ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน นักเขียนเทพนิยายที่หมกมุ่นกับเรื่องเท้า!


ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน :
นักเขียนเทพนิยายที่หมกมุ่นกับเรื่องเท้า! 

 
ถ้าหากใครเคยได้ยินชื่อของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน ก็น่าจะจำได้ว่านักเขียนคนนี้เป็นนักเขียนเทพนิยายที่โด่งดังมากๆ เทพนิยายที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาคงไม่พ้น “เงือกน้อย” นอกจากเรื่องนี้ก็มีอีกหลายเรื่องในสต็อก และส่วนใหญ่จะเป็นเทพนิยายแนวดาร์กๆ ที่อ่านแล้วรู้สึกเจ็บปวด ซึมเศร้า เสียใจ 
 
นักวิจารณ์หลายๆ คนสังเกตว่า เทพนิยายของแอนเดอร์สันมักมีพล็อตดราม่า พูดถึงความดีความชั่ว และที่น่าสนใจมากๆ คือ เจ้าตัวมักจะยกเรื่อง “เท้า” มาพูดถึงเสมอ 
 
โดยเฉพาะเท้าของผู้หญิง, เด็กหญิงตัวเล็กๆ ที่มีฐานะยากจนหรือลำบาก ทั้งที่เนื้อเรื่องเองก็ไม่ได้เชื่อมโยงหรือมีนัยที่เกี่ยวข้องอะไรกับรองเท้าเลยแม้แต่น้อย   
 
สาวน้อยรองเท้าแดง ตอนจบโดนตัดเท้า
 
ถ้าพูดถึงนิยายที่เกี่ยวกับเท้า เรื่องแรกที่ทุกคนนึกถึงคงไม่พ้น “สาวน้อยรองเท้าแดง” หรือ “The Red Shoes” เนื้อหาเกี่ยวกับเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่หมกมุ่นอยู่กับรองเท้าสีแดง อยากได้รองเท้าสีแดง แต่สุดท้ายเมื่อได้มาใส่ เธอกลับต้องเต้นรำจนเหน็ดเหนื่อยและต้องตัดเท้าทิ้งไปในที่สุด อีกเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงความหมกมุ่นเกี่ยวกับเท้าก็คือ “เงือกน้อย” นี่แหละ ที่เมื่อเจ้าตัวอยากขึ้นมาอยู่บนพื้นดิน อยากเดินได้ แล้วไปขอแลกหางกับขา... และแม่มดทะเลบอกว่า ข้อแลกเปลี่ยนคือ เวลาที่เหยียบเท้าย่างเดิน เงือกน้อยจะต้องเจ็บปวดเหมือนโดนแก้วแหลมแทงเท้าตลอดเวลา และสุดท้าย เงือกน้อยก็ต้องตายเพราะไม่สามารถเปลี่ยนให้เจ้าชายมารักตัวเองได้ นอกจากนี้ ยังมีเทพนิยายที่เราไม่ค่อยได้ยินอย่างเช่น “เด็กผู้หญิงที่เหยียบขนมปัง” หรือ “The Little Girl Who Trod on a Loaf” เนื้อหาคือเด็กผู้หญิงคนหนึ่งพยายามทำทุกวิถีทางไม่ให้รองเท้าเปื้อนโคลน ก็เลยโยนขนมปังแสนอร่อยที่แม่ทำให้ไว้กินเป็นข้าวกลางวันลงในโคลน แล้วเหยียบข้ามมันไป สุดท้าย เด็กหญิงก็ถูกลงโทษ เพราะแม่ของเธอนั้นมีฐานะยากจนมาก และต้องลำบากยากเย็นกว่าจะได้เงินมาซื้อวัตถุดิบทำขนมปัง (สำหรับเรื่องนี้ ก็น่ากังวลเพราะเมื่อแม่ไม่มีเงินซื้อขนมปัง แต่ทำไมมาหมกมุ่นกับการซื้อรองเท้าสวยๆ ให้ลูก และสอนให้ลูกเป็นคนหวงรองเท้ามากกว่าของกินได้...?) และสุดท้าย เทพนิยายเรื่องที่เศร้าที่สุด “สาวน้อยขายไม้ขีดไฟ” ที่เด็กหญิงตัวเล็กๆ ทำรองเท้าหาย เท้าเล็กๆ ของเธอเลยต้องเย็นจากการเหยียบย่ำบนน้ำแข็ง และตอนจบของเรื่อง เธอก็หนาวตาย!!! 
 
โปรดสังเกตว่า... เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ทั้งสี่คนที่มีชีวิตหมกมุ่นอยู่กับเรื่องเท้าและรองเท้านี้ จุดจบของพวกเธอลงเอยที่ความตายทั้งหมด! ดูเหมือนจะมีคนเดียวที่รอดชีวิต ก็คือหนูน้อยเกอร์ด้าจากเรื่องราชินีหิมะ ที่ทำรองเท้าบู้ตหาย และเท้าเย็นจนเจ็บจากการย่ำลงบนหิมะ แต่ก็สามารถเอาตัวรอดมาได้ ทว่าสิ่งที่น่าสนใจคือ... ทำไมแอนเดอร์สันถึงสนใจเรื่องการใส่รองเท้า และการรักษาเท้าให้อุ่นตลอดเวลานักนะ...? และทำไมเมื่อราชินีตัวร้ายในเรื่องซินเดอเรลล่าโดนลงโทษ ถึงต้องเป็นการยัดเหล็กร้อนๆ ใส่ลงในรองเท้า แล้วให้เต้นรำไปเรื่อยๆ จนตาย... ทำไมเขาถึงได้ให้ความสนใจกับเท้าขนาดนี้...?  ไม่รวมเรื่องช่างทำรองเท้ากับภูติจิ๋ว ที่ภูติจิ๋วออกมาช่วยทำรองเท้าแสนสวยเพื่อให้ช่างทำรองเท้านำไปขายและทำให้พวกเขาร่ำรวยด้วย... 
 
สาวน้อยขายไม้ขีดไฟที่เสียคุณยายไป ตอนจบเธอตายไปพบคุณยายบนสวรรค์
 
เมื่อดูประวัติชีวิตแล้ว เราพบว่าแอนเดอร์สันเป็นลูกชายของช่างทำรองเท้า และนี่คงเป็นคำอธิบายที่ชัดเจนที่สุดว่าทำไมเขาถึงได้ให้ความสนใจกับเรื่องรองเท้านัก แอนเดอร์สันเติบโตมาในช่วงที่โรงงานทำรองเท้ากำลังเฟื่องฟู เป็นช่วงเวลาที่ผู้คนในสังคมคนรวยมักมาตัดรองเท้าใหม่ๆ เพื่อไปงานต่างๆ และคงเพราะเหตุผลนี้เอง เทพนิยายของเขาจึงมีการพูดถึงรองเท้าเหมือนมันเป็นสิ่งสำคัญ เป็นเรื่องยิ่งใหญ่ เป็นเรื่องที่มีค่า  
 
และแอนเดอร์สันเอง ก็ยังใกล้ชิดกับความยากจนด้วย เขาจึงได้เขียนถึงมันเหมือนเป็นเรื่องน่ากลัว หลายหนที่เทพนิยายของเขามีเรื่องของชนชั้นสูงที่อยู่ในตำแหน่งของการช่วยเหลือ เช่นที่สาวน้อยรองเท้าแดงของเรา ได้รับการอุปถัมภ์จากคุณแม่ผู้ร่ำรวย และรองเท้าแดงเหมือนเป็นสัญลักษณ์ความร่ำรวยที่สาวน้อยโหยหามาตลอดทั้งชีวิต หรือแม้แต่ในสาวน้อยขายไม้ขีดไฟ เธอก็นำไม้ขีดไฟไปเร่ขายให้คนรวย เพื่อเอาเงินมาซื้ออาหารกิน การไปขายไม้ขีดไฟดูเป็นอาชีพที่ยากลำบาก ถ้าเปรียบกับของไทยอาจไม่แตกต่างจากเด็กขายพวงมาลัย หลายครั้งที่คนมีฐานะสูงกว่าอุดหนุนสินค้า ไม่ใช่เพราะชอบมัน แต่เพราะเป็นการช่วยเหลือคนยากจน มันก็ไม่แตกต่างจากสาวน้อยกำลังร้องขอความช่วยเหลือจากคนที่มีฐานะดีกว่า ตอนจบของสาวน้อยขายไม้ขีดไฟ เธอตายและได้ไปอยู่กับคุณยาย ดูเหมือนเป็นตอนจบแบบแฮปปี้ แต่เราก็ไม่รู้จริงๆ ว่า เมื่อตายไปแล้ว สาวน้อยขายไม้ขีดไฟจะมีชีวิตที่มีความสุขจริงหรือไม่ และตลอดทั้งเรื่อง สัญลักษณ์ของความยากจนก็คือ รองเท้าที่หายไป ทำให้เธอต้องเดินอย่างยากลำบากบนพื้นหิมะที่หนาวเย็น ราวกับจะนำเสนอให้เรารู้สึกว่า ถ้าใช้ชีวิตอดอยากแบบนี้ ตายไปอาจจะดีกว่า
 
เวลาย่างเท้า เงือกน้อยเจ็บเท้าเหมือนเหยียบลงบนแก้ว 
 
นักวิจารณ์หลายๆ คนสัมผัสได้ว่า... บางทีสิ่งที่แอนเดอร์สันต้องการสื่อผ่านเทพนิยาย อาจเป็นความหมายที่ว่า คนรวยอย่างเราควรช่วยคนจนบ้าง คนที่ยากจนจนไม่มีรองเท้าใส่ และต้องหนาวตายอยู่ข้างถนน บางทีการที่เราแอบสังเกตความลำบากเล็กๆ น้อยๆ นี้ ก็อาจจะทำให้เราช่วยเหลือคนอื่นได้ นักเขียนนั้นเป็นส่วนสำคัญของสังคม บางทีเมื่อเขาหยิบเอาประเด็นเล็กๆ น้อยๆ มาจุดประกายและทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกอยากช่วยเหลือผู้อื่น ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีมากๆ เหมือนกัน 
 
บางทีแอนเดอร์สันอาจไม่ได้อยากจะลงโทษเด็กสาวทั้งหลายที่ไม่มีรองเท้าใส่ แต่เขาอาจจะอยากหาโชคชะตาชีวิตใหม่ๆ ให้กับพวกเธอ อย่างสาวน้อยรองเท้าแดงและเด็กผู้หญิงที่เหยียบขนมปัง พวกเธอไม่อาจรักษารองเท้าสวยๆ ไว้ได้ แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากคนที่ร่ำรวยกว่า เพียงแต่สิ่งที่แอนเดอร์สันจะนำเสนอ อาจเป็นเรื่องของการไม่รู้จักบุญคุณ ไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ ทำให้สุดท้ายชีวิตของพวกเธอต้องเจอกับเรื่องร้ายๆ ส่วนสาวน้อยขายไม้ขีดไฟ ไม่มีใครช่วยเหลือเธอเลย เธอยากลำบาก และอ่อนล้า แต่สุดท้ายแล้ว เธอก็ได้รับการดูแลจิตวิญญาณจากเทพธิดา แต่นั่นหมายความว่าเธอต้องตาย... 
 
ในขณะที่คนในยุคก่อนใช้รองเท้ามาเป็นสัญลักษณ์ของความยากจน สำหรับคนรุ่นใหม่คงมีมุมมองเกี่ยวกับความยากจนที่แตกต่างออกไป อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญก็คือเรื่องของชนชั้นที่แตกต่าง ดูเหมือนแอนเดอร์สันจะใกล้ชิดทั้งชนชั้นบน (ในฐานะนักเขียนที่โด่งดัง) และชนชั้นล่าง (ในฐานะลูกชายช่างทำรองเท้า) ก็เลยทำให้เขาเลือกหยิบรองเท้ามาเป็นสัญลักษณ์ของศีลธรรม และการช่วยเหลือผู้อื่น นอกจากนี้ เรายังเห็นเขาพูดถึงรองเท้าในเรื่องอื่นๆ เช่น ซินเดอเรลล่าเองก็ใช้รองเท้าเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านทางสังคม คงเพราะความเป็นลูกชายร้านขายรองเท้า ทำให้เขาสนใจรองเท้านัก และเชื่อว่ารองเท้าคือศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่าง 
 
บางที การที่เราหยิบเอาสิ่งใกล้ตัว สิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน สิ่งที่เรามองว่าเป็นเรื่องสำคัญมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราว ก็ทำให้เนื้อหาในเรื่องมีเสน่ห์และน่าอ่าน เหมือนที่แอนเดอร์สันใกล้ชิดกับคนที่เข้ามาในร้านรองเท้า และรู้เรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังชีวิตของผู้คนเหล่านั้น ก็ทำให้เขาเกิดไอเดียและตัดสินใจนำเอารองเท้ามาเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งต่างๆ ซึ่งเมื่อเราได้อ่าน ก็รู้สึกประทับใจและชื่นชอบ และนั่นแหละค่ะ จุดเริ่มต้นที่ดีของการเป็นนักเขียน หยิบเอาสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รอบตัวที่เราคุ้นเคยและรู้จักเป็นอย่างดีมาเขียน จะเต็มไปด้วยอารมณ์และความรู้สึกที่จะสื่อไปถึงนักอ่านได้นั่นเอง 
  
ทีมงานนักเขียนเด็กดี
 
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
https://www.tor.com/2019/01/31/hans-christian-andersens-somewhat-disturbing-obsession-with-feet/?fbclid=IwAR3fl4XK8a9XhDm_Amw0Pag74azETFmg7SyPM2Ds_9rB6SAFAYcG4M77ey0 
https://www.tor.com/2015/12/03/pain-humanity-and-ascension-hans-christian-andersens-the-little-mermaid/ 
https://en.wikipedia.org/wiki/Hans_Christian_Andersen 
https://mentalfloss.com/article/579239/hans-christian-andersen-facts 
 
ทีมงาน writer

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น