10 คำถามกับเด็ก ‘Harvard Law School' : รีวิวกว่าจะสอบติด, วิธีเรียน, สภาพแวดล้อม ฯลฯ




 
            สวัสดีค่ะชาว Dek-D ใครที่ฝันอยากเรียนต่อกฎหมายในต่างประเทศ หรืออยากอ่านเรื่องราวสนุกๆ ของคนไทยในมหาวิทยาลัยระดับท็อปของโลกอย่าง Harvard ห้ามพลาดนะคะ เพราะเรามีโอกาสได้ถาม 10 คำถามกับ 'พี่บิ๊ก' พงศ์ณัฐ ธนบุญชัย คนไทยที่เพิ่งเรียนจบหลักสูตร  LL.M. ของ  Harvard Law School (HLS) มาดูกันเขาสมัครเรียนวิธีไหน? การเรียนต่างจากการเรียนกฎหมายที่ไทยมั้ย?    ที่สำคัญคือที่นี่มีสภาพแวดล้อมที่ซัพพอร์ตการเรียนยังไงบ้าง? เลื่อนลงไปเริ่มที่ข้อแรกกันเลยค่ะ!
 

Photo Credit: Harvard Law School
 


 

1

ทำไมอยากเรียนกฎหมาย?
 

            “พี่เรียนจบจากคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (รุ่น 54) จบแล้วมาทำงานที่สำนักงานที่ปรึกษาเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ (Baker & McKenzie) โดยปีแรกอยู่แผนกว่าความในศาล ต่อมาก็ย้ายไป Banking & Finance อีก 2 ปีครึ่ง ก่อนจะมาต่อ ป.โท หลักสูตร LL.M. (Master of Laws) ที่ Harvard Law School (HLS) ครับ"

            “นอกจากรู้ตัวว่าชอบศึกษาด้านกฎหมายอยู่แล้ว ด้วยความที่งานพี่ต้องประสานงานกับ Law firm ต่างชาติเยอะ เลยมีโอกาสได้ทำความเข้าใจกฎหมายของเขาดู พอได้ลองพิจารณาก็เห็นความแตกต่างระหว่างกฎหมายบ้านเรากับของต่างประเทศ ถ้าของเขาจะดูเป็นภาพรวม เวลาปรับใช้จะเป็น flow ชัดเจน แต่ของไทยเหมือนแยกส่วนกัน ทำให้พี่ยิ่งอยากให้เรียนกฎหมายที่ต่างประเทศ เพื่อจะได้มาปรับปรุงกฎหมายบ้านเราครับ"



 

2

ทำไมต้องอเมริกา?
 

            “พี่มองจุดเด่นตรงที่เราจะได้เรียนกับคนที่มี background หลากหลายครับ   อธิบายก่อนว่าที่อเมริกาไม่มี ป.ตรีกฎหมาย มีแต่ ป.โท แบ่งเป็น 2 โปรแกรมคือ  หลักสูตร Juris Doctor (J.D.)   อันนี้คือคนที่มีปริญญาตรีสาขาอื่นที่ไม่ใช่กฎหมายมาเรียน กับอีกโปรแกรมคือ LL.M. อันนี้กำหนดว่าต้องมีปริญญาตรีกฎหมายมาก่อน ซึ่งพี่เลือก LL.M. แต่เวลาเรียนคือจะเรียนปนทั้ง  2 โปรแกรม เท่ากับได้เจอทั้งสายตรงกฎหมายและคนที่จบตรีสาขาอื่น"



 

3

สมัครวิธีไหน?
 

            “การสมัครเรียน HLS ต่างจากที่อื่น เราใช้การสมัครตรงเลย ทุกอย่างจะต้องส่งไปที่ Harvard ในขณะที่มหา'ลัยอื่นเขาจะมีรบบ LSAC ที่เป็นศูนย์รวมพวกเอกสารแล้วจะกระจายไปแต่ละมหา'ลัยทีหลัง"      (ลิงก์รายละเอียด LL.M. Admission)
 
  • ใบสมัครของเขายาวมากก 555 น่าจะเป็น  20 หน้าเลย (จำไม่ได้เป๊ะๆ) แบ่งกว้างๆ 3 พาร์ตคือ ประวัติส่วนตัว, ประวัติการทำงาน, คำถามว่าเราอยากเรียนวิชาอะไร? พร้อมบอกเหตุผล เราต้องไปเปิดเว็บมหา’ลัยดูรายวิชาทั้งหมด ซึ่งมี 500+ คอร์ส เราก็ดึงคอร์สที่สนใจและสอดคล้องกับประสบการณ์และ SoP ของเราด้วย
  • TOEFL ขั้นต่ำ 100 แต่คนที่นี่มักจะเกาะอยู่ที่ 110+
  • Recommendation Letter เขากำหนดขั้นต่ำ 2 คนแต่ไม่เกิน 5 คน พี่ยื่นไปทั้งหมด 4 คน ต้องเป็นคนที่ impact และรู้จักเราดีจริงๆ นอกจากตัวจดหมาย Harvard จะมีฟอร์มให้เซ็นและเขียนว่าเขารู้จักเราได้ยังไง
  • SoP ที่อื่นจะให้เขียนว่าทำไมอยากเรียน? ทำอะไรมาก่อน? แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือเรียงความวิชาการ (Academic Essay) ถามว่าจากเหตุการณ์ที่พบเจอมาในอดีต คิดว่าโลกเรายังมีปัญหากฎหมายอะไร? แล้วเราจะเสนอข้อแก้ไขปัญหากฎหมายนั้นยังไงบ้าง?
  • Academic Essay เขาถามว่า “เราคิดว่าโลกเรายังมีปัญหากฎหมายอะไร แล้วจะนำเสนอเพื่อแก้ไขปัญหานี้ยังไงบ้าง” พี่รีเสิร์ชหนักมากกเกี่ยวกับหลายประเทศ ยกตัวอย่างนึงแล้วเขียนเป็น proposal เป็นภาษาอังกฤษรวมกัน 1,500 คำ ความยากคือเรามีเรื่องในหัวเยอะ เลยต้องมีศิลปะในการเขียนออกมาให้กระชับ ตัดไงให้พอดีและเข้าใจชัดเจน

            “ตอนนั้นประเด็นใหญ่จะมีเรื่องสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เราพยายามเขียนเรื่องพวกนี้แต่ไม่มีแพสชัน ถึงรู้ปัญหาและวิธีแก้ก็เขียนไม่ออกอยู่ดี  สุดท้ายตัดสินใจย้อนนึกถึงเรื่องที่ตัวเองเจอแล้วรู้สึกมันไม่แฟร์เลย จากนั้นไปค้นกฎหมายของหลายประเทศ ทั้งไซปรัส บราซิล โปรตุเกรส เยอรมัน ญี่ปุ่น อเมริกา ฯลฯ แล้วมาตกผลึกว่าเราควรจัดการปัญหานี้ยังไงบ้าง”

(ข้อมูลค่าเรียน)
https://hls.harvard.edu/dept/graduate-program/llm-tuition-and-financial-aid/

 
คำแนะนำ
 
  • ยิ่งเตรียมตัวเร็วยิ่งได้เปรียบ
  • ตอนเขียนใบสมัครไม่ต้องเน้นยิ่งใหญ่ เอาใกล้ตัวนี่แหละ ให้คนอ่านรู้สึกว่านั่นคือตัวเราจริงๆ
  • มีทุน Fulbright, ทุนบริษัท และทุนของมหา’ลัยเอง (มีทั้งให้ทุนและให้กู้เลย) ถ้าใครติดเรื่องเงิน ให้กรอกตอนสมัครบนเว็บไปเลยว่าอยากได้ทุน   *ซึ่งไม่ส่งผลกระทบกับการพิจารณารับเข้าเรียน




Photo by  Benjamin Rascoe   on  Unsplash
 

4

คิดว่าอะไรคือจุดเด่นของ HLS
 

            “ฮาร์วาร์ดเป็น leader ในแต่ละ field แล้วชูโรงเรื่องมีสื่อการเรียนรู้เยอะที่สุดในโลกด้วยครับ สภาพแวดล้อมและวิธีเรียนที่เน้น discuss จะเหมือนเป็นไฟต์บังคับให้นักเรียนต้องค้นคว้าตลอดเวลา พี่เรียนที่นี่คือต้องเข้าห้องสมุดทุกวัน ซึ่ง Law มีห้องสมุดของตัวเองแยกออกมา แถมยังใหญ่ที่สุดในบรรดาห้องสมุดทั้งหมดของฮาร์วาร์ดด้วย // ตอนไปเจอครั้งแรกก็ตกใจนะ อลังการมาก 555 แต่ชีวิตเด็ก HLS ไม่ได้ถึงกับต้องอ่านหมดนั่น ปกติก็อ่านเฉพาะเรื่องที่ตัวเองสนใจหรือกำลังหาข้อมูลนั่นแหละครับ”


Photo Credit:  https://hls.harvard.edu/library/


Photo Credit: https://www.annaivey.com


 

5

บรรยากาศในห้องเป็นแบบไหน?
 

            “หลักสูตร LL.M. เป็นหลักสูตร 1 ปี ทุกคลาสจะมี discuss เพราะนั่นคือวิธีสอนของเขา และอาจผสมกับ class exam กับ paper แล้วแต่วิชาครับ เราจะได้ reading assignment ไปอ่านเพื่อเตรียมมาคุยในคลาส คะแนนจะขึ้นอยู่กับว่าเราเป็นประโยชน์กับคลาสมากแค่ไหน สัปดาห์แรกๆ เราไม่ค่อยยกมือ แล้วก็พยายามยกมือบ่อยขึ้น เพราะคิดว่าเราอุตส่าห์มาถึงที่นี่แล้ว จะปล่อยโอกาสนี้ผ่านไปไม่ได้ จากนั้นก็รู้สึก joy กับคลาสเรียนไปเลย (ถามว่าเครียดมั้ย? หนีไม่พ้นหรอก แต่แต่เรียนแบบ work hard, play harder ปาร์ตี้ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์)”
 
            “ตอนเรียนนิติ มธ.ว่าอ่านเยอะแล้ว ตอนอเมริกาคือหนักกว่านั้นหลายเท่า บางวีคอ่าน 300-400 หน้า บางทีเตรียมอ่านไป 100 หน้าเพื่อที่จะไปเรียนในคลาสแค่ชั่วโมงครึ่ง เราชอบที่คลาสมี dynamic ทุกคนกระตือรือร้นอยากเรียนรู้ ยกมือฟึ่บฟั่บ ไม่มีคนอายที่จะแสดงความคิดเห็น ที่สำคัญคืออาจารย์จะคาดหวังให้เราถาม ไม่งั้นเขาจะเป็นฝ่ายชี้แล้วถามเราแทน”
 
            “แต่เมื่อไหร่ที่อ่านไม่ทัน ข้อดีคือเราสามารถขอความช่วยเหลือจาก expert ด้านการเรียนให้เขาเทรนเรื่องการอ่านได้ เช่น อ่านประโยคแรกของย่อหน้าให้เข้าใจสาระสำคัญ แล้วค่อยไล่ลงมา skim ข้อความถัดมา จริงๆ มันเป็นข้อดีที่ภาษาอังกฤษ โครงสร้างจะชัดเจน ประโยคแรกของย่อหน้า = main idea แล้วต่อมาก็ขยาย // แต่ถ้าภาษาไทยอาจเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอ่านทุกคำ”






 

6

มีวิชาประมาณไหนบ้าง?
 

            วิชาที่ฮาร์วาร์ดหลากหลายมากครับ มี 500+ คอร์สให้เลือกลง โดยลงได้เทอมนึงไม่เกิน 28 หน่วยกิต อยากลงไรเอาเลย เช่น วิชากฎหมายแพ่ง, กฎหมายอาญา, กฎหมายสัญญา, เทคโนโลยีกับกฎหมาย, FinTech, Criminal Justice (พาไปดูคุกอเมริกา) การเรียนที่นี่อาจมีข้อแตกต่างจากไทยตรงที่ เขาไม่ได้คาดหวังให้เราต้องเก็บทุกประเด็น แต่เน้นให้เข้าใจคอนเซปต์แล้วไปปรับใช้ในมุมมองของเราเพื่อขยายต่อ ถ้าเกิดที่ไทยก็เช่น A ยิง B -> A ผิดฐานอะไร? แต่ตอนเรียนอเมริกาเจอคำถามยาว 2 หน้าก็มี ทำให้ทั้งยากและสนุกกว่า ซึ่งต้องบอกว่าระบบการเรียนถูกออกแบบมาให้สอดคล้องกับระบบกฎหมายของประเทศนั้นๆ ด้วย”
 
            “ยกตัวอย่างวิชาพีคๆ หน่อยๆ ก็คลาสเจรจาต่อรอง (Negotiation) เหมือนเวิร์กช็อปจำลองสถานการณ์ว่าเรากำลังเจรจากับลูกความ มีจ้างนักแสดงข้างนอกมาเป็นลูกความด้วย ร้องห่มร้องไห้ โวยวายกันในห้องสมุดเลย สมจริงมากกก 5555”


ส่วนหนึ่งจากรายชื่อคอร์สทั้งหมดที่เลือกเรียนได้
Cr.  https://hls.harvard.edu/academics/curriculum/catalog/

 
ดูวิชาทั้งหมดได้ที่นี่:
https://hls.harvard.edu/dept/academics/curriculum/
https://hls.harvard.edu/academics/curriculum/catalog/index.html
https://helios.law.harvard.edu/CourseCatalogs/hls-course-catalog-2020-2021.pdf

 

7

วิชาไหนที่อยากให้นักเรียนทั่วโลกได้เรียน?
 

            วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญเลยครับ เพราะเขาเน้นเรื่องคุณค่า สอนให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญตีความได้หลายมุมขึ้นอยู่กับว่าคนที่พิจารณาเขาให้ค่ากับเรื่องไหน ยกตัวอย่างบริบทไทยคือ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ถ้าฝ่าย Conservative ก็จะมองว่าทำงานหาเงินก็ต้องจ่ายเอง อย่าเอาภาษีส่วนกลางมาใช้ แต่ฝ่าย Liberal จะมองว่านั่นคือหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องสนับสนุนงบส่วนนี้ให้” 
 
            “นั่นหมายความว่าเรามองปัญหาเดียวกันจากมุมที่ต่างกัน คนสามารถถกเถียงได้ตลอดเวลา และเปลี่ยนแปลงได้ตลอดด้วย มันเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์ และทำให้รู้ว่าการตีความ 1 ทาง อาจกระทบไปทั้งยวง ทั้งรัฐ หน่วยงาน และประชาชน // ตอนเรียนวิชานี้คือเราจะได้ถกหรือโต้วาทีจากข่าว เช่น ศาลตัดสินถูกมั้ย ใช้หลักอะไร ทรัมป์ออกวีซ่านี้ถูกกฎหมายมั้ย สามารถทำได้รึเปล่า ยกพวกประเด็นร่วมสมัยมาวิเคราะห์กันตามหลักกฎหมาย”



 

8

ภาษาคือปัญหาใหญ่รึเปล่า?
 

            “ตอนเรียนจะได้เจอพวกศัพท์เทคนิค แต่ พี่ชินเพราะทำงาน Law firm ใช้ภาษาอังกฤษมา 3 ปีกว่า ทำให้เจอศัพท์ที่รู้จักอยู่แล้ว ส่วนเวลา discuss ก็ยากประมาณนึง แต่เมืองนอกยิ่งในอเมริกา เด็กอินเตอร์เยอะ และเด็กที่ไม่ fluent ก็มีมาก เขารอและตั้งใจฟังเรานะ ไม่มีใครตะโกนขัดขึ้นมา เขาจะให้เกียรติกันมากๆ ครับ”



 

9

แล้วจะมีประโยชน์กับการทำงานที่ไทยในแง่ไหน?
 

            “อย่างแรกคือบางทีไทยจะเอา core concept จากอเมริกามาแก้กฎหมายไทยให้เป็นสากลขึ้น เลยมีจุดร่วมที่เรานำสิ่งที่เรียนมาปรับใช้ได้ และงานของพี่ต้องดีลกับลูกความหลายประเภทที่มาจากระบบ Common Law (เช่น อังกฤษ สิงคโปร์) เพราะบริษัทกฎหมายมีสาขาสำนักงานกระจายทั่วโลก ทำให้มีแต้มต่อ ถ้าเรามองจากกฎหมายไทยมุมเดียวอาจไม่เข้าใจว่าทำไมเขาเกิดคำถามนี้”




 

10

สิ่งสำคัญที่ได้หลังเรียนจบ?
 

            HLS เน้นให้เรียนรู้ตลอดเวลา = เรียนรู้ตัวเอง ทุกครั้งที่เขา assign ให้เราทำ หรือการที่เราต้องวิเคราะห์เพื่อไป discuss เราจะได้รู้แพสชันว่า ตัวเองให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร ยกประเด็นไหนมาเป็นธง ถึงได้นำไปสู่การตัดสินใจแต่ละครั้ง”
 
 
 

 
            โอ้โหหห ฟังแล้วอยากไปนั่ง audit ดูบรรยากาศการเรียนเลยค่ะ ต้องเข้มข้นมากแน่ๆ และเห็นได้ชัดว่าข้อดีคือมีทั้งเพื่อนที่โพรไฟล์แตกต่างกันมาถกประเด็นต่างๆ ด้วยกัน แถมทรัพยากรต่างๆ ยังช่วยซัพพอร์ตเต็มที่ ถ้าใครมีความฝันอยากต่อที่นี่ อย่างที่พี่บิ๊กเล่าเลยว่า Harvard จะมีทุนทั้ง Fulbright, ทุนบริษัท และทุนของมหาวิทยาลัยเอง แนะนำให้ลองศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมกันนะคะ


 

[ ช่องทางหลัก  Harvard Law School ]

https://hls.harvard.edu/
https://www.facebook.com/harvardlaw/
https://www.youtube.com/user/HarvardLawSchool
https://twitter.com/harvard_law
 
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากเว็บไซต์ Dek-D.com ขอสงวนสิทธิ์ในการงด โพสต์ข้อความซื้อ/ขาย/แลกเปลี่ยน/โฆษณา สินค้าทุกชนิดในเว็บบอร์ด เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนผู้ใช้งานท่านอื่น

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากเว็บไซต์ Dek-D.com ขอสงวนสิทธิ์ในการงด โพสต์ข้อความซื้อ/ขาย/แลกเปลี่ยน/โฆษณา สินค้าทุกชนิดในเว็บบอร์ด เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนผู้ใช้งานท่านอื่น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด