รู้จัก 'Political Stress Syndrome' โรคเครียดเมื่ออินการเมืองมากเกินไป! (เรากำลังเป็นรึเปล่า?)

       สวัสดีครับน้องๆ ชาว Dek-D ถ้าพูดถึงเรื่องที่มาแรงที่สุดในตอนนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องการเมืองในประเทศ ถึงแม้จะเลือกตั้งไปแล้วแต่สถานการณ์ก็ยังทวีคูณความดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ เชื่อว่าหลายคนที่ได้ตามข่าวก็ลุ้นกันจนหืดขึ้นคอ หลายคนพอยิ่งตามมากๆ ก็ยิ่งรู้สึกเครียดตามไปด้วย และถ้าปล่อยตัวเองให้ตึงเครียดตามสภาวะการเมืองแบบนี้มันคงไม่ดีแน่ เพราะว่าน้องๆ อาจจะตกอยู่ในอาการ ‘Political Stress Syndrome’ ก็เป็นได้! 

 

Cr. Unsplash
 
        เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่เราจะเกิดอาการเครียดจากเรื่องต่างๆ รอบตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงนี้ที่สภาพการเมืองตึงเครียดกันแบบไม่เว้นวัน หากจะบอกว่าเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับเราก็คงไม่ได้ ที่ผ่านมาเราอาจจะเสพข่าวในด้านลบของนักการเมือง ทั้งการทุจริตคอร์รัปชัน หรือการแบ่งแยกพรรคพวกจนเกิดความขัดแย้งทางการเมือง พอเสพมากเข้าภาพการเมืองในหัวของใครหลายคนก็ติดลบไปแล้ว ซึ่งจะว่าไปหากมองตามความจริง การเมืองนั้นไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเลย มันเป็นเรื่องธรรมชาติของการที่คนมาอยู่รวมกันซึ่งบางทีอาจจะมีมุมมองที่ต่างกันไปบ้าง หากความแตกต่างนั้นล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันที่จะทำให้ประเทศดีขึ้น แต่ก็อย่างว่าแหละ มันก็ไม่ใช่กับทุกคนที่เข้ามามีบทบาทและจะคิดแบบนี้ 
 

Cr. Unsplash
 
        ในเมื่อคนที่เข้ามามีบทบาทไม่สามารถทำให้เราไว้วางใจได้ แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาก็คือการตั้งคำถามจากประชาชนอย่างเราผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด และเมื่อเราจะพยายามหาจุดสิ้นสุดของความขัดแย้งไม่ได้ ความตึงเครียดก็ยิ่งทวีคูณความรุนแรงมากขึ้น ข่าวที่นำเสนอเลยมีแต่เรื่องเครียดๆ ตามไปด้วย ทำให้คนที่อินกับการเมืองมากๆ มีสิทธิ์ตกอยู่ใน ‘ภาวะเครียดทางการเมือง’ หรือที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า ‘Political Stress Syndrome’ ก็เป็นได้ ซึ่งความอินที่มากเกินนี้ไม่ได้ส่งผลเสียแค่กับตัวเราเอง แต่มันยังส่งผลกระทบความสัมพันธ์กับคนรอบข้างอีกด้วย
 
        การที่เราติดตามข่าวการเมืองมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ก็อย่างที่บอกไปว่าหากเราปล่อยให้ตัวเองหมกมุ่นหรือปล่อยให้ในแต่ละวันดำเนินชีวิตโดยมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องทุกอย่าง เราเองก็อาจพลอยเครียดตามไปด้วย และไม่ใช่ความเครียดที่เข้ามาทักทายแค่เพียงเท่านั้น เพราะบางทีเราอาจจะมีความวิตกกังวลอย่างหนักต่อสถานการณ์บ้านเมืองตามมาอีก หรือที่เรียกว่า ‘Anticipatory Anxiety’ บางคนอาจจะกังวลว่ามันจะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงซ้ำรอยเดิมเหมือนในอดีตอีกครั้ง หรือกับบางคนที่อินการเมืองมากๆ แค่บางทีมีข่าวที่ไม่ดีผ่านหน้าไทม์ไลน์ ก็เกิดอาการวิตกกังวลนำไปก่อน โดยไม่เช็กก่อนว่าข่าวเหล่านั้นเป็นจริงหรือไม่ มันจะเป็นการใส่สีตีไข่หรือสาดโคลนหรือเปล่าก็ยังไม่แน่ใจ แต่ก็วิตกนำไปแล้ว จากนั้นก็นำมาซึ่งอารมณ์ฉุนเฉียวมากมาย และเผลอปล่อยพลังลบใส่คนรอบข้างที่เค้าไม่ได้อินด้วย
 

