สรุป 7 เทคนิคเขียนนิยาย “สืบสวนสอบสวน” จาก ‘มิกิโตะ ชิเน็น’ เจ้าของรางวัลนิยายสืบสวน ผู้เขียน คดีฆาตกรรมนกกระเรียนพันตัว และคดีฆาตกรรมในหอคอยกระจก

สรุป 7 เทคนิคเขียนนิยาย “สืบสวนสอบสวน” 
จาก ‘มิกิโตะ ชิเน็น’ เจ้าของรางวัลนิยายสืบสวน 
ผู้เขียน คดีฆาตกรรมนกกระเรียนพันตัว 
และคดีฆาตกรรมในหอคอยกระจก

* * * * *

ในงานมหกรรมหนังสือเมื่อเดือนตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา มีโครงการดีๆ อย่าง Global Author Spotlight ที่ได้เชิญนักเขียนชื่อดังจากนานาชาติ มาร่วมพูดคุยกับนักอ่านและนักเขียนชาวไทยด้วย ภายในงานมีกิจกรรมเสวนาสุดเอ็กซ์คลูซีฟเกี่ยวกับ ‘เทคนิคการเขียนนิยายสืบสวน’ ของ มิกิโตะ ชิเน็น คุณหมอนักเขียนนิยายสืบสวนชาวญี่ปุ่น เจ้าของผลงานนิยายชื่อดังอย่าง คดีฆาตกรรมนกกระเรียนพันตัว และคดีฆาตกรรมในหอคอยกระจก ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยและติดอันดับขายดีภายในงานนี้ด้วย  

หลังจากที่แอดมินได้ลองฟังเทคนิคและประสบการณ์ที่คุณหมอนำมาแชร์ ก็พบว่าจึ้งใจสุดๆ จนอดไม่ได้ที่จะนำมาสรุปเป็นเทคนิคให้เพื่อนๆ นักเขียนได้ลองเอาไปลองใช้กัน คิดว่าเทคนิคทุกข้อสามารถนำไปปรับใช้ได้กับนิยายทุกแนว ไม่เฉพาะแค่นิยายสืบสวนสอบสวนเท่านั้นค่ะ เพราะฉะนั้น บทความนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับนักเขียนทุกคน  

ลองไปอ่านแล้วนำไปปรับใช้กับนิยายของตัวเองกันดูนะคะ  

* * * * *

1. ให้ความสำคัญกับปริศนา หาไอเดียแปลกใหม่ ไขคดีท้าทายขึ้น

  • ในนิยายสายสืบสวน การเกิดคดีฆาตกรรมเป็นเรื่องที่พบเห็นได้บ่อยๆ ในงานเขียนสายนี้ แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าคดีฆาตกรรม หรือตัวฆาตกร คือ ปริศนา หรือเรื่องลี้ลับยากจะคาดเดา ที่ดึงดูดให้คนอ่านเกิดความสงสัย และเฝ้ารอให้ปริศนาคลี่คลายอย่างสวยงาม 
     
  • คุณหมอชิเน็น ชอบลิสต์ไอเดียที่ไม่ธรรมดาเก็บไว้ เขาชอบจดบันทึกปรากฏการณ์แปลกๆ เรื่องเหนือธรรมชาติ หรือแนวคิดที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ นำมาเชื่อมโยงกับพล็อตในนิยาย เช่น การเขียนตัวอักษรในร่างกาย การเกิดภาวะแปลกๆ ขึ้นกับอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ศพที่มีลักษณะผิดปกติ หรือการหายตัวได้ที่ดูเหนือธรรมชาติ 
     
  • เมื่อได้ไอเดียแล้วก็จะรวบรวมความคิดว่า ไอเดียไหนเกิดขึ้นได้จริงบ้าง พอลองดูแล้วการเขียนตัวอักษรบนกระเพราะอาหารเกิดขึ้นได้จริง ด้วยเหตุผลทางการแพทย์ จึงเกิดเรื่องคดีฆาตกรรมนกกระเรียนพันตัวขึ้นมา

2. ดึงดูดใจนักอ่าน ด้วยฉากที่เหนือชั้น

คุณชิเน็นมีแนวคิดในการสร้างฉาก 2 สเต็ป คือ

1. ฉากที่ไม่น่าเชื่อ > ฉากที่เกิดเรื่อง เกิดคดีปริศนา ต้องเป็นฉากที่แปลก ไม่น่าเกิดขึ้นจริง ทำให้คนเอะใจว่าทำไมถึงเกิดขึ้นได้ สร้างความแปลก ดึงคนเข้ามาติดตามตั้งแต่แรก เช่น ในเรื่องคดีฆาตกรรมนกกระเรียนพันตัว มีการเขียนตัวอักษรบนผนังกระเพาะอาหารของคนตาย ซึ่งดูเป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อมาก 

2. ฉากที่เกิดได้จริง > ต้องมีตรรกะ มีเหตุผลรองรับทั้งหมด ถึงจะแปลกหรือโดดเด่นยังไง ก็ต้องมีเหตุผลมารองรับ เพื่อให้คนอ่านเข้าใจว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร เช่น เหตุการณ์ที่มีข้อความสลักอยู่บนผนังกระเพาะอาหาร เป็นไอเดียที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง เมื่อเอาองค์ความรู้ทางการแพทย์มาจับ สามารถอธิบายด้วยข้อเท็จจริงทางการแพทย์ได้ 

สรุปคือ สร้างฉากที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้จริง > ให้กลายเป็นฉากที่เกิดได้จริง

ภาพบรรยากาศภายในงาน
ภาพบรรยากาศภายในงาน

3. ออกแบบตัวละครให้ชัด มีจำนวนตัวละครที่พอดี

  • จำนวนตัวละครที่นักอ่านจำได้อยู่ที่ 5-10 ตัวละคร ถ้ามากกว่านี้คนอ่านจะเริ่มสับสนว่าคือใคร ส่วนตัวเด่นๆ หรือตัวละครหลักควรอยู่ที่ 5-6 ตัวละคร ไม่สร้างตัวละครเยอะจนเกินไป ต้องคำนวณเรื่องการสร้างตัวละครอย่างละเอียด
     
  • การออกแบบตัวละคร ต้องลึก เหมือนตัวละครมีชีวิตอยู่จริง ทุกการกระทำ ทุกพฤติกกรรมของตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นตัวละครที่ดูแปลกหรือดูโดดเด่น ก็ต้องมีเหตุผลรองรับทั้งหมด ทั้งภูมิหลัง และการกระทำ ต้องไม่เขียนให้ตัวละครโผล่มา ไม่มีที่มาที่ไป คนอ่านจะรู้สึกว่าไม่สมจริง และทำให้สับสนได้ 
     
  • คุณหมอชิเน็นให้ความสำคัญกับคาแรคเตอร์มาก ต้องกำหนดคาแรคเตอร์ให้ชัด มีจุดเด่นทุกตัว เช่น ตัวละครหลักต้องระบุจุดเด่นให้ชัดเจน ต้องไม่ทำให้ระหว่างทางนักอ่านสับสนว่าตัวละครคนนี้คือใคร หรือตอนนี้กำลังพูดถึงตัวละครตัวไหนอยู่
     
  • การสร้างตัวละครที่มีอาชีพ ต้องรู้จักอาชีพนั้นๆ ให้ดีที่สุด ต้องหาข้อมูล ไปพูดคุย ไปอ่านเอกสารข้อมูลให้เยอะ ต้องทำความเข้าใจอาชีพอย่างแท้จริง จึงจะสร้างตัวละครที่สมจริงได้

4. เล่าเรื่องให้ไม่น่าเบื่อ ต้องขยันแกล้งตัวละคร

  • ลำดับการเล่าเรื่องของนิยายสายสืบสวนทั่วไป จะเริ่มที่เจอปริศนาหรือความสงสัยบางอย่าง > หาเหตุผลจากความสงสัยนั้น > สุดท้ายทุกอย่างกระจ่าง
     
  • สเต็ปพื้นฐานนี้ คุณหมอชิเน็นมองว่าเป็นการเล่าข้อมูลทื่อๆ ทำให้นิยายไม่สนุก และน่าเบื่อ คนอ่านเดาทางได้
     
  • การเล่าเรื่องสไตล์คุณหมอชิเน็น คือ ‘การทดลอง’ เพื่อให้ได้ข้อมูลว่าทำไมถึงเกิดคดีหรือปริศนาขึ้น ตัวละครจะมีการทดลองตลอดเวลา หาแบบนั้น ลองแบบนี้ แล้วไม่เจอ ลองแบบใหม่ ทำการทดลองทุก 10 หน้า แล้วก็เปลี่ยนการทดลองไปเรื่อยๆ ค่อยๆ ใกล้ความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ ดึงให้นักอ่านอยากติดตามมากยิ่งขึ้น

เทคนิคสำคัญ คือ ต้องแกล้งตัวละครเอกไปเรื่อยๆ สร้างอุปสรรคให้เขาไปเรื่อยๆ 
 

  • คุณหมอชิเน็น ยกตัวอย่างพล็อตที่น่าเบื่อ เช่น ตัวละครหลักเป็นตำรวจ ไปที่เกิดเหตุ เจอพยาน สอบปากคำทีละคนจนได้ข้อมูล และสืบหาตัวคนร้าย ถ้าลำดับเรื่องทื่อๆ คนอ่านก็จะเบื่อ เพราะเดาง่าย เพราะฉะนั้นต้องเพิ่มความยากให้ตัวละคร เช่น ตำรวจไปหาพยานที่บ้าน แต่พยานปากเอกคนนั้นตายก่อน ตำรวจเข้าไปเป็นสายสืบ แต่ก็ไปพัวพันกับอีกแก๊งหนึ่ง สุดท้ายก็ยังไม่ได้รู้ความลับอยู่ดี จะทำยังไงให้เขาหนีออกมาได้ ที่ทำแบบนี้เพื่อเพิ่มความยากลำบากในการไขคดีนั่นเอง
ภาพบรรยากาศภายในงาน
ภาพบรรยากาศภายในงาน

5. จบเรื่องให้กระชับ คลี่คลายปมปริศนาให้สวยงาม

การคลี่คลายปมสไตล์คุณหมอชิเน็น คือ การคลี่คลายทุกอย่างในตอนท้ายให้กระชับที่สุด สั้นที่สุด 

การสร้างโครงเรื่องที่พลิกจบแบบกระชับมาก ๆ คือ ทำให้ระหว่างทางมีฉากที่เกิดการพลิกผันหลายฉาก ไม่ว่าจะพยายามหาข้อมูลระหว่างทางมากแค่ไหน ก็เหมือนจะไขปริศนาไม่ได้สักที แล้วสุดท้ายก็พลิกจบได้อย่างสวยงาม ทริกในข้อนี้ ต้องอาศัยการค่อยๆ เฉลยระหว่างทาง ทำให้นักอ่านจดจำ และเมื่อมาถึงตอนเฉลย นักอ่านจะนึกถึงได้ทันที และเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดง่ายๆ 

6. หาอาวุธของตัวเองให้เจอ

  • เครื่องมือช่วยไขปริศนาในนิยายสืบสวน ไม่ได้มีแค่องค์ความรู้ทางการแพทย์เท่านั้น 
     
  • ลองหาอาวุธหลักของตัวเองให้เจอก่อน ถ้ามีความถนัด หรือเชี่ยวชาญเรื่องอะไร ให้มองว่าเป็นจุดเด่นหรือจุดแข็งของตัวเอง แล้วเอามาต่อยอดเป็นวัตถุดิบในการเขียน 
     
  • ถ้ารู้สึกว่าอยากเรียนรู้เรื่องเฉพาะทางเพิ่ม ให้มองว่าเรียนเพื่อนำมาต่อยอด เพราะไม่ใช่สายที่ถนัด อาจทำความเข้าใจข้อมูลได้ยาก และไม่ลึกซึ้งเท่าคนที่เรียนเฉพาะด้านนั้นๆ เรียนเพื่อนำมาเพิ่มสีสันในนิยาย แล้วไปโฟกัสอาวุธหลักของตัวเองให้เป็นจุดแข็งดีกว่า

7. นิยายจะน่าสนใจ ต้องเป็นคนมีของ สะสมคลังประสบการณ์ให้เยอะ

คุณหมอชิเน็นแนะนำว่า การจะเขียนนิยาย หรือสร้างผลงานเรื่องหนึ่งให้น่าสนใจได้ ต้องเป็นคนที่มีคลังอยู่ในตัวเหมือนกัน ซึ่งคลังในที่นี้ไม่ใช่แค่คลังคำ แต่เป็นคลังประสบการณ์ ที่ได้มาจากสื่ออื่นๆ นอกจากการอ่านหนังสือ เช่น ฟังเพลง ดูหนัง ดูละคร รับ input เยอะๆ ลองอ่าน ลองฟัง พยายามสร้างคลังของตัวเองขึ้นมา

หลังจากที่สะสมคลังของตัวเองไปเรื่อยๆ อยากให้ลองพิจารณาหรือวิเคราะห์ดูว่านักเขียนแต่ละคน มีการเล่าเรื่อง สร้างสตอรี่ยังไง งานที่เราคิดว่าน่าสนใจมีเทคนิคยังไง หรือแม้แต่งานที่ไม่น่าสนใจ ทำไมถึงไม่น่าสนใจ เรียนรู้ว่าทำไมบางเรื่องถึงประสบความสำเร็จ และบางเรื่องไม่ประสบความสำเร็จ ฝึกวิเคราะห์จากคลังที่มีแล้วเอามาพัฒนางานเขียนของตัวเองให้ได้ 

เทคนิคการฝึกฝนของคุณหมอชิเน็น คือ อ่านและคิดวิเคราะห์อยู่เสมอ 

 

* * * * *

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ กับเทคนิคการเขียนของคุณหมอชิเน็นที่แอดมินได้สรุปมาให้ สำหรับแอดมินคิดว่าเป็นเทคนิคที่จับต้องได้ ละเอียด และสามารถนำไปใช้ได้จริงค่ะ หวังว่าข้อสรุปทั้งหมดจะเป็นประโยชน์ต่อนักเขียนทั้งหลายได้ไม่มากก็น้อยนะคะ ^ ^  

สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณผู้มีส่วนร่วมจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อวงการนักเขียนและวงการหนังสือไทย โดยความร่วมมือจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านหนังสือ ที่ร่วมกันผลักดันอุตสาหกรรมหนังสือไทยสู่สากล

และขอขอบคุณการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม Thailand Creative Culture Agency (THACCA) สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่ร่วมส่งเสริมและเป็นกำลังสำคัญให้วงการนักเขียนและวงการหนังสือไทยให้พัฒนามากยิ่งขึ้นค่ะ

 

พี่แนนนี่เพน

 

พี่แนนนี่เพน
พี่แนนนี่เพน - Columnist สาวเหนือที่มีความสุขกับการเขียนนิยาย และเชื่อว่านิยายให้อะไรดีๆ กับสังคมเสมอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น