‘Thuzar Wint Lwin’ มิสยูนิเวิร์สเมียนมาผู้คว้ารางวัลชุดประจำชาติ กับการ Call Out เพื่อประชาธิปไตย!

สวัสดีค่ะน้องๆ Dek-D ทุกคน วันนี้เราขอเกาะกระแส #MissUniverse2020 โดยการพาทุกคนไปเจาะลึกเบื้องหลังของ "ธูชาร์ วินท์ ลวิน" มิสยูนิเวิร์สเมียนมาผู้ใช้เวทีการประกวดนางงามของเธอเพื่อวิพากษ์วิจารณ์การรัฐประหารของกองทัพทหารในประเทศพม่า และสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย กันค่ะ! 

Photo Credit: The New York Times
Photo Credit: The New York Times

ในฐานะเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ธูชาร์ วินท์ ลวินดูการประกวด Miss Universe และหวังว่าเธอจะได้เป็นคนหนึ่งที่ได้แสดงออกถึงความเป็นเมียนมาผ่านเวทีโลก เธอเข้าร่วมการประกวดครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว พร้อมความรู้สึกประหม่าและตื่นเต้นจนเกือบถอดใจจากการประกวดไปแล้ว 

แต่สุดท้ายเธอก็ได้ยืนหยัดและลุกขึ้นสู้อีกครั้ง พร้อมกับความหมายของการเป็นตัวแทนประเทศนั้นชัดเจนและมีเป้าหมายมากขึ้น หลังจากที่ทหารในประเทศได้เข้ายึดอำนาจและทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ และสังหารผู้ประท้วงหลายร้อยคน เธอจึงหวังจะใช้เวทีของเธอเพื่อเรียกร้องให้กับการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของเมียนมา และขอความช่วยเหลือจากนานาชาติในการปล่อยตัวผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งกำลังถูกควบคุมตัวอยู่ในขณะนี้ “พวกเขาฆ่าคนของเราเหมือนสัตว์” เธอให้สัมภาษณ์ก่อนการเดินทางออกจากพม่าเพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน “ความเป็นมนุษยชาติอยู่ที่ไหน? โปรดช่วยพวกเราด้วย เราทำอะไรไม่ได้เลยที่นี่”

เพราะนางงามคือผู้ถือกระบอกเสียงของประเทศ

และช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ก็ได้เริ่มขึ้น เมื่อระหว่างรอบการแสดงชุดประจำชาติ ธูชาร์ วินท์ ลวินได้เดินไปที่หน้าเวทีพร้อมถือป้ายที่มีข้อความว่า “Pray for Myanmar (ภาวนาให้เมียนมา)” 

Photo Credit: ig @thuzar_wintlwin
Photo Credit: ig @thuzar_wintlwin

การยึดอำนาจทางทหารในเมียนมาเป็นชนวนให้เกิดการประท้วงในประเทศเป็นวงกว้าง ผู้คนนับล้านออกมาร่วมชุมนุมตามท้องถนนเพื่อประท้วงเผด็จการทหาร และปิดระบบเศรษฐกิจ นั่นทำให้ 'Tatmadaw (ตัดมาดอว์)' กองทัพทหารพม่าตอบโต้ด้วยการปราบปรามอย่างโหดเหี้ยม สังหารผู้คนไปมากกว่า 780 คนและกักขังมากกว่า 3,900 คนค่ะ

Photo Credit: ig @thuzar_wintlwin
Photo Credit: ig @thuzar_wintlwin

ธูชาร์ วินท์ ลวินก็ได้ร่วมแจกขวดน้ำให้กับผู้ประท้วงในย่างกุ้ง และบริจาคเงินให้กับครอบครัวผู้คนที่ถูกสังหาร อีกทั้งยังแสดงการต่อต้านรัฐบาลทหารผ่าน Facebook ส่วนตัว โดยการโพสต์รูปถ่ายขาวดำของตัวเองที่ถูกปิดตา มีเทปปิดปากและมัดมือไว้ด้วยค่ะ 

Photo Credit: ig @thuzar_wintlwin
Photo Credit: ig @thuzar_wintlwin

“การโจมตีของทหารทำให้ทั้งประเทศต้องตกอยู่ในความหวาดกลัว” เธอกล่าว “ทหารออกลาดตระเวนในเมืองทุกวันและบางครั้งพวกเขาก็ตั้งแนวกีดขวางเพื่อก่อกวนผู้คนที่ผ่านเข้ามา” “พวกเขายิงโดยไม่มีความลังเล พวกเราต้องมาหวาดกลัวทหารของเราเอง เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเห็นพวกเขา สิ่งที่เรารู้สึกคือความโกรธและความกลัว"

ทุกเย็นทางโทรทัศน์ กองทัพจะออกหมายจับคนดังและคนอื่นๆ มากมายที่วิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครองระบอบเผด็จการทหาร และชื่อเหล่านั้นล้วนเป็นคนที่เธอรู้จักด้วยค่ะ ช่วงก่อนจะเดินทางไปอเมริกา เธอต้องเฝ้าดูอย่างใจจดใจจ่อว่าจะมีชื่อของเธอในรายชื่อเหล่านั้นหรือไม่ ในวันที่อยู่สนามบินย่างกุ้ง เธอก็เลือกจะสวมเสื้อฮู้ดและแว่นตาเพื่อปกปิดไม่ให้สะดุดตา พร้อมเผชิญความกลัวที่ทวีคูณเมื่อถึงด่านตรวจคนเข้าเมือง

ฉันเห็นความอยุติธรรมตั้งแต่จำความได้

เส้นทางสู่การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของเธอ อาจสามารถย้อนกลับไปได้ตั้งแต่วัยเด็กของเธอเลยค่ะ ธูชาร์ วินท์ ลวินเติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางที่ไม่กล้าพูดถึงรัฐบาลทหารที่กำลังเรืองอำนาจอยู่ในขณะนั้น

Saffron Revolution in 2007
Saffron Revolution in 2007
Photo Credit: Radio Free Asia 

ความทรงจำแรกของเธอ คือการไปเดินเล่นกับแม่ที่บริเวณใกล้ๆ กับเจดีย์ 'Sule (สุเล)' ใจกลางเมืองย่างกุ้งปี 2550 ปีที่พระสงฆ์นำการประท้วงเพื่อต่อต้านการปกครองของรัฐบาลทหาร ในตอนนั้นเธออายุได้เพียง 7 ขวบเท่านั้น เมื่อผู้ประท้วงเริ่มเข้าใกล้เจดีย์ เหล่าทหารก็บุกเข้ามาและยิงปืนขึ้นกลางอากาศจนทำให้ผู้คนเริ่มวิ่ง รวมถึงเธอและแม่ของเธอด้วย “เรากลัวมาก” เธอเล่า “เราต้องไปซ่อนตัวที่บ้านของคนแปลกหน้า” หลังจากนั้นไม่นานทหารก็บดขยี้การประท้วงด้วยการกระหน่ำยิงผู้คนหลายสิบคน แต่ภายในปี 2554 กองทัพทหารเริ่มมีการแบ่งอำนาจกับผู้นำพลเรือนและเปิดประเทศ ทำให้โทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตราคาประหยัดเข้ามา

จึงถือได้ว่าคุณธูชาร์ วินท์ ลวินเป็นหนึ่งในคนรุ่นแรกของพม่าที่เติบโตมาในช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจพร้อมกับการเชื่อมต่อกับโลกภายนอกเลยก็ว่าได้ค่ะ ต่อมาในปี 2558 ประเทศพม่าได้ทำการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกในรอบกว่าครึ่งศตวรรษ “เราใช้ชีวิตอย่างอิสระมาห้าปีแล้ว” เธอกล่าว “อย่าพาเรากลับไปจุดเดิม เรารู้ทุกอย่างเกี่ยวกับโลกแล้ว เรามีอินเทอร์เน็ต”

และเมื่อเดือนพฤศจิกายนเป็นครั้งแรกที่เธออายุมากพอที่จะได้ลงคะแนนเสียง และเธอลงคะแนนให้กับพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยซึ่งเป็นพรรคของนางอองซานซูจีที่ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย แต่สุดท้ายกองทัพก็คว่ำผลการเลือกตั้งด้วยการเข้ายึดอำนาจ...

ธูชาร์ วินท์ ลวินเข้ารับการผ่าตัดเนื้องอกบริเวณอกที่เป็นมะเร็ง และเลือกจะให้รอยแผลเป็นเป็นเครื่องเตือนว่าเธอเคยเอาชนะมะเร็งได้สำเร็จ
ธูชาร์ วินท์ ลวินเข้ารับการผ่าตัดเนื้องอกบริเวณอกที่เป็นมะเร็ง และเลือกจะให้รอยแผลเป็นเป็นเครื่องเตือนว่าเธอเคยเอาชนะมะเร็งได้สำเร็จ
Photo Credit: ig @thuzar_wintlwin

เพราะชุดประจำชาติคือเสียงของประชาชนในชาติ

เมื่อธูชาร์ วินท์ ลวินมาถึงฟลอริดาในวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา เธอได้รับแจ้งว่ากระเป๋าเดินทางพร้อมชุดของเธอสำหรับการแข่งขันได้สูญหายไป หนึ่งในนั้นคือ ‘ชุดประจำชาติ’ นั่นเองค่ะ เดิมทีคือชุด ‘Pyit Tine Htaung’ หรือชุดตุ๊กตาล้มลุก สื่อความหมายที่ว่า ยังไงก็จะไม่ยอมแพ้ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ค่ะ 

Photo Credit: ig @thuzar_wintlwin
Photo Credit: ig @thuzar_wintlwin

จากนั้นผู้คนจากเมียนมาที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาเลยช่วยจัดหา ‘ชุดชาติพันธุ์ฉิน’ หนึ่งในชนเผ่าของเมียนมาให้เธอใส่แทนค่ะ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับและเสียงปรบมือจากผู้คนมากมายเลยทีเดียวค่ะ 

Photo Credit: ig @thuzar_wintlwin
Photo Credit: ig @thuzar_wintlwin

เธอยังโพสลง Instagram ว่า “ชุดนี้เป็นหนึ่งในเครื่องแต่งกายประจำชาติพม่าที่หญิงเผ่า ‘Chin (ฉิน)’ จะสวมใส่ในงานพิธีแบบดั้งเดิม (โดยเฉพาะในเทศกาล ‘Khwang Cawi/ ควางกาวี’) ในอดีตนั้น ผู้ปกครองและเหล่าคนร่ำรวยแห่ง 'Hakha' ประกาศให้มีเทศกาลควางกาวีเพื่อเป็นเกียรติและแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ทางภูมิปัญญา ความมั่งคั่ง และความงามของคู่ครองของพวกเขา (ในปัจจุบันใช้สำหรับลูกสาวด้วยค่ะ) ในวันนั้นหญิงสาวชาวฉินที่น่าชื่นชมและกล้าหาญจะได้รับการประดับประดาด้วยอัญมณีเงินโบราณ งานหัตถกรรมแบบดั้งเดิมสีสันสวยงาม และผ้าทอมือ จากเครื่องแต่งกายนี้เราจะสามารถเห็นถึงฝีมือการทอผ้าที่ละเอียดอ่อนของสตรีชาวเมียนมาและภาพลักษณ์ที่กล้าหาญของพวกเธอ  และตัวธูชาร์ วินท์ ลวินเองก็ได้แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณที่มุ่งมั่นและไม่หยุดยั้งของผู้หญิงที่เข้ากับเครื่องแต่งกายที่มีความหมายนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ” 

และหลังจากถึงที่ฟลอริดาไม่นานเธอก็ได้โพสต์วิดีโอเกี่ยวกับอัตชีวประวัติบนเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างแปลกสำหรับผู้เข้าประกวดนางงามเลยทีเดียวค่ะ ในวิดีโอเป็นเธอที่สวมชุดประกวดนางงามผสมกับฉากของผู้คนที่หลบหนีแก๊สน้ำตาและทหารที่กำลังยิงชายที่ขี่มอเตอร์ไซค์ค่ะ “เมียนมาสมควรได้รับประชาธิปไตย” เธอกล่าวในวิดีโอ “เราจะต่อสู้ต่อไปและฉันหวังว่านานาประเทศจะให้ความช่วยเหลือที่เราต้องการอย่างยิ่ง”

...

และนอกจากธูชาร์ วินท์ ลวินจะเป็นมิสยูนิเวิร์สคนแรกของเมียนมาที่เข้ารอบ 21 คนสุดท้ายแล้ว (ไม่เคยมีนางงามเมียนมาคนไหนมาไกลถึงรอบนี้) รางวัลชุดประจำชาติปี 2020 ก็ยังตกไปเป็นของมิสเมียนมาอย่างไม่ต้องสงสัยอีกค่ะ เพราะแมสเสจที่ส่งผ่านไป ได้แสดงให้นานาประเทศได้เห็นถึง 'สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศ' อย่างแยบคายทีเดียวค่ะ เพราะหน้าที่ของนางงามคือเป็นตัวแทนของประเทศนำเสนอความเป็นชาติ และส่งเสียงแทนประชาชนผู้สร้างชาตินัั่นเองค่ะ :-) 

Sources:https://www.nytimes.com/2021/05/14/world/asia/myanmar-coup-miss-universe.htmlhttps://www.instagram.com/thuzar_wintlwin/https://www.facebook.com/watch/?v=586429095628475https://www.rfa.org/english/news/special/saffron/

 

 

พี่ชีตาร์
พี่ชีตาร์ - Columnist Once a Literature Student, Always a Literature Student

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น