Cr. Unsplash
 
        โรคเครียดจากการเมืองนั้นเรียกว่าพบได้ในประชากรของประเทศที่มีสถานการณ์การเมืองที่ตึงเครียด โดยเฉพาะในช่วงเลือกตั้งใหญ่ของประเทศเหล่านั้น ยกตัวอย่างปีก่อนในสหรัฐอเมริกาที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ผลสำรวจของผู้ที่ตกอยู่ในความเครียดนี้มีมากกว่าร้อยละ 57 เลยทีเดียว (ว่าแล้วก็อยากลองสำรวจกับคนไทยในช่วงนี้บ้างเนอะ น่าจะมีเปอร์เซ็นต์ที่สูงเหมือนกัน) และสำหรับโรค Political Stress Syndrome นั้น ทางกรมสุขภาพจิต ได้สรุปกลุ่มคนที่มีโอกาสตกอยู่ในภาวะนี้ ดังต่อไปนี้ 
 
1. กลุ่มนักการเมือง
2. กลุ่มสนับสนุนทั้ง 2 ฝ่าย
3. กลุ่มผู้ติดตาม
4. กลุ่มผู้สนใจข่าวสารการเมือง 
5. กลุ่มผู้มีปัญหาสุขภาพจิต
 
         และนอกจากกลุ่มข้างต้นที่ได้ยกตัวอย่างไป โรคเครียดจากการเมืองยังสามารถเกิดขึ้นกับผู้ที่เคยประสบเหตุการณ์ความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมืองในอดีตได้อีกด้วย จากบทความงานวิจัยเรื่อง Mental Health Problems Among People Affected by Encountered with the Thailand 2010 Political Chaos หรือ "ปัญหาสุขภาพจิตของผู้ประสบเหตุการณ์ ความไม่สงบ จากความขัดแย้งทางการเมือง ในประเทศไทย พ.ศ. 2553" โดย ดร.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ และคณะ ได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ประสบเหตุฯ ความรุนแรงในการเมืองไทยเมื่อปี 2553 พบว่าร้อยละ 75.7 ของกลุ่มตัวอย่างมีปัญหาสุขภาพจิตตามมา มีทั้งคนที่ตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ร้อยละ 11.67, ติดสุรา ร้อยละ 10.46, มีภาวะวิตกกังวล ร้อยละ 0.8, มีอาการอาการเครียดหลังจากเหตุการณ์สะเทือนใจ ร้อยละ 0.6 และภาวะซึมเศร้า ร้อยละ 0.6 ตามลำดับ
 

Cr. Unsplash
 
        สำหรับลักษณะอาการของคนที่ประสบกับความเครียดจากการเมือง ก็อาจจะคล้ายๆ กับคนที่มีความเครียดทั่วไป กรมสุขภาพจิตได้แบ่งลักษณะกลุ่มอาการดังต่อไปนี้  
 
1. อาการทางกาย
- ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ เมื่อยล้าอย่างบอกไม่ถูก หรืออาจรู้สึกชาตามร่างกาย
- มีอาการนอนไม่หลับ หลับไม่เต็มอิ่ม หรือหลับๆ ตื่นๆ และไม่สามารถข่มตาให้หลับต่อ เพราะไม่สามารถสลัดเรื่องการเมืองออกจากหัวได้
- หัวใจเต้นเร็วทั้งที่อยู่ในสภาพปกติ 
- รู้สึกอึดอัดในช่องท้อง หายใจไม่สะดวก 
 
2. อาการทางใจ
- วิตกกังวล มีเรื่องให้ครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา
- หงุดหงิดง่าย โกรธ ฉุนเฉียว เกรี้ยวกราด ก้าวร้าว พร้อมบวกตลอดเวลา
- รู้สึกเบื่อหน่าย ท้อแท้ใจ รู้สึกสิ้นหวังกับชีวิต อยากพาตัวเองออกไปจากจุดนี้ 
- พอหมกมุ่นกับการเมืองมากไปอาจทำให้ฟุ้งซ่าน ขาดสมาธิในการทำงาน
 
3. ปัญหาพฤติกรรมและสัมพันธภาพกับผู้อื่น
- เมื่อความคิดเห็นทางการเมืองไม่ตรงกัน บางคนอาจมีการโต้เถียงขัดแย้งกับผู้คนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือคนในครอบครัวก็อาจกลายเป็นสนามอารมณ์ อาจเถียงกันไปมาจนไม่สามารถยับยั้งตนเองได้ 
- ไม่ใช่แค่เพียงใช้คำพูดในการตอบโต้ แต่บางคนอาจอัปเกรดความเกรี้ยวกราดและใช้กำลังในการตอบโต้เพื่อเอาชนะอีกด้วย
- แม้ว่าจะมีความสัมพันธ์อันดีกันมานานแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าความคิดเห็นทางการเมืองต่างกัน ความสัมพันธ์ที่ผ่านมาก็อาจไร้ความหมาย บางคนพยายามเอาชนะกันทางความคิดอย่างจริงจังเกินไป เป็นเหตุให้ทะเลาะและมองหน้ากันไม่ติด  
 

Cr. Pixabay

 
        อย่างที่บอกไปว่าการเมืองมันเป็นเรื่องของเราทุกคน ในช่วงที่มีการเลือกตั้งแบบนี้เราอาจเลี่ยงข่าวการเมืองไม่ได้ จะเลื่อนฟีดปัดไทม์ไลน์ไปทางไหนก็เจอแต่ข่าวการเมืองเต็มไปหมดทั้งจากสำนักข่าวโดยตรงหรือรวมไปถึงสเตตัสแสดงความคิดเห็นของคนรอบข้างที่จัดเต็มในทุกๆ วัน พอเสพไปมากๆ ก็พลอยทำให้เราปวดหัวตามไปด้วย
 
         หากน้องๆ คนไหนที่กำลังพบว่าตอนนี้รู้สึกว่ามันเครียดเกินไปแล้ว ก็ลองพยายามหันเหความสนใจไปเรื่องอื่นบ้าง มีกิจกรรมมากมายที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดได้ ไม่ว่าจะออกกำลังกาย อ่านหนังสือหาแรงบันดาลใจ หรือทำอะไรก็ได้ที่ทำให้เราไม่ต้องไปหมกมุ่นกับข่าวการเมืองมากเกินไป (ส่วนพี่ช่วงนี้อ่านนิยายเด็กดี และหาเพลงเพราะๆ ฟังรัวๆ เลยครับ 5555) สุขภาพจิตของเราจะได้ดี ไม่ไปเกรี้ยวกราดใส่คนรอบข้างเนอะ อากาศก็ร้อนอยู่แล้ว อย่าปล่อยให้ใจเราร้อนตามไปเลยนะครับ /จิบชาเย็น   
 
Source:
กรมสุขภาพจิต
Mental Health Problems Among People Affected by Encountered with the Thailand 2010 Political Chaos
https://www.bustle.com/p/11-signs-youre-too-stressed-out-by-politics-the-strategies-you-can-use-to-help-8036750
https://www.verywellmind.com/anticipatory-anxiety-and-panic-disorder-2584252
พี่วุฒิ
พี่วุฒิ - Columnist มนุษย์ 4 มิติผู้หลงใหลในเพลงเกาหลี ชาเนสที และหมูกระทะ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด