แชร์บทเรียนจาก TED: 10 เทคนิคสร้างบทสนทนาอันน่าประทับใจ พูดและฟังให้สมดุล!

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ทุกคน มีใครเคยรู้สึกไม่มั่นใจกับการสนทนาหรือเคยหลบหน้าคนบางคนเพียงแค่ไม่อยากคุยด้วยบางไหมคะ? ถ้ามีแสดงว่าเราอาจจะยังรู้จักกับ “ทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคล” ไม่ดีพอ ถึงแม้ว่าโลกจะพัฒนาไป เทคโนโลยีจะทำให้การสื่อสารเชื่อมโยงถึงกันได้มากขึ้น แต่บางครั้งการสื่อสารที่ผิดพลาด ก็อาจทำให้เราและคนรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน หรือคนรัก ผิดใจกันจนกระทบต่อความสัมพันธ์อันดีที่มีมาเนิ่นนานเลยก็ได้

วันก่อน พี่ปุณ ได้มีโอกาสดูคลิปคลิปนึงจาก TEDxCreativeCoast ซึ่งเป็นคลิปที่ ‘Celeste Headlee’ นักสัมภาษณ์มืออาชีพได้มาแชร์ 10 วิธีที่จะช่วยให้บทสนทนาน่าสนใจและมีความสมดุล ว่าแล้วก็ไปดูกันค่ะว่าจากประสบการณ์ที่เธอได้พบเจอและพูดคุยกับผู้คนมากหน้าหลายตา เธอจะมีทริคอะไรมาแชร์ให้เราได้นำไปปรับใช้กับการสนทนาในชีวิตประจำวันกันบ้าง!

Photo credit: Ted.com
Photo credit: Ted.com

1 อย่าทำหลายสิ่งหลายอย่างไปพร้อมกัน

เมื่อเราคิดจะพูดคุยกับใครสักคนแล้วก็ควรเทความสนใจและโฟกัสไปที่เขา อย่าเอาแต่คิดเรื่องอื่นที่วนเวียนเข้ามาในหัว หรือมัวแต่ก้มหน้าก้มตาเล่นโทรศัพท์ เพราะนอกจากจะทำให้เราไม่ได้ฟังในสิ่งที่คู่สนทนาพูดอยู่ มันยังดูเป็นการไม่ให้เกียรติเขาอีกด้วยค่ะ

2 พูดและฟังอย่างสมดุล

‘Bill Nye’ เคยบอกไว้ว่า “ทุกคนที่คุณได้พบเจอ ล้วนรู้ในบางสิ่งที่คุณไม่เคยรู้” ซึ่งนั่นหมายความว่าเมื่อเราจะพูดคุยกับใคร เราต้องเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ ไม่ควรพูดหรือวิจารณ์มากจนเกินไป แต่ต้องยอมสละความคิดเห็นบางส่วน รับฟัง และเอาใจใส่ในสิ่งที่เขาตอบกลับมาด้วย

3 ต่อบทสนทนาด้วยคำถามปลายเปิด

ถ้าใครไม่แน่ใจว่า “คำถามปลายเปิด” คืออะไร? ให้ลองนึกถึงเวลานักข่าวเริ่มสัมภาษณ์ พวกเขามักจะเปิดด้วยคำถามที่ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร และทำไม ซึ่งนั่นทำให้คำตอบที่พวกเขาได้รับสะท้อนให้เห็นทั้งทัศนคติ ความคิดเห็น และความรู้สึกของผู้ถูกสัมภาษณ์ ในทางกลับกันถ้าเราเอาแต่ตั้งคำถามที่ตอบได้ด้วยคำว่า “ใช่” หรือ “ไม่” บทสนทนาของเราก็จะไปต่อได้ยากและไม่ราบรื่นนั่นเอง

Photo credit: Unsplash.com
Photo credit: Unsplash.com

4 ไหลตามน้ำไป

การสนทนาที่ดีคือการสนทนาที่เป็นธรรมชาติ เมื่อเราอยู่ต่อหน้าคู่สนทนา เราควรฟังว่าเขากำลังพูดหรือสนใจเรื่องอะไร และหาโอกาสถามหรือเสนอความคิดเห็นในเรื่องเดียวกัน เพราะถ้าเรามัวแต่ยึดติดกับสิ่งที่เตรียมมา เราอาจจะพลาดข้อมูลสำคัญในช่วงเวลานั้นไปเลยก็ได้

5 รู้บอกรู้ ไม่รู้บอกไม่รู้!

ข้อนี้เป็นอีกหนึ่งข้อที่เราควรระมัดระวังให้ดี “อย่าปล่อยให้คำพูดเป็นเพียงลมปาก” เมื่อพูดอะไรออกไป ก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่พูดด้วย ถ้าเรื่องไหนเป็นเรื่องที่เราไม่รู้หรือไม่เข้าใจ เราก็ควรยอมรับและบอกออกไปตรงๆ นั่นเองค่ะ

Photo credit: Unsplash.com
Photo credit: Unsplash.com

6 อย่าเปรียบเทียบประสบการณ์ของตนเองกับใคร

ถ้าคู่สนทนาเล่าให้ฟังถึงความสูญเสียหรือปัญหาที่เขากำลังเจอ เราไม่จำเป็นต้องตอบกลับไปว่าเราเคยสูญเสียอะไรหรือเคยเผชิญปัญหาที่หนักขนาดไหนมา เพราะไม่ว่าหัวข้อสนทนาที่เขาระบายให้เราฟังจะเป็นเรื่องอะไร มันก็เป็นเรื่องของเขา เราไม่จำเป็นต้องเอาตัวเองไปอยู่ในนั้น และที่สำคัญคือ “แต่ละคนล้วนมีประสบการณ์และเรื่องราวในชีวิตที่ต่างกันไป เราจึงไม่สามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาเปรียบเทียบกันได้เลย”

7 อย่าทวนคำพูดตนเอง

บางครั้งเราอาจหลงลืมไปว่าเราพูดประโยคไหนหรือถามคำถามอะไรกับคู่สนทนาไปบ้างแล้ว แต่ยิ่งเราพูดซ้ำย้ำเรื่องเดิมมากเท่าไหร่ การสนทนาก็จะยิ่งน่าเบื่อมากเท่านั้น เราจึงต้องตั้งสติและเรียบเรียงคำพูดให้ดี พยายามอย่าทวนคำพูดหรือถามคำถามซ้ำๆ จนทำให้ผู้อื่นรำคาญใจ

Photo credit: Unsplash.com
Photo credit: Unsplash.com

8 อยู่ให้ห่างจากเรื่องยิบย่อย

คนเรามักอยากสนทนากับคนที่สนใจในเรื่องเดียวกันหรือชอบอะไรเหมือนๆ กัน ดังนั้นการที่เราเอาแต่เล่าเรื่องละเอียดยิบย่อย ซึ่งไม่ได้ใจความสำคัญ มันอาจสร้างบรรยากาศอันแสนอึดอัดขึ้นระหว่างเรากับเขาได้ สังเกตให้ดีว่าสิ่งที่เขาสนใจคืออะไร แล้วโฟกัสให้ถูกจุดตั้งแต่แรกไปเลย

9 ฟังนั้นสำคัญไฉน?

โดยธรรมชาติแล้วคนเรามักชอบพูดมากกว่าฟัง เพราะนอกจากผู้พูดจะได้เป็นศูนย์กลางความสนใจแล้ว เขายังจะได้ฉายแววความเป็นตัวตนออกมาอีกด้วย แต่ถ้าต่างคนต่างพูดแล้วไม่มีคนฟังมันจะเรียกว่าการสนทนาได้อย่างไร จริงไหมล่ะคะ? ‘Calvin Coolidge’ เคยกล่าวไว้ว่า “ไม่มีใครที่ฟังแล้วต้องตกงาน” ประโยคนี้แสดงให้เห็นความสำคัญของทักษะการฟัง ซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจ ยิ่งเราฟังมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งเรียนรู้คู่สนทนาได้มากขึ้นเท่านั้น

10 พูดให้สั้นเข้าไว้

สำหรับทริคข้อสุดท้าย Caleste ได้เล่าถึงคำพูดหนึ่งของพี่สาว “การสนทนาที่ดีต้องสั้นพอที่จะดึงดูดความสนใจ แต่ก็ยาวพอที่จะครอบคลุมจุดสำคัญ” ดังนั้นไม่ว่าจะสนทนากับใคร เราจึงควรพูดให้สั้น กระชับ และได้ใจความ

Photo credit: Unsplash.com
Photo credit: Unsplash.com

และนี่ก็คือ “10 วิธีที่จะช่วยสร้างบทสนทนาอันน่าประทับใจให้กับคนรอบข้าง” ถ้าอยากสร้างบทสนทนาที่ดี เราต้องเปิดใจรับฟังคนอื่นให้มาก พูดให้น้อย เน้นแต่ประเด็นสำคัญที่เขาและเราสนใจ และสำหรับใครที่อยากเรียนรู้เพิ่มเติมก็สามารถตามไปดูต่อได้ที่ TEDxCreativeCoast หัวข้อ ‘10 ways to have a better conversation’ ได้เลยค่ะ!


Sources:
https://www.teamstrength.net/celeste-headlee-ted-talk-10-ways-to-have-a-better-conversation/ https://www.ted.com/talks/celeste_headlee_10_ways_to_have_a_better_conversation/transcript#t-292914
พี่ปุณ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น