เทียบชัดๆ! แชร์ประสบการณ์เด็กโทกฎหมาย 2 ใบที่ญี่ปุ่น VS สกอตแลนด์ (ทุน,การเรียน,การใช้ชีวิต)

สวัสดีค่ะชาว Dek-D เมื่อไม่นานมานี้เราได้พูดคุยกับ 'พี่ปั้นแป้ง’ สิรินดา ธรรมประทีป คนไทยคนที่ไปเรียน ป.โท กฎหมาย 2 ใบ (LL.M.) ได้แก่กฎหมายพาณิชย์ระหว่างประเทศ University of Dundee (สกอตแลนด์) และปัจจุบันกำลังเรียนกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ Kyushu University (ญี่ปุ่น) บอกเลยค่ะว่าสไตล์ต่างกันมากกแต่น่าสนใจและคุณภาพแน่นทั้งคู่ มาดูกันนะคะว่าแง่มุมการเรียน บรรยากาศคลาส การปรับตัวและใช้ชีวิตของตัวอย่างประเทศจากตะวันตกและตะวันออกว่าเหมือนต่างกันยังไงบ้าง? ใครเป็นสายกฎหมาย มาอ่านรีวิวไว้ประกอบการตัดสินใจกันค่ะ!

............

เห็นความสำคัญของกฎหมาย
และมีภาษาเป็นใบเบิกทาง

 

เรารู้สึกกฎหมายทำให้เราปกป้องตัวเอง ครอบครัว และนำความรู้ไปช่วยเหลือสังคมได้ด้วย ตอน ป.ตรีเราเรียนกฎหมายที่ ม.ธรรมศาสตร์ หลังจบก็ทำงานเป็นทนายอยู่ระยะนึง และทำงานเป็นทีมบริหารของเครือโรงแรม ก่อนจะไปต่อโทที่ต่างประเทศเพราะอยากเปลี่ยนสายงานในอนาคต

ส่วนเรื่องพื้นฐานภาษาอังกฤษ เราเห็นความสำคัญมาตั้งแต่ ม.2 แล้ว เพราะภาษาช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่คนอื่นบอกด้วยตัวเอง ถ้าสงสัยก็ถามได้เลยโดยไม่ต้องมีคนกลาง บวกกับมีความฝันว่าอยากไปประเทศหนาวๆ มีหิมะ  555 ด้วยความเด็กอ่ะ แต่ถึงเป็นเหตุผลเด็กๆ ก็เป็นจุดเริ่มต้นให้เราไปสมัครโครงการเด็กแลกเปลี่ยนที่  Cornerstone Christian academy ในรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ช่วงนั้นคือจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่เหมือนกัน สภาพแวดล้อมทำให้เราได้ซึมซับทั้งภาษาและความกล้าพูดกล้าคิด  เป็นแต้มต่อให้เราได้ไปแลกเปลี่ยนช่วงสั้นๆ ที่เยอรมันและจีน (ด้านกฎหมาย) แล้วเรียนต่อต่างประเทศได้โดยไม่ติดเรื่องภาษา

............

โทใบแรกที่สกอตแลนด์
University of Dundee

 

เราไปเรียนกฎหมายพาณิชย์ระหว่างประเทศ (International Commercial Law LL.M) ที่ University of Dundee, Scotland หลักสูตร 1 ปี และ ก.ต.รับรอง (เช็กได้ที่เว็บไซต์ของสำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม  อัปเดต เม.ย.64) โลเคชันตัวเมืองไม่ใหญ่ อยู่ติดทะเล และเป็นเมืองที่มีมหาวิทยาลัยถึง 2 แห่งคือ University of Dundee กับ Abertay แล้วอีกเมืองใกล้ๆ กัน ห่างไปอีกสัก 20 กิโลเมตรก็เป็นที่ตั้งของ University of St Andrew ที่เจ้าชายวิลเลียมกับชายาเคทเรียนและพบรักกันที่นั่นด้วยค่ะ :)

เรามาเรียนด้วยทุนส่วนตัว แต่ทางมหาวิทยาลัยมีทุนค่าเทอมให้ 40% จาก 8-9 แสนเหลือ 4-5 แสน (เรตเงิน 1 ปอนด์ = 37-39 บาท) ตัวอย่างสวัสดิการจากทางรัฐสำหรับนักศึกษา เช่น ไม่ต้องเสียค่าน้ำและค่าภาษีท้องถิ่นจากการเช่าที่พัก แล้วทางมหาลัยใส่ใจทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตเลยค่ะ เรามีปัญหาสะโพกกับหลังตั้งแต่อยู่ไทยก็ยังช่วยดูแล หรือตอนเจอเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจรุนแรง อาจารย์จะซัพพอร์ตเรื่องเรียน เช่น อนุโลมให้ส่งการบ้านหลังเดดไลน์โดนไม่มีบทลงโทษหรือลดคะแนน เอาสิ่งที่เผชิญมาร่วมพิจารณาให้เกรดด้วย นอกจากนี้ยังมีศูนย์ปรึกษาที่ตอบเร็ว นัดเวลาหรือขอเข้าพบฉุกเฉินได้ ซึึ่งเค้าก็หมั่นโปรโมตด้วยนะ มีส่งอีเมลมาถามตลอด  ‘คุณรู้สึกยังไง? เครียดอยู่มั้ย? มาหาเราสิ!’ ส่วนนอกมหา'ลัยก็จะมีเบอร์ของศูนย์สุขภาพจิตติดไว้ตามสะพาน 

เรื่องเรียนคือวิชาจะน้อยแต่เน้นลงลึก เทอมนึงเรียนแค่ 3 วิชา ปีนึงก็ตก 6 วิชา (ไม่รวมวิทยานิพนธ์) ในจำนวนนั้นจะมีวิชาหลัก และบังคับเรียนของสาขา  International Commercial Law เลยเหลือ slot ให้เลือกลงเองได้น้อยหน่อย

ตัวอย่างวิชาเรียน

  • กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Law)
  • กฎหมายภาษีระหว่างประเทศ (International Taxation Law)
  • กฎหมายจัดการทรัพยากรน้ำ (Legal Frameworks for water resource management)
  • กฎหมายควบคุมทรัพยากรน้ำ (Governanace and Regulation of Water Service) เราขอเข้าเรียนแบบไม่ลงทะเบียน เพราะหน่วยกิตเต็มแล้ว
  • กฎหมายธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ (Principles of E-Commerce Law)
  • กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล (Private International Law of Business Transactions)
  • กฎหมายการควบคุมดูแลบริษัทนิติบุคคล (ธรรมาภิบาล / Corporate Governance) = ต้องการให้บริษัทคำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสายงานทั้งหมด

อยากเล่าถึงวิชานึงที่ชอบสุดคือ  ‘กฎหมายจัดการทรัพยากรน้ำ’ เรามีแหวกไปลงวิชาแนวบริหารกับสิ่งแวดล้อมเพราะมหาลัยเด่นด้านนี้ แล้วเรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัวเราจริงๆ เวลาเกิดปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง น้ำเค็มรุกล้ำน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำมีสิ่งเจือปนหรือเป็นพิษ ฯลฯ ก็ล้วนเกี่ยวกับเรื่องคุณภาพน้ำและเกิดจากบริหารจัดการน้ำผิดพลาดทั้งนั้น แล้วก็จะจะเชื่อมโยงไปถึงเรื่องกฎหมายสิ่งแวดล้อมด้านอื่นๆ ด้วย ((ความน่าสนใจอีกอย่างคือสกอตแลนด์มีสวัสดิการที่นักเรียนจะใช้น้ำฟรีเท่าไหร่ก็ได้ และน้ำอร่อยมาก 5555 เราอยากรู้ว่าเขาจัดการยังไงถึงให้ฟรีได้แบบนี้))

แต่ถ้าวิชายากสุดยกให้ 'กฎหมายภาษีระหว่างประเทศ' เพราะมีกฎหมายเยอะและซ้ำซ้อนกันในแต่ละประเทศ ไหนจะเรื่องสนธิสัญญาอีก ฝั่งโน้นเก็บ ฝั่งนั้นก็จะเก็บ แต่ละประเทศใช้คนละอย่าง เช่น เคสคนอเมริกาไปทำการค้าที่ประเทศอื่น เขาก็ไม่อยากต้องมาเสียซ้ำซ้อนกัน เพราะอเมริกาเป็นประเทศเดียวในโลกที่เก็บภาษีบุคคุลโดยถือตามสัญชาติ *ซึ่งตัวกฎหมายของแต่ละประเทศเองก็มีอัปเดตตลอด ต้องคอยตามให้ทันด้วย

เว็บไซต์หลัก

https://www.dundee.ac.uk/postgraduate/international-commercial-law 


 ศึกษารายละเอียดอื่นๆ เช่น หลักสูตร คุณสมบัติ วิธีสมัคร ค่าเทอม

https://www.dundee.ac.uk/postgraduate/international-commercial-law/entry-requirements 


ทุนสนับสนุน

https://www.dundee.ac.uk/scholarships 

............

โทใบที่สองที่ญี่ปุ่น
Kyushu University

 

 เรามาเรียนโทอีกใบที่ญี่ปุ่น สาขากฎหมายสาขาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (International Economic and Business Law International Programs in Law) ที่ Kyushu University ก.ต. รับรองเหมือนกัน เป็นหลักสูตร  1 ปี การเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ โดยได้ทุนสนับสนุนค่าใชจ่ายประจำเดือนบางส่วนจาก  JASSO และยื่นขอการสนับสนุนค่าเทอมจากทางมหาวิทยาลัย *ส่วนตัวมองว่าญี่ปุ่นมีทุนให้ขวนขวายเยอะกว่าทางโซนสกอตแลนด์เยอะมาก สำหรับนักเรียนต่างชาติ ทั้งทุนที่ได้ก่อนไปเรียนหรือทุนที่ขอระหว่างเรียน

ความแตกต่างคือเราเรียนเทอมนึงประมาณ 10 ตัว เรียนกว้างให้รู้ครบแต่ไม่ลงลึกเหมือนตอนเรียนโทใบแรกที่สกอตแลนด์ และเนื้อหาเป็นเชิง adapt มองด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม 

ตัวอย่างวิชาที่เราเรียน

  • ทรัพย์สินทางปัญญา
  • กฎหมายทางทะเล
  • กฎหมายที่เกี่ยวกับการผสมผสานเทคโนโลยี สังคม และการพัฒนา IT (Cross-disciplinary) ที่จะมองถึงเรื่องสภาพเศรษฐกิจ สังคมด้วย
  • วิชาเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ย การใช้อนุญาตตุลาการ เป็นทางเลือกที่ไม่ใช่ศาล

เว็บไซต์หลัก Kyushu University Graduate School of Law

http://www.law.kyushu-u.ac.jp/programsinenglish/html/kyushu-univ-law/
 

 รวมข้อมูลทั้งหมด เช่น การเรียน การสอบเข้า ทุน ค่าเทอม ฯลฯ

http://www.law.kyushu-u.ac.jp/programsinenglish/html/programs-admissions/academic-programs/ll-m/ 

ช่วงโควิดต้องเรียนแบบออนไลน์
ช่วงโควิดต้องเรียนแบบออนไลน์
ภาพบรรยากาศจากเว็บไซต์ ม.คิวชู (ช่วงเวลาปกติก่อนเข้าสู่ช่วงโควิด)
ภาพบรรยากาศจากเว็บไซต์ ม.คิวชู (ช่วงเวลาปกติก่อนเข้าสู่ช่วงโควิด) 

............

เทียบความต่าง Japan VS UK
(*จากประสบการณ์ส่วนตัว)

1. ภาษา

สกอตแลนด์

เขาตั้งมาตรฐานว่าเราภาษาดีแล้วจึงสามารถเรียนระดับนี้ได้ เราควรจะต้องได้ภาษาอังกฤษระดับที่เขียนด้านวิชาการ (Academic) รู้เรื่อง เช่น การสอบเทอมที่สอง เราจะต้องทำ 3 วิชาซึ่งเราจะรู้หัวข้อล่วงหน้า 1 เดือน แต่ต้องเขียน 3 ฉบับในเวลา 1 เดือน ดังนั้น จะต้องบริหารจัดการเวลา และสุขภาพกายและใจให้ดี ต้องเขียนอ้างอิงให้ถูกต้องและสม่ำเสมอ format เป๊ะ อักษรพิมพ์เล็กพิมพ์ใหญ่ เลือกคำศัพท์พิถีพิถันเพราะเป็นด้านกฎหมาย 

ญี่ปุ่น

เขาเข้าใจว่าเราไม่ใช่เจ้าของภาษาและความรู้ด้านภาษาไม่ได้ตัดสินความรู้ความเข้าใจของเราทั้งหมด (แต่เราก็ต้องเขียนให้รู้เรื่องอยู่ดี) เขาไม่ได้ซีเรียสมาก เขาแค่อยากรู้ความคิดของเรา จากสิ่งที่ตอบ เพราะอาจารย์ก็เป็นต่างชาติหรือคนญี่ปุ่นที่มาสอนต่างชาติและเคยเรียนต่างประเทศมากก่อน เขาจะเข้าใจว่าเราไม่ได้ภาษาเป๊ะเหมือนเจ้าของภาษา

(ซ้าย) Scotland / (ขวา) Japan
(ซ้าย) Scotland / (ขวา) Japan

2. บรรยากาศในคลาส

สกอตแลนด์ 

 

  • เรียนแบบเน้น Critical Thinking เริ่มคลาสมาอาจารย์อาจจะไม่สอน แต่ให้ไปศึกษามาก่อนแล้วมา discuss กันในคลาส เวลาส่งงานหรือสอบต้องเขียนอ้างอิงให้ครบทุกจุด ถ้าเขียนมาลอยๆ จะได้คะแนนน้อย แล้วอาจารย์ก็จะถามด้วยว่าเอามาจากไหน คุณต้องมีเหตุผลสนับสนุนความคิด มีหลักเกณฑ์หรือหลักฐาน ว่าทำไมคิดแบบนี้  
     
  • อาจารย์จะวางตัวกับเราเหมือนเพื่อน คุยได้ ตรงไปตรงมา เจอหน้าเรียกชื่อเลย เวลาสอนชิลล์มากก ใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์ นั่งปนกับเด็ก ไขว่ห้างมือเคาะโต๊ะ ‘เอ้า คุณล่ะคิดยังไง?’ เหมือนมาพบปะพูดคุยลับสมองประลองปัญญา อะไรแบบนี้ ตอนเรียนออนไลน์ก็เหมือนกัน สอนไปสอนมามีแมวกระโดดมาอี้ก มีเรียกหลานให้มาทักทายทุกคน  55555
     
  • เคยมีเหตุการณ์ที่คนในคลาสพูดเยอะเกินไป เพราะเค้าสนใจด้านนี้มาก + อ่านหนังสือมาเพิ่มจากที่อาจารย์กำหนดด้วย พอเลิกคลาสเราบังเอิญได้ยินอาจารย์คุยกับนักเรียนคนนั้นว่า ‘คุณมีความคิดที่ก้าวออกไปนอกขอบเขตที่เราจะเรียนกัน ดังนั้นถ้า you สนใจให้มาคุยกันนอกคลาสแทนดีกว่า’ เขากังวลว่าจะทำให้เพื่อนร่วมคลาสสับสน ทั้งยังทำให้คนอื่นเสียสิทธิ์ ไม่กล้าแทรกและไม่มีโอกาสถาม คนที่นั่นเค้าให้ความสำคัญกับความเสมอภาคมากๆ
     
  • เพื่อนในคลาสมาจากฝรั่งเศส เยอรมนี เม็กซิโก อเมริกา จีน ไนจีเรีย เซาท์แอฟริกาใต้ ฯลฯ ไม่ได้แชร์ข้อมูลเจาะลึกเต็มที่ เพราะอาจารย์ต้องสนตามเนื้อหาที่เป็นโซนสหราชอาณาจักรและยุโรป รวมทั้งประเทศในระบบคอมมอนลอว์ด้วยกัน

ญี่ปุ่น

 

  • เรียนแนวเลกเชอร์หน่อยๆ มีงาน presentation เดี่ยว/กลุ่ม ขึ้นอยู่กับเนื้อหาและสไตล์การสอนของอาจารย์ 
     
  • อาจารย์มีระยะห่างชัดเจน ใส่สูทยืนสอน เวลาเด็กจะถามก็อาจจะแบบ ‘ขอโทษนะ Prof. ที่ขัดจังหวะ บลาๆๆ’ เหมือนเป็น format ยังกับเขียนอีเมล 
     
  • เวลาเรียนแบบสัมมนา ถ้ามีนักเรียนกระตือรือร้นจะแชร์ประสบการณ์ตัวเอง อาจารย์ก็ไม่ค่อยห้ามไม่เบรก แชร์ได้เต็มที่ ดูเกรงใจนักเรียนมาก แต่อาจจะเป็นลักษณะของทางเอเชียที่มีเรื่องของความเกรงใจ 
     
  • เรียนในสภาพแวดล้อมที่เป็นเอเชียสูง เพื่อนในคลาสมีทั้งจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย พม่า บังคลาเทศ กัมพูชา จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ คอนเนกชันระหว่างเพื่อนในภูมิภาคเดียวกัน มีวัฒนธรรมการใช้ชีวิตคล้ายกัน ทำให้ได้ความรู้เจาะลึกของประเทศนั้นจริงๆ และเข้าใจได้ง่าย (ทางยุโรปหรือโซนอเมริกาก็มี แต่ไม่มากค่ะ)
สกอตแลนด์
สกอตแลนด์
ญี่ปุ่น
ญี่ปุ่น

3. การสอบและการให้คะแนน

สกอตแลนด์

 

  • อาจารย์จะให้ข้อสอบมาล่วงหน้า เป็นคำถามปลายเปิดให้ตีความ จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้แต่ต้องมีเหตุผลสนับสนุน จากนั้นก็จำมาเขียนตอบภายใน 2 ชม.ในห้องสอบ
     
  • เวลาตัดเกรดจะมีเกณฑ์ชี้วัด (Critirea) ชัดเจนมาก แบ่งเป็น 23 เกรด แล้วแรเงามาเป็นประโยค คอมเมนต์ละเอียดทุกจุดมากกก เราสามารถโต้แย้งได้ทันที
     
  • ดูแลเรื่องสิทธิและความเป็นส่วนตัวของนักเรียนดีมาก มีระยะห่างนักเรียนกับครูชัดเจน เช่น ทุกคนต้องใช้อีเมลมหาวิทยาลัยติดต่อกันเท่านั้น นักเรียนห้ามใช้อีเมลส่วนตัวติดต่ออาจารย์เด็ดขาด และอาจารย์จะติดต่อเราช่องทางอื่นไม่ได้เช่นกัน และอาจารย์จะตรวจสอบโดยไม่รู้ชื่อและรหัสนักศึกษาด้วย

ญี่ปุ่น

 

  • อาจารย์จะให้ข้อสอบมาล่วงหน้า หรือให้เป็น ข้อสอบที่มีเวลาทำ 24 ชั่วโมง ข้อสอบถามไม่ซับซ้อนมาก การอ้างอิงอาจไม่จำเป็นหากเหตุผลประกอบดีพอ  และต้องเขียนชื่อนักเรียนบนข้อสอบทุกครั้ง 
     
  • ในบางวิชา จะเป็นการเขียนตอบ 24 ชั่วโมง บางก็รายงาน บางก็รายงาน + พรีเซนเทชั่น +การมีส่วนร่วมในชั้นเรียน หลากหลายแล้วแต่อาจารย์เลยค่ะ นักเรียนมีส่วนร่วมในการจัดการสอนหรือสอบได้ เช่น เราอาจจะรวมใจกันขอให้อาอารย์ วัดผลโดยการพรีเซนต์และถามตอบ แทนข้อสอบหรือรายงาน เป็นต้น 
     
  • มี 4 เกรด A B C D F ถ้ามีข้อสงสัยสามารถส่งอีเมลให้อาจารย์ช่วยชี้แจงได้
ญี่ปุ่น
ญี่ปุ่น

............

รีวิวเมืองและชีวิตความเป็นอยู่
พร้อมพาไปชมภาพสวยๆ กันค่ะ!

สกอตแลนด์

  • ทุกอย่างประหยัด Eco-friendly มหาวิทยาลัยก็รักษ์โลก ไฟจะติดก็ต่อเมื่อเดินในบริเวณนั้น (แต่ในเมืองไม่มีแยกขยะนะ งงปะ 555)
     
  • สกอตแลนด์ก็เป็นอีกประเทศที่ไปแล้วมีโอกาสถูก bully ได้ เช่น มีครั้งนึงเราปั่นจักรยานตามปกติ มีเด็กวัยรุ่นมาแกล้ง ‘แบร่!’ ให้เราตกใจ หรือเห็นเป็นเอเชียก็พูดใส่ ‘โควิดๆๆๆ’ ยังมีการเหยียด แต่ไม่ได้ทำอะไรมากกว่านั้ัน อีกอย่างคือกลิ่นกัญชาแรงมาก ซึ่งก็ผิดกฎหมายนะ แล้วแอลกอฮอล์ราคาถูกทำให้คนกินกันเป็นเรื่องปกตื แล้วอาจทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัยในบางครั้ง
     
  • ช่วงกลางคืนจะยาวนานมากในฤดูหนาว เห็นพระอาทิตย์แค่ 6 ชม.เอง จิตตกมากกก ป่วยง่ายด้วย TT
     
  • อันนี้เซอร์ไพรซ์มาก! ในห้องน้ำทุกห้องจะมีผ้าอนามัยให้นักศึกษาหยิบใช้ได้ฟรี
ในห้องน้ำทุกห้องจะมีผ้าอนามัยให้นักศึกษาหยิบใช้ได้ฟรี
ในห้องน้ำทุกห้องจะมีผ้าอนามัยให้นักศึกษาหยิบใช้ได้ฟรี

ญี่ปุ่น

 

  • ข้อดีของญี่ปุ่นคือความปลอดภัย มีอาหารที่เราคุ้นชิน // แต่ส่วนตัวเรารู้สึกว่านมสดที่ญี่ปุ่นไม่อร่อย รสชาติเหมือนนมผสมน้ำ ถ้ากินนมสดอร่อยจริงๆ จะมีแพงมาก ร้อยกว่าบาท แต่ถ้าเป็นแถบออสเตรเลียหรืออังกฤษ ถึงแม้จะเป็นนมราคาถูกๆ ก็อร่อยและดี
     
  • มีนโยบายให้ประชาชนต้องแยกขยะตามประเภท ถุงแดง ถุงเหลือง ถุงเขียว ฯลฯ ค่าถุงขยะแพงเพราะมันมีรวมค่าบริหารจัดการของเสีย ซึ่งจะมีค่าน้ำ-ค่าไฟตั้งต้น ค่าบำบัดน้ำเสียที่เพิ่มจากค่าน้ำไปอีก
     
  • ในขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็ให้ความสำคัญกับแพ็กเกจมากกก ของชิ้นนึงห่อ 4-5 ชั้นได้ อย่างเช่นเราเคยซื้อคุกกี้กล่องนึง กล่องทำทรงบล็อกที่กันกระแทกระดับนึงแล้ว แต่ยังมีบับเบิลแทรกระหว่างห่อคุกกี้แต่ละชิ้นอีก ทุกอย่างใส่ถุงพลาสติก
     
  • ถึงจะขึ้นชื่อเรื่องความเป็นระเบียบวินัย ต่อแถวเป๊ะ ของลืมไว้ไม่หาย แต่ถ้าอะไรที่ระบุไม่ชัดเจนเขาก็จะหละหลวม ไม่ค่อยแคร์กฎหมายกัน อย่างเช่นช่วงโควิดที่รัฐบาลออกมาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (State of Emergency) ในข้อความระบุว่า ‘ขอความร่วมมือ’ แต่ไม่ได้มีบทลงโทษ ฟังดูไม่หนักแน่นมั่นคง ไม่เด็ดขาด แต่ละคนก็คิดตีความต่างกัน ผลคือ social distancing ไม่มีเลย คนไม่ใส่ mask กันเยอะมาก(ในที่อากาศเปิด) วัยรุ่นเด็กๆแทบจะไม่ใส่กันเลย ใส่ก็คาดปากไม่แนบจมูกและหน้า ต่างจากภาพลักษณ์ความเป็นระเบียบที่คนภายนอกเห็นค่ะ (ในขณะที่สกอตแลนด์ ปิดคือปิดจริง ปิดทุกห้าง พอเปิดปุ๊บก็ลดราคากระหน่ำค่า)
ญี่ปุ่น
ญี่ปุ่น

……….

Before & After
ต่างประเทศเปลี่ยนอะไรเราบ้าง?

 

จากที่ไปแลกเปลี่ยน เรียน หรือทำงานในหลายๆ ประเทศ ทั้งออสเตรเลีย เยอรมนี สกอตแลนด์ อเมริกา ช่วยหล่อหลอมนิสัยเราให้ไปทางที่ดีขึ้น เราพยายามพึ่งตัวเอง ใช้จ่ายอย่างรู้คุณค่า ระวังและดูแลตัวเองทั้งสุขภาพและการใช้ชีวิต แล้วยังเผื่อแผ่ไปจนถึงคนที่เรารัก เพื่อนและครอบครัวด้วยค่ะ

เรื่องทัศนคติก็เปลี่ยนเหมือนกัน ประสบการณ์เปลี่ยนให้เรามองทุกอย่างเป็นกลาง ยอมรับความความคิดเห็นของคนอื่นและไม่ตัดสินผู้อืื่นจากภายนอกหรือเอาความคิดตัวเองเป็นที่ตั้ง เราเลยยินดีมาก ถ้าได้โอกาสและสนับสนุนคนอื่น แต่เราก็ต้องชั่งน้ำหนักว่าช่วยแค่ไหน ถ้าช่วยแล้วตัวเองลำบากก็ไม่ควรทำ เรายินดีจะช่วยเท่าที่ทำได้โดยไม่หวังผลตอบแทน เราเข้าใจว่าคนบนโลกเป็นล้านๆ และเราจะหวังให้เขาดีกับเราทุกคนไม่ได้ แต่อย่างน้อยเราก็เริ่มจากตัวเราเอง และทำดีกับคนอื่นๆ ได้นะ

ปล. ตอนนี้พี่อยู่ที่เมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น สามารถติดตามหรือสอบถามเรื่องที่สงสัยทาง inbox เพจ DoubleS JP roaming  ได้เลยค่ะ :)

สกอตแลนด์
สกอตแลนด์

......

ชวนอ่านต่อ

 

How to "เรียนกฎหมาย" ที่อเมริกา ต้องจบปริญญาตรีมาก่อน จึงจะเรียนได้!

https://www.dek-d.com/studyabroad/43144/ 

10 คำถามกับเด็ก ‘Harvard Law School' : รีวิวกว่าจะสอบติด, วิธีเรียน, สภาพแวดล้อม ฯลฯ

https://www.dek-d.com/studyabroad/55963/ 

คุยกับเด็กโทกฎหมาย 2 ใบที่ 'อังกฤษ' และ 'สกอตแลนด์' เปิดโลกทั้งระบบเรียนและคุณภาพชีวิต

https://www.dek-d.com/studyabroad/56324/ 

ขอบคุณภาพประกอบจากเจ้าของเรื่อง Flags icon by Freepikhttps://www.flaticon.com/free-icon/japan_555646https://www.flaticon.com/free-icon/scotland_555643

 

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

6 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยเจ้าของ

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยเจ้าของ

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยเจ้าของ

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากมีเนื้อหาไม่เหมาะสม ผิดลิขสิทธิ์ ขัดต่อหลักกฎหมาย หรือศีลธรรม

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากมีเนื้อหาไม่เหมาะสม ผิดลิขสิทธิ์ ขัดต่อหลักกฎหมาย หรือศีลธรรม

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากมีเนื้อหาไม่เหมาะสม ผิดลิขสิทธิ์ ขัดต่อหลักกฎหมาย หรือศีลธรรม

กำลังโหลด
กำลังโหลด