14 คำถามกับ ‘พี่ว่าน-รัชชุ’ เล่าชีวิตเด็ก ป.โทสาขา 'ภูมิสถาปัตย์' & ทำงานเป็นภูมิสถาปนิกที่อเมริกา

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ตรงนี้ต้องมีคนคิดถึง 'พี่ว่าน-รัชชุ สุระจรัส' อยู่แน่ๆ เล่าก่อนว่าสมัยมัธยม พี่ว่านเรียนจบ  รร.สาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ต่อด้วย ป.ตรีสาขาภูมิสถาปัตยกรรมที่ ม.เกษตรศาสตร์ ซึ่งระหว่างที่เรียนก็ฝากผลงานแสดงและพิธีกรไว้ให้คนตกหลุมรัก อย่างเช่นบท 'เฉด' ใน Season Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย (2549) หรือ 'โจ้' ในปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น (2551)  ฯลฯ // ความสามารถรอบด้านมากกก

 หลังจากเรียนจบ ป.ตรี ก็ทำงานประจำ 3 ปี + ฟรีแลนซ์ 1 ปี และตัดสินใจไปเรียนต่อ ป.โท สาขาตรงเลย นั่นก็คือ 'ภูมิสถาปัตยกรรม'  ในหลักสูตร Master of Landscape Architecture (MLA) ที่สถาบัน Rhode Island School of Design  (RISD) ในสหรัฐอเมริกา บอกเลยเจ้าตัวทุ่มเทสุดๆ และได้รางวัลวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยมจากสถาบันถึง 2 รางวัล! หลังเรียนจบก็หางานต่อที่อเมริกา จนทุกวันนี้ทำงานเป็นภูมิสปานิกมา 2 ปีแล้วค่ะ // ดังนั้นนอกจากบทสัมภาษณ์นี้จะพาไปรู้จักตัวตนสุดเฟรนด์ลี่และความมุ่งมั่นสูงฉบับพี่ว่าน ยังทำให้เห็นภาพการเรียนและการทำงานสายนี้ในอเมริกาด้วย

Photo Credit: Nadao Bangkok
Photo Credit: Nadao Bangkok

Q: เปิดด้วยวิชาการนิดๆ อยากให้รีวิวช่วงเตรียมตัวและสมัครเรียนที่ RISD

"ตอนสมัครเรียนต้องยื่น Application Form, Portfolio, Transcript, SoP, Letter of Recommendation และ Video Essay พี่เตรียมตัวไปเรียนต่อโดยที่ภาษาอังกฤษยังอยู่ระดับสื่อสาร พี่ไม่ถนัดภาษามาตั้งแต่มัธยมอ่ะ แล้วมันคือ barrier ใหญ่มากในการเรียน ตอนนั้นเลยไปลงเรียนเพิ่ม พยายามฝึกทำข้อสอบ IELTS สอบๆๆ สอบหลายครั้งคะแนนเท่าเดิม จนจะถึงวันหมดเขตรับสมัคร...ยังไม่ค่อยพอใจแต่ก็คงต้องส่งแล้วมั้ง อะ ส่ง!"

"ส่วน VDO เราก็แนะนำตัว เล่าประสบการณ์ เล่าเหตุผลที่อยากมาเรียนที่นี่ แต่หลักๆ อยู่ที่ Portfolio มากกว่า เขากำหนดให้ส่งผลงานด้านสถาปัตย์ฯ 10 โปรเจกต์ ปกติจะต้องกระชับ แต่ที่นี่ขอเยอะ  เราก็ต้องทำให้ดึงดูด น่าสนใจ หลากหลาย และ fit-in กับโรงเรียนด้วย  สุดท้ายว่านในวัย 27 ก็ติดที่นี่ครับ"

"ด้วยความที่เป็นโรงเรียนเอกชน ค่าเรียนก็จะสูงหน่อย ตอนนั้นก็ขอทุนกระจุย สรุปได้ offer ทุนจากสถาบันมาช่วยค่าเรียนไปบ้าง แต่มีเงื่อนไขคือต้องรักษาเกรดให้ดี พอเข้าเทอม  2 ว่านก็ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย เป็นผู้ช่วยสอน (Teacher Assistant) เทอมละหลายวิชา สนุกมาก แล้วได้ตังค์ด้วย"

Master of Landscape Architecture มีทั้งหลักสูตร 2 ปี สำหรับคนที่จบ ป.ตรี ภูมิสถาปัตยกรรมสายตรง และหลักสูตร 3 ปี สำหรับคนที่จบสาขาอื่นๆ (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

Photo Credit: RISD
Photo Credit: RISD
https://www.risd.edu/about/visiting-campus/
Photo Credit: IG @risd1877
Photo Credit: IG @risd1877
https://www.instagram.com/risd1877/

Q:  ช่วงแรกมีทริคเอาตัวรอดเรื่องภาษายังไงบ้าง?

"ไปถึงสื่อสารได้นะ ได้แบบกล้อมแกล้มเอาตัวรอดได้ ส่วนตอนเรียนเทอมแรกคือตื่น 6 โมงเช้ามาอ่านหลายๆ รอบ วันแรกจำได้ว่าเสียเวลากับการนั่งเปิดดิกฯ แปล ยังดีที่ว่านเรียนกับทำงานสถาปัตย์มาตลอดเลยมีคำทับศัพท์ที่เห็นแล้วจำได้บ้าง แล้วก็พยายามฝึกฟังเยอะๆ  (ว่านว่าสำเนียงอเมริกันฟังง่ายกว่าฝั่งยุโรป)" 

"ปกติทริคของบางคนคืออัดเสียงหรือ VDO เอาไว้ แต่เรารู้ตัวว่าเป็นคนขี้เกียจ คงไม่กลับมาฟังหรอก ก็พยายามตั้งใจฟังให้ได้ จดๆๆ จะได้ชิน เรื่องพูดก็พยายามสื่อสารให้มากที่สุด มันยากมากกกกนะเพราะการเรียนที่นี่เน้นตั้งคำถาม ฝึก Critical Thinking ในคลาส ด้วยธรรมชาติของพี่ พอมีคำถามมาปุ๊บ ‘เฮ้ย...แกรมมาร์ยังไงวะ ต้องถามยังไงวะเนี่ย’ (5555) แต่อาจารย์ก็เข้าใจคนเอเชียว่าการ discuss มันยาก เค้าคงช่วยสอนช้าๆ ระดับนึงในช่วงแรก เพื่อนก็ช่วยได้เยอะ เราต้องพยายามหาเพื่อน Native Speaker ไว้ฝึก ทำให้ชินจากการใช้ในชีวิตประจำวัน”

Q: สาขาภูมิสถาปัตย์เหมือนกัน แต่มีอะไรต่างจากตอน ป.ตรี?

ภูมิสถาปัตยกรรม (Landscape Architecture) = ศาสตร์การออกแบบให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม // คำนี้ถูกใช้ครั้งแรกที่อเมริกา เป็นหนึ่งในเหตุผลที่พี่ว่านเลือกมาเรียนต่อที่นี่

“พี่แฮปปี้ทั้งคู่ สนุกทั้งตอนเรียนที่ไทยและอเมริกา ถ้าให้เทียบองค์ความรู้และพื้นฐานความเข้าใจทางวิชาชีพค่อนข้างเหมือน วิชาก็ไม่โดดมาก แต่ที่ต่างคือวิธีการเรียนการสอนและความลึกของเนื้อหาแต่ละวิชา โดยใน 1 เทอมจะมี 4 วิชาหลักๆ

  • Lecture 1 วิชา
  • Open Elective or Independent Study (การค้นคว้าอิสระ) 2 วิชา
  • Studio 1 วิชา  : เป็น Research Design-Based ให้ออกแบบตามหัวข้อสตูดิโอนั้นๆ  และสัมพันธ์กับ Lecture เราต้องนำความรู้มาประยุกต์ตามโปรเจกต์นั้นๆ

"เทอมแรกเป็นวิชาอ่านซะเยอะ พวก definition ของทฤษฎีตามธีมแต่ละวีค อ่านๆๆๆ แล้วก็ดิสคัสวนไป (คิดในใจ: ภาษาอะไรเนี่ย!) เราก็ทำเป็นบ่น แต่สนุกนะวิชาเนี้ย มันทำให้รู้ความคิดคนอื่นที่เป็นทฤษฎีและถูกพรูฟมาแล้ว ได้ทำความเข้าใจด้วยตัวเองว่าถ้ามองมุมเนี้ยจะได้อะไร ทำให้รู้ว่า อ๋อออ เคยมีคนพูดแบบนี้ไว้นะ แล้วจะเป็นประโยชน์กับเรามากตอนทำงาน แต่เราก็สามารถไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีได้เหมือนกัน"

"ตอน ป.ตรีมีไปดูสถานที่จริง ตอน ป.โทก็เหมือนกัน ได้ไปตามไซต์งาน, ฟาร์ม, เมือง ฯลฯ ที่มีรูปแบบสอดคล้องกับทฤษฎีที่เรียน (ส่วนใหญ่เบสที่นิวยอร์กและบอสตันครับ) ได้เห็นว่าตอนทำงานจริงต้องเจออะไรบ้าง สมมติไปดูออฟฟิศ เขาก็จะพูดให้ฟังเรื่องสเกลว่าเฟิร์มนี้มีคนอาศัยกี่คน อาจจะมีพนักงานตั้งแต่ 4 ไปจนถึง 500 คนเลยก็ได้ ปกติงานออกแบบต้องคำนึงถึงโครงสร้างและการบริหารองค์กรด้วย"

Photo Credit: IG @risd1877
Photo Credit: IG @risd1877
https://www.instagram.com/risd1877/
Photo Credit: IG @risd1877
Photo Credit: IG @risd1877
https://www.instagram.com/risd1877/
ศึกษาหลักสูตร MLA ที่นี่ส่องวิชาเรียนกัน!

Q: ชอบวิชาไหนสุด?

“เรา enjoy กับการเรียนมากๆ อะไรก็ใหม่ไปหมดสำหรับว่าน มีความสุขทุกวันที่ได้ไปโรงเรียน อาจารย์ก็เฟรนด์ลี่เหมือนเพื่อน // ถ้าวิชาที่ชอบสุดก็น่าจะเป็นวิชา Independent Study (I.S.) เพราะไม่ต้องเรียน 55555 เฮ้ยๆ รู้มั้ย วิชาการค้นคว้าอิสระมันโคตรเปิดโลกเลยนะ ว่านรู้ว่าตัวเองอยากทำเรื่องอะไรตั้งแต่ปี 2 เทอม 1  เลยขอโรงเรียนเริ่มตั้งแต่ตอนนั้น ต้องตั้งสมมติฐาน จากนั้นก็พยายามหาข้อมูลต่างๆ เรียนด้วยตัวเอง เซ็ต goal ตั้งแต่ทำ Proposal ที่เสนอให้คณะ ให้อารมณ์เหมือนนั่งทำพวก Course Syllabus ประมาณนั้นเลย"

Q: เห็นว่าได้รางวัลวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยมถึง 2 รางวัล พี่ว่านทำหัวข้ออะไร? แล้วได้ไอเดียมาจากไหน?

“ช่วงปี 2 เทอม 1 มีวิชาชื่อ ‘Research Method Design’ สอนเรื่องการตั้งคำถาม ค่อยๆ ย่อยให้ดูเป็นไปได้ ตอนนั้นบ้ามากเลยรู้ปะ เราสนใจเรื่องน้ำท่วมมาแต่ไหนแต่ไร เพราะตอนน้ำท่วมใหญ่ปี ‘54 มันกระทบประเทศไทยมาก เลยเป็นคำถามในใจว่า เราอยากจะสร้างเครื่องมือในการทำงานกับคลองรูปแบบต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมรับมือกับน้ำท่วม (พูดง่ายๆ คือเราจะสร้างงานออกแบบที่ไปตอบสนองกับรูปแบบต่างๆ ของคลองในกรุงเทพฯ) ตอนแรกคิดว่าคงมีรูปแบบไม่เท่าไหร่มั้งงง แต่ตอนที่เสนอโปรเจกต์ แล้วลองคุยกับทั้งอาจารย์ที่เกษตรกับ RISD ทุกคนบอกแบบนี้”

‘ว่าน...มันจะเป็นไปได้หรอ?’ 

‘you...you ไหวหรอ มีเวลาปีเดียวเองนะ’

‘ว่านนน มึงจะทำกี่ปี!!’

“ทีนี้รู้ละ งั้น scope คำถามให้แคบลงมาเท่าที่เป็นไปได้ ทำความเข้าใจระบบน้ำกับระบบเมือง สโคปเหลือแค่ ‘คลองแสนแสบ’ สุดแค่เขตมีนบุรี กทม.ก็พอ แค่นี้ก็ความยาวก็ปาไป 27 กิโลเมตรแล้ว // เรื่องการตั้งคำถามคือสิ่งสำคัญที่ได้จากการไปเรียนหนังสือเลยครับ ถ้าตั้งใหญ่ไปก็อาจไม่ไ่ด้คำตอบ หรือถ้ารู้กว้างมากก็ไม่สามารถ specific อะไรได้ เผลอๆ หาคำตอบได้ภายใน 15 นาที ดังนั้นต้องเอาพอดีๆ"

Q: แสดงว่าต้องกลับมาสำรวจคลองแสนแสบด้วย?

“มีกลับไทยมาเพราะต้องลงพื้นที่จริงให้เห็นบริบท ตอนนั้นก็ขอทุน Research Study Fellowship (ทุนวิจัย) ซึ่งต้องแข่งขันเพราะทุกคนอยากได้ทุนนี้ โดยต้องนำเสนอเนื้อหางานและเหตุผลจำเป็นที่ต้องเดินทาง พอได้ทุนแล้วเราก็กลับบ้านไป 2 อาทิตย์เก็บข้อมูล ตระเวนไปห้องสมุดของ ม.เกษตรศาสตร์กับจุฬาฯ แล้วได้ข้อมูลที่สำคัญมากๆ อันนึงมา ซึ่งก็คือวิทยานิพนธ์ของคณะวิศวกรรมน้ำ (ของนิสิตเกษตรฯ) อยากขอบคุณเล่มนี้มากกก”

"จากนั้นก็ไปสำรวจคลองแสนแสบ พยายามทำความเข้าใจเรื่อง Canal Edge Tectonic (=กลไกการทำงานและกายภาพของขอบคลอง) ดูการทำงานของดินที่สัมพันธ์กับน้ำ ดูระบบน้ำในคลองที่ทำงานสัมพันธ์กับชุมชน รูปแบบลำคลอง และหน้าตัดลำคลอง มีสำรวจทั้งวัด มัสยิด ชุมชนเอกมัย ฯลฯ ความยากคือต้องทำความเข้าใจเรื่องที่ dynamic มากๆ อย่างน้ำและการทรุดตัว มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา”

“วิธีการศึกษาคือต้องตัดแบ่งคลองแสนแสบเป็นชิ้นๆ ทำให้เห็นความแตกต่างของแต่ละช่วงชัดเจน รวมกัน 24 รูปแบบจากตัวเมืองชั้นในถึงแถวๆ เขตมีนบุรี เช่น

  • ตัดชิ้น CTW กับ Platinum : ดูว่าคลองในอนาคตจะทำงานร่วมกับบริบทเมืองตรงนี้ยังไง
  • ตัดชิ้นเอกมัย : ตรงนี้จะมีมัสยิดและชุมชน อีกด้านคือถนนเพชรบุรีตัดใหม่
  • ตัดชิ้นบึงพระราม9
  • ตัดชิ้นวัดศรีบุญเรือง : ดูว่าทำงานร่วมกับชุมชนยังไง
https://www.instagram.com/p/BwV3imUn2qa/
https://www.instagram.com/p/BwV3imUn2qa/

Q: บรรยากาศการพรีเซนต์งานน่ากลัวมั้ย?

"ทุกคนมักมีภาพว่า 'พรีเซนต์งานสถาปัตย์ต้องโดนฆ่าแน่เลยว่ะ...' แต่ที่นี่เราจะได้ยินสิ่งที่นำไปต่อยอด เป็นลักษณะของการติเพื่อก่อ อาจารย์จะช่วยไกด์แนวทางกว้างๆ ว่าเราจะไปต่อทางไหนได้อีก มันเลยทำให้รู้ว่างานที่ดี = งานที่ถูกคอมเมนต์เยอะ เพราะสามารถนำไปต่อยอดได้เยอะมาก ในทางกลับกัน ถ้าเกิดพรีเซนต์เสร็จ คนในห้อง 100% บอกว่า ‘ก็ดี’ ทุกคนพยักหน้า เราจะเริ่มรู้ตัวละว่ามันอาจไม่ดีก็ได้นะ"

"อีกอย่างที่ยากมากๆ คือคนอเมริกันชอบอะไรที่สั้นกระชับ ต้องพูดเรื่องที่ทำมาเป็นปีๆ ให้จบภายใน 15 นาที // ซึ่งสุดท้ายว่านพูดเกินนะครับ 55555"

IG @vaan_ratchu
IG @vaan_ratchu
https://www.instagram.com/p/BxeBzxyHty1/
IG @vaan_ratchu
IG @vaan_ratchu
https://www.instagram.com/p/BxeBzxyHty1/
พี่ว่านได้รางวัลวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยมถึง 2 รางวัล ได้แก่  (1) RISD: The Landscape Architecture Department Thesis Award และ (2) ASLA RI (American Society of Landscape Architects, Rhode Island Chapter) Merit Award 2019 : In recognition of outstanding academic achievement
พี่ว่านได้รางวัลวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยมถึง 2 รางวัล ได้แก่  (1) RISD: The Landscape Architecture Department Thesis Award และ (2) ASLA RI (American Society of Landscape Architects, Rhode Island Chapter) Merit Award 2019 : In recognition of outstanding academic achievement

Q: มีมั้ย หัวข้อธีสิสของเพื่อนที่รู้สึกว่า 'เฮ้ย คิดได้ไงเนี่ย?'

"อย่างว่านทำเรื่องคลองในกรุงเทพฯ ใช่มั้ย แล้วก็จะมีเพื่อนที่ทำเรื่องความสัมพันธ์ของนาเกลือสีชมพูกับนกฟลามิงโก (ประเทศชิลี) โคตรน่าสนใจ หรืออีกคนก็ตั้งคำถามเกี่ยวกับสภาวะความแห้งแล้ง และหาแนวทางลดอัตราการระเหยของน้ำ”

Q: การเรียนที่นี่เปลี่ยนเรามั้ย?

"เมื่อก่อนเวลาพี่คิดงานทีจะสเก็ตช์หนักมาก แต่ช่วง ป.โทเคยโดนอาจารย์ตีมือเพราะได้โปรเจกต์แล้วมัวแต่นั่งสเก็ตช์วนไปวนมาอยู่นั่นแหละ จนเขาบอกให้เราลองเปลี่ยนไปคิดวิธีอื่นบ้าง จะได้เจอทางออก จากพี่ที่เกลียดการทำโมเดลมาก แต่ก็เลี่ยงไม่ได้ เพราะมันจะพาไปเจอวิธีคิดใหม่ๆ"

"แล้ววิธีการสอนที่  Art School จะเน้นเรื่องการลงมือทำซ้ำๆ เพื่อให้ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดและข้อดีของการทำในครั้งก่อนๆ และวางกรอบให้เราคิดวิพากษ์กับทุกเรื่อง จนตอนนี้เห็นอะไรเราก็คิดไปหมด ไม่ใช่แค่งานออกแบบหรืองานก่อสร้าง แต่คือทุกเรื่องที่เห็นในชีวิตประจำวันเลย"

Q: อยากให้เล่าความหลังช่วงหางานที่อเมริกาหน่อย

“ตอนนั้นของว่านจะเป็นวีซ่า F-1 อายุ 5 ปี ทำงานได้ 1 ปีหลังเรียนจบ เรายื่นสมัครงานไป 34 ที่ เหนื่อยมากกก แล้วต้องคอยติดตามผลด้วย แต่ก็รอจนเกือบจะยอมแพ้ สุดท้ายก็มีบริษัทนึงที่ว่านไปสัมภาษณ์ก่อนหน้านี้เค้าส่ง Offer Letter มาให้ :) ตอนนั้นตัวอยู่สนามบินแล้ว"

“ถ้าให้แนะนำเรื่องการหางานที่อเมริกาก็คือ 'เป็นตัวของตัวเองเถอะ' ในประกาศรับสมัครเขาจะเขียนว่าต้องการคนเชี่ยวชาญด้านไหน แต่ไม่ใช่แค่เรื่องเก่งไม่เก่ง เพราะเค้าจะมองหาคนที่ fit-in กับบริษัทด้วย ต้องวางแผนให้ดีว่าจะทำยังไงกับออฟฟิศที่เราอยากได้"

Q: ชีวิตภูมิสถาปนิกทีึ่ผ่านมา เจองานแบบไหนบ้าง?

“ตอนนี้ทำงานเข้าปีที่ 2 แล้ว แต่เพิ่งได้เข้าออฟฟิศ full-time แค่ 5 เดือนก่อนจะเจอโควิด เขาไม่ได้บังคับว่าต้องไปทำงาน แต่เราอาศัยติดรถพี่ที่ทำงานไปด้วยก็เลยปลอดภัย"

"ส่วนลักษณะงาน Landscape Architecture   ที่ทำ เริ่มจากประกวดเพื่อให้ได้งาน > ออกแบบเบื้องต้น > ลงรายละเอียดตั้งแต่ต้นจนจบ ใน 1-2 ปีนี้งานหลากหลายมาก มีทั้งโปรเจกต์บ้าน, โรงแรม, ออฟฟิศ, คอมมูนิตี้ของผู้สูงอายุที่เกษียณแล้ว, สนามบาสเกตบอลริมน้ำ, การป้องกันเพื่อพัฒนาไฟป่า, ศูนย์การแพทย์  หลักๆ ตอนนี้จะเป็นงาน Urban Mixed-use Development ครับ"

Q: เป็นการทำงานที่กดดันมั้ย?

"โห แฮปปี้มากๆๆๆ สังคมที่นี่คือทุกคน treat กันเหมือนเป็นครอบครัว แต่ละคนรู้จักครอบครัวและแฟนของกันและกัน มีไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ มีปาร์ตี้ให้ได้นั่งคุยกันทุกเย็นวันศุกร์ มีกิจกรรมร่วมกันเยอะ ทุกคนไนซ์มาก ไม่มีระบบ seniority และทุกอย่างวัดที่ผลของงาน ถ้าว่านจะเครียดก็เครียดเพราะอยากให้งานออกมาดีเฉยๆ ปกติเราเป็นคนมีความสุขง่าย แต่พอเป็นเรื่องงานจะไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง อันนี้กระทบกับสุขภาพเหมือนกันครับ (เหี่ยวมากเลยตอนเนี้ยยย!)"

Q: ชอบอะไรสุดในอเมริกา?

เสรีภาพ ทุกคนมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์อะไรบางอย่างได้ สิทธิมนุษยชนคือเรื่องพื้นฐานอยู่แล้ว การจะเกิด Critical Thinking ได้ก็ต้องเห็นความหลากหลายมาก่อน แต่ก็ต้องยอมรับว่าในความอิสระก็มีทั้งข้อดีข้อเสียแหละ”

SFMOMA San Francisco Museum of Modern Art
SFMOMA San Francisco Museum of Modern Art
https://www.instagram.com/p/BtpPguEnvyg/
Massachusetts Institute of Technology (MIT)
Massachusetts Institute of Technology (MIT)
https://www.instagram.com/p/BtgGzGonOT5/
Smithsonian National Museum of African American History and Culture
Smithsonian National Museum of African American History and Culture
https://www.instagram.com/p/BsvF3RaAYSO/

Q: อยากฝากอะไรถึงน้อง ม.ปลาย ที่กำลังค้นหาตัวเอง?

“ขอบอกเหมือนคำแนะนำตอนสมัครงานแล้วกัน ‘เป็นตัวเองให้มากที่สุดเถอะ’ ความหลากหลายจะทำให้ทุกคนเก่งขึ้น คำว่า ‘มั่นคง’ มั่นคงคืออะไร? มันไม่มีอะไรตายตัวหรอก โดยเฉพาะช่วงโควิดคือพรูฟทุกอย่าง ถ้าน้องๆ ชอบอะไร อยากเป็นอะไร อยากเรียนรู้อะไร มันคือเรื่องปัจเจกมาก ถ้าไม่เดือดร้อนหรือเป็นภาระ ก็ให้มันเป็นไปอย่างที่ตัวเองต้องการจะดีที่สุด

“วันนั้นสำหรับบางคนอาจจะยังตอบยากแหละว่าอยากทำอาชีพอะไร แต่อย่างน้อยก็ตอบให้ได้ว่าชอบอะไร เราจะทำอะไรกับความชอบนั้นได้ (ที่เป็นไปได้ด้วยนะ)"

Photo Credit: IG @risd1877
Photo Credit: IG @risd1877
https://www.instagram.com/risd1877/
Photo Credit: IG @risd1877
Photo Credit: IG @risd1877
https://www.instagram.com/risd1877/

รวมลิงก์ช่องทางหลัก Rhode Island School of Design  (RISD) 


http://facebook.com/risd1877 

http://twitter.com/risd 

 https://www.instagram.com/risd1877/ 

https://starthere.risd.edu/ 

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น