5 จุดเด่นของนิยายแนว YA ที่นักเขียนจำเป็นต้องรู้ถ้าอยากเขียนให้ปัง!

5 จุดเด่นของนิยายแนว YA
ที่นักเขียนจำเป็นต้องรู้ถ้าอยากเขียนให้ปัง!


Who Am I? ฉันเป็นใคร? คือคำถามที่เป็นเอกลักษณ์อันสำคัญของนิยายแนว Young Adult หรือที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่านิยายแนว YA นั่นเอง ในเด็กดีพี่น้องเคยเขียนเรื่อง "YA Literature วรรณกรรมสำหรับเด็กก็ไม่ใช่ ผู้ใหญ่ก็ไม่เชิง" ซึ่งเป็นบทความเกี่ยวกับความเป็นมาของนิยายแนว YA ว่าเป็นนิยายที่เชื่อมช่องว่างระหว่างวัยเด็กกับวัยผู้ใหญ่ เพื่อให้เด็กที่ยังไม่เป็นวัยรุ่นได้เห็นสังคมหรือโลกความเป็นจริงที่ต้องเจอในอนาคตมากขึ้นผ่านการอ่าน เช่นนิยายเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็เป็นนิยายแนว YA ที่ค่อยๆ สอนให้เด็กเห็นปัญหาในสังคมอย่างค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป.. 

พี่แนนนี่เพนเชื่อว่าตอนนี้นักเขียนหลายๆ คนเริ่มเขียนนิยายแนว YA กันเยอะขึ้นแล้ว เพราะพี่คิดว่านักเขียนก็คงคิดเหมือนๆ กันว่านิยายที่เราเขียนนั้นนอกจากจะช่วยสะท้อนสังคมแล้ว ตัวนักเขียนเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยนำสังคมได้เช่นกัน ในบทความนี้พี่จึงอยากเสนอมุมมองและเคล็ดลับในการเขียนนิยายแนว YA ให้เป็นเอกลักษณ์มากขึ้น เพราะนักเขียนอาจจะยังจับจุดไม่ถูกว่าควรเขียนไปในทิศทางไหนถึงจะเรียกว่านิยายแนว YA ได้อย่างเต็มภาคภูมิ ดังนั้น เรามาดู 5 จุดเด่นของนิยายแนวนี้กันเลยค่ะ 

5 จุดเด่นที่จะทำให้นิยายแนว YA เป็นเอกลักษณ์มากขึ้น 

จุดเด่นที่ 1 ตัวละครต้องมีความซับซ้อน

นิยายแนว YA คือนิยายที่ตัวละครส่วนใหญ่รู้ปัญหาของตัวเอง รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร และจะดำเนินชีวิตไปในทิศทางไหน แต่ก่อนจะถึงจุดที่ตัวละครตัดสินใจได้นั้น พวกเขาก็ผ่านทางเลือกมามากมายเหมือนกัน และแต่ละทางเลือกนั้นก็มีทั้งทางเลือกที่ตัวละครพอใจและไม่พอใจอยู่ด้วย หากเราจะเขียนนิยายแนวนี้ เราต้องเข้าใจก่อนว่านี่คือนิยายที่เตรียมความพร้อมให้เด็กที่กำลังจะโตเป็นผู้ใหญ่ ความสับสนและความไม่รู้จึงควรมีอยู่ในตัวละครเหล่านี้ เพราะความรู้สึกของตัวละครวัยรุ่นคือความซับซ้อน สับสน และเปลี่ยนแปลงได้ง่าย เราจึงควรเขียนแนะนำทางเลือกให้วัยรุ่นด้วยความระมัดระวัง เพราะท้ายที่สุดแล้วความซับซ้อนในตัวละครต้องได้รับการคลี่คลาย ปัญหาต่างๆ ต้องไม่ทำให้การเติบโตสะดุดล้ม หรือพังไปก่อนจะได้เห็นตอนจบที่ทำให้คนอ่านได้ฉุกคิด 

จุดเด่นที่ 2 ตัวละครต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับว่าเขาเป็นใคร

การต้องยอมรับว่าตัวเองเป็นใคร เป็นความท้าทายที่มีอยู่ในนิยายแนว YA แทบทุกเรื่อง ตัวละครในนิยายของเราจำเป็นต้องต่อสู้และเผชิญกับความสับสนที่น่าหงุดหงิดใจ ช่วงเวลาที่กำลังยอมรับว่าตัวเองเป็นใครก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ตัวละครต้องการให้คนอื่นยอมรับเขาเช่นกัน ในฐานะนักเขียนเราต้องมองก่อนว่าในสังคมมีปัญหาอะไรบ้าง เช่น วัยรุ่นไม่แน่ใจในเพศของตัวเอง พวกเขารู้สึกกดดันจากความคาดหวัง กลัวการถูกปฏิเสธ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าลึกๆ แล้ววัยรุ่นยังกังวลในสิ่งที่ตัวเองเป็น และพวกเขาต้องการให้คนในสังคมยอมรับในสิ่งที่พวกเขาเป็นนั่นเอง 

ในแง่ของการเขียน เราจำเป็นต้องสร้างสถานการณ์ความอึดอัด หรือลำบากใจในการตัดสินใจให้ตัวละคร และสถานการณ์นั้นควรเป็นสิ่งที่วัยรุ่นส่วนใหญ่เคยเจอ เช่น การเปิดใจรับเพื่อนใหม่ ความสัมพันธ์ของคนที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ หรือแม้แต่การได้รับความช่วยเหลือจากคนอื่น ทุกสถานการณ์เหล่านี้ล้วนนำมาซึ่งการตัดสินใจ สะท้อนให้คนอ่านเห็นได้ว่าการตัดสินใจผิดพลาดเป็นอย่างไร และสร้างความมั่นใจให้คนอ่านได้ว่ายังมีทางเลือกอื่นๆ อีกมากมายรอให้ตัดสินใจอยู่เสมอ 

จุดเด่นที่ 3 ตัวละครต้องอยู่ในภาวะวิกฤติ

ในนิยายแนว YA หลายๆ เรื่องมักจะทำให้ตัวละครเกิดความเปลี่ยนแปลงผ่านสถานการณ์วิกฤติ และตัวละครมักถูกคนอื่นบีบคั้นให้เป็นในแบบที่พวกเขาต้องการ เช่น ตัวละครแคตนิส เอฟเวอร์ดีน จาก The Hunger Game เธอต้องกลายเป็นตัวแทนของหมู่บ้าน และถูกคนอื่นสร้างภาพให้เป็นในแบบที่สังคมต้องการ ซึ่งการกระทำเหล่านี้ทำให้เธอรู้สึกอึดอัด และบางอย่างขัดแย้งกับความคิดของเธอ ความสับสนที่เริ่มเกิดขึ้นนี้เป็นการกระตุ้นให้เธอตัดสินใจว่าเธอจะเป็นตัวของตัวเอง หรือจะยอมเป็นคนในแบบที่เธอไม่ต้องการ 

จากตัวอย่างทำให้นักอ่านได้เห็นความสับสนและความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เคล็ดลับที่นักเขียนสามารถนำไปใช้ได้คือการตั้งคำถามให้คนอ่านสงสัยและสับสนไปพร้อมๆ กัน เช่น "เราเป็นคนดีหรือยัง" "ทำไมเราถึงเป็นในแบบที่เราอยากเป็นไม่ได้" คำถามเหล่านี้จะทำให้คนอ่านรู้สึกได้ว่าชีวิตในวันข้างหน้ายังมีเรื่องให้ต้องตัดสินใจอีกมาก และพวกเขาอาจจะต้องกลายเป็นคนอื่นในสักวันหนึ่ง เป็นการกระตุ้นให้คนอ่านได้คิดและเห็นตัวของพวกเขาเองได้ง่ายที่สุด 

จุดเด่นที่ 4 ตัวละครต้องเก็บซ่อนตัวตนที่แท้จริง

ในส่วนนี้ ตัวละครจะต้องเรียนรู้และปรับตัวด้วยการปกปิดหรือซ่อนตัวตนส่วนหนึ่งที่สังคมไม่ยอมรับเอาไว้ เรียกง่ายๆ ว่าตัวละครต้องสวมหน้ากากเป็นตัวเองครึ่งหนึ่งและอีกครึ่งต้องปรับให้เข้ากับสังคมที่พวกเขาอยู่ เช่น ตัวละครบีทริซ จาก Divergent เธอมีตัวตนเป็นไดเวอร์เจนท์ที่สังคมไม่ต้องการ คล้ายๆ เป็นเด็กพิเศษนั่นแหละค่ะ เธอต้องปกปิดความสามารถนี้ไว้เพื่อป้องกันตนเองและครอบครัวด้วยการเลือกไปอยู่กลุ่มผู้กล้า เป็นต้น จากนั้นชีวิตของตัวละครก็มีเส้นเรื่องที่เล่าถึงความลำบากและความยุ่งยากมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อให้การดำเนินเรื่องสนุก น่าติดตาม และส่วนที่สองเพื่อให้คนอ่านได้เห็นความเปลี่ยนแปลงและการตัดสินใจของตัวละครมากขึ้น นักเขียนอาจจับประเด็นเรื่องความลับของวัยรุ่นก็ได้ เราทุกคนต่างมีความลับเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่อยากบอกใคร เป็นการเขียนที่เข้าถึงคนอ่านได้ใกล้ที่สุด 

จุดเด่นที่ 5 ตัวละครต้องมีความแปลกประหลาด

หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่านิยายแนว YA ส่วนใหญ่มักจะเป็นเรื่องราวแฟนตาซีล้ำโลก หรือเป็นเรื่องของจินตนาการที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่เพื่อสร้างเอกลักษณ์อันโดดเด่นขึ้นมา เช่น ตัวละครเป็นครึ่งสัตว์ครึ่งมนุษย์ ที่คนในสังคมหวาดกลัว ตัวละครจึงต้องปิดบังตัวตนของพวกเขาเอาไว้ หรือจะเป็นตัวละครที่เงียบๆ เก็บตัว ออกห่างจากสังคม, ตัวละครที่มีความพิการ เป็นต้น ความแปลกประหลาดเหล่านี้คือจุดเด่นท่ามกลางความปกติทั้งหมด เคล็ดลับที่แนะนำสำหรับนักเขียนคือ เราต้องสร้างความไม่ปกติท่ามกลางสังคมปกติให้ได้ เพราะในสังคมจริงๆ นั้น ทุกคนต่างเก็บซ่อนตัวตนเอาไว้แล้ว การเขียนให้เกิดความผิดปกติขึ้นก็เพื่อให้ทุกคนได้มองเห็นเรื่องที่คิดว่าเป็นปัญหาเล็กๆ กลายเป็นปัญหาใหญ่ในภายหลังได้นั่นเอง  

จากจุดเด่นทั้ง 5 ข้อนี้ เราไม่จำเป็นต้องใช้ครบทุกข้อในเรื่องเดียวกันนะคะ เราสามารถจับคู่จุดเด่นเหล่านี้สลับข้อไปมาได้ตามพล็อตของเราเลย เพราะนิยายแนว YA เป็นนิยายที่เน้นการเปลี่ยนแปลงของตัวละคร การใช้จุดเด่นเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ในนิยาย ก็เพื่อให้ตัวละครมีความน่าสนใจและโดดเด่นมากขึ้น รวมถึงคนอ่านจะรู้สึกได้ว่าตัวละครของเรามีมิติและเผลอเอาใจช่วยให้ตัวละครผ่านพ้นเรื่องราวต่างๆ ไปได้แน่นอน หากใครยังไม่มีแนวทางในการเขียนที่ชัดเจนก็ลองนำจุดเด่นเหล่านี้ไปปรับใช้ดูนะคะ  
 
พี่แนนนี่เพน
 
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://jonostenson.com/yalitkw/essays/identity/
https://www.thetoptens.com/best-characters-young-adult-fiction/ 
https://diymfa.com/writing/identity-theme-ya-literature 
https://unsplash.com/

Deep Sound แสดงความรู้สึก
พี่แนนนี่เพน
พี่แนนนี่เพน - Columnist สาวเหนือที่มีความสุขกับการเขียนนิยาย และเชื่อว่านิยายให้อะไรดีๆ กับสังคมเสมอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

Member 18 ม.ค. 62 16:40 น. 1

เรื่องที่เราหลงรักส่วนใหญ่จะมีจุดเด่นข้อ 2 ชัดมากๆ

เวลาเจอหนังสือที่ทำให้เราเชื่อในพัฒนาการของตัวละคร ก็แอบทึ่งในฝีมือคนเขียนเบาๆ รู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่เขียนยากเเละต้องทำการบ้านเยอะ


เป็นบทความที่มีประโยชน์มากค่ะ ขอบคุณมากค่ะ >/\<

0
กำลังโหลด
ปีศาจหัวโต Member 18 ม.ค. 62 17:05 น. 2

คนจะอินแนว YA ส่วนมากเพราะเอาใจช่วยตัวละครผ่านพ้นอุปสรรคนี่แหละเนอะ

ขอบคุณสำหรับบทความฮะ ดีมากเลย :)

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด