รับน้องสร้างสรรค์ มันต้องแบบนี้! “ลงแขกดำนาปาร์ตี้” รับน้องสไตล์เทคโนฯ สุรินทร์


       
      ก่อนว่าที่นิสิตนักศึกษาจะจิตตกไปกับข่าวการรับน้องของเหล่าสายดาร์คที่ใช้ความรุนแรงกับเฟรชชี่ เราจะขอพักเบรกมาเล่าเรื่องวิธีการรับน้องแบบคูลๆ เท่ๆ สไตล์เด็กเทคโนฯ สุรินทร์ ขอบอกเลยว่า สนุกทั้งงาน แถมมีแง่มุมที่ชวนหลงรักอยู่หลายช็อตเลยทีเดียว!

       เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา “คณะเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์” ได้จัดกิจกรรมรับน้องแบบสร้างสรรค์ พี่ๆ พร้อมด้วยอาจารย์แต่ละสาขาลงไม้ลงมือ!! พารุ่นน้องหน้าใหม่ไป “ลงแขกดำนา” ณ บริเวณอ่างน้ำตา ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำของมหาวิทยาลัย โดยเมล็ดข้าวที่นำมาปลูก คือ ข้าวอินทรีย์ ไม่มีสารเคมีตกค้าง เหตุผลหลักเพราะทางมหาวิทยาลัยกำลังรณรงค์เรื่องการปลูกข้าวชนิดนี้อยู่นั่นเอง
 

Photo credit: เพชรรัตน์ บัวสาย


เปื้อนอย่างสร้างสรรค์

        “เปลี่ยนครับเปลี่ยน ถ้าจะให้น้องๆ ลงไปคลุกดินคลุกฝุ่นเปื้อนแบบนั้น สู้ให้น้องๆ เปื้อนอย่างสร้างสรรค์ดีกว่า”

        นี่คือคำพูดจากน้องอาร์ต นายกสโมฯ ของคณะ ผู้คิดริเริ่มโครงการนี้ เขาต้องการลุกขึ้นมาเปลี่ยนระบบรับน้องจากที่เคยเป็นภาพการว๊ากและการตีกรอบตีกฎเกณฑ์สารพัด มาเป็นการร่วมมือร่วมใจทำบางสิ่งที่สร้างสรรค์ เพราะเขาเชื่อว่า “เกียรติจะสร้างเกียรติเสมอ” ถ้าเราให้เกียรติน้อง น้องก็จะให้เกียรติเรา ไม่ต้องรุนแรงให้น้องต้องเกรงกลัว 


Photo credit: เฟซบุ๊กแพนเพจ คณะเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.อีสาน วข.สุรินทร์
 


Photo credit: เพชรรัตน์ บัวสาย


 
การประสานงานขั้นเทพ

        "กองทัพต้องเดินด้วยท้อง!”
        "ส่งน้ำช้าจังพี่ มา!! ผมส่งเอง"
        "ทำนาก็ต้องมีเปลี่ยนกะสิคร้าบพี่”
        "หญ้าเยอะเหรอ มาพี่! ผมขับรถไถได้"

        และอีกสารพัดการประสานงานขั้นเทพที่เกิดขึ้นในทุกขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม จนเรียกได้ว่าทั้งอาจารย์และนักศึกษา “ทุกสาขา” ต่างแสดงสปิริตกันโดยไม่ต้องร้องขอ อย่างสาขาช่างก็มาช่วยเตรียมดิน สาขาพืชศาสตร์สนับสนุนเรื่องสถานที่ รวมทั้งเป็นฝ่ายเสบียงร่วมกับประมง สัตวศาสตร์ และฟู้ดไซน์ ส่วนน้องสาขาจักรกลก็อาสาขับรถไถมาตัดหญ้าเคลียร์พื้นที่ให้ เพียงแค่รุ่นพี่เปรยๆ ว่า “หญ้าเยอะจัง” 
 

Photo credit: เฟซบุ๊กแพนเพจ คณะเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.อีสาน วข.สุรินทร์
 
      ไม่เพียงแค่นักศึกษาเท่านั้น แม้แต่อาจารย์ก็มาร่วมลงแรงพร้อมๆ กับแชร์ความรู้ให้แบบไม่กั๊ก อย่างอาจารย์พืชศาสตร์ก็ลงมาสอนวิธีการเพาะ เช่น การคัดพันธุ์ข้าว การหว่าน การถอนกล้า ฯลฯ อาจารย์ฟู้ดไซน์ก็ลงทุนตื่นมาหุงข้าวตั้งแต่ตีสาม ภายใต้คอนเซปต์ “กองทัพต้องเดินด้วยท้อง” ทำให้พอจบงานแล้ว อาหารยังเหลือให้รับประทานอีกเพียบ
 

Photo credit: เฟซบุ๊กแพนเพจ คณะเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.อีสาน วข.สุรินทร์
 

Photo credit: เพชรรัตน์ บัวสาย
  
ผลผลิตที่มากกว่าข้าว

        ลงแขกดำนากันครั้งนี้ ผลผลิตที่ได้ไม่ใช่แจกน้องๆ ไปหุงรับประทานกันเองเด้อ เพราะหากข้าวออกรวงเมื่อไร ทางคณะก็จะประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรที่สนใจนำไปเพาะต่อ เพราะผลผลิตที่ได้คือข้าวอินทรีย์ที่ไม่มีสารเคมีตกค้าง ตอบสนองโครงการที่มหาวิทยาลัยกำลังรณรงค์อย่างพอดิบพอดี

        
น้องๆ คนไหนที่อ่านแล้วรู้สึกว่า ‘งานรับน้องงานนี้จบแล้วจบเลย ทุกคนเลิกแล้วต่อกัน’ ขอบอกว่าผิด!! เป็นธรรมชาติของเราทุกคนแหละเนอะ ที่เวลาใส่ใจทำอะไรสักอย่าง ก็จะรอคอยผลลัพธ์ว่าสิ่งที่เราทำจะสำเร็จหรือไม่ พี่ๆ น้องๆ ที่ร่วมกิจกรรมนี้ก็เหมือนกัน พวกเขาจะแวะไปบริเวณอ่างน้ำตาตลอด เพื่อดูว่าต้นข้าวเกิดไหม เป็นอะไรรึเปล่า เดินไปบังเอิญเจอกันที่นั่นก็มี
       
       นอกจากนี้ กิจกรรมลงแขกดำนายังเป็นเหมือนตัวเชื่อมสายสัมพันธ์ชั้นเยี่ยมที่ช่วยกระชับมิตรแต่ละฝ่ายให้แน่นแฟ้นมากขึ้น เพราะทั้งอาจารย์และนักศึกษาได้มีส่วนร่วมกันสร้าง รุ่นพี่แต่ละสาขาได้เอาความรู้มาแชร์กัน ทำให้แม้กิจกรรมจะจบไปแล้ว ทุกคนก็ยังมีหัวข้อร่วมให้มาคุยกันไม่จบสิ้น จากที่เคยต่างฝ่ายต่างเขินอาย สบตากับมือถือตลอดทาง ก็กลายเป็น…
 
        “เฮ้ย วันนั้นพี่แกล้งผม!!”
        “อ้าว วันนั้นสะดุดล้มหน้าทิ่มเหรอเราอะ”
        “555555”

        ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า รุ่นพี่รุ่นน้องสนิทกันมากกว่าเดิม และผลลัพธ์ดีกว่าทุกปีที่ผ่านมา!
 
 

Photo credit: เฟซบุ๊กแพนเพจ คณะเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.อีสาน วข.สุรินทร์
        
     
    
 “พอได้มาเจอกับการรับน้องของปีนี้ ก็รู้สึกว่าเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์มากเลยค่ะ ปลูกจิตสำนึกให้เด็กรุ่นหลังอย่างพวกหนูรู้ถึงความเหนื่อยยากของอาชีพที่เรียกได้ว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ นอกจากนี้ยังได้รับความสนุกสนาน ได้รู้จักเพื่อนต่างสาขา รุ่นพี่ และอาจารย์มากขึ้นด้วย ขอยืนยันว่ากิจกรรมนี้ดีมากจริงๆ ค่ะ”  นี่คือความในใจของน้องหญิงแห่งสาขาพืชศาสตร์ ที่ได้ลงไปร่วมดำนากับเขาด้วย              

 

       ที่จริงแล้วการรับน้องแบบสร้างสรรค์เช่นนี้ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก เพราะในอดีตก็เคยมีหลากหลายสถาบัน เช่น “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก” ที่รับน้องใหม่ด้วยการลงแขกดำนา ”มหาวิทยาลัยนเรศวร อ.เมืองพิษณุโลก” ที่รับน้องด้วยการดำนาปลูกข้าว และสถาบันอื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึง นอกจากนี้ คณะเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ยังเป็นต้นแบบให้วิทยาเขตสกลนครได้นำไปเป็นแบบอย่าง ผลตอบรับก็ดีเช่นเดียวกัน 



       เห็นข่าวดีแบบนี้แล้วใจชื้นกันมาเลยใช่ไหมคะน้องๆ พี่เชื่อว่าหากมีตัวอย่างที่ดีแบบนี้ปรากฏบนสื่อบ่อยๆ จะเป็นตัวช่วยการันตีผลลัพธ์จากการรับน้องแบบสร้างสรรค์ว่ายอดเยี่ยมขนาดไหน แล้วสถาบันต่างๆ ก็จะหันมาช่วยกันชะล้างภาพลักษณ์ที่อาจดูติดลบในวงการรับน้องในอดีตให้ค่อยๆ จางหายไปจากสังคมไทยในที่สุด

 
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

เบลลื 13 ก.ค. 60 14:06 น. 1

ชอบอะไรแบบนี้มาก ดีกว่ารับน้องด้วยระเบิด ให้น้องคลุกดินแบบไม่มีเหตุผลแล้วอ้างว่าอนาคตจะลำบากกว่านี้(ซึ่งบางทีเรียนจบไปอาจนั่งหน้าคอม แต่ไม่ได้คลุกดิน) หรือให้น้องอมลูกอมต่อๆกัน อมจู๋รุ่นพี่(อันนี้น่าเกลียดมาก) นี่แหละรับน้องสร้างสรรค์ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกๆฝ่าย แถมไม่มีมครต้องมาเสียชีวิต รู้สึกจิตหดไปด้วย สู้ๆเด้อค่ะ

1
กำลังโหลด

4 ความคิดเห็น

เบลลื 13 ก.ค. 60 14:06 น. 1

ชอบอะไรแบบนี้มาก ดีกว่ารับน้องด้วยระเบิด ให้น้องคลุกดินแบบไม่มีเหตุผลแล้วอ้างว่าอนาคตจะลำบากกว่านี้(ซึ่งบางทีเรียนจบไปอาจนั่งหน้าคอม แต่ไม่ได้คลุกดิน) หรือให้น้องอมลูกอมต่อๆกัน อมจู๋รุ่นพี่(อันนี้น่าเกลียดมาก) นี่แหละรับน้องสร้างสรรค์ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกๆฝ่าย แถมไม่มีมครต้องมาเสียชีวิต รู้สึกจิตหดไปด้วย สู้ๆเด้อค่ะ

1
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด