เบื้องหลังความโรแมนติก กับ 10 สุดยอดความลับที่คนเป็นนักเขียนไม่เคยบอกใคร!



เบื้องหลังความโรแมนติก
กับ 10 สุดยอดความลับที่คนเป็นนักเขียนไม่เคยบอกใคร!



สวัสดีชาวเด็กดีทุกคนนะคะ เมื่อพูดถึงนวนิยายแนวโรแมนติก หลายคนอาจจะนึกภาพของนวนิยายที่มีเนื้อหาเต็มไปด้วยความสุข มีพระเอก - นางเอกที่รักกันปานจะกลืนกิน หรือถ้าหากมีความขัดแย้งใดๆ เกิดขึ้น สุดท้ายแล้วนวนิยายเรื่องนั้นก็จะจบลงอย่าง Happy Ending อยู่ดี นอกจากนั้นแล้วนวนิยายแนวโรแมนติกยังแตกออกเป็นอีกหลายแนวด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น โรแมนติก - แฟนตาซี, โรแมนติก - ย้อนยุค หรือแม้แต่โรแมนติก - วิทยาศาสตร์ก็มีนะเออ
 
ซึ่งคำจำกัดความของคำว่านวนิยายโรแมนติกนั้นได้ถูกให้ความหมายโดย วอลเตอร์ สกอต นักเขียนนวนิยายชาวสกอตว่า “เป็นการเล่าเรื่องเชิงเพ้อฝัน โดยสิ่งที่น่าสนใจนั้นจะอยู่ที่เหตุการณ์ที่คนอ่านอาจคาดไม่ถึง ซึ่งจะนำมาด้วยความสนุกสนาน”

 

ภาพจาก britannica

 
โดยนักเขียนนวนิยายแนวโรแมนติกชื่อดังที่เป็นที่รู้จักกันนั้นได้แก่ เจน ออสติน นักเขียนนวนิยายชาวอังกฤษ กับผลงานอันสร้างชื่อ อย่าง Pride and Prejudice, Sense and Sensibility และ Emma โดยผลงานของเจน ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเขียนรุ่นหลังหลายต่อหลายคน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ จอร์เจ็ตตา เฮเยอร์ เจ้าของผลงานนวนิยายแนวโรแมนติก - ย้อนยุคอย่าง The Black Moth
 
และสำหรับผลงานนวนิยายแนวโรแมนติกในสมัยนี้ อย่างที่พี่ได้บอกไปข้างต้นว่า มันได้แยกออกมาหลายแนวมากๆ ซึ่งแต่ละแนวก็ได้มีฐานแฟนคลับติดตามอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยเลย  โดยหนังสือนวนิยายแนวโรแมนติกในอเมริกาสามารถทำรายได้สูงถึง 1.08 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็น 13% ของนวนิยายทั้งหมด จะเห็นได้ว่าเป็นจำนวนไม่น้อย แถมมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นในทุกๆ วัน แล้วอะไรคือเหตุผลที่ทำให้คนชอบอ่านนวนิยายแนวนี้ และอะไรเป็นเคล็ดลับที่ทำให้งานเขียนแนวนี้น่าสนใจ เดี๋ยวพี่จะพาน้องๆ ทุกคนไปขุดคุ้ย “ความลับ” ของนักเขียนนวนิยายแนวโรแมนติกกันดีกว่า ว่าอะไรคือสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความสำเร็จของพวกเขา!



 



 

1. เบื้องหลังของนามปากกา ที่เราอาจเข้าใจผิด


หลายคนอาจเข้าใจกันว่าเหตุผลที่นักเขียนคนหนึ่งมีหลายนามปากกา หรือไม่กล้าใช้ชื่อจริงของตัวเองตั้งเป็นนามปากกานั้นเป็นเพราะว่า พวกเขาต่างอายในผลงานของตัวเอง ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ แต่อีกเหตุผลหนึ่งนั้นเป็นเพราะว่า พวกเขาแค่ต้องการจัดระเบียบให้กับผลงานของตัวเองเฉยๆ คนที่เป็นนักอ่านจะได้ไม่สับสน ซึ่งส่วนใหญ่เวลาที่นักเขียนตั้งนามปากกาก็จะแยกออกเป็นแนวๆ เลย ยกตัวอย่างเช่น นามปากกานี้ใช้กับนิยายแนวนี้ นามปากกานั้นใช้กับนิยายแนวนั้น คือจะแยกออกจากกันอย่างชัดเจน ทำให้ทั้งนักอ่าน รวมถึงตัวของนักเขียนเองไม่สับสน


 

2. หลังจากหนังสือได้ถูกตีพิมพ์ออกไปแล้ว พวกเขาก็ยังไม่หยุดพัฒนาผลงานของตัวเอง


หลังจากผลงานได้ถูกตีพิมพ์ออกไป ก็ไม่ได้ทำให้คนเป็นนักเขียนหยุดนิ่งแต่อย่างใด โดยเฉพาะกับนักเขียนแนวโรแมนติกด้วยแล้ว เพราะนักอ่านมักจะคาดหวังในสิ่งที่พวกเขาต้องการเห็นในผลงานเรื่องนั้นๆ อยู่ค่อนข้างมาก เพราะงานเขียนแนวนี้เป็นงานเขียนที่ไม่ได้ยาก เมื่อเทียบกับแนวอื่นๆ อย่างเช่น แฟนตาซี  หรือประวัติศาสตร์ แต่สิ่งที่ยากสำหรับพวกเขาก็คือ การทำอย่างไรให้เนื้อหาดูแตกต่างจากเรื่องก่อนๆ ที่เคยเขียน เฮเทอร์ ซี. ลีห์ เจ้าของผลงานนวนิยายแนวโรแมนติกกว่า 30 เรื่องได้เปิดเผยว่า เธอค่อนข้างที่จะเข้าใจ และไม่รังเกียจที่จะพัฒนาฝีมือโดยอาศัยฟีดแบคจากนักอ่านเป็นสำคัญ โดยงานเขียนสามเล่มแรกของเธอนั้นมียอดขายที่ดีมาก แต่มันก็มีความเห็นของนักอ่านออกมาว่านิสัยของตัวละครนางเอกของเธอดูแดกดันเกินไป ซึ่งเธอก็รับฟังและนำมาปรับปรุง และใช้มันในการพัฒนากับผลงานเรื่องต่อๆ มาของเธออีกด้วย


 

3. เหตุผลที่ภาพของนายแบบบนปกนิยายส่วนใหญ่ไม่มีหัว!




ภาพจาก goodreads

 
อ้างอิงจากหน้าปกหนังสือนวนิยายแนวโรแมนติกทางฝั่งอเมริกา เรามักจะพบว่า ในบรรดานวนิยายที่ออกใหม่ในแต่ละเดือน นวนิยายแนวโรแมนติกจะมีแนวทางค่อนข้างเป็นของตัวเองและชัดเจน บ่อยครั้งที่เราจะเห็นหน้าปกนิยายเป็นภาพของผู้ชายในลักษณะหันหลัง, หน้าไม่ชัด หรือที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือตัดตรงส่วนหัวออกไปเลย โดยคำตอบของเรื่องนี้ได้ถูกตอบโดย เอลิซา ไนท์ นักเขียนเจ้าของผลงานชุด The Conquered Bride ซึ่งเอลิซาได้ให้คำตอบว่า ที่ต้องตัดส่วนหัวของคนออกนั้นเป็นเพราะว่า นักอ่านจะได้จินตนาการภาพของตัวละครออกมาผ่านความรู้สึกของพวกเขา มีครั้งหนึ่งที่เธอตัดสินใจใช้ส่วนใบหน้าของผู้ชายมาเป็นหน้าปก ผลปรากฏก็คือนักอ่านของเธอไม่ชอบมัน เป็นเหตุที่ทำให้หลังจากนั้นเป็นต้นมา หน้าปกนิยายของเธอจะมีแค่ส่วนของลำคอ หรือไม่ก็หน้าอกเป็นต้นไป ไม่มีแม้แต่เศษเสี้ยวของใบหน้าอะไรโผล่มาให้เห็นอีกเลย


 

4. บ่อยครั้งที่พวกเขามักจะมีตอนพิเศษออกมา


โดยเฉพาะนักเขียนทำมือ เพราะการตลาดเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับนักเขียนที่ตีพิมพ์นิยายออกมาขายเอง โดยวิธีที่พวกเขาใช้ทำการตลาดก็มีตั้งแต่การส่งข่าวสารของงานเขียนใหม่ๆ ไปให้นักอ่าน รวมถึงการจัดทำตอนพิเศษ ซึ่งจากความคิดเห็นของนักเขียนนวนิยายแนวโรแมนติกท่านหนึ่งได้ให้ความคิดเห็นว่า หนังสือเล่มแรกที่เธอเขียนนั้นเป็นเรื่องราวของนักแสดงคนหนึ่งที่ต้องมาเข้าฉากร่วมกับคนที่เขาเกลียด แต่เราจะไม่ได้เห็นมุมของคนอื่นเลยนอกจากเขา ยกตัวอย่างเช่น ในมุมของผู้หญิงคนนั้นว่าเธอรู้สึกยังไง ซึ่งนักเขียนท่านนั้นก็ได้เอามันมาใส่ในส่วนของตอนพิเศษ เพื่อให้นักอ่านที่เคยอ่านผลงานเรื่องนั้นมาก่อนได้รับรู้รายละเอียดที่มากขึ้นจากสิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นเคยอ่านกัน


 

5. นักเขียนส่วนใหญ่ต้องการให้นักอ่านกลายมาเป็นนักเขียนเช่นเดียวกันกับเขา


ในขณะที่แหล่งข้อมูลประกอบการเขียนนั้นมีมากมาย แต่จำนวนของนักเขียนนวนิยายโรแมนติกกลับมีไม่เพียงพอสำหรับความต้องการของนักอ่าน ดังนั้น คนเป็นนักเขียนแนวโรแมนติกเลยมีความต้องการทรัพยากรใหม่ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในวงการเดียวกัน โดยกลุ่ม Romance Writers of America (RWA) ได้มีการจัดการประชุมอย่างจริงจัง เกี่ยวกับการค้นหานักเขียนมาเข้าร่วมเป็นสมาชิกคนใหม่ของกลุ่ม โดยพวกเขาได้ให้ความเห็นว่า ในสังคมแห่งการอ่านทุกวันนี้ มีความต้องการที่ค่อนข้างจะหลากหลาย มันได้ทำให้สังคมการอ่านกลายเป็นสังคมขนาดใหญ่ ซึ่งเราเองก็ต้องการจะตอบสนองความต้องการของนักอ่านให้ได้ทุกคน ดังนั้นมันเลยกลายเป็นที่มาของความต้องการนักเขียนหน้าใหม่ขึ้นมา


 

6. พล็อต ‘อดีตอันลึกลับ’ ได้กลายมาเป็นสิ่งที่นักอ่านชอบกันมาก




The Princess Diaries จากเด็กมัธยมธรรมดาๆ ดันกลายมาเป็นเจ้าหญิงรัชทายาทซะงั้น?

 
น้องๆ คงจะเคยอ่านนิยายที่มีตัวนางเอก หรือพระเอกเป็นเด็กกำพร้าที่ถูกเก็บมาเลี้ยง แล้วอยู่ดีๆ พอพวกเขาโตขึ้นกลับมีคนแปลกหน้าเดินทางมาหาพวกเขา แล้วบอกกับพวกเขาว่า คุณเป็นลูกมหาเศรษฐี ต้องเดินทางไปรับมรดกด่วน! อะไรทำนองนี้กันอยู่ใช่ไหม ซึ่งต้องบอกเลยว่าสำหรับวงการงานเขียนในอเมริกา พล็อตแบบนี้เป็นที่นิยมมากเลยจ้ะ เพราะมันทำให้คนเป็นนักอ่านได้ลุ้น ได้จินตนาการกันแบบสุดๆ และเป็นที่ปฎิเสธไม่ได้เลยว่ามนุษย์เราชอบการเซอร์ไพรส์ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะดีหรือไม่ดีก็ตาม ดังนั้นมันเลยไม่แปลก ถ้าหากเราจะพบเห็นนิยายแนวนี้กันได้บ่อยตามท้องตลาด แล้วบ้านเราล่ะ น้องๆ คิดว่าพล็อตนิยายโรแมนติกแบบไหนที่เรามักจะเห็นกันบ่อยๆ และที่สำคัญเลยคือนักอ่านต้องชอบมันด้วยนะ!?


 

7. จะเขียนฉากโรแมนติกได้ จำเป็นต้องเคยมีประสบการณ์โรแมนติกมาก่อนหรือเปล่า?


ในทางกลับกัน ถ้า J.K. Rowling เขียนเรื่องพ่อมด แม่มดได้ งั้นแสดงว่าเธอต้องเป็นแม่มดล่ะสิ? คำตอบมันชัดเจนอยู่แล้วว่า ‘ไม่จำเป็น’ เพราะต่อให้เราไม่เคยเจอเหตุการณ์นั้นมาก่อนในชีวิต แต่เราก็สามารถเรียนรู้มันได้จากการอ่านหนังสือ, ดูหนัง, ฟังเพลง หรือแม้แต่เรื่องของคนอื่นที่เราเคยได้ยินมา ก็สามารถเสริมสร้างประสบการณ์ในการเขียนนิยายได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นน้องๆ นักเขียนหน้าใหม่ไม่ต้องกังวลไปว่าจะเขียนไม่ได้ ขอเพียงแค่เราอ่านเยอะๆ รู้เยอะๆ เล่าเรื่องเก่ง แค่นั้นมันก็เพียงพอต่อการที่จะเป็นนักเขียนแล้วล่ะ


 

8. เรียนรู้จากนักเขียนคนโปรด


พี่เชื่อว่าน้องๆ ทุกคนมีนักเขียนในดวงใจกันอยู่แล้วแหละ ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นนักเขียนที่ดังหรือไม่ดังก็ตามแต่ แต่พี่จะบอกว่าเราสามารถพัฒนาการเขียนจากนักเขียนคนนั้นได้นะ ยกตัวอย่างเช่น มีนักเขียนอยู่คนหนึ่ง เขาปลาบปลื้ม ราเชล กิบสัน เป็นอย่างมาก โดยเขาได้เรียนรู้ และฝึกฝนทักษะการเขียนแนวตลกมาจากการอ่านงานของราเชล เพราะผลงานของราเชลนั้นไม่ว่าเขาจะเปิดไปอ่านหน้าไหน มันก็สามารถทำให้เขายิ้มและหัวเราะได้ทั้งนั้น ดังนั้นเมื่อเขาศึกษางานของราเชลเรื่อยมา มันก็ทำให้เขาซึมซับ และเรียนรู้จังหวะของการนำเสนอ, ตัวละคร รวมถึงเทคนิคการเล่าเรื่องอีกด้วย


 

9. สร้างสรรค์ตัวละครออกมาให้ดี เพราะนักอ่านจะนำตัวละครเหล่านั้นมาเป็นต้นแบบในการใช้ชีวิต


นอกจากจุดประสงค์เพื่อความบันเทิงแล้ว นักอ่านยังคาดหวังประโยชน์ในด้านอื่นๆ จากนักเขียนอีก และถึงแม้ว่านวนิยายโรแมนติกบางเรื่องจะมีเนื้อหาค่อนไปในทางของความเพ้อฝัน แต่พวกเขาเหล่านั้นก็ยังต้องการที่จะอ่านมัน ด้วยจุดประสงค์ที่ว่า อยากจะหลบหนีจากชีวิตประจำวันอันน่าเบื่อ ไปหาประสบการณ์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจและทำให้พวกเขามีความสุข นักอ่านบางคนอาจตกหลุมรักตัวละครในนวนิยาย แต่ถ้าหากเรามองในชีวิตจริงมันค่อนข้างเป็นอะไรที่ฟังดูน่ากลัว เพราะถ้าคนที่เราตกหลุมรักในนวนิยายนั้นเป็นคนไม่ดี มันอาจจะทำให้ชีวิตจริงของเราเกิดความอันตรายขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นคนเป็นนักเขียนจะต้องทำการบ้านอย่างหนักในการสร้างสรรค์ตัวละคร เพราะสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้นไม่ต่างอะไรจากการสั่งสอน ถ้าเราต้องการใส่ตัวละครที่ไม่ดีเข้าไปในนิยายจริงๆ เราก็ต้องทำให้นักอ่านรับรู้ และเข้าใจให้ได้ว่าตัวละครตัวนั้นเป็นคนไม่ดีจริงๆ หรือถ้าเป็นโรแมนติกเพ้อฝันแสนหวาน เราก็ต้องทำให้นักอ่านแยกแยะให้ได้ว่าชีวิตจริงเราอาจจะไม่ได้เจอกับเหตุการณ์อย่างในเรื่อง ฟังดูเหมือนจะมีรายละเอียดเยอะอยู่ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีประโยชน์กับทั้งนักอ่านและนักเขียนทั้งนั้นเลย


 

10. กฏข้อสำคัญที่คนเป็นนักเขียนไม่ควรแหก


เชื่อว่าน้องๆ ทุกคนคงจะพอรู้กันอยู่บ้างแล้วแหละว่าการเขียนนั้นมันเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเทคนิคและความสามารถเฉพาะตัว นวนิยายโรแมนติกเองก็เช่นกัน โดยองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของนวนิยายแนวนี้ก็คือ ‘แก่นของเรื่อง’ ที่คนเป็นนักเขียนต้องการจะสื่อสาร และจะทำให้นักอ่านสัมผัสได้ถึงสิ่งที่เราต้องการสื่ออยู่ เพราะถ้าเรารักษาแก่นของเรื่องเอาไว้ได้ ต่อให้เรื่องราวนั้นจะจบลงอย่างไร นักอ่านก็ยังคงประทับใจ และรักในนวนิยายของเรา แต่ถ้าเราทำให้นักอ่านหาแก่นของเรื่องที่ต้องการจะสื่อสารไม่ได้ นวนิยายเรื่องนั้นจะกลายเป็นนวนิยายที่ด้อยคุณค่าขึ้นมาทันที เพราะนักอ่านก็แค่อ่านมัน แต่พวกเขาจะไม่สามารถรับรู้ถึงสิ่งที่เราต้องการนำเสนอได้เลย


 


 
 
และทั้งหมดนี้ก็คือความลับทั้ง 10 ข้อที่คนเป็นนักเขียนไม่เคยบอกใคร แต่น้องๆ ก็ได้รับทราบกันไปเรียบร้อยแล้วถึงวิธีการนำเสนอนิยาย, การหาแรงบันดาลใจ รวมถึงความต้องการลึกๆ ของคนที่เป็นนักเขียน ซึ่งข้อมูลที่ได้นำมาก็เป็นความรู้สึกส่วนหนึ่งของคนที่เป็นนักเขียน ซึ่งอาจจะตรง หรืออาจจะไม่ตรงกับความคิดเห็นภายในใจของน้องๆ กันก็ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็อาศัยการรับฟังและนำมาพิจารณา ส่วนจะทำตามไหม มันก็ขึ้นอยู่กับตัวของน้องล้วนๆ ยังไงพี่ก็หวังว่าทุกคนคงจะได้รับความรู้ดีๆ จากบทความนี้กันถ้วนหน้า ไว้เรามาพบกันใหม่ในบทความตอนหน้า สำหรับวันนี้พี่ต้องไปแล้ว บ๊ายบายจ้า

 
พี่นัทตี้ :)


ขอบคุณแหล่งที่มา
http://mentalfloss.com
https://en.wikipedia.org/wiki/Romance_novel 
https://en.wikipedia.org/wiki/Jane_Austen
https://www.cosmopolitan.com/entertainment/books/
https://www.thecreativepenn.com


 
พี่นัทตี้
พี่นัทตี้ - Columnist บุคคลผู้เสพติดการดูหนังแนวสยองขวัญ ที่มีความฝันอยากจะเป็นนักเขียน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด