เทคนิคการเขียนฉากให้เร้าใจสไตล์ MaSaLan
 
สวัสดีค่ะ ครั้งนี้ก็เป็นครั้งที่สามแล้วสำหรับสรุปการบรรยายของเหล่าวิทยากร จากงานคลินิกนักเขียน Workshop หลายคนรออยู่ใช่ไหมคะ กับเทคนิคการเขียนฉากให้น่าติดตาม จากนักเขียนคนดังของเว็บไซต์เด็กดี MaSaLan หรือ พี่ณัฏ ของเรา ในที่นี้พี่อรเก็บรายละเอียดแล้วนำมาสรุปให้อ่านเป็นหัวข้อๆ ไปเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ ถ้าพร้อมแล้วมาดูกันไปทีละขั้นละตอนเลยค่ะ
 
เจ้าของนามปากกา MaSaLan หรือพี่ณัฏ หนึ่งในวิทยากรคนเก่งของเวิร์กช็อปครั้งนี้
 
ฉากคืออะไร?
ฉากคือสิ่งที่นักเขียนได้หล่อหลอมวัตถุดิบทั้งหมด นำมาสลักเสลาให้กลายเป็นเรื่องราวผ่านตัวหนังสือจนสามารถมองเห็นเป็นภาพได้
 
ทำไมต้องทำให้เห็นภาพ?
ต้องเข้าใจก่อนว่านิยายมันเริ่มด้วย 'จินตนาการ' และจบด้วย 'จินตนาการ'  - - แรกเริ่มนักเขียนจินตนาการเรื่องราวแล้วเขียนบรรยายออกมา จากนั้นนักอ่านก็ต้องจินตนาการภาพตามตัวหนังสือที่นักเขียนเขียนเช่นเดียวกัน
 
แล้วนิยายต่างกับภาพยนตร์ยังไง?
ผู้กำกับภาพยนตร์จะมีหน้าที่ทำให้ผู้ชมมองเห็นเรื่องราวได้ด้วย ตา (ภาพ) หรือ หู (เสียง) แต่ นักเขียนทำให้ผู้อ่านมองเห็นเรื่องราวได้ด้วยใจ ซึ่งการจะเขียนนิยายให้เป็นภาพในใจ ในสมอง ของคนอ่านได้ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะถ้านักเขียนเขียนเบลอไม่ชัดเจนอรรถรสของเรื่องราวก็จะหายไป
 
องค์ประกอบอะไรบ้างที่ต้องมีในฉาก?
 
องค์ประกอบที่ฉากควรต้องมี

ตัวละคร (Character) – ในหนึ่งฉากจะมีตัวละครเท่าไรก็ได้ แต่เราต้องให้ความสำคัญกับการแบ่งสัดส่วนเพื่อให้เรื่องมันเดินไปอย่างเหมาะสม สมมติ ฉากสงคราม ตัวละครจะเยอะเท่าไรก็ได้ แต่ถึงตัวละครจะเยอะนักเขียนก็มีวิธีเล่นกับมัน ด้วยการเลือกใช้ตัวละคร ฉากหลังของเรื่อง และการกระทำที่สอดคล้องกัน ซึ่งถ้าสังเกตให้ดีตัวเด่นๆ ในฉากก็จะมีอยู่ไม่กี่ตัว
 
Background (BG หรือ ฉากหลังของเรื่อง) – ฉากหลังของเรื่องต้องมีความชัดเจน คือบรรยายให้เห็นภาพแต่ไม่น่ารำคาญ การเลือกบรรยายฉากใหญ่ให้เห็นในครั้งแรกจะทำให้สบายในครั้งที่สอง
 
ยกตัวอย่าง มีฉากใหญ่เป็นหอพักนักศึกษาที่ตัวละครจะเข้ามาเยอะมาก ครั้งแรกที่พระเอกเข้าไป นักเขียนอาจจะบรรยายหอพักว่ามีอะไรอยู่ตรงไหนนู่นนี่นั้น พอครั้งที่สองพระเอกเดินกลับเข้ามาในฉากก็ไม่จำเป็นต้องบรรยายซ้ำแล้ว
 
นอกจากนี้นักเขียนยังเลือกเล่นกับฉากหลังของเรื่องได้ ยกตัวอย่าง น้ำตก ก็อาจจะให้ตัวละครจุ่มเท้าลงไปในน้ำ ลงไปเล่นน้ำ ลูกเล่นของฉากจะช่วยเสริมอารมณ์ได้ดียิ่งขึ้นรวมทั้งช่วยให้ฉากดูมีมิติไม่แบนมาก
 
การกระทำ (Movement) – การกระทำของตัวละครจะช่วยสื่ออารมณ์กับเรื่องราวได้ การกระทำในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการพูดอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงภาษากายด้วย เช่น จังหวะในการเคลื่อนไหว เพราะตัวละครแต่ละตัวมีจังหวะของการเคลื่อนไหวที่ต่างกัน พวกการกระทำก็ เช่น มุกเล็กๆ นิดๆ หน่อยๆ ที่ไม่จำเป็นต้องลงละเอียด นักเขียนสามารถใส่เพิ่มเติมได้ทุกเมื่อ 
 
ปัญหาก็คือเราจะทำยังไงให้ทั้งสามอย่าง (ตัวละคร, ฉากหลังของเรื่อง และการกระทำ) ออกมากลมกล่อมที่สุด ซึ่งพี่ณัฏแนะนำว่าให้ใส่ใจในเรื่องที่ควรทำและปล่อยผ่านในเรื่องที่ไม่จำเป็น นอกจากนี้ เราจะไม่ปล่อยสิ่งใดสิ่งหนึ่งยืนเดียวดาย เพราะทั้งสามอย่างจะต้องยืนคู่กันและกลมกล่อมไปด้วยกัน พี่ณัฏแนะนำเพิ่มว่า นักเขียนอาจไปเล่นกับฉาก ให้การกระทำเด่นบ้าง ตัวละครเด่นบ้าง ที่เหลือก็ใส่ “ผงชูรส” ผงชูรสในที่นี้หมายถึงเทคนิคส่วนตัวของนักเขียน เพราะนักเขียนแต่ละคนจะมีเทคนิคส่วนตัวที่ไม่เหมือนกัน (ส่วนตัวพี่ณัฏบอกว่าชอบใส่มุกตลกค่ะ)
 
แล้วจะเอาองค์ประกอบทั้ง 3 อย่างนี้ไปใส่ที่ไหนได้บ้าง?
เราสามารถใช้ ตัวละคร ฉากหลังของเรื่อง และการกระทำ ลงไปในฉากหลักๆ เช่น ฉากรัก ฉากดราม่า ฉากสยองขวัญ และฉากแอ็คชั่น ซึ่งทั้ง 4 ฉากก็มีจังหวะไม่เหมือนกัน
 
ฉากหลักๆ ควรมีฉากอะไรบ้าง
 
ฉากรัก – จะมีตัวละครตั้งแต่สองตัวขึ้นไป จังหวะจะช้าจนเหมือนแทบหยุดเวลาไว้ได้ เน้นอารมณ์ของตัวละคร และการกระทำเป็นหลัก มีการพรรณาฉากบ้างเป็นส่วนเสริม พี่ณัฏยกตัวอย่างว่า ฉากรักไม่จำเป็นต้องตบจูบเสมอไป ฉากรักบางฉากแค่จับผมก็ฟินแล้ว เพราะฉะนั้นนักเขียนจะต้องดูจังหวะการเล่นให้ดี
 
ฉากดราม่า – จังหวะการเดินเรื่องจะช้าแต่ไม่ถึงกับหยุดนิ่งเท่าฉากรัก เน้นเรื่องอารมณ์ตัวละคร และการกระทำ ซึ่งจะมีฉากหลังของเรื่องเป็นส่วนช่วยสนับสนุน  และเนื่องจากนิยายไม่ใช่ภาพยนตร์นักเขียนจำเป็นต้องพรรณาให้ผู้อ่านอ่านแล้วเกิดภาพคล้อยตามให้ได้ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
 
ฉากสยองขวัญ – จุดเด่นของฉากนี้คือ ฉากหลังของเรื่อง (เช่น ความมืด) เน้นการบรรยายเพื่อสร้างอารมณ์มากการบทสนทนา
 
ฉากแอ็คชั่น – ฉากแอ็คชั่นเป็นฉากที่มีจังหวะเร็ว - เร็วมาก ต้องระมัดระวังในเรื่องของการเขียนเพราะง่ายต่อการสับสน คำศัพท์ก็ไม่ควรเลือกใช้คำที่มีความยุ่งยากวุ่นวาย ที่สำคัญคือไม่ควรเขียนไปคิดไป ควรต้องมีการวางแผนตั้งแต่ต้นจนจบเพื่อป้องกันไม่ให้ยืดเยื้อและจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้ด้วย
 
ส่วนนี้พี่ณัฏเสริมว่า "การใช้เทคนิคการตัดฉากหรือตัดจบตอนจะช่วยเพิ่มอารมณ์ให้กับนักอ่านในฉากแอ็คชั่น สมมติว่าลงในเว็บไซต์เด็กดี การตัดจบฉากให้คนอ่านมาคอมเมนต์ว่า 'ค้าง' มันคือความสะใจของคนเขียน อันนั้นมันอยู่ในส่วนของการลงในเว็บฯ เด็กดี แต่พอมาเป็นรูปเล่ม มันจะไม่มีผลแล้ว การตัดจบ เปิดหน้าต่อไปก็เจอแล้ว" เพราะฉะนั้นใครใช้เทคนิคนี้บ่อยๆ ก็อย่าลืมคิดถึงเรื่องนี้ด้วยนะคะ
 
ฉากเปิดเรื่อง ฉากชี้ชะตาสำหรับนักเขียน
ฉากเปิดเรื่องเป็นฉากที่สำคัญที่สุด มันเป็น First Impression หรือความประทับใจแรกพบ เป็นฉากที่แสดงถึงตัวตนของนิยาย นักอ่านบางคนไม่ได้ให้โอกาสเรามาก ซึ่งพี่ณัฏเผยเคล็ดลับส่วนตัวที่ใช้มาตลอดตอนเปิดเรื่องใหม่ไว้ดังนี้ค่ะ
1 ย่อหน้า เพื่อเรียกร้องความสนใจ - ย่อหน้าแรกคุณต้องทำให้คนสนใจ จำไว้ว่าโอกาสที่นักอ่านจะตามคุณมีไม่มาก 3 ตอนคือที่สุดแล้วจริงๆ
2 หน้า เพื่อแสดงให้เห็นนิสัยใจคอ -  เขาจะเจออะไรจากนิยายนิยายมีบุคลิกยังไง ตลก ซีเรียส โหด ความยาวสองหน้าก็ต้องรู้แล้ว กับฉากเปิดเรื่อง
3 ตอน เพื่อกำหนดจุดหมายปลายทาง - ไม่มีใครอยากเดินทางไปกับนิยายหนาๆ โดยที่ไม่รู้ว่าปลายทางคืออะไร 3 ตอนเป็นช่วงระยะเวลาที่คนอ่านให้โอกาส ดังนั้นจึงต้องบอกธีมหลักของเรื่องแล้วว่าปลายเล่มผู้อ่านน่าจะได้เจออะไร โดยไม่ลืมว่านิยายในเด็กดีมีเป็นหมื่นเรื่อง ถ้าคนอ่านเห็น 3 ตอนแล้วซ้ำกับเรื่องอื่นหรือรู้สึกว่าไม่ใช่ คนอ่านก็จะหันไปอ่านเรื่องอื่นแทน
 
เรื่องฉากเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนจริงๆ สำหรับใครที่มีปัญหาเรื่องการสร้างฉากอยู่ลองเอาเทคนิคจากพี่ณัฏไปใช้ดูนะคะ เพราะทั้งหมดที่พี่อรสรุปมาพี่ณัฏบอกว่าเป็นเคล็ดลับส่วนตัวที่ใช้มาตลอด แถมยังบอกทิ้งท้ายไว้ด้วยว่ามันได้ผล! อย่าลืมนะคะการเขียนเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน ดังนั้นฝึกเขียนให้บ่อย บวกกับอ่านหนังสือให้มาก พี่อรรออ่านนิยายสนุกๆ จากน้องๆ อยู่นะคะ แล้วอย่าลืมติดตามบทสรุปจากวิทยากรท่านสุดท้าย Season Cloud กับเรื่องราวของการใช้ภาษากายในนิยายและจังหวะการใช้คำ แล้วเจอกันอีกทีวันศุกร์ ที่ 7 สิงหาคม 2558 ค่ะ

พี่อร
^____________^

 
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก MaSaLan
 
พี่อร
พี่อร - Writer Editor คอลัมนิสต์ผู้เชื่อว่านิยายคือเพื่อนแท้ และเห็นอาหารการกินเป็นเรื่องของความสุข

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

11 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
Dumpkinz-Owl Member 5 ส.ค. 58 18:06 น. 2

ขอบคุณมากๆเลยค่ะ เย้ ชอบนิยายของพี่ณัฏมากๆ แต่บอกไม่ถูกว่าชอบตรงไหน555 คืออ่านแล้วได้อารมณ์ อินไปกับเรื่อง มุกตลกของพี่ณัฐนี่บางมุกนั่งขำค้างเลยเจง555 ชอบๆ จะเอาไปใช้หลังจากทุบไหดองเสร็จนะค้า

0
กำลังโหลด
Wivit Member 6 ส.ค. 58 19:39 น. 3

ขอบคุณสำหรับคำแนะนำครับ ส่วน-ที่ตัดจบให้คนอ่านค้างนี้เป็นความสะใจอย่างนึ่งของผู้เขียนนี้ท่าจะจริง และมันก็ค้างแบบคนอ่านจะดิ้นตายจริงๆ 5555+เย้ 

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Siriporn Pok Member 30 ก.ย. 58 08:01 น. 10

มีฉากเปิด น่าจะมีฉากจบ เรื่อง(นิยาย)ของเราคงไม่จบเเน่//อย่าลึกน้าา ต้องอ่านในวงเล็บด้วย

0
กำลังโหลด
supawee6371 Member 19 พ.ค. 60 23:09 น. 11

จริงค่ะ พอเห็นคนอ่านเม้นว่า ค้าง คือมันสะใจมาก มันทำให้รู้สึกว่าเขายังติดตามนิยายเราต่อแน่นอน เพราะมันยังมีให้ลุ้นอีก(เดี๋ยวก็ค้างอีก

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด