เมื่อได้เรียน 'การจัดการเมือง' ในเมืองที่นโยบายรัฐ พื้นที่สาธารณะ และคมนาคมดีสุดยอด! (ไม่มีพื้นจีนก็เรียนไต้หวันได้)

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ในช่วง 3-4 ปีหลังนี้เทรนด์การเรียนต่อ  "ไต้หวัน" มาแรงมากก อาจจะด้วยเหตุผลเรื่องบ้านเมืองทันสมัย ระบบการจัดการดี การศึกษามีคุณภาพ และยังได้ซึมซับภาษาจีนเป็นภาษาที่สามด้วย (แต่คนส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษได้นะ)  ที่สำคัญยังเคยมีคนไทยที่บอกว่าธรรมชาติของคนไต้หวันทั้งสุภาพ อ่อนน้อม ระเบียบวินัยสูง ในขณะเดียวกันก็เปิดกว้างและมีอิสระในการพูด คิด และทำ ราวกับได้หลอมรวมข้อดีของจีน ญี่ปุ่น และอเมริกาไว้ในที่เดียว 

ไต้หวันมีทุนรัฐบาลและทุนมหาวิทยาลัยที่คนไทยสมัครได้เยอะมาก ใครสนใจลองศึกษารายละเอียดทุนรัฐบาลไต้หวันที่กำลังเปิดรับสมัครปีการศึกษา 2021 ด้านล่างนี้ได้เลย :)
 

            •   ทุน  MOE Scholarship เรียนต่อป.ตรี, ป.โท, ป.เอก

             • ทุนเรียนภาษาจีน Huayu Enrichment Scholarship (HES) 

             • ทุน ป.โท/ป.เอก TaiwanICDF

คำถามยอดฮิต
"ถ้าไม่ได้ภาษาจีนเลย จะไปเรียนที่ไต้หวันได้มั้ย?"

ช่วงต้นปีเราได้ไปเจอทวีตนึงที่น่าสนใจมากของ  @phanuphan หรือ 'พี่นุก' ที่ทั้งเรียนและทำงานด้านสื่อมาพักใหญ่ๆ แล้วไปต่อโท  International Program on Urban Governance  (IPUG)  ที่ National Taipei University (NTPU) ได้ offer ทุนจากมหาวิทยาลัย ช่วยค่าเทอม ค่าหน่วยกิต ค่าหอใน และค่ากินอยู่แต่ละเดือน (บางส่วน) 

พี่นุกก็ได้แชร์ประสบการณ์เป็น thread เรื่องสมัครเรียน และช่วยตอบข้อสงสัยว่า "ถึงไม่ได้ภาษาจีนก็เรียนที่ไต้หวันได้ ถ้าเลือกหลักสูตรอินเตอร์" แต่อย่างภาคที่เขาเรียนก็จะมีบังคับนิดหน่อยเป็น Chinese I-II ซึ่งก็เป็นโอกาสดีเหมือนกัน เพราะไหนๆ ก็ได้อัปภาษาจีนเป็นภาษาที่สามติดตัว  (ไต้หวันใช้อักษรจีนตัวเต็ม) แต่ถ้าใครอยากอ่านรีวิวการเรียนสาขานี้ การปรับตัว และชีวิตที่ไต้หวันสไตล์พี่นุก เลื่อนลงมาอ่านกันเลยค่ะ! // ขอขอบคุณภาพประกอบบทความจาก 'พี่นุก' เจ้าของเรื่องนะคะ (IG @linyang0527)  ภาพสวยมากกก

"จบนิเทศฯ ทำงานด้านสื่อและแบรนด์
แล้วงานก็พามาอินเรื่องเมือง"

"ฟังดูเหมือนไม่เกี่ยวกับการไปต่อโทด้านการบริหารจัดการเมืองเลยใช่มั้ยครับ 555 แต่ด้วยลักษณะงานทำให้เรามีโอกาสสัมภาษณ์คนที่มีไอเดียหรือโปรเจกต์เรื่องเมือง และได้รับรู้ว่าผังเมืองกรุงเทพฯ ยังมีหลายจุดที่พัฒนาได้อีก เช่น ระบบขนส่ง พื้นที่สาธารณะ สิ่งอำนวยความสะดวก ฯลฯ เราอินถึงขั้นเริ่มติดตามเวิร์กชอปฟังสิ่งที่คนน่าสนใจในวงการมาแชร์ให้ฟัง และตั้งใจว่าจะเรียนเฉพาะด้านนี้ให้ลึกขึ้น"

"แล้วเราก็ได้คำตอบว่าถ้าจะต่อโทก็ต้องไต้หวันแล้วแหละ เพราะเคยไปเที่ยวหลายครั้งแล้วชอบมาก ค่าครองชีพไม่แรง การจัดการเมืองและนโยบายรัฐน่าสนใจ มาตรการป้องกันโควิดก็แน่นหนามากด้วย ถึงจะหนักใจเรื่องภาษาเพราะไม่มีพื้นฐานจีนเลย แต่ตอนไปเที่ยวเราสังเกตว่าคนไต้หวันส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษได้ เวลานั่งรถเมล์กับรถไฟใต้ดินก็มีป้ายภาษาอังกฤษที่เฟรนด์ลี่กับต่างชาติ"

Alishan National Forest
Alishan National Forest
光點華山電影館 (โรงภาพยนตร์อินดี้ในเมืองไทเป)
光點華山電影館 (โรงภาพยนตร์อินดี้ในเมืองไทเป)

"พอเก็บข้อมูลมาเรื่อยๆ แล้วตัดตัวเลือกสาขาที่เรียนเป็นภาษาจีนออก ก็มาลงตัวที่ IPUG ของ NTPU เรียนเป็นภาษาอังกฤษ (มีอีกหลักสูตรในมหาวิทยาลัย NTPU ที่เป็นอินเตอร์คือ GMBA เป็นเชิงไฟแนนซ์) หลักสูตรนี้จะพิจารณา IELTS / TOEFL มากกว่า TOEIC เราเลยยื่น IELTS ไป ขั้นต่ำที่ปลอดภัยเราว่าประมาณ 6.0 นะ // สำหรับเราการเตรียมสอบภาษายากสุด เตรียมตัวไปครึ่งปี มีเรียนเพิ่มกับอ่านเองนิดหน่อย"

"พอติด ป.โทที่ NTPU แล้วก็มาไต้หวันตั้งแต่ มี.ค. ปีที่แล้ว (เทอม Spring 2020) เกือบไปไม่ทันเขาปิดเมืองแล้วครับ จนตอนนี้ก็ยังกลับไทยไม่ได้ยาวๆ ช่วงแรกที่ไปถึงจะติดเรื่องฟังกับพูดยังไม่ค่อยได้ แล้วคนไต้หวันก็พูดเร็วมากก แต่พออยู่สักพักก็คุ้นชินกับแพตเทิร์นกึ่งๆ ที่ได้ยินบ่อยๆ เราก็จำมาใช้ เช่น  'ฉันต้องการ...', ช่วย...หน่อย' หรือตอนไปร้านอาหารก็ใช้เซนส์เดาไปก่อนว่าพนักงานต้องถามว่า 'มากี่คน?' 'กินที่นี่หรือรับกลับบ้าน?' ประมาณนี้แหละมั้ง 555"

國立臺北大學 National Taipei University
國立臺北大學 National Taipei University
國立臺北大學National Taipei University
國立臺北大學National Taipei University

รีวิว 'IPUG' หลักสูตรนี้น่าเรียนมาก!

"ภาพรวมคือเรียนการบริหารจัดการเมือง ครอบคลุมเชิงรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การวางผังเมือง และสิ่งแวดล้อม เช่น  อสังหาริมทรัพย์ นโยบายการเคหะ การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ฯลฯ เราชอบหลักสูตรที่ตัวเองเรียนมากๆ เลยนะ แต่ก็ไม่ใช่จะไม่เครียด เพราะทั้งต้องอ่านเปเปอร์เยอะ มีคลาสที่ต้องดิสคัสกับเพื่อน บางคลาสอาจารย์ให้แบ่งหัวข้อกันไปศึกษาแล้วมาสอนเพื่อน (โปรแกรมนี้คนน้อย รุ่นเรามีอยู่ 3-4 คนเอง) พอเทอม 2 ก็ต้องทุ่มพลังไปกับการทำธีสิส อยู่ห้องแล็บทำงานตลอดเวลา คุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาทุกสัปดาห์"

วิชาบังคับ (Required Courses)
(อ้างอิง: http://ipug.ntpu.edu.tw/required_courses.php)

 

         • Theory and Practice of Governance 治理理論與實務

         • Research Methodology 研究方法

         •  Quantitative Data Analysis 量化資料分析

         •  Sustainable and Resilient Cities 永續與韌性城市

         •  Seminar on Urban Governance I 城市治理專題(一)

         •  Chinese 1 中文(一)

         •  Chinese 2 中文(二)

ตัวอย่างวิชาเลือก (Elective Course)  จากแต่ละแขนง
(อ้างอิง: http://ipug.ntpu.edu.tw/elective_courses.php)

 

         •  Resilience Theory in Urban Planning & Design

         •  Sustainable Development:Theory and Practice

         •  Principles of Ecology

         •  Compact City and Mixed-use Development

         •  International Property Valuation and Use

         •  Satellite Positioning System

         •  Management Information System

         •  Machine Learning
         •  Cities and Complexity

         •  Topics in Urban Economic Development

         •  Behavior Planning Theory

         •  Qualitative Research Methods

         •  Independent Study I-II

         •  Field Practice

"ถ้าชอบสุดคือวิชาเลือกที่เรียนตอนเทอมแรก ชื่อ 'Resilience Theory in Urban Planning & Design' พูดถึงเรื่องการออกแบบเมืองให้ยั่งยืนโดยใช้ทฤษฎี Resillence ที่คิดเผื่อตอนเกิดภัยพิบัติด้วย เช่น จะจัดการยังไงให้ฟื้นฟูเมืองและตอบรับการเปลี่ยนแปลงได้ วิชานี้อาจารย์จะให้ไปอ่านเปเปอร์แล้วลิสต์คำถามมาคุยกันในห้อง แล้วเขาจะอธิบายให้เคลียร์หมด มีสอนว่าจะนำทฤษฎีไปประยุกต์ใช้ยังไงบ้าง แล้วช่วงท้ายๆ จะให้ทำ presentation นำเรื่องน่าสนใจมาเสนอ อย่างเราก็ยกเคสน้ำท่วมที่บางขุนเทียน ใกล้ตัวเลย~"

"นอกจากชอบตัววิชา เราก็ชอบอาจารย์ด้วย เขาเก่งมากกก จบจากอเมริกาแล้วเป็นนักวิชาการที่ดังระดับนึงที่ไต้หวัน เวลาอธิบายเสร็จจะย้ำตลอดว่า 'เข้าใจแน่ใช่มั้ย?' ทำให้เราแฮปปี้กับการเข้าคลาสนี้ทุกครั้ง ถึงมันจะเป็นเชิงทฤษฎีมากๆ ก็เถอะ"

"ส่วนฟิลด์ทริปที่เคยเจอก็เหมือนไปเที่ยวฟรีมากกว่า ไม่ต้องทำงานส่ง ไม่เครียด อย่างเช่นไปดูสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ดูบ้านกับอาคารเก่าๆ ที่มีกลิ่นอายประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมดั้งเดิม หรือไม่ก็ไปดูการออกแบบโครงการ Mixed-use ที่แบ่งสัดส่วนการใช้งานหลากหลายในพื้นที่เดียวในไทเป (ถ้ายกตัวอย่างในไทยก็คือสามย่านมิตรทาวน์นั่นแหละ)"

ส่องข้อมูลหลักสูตร/วิชาเรียนได้ที่นี่
Xinyi District (Mi
Xinyi District (Mi

"คนไต้หวันจะใช้ชีวิตสบายๆ นิ่งๆ
และชอบสวนสาธารณะมากกว่าห้าง"

"เมืองส่งผลต่อไลฟ์สไตล์คนจริงๆ นะ  เรื่องวัฒนธรรมการใช้พื้นที่สาธารณะของเขาน่าสนใจมาก  เช่นในไทเปจะมีสวนสาธารณะและห้องสมุดคุณภาพดีๆ กระจายทั่วทุกชุมชน เรื่องที่อยู่อาศัยก็เน้นแชร์อพาร์ตเมนต์กัน แล้วคนไต้หวันจะชอบออกกำลังกาย  หรือคนมีครอบครัวก็ชอบพาลูกมานั่งคุยกันที่สนามเด็กเล่น"

"แต่ถ้าเทียบกันจากความรู้สึกส่วนตัว เราว่าคนไทยจะดูสนุกๆ กว่า คนไต้หวันจะเรื่อยๆ สบายๆ ใช้ชีวิตปกติในทุกวัน อาจเพราะเขาไม่ต้องกังวลเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานเท่าไหร่ครับ แต่ที่แน่ๆ คือเขาเปิดรับชาวต่างชาติมาก และจะไม่ค่อยชอบแสดงความรู้สึกออกมาตรงๆ"

中正紀念堂 Chiang Kai-shek Memorial Hall
中正紀念堂 Chiang Kai-shek Memorial Hall
#PRIDE2020

"รถไฟใต้ดินราคาถูก ครอบคลุมเส้นทางเยอะ
และบนรถเมล์ไม่มีการยืนโหนราว"

"เราอยู่นิวไทเป (New Taipei City) ไม่ห่างจากไทเปเท่าไหร่ ในย่านมหาวิทยาลัยจะไม่ค่อยมีที่เที่ยวเพราะเป็นโซนที่อยู่อาศัยมากกว่า แต่ก็สามารถนั่งรถเมล์แค่ 20-30 เพื่อเข้าไปในไทเปได้ ข้อดีของไต้หวันคือรถไฟครอบคลุมเส้นทางเยอะมาก เราจะชอบจัดทริปเที่ยวคนเดียวบ่อยๆ รถเมล์ก็มีแอปฯ 'Taiwan Bus' บอกทางและเช็กระยะเวลาโดยประมาณ ดังนั้นการจะหลงทางไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งในไทเปคือแทบไม่ต้องกลัวเลย ป้ายเป็นภาษาอังกฤษหมด แต่ถ้าเราหลงก็เป็นความโง่ของเราเองที่นั่งผิดฝั่ง 555

(ปล. ความแม่นยำของแอปฯ บอกทาง ถือเป็นอีกสิ่งที่ยากสำหรับไทยเหมือนกัน เพราะถนนที่ไทยอาจจะประเมินและคำนวณเวลาให้แม่นยำไม่ค่อยได้ มีปัจจัยอื่นมาเกี่ยวอีก เช่น รถเยอะ ผังเมืองซ้อนกัน)"

รีวิวความเป็นอยู่แบบกระชับๆ 

  • ค่าครองชีพโดยรวมแพงกว่าไทย เช่น ที่ไทยอาหารอาจเริ่มต้นสัก 35-50 บาท แต่ที่นี่ 70-80 เหรียญไต้หวันเป็นขั้นต่ำ ถ้ามื้อหรูขึ้นมาก็สัก 150-250 บาท ส่วนชาบูตก 200-400 เหรียญไต้หวัน (อาหารเดลิเวอรีที่ไต้หวัน สั่งได้ผ่าน Foodpanda, UBER Eat) *เรตเหรียญไต้หวันจะแพงกว่าเรตบาทนิดหน่อย แต่เวลาคิดในหัวเราก็คิดเป็นบาทได้เลย
     
  • รถไฟใต้ดินจะครอบคลุมเส้นทางเยอะมาก ราคาสูงสุดไม่เกิน 65 เหรียญไต้หวัน จากต้นสายที่ไกลมากๆ  มีตั๋วรายเดือนแค่ 1,200+ เหรียญไต้หวัน สามารถใช้ขึ้นรถไฟฟ้ากับรถเมล์ได้ไม่จำกัด ถ้าใครต้องเดินทางทุกวันแนะนำให้ซื้อไว้เลย แต่เราเองไม่ซื้อเพราะไม่ค่อยเข้าเมือง แต่ละเดือนค่าเดินทางไม่เคยถึงพันครับ แถมถ้านั่งรถไฟใต้ดินแล้วต่อรถเมล์ ก็จะมีส่วนลดให้อัตโนมัติด้วยครับ
     
  • รถเมล์จะราคาประมาณ 12-15 เหรียญไต้หวัน เป็นรถแอร์ คันใหญ่จุได้ 40 คน แล้วถ้าเป็นรถเมล์ที่ต้องขึ้นทางด่วน ข้ามเมือง ถ้าครบคนเขาจะไม่จอดรับเพิ่ม ดังนั้นจะไม่มีการยืนโหนราว เขามองว่าการยืนมันอันตราย แล้วปกติก็มีรถเมล์มาเรื่อยๆ อยู่แล้ว ถึงคันนี้ผ่านไปก็ไม่ต้องยืนรอคันต่อไปนาน อันนี้ไม่ใช่ข้อดีที่มีแค่ในไทเปนะ เราเคยไปเห็นป้ายรถเมล์ตามชุมชนก็เป็นเหมือนกัน

"การมาเรียนไต้หวันทำให้ได้ค้นหาตัวเองว่าชอบเรื่องการบริหารจัดการเมืองที่กำลังเรียนจริงๆ มั้ย แล้วบ้านเรายังมีอะไรที่พัฒนาต่อได้บ้าง ถ้าสมมติถ้าเลือกได้ เรามองว่าควรพัฒนาเรื่องขนส่งสาธารณะเป็นอันดับแรก เพื่อให้มีคุณภาพ สะดวกสบาย และราคาถูก"

新北投車站(Xinbeitou Historic Station)
新北投車站(Xinbeitou Historic Station)

"ไต้หวันรับมือกับโควิดได้ดีมาก
จนใช้ชีวิตได้ปกติ"

"คีย์หลักคือเขาไม่ให้นักท่องเที่ยวหรือชาวต่างชาติเข้ามาตั้งแต่ช่วงแรกๆ แล้วมี.ค.63 ก็ปิดประเทศเลย ทำให้โควิดไม่ระบาดหนักในไต้หวัน พอเมษายนก็ไม่มีเคสใหม่ ในอีกมุมคือเป็นเพราะประชาชนให้ความร่วมมืออย่างดีด้วย เพราะคนไต้หวันเองก็เหมือนไทยแหละ เค้าจะค่อนข้างกังวลและระวังตัวกันมากๆ อยู่แล้ว อย่างช่วงมีข่าว lockdown ทุกคนพร้อมใจไปตุนของช่วงนั้นจนของเกลี้ยงเชลฟ์ในซูเปอร์มาร์เก็ต แล้วสักพักก็กลับสู่ภาวะปกติ"

"สรุปคือคนไต้หวันยังไปไหนมาไหนได้ปกติ เพียงแต่ต้องสวมหน้ากากอนามัยที่ผลิตมาเพียงพอและขายในราคาที่เข้าถึงได้ หาซื้อได้ตามร้านขายยาและร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเขาจะจำกัดการซื้อด้วยเลขบัตรประชาชน เลขคู่วันนี้ เลขคี่อีกวัน พอกลางปีก็โอเคขึ้นแล้วเพิ่มช่องทางการขายได้ เราเลยมองว่าเขารับมือได้ดีมากๆ”

審計新村 Shen Ji New Village
審計新村 Shen Ji New Village
綠川 Lyu-Chuan
綠川 Lyu-Chuan

"แต่อาหารเป็นเรื่องนึงที่ไม่แฮปปี้"
(ย้ำ!! เรื่องนี้คือความชอบส่วนตัว)

"ใครๆ ก็จะบอกว่าอาหารที่ไต้หวันอร่อยมาก แต่บอกเลยว่าเราคิดถึงอาหารไทยมากกก ทีี่นี่แทบจะมีช้อยส์ให้เลือกแค่ข้าวกับบะหมี่ มันอาจขึ้นอยู่กับพื้นที่ด้วยแหละ ถ้าในไทเปอาจถูกและมีตัวเลือกมากกว่า เรื่องรสชาติเราว่ามันค่อนข้างมันและจืด อย่างบะหมี่ก็จะเป็นซุปใสๆ ธรรมดาแล้วเติมได้แค่ซอส บางร้านโชคดีหน่อยที่มีซุปหม่าล่า หรืออย่างข้าวกล่อง (Bian Dang) ที่คนไต้หวันนิยมกินกัน มันก็จะมีแต่ผักๆ มันๆ เราไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ เราก็เลี่ยงด้วยการไปกินอาหารญี่ปุ่นแทน ซึ่งที่นี่ก็จะออกไปทางจีนๆ หน่อย"

"แต่ที่โอเคคือ Hot Pot กับชานมไข่มุก หรือร้านอาหารไทยที่ไต้หวันก็มีเยอะ แต่ราคาอาจตกชามละ 200 เหรียญไต้หวัน ถ้าเป็นร้านที่เจ้าของเป็นคนไทยก็จะได้รสชาติแบบคนไทยจริงๆ ครับ"

別嗆大叔
別嗆大叔
別嗆大叔
別嗆大叔

"มันคือการค้นหาตัวเอง
และเรียนรู้การใช้ชีวิตคนเดียว"

"ไม่รู้ว่ามันเร็วหรือช้าไปในวัย 28 นะ 555 ก่อนหน้านี้อยู่ไทยกับครอบครัว ไม่ต้องพึ่งพาตัวเองมากขนาดนั้น แต่ที่ไต้หวันทำให้เราต้องจัดการตัวเองหมดทั้งเรื่องเรียน เรื่องหางาน เรื่องอื่นๆ ในชีวิต แล้วต้องแบ่งเวลามาออกกำลังกายด้วย เราได้ลองค้นหาว่าจะ manage ทั้งหมดนี้ด้วยตัวเองได้ยังไงบ้าง มันต้องแพลนตลอดเลย มันเลยเป็นช่วงเวลาที่ได้เรียนรู้เต็มที่ อยู่กับตัวเองเยอะมากๆ สไตล์มนุษย์ introvert ด้วยแหละ แต่ถ้ารู้สึกว่าช่วงนี้อยู่กับตัวเองเยอะเกินไปแล้วนะ ก็จะออกจากโลกส่วนตัวไปหาเพื่อนบ้างครับ :)"

รวมลิงก์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับหลักสูตร 
International Program on Urban Governance  (IPUG)

 

เว็บไซต์ http://ipug.ntpu.edu.tw/ 

หลักสูตร http://ipug.ntpu.edu.tw/degree_requirements.php

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/IPUG.tw/ 

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากเว็บไซต์ Dek-D.com ขอสงวนสิทธิ์ในการงด โพสต์ข้อความซื้อ/ขาย/แลกเปลี่ยน/โฆษณา สินค้าทุกชนิดในเว็บบอร์ด เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนผู้ใช้งานท่านอื่น

กำลังโหลด
กำลังโหลด