหรือเปล่า?

ทำให้ความเชื่อของนักอ่านเริ่มสั่นคลอนด้วยวิธีอะไรก็ได้ ทำลายความเชื่อมั่นและสร้างความขัดแย้งภายในที่ทรงพลัง สิ่งนี้จะทำให้ความตึงเครียดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เลวร้าย ลองดูจากซีรี่ส์ของ Fox อย่างเช่น House

 

ทางลัดที่ 12: วิธีที่พวกเขาเอาชนะความล้มเหลว

ตัวละครที่ฉลาดมักมีไอเดียที่ลื่นไหลอยู่ตลอด พวกเขายังคงเพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงแนวคิดของตนอยู่เสมอ พวกเขารู้ดีว่าความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของเกมชีวิต โดยเราสามารถนำเสนอความฉลาดของตัวละครได้ในหลายๆ สถานการณ์ เช่น

  • พยายามหลบหนีจากคุก
  • การทดสอบที่ไม่มีใครผ่าน
  • หรือประดิษฐ์อุปกรณ์ใหม่ ๆ เพื่อปรับปรุงชีวิตของพวกเขา

ตัวละครของเราไม่จำเป็นต้องเป็นอัจฉริยะเพื่อทำสิ่งนี้ การเพิ่มประสิทธิภาพตนเองเป็นเพียงจุดเด่นของความฉลาดที่นักอ่านอยากเห็นในตัวละคร หากเราต้องการทำให้ตัวละครเป็นที่น่าพอใจมากขึ้น 

ทำให้เห็นว่าตัวละครนั้นล้มเหลว และล้มเหลวอย่างไร และให้พวกเขาพยายามต่อไปจนกว่าจะประสบความสำเร็จ

 

ทางลัดที่ 13: เด็ก, ใหม่...และยอดเยี่ยม?

ทางลัดนี้ถูกใช้ในการเล่าเรื่อง “ตามโรงเรียน" เกือบทุกเรื่องเช่น แฮร์รี่ พอตเตอร์ หรือสงครามพลิกจักรวาล เมื่อนักเรียนอายุน้อยมีประสิทธิภาพดีกว่าครู

นี่เป็นวิธีที่เรียบง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ แต่ก็เป็นวิธีที่น่าพอใจในการมอบ “พลังแห่งสติปัญญา...” ให้กับตัวละครของเรา โดยไม่ต้องทำลายเรื่องราวด้วยการทำให้ตัวละคร "เอาชนะ" ตัวละครตัวอื่นๆ เพราะเราสามารถใช้อายุของตัวละครและความไม่มีประสบการณ์กับพวกเขาได้หลายวิธี

หนังสือบางเล่มใช้เวลามากเกินไปและปล่อยให้ตัวละครเก่งในทุกเรื่องที่พวกเขาสัมผัส ส่งผลให้ตัวละครขาดความน่าเชื่อถือจนนำไปสู่ตัวละครแบบแมรี่ซู ขณะที่นิยายบางเรื่องใช้ทางลัดนี้น้อยด้วยการไม่ปล่อยให้ตัวละครนักเรียน “ได้รับ” ความเชี่ยวชาญมากเกินไป

ดังนั้นโปรดระวัง อย่าปล่อยให้นักเรียนของเราประสบความสำเร็จง่ายเกินไป ไม่เช่นนั้นครูหรืออาจารย์จะดูโง่ทันที

 

..................

 

มีหลายร้อยวิธีในการสร้างตัวละครให้ดูชาญฉลาด ไม่ว่าเราจะมุ่งเน้นไปที่แนวคิดทั้ง 13 ข้อนี้หรือไม่ แต่เราควรสร้างโอกาสที่ดีในการทำให้ตัวละครของเราดูสมจริง น่าสนใจ และน่าค้นหามากยิ่งขึ้น วิธีเดียวที่จะรู้ว่างานเขียนของเราประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น คือเขียนต่อไป แบ่งปันให้คนรอบข้างอ่าน นำฟีดแบ็คมาปรับปรุง และพัฒนาการเขียนได้ดีขึ้น ฝึกฝนเท่านั้นที่ช่วยเราได้ เป็นกำลังใจให้ค่ะ

 

พี่น้ำผึ้ง :)

 

ขอบคุณรูปภาพจากภาพยนตร์ขอบคุณข้อมูลจาก https://pshoffman.com/
พี่น้ำผึ้ง
พี่น้ำผึ้ง - Columnist นักเขียนที่ชอบส่งต่อพลังบวกให้ทุกคน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด