สโมสรนักศึกษา มช. พาทัวร์ "ประเพณีรับน้องรถไฟ" จากหัวลำโพง - เชียงใหม่ สุขใจตลอดทาง!

      แม้ว่า "กิจกรรมต้อนรับน้องใหม่" ที่จัดขึ้นในเมืองไทย หรือแม้กระทั่งที่ใดๆ บนโลกนี้ จะถูกวิพากษ์วิจารณ์กันหนาหูอยู่ร่ำไปในเรื่องความไม่โปร่งใส ความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่เราทุกคนก็มักจะเคยได้ยินเหตุผลจากปากผู้จัดกิจกรรมว่าทุกสิ่งที่ทำไปก็เพื่อละลายพฤติกรรม แนะนำให้เฟรชชี่ได้รู้จักมหาวิทยาลัย และช่วยให้เกิดความสัมพันธ์อันดีต่อกันระหว่างนิสิต-นักศึกษาอยู่เสมอ...
     
     ถ้าหากได้เจาะลึกถึงบรรยากาศการรับน้องในประเทศไทย พี่ส้มเชื่อว่าใครหลายๆ คนคงพอจะทราบว่าแต่ละมหาวิทยาลัยได้มีรูปแบบของการจัดกิจกรรมแตกต่างกันไป  จนกลายเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของมหาวิทยาลัยนั้นๆ ไปโดยปริยาย และในวันนี้พี่ส้มก็ขออาสาพาทุกคนไปรู้จักกับ "กิจกรรมรับน้องรถไฟ" กิจกรรมต้อนรับน้องใหม่ที่สร้างความประทับใจให้กับ "ลูกช้าง" หรือนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่มากว่าครึ่งศตวรรษนั่นเองค่ะ
    
     
      ว่าแต่กิจกรรมนี้มีดีที่ตรงไหน? หรือจะแอบมีดราม่าซ่อนอยู่เบื้องหลังหรือไม่? คนที่ตอบคำถามคาใจเหล่านี้ได้ดีที่สุดก็ต้องเป็นผู้จัดกิจกรรมค่ะ ว่าแล้วก็ขอเบิกตัวน้องๆ จากสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้มาพูดคุยกันสักหน่อย งานนี้นำทีมโดย....       
 
ครรชิต สิทธิมาก(แกงตูน) รองนายกสโมสรนักศึกษา, ปิยะพงษ์ อาทิตย์(อาทอาท) ที่ปรึกษาสโมสรนักศึกษา,  ธนดล อินต๊ะจันทร์(มอสฐา) ผู้ช่วยนายกสโมสรฝ่ายประชาสัมพันธ์ และตำแหน่งอนุกรรมการสโมสรนักศึกษาอีกหลายคน ได้แก่  คุณากร ศรีรัตน์(ดรีม), ตะวัน วงค์ใจ(ตะวัน) , ภาณุพงศ์ ใจรักษา(ลาบีม), วรเชษฐ์ อนุ(ปอนด์), กฤษดนัย เทพณรงค์(ไบท์), วรเมธ สกุลงาม(ตั้ง), สุภาลินี ธรรมสอน(น้ำฝน), วัชรากร ชัยภิญโญภาส(เป้า), ไชยเจียง ไชยสาร(บอย) และ มนัสพล เสถียรดี(เกมส์)
    
น้องตะวัน - ตะวัน วงค์ใจ, น้องตั้ง - วรเมธ สกุลงาม, น้องดรีม - คุณากร ศรีรัตน์, น้องน้ำฝน - สุภาลินี ธรรมสอน,
น้องมอสฐา - ธนดล อินต๊ะจันทร์, น้องแกงตูน - ครรชิต สิทธิมาก, น้องเป้า - วัชรากร ชัยภิญโญภาส,
น้องลาบีม - ภาณุพงศ์ ใจรักษา, น้องอาทอาท - ปิยะพงษ์ อาทิตย์, น้องปอนด์ - วรเชษฐ์ อนุ,
น้องบอย - ไชยเจียง ไชยสาร, น้องไบท์ - กฤษดนัย เทพณรงค์ และน้องเกมส์ - มนัสพล เสถียรดี
    
          
 จุดเริ่มต้นของความสุข ณ สถานีรถไฟหัวลำโพง 
       
เป็นที่ทราบกันดีว่า "รับน้องรถไฟ" คือหนึ่งในไฮไลท์ของกิจกรรมนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ที่ถ่ายทอดกันมาแบบรุ่นสู่รุ่นสู่รุ่นกว่า 50 ปีมาแล้ว ซึ่งถ้าจะนับแบบอายุคนแล้ว ประเพณีที่ว่านี้เก่าแก่เข้าวัยกลางคนอยู่เหมือนกันนะคะ
     
         
น้องๆ สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้อธิบายรูปแบบการจัดกิจกรรมรับน้องรถไฟให้เห็นภาพว่า
"รับน้องรถไฟ ถือเป็นงานแรกของสโมสรนักศึกษา และเป็นงานแรกที่น้องเฟรชชี่ จะได้สัมผัสการทำกิจกรรมที่เป็นกิมมิคของ มช. โดยถูกสืบทอดมาจากรุ่นพี่กลุ่มหนึ่งที่ตั้งใจมารอรับเฟรชชี่ที่ไม่ได้อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ แล้วต้องเดินทางไปยัง มช. ด้วยรถไฟชั้น 3 ซึ่งก็ได้กลายเป็นความประทับใจที่น้องๆ รุ่นต่อไปยินดีรับมาปฏิบัติ"
    
     
"สำหรับประเพณีรับน้องรถไฟประจำปีการศึกษา 2560 ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 - 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยใช้ธีมหลักในการจัดงานว่า จุดเริ่มต้นของความสุข ตอนแรกพวกเราก็ช่วยกันคิดหลายธีมมาก แต่ในช่วงที่ความคิดของทุกคนกำลังฟุ้งเราก็ได้ลองคิดทบทวนดูว่าความสุขตอนเข้ามาเป็น นศ. ปี 1 ในมช. คืออะไร มันคือความสุขที่ได้เป็นลูกช้าง มช. สุขใจที่ได้พบเพื่อนใหม่ สุขที่ได้รับความรักระหว่างเพื่อน พี่ น้อง สุขใจที่ได้ทำกิจกรรม และมีความสุขที่ได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ เราเลยตัดสินใจเลือกธีมนี้เพราะอยากจะมอบความสุขแบบที่เราเคยได้รับไปให้น้องๆ บ้าง"
    
        
"การเดินทางของน้องๆ เฟรชชี่ จะเริ่มต้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพง รถไฟชั้น 3 ในเวลา 15.15 น. ผ่านสถานีรถไฟลพบุรี สถานีรถไฟนครสวรรค์ สถานีรถไฟพิษณุโลก สถานีรถไฟลำปาง และถึงจุดหมายที่สถานีรถไฟเชียงใหม่ในเวลา 6.20 น. ของวันรุ่งขึ้น โดยระหว่างการเดินทางครั้งนี้จะไม่มีใครได้หลับ เพราะเราจะปลุกน้องๆ ด้วยเพลงสันทนาการ ให้ทุกคนมาเต้นร้องเพลงกันมันส์ๆ เป็นความสุขที่ไม่ทำให้เสียดายเวลานอนเลย" ทุกคนช่วยกันเล่าด้วยความภาคภูมิใจ
    
      
 "เสน่ห์" ที่ใครก็ลอกเลียนแบบไม่ได้ 
    
แม้การสัมภาษณ์เพิ่งเริ่มขึ้นไม่นาน แต่พี่ส้มเชื่อว่าหลายคนคงมองเห็นสิ่งที่เป็นกิมมิคของกิจกรรมนักศึกษา มช. ว่าสถานศึกษาแห่งนี้ได้บ่มเพาะบุคลากรของชาติที่มีความคิดสร้างสรรค์ และในขณะเดียวกันยังได้สร้างสังคมที่อบอุ่นและแน่นแฟ้นของชาว มช. ที่ยั่งยืนมากว่าห้าสิบปี ว่าแต่อะไรคือสิ่งที่ยึดเหนี่ยวความสัมพันธ์ไว้ได้ล่ะ?
    
    
พอยิงคำถามนี้ไป เพื่อนๆ ก็ต่างช่วยกันผลักดันให้น้องแกงตูนผู้เป็นพ่องานได้ขายของสักหน่อย "สำหรับพวกเราชาว มช. ที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมรับน้องรถไฟหรือแม้แต่ตัวแกงตูนเอง จำได้เลยว่าตอนที่ตัวเองรู้ว่าติด มช. รู้สึกดีใจมาก และด้วยความที่เราเป็นคนเชียงรายและไม่เคยนั่งรถไฟมาก่อน เลยลองมาเข้าร่วมกิจกรรมรับน้องรถไฟดู ขึ้นรถทัวร์มาหัวลำโพง ในใจตอนนั้นคิดแค่ว่ามานั่งรถไฟกลับไปเชียงใหม่นั่นแหละ แต่มันไม่ใช่เลย เราได้เจอรุ่นพี่ศิษย์เก่าที่เห็นแล้วรู้สึก โอ้โห! บางคนรหัส 03 อายุแบบบรมครู แต่ไม่เรียกตัวเองว่าลุง ป้า ใช้คำว่าพี่ บางคนมีชื่อเสียง เป็นผู้บริหารระดับประเทศก็มี ก็ยังมาส่งพวกเราขึ้นรถไฟ

ในใจคิดว่าทำไมเขาต้องมาทำอะไรให้เราขนาดนี้ ไม่เอาเวลาไปทำงานทำการกันเหรอ? แต่พวกเขายินดีมาต้อนรับน้องใหม่อย่างพวกเรา มาส่งต่อความรัก ความอบอุ่นไปสู่ลูกช้างเชือกใหม่ด้วยตัวเขาเอง ได้บอกเล่าว่าพี่เขาก็จบ มช. นะ ซึ่งมันเป็นกิมมิคที่เราจะได้เห็น จนเรียกได้ว่าเป็นเสน่ห์ของกิจกรรมนี้เลยก็ว่าได้"
    
   
"พอขึ้นรถไฟแล้ว แกงตูนก็ได้ทำความรู้จักกับเพื่อน มีรุ่นพี่ที่เป็นนักศึกษาปัจจุบัน ปี 2 3 4 คอยดูแลทุกอย่างจนเราไม่ต้องทำอะไรเองเลย ตลอดเส้นทางมีน้ำ มีอาหาร ขนม จัดเต็ม อิ่มท้อง พอถึงเชียงใหม่ก็มีรุ่นพี่มารับเราถึงที่ พาไปไหว้พระ พาไปส่งถึงหอ เรามีพี่นำทางตลอด มันสัมผัสได้เลยว่าสังคม มช. เขารักกัน พี่ก็รักเราจริงๆ ทำให้เรารู้สึกเองเลยว่า เฮ้ย! เราก็เป็นเด็กมหา'ลัยแล้วนะ ตอนนี้เราต้องพึ่งพาตัวเอง ต้องรู้จักการเข้าหาเพื่อน เข้าหารุ่นพี่ด้วยเช่นกัน ซึ่งความรู้สึกแบบนี้มันเกิดขึ้นกับนักศึกษาใหม่ทุกๆ ปีครับ"
   
แหม่.. ขนาดว่าพี่ส้มไม่ได้เป็นศิษย์เก่า มช. แต่พอได้ฟังเรื่องราวความประทับใจของเหล่าลูกช้างแล้วก็อดไม่ได้ที่จะปลื้มใจตามไปด้วย เพราะการต้อนรับอย่างอบอุ่น ย่อมเป็นการสร้างความประทับใจและช่วยให้น้องๆ นักศึกษาใหม่ได้มีกำลังใจในการปรับตัวเข้ากับสังคมที่จะหล่อหลอมให้โตเป็นผู้ใหญ่ และอุ่นใจว่าการใช้ชีวิตไกลบ้านจะไม่เงียบเหงา เพราะมีทั้งเพื่อนๆ และรุ่นพี่ที่น่ารักคอยดูแลอยู่นั่นเอง ^^
      
      
 ยินดีต้อนรับ "ลูกช้างเชือกใหม่" 
        
ยิ่งพูดคุยเจาะลึกมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เราได้เห็นความมุ่งมั่น ตั้งใจ และสายสัมพันธ์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ชัดเจนมากขึ้นทุกทีนะคะ ไหนๆ ก็อยู่กับทีมนักศึกษาผู้จัดกิจกรรมแล้ว คงต้องขอรบกวนเจ้าภาพให้พาชาว Dek-D.com ไปทัวร์สักหน่อย...
    
น้องทีมงานแต่ละฝ่ายช่วยกันอธิบายรายละเอียดต่างๆ ที่พวกเขาช่วยกันคิดขึ้นมาเพื่อน้องปีหนึ่งโดยเฉพาะว่า "จากธีมจุดเริ่มต้นของความสุข เราก็ตีโจทย์เข้าไปว่าความสุขมักเกิดจากความสัมพันธ์ ความประทับใจที่เป็นครั้งแรกที่ได้เข้ามาเป็นลูกช้าง เราอยากให้น้องๆ ได้ผ่อนคลาย เพราะพวกเขาต้องเปลี่ยนผ่านจากเด็กมัธยม มาใช้ชีวิตในสังคมมหา'ลัย ปีหนึ่งเป็นช่วงวัยที่สดใส เราเลยใส่ใจกับรายละเอียดต่างๆ ให้สดใสมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นลูกโป่ง สีเสื้อ การตกแต่งสถานที่ ให้น้องเฟรชสุดๆ มีเพลงสันทนาการมันส์ๆ ให้น้องๆ ได้มีรอยยิ้มตลอดทาง"
    
   
"สำหรับกิจกรรมรับน้องรถไฟปี 60 นี้ ใช้พลังกายพลังใจเยอะจริงๆ แต่ก็ไม่เหนื่อยเกินความสามารถของพวกเรา เพราะเราไม่ได้จัดการกันเพียงลำพัง ซึ่งต้องขอขอบคุณรุ่นพี่ศิษย์เก่าที่คอยให้คำปรึกษา คอยแนะแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับเราตั้งแต่เริ่มเตรียมงาน และต้องขอบคุณไปถึงสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่คอยสนับสนุนเรื่องอาหาร ถุงยังชีพ ที่ปีนี้จัดเต็มมาก" ทุกคนกล่าวอย่างซาบซึ้ง
    
     
 "กรุงเทพฯ - เชียงใหม่" สายสัมพันธ์ที่ยาวไกลกว่าระยะทาง 
      
แม้ว่าประเพณีรับน้องรถไฟ จะเป็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจัดมาเพื่อรับขวัญลูกช้างเชือกใหม่โดยเฉพาะ แต่เบื้องหลังของกิจกรรมสุดอบอุ่นนี้ ไม่ได้มีแค่ชาว มช. เท่านั้น เพราะมีการผูกสัมพันธ์ที่แน้นแฟ้นไว้กับเพื่อนต่างมหา'ลัยด้วยล่ะ
   
     
น้องๆ ทีมงานได้เล่าถึงความประทับใจในตัวเพื่อนต่างสถาบันว่า "เราได้รับความร่วมมือที่ถือเป็นน้ำใจระหว่างเพื่อนนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จัดเครื่องเสียงมาอำนวยความสะดวกพวกเราชาว มช. และที่พวกเราจะจำไม่ลืมเลยคือเหตุการณ์คืนก่อนเริ่มกิจกรรมรับน้องรถไฟที่หัวลำโพง ความพีคอยู่ที่ไวนิลที่เราปรินท์มามีขนาดไม่พอดีกับเวที พอติดแล้วลอยเลยจ้า คือมันก็มืดแล้ว เราเป็นเด็กต่างจังหวัดกันก็ไม่รู้ว่าร้านไวนิลแถวนี้อยู่ตรงไหนบ้าง จังหวะนั้นนึกอะไรไม่ออก แกงตูนเลยโทร. หาเพื่อนที่จุฬาฯ ว่าเกิดปัญหานี้ ทำยังไงดี  แถวจุฬาฯ มีร้านปรินท์มั้ย ระหว่างที่เรากำลังเครียด เพื่อนที่จุฬาฯ กลับชิลล์มาก บอกให้พวกเราใจเย็นๆ แค่ส่งไฟล์มา เดี๋ยวเขาจัดการให้ แล้วเราก็ได้ป้ายไวนิลที่พอดีกับเวทีแบบทันเวลา ต้องขอบคุณมากๆ จริงๆ"
    
    
 ปัญหามีไว้ให้แก้ไข และเรียนรู้! 
      
การทำงานใหญ่ขนาดนี้ ถ้าจะบอกว่าไม่มีปัญหา ทุกอย่างราบรื่นไร้ที่ติ 100% ก็คงจะเป็นการรับน้องธีมโลกสวยด้วยทุ่งลาเวนเดอร์แล้วล่ะค่ะ เพราะว่ากิจกรรมที่ต้องมีการประสานงานกับหลายฝ่าย และต้องบริหารค่าใช้จ่ายให้คุ้มค่ามากที่สุดแบบนี้ ย่อมมีอุปสรรคเป็นธรรมด๊า(เสียงสูง) แต่ทว่าน้องๆ สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ได้ช่วยกันฟันฝ่ามาได้ แถมยังได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ทำให้พวกเขาสตรองขึ้นอีกเป็นเท่าตัว!!!
    
    
น้องๆ ทีมสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดใจว่า "ปัญหาหลักๆ คือเรื่องของทีม สโมฯ แต่ละรุ่นจะต้องมีการหาทีมนักศึกษาที่จะเข้ามาทำงานตรงนี้ก่อน รับน้องรถไฟถือเป็นงานวัดใจ เป็นงานแรก ที่ทุกคนต้องเชื่อใจกัน มีความเคารพซึ่งกันและกัน ผู้นำเองก็ไม่ได้มีสิทธิ์มีเสียงในการเป็นผู้สั่งและให้คนมาเชื่อเรา แต่ทุกคนต้องรวมพลังทางความคิด ร่วมมือกัน การรวมคนนี่แหละเป็นสิ่งที่ยาก เป็นอุปสรรคแรกที่เราทุกคนต้องฝ่าไปให้ได้ แล้วเราจะมีทีมที่เข้มแข็งและพร้อมจะผ่านทุกปัญหาที่จะเข้ามาอีกได้อย่างสวยงาม ด้วยกระบวนการคิดที่วางแผนตั้งแต่จุดเริ่มต้นถึงจุดสิ้นสุดที่เราทุกคนสามารถมองภาพออกได้ ซึ่งเราใช้วิธีเปิดใจ เบรนสตอร์ม พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกัน เพื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ความเชื่อใจกัน" 
    
    
ก่อนจะพูดคุยกันในประเด็นถัดไป พี่ส้มก็แอบถามแนวทางการพัฒนากิจกรรมรับน้องรถไฟในอนาคตมาคร่าวๆ ซึ่งนับเป็นข่าวที่ดีมากค่ะเพราะทีมน้องๆ สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ได้มีการปรึกษากันเรื่องการเปลี่ยนรถไฟที่ใช้โดยสารให้สะดวกสบายขึ้นในปีต่อๆ ไป ไม่แน่นะว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ลูกช้างเชือกใหม่จะได้นั่งรถไฟตู้แอร์กันแล้วก็ได้ ^^
     
    
 ชีวิตเฟรชชี่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีได้แค่ครั้งเดียว! 
   
ตะลุยเบื้องหลังของประเพณีรับน้องรถไฟกันซะจนทะลุปรุโปร่งแบบนี้ ชักอยากรู้แล้วล่ะสิว่าคนที่เข้าร่วมกิจกรรมเขาจะได้สัมผัสถึงความสุขที่พี่ๆ มอบให้ หรือมีเหตุผลอะไรถึงเลือกมาเข้าร่วมกิจกรรมนี้?
        
น้องเอิท น้องธัญญ่า น้องแบงค์ น้องแก้ว น้องพริก น้องนัท และน้องเคน ได้เล่าให้ทีมงานฟังว่า...   
"เราตั้งใจมาเข้าร่วมกิจกรรมนี้ เพราะตอนนี้ยังไม่มีเพื่อนที่มหา'ลัยเลย เหงาอยู่ (หัวเราะ) คิดว่าถ้ามารับน้องรถไฟ คงได้รู้จักเพื่อนเยอะขึ้น รู้จักรุ่นพี่ มีปัญหาอะไรจะได้คอยปรึกษา เรื่องการเรียน การใช้ชีวิต และก็คิดว่าระหว่างทางจากกรุงเทพฯ ไปถึงเชียงใหม่ น่าจะมีอะไรสนุกๆ ให้เราได้ทำ เพราะเห็นพี่ๆ เตรียมสันทนาการกันสุดฤทธิ์ ขนมข้าวอะไรก็เยอะคงกินอิ่มแน่ๆ พี่ๆ เขาทำให้พวกเรารู้สึกว่าเราเป็นครอบครัวจริงๆ เพราะเห็นพี่ศิษย์เก่าบางรุ่นก็แก่กว่าพ่อแม่เราอีก เขายังมาแสดงความยินดี มาต้อนรับ มาส่งเราขึ้นรถไฟไป มช.

พวกเรารู้สึกว่านี่แหละเป็นความทรงจำดีๆ ที่เงินซื้อไม่ได้จริงๆ เรามองว่าชีวิตปี 1 มันมีได้ครั้งเดียวจริงๆ นะ รับน้องรถไฟก็จัดมาให้ปี 1 เหมือนกัน เป็นปีเดียวที่เราจะได้มางานนี้ในฐานะน้อง ถ้าปีหน้าเรากลับมามันก็คนละฟีลแล้ว เพราะเราจะเป็นพี่ที่มาคอยดูแลน้อง (ยิ้ม)"
   
น้องเคน - พศวีร์ อภัยรัตน์ คณะแพทยศาสตร์, น้องนัท - ณัฐพงศ์ วาริพันธน์ คณะเภสัชศาสตร์, 
น้องแบงค์ - ณัฐวัฒน์ พุฒิบูรณวัฒน์ คณะนิติศาสตร์, น้องเอิท - จตุภัทร อัมพรพฤติ คณะสัตวแพทยศาสตร์, 
น้องแก้ว - แก้วกัญญพัชร วรปภาดากุล คณะมนุษยศาสตร์, น้องธัญญ่า - ธัญญพร จตุรวัฒน์ คณะทันตแพทยศาสตร์
และน้องพริก - จตุรพร ใจดี คณะวิศวกรรมศาสตร์
    
      
 สาส์นถึงว่าที่ลูกช้างเชือกต่อไป... 
         
และแล้วการสนทนาที่เต็มความสุขและความอบอุ่นกับชาว มช. ก็ได้ดำเนินมาถึงช่วงส่งท้าย เพื่อให้บรรดาพี่น้องร่วมสถาบันได้พากันเดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยในฝันที่พวกเขาสามารถเอื้อมถึงได้แล้ว แต่ก่อนจะจากกันไป ลูกช้างรุ่นพี่ก็ได้ฝากกำลังใจดีๆ มาให้ว่าที่ "ลูกช้างเชือกต่อไป" ไว้ด้วยนะ...
           
"ทุกมหาวิทยาลัยมีคุณค่าเหมือนกัน ทำให้เราเป็นคนเก่งของสังคมได้หมดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกหนึ่ง ที่นี่มีกิจกรรมเมากมายที่จะช่วยบ่มเพาะและฝึกฝนให้เราเติบโตขึ้น ถ้าใครรักที่จะใช้ชีวิตแบบนี้ ก็สอบเข้ามาเป็นลูกช้างด้วยกันนะจ๊ะ"
    
     
"เส้นชัยไม่ไกลสำหรับคนที่มีความมุ่งมั่น
เส้นชัยจะอยู่ตรงหน้าเราแค่ไม่กี่เซนฯ
แต่อยู่ที่เราจะก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ไปถึงมันได้หรือไม่
มองเป้าหมายของตัวเองให้ออก เข้าใจว่าตัวเองเป็นใคร
หาคำตอบให้เจอว่ามหาวิทยาลัยไหนจะสามารถนำพาเราไปสู่เป้าหมายได้
ตั้งใจเรียนให้มากที่สุด สิ่งที่ทำให้เราเสียสมาธิก็ตัดทิ้งไป มุ่งมั่นเข้าไว้"
         
        
     แม้ว่าการสัมภาษณ์ครั้งนี้จะจบลง และกิจกรรมรับน้องรถไฟประจำปีการศึกษา 2560 จะเสร็จสิ้นลงด้วยดีแล้ว แต่พี่ส้มเชื่อว่าทุกคนสามารถสัมผัสได้ถึงความเป็นทีมงานคุณภาพของสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้สร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ ที่สามารถเป็นตัวอย่างของการต้อนรับน้องใหม่ที่อบอุ่น พร้อมกับสร้างความประทับใจให้แก่นักศึกษาและเป็นภาพลักษณ์ที่ดีงามในสายตาบุคคลภายนอก งานดี งานเจ๋ง งานเยี่ยมแบบนี้ พี่ส้มก็มีรางวัล Idol กิจกรรมมามอบให้ถึงที่เลยจ้า ย่อตัวรับมงหน่อยเร้วเด็กๆ ^^
    
     
                  
                
     ส่วนใครที่อยากเป็น Idol กิจกรรมแห่ง Dek-D.com พร้อมรับถ้วยเด็กกิจกรรมเท่ๆ แบบนี้ไปครอง สามารถส่งเรื่องราวเด็กกิจกรรมที่น่าสนใจของตัวเอง บรรยายความยาว 1 หน้ากระดาษมาได้ที่ Methawee@dek-d.com คนไหนเจ๋งจริง เดี๋ยวพี่ทีมงานจะรีบติดต่อกลับไปหาเลยค่ะ
   
            
ก่อนจากไป ฝากกดไลก์เพจ "เด็กมีของ" ใครมีของเข้าไปโชว์กันได้!!
          
พี่ส้ม
พี่ส้ม - Columnist คนทำคอนเทนต์ออนไลน์ ที่เชื่อว่าใครก็เป็นเด็กดีได้ในสไตล์ของตัวเอง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น