คุยกับคนเล็กสร้างงานใหญ่ ‘ชมรมดนตรีและแสงเสียง คณะวิทย์ จุฬาฯ’ เอนเตอร์เทนได้ ออแกไนซ์ก็เริด!

     เป็นเรื่องธรรมดาที่ความบันเทิงครบครันทั้งดนตรีและแสงสีเป็นบริการที่มีราคาสูงมาก เพราะไหนจะต้องลงทุนกับอุปกรณ์เอฟเฟกต์-เครื่องไฟราคาแพงแล้ว ก็ต้องทุ่มจ่ายค่าจ้างให้ศิลปิน และทีมงานที่มีทักษะเฉพาะทาง จนเรียกได้ว่าถ้าจะจัดงานทำนองนี้ ก็ต้องมีเงินอย่างน้อยหลักหมื่นขึ้นไป 
   
เครดิต : ชมรมดนตรีและแสงเสียง
    
     แต่ถ้าจะบอกว่าอีเวนต์ไหนไม่มีเครื่องเสียงรุ่นใหม่ หรือขาดช่างไฟเวทีมือโปรแล้วงานจะกร่อย ก็ดูเป็นการด่วนสรุปเกินไป เพราะถ้าผู้จัดงานฉลาดที่จะออแกไนซ์ (บริหารงานให้เป็นระบบ) อย่าง Idol กิจกรรมที่พี่ส้มจะพาทุกคนไปรู้จักในวันนี้แล้วล่ะก็ พูดเลยว่าแม้งบจะย่อมเยา แต่พวกเขาก็สามารถจัดโชว์ได้อย่างน่าประทับใจทุกงานจ้า ว่าแล้วก็ขอเบิกตัวเหล่าสมาชิก ชมรมดนตรีและแสงเสียง คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย!!! งานนี้นำทีมโดย...
   
น้องธูป - ธาตรี ภู่สาย ธูป ประธานชมรม
น้องเกม - ภูริวัฒน์ มีชัยเจริญยิ่ง ประธานฝ่ายแสงและเสียง / มือกีต้าร์
น้องมีน - ธน บุษบงกช เหรัญญิก / มือคีย์บอร์ด
น้องมุ่ย - วิภาพร ตั้งศักดิ์สมหวัง นักร้อง / มือกลอง / มือเบส 
น้องฟลุ๊ค - ณัฐวัฒน์ กล่อมแก้ว เลขานุการ / นักร้องนำ  
   
น้องธูป - ธาตรี ภู่สาย, น้องมุ่ย - วิภาพร ตั้งศักดิ์สมหวัง, น้องมีน - ธน บุษบงกช,
น้องฟลุ๊ค - ณัฐวัฒน์ กล่อมแก้ว, น้องเกม - ภูริวัฒน์ มีชัยเจริญยิ่ง
   
       

ชมรมดนตรีนี้ไม่ธรรมดา เพราะคณะได้ให้แสงสีมาเป็นภารกิจ!

ครั้งแรกที่เดินเข้าไปในห้องชมรมแล้วได้พบกับน้องๆ สมาชิกหน้าใสวัยละอ่อน ทีมงานเข้าใจไปว่านี่คือชมรมเลือดใหม่ ที่เพิ่งก่อตั้งมาไม่นาน แต่พอสังเกตเครื่องดนตรีและแสงเสียงแต่ละชิ้นแล้วกลับพบว่าดูมีอายุพอสมควร เราเลยเริ่มบทสนทนากันด้วยที่มาของชมรม..
  
    
น้องธูป ประธานชมรมเล่าว่า "ชมรมนี้ก่อตั้งมาแล้วกว่ายี่สิบปี เริ่มจากในคณะวิทยาฯ ของเราพอมีคนเล่นดนตรีอยู่บ้าง ซึ่งพอนับรวมๆ กันแล้วก็มีจำนวนมากอยู่ เลยมีการชักชวนกันตั้งชมรมกันดู" 
     
"พอทำเรื่องเปิดชมรมแล้ว ทางคณะก็มอบหมายงานเรื่องแสงเสียงภายในและนอกคณะให้รับผิดชอบเพิ่มมาด้วย ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาก็มีการสนับสนุนให้เด็กในคณะได้มีกิจกรรมทำ ได้ช่วยงานต่างๆ ในคณะได้ ซึ่งก็เป็นการเปิดโอกาสให้คนชอบดนตรีได้มาอยู่ด้วยกัน มีเวทีเล็กให้แสดง อาจจะไม่ใหญ่โตอะไร แต่พวกเราก็เต็มที่ครับ"
   
      
"ส่วนใหญ่เด็กที่เข้ามาในชมรมเราเนี่ย จะคิดว่าแค่มาเล่นดนตรีอย่างเดียว ไม่รู้ว่าชมรมมีเรื่องแสงเสียงให้เรียนรู้ด้วย อย่างผมตอนแรกก็ไม่รู้นะครับ (หัวเราะ) แต่เหตุผลที่นักดนตรีจำเป็นต้องเข้าใจโปรเซสของระบบเสียงหรือแสงไว้ ก็เพื่อใช้แก้ไขเวลามันเกิดปัญหา หรือจัดการกับมันได้เองในเวลาที่เราต้องจัดงานทำนองนี้" น้องเกมกล่าวเสริม
   
   
ส่วนน้องมุ่ย สาวสวยคนเดียวท่ามกลางหนุ่มๆ ก็ตอบอย่างสวยๆ ว่า "เห็นชื่อชมรมว่าดนตรีนี่จริงๆ แล้วสมาชิกของเราไม่จำเป็นต้องเล่นดนตรีเป็นหรอกนะคะ อย่างที่บอกว่าหน้าที่เรามีหลายส่วนที่อยู่เบื้องหลังอีเวนต์ คอนเสิร์ต จัดแสงเสียง ซึ่งต่อให้ทำไม่เป็นเลย ขอแค่เปิดใจเรียนรู้พวกพี่ๆ ก็ยินดีสอนให้ค่ะ"
   
   

ทุกคนในที่นี้เป็นทั้ง “พี่” และ “น้อง”

พอได้ยินว่าที่นี่เขาอยู่กันแบบพี่สอนน้อง พี่ส้มก็ชักสงสัยขึ้นมาแล้วล่ะสิว่าชมรมดนตรีและแสงเสียง คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาอยู่กันแบบไหน? จะมีระบบรุ่นโหดๆ มั้ยนะ? งานนี้ต้องให้คนในชมรมตอบค่ะ!
   
   
น้องธูป น้องเกม และน้องฟลุ๊ค ช่วยกันอธิบายว่า "สำหรับการทำงานในชมรม เราจะแบ่งหน้าที่หลักออกตามชั้นปี คือน้องปี 1 ที่เข้ามาใหม่ จะรับงานแบ็สเตจเป็นหลัก คอยดูแลเบื้องหลัง ซัพพอร์ตนักดนตรี ให้เห็นการทำงานโดยรวม พอเข้าปี 2 ก็ลงลึกเรื่องทักษะการออแกไนซ์ระแบบแสงเสียงต่างๆ ให้สัมพันธ์กับดนตรี"
  
   
"ส่วนปี 3 ก็จะทำหน้าที่เป็นทีมบริหาร ควบคุมการทำงานในชมรม วางแผนการทำงานทั้งหมดและจัดการเรื่องเงิน และพอขึ้นปี 4 ก็จะสบายๆ แล้วครับ มาดูแลน้องๆ คอยคอมเมนต์หรือให้คำแนะนำในงานต่างๆ ซึ่งมันเป็นธรรมชาติของชมรมเรานะ เพราะกว่าที่พวกพี่จะชิลล์ได้ ก็ต้องเคยทำงานหนักมาก่อนเหมือนกันครับ"
  
   
"เวลาที่ชมรมได้โจทย์มาว่าต้องทำงานสักงานเนี่ย เราก็จะมาลิสต์ว่างานนี้ สเกลเท่านี้ เขาต้องการอะไรบ้าง ต้องการแสง เสียง mood and tone เป็นแบบไหน แล้วก็มาไล่เช็กอุปกรณ์กันว่าใช้อะไรได้บ้าง มีอุปกรณ์ชิ้นไหนเสียจะได้ซ่อมทัน วันใช้งานจะได้ไม่มีปัญหา ภาพรวมของงานจะได้ออกมาดี"  
    
   
"หลังจากเช็กอุปกรณ์ เราก็ต้องประชุมกัน วางแอคชั่นแพลน ทั้งวันจัดงาน และวันเตรียมงาน ว่าเราจะเริ่มกันตั้งแต่ตอนไหน ใช้เวลาเซ็ตในวันจริงกี่โมง ระบบต้องเสร็จกี่โมง ซ้อมใหญ่ตอนไหน แล้วก็แบ่งหน้าที่ไปเลยว่าใครต้องประจำจุดไหน ดูแลอะไรบ้าง"
  
   
"พองานจบก็เก็บงานตามเวลาที่เราวางแผนไว้เมื่อเสร็จงานแล้ว วันถัดไปทุกคนจะต้องมานั่งคุยกันว่าใครเจอปัญหาอะไรบ้าง ย้ำว่าทุกคน เพราะเราจะได้เรียนรู้การทำงานไปด้วยกัน เพื่อเป็นข้อสรุปเอามาพัฒนาโชว์ หรือหาวิธีแก้ไขปัญหาและป้องกันไม่ให้มันเกิดซ้ำ" 
  
   
"สำหรับงานสเกลเล็กๆ อย่างคอนเสิร์ตวันเดียว เทียบกับชมรมเราที่มีคนอยู่ไม่กี่สิบชีวิต ก็จะใช้เวลาเตรียมงานล่วงหน้าสองถึงสี่วัน แต่ถ้าเป็นงานใหญ่ระดับคณะ หรือมหาวิทยาลัยอย่างจุฬาฯ EXPO ที่ต้องประสานงานกับหลายฝ่าย เวลาเตรียมงานก็จะขยายออกไปอีก เป็นสัปดาห์ๆ หรือยืดไปเป็นเดือนเลยก็มีครับ ซึ่งนี่ก็คือระบบงานที่เราทั้งสอนน้อง และต่างก็เรียนรู้ไปพร้อมๆ กันครับ" 
     
  
เครดิต : ชมรมดนตรีและแสงเสียง
    
แหม่.. ฟังแล้วก็ดูอบอุ่นดีนะคะ พี่ส้มว่าคงไม่ต้องห่วงว่าพี่ๆ ในชมรมจะโหดแล้วล่ะ เพราะที่รู้สึกได้เลยว่าโหดกว่า ก็คือภาระหน้าที่ของชมรมที่ต้องใช้แรงกายแรงใจทุ่มเทให้แต่ละงานสำเร็จมากกว่า ^^
   
   

อุปกรณ์ลูกรัก…

     
เมื่อพูดถึงระบบงานแล้วก็ต้องสืบให้ลึกถึงเรื่องอุปกรณ์ซะหน่อย เพราะที่เห็นวางเรียงให้เต็มห้องนี่นับรวมก็ราวๆ ร้อยชิ้นได้อยู่ แอบได้ข่าวว่าพวกเขารักทุกชิ้นเหมือนลูกซะด้วย อยากรู้จังว่าไปซื้อไปหามาจากไหนกัน แล้วทำไมต้องรักหนักแน่นขนาดนั้นด้วยล่ะเนี่ย...
  
      
"อุปกรณ์ดั้งเดิมของเราได้รับการสนับสนุนจากทางมหา'ลัยครับ บางชิ้นที่ซื้อมาตั้งแต่สมัยก่อตั้งชมรมก็ยังใช้ได้อยู่ แต่บางชิ้นพอเวลานานไป ก็เสื่อม ผุพังบ้าง เราก็ใช้ความรู้ที่มีในการซ่อมแซมไป แล้วก็มีเงินที่เราหาได้จากการออกไปรับงานนอกเองด้วย อีกด้านนึงก็คือได้งบจากพี่ๆ ศิษย์เก่าในชมรมที่จบไปแล้ว ช่วยบริจาคเงินเข้ามาให้ ก็รวมๆ กันเอาไปซื้อของใหม่เพิ่มเติมครับ" น้องมีนตอบอย่างแม่นยำสมกับความเป็นเหรัญญิก
   
      
มาทางน้องมุ่ยและน้องฟลุ๊ค ผู้ที่ต้องกำชะตาหัวไมค์และสายไฟอยู่บ่อยครั้ง ก็ต่างได้ภูมิใจนำเสนอวัฒนธรรมประจำชมรมที่สืบทอดกันมาแบบรุ่นสู่รุ่น ว่าคนในชมรมนี้น่ะ "รักอุปกรณ์เหมือนลูก"!!! 
  
    
"อย่างที่บอกว่าอุปกรณ์แต่ละชิ้นในชมรมนี่เก่าแก่มาก และต้องใช้ตกทอดกันมาจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง ชมรมเราเลยออกกฏที่เข้มงวดเรื่องการใช้งานและเก็บรักษา ตั้งแต่สายต่างๆ หัวไมค์เล็กๆ หลอดไฟ ไปจนถึงตู้แอมป์ อย่างสายไฟเนี่ยเราจะต้องม้วนให้ถูกตำแหน่ง ไม่ให้ส่วนหัวต่อมันหัก หรือไมค์แต่ละตัวก็ต้องใส่หัวฟองน้ำไว้อย่างดี เพราะหัวไมค์คือส่วนที่บอบบางที่่สุด เวลาถือก็ห้ามกำหัวไมค์เพราะมันจะหอน ประมาณนี้"
   
  
   
“และถ้ามีงานไหนๆ ที่คนนอกต้องหยิบยืมอุปกรณ์ของเรา เราก็จะจัดคนไปคอยดูแลอยู่ใกล้ๆ เช่น เขาเต้นสันทนาการกันอยู่ เราก็ฝ่าวงล้อมเข้าไปเต้นกับเขาเพื่อประกบคนถือไมค์ เผื่อเขาเผลอทำหล่น หรือวางแรง จะได้ช่วยเซฟได้ทัน พอเรารักษาอุปกรณ์กันจนเคยชิน ก็จะมีอีกนิสัยนึงตามมา คือถ้าได้ยินเสียง โป้ง แปะ เมื่อไหร่ มีอันต้องหันขวับไปมองเสมอ” (หัวเราะ)
   
   
น้องธูปยังเสริมด้วยว่า  “นอกจากนี้ชมรมยังมีกฎว่าห้ามผู้หญิงยกของหนักด้วยนะครับ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสาวถึกหุ่นล่ำบึ้กแค่ไหน ผู้ชายอย่างเราๆ ก็จะไม่ปล่อยให้เธอต้องลำบาก แต่จะแบ่งให้ไปทำงานที่ไม่ต้องแบกหามที่สำคัญพอๆ กันแทน”
    
   
นอกจากนี้ น้องๆ ทั้งห้าคนนี้ยังร่วมแชร์ประสบการณ์การพิทักษ์อุปกรณ์ที่ตัวเองได้เจอมา ไม่ว่าจะเป็นฝนเทลงมาจนขนของหนีไม่ทัน แล้วต้องหาแผนผ้าใบไปคลุมให้ไวที่สุด การวิ่งผ่านฝูงชนเข้าไปรับไมค์ที่กำลังจะตกพื้น หรือรีบดึงปลั๊กไฟเพื่อป้องกันอุปกรณ์เปียกในอีเวนต์ที่มีการสาดน้ำ ซึ่งน้องๆ บอกว่าเป็นการฝึกแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างดี แถมตอนเล่านี่สายตาทุกคนยังคงโฟกัสอุปกรณ์อยู่ตลอดเวลาเลยด้วย ได้เห็นได้ฟังแบบนี้พี่ๆ ทีมงานก็เชื่อแล้วล่ะว่าน้องๆ คงรักอุปกรณ์มากจริงๆ ><
    
   

ชมรมเรามีแต่คนเฮฮา จะให้มานั่งอ่านหนังสือตลอดเวลาได้ยังไง?

เห็นน้องๆ มีความทุ่มเทกายใจและเวลาให้ชมรมมากซะขนาดนี้ พี่ส้มเลยต้องถามถึงเรื่องเรียนกันสักหน่อยว่าชาวชมรมดนตรีและแสงเสียง เขาแบ่งเวลาเรียนและทำกิจกรรมกันยังไงบ้าง?
          
น้องมีนและน้องเกมแจกแจงให้ฟังว่า "อย่างที่เห็นว่าชมรมมีแต่คนเฮฮา ดังนั้นในความเป็นจริงก็คือไม่มีใครอ่านหนังสือตลอดอยู่แล้วครับ เน้นตั้งใจเรียนในห้องเอา"
  
   
"เวลาว่างเราก็เอาไปทำสิ่งที่ชอบครึ่งนึง อีกครึ่งนึงก็ใช้ไปกับเรื่องเรียน เช่น ทำการบ้าน อ่านหนังสือ แต่เราจะมีโยบายเว้นช่วงรับงานก่อนสอบหนึ่งเดือนเพื่อเตรียมตัวอ่านหนังสือ หรือถ้าใครมีควิซ มีสอบแลปอื่นๆ ก็เช็กจากตารางงานที่เราวางแผนไว้ล่วงหน้าได้ ซึ่งมันช่วยให้เรารู้ตัวก่อนอยู่แล้วครับ”
   
   

ก่อตั้งมากว่ายี่สิบปี ไม่ดีจริง ก็อยู่ไม่ได้หรอก ^^

พูดเรื่องภารกิจของคนในชมรมมาก็เยอะแล้ว มาถึงช่วงท้ายของคอลัมน์ที่เราจะพูดคุยถึงสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อทุกคนได้เข้ามาอยู่ในชมรมนี้บ้าง ^^
   
   
น้องธูปกล่าวอย่างจริงจังว่า “การเข้ามาอยู่ในชมรมนี้ ถ้าเป็นเรื่องระบบงานที่เราเรียนรู้และส่งผ่านงานจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง อย่างแรกล่ะเราได้เรียนรู้ไปด้วยกัน แต่สิ่งที่ตามมาคือความสัมพันธ์กัน คือไม่มีใครทิ้งใคร วันที่เราเป็นน้องใหม่ก็จะมีพี่คอยสอน วันที่เราเป็นพี่แล้วก็กลายเป็นคนสอน พอจบออกไปก็ยังกลับมาดูแลน้อง มันจะเป็นแบบนี้หมุนเวียนไปตลอดครับ”
  
    
ส่วนน้องเกมก็บอกว่า “การที่พวกเราต้องทำตามกฎต่างๆ ในชมรมอยู่เสมอ เช่น ต้องเก็บสายต่างๆ แยกประเภทให้เรียงร้อย การวางไลน์สายบนพื้นที่ต้องมีเทปกาวแปะให้แน่นกันคนเตะกระชากขึ้น หรือกฎอื่นๆ อีก มันคือการฝึกนิสัยให้เรากลายเป็นคนมีระเบียบ และคิดอะไรอย่างรอบคอบมากๆ ซึ่งผมก็ติดไปแล้วแบบไม่รู้ตัวเหมือนกัน”
  
   
“ชมรมนี้ทำให้เราได้เจอกิจกรรมหลายอย่าง ทั้งในมุมคนร่วมกิจกรรมและคนจัดงาน เราเลยได้ฝึกทักษะหลายด้าน ทั้งออแกไนซ์และเอนเตอร์เทนคนที่เอาไปประยุกต์ใช้ได้ในงานชมรมหรือเรื่องส่วนตัว และมันสอนให้เราคิดและทำทุกอย่างอยากมีเหตุผล ซึ่งเรากำลังฝึกฝนมันอยู่ตลอดเวลาจากการทำงานในชมรมนี่แหละ”
  
   
“คิดๆ  ไปแล้วมันก็ดีนะ เพราะถ้าให้เรานั่งเลกเชอร์วิธีบริหารจัดการหรือสร้างความบันเทิงแล้วเอามาทำตามเพื่อให้คนที่มางานต่างๆ ที่เราจัดได้สนุกสนานเนี่ย  ส่วนตัวพวกเราเองจะเบื่อไปก่อนที่จะได้จัดงานให้พวกเขามาเอนจอยกันด้วยซ้ำ เพราะการจับงานจริง ก็คือการเรียนรู้ที่ท้าทายให้เราได้คิด และได้เข้าใจมันจากการลงมือทำ” น้องมุ่ยและน้องมีนกล่าว
   
    
ปิดท้ายด้วยน้องฟลุ๊ค “ชมรมของเราอาจมีบางมุมที่ดูโหด จากกฎแปลกๆ ความยิบย่อยต่างๆ แต่สุดท้ายแล้วมันคือการคัดกรองคนที่มีความตั้งใจจริงให้มาอยู่ด้วยกัน ซึ่งผมว่านี่แหละคือสิ่งที่เด็กกิจกรรมหลายคนอยากพูดออกไปให้สังคมภายนอกได้รู้ว่า พวกเราก็ไม่ได้ทำอะไรไร้สาระ ทุกอย่างที่ทำมันมีเหตุผลและผ่านการคิดที่ปรับให้พัฒนาขึ้นอยู่ตลอดครับ”
    
        
     ได้ทราบเรื่องราวด้านความสามารถ ความแปลก ความเป๊ะ และความผูกพันที่ส่งต่อกันแบบรุ่นสู่รุ่นจากพวกเขาไปแล้วก็ต้องบอกว่าน้องๆ ทำได้ดีทีเดียว เพราะฉะนั้นพี่ส้มก็ต้องขอมอบรางวัล Idol กิจกรรมไว้ให้ชาวชมรมดนตรีและแสงสี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมถ้วยรางวัลเก๋ๆ ไว้ ณ ที่นี้ ขอเสียงปรบมือแสดงความยินดีด้วยจ้า!!!!
      
   
   
     ส่วนใครที่อยากเป็น Idol กิจกรรมแห่ง Dek-D.com ไม่ว่าจะโชว์เดี่ยวหรือทีมเวิร์ก ก็สามารถส่งเรื่องราวเด็กกิจกรรมที่น่าสนใจของตัวเอง บรรยายความยาว 1 หน้ากระดาษมาได้ที่ Methawee@dek-d.com ใครเจ๋งจริง เดี๋ยวพี่ทีมงานจะรีบติดต่อกลับไปหาเลยค่ะ
พี่ส้ม
พี่ส้ม - Columnist คนทำคอนเทนต์ออนไลน์ ที่เชื่อว่าใครก็เป็นเด็กดีได้ในสไตล์ของตัวเอง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น