รู้จักที่มาของ "ม.โตเกียว" จากสถาบันแปลหนังสือยุคเอโดะ สู่มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศ!

               สวัสดีค่าชาว Dek-D อย่างที่หลายๆ คนรู้กันดีว่าประเทศญี่ปุ่นนั้นพัฒนาได้แบบก้าวกระโดดตั้งแต่สมัยหลังสงคราม จนกลายมาเป็นประเทศแนวหน้าในด้านเทคโนโลยี ซึ่งส่วนนึงนั้นเป็นผลมาจากการที่ญี่ปุ่นแปลตำราต่างชาติทุกชนิด และหอแปลตำราที่ว่านั้นก็พัฒนามาเป็นมหาวิทยาลัยชื่อดังของประเทศอย่าง University of Tokyo นั่นเองค่ะ เรียกได้ว่าประวัติความเป็นมาน่าสนใจมากๆ เพราะฉะนั้นวันนี้พี่เยลลี่จะพาน้องๆ ไปรู้จักกับมหาวิทยาลัยนี้กันให้มากขึ้น ไปดูกันเลยดีกว่าค่ะ!

 

Photo Credit:   https://th.wikipedia.org/
 
               University of Tokyo หรือที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อ “โทได” (มาจากตัวหน้าของคำว่า Tokyo Daigaku หรือมหาวิทยาลัยโตเกียว) ได้รับการยอมรับว่าเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศญี่ปุ่น และเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีชื่อเสียงระดับโลกด้วยเช่นกัน ที่นี่เปิดสอนทั้งหมด 10 คณะ มีบัณฑิตวิทยาลัยอีก 15 แห่ง และสถาบันวิจัยหลายด้าน เรียกได้ว่าครอบคลุมแทบทุกสาขาวิชาเลยค่ะ ทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติเองก็แข่งขันกันเพื่อเข้าเรียนต่อที่นี่ในอัตราที่สูงมากก นอกจากนี้ที่นี่ยังมีวิทยาเขตถึง 5 แห่ง ที่ย่านฮงโง, โคะมะบะ, คะชิวะ, ชิโระคะเนะ และนะกะโนะด้วย 
 

จักรพรรดินีมาซาโกะ  จักรพรรดินีองค์ปัจจุบันของญี่ปุ่น
Photo Credit:   https://th.m.wikipedia.org/

 
              สำหรับศิษย์เก่าของที่นี่ก็ดังและปังไม่แพ้กันค่ะ มหาวิทยาลัยโตเกียวผลิตบัณฑิตคุณภาพมากมาย มีศิษย์เก่าที่เคยได้เป็นนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นถึง 6 คน มีทั้งนักวิทยาศาสตร์ สถาปนิกชื่อดัง นักเขียนรางวัลโนเบล  หรือแม้แต่สมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะ ซึ่งเป็นจักรพรรดินีของญี่ปุ่นปัจจุบันก็จบจากที่นี่ค่ะ นอกจากนี้ยังมีคนไทยหลายคนเลยที่เรียนจบจากโทได ซึ่งแต่ละคนก็กลับมาเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยหรือดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในองค์กรประเทศไทยทั้งสิ้น
 

Photo Credit:   https://www.ndl.go.jp/
 
              และอย่างที่พี่ได้เกริ่นไปในตอนแรกว่ามหาวิทยาลัยโตเกียวมีประวัติความเป็นมายาวนานและน่าสนใจมาก สามารถย้อนไปได้ถึงสมัยเอโดะที่ยังมีโชกุนปกครองอยู่ด้วยซ้ำค่ะ ในช่วงนั้นที่ญี่ปุ่นมี  Astronomy Agency เป็นองค์กรที่ศึกษาความรู้ในเรื่องของดาราศาสตร์และจัดทำปฏิทินเป็นหลัก แต่ในขณะเดียวกันก็มีการศึกษาและวิจัยความรู้ทางฝั่งตะวันตกด้วย ด้วยเหตุนี้จึงมีการจัดตั้ง Western Books Translation Agency หรือหน่วยแปลขึ้นภายในองค์กร 
 
ป้ายชี้สถานที่ตั้งในอดีตของ Institute for the Study of Barbarian Books
Photo Credit:   https://en.wikipedia.org/
 
              จนมาถึงในช่วงท้ายยุคเอโดะ คนเริ่มให้ความสำคัญกับความรู้ตะวันตกมากขึ้น ดังนั้นงานแปลและวิจัยจึงเริ่มเป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว เพื่อตอบโจทย์ความต้องการนี้จึงได้มีการพัฒนาหน่วย Western Books Translation Agency มาเป็น Institute for the Study of Barbarian Books โดยโฟกัสในด้านการศึกษาและวิจัยของตะวันตกโดยเฉพาะ หนังสือที่แปลหลักๆ ก็จะเป็นหนังสือภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมันค่ะ 
 

ห้องสมุดของมหาวิทยาลัยในปี 1900
Photo Credit:   https://www.u-tokyo.ac.jp/

 
              หลังจากนั้นก็มีการปฏิรูปสถาบันอีกหลายๆ ครั้ง และท้ายที่สุดก็พัฒนามาเป็น Tokyo Kaisei School ซึ่งในยุคเมจิ (เทียบเท่ากับสมัยร.5 ของประเทศไทย) Tokyo Kaisei School ได้รวมตัวกับ Tokyo Medical School และกลายมาเป็นมหาวิทยาลัยโตเกียวนั่นเองค่ะ แรกเริ่มนั้นมีทั้งหมด 4 คณะด้วยกัน ได้แก่นิติศาสตร์ อักษรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และแพทยศาสตร์ โดยหนังสือที่เคยแปลมาทั้งหมดก็ตกทอดมาจนถึงมหาวิทยาลัย ที่น่าสนใจคือมีการแปลหนังสือของไทย 1 เล่ม เรื่องการวางระบบล้อเลื่อนแบบใหม่ เขียนโดยหลวงวิฑูรวิธีกลในสมัยร.5 ปัจจุบันหนังสือนี้อยู่ที่มหาวิทยาลัยโตเกียวค่ะ

 
              ประวัติความเป็นมาของมหาวิทยาลัยน่าสนใจมากกก ส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นพัฒนาอย่างก้าวกระโดดก็คือการแปลความรู้และวิทยาการจากภาษาต่างประเทศมาเป็นภาษาญี่ปุ่น ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความรู้ได้ง่ายขึ้นนี่แหละค่ะ ยิ่งปัจจุบันที่สถาบันแปลกลายมาเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศยิ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นสถาบันที่มีความสำคัญมากจริงๆ 


 
Sources:
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B9%82%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A7
https://www.u-tokyo.ac.jp/en/whyutokyo/dp_001.html
https://www.u-tokyo.ac.jp/en/about/history.html

 
พี่เยลลี่
พี่เยลลี่ - Columnist อักษรศาสตร์ เอกมโน โทติ่ง หิวชานมตลอดเวลาและเป็นทาสลูกน้องแมว

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น