ทำความรู้จักกับประเภทของตัวละครทั้ง 8 ประเภท ที่เราแนะนำว่าควรใส่ไว้ในนิยายของคุณ!

ทำความรู้จักกับประเภทของตัวละครทั้ง 8 ประเภท 
ที่เราแนะนำว่าควรใส่ไว้ในนิยายของคุณ!

 

เพื่อนๆ ชาวเด็กดีเคยสังเกตกันมั้ยคะ ว่าในนิยายหรือหนังแต่ละเรื่องที่เราเคยอ่านเคยดูกันมา นอกจากจะมีตัวเอกกับตัวร้ายที่เป็นตัวละครหลักที่ทำหน้าที่ดำเนินเรื่องแล้ว ตัวละครอื่นๆ นั้นมีบทบาทหรือทำหน้าที่อะไรในนิยายหรือหนังเรื่องนั้นๆ บ้าง?

พี่ปุ๋ยขอบอกเลยว่า ตัวละครอื่นๆ ล้วนมีบทบาทสำคัญไม่แพ้ตัวเอกหรือตัวร้ายเลย  เพราะพวกเขาล้วนมีอิทธิพลที่ส่งผลต่อการกระทำของตัวเอกและทิศทางของเนื้อเรื่องเสมอ ไม่ว่าจะในด้านบวกหรือด้านลบก็ตาม และถึงแม้บางตัวละครอาจจะโผล่มาแค่ไม่กี่ฉาก แถมยังเป็นฉากสั้นๆ กินเวลาไม่กี่นาที แต่การปรากฏตัวของตัวละครนั้นอาจจะพลิกเนื้อเรื่องในส่วนที่เหลือไปจนหมดเลยก็ได้นะ

แล้วนอกจากตัวเอกกับตัวร้ายแล้ว ตัวละครไหนที่เราควรใส่เข้าไปในนิยายของเราบ้างล่ะ?

สำหรับคนที่ยังสับสนมึนงง ไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไงดี อันดับแรก พี่ปุ๋ยขอพาทุกคนมาทำความรู้จักกับประเภทของตัวละครทั้ง 8 ประเภทที่เรามักจะเจอบ่อยๆ ในนิยายกันก่อนดีกว่าค่ะ แล้วมาดูไปพร้อมๆ กันซิว่า ตัวละครประเภทไหนที่น่าจับเข้าไปอยู่ในนิยายของเราบ้างนะ

ประเภทของตัวละครในนิยาย

1. ตัวเอก (Protagonist)

แน่นอนว่าตัวละครหลักหรือตัวเอกเป็นตัวละครที่มีความสำคัญมากที่สุด เพราะพวกเขาคือศูนย์รวมความสนใจของนักอ่านในนิยายเรื่องนั้นๆ นั่นเอง

ตัวเอกนั้น จะเป็นตัวขับเคลื่อนพล็อตของเรื่อง เป็นผู้ที่คอยวิ่งตามเป้าหมายหลักและแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตผ่านเรื่องราวที่คุณได้วางเอาไว้

คุณสมบัติที่ตัวเอกจะต้องมี ได้แก่ :

  • ข้อบกพร่องของมนุษย์ที่สามารถปรับปรุงแก้ไขได้
  • ความกล้าหาญที่จะปรากฏออกมาเมื่อถึงจุดไคลแม็กซ์
  • การเปลี่ยนแปลงของคาแรกเตอร์ (เปลี่ยนเป็นคนละคนไปเลย, เปลี่ยนเป็นคนที่ดีขึ้นหรือแข็งแกร่งขึ้นในตอนท้าย)

จำไว้เสมอว่า อย่าสร้างตัวละครให้เพอร์เฟคมากเกินไปเพราะมันจะดูปลอมและทำให้นิยายของคุณน่าเบื่อได้

ตัวอย่างตัวเอกผู้โด่งดัง :

  • โรมิโอ และ จูเลียต จาก Romeo and Juliet
  • อลิซาเบธ เบนเน็ต จาก Pride and Prejudice 
  • โดโรธี จาก The Wonderful Wizard of Oz
  • วิลเบอร์ จาก Charlotte’s Web
  • แจ็ค ไรอัน และ มาร์โก เรเมียส จาก The Hunt for Red October
  • แคทนิส เอเวอดีน จาก The Hunger Games

2. ตัวร้าย (Antagonist)

ตัวละครที่คอยขัดขวางและลอบทำร้ายตัวเอกของคุณ ยิ่งตัวร้ายมีความเก่งกาจและน่าเกรงขามมากเท่าไหร่ ตัวเอกของคุณก็ยิ่งมีความน่าสนใจมากขึ้นเท่านั้น

คุณสมบัติที่ตัวร้ายจะต้องมี ได้แก่ :

  • มีเรื่องราวภูมิหลังที่สมจริงและน่าเห็นอกเห็นใจ
  • ทำตัวอวดเบ่ง แสดงอำนาจ
  • ทำให้ตัวเอกต้องเผชิญกับการความยุ่งยากในการตัดสินใจ
  • เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ตัวเอกเติบโตขึ้น
  • ระมัดระวังอย่าเขียนให้ตัวร้ายมีนิสัยชั่วร้ายเฉยๆ โดยไม่มีเหตุผลรองรับ

เขียนให้ตัวร้ายของคุณเป็นคู่ต่อสู้ที่สมน้ำสมเนื้อกับตัวเอก ทำให้พวกเขาเป็นตัวร้ายเกรดเอที่แฟนๆ ให้ความรักและความสงสารได้เทียบเท่ากับตัวเอก แสดงให้เห็นถึงแรงจูงใจของพวกเขาว่าการกระทำไม่ดีต่างๆ นาๆ ที่พวกเขาทำไปนั้น เป็นผลมาจากเรื่องเลวร้ายที่เคยพบเจอในอดีต

ตัวอย่างตัวร้ายผู้โด่งดัง :

  • ลอร์ด โวลเดอมอร์ จาก Harry Potter
  • นายกเทศมนตรีแลร์รี่ วอห์น จาก Jaws
  • มิสเตอร์ดาร์ซี จาก Pride and Prejudice
  • ประธานาธิบดีโคริโอลานัส สโนว์ จาก The Hunger Games
  • ศาสตราจารย์เจมส์ มอริอาร์ตี้ จาก Sherlock Holmes

3. คู่หูหรือบัดดี้ของตัวเอก  (Sidekick)

ตัวละครที่มีความสำคัญรองลงมาจากตัวเอกในนิยายของคุณ ผู้ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานหรือคู่หูของตัวเอก แต่อาจจะไม่ใช่ตัวละครที่หวังดีหรือให้การสนับสนุนตัวเอกเสมอไป บางคนอาจเป็นมิตรที่เปลี่ยนไปเป็นศัตรู และอาจกลายเป็นตัวร้ายในท้ายที่สุด

แต่ส่วนมากตัวละครนี้คือตัวละครที่คอยสนับสนุนและให้คำแนะนำกับตัวเอก และมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มความลึกซึ้งให้กับเรื่องราว

ตัวอย่างเพื่อนพระเอกผู้โด่งดัง :

  • ดอคเตอร์จอห์น วัตสัน จาก  Sherlock Holmes
  • จิม ทาสผู้หลบหนี จาก The Adventures of Huckleberry Finn
  • แซมไวส์ แกมจี จาก The Lord of the Rings
  • เอียโก้ จาก Othello

4. ตัวละครที่คอยกระตุ้นตัวเอก (Orbital Character)

ตัวละครที่มีความสำคัญเป็นอันดับสาม รองลงมาจากตัวเอกและเพื่อนพระเอก เป็นตัวละครที่คอยกระตุ้น ยุยงส่งเสริม และนำพาความยุ่งยากมาให้ตัวเอกจัดการ ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสให้ตัวเอกเปล่งประกายมากขึ้น แต่บางครั้งตัวละครนี้ก็อาจกลายเป็นตัวร้ายได้เช่นกัน

ตัวอย่างตัวกระตุ้นผู้โด่งดัง :

  • ทอม ซอว์เยอร์ จาก The Adventures of Huckleberry Finn
  • เฮอร์ไมโอนี่ จาก Harry Potter
  • เจ้าหญิงเลอา และ ฮัน โซโล จาก Star Wars
  • ข่าน จาก Star Trek

5. คู่เดทของตัวเอก (Love Interest)

เรื่องราวความรักที่ลึกซึ้งและน่าประทับใจของตัวเอกและคู่เดท (ที่ยังไม่ถึงขั้นคู่รัก) ในนิยาย เป็นเหมือนแฟนเซอวิสให้กับนักอ่านทั้งหลายเฉยๆ แต่อย่าละเลยหรือคิดว่าตัวละครเหล่านี้ไม่มีความสำคัญ คู่เดทเหล่านี้ก็สามารถเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายของตัวเอกได้เช่นกัน

ถ้าเขียนให้ดีๆ แล้วล่ะก็ เลิฟสตอรี่ของตัวเอกสามารถแสดงให้นักอ่านเห็นถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอกได้เลยนะ แต่จงระวังไว้ว่าเรื่องราวความรักที่ดูเพอร์เฟคเกินไปก็อาจจะดูเป็นรักปลอมๆ ได้เหมือนกัน

ตัวอย่างคู่เดทของตัวเอกผู้โด่งดัง :

  • เรตต์ บัตเลอร์ จาก Gone With the Wind
  • พีต้า จาก The Hunger Games
  • มิสเตอร์ดาร์ซี จาก Pride and Prejudice
  • เดซี่ จาก The Great Gatsby

6. คนสนิทของตัวเอก (Confidante)

เป็นตัวละครที่ตัวเอกไว้วางใจมากที่สุด และมักจะเป็นเพื่อนสนิทหรือที่ปรึกษา แต่บางครั้งก็อาจจะเป็นตัวละครที่ไม่น่าไว้วางใจเท่าไหร่นัก

คนสนิทเป็นตัวละครสำคัญที่มักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเปิดเผยความคิดและความรู้สึกของตัวเอก

ตัวอย่างคนสนิทของตัวเอกผู้โด่งดัง :

  • แซมไวส์ แกมจี จาก The Lord of the Rings
  • อัลบัส ดัมเบิลดอร์ และ เฮอร์ไมโอนี่ จาก Harry Potter
  • ฮอเรชิโอ จาก Hamlet
  • ซินน่า จาก  The Hunger Games

7. ตัวประกอบ (Extras)

เป็นตัวละครที่โผล่มาในฉากสั้นๆ ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่มักมีความสำคัญต่อเรื่องราวในนิยาย

ดังนั้นจงระวัง อย่าสร้างตัวประกอบที่ซ้ำซากจำเจมากเกินไปนัก ตัวละครเหล่านี้คือคนที่ตัวละครหลักของคุณจะต้องพบเจอ เช่น ช่างซ่อม เสมียน พนักงานเสิร์ฟ หรือแม้แต่คนที่นั่งข้างๆ ตัวเอกบนรถบัส

ตัวอย่างตัวประกอบผู้โด่งดัง :

  • มาดามสตาห์ล จาก Anna Karenina
  • ราดากัสต์ จาก The Lord of the Rings
  • ปาราวตี และ ปัทมา พาติล จาก Harry Potter

8. ตัวละครที่เป็นขั้วตรงข้ามกับตัวเอก (Foil Character)

ถือเป็นตัวละครที่มีคุณสมบัติตรงข้ามกับตัวเอก คล้ายกับเป็นตัวร้ายของเรื่อง (แต่ไม่ได้เป็นศัตรูที่แท้จริงของตัวเอกนะ) ตัวละครนี้เป็นเพียงตัวช่วยที่จะทำให้ตัวเอกของคุณมีมิติมากขึ้น เป็นเหมือนตัวกระตุ้นให้ตัวเอกเปิดเผยตัวตนหรือเรื่องราวเบื้องลึกในจิตใจออกมาให้นักอ่านได้รับรู้

ตัวอย่างตัวละครขั้วตรงข้ามกับตัวเอกผู้โด่งดัง :

  • เอฟฟี่ ทรินเกต กับ แคทนิส เอเวอดีน จาก The Hunger Games
  • เดรโก มัลฟอย กับ แฮร์รี่ พอตเตอร์ จาก Harry Potter
  • ดอคเตอร์จอห์น วัตสัน กับ เชอร์ล็อก โฮมส์ จาก Sherlock Holmes

...........................

เป็นยังไงบ้างคะกับประเภทของตัวละครทั้ง 8 ประเภทพี่ปุ๋ยได้นำมาฝากกันในวันนี้ ถ้าดูจากรายชื่อตัวละครดังๆ ในแต่ละประเภทที่ได้ยกมาเป็นตัวอย่างแล้ว เพื่อนๆ คงจะเห็นได้ว่ามีตัวละครหลายตัวเลยที่เราเคยมองข้ามความสำคัญของพวกเขาไป แต่แท้จริงแล้วการมีอยู่ของตัวละครเหล่านี้ ล้วนมีความสำคัญต่อตัวเอกและการดำเนินเรื่องทั้งนั้นเลย

อย่างไรก็ตาม ในการเขียนนิยาย เราก็ไม่จำเป็นต้องใส่ตัวละครให้ครบทั้ง 8 ประเภทเสมอไปก็ได้นะคะ แต่หลักๆ นอกจากตัวเอกและตัวร้ายแล้ว ก็ควรจะมีตัวละครประเภทอื่นๆ บ้างสัก 2 - 3 ประเภท เพื่อให้นิยายของเรามีตัวละครที่มีหลากหลายมิติมากขึ้น สิ่งนี้จะช่วยทำให้เนื้อเรื่องของเรามีความน่าสนใจและน่าติดตามมากขึ้นนั่นเองค่ะ

และถ้าเพื่อนๆ อยากฝึกเทคนิคการสร้างตัวละครประเภทต่างๆ ให้คล่องมือกว่านี้ ต่อไปเวลาที่เราอ่านนิยายหรือดูหนังเรื่องไหน เพื่อนๆ ก็ลองลิสต์ประเภทของตัวละครที่เราเจอดูสิคะ ว่ามีตัวไหนเป็นประเภทไหนและทำหน้าอะไรบ้าง มันจะมีประโยชน์ต่อการเขียนนิยายของเรามากๆ เลยล่ะ

หากสนใจเคล็ดลับการเขียนหรืออยากเป็นนักเขียนที่เก่งขึ้น สามารถกดติดตามรวมบทความเด็ดได้ที่ "เปิดคัมภีร์! ส่งต่อเคล็ดลับที่จะทำให้การเขียนนิยายของคุณกลายเป็นเรื่องง่าย!" เชื่อว่าน่าจะมีเคล็ดลับการเขียนที่ตรงใจทุกคนอยู่แน่ๆ ค่ะ

พี่ปุ๋ย :)

 

ขอบคุณรูปภาพจาก https://unsplash.com/
พี่ปุ๋ย
พี่ปุ๋ย - Columnist มนุษย์ผู้ได้เปิดโลกกว้างผ่านการอ่านนิยาย

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

Wawa monster Member 1 ส.ค. 65 12:17 น. 1

ได้ไอเดียในการรังสรรค์เพิ่มแล้ว ขอบคุณพี่ปุ๋ยมากเลยค่ะ ที่แชร์เกล็ดความรู้ดีๆ หรือนำมาฝากพวกเรา

0
กำลังโหลด
Helegriel ณ ชะอำ Member 3 ส.ค. 65 16:38 น. 2

น่าจะผิดแล้วมั้งคะ มิสเตอร์ดาร์ซีเนี่ยนะ จัดเป็น Antagonist ใน Pride and Prejudice???

เขาเป็นพระเอกนะคะ ช่วยเหลือนางเอกทุกอย่าง ตอนน้องสาวนางเอกหนีตามผู้ชายไป เขาก็ไปช่วยตามและจ่ายเงินค่าแต่งงานให้ นางเอกโดนญาติเขาต่อว่า เขาก็เดินลุยทุ่งมาขอโทษแทน

ควรจะเป็น Protagonist ค่ะ


ส่วน Antagonist ของเรื่องคือผู้หญิงแก่2คน จาก2ระดับสังคม คือ เลดี้แคทเทอรีน เดอเบอร์ กับแม่ของนางเอก ทั้งคู่เป็นตัวแทนกฎสังคมที่กดขี่ผู้หญิง คนหนึ่งรวยและดูถูกคนจน กีดกันไม่ให้นางเอกมายุ่งกับหลานชายตัว อีกคนจนและอยากใช้ลูกๆยกฐานะ เลยสอนให้แต่งกับผู้ชายรวยลูกเดียว ทำให้เกิดปัญหาคือพี่สาวนางเอกโดนถอนหมั้นเพราะแม่


แล้วพวกตัวประกอบ Extras นี่ จุดที่ควรมี คือไม่ใช่แค่พบเจอแล้วทำให้เรื่องเดิน แต่ควรเป็นตัวเปรียบเทียบที่สอดคล้องในธีมเดียวกันของเรื่อง

เช่นใน Pride and Prejudice เพื่อนของนางเอก คือ ชาร์ล็อตต์ ลูคัส เป็นตัวประกอบ ตัดสินใจแต่งงานกับมิสเตอร์คอลินส์เพื่อจะได้มีบ้าน มีเงิน มีความสุขตามขนบผู้หญิงยุครีเจนซี่ทั่วไป นำมาเปรียบเทียบกับตัวเองนางเอกเอง ที่จะแต่งงานเพราะความรักเท่านั้น (ทำให้เราเห็นความหมายในทางเลือกของตัวเอกชัดเจนขึ้น)

ถ้าเขียนตัวประกอบให้มีทางเลือกชีวิตที่เหมือนกับตัวเอก อย่างนี้ไม่มีประโยชน์ จะเขียนทำไม

หรือถ้าเขียนแบบตัวประกอบไม่มีเรื่องราวชีวิตเป็นของตนเอง ก็ตื้นเขิน อย่าใส่มาหลายตัวค่ะ

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด