วิศวกรวัยเกษียณ มาเขียนนิยายตามฝัน จนเกือบได้เป็นละคร! | The Chosen EP.48 ‘ติน ตะโกลา’

วิศวกรวัยเกษียณ มาเขียนนิยายตามฝัน 
จนเกือบได้เป็นละคร! 

The Chosen EP.48 ติน ตะโกลา

‘ไพศาล วีรกิจ’ หรือ ‘ติน ตะโกลา’

สองชื่อนี้อาจจะไม่ใช่ชื่อที่ใครหลายๆ คนคุ้นหู โดยเฉพาะในแวดวงนักเขียน เพราะเขาคือวิศกรผู้เชี่ยวชาญด้านระบบน้ำ ที่ผันตัวมาเขียนนิยายออนไลน์ตามฝันในวัยเกษียณ จนนิยายเกือบได้เป็นละครมาแล้ว!?

สำหรับชื่อ ‘ไพศาล วีรกิจ’ คนในแวดวงวิศกรด้านระบบน้ำน่าจะคุ้นเคยกับชื่อนี้เป็นอย่างดี เพราะเขาเคยเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาในโครงการเกี่ยวกับระบบน้ำมากมาย ตลอดจนเป็นวิศกรหลังสงครามอิรักมาแล้ว ทว่าในช่วงวัยเกษียณที่กำลังว่างสุดๆ เขาก็ได้ผุดไอเดียเขียนนิยายสานฝันในวัยเด็กขึ้นมา และผันตัวมาเป็นนักเขียนนามปากกา ‘ติน ตะโกลา’ นั่นเอง 

ต้องบอกเลยว่านักเขียนมือใหม่คนนี้ ทุ่มเทให้กับการเขียนนิยายมากๆ ทีมงานเด็กดีเห็นเขาตั้งแต่วันแรกๆ เลยก็ว่าได้ เพราะเขาไม่เคยลงนิยายออนไลน์มาก่อน และได้ติดต่อมาขอคำแนะนำจากทีมงานเสมอ เราเห็นตั้งแต่เขาเริ่มลงนิยาย ตลอดจนเปิดขายนิยายออนไลน์เป็นครั้งแรก 

เขาเริ่มต้นเส้นทางนักเขียนด้วยการเขียนเรื่องราว ‘การผจญภัยของวิศวกรไทยในแดนมิคสัญญีที่อิรัก’ จากนั้นก็เริ่มแต่งนิยายแนวระทึกขวัญเรื่อง ‘นากพลอย’ ตามมา เพราะอยากเขียนเรื่องราวของแม่ย่านาคพระโขนงในเวอร์ชั่นช่วยเหลือคนดี และนิยายเรื่องนี้ก็ไปเข้าตาแมวมองที่กำลังหานิยายไปทำละคร!

หากยังไม่ลืมกัน เขาเพิ่งเข้าสู่วงการนักเขียนได้ไม่นาน แต่กลับได้รับโอกาสที่นักเขียนหลายคนใฝ่ฝัน จากคนที่ไม่น่าจะมาเกี่ยวข้องกับแวดวงนิยายได้ วันนี้เขาได้พิสูจน์ให้ใครหลายคนได้เห็นกันแล้วว่า การเขียนนิยายไม่มีคำว่าสายเกินไป ขอแค่เรามีไอเดีย และกล้าลงมือเขียน ความฝันบนเส้นทางนักเขียนของทุกคนก็เกิดขึ้นได้ พบปะพูดคุยวันนี้เลยอยากชวนทุกคนมาตามหาแรงบันดาลใจดีๆ จากนักเขียนมือใหม่คนนี้กัน 

ชีวิตทำงานสุดพีค ไปเป็นวิศกรที่อิรัก 
ตามรอยนิยายในแบกแดก เจอระเบิดเกือบทุกวัน!

ผมชื่อ ไพศาล วีรกิจ ครับ มาเขียนนิยายใช้ชื่อว่า “ติน ตะโกลา” คำว่า ติน มาจากชื่อเล่นของผม ส่วนคำว่า ตะโกลา เป็นชื่อเก่าของเมืองตะกั่วป่าครับ ผมเกิดและโตที่นั่น แล้วก็มาเรียนหนังสือที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และได้เข้าไปเรียนวิศวฯ จุฬาฯ ตอนนั้นเรียกวิศวกรรมสุขาภิบาล แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมไปแล้วนะครับ 

เรียนจบผมก็ทำงานเกี่ยวกับเรื่องน้ำโดยเฉพาะ เป็นสายตรงที่ผมจบมาเลย ทำงานอยู่ 5-6 ปีก็สะสมประสบการณ์มาเยอะเลยทีเดียว หลังจากนั้นก็ตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทที่อเมริกา ทางด้านวิศวกรรมโยธา เมเจอร์เกี่ยวกับระบบน้ำประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย พอจบปริญญาโทแล้วก็ได้ทำงานที่นั่นมาตลอด ถ้าว่าไปตอนนี้ก็ผ่านมา 40 กว่าปีแล้วนะ

ไปทำงานอยู่ที่นั่น ส่วนใหญ่งานที่ผมทำก็อยู่ในแวดวงของรัฐแคลิฟอร์เนีย แล้วก็อยู่ในย่านลอสแอนเจลิสที่บ้านเราเขาเรียกกัน ก็ทำงานเกี่ยวกับเรื่อง การวางท่อน้ำประปา ท่อน้ำเสีย ระบบผลิตน้ำประปา บำบัดน้ำเสีย บำบัดตะกอน แล้วเอาตะกอนมาหมักให้กลายเป็นพวกแก๊สชีวภาพ แล้วก็นำตะกอนไปใช้เป็นปุ๋ย ส่วนน้ำเสียที่บำบัดเรียบร้อยแล้ว ก็นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม 

ก็ทำงานอยู่ที่นั่นอยู่หลายปี แล้วผมก็ได้กลับมาเมืองไทยมางานศพ แล้วไปเจอเพื่อนคนหนึ่ง เขาบอกว่ามีมหาลัยเปิดใหม่แถวรังสิต เขากำลังมองหาอาจารย์อยู่ ตอนนั้นก็เลยเกิดความสนใจ คิดว่าก็ไม่เลวนะ ถ้ากลับมาเป็นอาจารย์ ก็เลยลองส่งใบสมัครไป และผมก็เลยย้ายถิ่นฐานมาอยู่เมืองไทย

ตอนนั้นผมก็เป็นหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมที่มหาวิทยาลัยรังสิตนะครับ ทำงานอยู่ที่นั่นประมาณ 5-6 ปีมั้ง ตอนนั้นลูกชายก็อยากกลับไปอเมริกา ผมก็เลยตัดสินใจกลับ แล้วก็กลับไปทำงานบริษัทเดิมได้ประมาณสักปีหนึ่งก็เกิดสงคราม  ปี 2003 ที่จอร์จ ดับเบิลยู บุชเข้าไปบุกอิรัก

รูปตอนไปทำงานเป็นวิศกรหลังสงครามอิรัก
รูปตอนไปทำงานเป็นวิศกรหลังสงครามอิรัก

พอปี 2004 เขาก็ประกาศว่าสงครามมันจบแล้วนะ แล้วก็ต้องการอาสาสมัครไปทำการฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคของอิรักที่เมืองแบกแดด ทางบริษัทก็ประกาศหาคน ผมก็คิดว่าน่าสนใจ เพราะตอนสมัยเป็นเด็กผมเคยมีความคิดว่าอยากไปเที่ยวแบกแดดนะ เมื่อก่อนเราอ่านหนังสือเรื่อง พันหนึ่งราตรี ที่มีแบกแดก มีพรมมีอะไรนั่นน่ะ ก็สนใจ ผมก็เลยตัดสินใจไปครับ 

ไปเริ่มทำงานที่นั่น การทำงานของเราก็คือ ไปสร้างระบบผลิตน้ำประปาให้ทางเมืองแบกแดกใหม่ แล้วก็ไปฟื้นฟูระบบน้ำประปาของเก่าที่เขามีอยู่แล้วซึ่งไม่ได้รับการฟื้นฟู หรือบำรุงรักษามานานแล้ว  ก็ตื่นเต้นดีนะครับ เพราะบางครั้งไปอยู่ในที่พัก บางทีมันก็มีระเบิดผ่านแคมป์มา บางทีมันมีตกที่แคมป์ แต่พวกเราก็ไม่มีอันตรายนะ  มีอยู่ครั้งหนึ่งมันตกลงไปในที่พักของวิศวกรอีกคนหนึ่ง ห่างจากผมไปประมาณสัก 50 เมตรมั้ง แต่บังเอิญโชคดีว่าคนนั้นเขาไปพักร้อน ไม่มีใครอยู่ แต่เราไปดูสภาพที่พักนี่เละเลยนะ ถ้าอยู่แล้วก็หาร่างไม่เจอว่างั้น เละหมดเลยครับ 

มันก็เป็นประสบการณ์อย่างหนึ่งนะ เป็นประสบการณ์ชีวิตอย่างหนึ่งว่าไปอยู่ในช่วงที่เขากำลังทำสงครามมันเป็นยังไง ตอนไปใหม่ๆ นี่ จะว่ากลัวก็กลัวนะครับ แต่พอไปอยู่ได้สัก 2-3 เดือน หลังๆ มันก็ปลงตก ถ้าระเบิดมันลงมาเราอยู่ในแคมป์เนี่ย มันลงมาตูม เราก็ตายโดยไม่รู้ตัวนะ แต่ก็ไม่เป็นไร (หัวเราะ) 

จริงๆ ผมเล่าข้ามไปหลายอย่างนะ ถ้าอยากรู้รายละเอียดไปอ่านในเรื่องที่ผมเขียนอยู่ในเด็กดีเรื่อง ‘การผจญภัยของวิศวกรไทยในแดนมิคสัญญี’ ได้

ฝ่าสงครามอิรัก มาเขียนนิยายสานฝันในวัยเด็ก

ช่วงนั้นระหว่างที่ทำงานครั้งหลังสุดอยู่เนี่ย งานก็ไม่ได้ยุ่งเท่าไหร่ แล้วผมก็มานั่งคิดเล่นว่า เราน่าจะหาอะไรทำตัวเองให้ยุ่งกว่านี้หน่อยนะ ก็เลยคิดว่าน่าจะเขียนนิยายดีกว่า เพราะว่าจริงๆ แล้วผมก็ชอบเขียนนิยาย พยายามเขียนนิยายมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็กนู่น สมัยมอหนึ่งมอสอง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จนะ

แล้วก็มาเขียนข้างหลังสุด ก็เป็นเรื่องการบันทึกการไปทำงานผจญภัยในอิรัก ก็เลยคิดว่าน่าจะเขียนนิยายสักอย่าง มันก็ผุดขึ้นมาเองนะว่า ทำไมไม่เขียนเกี่ยวกับเรื่องแม่ย่านาคพระโขนงนะ ทีนี้ก็มาคิดว่าถ้าเขียนเรื่องแม่ย่านาคจะเขียนยังไง เพราะว่าแม่ย่านาคนี่มีเป็นหนังเป็นละครมาตั้งกี่ 10 เรื่องแล้วก็ไม่รู้นะ แม่ย่านาคออกมาเที่ยวหลอกหลอนมาฆ่าคน ฆ่าอะไร ทำให้คนกลัว ทำไมไม่ทำอะไรให้มันแตกต่างกว่านั้น ก็ผุดขึ้นมาว่าน่าจะเขียนแนวนี้นะ ให้แม่ย่านาคมาช่วยคนดี ช่วยคนที่เดือดร้อน แล้วก็มาทำลายมาฆ่าคนชั่ว ก็เลยผุดขึ้นมา  

แล้วผมก็เขียนตามความคิดตัวเองที่อยากจะเขียนแค่นั้นเอง เราเคยรู้เคยอ่านมาก่อนนะว่า การเขียนนิยายต้องมีพล็อตยังไงบ้าง มีขั้นตอน 1 2 3 4 แต่ว่าผมไม่ได้ตาม ผมเขียนตามใจชอบผมซะมากกว่า ก็ใช้เวลาอยู่หลายเดือนเหมือนกันนะ เวลาเขียนมันก็เขียนแต่ละบทแยกกัน บางทีพอเขียนไปแล้วติดขัด ก็คิดว่าจะไปต่อยังไงดี ก็ต้องหยุดคิดอยู่ 2-3 วัน แล้วมาเขียนใหม่ พอเริ่มเขียนจริงๆ มันก็ไหลไปเรื่อยนะ  ก็คล้ายๆ สมองเปิดเลย ก็ยากที่สุดก็คือ การลงรายละเอียด เวลาเรามีพล็อตมาแล้วเนี่ย จะลงรายละเอียด ทำยังไงให้เรื่องมันน่าติดตาม ให้เรื่องมันน่าสนใจ 

ผมพิมพ์อยู่ในคอม เวลากลับเข้าไปแก้ไขมันก็ง่ายหน่อยนะครับ พออ่านสรุปอะไรเรียบร้อยแล้วว่าโอเค ใช้ได้แล้ว ก็ไปถามเพื่อนที่เป็นเจ้าของโรงพิมพ์อยู่ บอกว่าจะขอพิมพ์หนังสือเรื่องนี้หน่อยได้ไหม... 

เพื่อนบอกว่าสมัยนี้เขาไม่พิมพ์กันแล้วหนังสือ เขาอ่านออนไลน์กันทั้งนั้นน่ะ ก็เลยบอกให้ผมเข้าไปหาในเว็บไซต์สิ ผมก็เข้าไปพิมพ์หาเว็บไซต์ว่า การลงนิยายเว็บไซต์ มันก็มีชื่อของเด็กดีขึ้นมา ก็เลยติดต่อขอรายละเอียดกับเด็กดี ทีมงานบอกว่ามีให้เลือก 2 ทาง ก็คือเขียนเป็น e-book ทั้งหมดเลย อีกอันหนึ่งก็เป็นรายตอน ผมก็เลยเอามาลง ก็ลงเป็น e-book แล้วก็ลงเป็นรายตอนด้วย 

ในเรื่องของนากพลอยเนี่ย ประสบการณ์ส่วนตัวใส่ลงไปไม่ค่อยมีนะ แต่เรื่องเสียดสีสังคม สิ่งที่ผมไม่ชอบ สิ่งที่ผมเห็นว่าไม่ดี ผมก็ใส่ลงไปในนั้นนะ เขียนเป็นเสียดสีสังคม บางคนอ่านแล้วอาจจะคิดว่า มันแรงไปหน่อยหรือเปล่า มีอยู่คนที่เขาอ่านแล้วก็ให้คอมเมนต์มาบอกว่า ก็สนุกดีนะแต่ว่าบางตอนเนี่ยการเสียดสีเนี่ยอ่านแล้วรู้สึกสะอึก (หัวเราะ)

ผลงานนิยายของ ติน ตะโกลา
ผลงานนิยายของ ติน ตะโกลา

เขียนนิยายเรื่องแรก สู่ฝันการเป็นละคร!

คือจริงๆ แล้วที่เขียนนิยายขึ้นมาเนี่ย ก็มีความหวังจะสร้างรายได้ได้เหมือนกันนะ แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะตอนนี้ผมก็ผมก็มีรายได้ของผมอยู่แล้ว แต่ถ้ามันมีรายได้เสริมก็โอเค มันก็ดี แต่จุดหลักๆ ก็คือว่านิยายมีคนเข้ามาอ่านเยอะแยะ และมีโอกาสได้ไปเป็นละครเป็นซีรีย์หรือเป็นหนังเนี่ย ก็เป็นจุดประสงค์สูงสุดเลยล่ะ 

ผมว่ามันเป็นความฝันของนักเขียนทุกคนนะ ที่อยากจะให้นิยายตัวเองมีโอกาสได้เป็นหนังหรือเป็นละคร แล้วอย่างผมเนี่ย เขียนเรื่องแรกแล้วก็มีคนสนใจ(ติดต่อไปเป็นละคร) ก็รู้สึกว่าตื่นเต้นดีเหมือนกันนะ แต่ตอนนี้จะเป็นจริงหรือเปล่ายังไม่รู้เลย ก็หวังว่าอาจจะมีโอกาสนะ แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ก็เขียนไปเรื่อยๆ สนุกไปเรื่อยๆ ใช้เวลาว่างให้มันเป็นประโยชน์สำหรับตัวเอง แล้วก็ฝึกสมองตัวเองอะไรพวกนี้ไปด้วย ดีกว่าอยู่เฉยๆ ไม่ได้ใช้ ไม่ได้ทำงานอะไร   

ทำฝันให้เป็นจริงได้ แค่ลงมือเขียน

ผมว่าเรื่องอายุไม่สำคัญนะ เกี่ยวกับการที่จะมาเขียนหนังสือ เขียนนิยาย หรือเขียนอะไรต่างๆ อย่างสมมุติคุณทำงานทางด้านเกษตรกรรมมา คุณมีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องการปลูกผัก ปลูกหญ้า ปลูกผลไม้ เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง คุณก็เอามาเขียนได้ ถ้าคุณวัตถุดิบ มีใจรักที่จะเขียน เพราะผมว่าอายุไม่ใช่เรื่องสำคัญเลยที่จะมาเขียน ขอให้คุณมีความตั้งใจคุณก็จะเขียนได้ อย่างผมเป็นวิศวกร ผมไม่เคยคิดเลยว่าผมจะมาเขียนหนังสือ แต่ถ้าผมนั่งลงมา ผมก็เขียนได้ทำได้นะครับ

สมัยก่อนเราจะเขียนหนังสือสักเรื่อง คุณต้องส่งไปให้สำนักพิมพ์ให้เขาอ่านให้เขาพิจารณา ถ้าเขาชอบใจก็พิมพ์ให้ ถ้าเขาไม่ชอบใจเขาก็ไม่พิมพ์ให้ คุณก็ไม่เกิด แต่ตอนนี้เนี่ย อย่างเว็บไซต์ของเด็กดี คุณเขียนดีไม่ดียังไงคุณก็ลงได้ใช่ไหม ถ้าคุณเขียนดีก็มีคนเข้ามาอ่าน คุณเขียนไม่ดีคนก็ไม่อ่าน เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเป็นนักเขียนตอนนี้มันเปิดกว้างมาก มันง่ายมากเลยตอนนี้ 

สำคัญคือต้องมีแรงบันดาลใจก่อนนะ แล้วก็ต้องมีความตั้งใจจะเป็นนักเขียนจริงๆ อย่างที่ผมบอกถ้าคุณมีวัตถุดิบ หรือคุณมีประสบการณ์อะไรต่างๆ เนี่ย มันก็สามารถถ่ายทอดมาเป็นนิยาย หรือเป็นสารคดี หรือเป็นความรู้ เป็นเกร็ดความรู้พวกนี้ได้ เขียนได้ ทำออกมาได้นะครับ 

 เป้าหมายต่อไปของนักเขียนวัยเกษียณ

ตอนนี้ผมกำลังเขียนเรื่องเรื่องที่สาม เป็นตอนต่อมาจากเรื่องนากพลอยครับ ตอนนี้เขียนได้ประมาณ 50-60% แล้วล่ะ คิดว่าประมาณสักพฤษภาคม มิถุนายนนี้น่าจะปล่อยเรื่องใหม่ออกมาได้ครับ

ตอนนี้ผมก็เกษียณแล้วนะ แต่ผมยังเขียนได้เรื่อยๆ ตราบใดที่ยังมีกำลังทำอะไรพวกนี้นะ ผมก็ยังเขียนไปเรื่อย เพราะว่าการเขียนหนังสือเป็นการใช้ฝึกสมองอย่างหนึ่งนะ ถ้าคุณอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลย มัวแต่นั่งดูทีวีอะไรพวกนี้ ไม่ได้คิด สมองก็เสื่อม ถ้าคุณคิด คุณทำอะไรพวกนี้นะ ขีดๆ เขียนๆ ออกมา เป็นการใช้สมองเป็นการฝึกหัด ออกกำลังสมอง ก็จะทำให้โรคที่เขาเรียกอัลไซเมอร์พวกนี้มันก็ห่างไปนะครับ

เริ่มเขียนนิยาย

เรื่องราวของนักเขียนนามปากกา ‘ติน ตะโกลา’ เริ่มต้นง่ายๆ แค่มีไอเดียและลงมือทำเท่านั้น แม้ว่าเขาจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอื่น แต่ในวงการนักเขียน เขาเป็นมือใหม่แกะกล่องที่เริ่มนับหนึ่งใหม่ตั้งแต่ศูนย์เลยทีเดียว  ความพยายามและความมุมานะของเขา ตั้งแต่เริ่มลงมือเขียนนิยาย ศึกษาการลงนิยายออนไลน์ ตลอดจนมีแมวมองมาสนใจนิยายจนเกือบได้เป็นละคร  ทำให้เราอยากนำเรื่องราวและแรงบันดาลใจดีๆ เหล่านี้ มาเป็นแรงใจให้กับนักเขียนเด็กดีทุกคนที่มีฝันเหมือนกัน

ถ้าหากใครมีความคิดความฝันอยากเขียนนิยาย ลองหยิบเอาวัตถุดิบใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ชีวิต ประสบการณ์ทำงาน หรือเป็นเรื่องที่เราสนใจเป็นพิเศษ มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ  มาลองเป็นไอเดียในการเขียนนิยายของเราดูค่ะ ถ้าเริ่มจากเรื่องที่เราชอบ จะต้องเขียนออกมาได้ลื่นไหลและสนุกได้แน่นอน ขอเพียงแค่เรากล้าลงมือเขียน ความสำเร็จก็จะไม่ไกลเกินเอื้อม 

พี่แนนนี่เพน

 

อ่านนิยายของ ติน ตะโกลา

พี่แนนนี่เพน
พี่แนนนี่เพน - Columnist สาวเหนือที่มีความสุขกับการเขียนนิยาย และเชื่อว่านิยายให้อะไรดีๆ กับสังคมเสมอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น