แสตมป์เบอรี่ และเจ้าปลาน้อย ในงานเสวนา "จากวรรณกรรม สู่จอแก้วในยุคดิจิทัล"

“คุณคิดว่า... จินตนาการสำคัญกว่าความจริงหรือเปล่า?”

สวัสดีน้องๆ ชาวเด็กดีทุกคน พี่อรเองจ้า หลายๆ คนคงนึกแปลกใจว่าอรเป็นใคร... พี่อรเป็นสมาชิกใหม่ของทีม Writer จะมาคอยช่วยอัพเดทข่าวสารให้กับน้องๆ นักเขียนเด็กดี นับจากวินาทีนี้เรามาค่อยๆ ทำความรู้จักกันไปผ่านบทความของพี่นะคะ ^_____________________________^

ตอนต้น พี่อรขึ้นบทความมาพร้อมกับคำถามที่ว่า จินตนาการสำคัญกว่าความจริงจริงหรือเปล่า สำหรับน้องๆ นักเขียนคิดว่ายังไงบ้างคะ คำถามนี้เกิดขึ้นในใจ เมื่อพี่อรได้มีโอกาสไปนั่งฟังการเสวนาในประเด็น “จากวรรณกรรม สู่จอแก้วในยุคดิจิทัล” ซึ่งจัดขึ้นที่สถานีโทรทัศน์ Thai PBS เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่ผ่านมา งานนี้เรียกได้ว่ารวมเอาคนสร้างเรื่องมาไว้อย่างถูกคู่ถูกคน โดย 2 ใน 4 นักสร้างเรื่องในงานก็คือนักเขียนลูกหม้อของเว็บเด็กดีนี่เอง น้องๆ พอจะเดาออกกันไหมเอ่ย ใช่แล้ว... สองคนที่พี่อรพูดถึงก็คือ แสตมป์เบอรี่ (พิไลมาศ ค้ำชู) และเจ้าปลาน้อย (เพชรไพลิน รัตนนาม) ซึ่งเมื่อเอาผลงานของสองคนมารวมกันแล้วมากเกือบๆ ร้อยเรื่องเลยทีเดียว แถมล่าสุดนิยายของทั้งคู่ยังถูกเลือกมาทำเป็นละครซึ่งจะมีกำหนดฉายเร็วๆ นี้อีกด้วย (ละครชุดเรื่อง รักนะเป็ดโง่ Ugly Ducklin ตอน Boy’s Paradise และ ตอน Don’t) นอกจากสองนักเขียนที่ทางเว็บเด็กดีภูมิใจแล้วก็ยังมีกูรูอีกสองท่านคือ สรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์ (นักเขียน และนักเขียนบทโทรทัศน์ ผลงานเขียนที่เป็นที่รู้จัก เช่น นิยายเรื่อง คุ้มนางครวญ บทโทรทัศน์เรื่อง เวียงร้อยดาว รวมถึงบทโทรทัศน์ ละคร ซีรีส์เลือดมังกร ตอน หงส์ จะออกฉายในเดือนกรกฎาคม 2558 นี้) และยังมีคนสำคัญของเรา เทินพันธ์ แพนสมบัติ (ผจก.ฝ่ายผลิตและจัดหารายการ สำนักรายการ สถานีโทรทัศน์ Thai PBS ) มาร่วมวงพูดคุย

งานเสวนาครั้งนี้ มีหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจ แต่พี่อรขอหยิบเอาเฉพาะประเด็นที่คิดว่านักเขียนรุ่นใหม่ควรจะรู้ไว้ โดยเฉพาะนักเขียนที่อยากจะให้ผลงานของตัวเองออกสู่สายตาคนดูในรูปแบบละครทีวี ส่วนจะมีประโยคเด็ดๆ ไหนที่โดนใจบ้าง ต้องลองไปดูกัน

1. ละครเป็นตัวชูโรงของสถานีโทรทัศน์จริงๆ หรือเปล่า?

นั่นสิ พอผู้ดำเนินรายการเปิดประเด็นนี้มาเล่นเอาพี่อรฉุกคิดอยู่สักสามวินาทีได้ ก่อนจะถึงบางอ้อพยักหน้าเห็นดีเห็นงามไปกับแนวคิดของกูรูทั้งสี่ ซึ่งพี่อรสรุปสั้นๆ ได้ว่า แม้ละครจะไม่ใช่รายการที่สำคัญที่สุด แต่ก็จะเป็นส่วนที่ขาดไปไม่ได้ เพราะละครก็เปรียบเสมือนแม่เหล็กที่จะช่วยดึงดูดความสนใจของคนดูให้เข้ามาที่ช่อง ดังนั้นทางช่องจึงต้องคัดสรรเรื่องที่นอกจากจะมีความเหมาะสมแล้ว ยังต้องสามารถดึงดูดคนดูให้ติดตาม จนบางครั้งก็น่าสนใจว่าแนวละครของแต่ละช่องดูช่างมีเอกลักษณ์

พี่อรมาลองนึกๆ ดูไอ้ละครประเภทระเบิดภูเขาเผากระท่อมก็จะมีให้เห็นในช่องมากสีซะส่วนใหญ่ ส่วนละครแนวครอบครัว อาทิ แม่ผัวลูกสะใภ้ แย่งชิง ตบตี ช่องน้อยสีก็เก็บไปซะเยอะ ถ้าจะให้พี่อรเปรียบเทียบแบบบ้านๆ ละครทีวีก็คงเหมือนกับน้ำปลาพริกที่อยู่คู่กับร้านขายข้าวแกงนั่นแหละ ดูๆ เหมือนจะไม่สำคัญแต่ถ้าขาดไปละก็คิดถึง... แย่

                     กูรูนักสร้างเรื่องทั้งสี่ และคุณธาม เชื้อสถาปนศิริ ผู้ดำเนินรายการคนเก่ง (คนขวาสุด)

2. เขามีเกณฑ์การเลือกนิยายมาทำละครกันอย่างไร

 โดยส่วนตัวพี่อรแอบสงสัยมานานมากกกก คำถามนี้พุ่งตรงไปที่ คุณเทินพันธ์ ในฐานะผู้จัดหารายการและผู้ผลิตรายการ ซึ่งได้รับคำตอบว่า “การเลือกนิยายมาทำเป็นละคร หลักๆ ก็จะเลือกจากเรื่องที่คนอื่นยังไม่เคยทำ หาเรื่องที่มีความสมจริง มีเหตุมีผล รวมถึงยังต้องสัมพันธ์กับนโยบายของช่องด้วย” ฟังจากคำตอบของผู้คร่ำหวอดในวงการแล้ว ปัจจัยที่นักเขียนอย่างเราจะสามารถควบคุมได้ก็คงเป็นเรื่องของการสร้างเนื้อเรื่องให้มีความแปลกใหม่ และสมเหตุสมผล ซึ่งพี่อรเชื่อว่านี่จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้ผลงานของเราน่าสนใจมากขึ้น น้องๆ คนไหนที่กำลังเขียนงานและหมายมั่นปั้นมือว่าอยากให้ผลงานได้สร้างเป็นละครสักครั้งอย่าลืมเชียว ความแปลกใหม่ + ความสมจริง ท่องไว้ๆ

      คุณเทินพันธ์ ผู้จัดหาและผู้ผลิตรายการ สถานีโทรทัศน์ Thai PBS  

3. มีไหมเรื่องต้องห้าม

คำถามนี้เอาใจพี่อรไปเลยจ้า เราในฐานะนักเขียนสมัครเล่นไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมีข้อห้ามอะไรแบบนี้ด้วย เพราะนักเขียนก็ดูเหมือนจะไม่มีข้อจำกัดเท่าไร นึกอะไรได้ก็เขียน ขาดส่วนไหนก็หาข้อมูล แต่การจะเลือกเรื่องขึ้นมาทำเป็นละครสักเรื่อง จำต้องนึกถึงส่วนนี้เป็นส่วนประกอบที่สำคัญเช่นกัน ซึ่งในฐานะนักเขียนรุ่นพี่ คุณสรรัตน์ แนะว่า “เรื่องที่ถือว่าห้ามเขียนถึงก็คือด้านเลวร้ายที่มีความเกี่ยวข้องสถาบันต่างๆ เช่น การทำให้นักการเมืองดูเลว หมอฆ่าคน หรือพระซึ่งเราไม่สามารถเสนอแบบนาคปรกได้”

                                                    นักเขียนรุ่นพี่ คุณสรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์


ส่วนเจ้าแม่นิยายวัยรุ่น แสตมป์เบอรี่ เธอบอกว่า “คงเป็นเรื่องรักต้องห้าม เช่น ผู้ชายกับผู้ชาย ผู้หญิงกับผู้หญิง หรือครูกับนักเรียน เพราะจะมีพ่อแม่ผู้ปกครองคอยตรวจสอบตลอด”

                                                       แสตมป์เบอรี่ ขวัญใจนักอ่านวัยรุ่น 

พี่อรมองว่าสำหรับมือใหม่หัดเขียนควรจะลองเขียนไปก่อน เขียนไปเรื่อยๆ อย่าเพิ่งไปจำกัดการเขียนของเราให้แคบมาก ส่วนใครที่วางแผนว่าอยากให้นิยายของเราถูกนำไปทำเป็นละคร ข้อควรระวังพวกนี้ก็จะเป็นประโยชน์ในการเลือกเรื่องที่จะเขียนด้วยนะ ยังไงลองดู

4. งานของนักเขียนยุคเก่ากับนักเขียนยุคใหม่ต่างกันไหม

บ่อยครั้งทีเดียวที่ผลงานของนักเขียนยุคเก่าและนักเขียนยุคใหม่ถูกหยิบยกขึ้นมาเปรียบเทียบกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษา ความสมจริง ตลอดจนความหนัก - เบาของเนื้อเรื่อง แม้จุดนี้คุณเทินพันธ์จะแสดงความเห็นว่า นักเขียนยุคเก่าๆ ให้เหตุผลของตัวละครที่ชัดเจนกว่านิยายในปัจจุบัน มีความสมจริง มีความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะมาช่วยตอบโจทย์ความสมเหตุสมผล แต่สำหรับนักเขียน Gen Y อย่าง เจ้าปลาน้อย เธอเลือกที่จะให้เหตุผลในงานเขียนของเธอว่า

 "นิยายวัยรุ่นจะเป็นการเล่าเรื่องชีวิตของเด็กคนหนึ่งที่มีต่อความรัก มีต่อครอบครัว เพราะกลุ่มคนอ่านของเราส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยรุ่น เราจะบรรยายยากเกินไปไม่ได้ ถ้าบรรยายยากไปเด็กจะเบื่อ เราต้องเขียนให้เนื้อเรื่องอ่านง่าย เน้นไปที่บทสนทนา เพื่อสร้างจุดเริ่มต้นของการอ่านให้กับเด็ก ซึ่งจะพัฒนาไปอ่านหนังสือที่เป็นแนวผู้ใหญ่อื่นๆ ต่อไป”

          จากทัศนะของเจ้าปลาน้อยพี่อรคิดว่าสอดคล้องกับเพื่อนนักเขียนอย่าง แสตมป์เบอรี่ ซึ่งพวกเธอเลือกที่จะให้ความสำคัญกับธรรมชาติการอ่านของกลุ่มวัยรุ่นเป็นเบื้องต้น

          เพราะไม่เคยคิดมาก่อนว่านิยายที่เขียนจะได้มาเป็นละครทีวี เวลาเขียนนิยายจะคิดว่าจะเขียนยังไงให้มันสนุก ซึ่งบางทีความสนุกก็ไม่จำเป็นจะต้องจริงจังมากกับชีวิต เน้นให้เด็กๆ ได้คลายเครียดจากการเรียน คือเราเน้นความบันเทิงเบาสมอง จนบางทีดูจะเกินความจริงไปบ้างทำให้บางอย่างเวลาเอามาทำเป็นละครมันก็จะยากหรือเป็นไปไม่ได้ ซึ่งถ้าเดิมเราตั้งใจจะเขียนมาเป็นละคร หลายๆ อย่างมันต้องหาข้อมูลต้องสร้างนี่นั่นรายละเอียดมันจะเยอะมาก ซึ่งเราจะเน้นไปที่การใช้จินตนาการมากกว่า”

สำหรับพี่อร ณ จุดนี้ไม่มีใครผิดใครถูก ไม่มีงานไหนที่ดีกว่าหรือแย่กว่า เพราะทุกคนต่างทำหน้าที่สร้างงานของตัวเอง ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองมุมไหน อย่างคุณเทินพันธ์แม้จะเน้นมองเรื่องคุณค่าทางวรรณกรรม แต่ในความเป็นจริงแล้วการให้ความสำคัญกับช่วงอายุ ความสนใจของกลุ่มผู้อ่าน รวมถึงการสร้างพื้นฐานการอ่านที่ดีให้กับเด็กๆ ตามความคิดของเจ้าปลาน้อยก็สำคัญ งานนี้เลยอยู่ที่ว่าใครจะให้น้ำหนักกับส่วนไหนมากกว่า พี่อรมองว่าไม่มีงานเขียนชิ้นไหนสมบูรณ์ที่สุด หรือแม้แต่งานเขียนที่แย่ที่สุดหรอก เพราะทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจของแต่ละคน ฉะนั้นน้องๆ นักเขียนทั้งหลายอย่าเพิ่งท้อนะคะ ถ้าจะต้องเจอกับอุปสรรค และอย่าเพิ่งดีใจเกินไปกับเสียงตอบรับ แต่จงเก็บพลังงานแห่งความสุขมาใช้ในการสร้างสรรค์งานให้ดีขึ้นเพื่อผู้อ่านที่น่ารักของเรากันค่ะ

 สุดท้ายพี่อรของแชร์ความคิดกับน้องๆ กับคำถามที่พี่เริ่มไว้ในตอนต้นว่า จินตนาการสำคัญกว่าความจริงจริงหรือไม่ ส่วนตัวพี่อรคิดว่า จินตนาการสำคัญกว่าความจริงนิดหน่อย เพราะมันช่วยให้งานเขียนของเราสนุกได้อย่างไม่มีขีดจำกัด แต่... เมื่อไรที่จินตนาการของเราสามารถอยู่ร่วมกับพื้นฐานของความเป็นไปได้ ไม่แน่ว่าสักวันหนึ่ง มันอาจกลายเป็นความจริงได้ เหมือนกับ เรือโจรสุหรั่ง ในเรื่อง พระอภัยมณี ที่ครั้งหนึ่งท่านมหากวี สุนทรภู่ เคยประพันธ์ไว้ เมื่อสมัยรัชกาลที่สอง ใครจะไปคิดว่า ปัจจุบัน เรือนั้นถูกสร้างขึ้นมาจริงๆ! 


น้องๆ ที่อยากเป็นนักเขียนล่ะ
คิดว่าจินตนาการหรือความจริงสำคัญกว่ากันจ๊ะ

พี่อร

^_____________^


ไลค์เพจไรท์เตอร์ได้ที่นี่นะ
 

พี่อร
พี่อร - Writer Editor คอลัมนิสต์ผู้เชื่อว่านิยายคือเพื่อนแท้ และเห็นอาหารการกินเป็นเรื่องของความสุข

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

ราชินีโพแดง[RIP กุ้ง นน เบล นัด] Member 17 พ.ค. 58 12:26 น. 3

แต่โดยส่วนตัวคิดว่ากระแสแนวชายรักชายในปัจจุบันตลาดมันเปิดกว้างมากยิ่งขึ้นนะคะ เห็นได้จาก สนพ.ต่างๆ ที่ต่างก็เปิดหมวดนิยายวายเพิ่มขึ้นมา หรือไม่ก็เป็น สนพ. นิยายวายโดยเฉพาะ อีกทั้งซี่รี่ส์ที่มีกระแสมาแรงในตอนนี้อย่างเลิฟซิก2 ก็มาจากนิยายวายเช่นกัน ส่วนตัวเลยคิดว่ามันไม่น่าจะเป็นเรื่องผิด หรือต้องห้ามมากมายขนาดนั้น (หัวเราะ)

0
กำลังโหลด

3 ความคิดเห็น

คลั้งกรุ๊ป 11 พ.ค. 58 20:14 น. 1
ชอบเจ้าปลาน้อยที่สุดเลยยยยย แสตมป์ก็ชอบบบบ นักเขียนในดวงใจ เพิ่งรู้ว่าได้ทำเป็นละครบางตอนเนี่ยแหละ ขอบคุณสำหรับข่าวสารดีๆค่ะ
0
กำลังโหลด
รีนา Member 11 พ.ค. 58 23:17 น. 2

เราเห็นด้วยกับพี่แสตมป์เบอร์รี่ค่ะ เพราะบางทีเรื่องที่เกี่ยวกับรักร่วมเพศ บางสังคมเขาอาจไม่ชอบแบบนี้ แถมสำนักพิมพ์แจ่มใสก็เป็นที่รู้จักกันมากด้วย ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ส่วนใหญ่กลุ่มวัยรุ่นอ่าน 

ของขวัญ

0
กำลังโหลด
ราชินีโพแดง[RIP กุ้ง นน เบล นัด] Member 17 พ.ค. 58 12:26 น. 3

แต่โดยส่วนตัวคิดว่ากระแสแนวชายรักชายในปัจจุบันตลาดมันเปิดกว้างมากยิ่งขึ้นนะคะ เห็นได้จาก สนพ.ต่างๆ ที่ต่างก็เปิดหมวดนิยายวายเพิ่มขึ้นมา หรือไม่ก็เป็น สนพ. นิยายวายโดยเฉพาะ อีกทั้งซี่รี่ส์ที่มีกระแสมาแรงในตอนนี้อย่างเลิฟซิก2 ก็มาจากนิยายวายเช่นกัน ส่วนตัวเลยคิดว่ามันไม่น่าจะเป็นเรื่องผิด หรือต้องห้ามมากมายขนาดนั้น (หัวเราะ)

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด