Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

สถาปัตย์.. สอนอะไรผม?? เจาะลึก 6 กลุ่มวิชาสุดโหดในคณะสถาปัตย์

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่
สวัสดีน้องๆชาวเด็กดี มาพบกับพี่เช่นเคยนะครับ!

พี่ชื่อวิน อยู่สถาปัตย์จุฬาปี 4 ภาคสถาปัตย์หลัก.. มาถึงตอนนี้พี่ก็เขียนบทความมาให้น้องๆอ่านถึงห้าบทความมาแล้ว ตั้งแต่นิสัยของเด็กถาปัต ลักษณะการใช้ชีวิตในคณะและไลฟ์สไตล์เด่นๆ รวมถึงตัวอย่างงานที่พี่เคยทำ หลายๆคนให้การตอบรับและถามพี่มีมากมายล้นหลาม ทั้งในไลน์ ในเฟส และอีกหลากหลายช่องทาง ขอบคุณน้องๆมากนะครับที่ชอบ

สำหรับใครที่อยากติดตามกระทู้เก่าในซีรี่ สถาปัตย์สอนอะไรผม.. เข้าไปได้ที่นี่นะครัช

1. ตอน 10 สิ่งที่ต้องรู้ก่อนจีบเด็กถาปัต
http://www.dek-d.com/board/view/3600737/

2. เจาะลึกโปรเจกต์ในคณะ พร้อม 3 โปรเจกต์ตัวอย่างที่ภูมิใจ
http://www.dek-d.com/board/view/3603349/

3. เมื่อเกือบได้ F เพราะส่งงานช้า
http://www.dek-d.com/board/view/3606520/

4. 5 สิ่งที่เด็กม.ปลายเข้าใจผิดกับสถาปัตย์ และวิธีการเตรียมสอบ PAT4 เบื้องต้น
http://www.dek-d.com/board/view/3608915/

5. 10 สไตล์การเรียนแปลกๆของเด็กสถาปัตย์
http://www.dek-d.com/board/view/3614175/

คราวนี้มาถึงเรื่องที่แอบวิชาการหน่อยๆบ้างดีกว่า..

น้องๆหลายคนคงสงสัยอยากจะรู้ว่า พอเข้าไปแล้ว สถาปัตย์เรียนแค่ออกแบบอย่างเดียวหรือไม่..? สถาปัตย์อ่านหนังสือน้อยหรือมากขนาดไหน? เพื่อความเข้าใจและให้น้องเห็นภาพรวม พี่ได้ทำการรวบรวมกลุ่มวิชาที่เรียนตั้งแต่ปี 1-5 มาอินโทรบอกน้องๆกันก่อน เป็นการยั่วน้ำลายน้องๆก่อนที่จะได้เข้ามาเรียน (ได้ข่าวว่าเพิ่งสอบ PAT4 กันไปไม่นาน เจอบ้าน Smith House ของ Richard Meierเข้าไป เงิบกันไปดิ 555+)
               อย่างที่เกริ่นไปในตอนก่อนๆ สถาปัตย์เรียนแบบ Project Based เพราะฉะนั้นการเรียนก็จะแบ่งออกไปเป็น 2-3 ลักษณะ คือ วิชาออกแบบสถาปัตย์ และวิชาเลคเชอร์(เหมือนที่น้องๆเรียนตอนม.ปลาย นั่งฟังอาจารย์พูดกันเป็นหมู่คณะ แต่โหดกว่ามาก) ซึ่งพอปีสูงๆจะเริ่มมีวิชาเลือกที่เป็นแบบสัมมนา(การเรียนแบบโต้ตอบพูดคุยกับวิทยากร) และจะมีวิชา Thesis หรือโปรเจกต์จบ เราไปเจาะกันดูดีกว่าว่าแต่ละส่วน ประกอบด้วยกลุ่มวิชาอะไรบ้าง!!! อาจจะวิชาการนิดนึงแต่อยากให้น้องๆที่สนใจลองอ่านจนจบนะครับ เผื่อใครจะไปหาอ่านกันก่อนเพื่อเพิ่มพูดความรู้ตัวเอง


1.          กลุ่มวิชาออกแบบ (Studio in Design)

เป็นวิชาหลักของคณะสถาปัตย์ทุกคณะในประเทศไทยและในโลก โดยจะมีโจทย์ออกแบบต่างๆ เริ่มตั้งแต่อาคารที่ไม่ซับซ้อน ออกแบบสบายหน่อย จำพวกบ้านชั้นเดียว สองชั้น เป็นต้น หลังจากนั้นก็จะเริ่มอัพเกรดความซับซ้อนของโปรแกรมไปเรื่อยๆ ไปเป็นบ้านสองชั้น สามชั้น บ้านผสมออฟฟิศ อพาร์ทเมนท์ พิพิธภัณฑ์ อาคารสำนักงาน โรงเรียน ห้างขนาดเล็ก โรงพยาบาล ศูนย์วัฒนธรรม เป็นต้น เรียกได้ว่าออกแบบกันจนหัวระเบิดกันเลยทีเดียว วิชาออกแบบนี้แหละครับ ที่เป็นที่ล่ำรือถึงการพักผ่อนน้อยของเด็กสถาปัตย์ ซึ่งต้องทั้งเขียนแบบ ทำโมเดล ทำภาพสามมิติ ทำผังโครงสร้าง และมุมมองทัศนียภาพ ซึ่งที่น้องๆได้สอบ PAT4 กันไป จะเอามาใช้เพียงเศษเสี้ยวของวิชานี้ คือการสื่อสารภาพและวิธีคิดในหัวของน้องออกมาให้อาจารย์เข้าใจ ผ่านการออกแบบอาคารนี่แหละครับ! และด้านล่างคือตัวอย่างอาคารท่พี่ออกแบบตั้งแต่ปี 1-4 นะครับ (อาจจะไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีขนาดนั้นนะน้องๆ 555+)

บ้านชั้นเดียว (ปี1)  
บ้านสองเดียว (ปี2)
บ้านสามชั้น (ปี2)  
อพาร์ทเมนท์ (ปี3) 
ออฟฟิศ (ปี3)        
สถานทูต (ปี4)       
โรงพยาบาล (ปี4)   



2. กลุ่มวิชาหลักและทฤษฎีในการออกแบบ

กลุ่มวิชานี้จะมาสนับสนุนกลุ่มวิชาแรก จะสอนในเรื่องของการวางอาคาร กฎ และทฤษฎีที่จะต้องใช้ในการออกแบบ ทั้งทิศทางการวางอาคาร สภาพอากาศ บริบทรอบตัว ลักษณะที่ว่างที่เหมาะกับอาคารชนิดต่างๆ เนื่องจากอาคารที่จะออกแบบมีหลากหลายแบบ มีข้อจำกัดและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน เราในฐานะผู้ออกแบบจึงจำเป็นต้องรู้หลักในการออกแบบทั้งหมด ซึ่งวิชานี้จะใช้การสอบ ซึ่งตอนจะสอบปวดหัวมากกกกก เพราะต้องอ่านไปด้วยทำวิชาออกแบบด้านบนไปด้วย ถ้าไม่อ่านนี่อาจจะได้เกรดหมาแมวรับประทานกันไปโดนไม่รู้ตัว ใครที่ฝันหวานว่าสถาปัตย์อ่านหนังสือน้อย จงระวังให้ดี นี่คือคำเตือนที่ 1



แสดงการไหลของลมในอาคาร



3. กลุ่มวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตย์กรรม

ในกลุ่มวิชานี้เราต้องเรียนเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมทั้งโลกหล้า ไม่ว่าจะเป็นตะวันตกหรือไทย เราจะได้รู้ว่าใครเคยทำอะไรไว้บ้าง ข้อผิดพลาดคืออะไร เพื่อที่เราจะนำมาใช้ประยุกต์ในการออกแบบ ในวิชานี้เราจะได้เรียนรู้ชื่อสถาปนิกและงานที่สำคัญทั้งในยุโรป อเมริกา เอเชีย และรวมถึงประเทศไทย เพื่อทำให้เรามีคลังภาพสถาปัตยกรรมและอาคารในหัว เพื่อลอก เอ้ย! เพื่อเอามาดัดแปลง ประยุกต์ ให้เหมาะกับสิ่งที่เราต้องออกแบบในปัจจุบันครับ! วิชานี้ ท่องจำล้วนๆ เวลาสอบก็โหดมากๆ เพราะเป็นการเขียนและการวาดภาพ และสเกทช์ จึงยากและมีเอกลักษณ์กว่าการข้อสอบทั่วไปมาก จะมาหาว่าวาดภาพไม่เป็น จำอาคารไม่ได้ จำชื่อสถาปนิกไม่ได้ ก็เอาหมาแมวไปกินครับ เห็นมั้ย.. คำเตือนข้อที่ 2 ใครว่าสถาปัตย์ไม่ต้องจำ ไม่ต้องอ่าน สอบไม่โหด ไม่จริ๊งไม่จริง!

Smith House ของสถาปนิกชื่อดัง Richard Meier ที่น้องๆสอบไป ก็อยู่ในเนื้อหาที่เรียนนะ 555+


4. กลุ่มวิชาการปฏิบัติวิชาชีพ เกล็ดกฎหมาย และการลงทุน

กลุ่มนี้จะแยกเป็นวิชาไม่กี่ตัวเพื่อให้เรารู้ว่าในชีวิตประจำวันสถาปนิกต้องทำงนอะไรบ้าง มีโอกาสเติบโตในสายงานอย่างไรบ้าง หรือแม้กระทั่งเวลาออกแบบจะต้องเจรจาและพูดคุยกับใครบ้าง รวมถึงกฎหมายและข้อจำกัดที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากในชีวิตจริงการออกแบบและเป็นสถาปนิกไม่ง่านเหมือนในละคร มันโหดมันฮากว่านั้นมาก ดังนั้นวิชานี้จพูดถึงสถาปัตย์ในปัจจุบันเพื่อให้เราไม่ช้อคเวลาต้องออกไปทำงานจริงนะฮะ 555+



5. กลุ่มวิชาเลือกในคณะสถาปัตยกรรม (Selective Subjects)

คือกลุ่มวิชาที่อาจารย์ในคณะเปิดเพื่อสร้างเสริมความรู้ให้กับนิสิตในคณะที่สนใจพัฒนาตัวเองในด้านต่างๆ เกร็ดความรู้เฉพาะด้านต่างๆเช่น อาคารเขียว อาคารประหยัดพลังงาน การใช้แสงสว่างในสถาปัตยกรรม รวมถึงวิชาโปรแกรมเช่น AutoCad(ใช้ในการเขียนแบบ) Revit (ใช้เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศและข้อมูลอาคาร) หรือวิชาเลือกเจาะลึกเช่น สถาปัตย์ยุคใหม่ สถาปัตย์เอเชีย สถาปัตย์กับธุรกิจเบื้องต้น สถาปัตย์กับการบริหารเบื้องต้น รวมถึงวิชาการออกแบบขึ้นสูงขึ้นเช่น การออกแบบอาคารพักอาศัย การออกแบบเพื่อประกวดแบบ และต่างๆมากมาย ซึ่งจะรับนิสิตจำนวนน้อย 
วิชาเลือก เป็นสิ่งที่ทุกคณะจำเป็นต้องมีเพื่อให้นิสิตได้เลือกเรียนเพื่อมุ่งไปในสายที่ตัวเองชอบ และเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ที่อาจารย์เซียนๆแต่ละท่านไปสู่เด็กนักเรียนตาใสๆอย่างเราๆ เพื่อจะได้มีความรู้เพิ่มเติมนอกเหนือจากวิชาบังคับด้านบนทั้งหมด ซึ่งคณะสถาปัตย์ จุฬากำหนดให้เรียนวิชาเลือกอย่างน้อย 3 วิชาเพื่อจบการศึกษา


6. วิชาสถาปัตยนิพนธ์ (Thesis หรือ โปรเจกต์จบ)

วิชานี้หินและโหดที่สุดในคณะแล้วครับ ทำไมหรอ? เพราะมันคือวิชาที่จะตัดสินเราว่าเราจะจบหรือไม่จบนั่นเอง!! Thesis คือการนำเอาความรู้ที่เรียนทั้ง 4 ปีมาผสานกันและสร้างลักษณะโปรแกรมอาคารขึ้นมาเอง โดยต้องสมเหตุสมผล นิสิตมีหน้าที่หาที่ตั้งและวิเคราะห์ลักษณะการใช้งานทั้งหมด และนำไปเสนออาจารย์ที่เหมาะสม โดยเด็กจะคู่กับอาจารย์แบบ 1-1 ซึ่งจะใช้เวลาทั้งปีในการหาข้อมูล วิเคราะห์ และออกแบบเพื่อนำเสนอต่อหน้าอาจารย์ทุกคนในคณะ ย้ำ! อาจารย์ทุกคน!!! 
เห็นความโหดหรือยังครับว่า Thesis ของเด็กถาปัตโหดร้ายขนาดไหน โดยหลังจากการนำเสนอจะมีการคอมเมนท์ คล้ายๆกับตอเดอะ เฟส หลังจากทำภารกิจแล้วจะโดนติเพื่อให้เรียนรู้ปรับปรุง และสุดท้ายอาจารย์จะลงขันกันทั้งหมดว่าจะให้เราผ่านหรือไม่ผ่านครับ ซึ่งปริมาณงานก็มากเทียบเท่ากับสี่ปีมารวมกัน จึงทำให้ต้องมีการซัมม่อนน้องรหัสและเพื่อน หรือบางคนกระทบไปถึงครอบครัวให้มาช่วยทำงานคนละนิดละหน่อย555+ เพราะขนาดใหญ่มาก และงานหนักมากกกก ซึ่งปีหน้าพี่จะต้องทำโปรเจกต์จบนี้แล้ว ยังไงก็เอาใจช่วยพี่ด้วยนะครับบบ T^T




จบกันไปแล้วนะครับสำหรับกลุ่มวิชาหลักๆของสถาปัตย์จุฬา และคาดว่าน่าจะคล้ายๆกับสถาปัตย์มหาวิทยาลัยอื่นๆด้วย หวังว่าน้องๆที่ได้อ่านจะกลัวจนไม่กล้าเข้าเรียน เอ้ยไม่ใช่! จะมีกำลังใจและทยอยหาความรู้เพิ่มเติมเอาไว้เพื่อเตรียมพร้อมนะครับ ระหว่างนี้ เด็กม.6 คนไหนที่สอบไปแล้ว เหลือรอลุ้นผลก็ขอให้โชคดี ได้เข้าคณะที่คาดหวัง ถ้าเตรียมตัวมาดีและเต็มที่พอ ขอให้มาเป็นรุ่นน้องพี่ในปีหน้านะครับ ส่วนน้องม.4-ม.5 ที่คาดหวังจะเข้าถาปัต ถ้ายังไม่เปลี่ยนใจหลังจากพี่ขู่มาหลายบทความ ก็พยายามเตรียมตัวให้พร้อม และทำตัวขยันๆ อย่าขึ้เกียจ เพื่อจะได้มาเป็นสถาปนิกที่ดีในวันหน้านะครับ สำหรับตอนนี้ พี่ขอแว๊บไปทำโปรเจกต์อีกตามเคย ขอตัวก่อนนะคร้าบน้องๆที่น่ารัก มีอะไรคอมเม้นทิ้งไว้ใต้บทความ หรือติดต่อได้ตามข้อมูลด้านล่างนี้เลยจ้า
Facebook : Kavin Cherdchanyapong
Facebook Page : https://www.facebook.com/TohDraftStudio/
IG : Winnerc

แสดงความคิดเห็น

9 ความคิดเห็น

DEWWRCH 18 มี.ค. 59 เวลา 20:37 น. 6

ส่วนตัวแล้วชอบประวัติศาสตร์ถาปัตย์นะครับ ผมว่าสนุกดี ง่ายกว่า สตูด้วย เยี่ยม
เนื่องจากมาทางสาย วิทย์ คณิตก่อนแล้ว คิดว่า งานทฤษฎีนี่แหละ สนุก กว่านั่งเขียนแปลนเป็นไหนๆ เสียใจ
ปล.เด็กปี 1

0