นี่แหละความสวี! รีวิวฉบับนักเรียนไทยในสวีเดน ได้ทุน100% เรียนที่ Konstfack ม.อาร์ตสุดอลัง (LGBTQ+Friendly)

สวัสดีค่ะชาว Dek-D เวลาเดินร้านเฟอร์นิเจอร์สัญชาติสวีเดนอย่าง IKEA หรือฟังเรื่องราวความสุขของประเทศนี้ ก็น่าจะทำให้บางคนรู้สึกละมุ้นนนนละมุนใจจนอยากไปลองเรียนต่อสักครั้งใช่มั้ยคะ เดี๋ยวเราจะพาไปอ่านรีวิวชีวิต 'พี่นิทาน' อดีตคอลัมนิสต์หมวดเรียนต่อนอกผู้หลงใหลในสวีเดนที่คว้าทุนค่าเรียน100% ไปเรียนต่อ ป.โทสาขา Visual Communication ที่ Konstfack - University of Arts, Crafts and Design ซึ่งที่นี่คือ รร.อาร์ตที่ดังมากของประเทศ แล้วตอนพี่นิทานสมัครเนี่ยเค้ามีโควตาแค่ 1 ทุน สุดท้ายข่าวดีก็มาตอนกำลังนั่งปั่นคอนเทนต์ขึ้นเว็บนั่นแหละ ใครอยู่ทีมสวีเดนห้ามพลาดค่ะ :)

(บทความนี้อ้างอิงเรตค่าเงิน 1 Swedish Krona = 3.75 Thai Baht / อัปเดต มิ.ย.64)

ตกหลุมรักสวีเดนจากยูทูบ
ขอลองไป Workaway ให้เห็นกับตา

เหตุผลที่ไปสวีเดนเริ่มจากที่เราเคยขอวีซ่า 45 วัน ตั้งใจจะไป take gap year ที่ยุโรปสักประเทศนึง แล้วมาลงตัวที่นี่ เพราะไปเจอคลิปในยูทูบแล้วรู้สึกธรรมชาติที่นั่นสวยมากๆ บวกกับเพลงบางวงที่ชอบก็มาจากสวีเดนด้วย ตอนนั้นเราเลือกสมัครโปรแกรม Workaway เป็นโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่จะให้เราสมัครเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครทำงานเพื่อแลกอาหารและที่พัก โดยผู้สมัครจะต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป 

*ต้องบอกก่อนว่าโปรแกรมนี้เน้นให้เราเก็บประสบการณ์กับความประทับใจเฉยๆ เราจะไม่ได้ค่าจ้าง (ยกเว้นโฮสต์บางคนมีระบุบนโพรไฟล์ว่าให้ค่าจ้างด้วย)  ส่วนระยะเวลาอาจจะ 1 สัปดาห์, 3 เดือน หรือนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับโฮสต์และผู้สมัครตกลงกัน

เราเลือกไปทำฟาร์ม 2 สัปดาห์ ไปช่วงซัมเมอร์ที่ไม่ได้ชวนหดหู่เหมือนหน้าหนาว คือบ้านเมืองเค้าสวยมากจริงๆ แล้วตอนนั้นไปในฐานะนักท่องเที่ยว ทำให้เจออะไรแปลกใหม่ มีคนใจดีคอยช่วยเหลือ มีเพื่อนน่ารักๆ จากโฮสเทล พอกลับมาเราก็ไปสวีเดนอีกหลายรอบ หลงใหลจนถึงจุดที่อยากพาตัวเองไปอยู่สวีเดนสักครั้งในชีวิต

ถ่ายรูปกับนักร้องคนโปรดด <3
ถ่ายรูปกับนักร้องคนโปรดด <3

"แต่จะไปทำงานเลยคงยาก
งั้นขอลองเป็นเด็กป.โทสักครั้ง"

พาร์ตสมัครเรียนมหา'ลัย
(*สมัครก่อนถึงจะมีสิทธิ์ขอทุน)

พอมีเป้าหมายแล้วชีวิตจะง่ายขึ้นเยอะ เรารู้ตัวว่าชอบสวีเดนกับ Art เลยนั่งหาข้อมูลจนมาเจอที่ Konstfack มหาวิทยาลัยสอนศิลปะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงด้านการผลิตศิลปินที่มีชื่อเสียง (อย่าง  'Tove Jansson' คนฟินแลนด์ที่วาด Mumin ก็เรียนจบที่นี่) ก่อตั้งมาตั้งแต่ 1844 โดยเติบโตมาจากโรงเรียนศิลปะเล็กๆ ชื่อ Sunday Drawing School for Artisans ในแต่ละปีที่นี่จะรับนักศึกษาเข้าเรียนไม่ต่ำกว่า 1,000 คนตั้งแต่ปริญญาตรีถึงเอก รวมถึงนักศึกษาวิชาครูและคอร์สพิเศษด้วย

ที่สวีเดนเราสมัครเรียนสะดวกมาก เค้ามีเว็บกลางให้ชื่อว่า Universityadmissions.se  เราสามารถเข้าไปค้นคีย์เวิร์ดคณะ เช่น Art แล้วเลือกมหาวิทยาลัยได้เลย เค้าจะมีช่องให้ส่งเอกสารการเรียน 

ตอนนั้นเรายื่น 2 ที่คือ Konstfack กับ U. of Gothenburg ส่วนที่เครียดสุดคือ IELTS เพราะมันยากมากกสำหรับเรา ถึงจะชอบพูดภาษาอังกฤษแต่ไม่ได้ชอบแกรมมาร์ ได้คะแนนมาผ่านแบบฉิวเฉียด แต่ก็ลองยื่นไปก่อน ตอนหลังถึงรู้ว่า ม.ไม่ได้ซีเรียสคะแนนภาษาขนาดนั้น

จากนั้น ม.เค้าจะคัดเลือกแล้วส่งอีเมลมานัดสัมภาษณ์ พอถึงเวลาเป๊ะเค้าก็โทรมาเลย ได้สัมภาษณ์กับครู 2 คนด้าน Graphic Design กับ Illustrator ที่เดี๋ยวพอติดเราก็จะได้เรียนกับเค้าจริงๆ ตอนสัมคือตื่นเต้นมากกกก เอาเล็บจิกมือจนเป็นแผล 5555555 จริงๆ ครูเค้าน่ารักทั้งคู่ ฮาๆ เหมือนคุยเล่นธรรมดาเลย เราว่าการที่เค้าเลือกมาสัมก็คือเค้าจะรับแหละ แต่อยากรู้ว่าเราเตรียมมายังไง เรารู้ใช่มั้ยว่าจะได้เรียนอะไร หลักสูตรโฟกัสเรื่องไหนบ้าง

พาร์ตสมัครทุน

ตอนแรกคิดว่าถึงติดมหา'ลัยก็คงไม่ได้ไป เพราะหลักสูตรที่เรียนตอนนี้มันตก 2 ล้านบาทไทย แต่มารู้ทีหลังว่าจริงๆ มีทุนนะ ถึงจะจำกัดปีละ 1 ทุนก็เหอะ ยังไงก็ทำเต็มที่ไว้ก่อน โชคดีมีเพื่อนคนไทยที่รู้จักแล้วเรียนสาขานี้รุ่นก่อนหน้าเราเค้าช่วยส่ง Portfolio ให้เราดูเป็นไกด์ไลน์ว่าควรจะใส่งานอะไรลงไปบ้าง แต่เราก็ทำออกมาเป็นตัวตนของเรานะ

แล้วมีวันนึงนั่งทำงานใน Dek-D นี่แหละ เปิดอีเมลมาเช็ก ‘คุณได้ทุนนะจ๊ะ’ เฮ้ยยยยได้ด้วยอ่ะ ชั้นไปแน่นอนจ้าาาา วิ่งไปบอกพี่อติน คนแรก 555555 พอติดแล้วอาจารย์จะติดต่อมาเองก่อนเริ่มเรียนเลย เราก็ไปทำเรื่องขอ Student Visa ผ่านสถานทูตสวีเดนในไทย คร่าวๆ คือเอาใบที่ยื่นว่าติดมหา’ลัยนี้จริงๆ กับ Bank Statement เพราะเค้าต้องการดูว่าเราจะมีเงินอยู่สวีเดนได้ใน 1 ปีมั้ย 

ด้วยความที่ทุนนี้ให้เฉพาะค่าเรียน 100% แปลว่าต้องมีเงินเก็บสักก้อนนึงไว้เช่าหอพักกับใช้ในชีวิตประจำวันด้วย ตอนเราไปกำหนดงบให้ตัวเอง 10,000 Kr/เดือน หรือประมาณ 37,500 บาทไทย (แต่มันจะมีคนประหยัดได้มากกว่านี้ อาจสัก 8,000 Kr ได้) ถ้าเป็นค่าหอที่โอเคจะตก 3,500-4,500 Kr./เดือน รวมค่าน้ำค่าไฟแล้ว

แล้วเราโชคดีอีกอย่างนึง (อันนี้ขออวยสถานทูตสวีเดนในไทยหน่อย~) ตอนปี 2018 ที่เราได้ทุน เป็นปีแรกที่เค้าจัดอีเวนต์ให้นักเรียนไทยที่เตรียมไปสวีเดนปีนั้นมารวมตัวและพบปะท่านทูต ทำให้เราได้รู้จักเพื่อนคนไทยตั้งแต่ก่อนเดินทาง จนทุกวันนี้ยังมีนัดเจอและคอยช่วยเหลือกันตลอด ถ้าไม่มีงานนี้อาจไม่รู้จักใครเลยก็ได้

เข้าสู่ชีวิตนักเรียนที่ Konstfack
ม.นี้มีอะไรให้เล่นเยอะมาก!

เวลามีคนถามแล้วเราบอกว่าจบจาก Konstfack (อ่านว่า คอนสต์ฟัค) คนจะบอกเลยว่ามันไม่ธรรมดา เก๋มากว่ะ! พอบอกแบบนี้เลยเชื่อรู้ว่าดังจริง 5555 // ตัวมหา'ลัยเองถ้ามองโครงสร้างภายนอกจะเหมือนแค่ตึกนึงแหละ เพราะเป็นโรงงานเก่าของบริษัทมือถือ แต่ข้างในทั้งกว้างและมีอะไรให้เล่นเยอะ

เครื่องมือพร้อมซัพพอร์ต
เครื่องมือพร้อมซัพพอร์ต

ป.โทภาคอินเตอร์จะมีรุ่นนึงไม่เกิน 15-20 คน นี่แหละเลยเป็นเหตุผลที่ให้ทุนน้อยมาก เพื่อนก็มาจากหลายประเทศทั้งไทย เยอรมนี อังกฤษ เอสโตเนีย ฯลฯ ตอนไปวันแรกจะเจองานต้อนรับน้องใหม่ก่อนเลย อันนี้ออกแนวกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ  ที่นี่เค้าค่อนข้าง individual จะไม่ค่อยมีกิจกรรมหวือหวาเล่นใหญ่แบบรับน้องแบบไทย

พอไปถึงมหา'ลัยแวบแรกคิดว่าหญิงล้วนอ่ะ ผู้ชายน้อยนิดหยิบมือ แล้วสิ่งที่เราชอบคือมหา’ลัยนี้มีความ LGBTQ+ Friendly สูง (จะว่าไปก็ทั้งสวีเดนแหละ) ที่นี่คือเซฟโซนสำหรับคนอยากเป็นตัวของตัวเอง เราจะเป็นอะไรก็ได้โดยไม่มีใครมา judge เราทั้งนั้น ผู้ชายใส่กระโปรงได้ ผู้หญิงไว้ทรงสกินเฮดก็เยอะ 

"ห้องครัวที่คณะ" ยังอาร์ตขนาดนี้!
"ห้องครัวที่คณะ" ยังอาร์ตขนาดนี้!

ป.โทที่นี่มี 4 โปรแกรมคือ CRAFT! / Design / Fine Art / Visual Communication สมมติคณะ CRAFT! จะเป็นพวกทำเหล็ก, ไม้, เป่าแก้ว ฯลฯ ม.จะมีห้อง workshop แยกออกมา มีอุปกรณ์ให้พร้อมตัดไม้  หรืออย่างคณะเราจะเน้นงานพิมพ์ ในคณะจะมี printer แบบต่างๆ ห้องทำแอนิเมชันเล็กๆ ห้องภาพพิมพ์ ฯลฯ เด็กคณะอื่นก็ใช้ได้หมดแต่อาจต้องติดต่อทำเรื่องขอคณะนั้นก่อน การเรียนที่นี่เลยมีโอกาสสร้างผลงานเยอะมาก อยากทำงานแบบไหนก็มีห้องกับเครื่องมือรองรับ เวลามีเพื่อนจาก ม.อาร์ตอื่นๆ มาหาเราเค้าค่อนข้างว้าวกับความครบของที่นี่

แล้วม.ยังมีพื้นที่ให้นักศึกษาจองไว้จัดนิทรรศการ, อีเวนต์สนุกๆ เช่น ดูหนังด้วยกัน ปาร์ตี้ต่างๆ หรือส่วนมากก็จะจองไปทำโปรเจกต์ใหญ่ๆ แหละ โดยที่ม.อาจมีงบให้ส่วนนึง หรือผู้จัดอาจเก็บค่าเข้านิดหน่อย ทุกครั้งที่เป็นงานนิทรรศการจะมีงาน opening เล็กๆ มีอาหารเครื่องดื่มให้ เราว่ามันสนุกกก ยิ่งเวลาเด็กป.ตรีคณะ Textile จัด นางจะเล่นใหญ่ตลอด จัดปาร์ตี้ตามธีม มีเล่นกับผ้าของนางด้วย แล้วใช้พื้นที่คณะมาแต่งไฟนู่นนี่ แต่เวลาไปงานคณะไหนควรจะลากเพื่อนไปด้วย เพราะด้วยความสวี เราอาจรู้สึก "ไฝแห้ง" (= อาการเจื่อนๆ ไปถึงแล้วไม่มีคนคุยด้วย 5555) คนจะชอบคุยกันเองมากกว่าชวนคนแปลกหน้าคุย

จัดงานแสดงของตัวเอง
จัดงานแสดงของตัวเอง
งาน exhibition คณะอื่น
งาน exhibition คณะอื่น
งาน exhibition คณะอื่น
งาน exhibition คณะอื่น

ไม่ได้สอน How-to
แต่เน้น Norm Challenging

พูดตรงๆ เราก็แอบอิจฉาพวก ป.ตรีเหมือนกัน 5555 คือปกติเนี่ย ถ้าเป็น ป.ตรีคณะนี้จะได้เรียนพวกการพิมพ์แบบต่างๆ การสร้างฟอนต์ การเย็บเล่มหนังสือแบบต่างๆ การทำแอนิเมชัน ฯลฯ แต่พอ ป.โท จะเรียนแนวคิดมากกว่าสอน How-to เพราะเหมือนว่าทุกคนเป็น Artist ที่มีของมาก่อนอยู่แล้ว อาจเป็น Video Creator มาก่อนในประเทศตัวเอง, คนจัดรายการทีวี, ช่างภาพ หรือแม้แต่ Illustrator ที่ดังมากๆ สิ่งที่ได้มากที่สุดนอกเหนือจากการเรียน ก็เลยเป็นการได้มาเจอวัฒนธรรมการเรียนและมีเพื่อนในคณะเป็นคนในวงการนี่แหละ

  • ส่วนแรกคือ Presentation ตั้งก่อนว่าเราจะทำโปรเจกต์เรื่องอะไร แล้วเค้าจะไม่ให้หลุดโฟกัสเลย ต้องค่อยๆ ก่อร่างขึ้นมา พรีเซนต์ความคืบหน้าเป็นระยะ ทุกครั้งจะมี feedback session ให้เพื่อนเขียนคอมเมนต์ว่าคิดยังไงกับงานของเรา โดยไม่มีใครตัดสินอะไรทั้งสิ้น  อาจารย์จะให้คำแนะนำแต่ไม่บอกว่า ‘ไม่ดี’ ‘ไม่ควรทำ’ (แต่เราก็แอบลังเลว่าสรุปแล้วงานเราดีจริงๆ มั้ยอะะ  5555)
     
  • อีกส่วนคือ Workshop เช่น Typography, Creative Writing หรือที่ชอบมากคือ Ornament เกี่ยวกับลวดลายตามตึกยุโรป คัมภีร์ไบเบิล รูปปั้นเทวดา หรือกรอบใบประกาศพริ้วๆ ฯลฯ อะไรแบบนั้น ถือเป็น decoration อย่างหนึ่ง เค้ามีพาไปมิวเซียมเพื่อดูตึกในสตอล์กโฮล์มด้วย
โต๊ะทำงานที่มหา'ลัยของเราเอง :)
โต๊ะทำงานที่มหา'ลัยของเราเอง :)

ปีแรกเค้าเน้น Norm Challenging (การทำอะไรที่แหวกขนบเดิมๆ) มีเปิดสารคดีที่เกี่ยวกับการล่าอาณานิคมให้ดู เช่นประเด็น Black Live Matters ทำไมคนดำถึงต้องการออกมาเรียกร้องสิทธิ? เขาก็ย้อนให้ดูสมัยที่เขาถูกกดขี่ หรือบางวิชาก็พยายามแสดงให้เห็นว่า "ในโลกศิลปะยังมีเรื่องการเหยียดอยู่" แม้แต่สื่ออย่างการ์ตูนตินติน (The Adventure of Tintin) ยังเอาประเด็นคนดำมาล้อเลียนเลย คนดูทั่วไปอาจคิดว่าตลกแต่จริงๆ มันคือความขมขื่น ถ้าไม่เรียนลึกๆ จะไม่รู้เลยว่ามีการ์ตูนที่เอามาทำแบบนี้

บางคนอาจเคยรู้จักคำว่า Political Correctness หรือคนที่คอยระมัดระวังและคอยเลี่ยงการใช้คำพูดหรือการกระทำเพื่อไม่ให้ใครรู้สึกโดนเหยียด ปกติเราจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ก่อนจะมาเรียนสวีเดน แล้วก็พบว่าสังคม Konstfack ก็ค่อนข้างระวังเป็นพิเศษเหมือนกัน ต้องเคารพสิทธิทุกคน 

การเรียนและ discuss จะสอนให้เราไม่มองข้ามเรื่องเล็กที่สำคัญ แต่บางทีสังคมก็ไม่ทันมองเห็น (หรือไม่ก็โดนตลาดครอบอยู่) เช่นมีเพื่อนที่แสดงความเห็นว่า บางทีการไม่ลงสีอาจทำให้ดูเปิดกว้างกว่านะ  สมมติตัวละครในนิทานเรื่องนึงเป็นคนขาวหมด คนผิวดำอาจรู้สึกว่านี่มันไม่ใช่เค้าอ่ะ ดังนั้นแทนที่จะลงสีเหมือนคนขาวเป็นใหญ่ เพื่อนก็พยายามทำผลงานออกมาให้ใส่ใจกลุ่มคนที่คนในวงการมักไม่ค่อยทำ เช่น เด็กพิการนั่งรถเข็น มีปานสีขาว หน้าเป็นกระเยอะๆ ขาข้างซ้ายเล็กกว่า ฯลฯ หรือเพื่อนคนไทยคนนึงทำโปรเจกต์ที่คนไทยชอบคลั่ง Beauty Standard เพราะตามโฆษณาหรือสื่อต่างๆ มักพยายามสร้างค่านิยมทั้งลุค หน้าตา หุ่น ขนาดรักแร้ยังต้องเนียน

เพื่อนๆ ที่มหาลัย ใส่สีส้มมาโดยมิได้นัดหมายเลยอะดิ
เพื่อนๆ ที่มหาลัย ใส่สีส้มมาโดยมิได้นัดหมายเลยอะดิ

โปรเจกต์จบ based on true story
คอมมิกความรักแนว LGBTQ+

ปกติงาน Art ของเรามักเกี่ยวกับความรักแหละ แล้วเรามองว่าความสัมพันธ์ของผู้คนเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ไม่ว่าจะเป็นวิธีรับมือกับความรู้สึกตอนอกหัก การชอบคนที่คิดเหมือนกันแต่ไม่ได้เลื่อนขั้นความสัมพันธ์ หรืออะไรก็ตาม มัน relate กับชีวิตของทุกคน ดังนั้นเราเลยเลือกทำ comic ความรักแนว LGBTQ+ ความก้ำกึ่งระหว่างมิตรภาพและการชอบเพื่อน แรงบันดาลใจของโปรเจกต์คือตัวเองที่ชอบเพื่อนคนนึงมาก แต่เพื่อนไม่ได้คิดตรงกัน (เข้าชมได้ที่นี่)

การหยิบเรื่องส่วนตัวบางพาร์ตมาทำเป็นผลงาน มันมีข้อเสียอยู่แล้ว เพราะคนที่อยู่ในเรื่องอาจจะไม่ชอบ ยิ่งคนสวีเดนที่โลกส่วนตัวสูงมาก แล้วเราก็เจอผลลัพธ์แบบนี้เหมือนกัน  แต่ถ้าย้อนเวลาได้เราก็ยังเลือกจะทำอยู่ดี เพราะเรามีไปปรึกษาเพื่อนกับครูก่อนเริ่มลงมือทำมาแล้ว พวกเขาบอกว่า "ศิลปินทุกคนที่ทำเพลงและหนังล้วนเคยผ่านความเจ็บปวดนี้มา" แต่หากพวกเขาไม่เลือกตัดสินใจเสียสละบางอย่าง ก็อาจพลาดการสร้างผลงานดีๆ ชิ้นนั้นขึ้นมา และบางครั้งก็เป็นผลงานชิ้นโบว์แดง (masterpiece) พอได้ยินแล้วเราชอบมากจนตัดสินใจว่าจะทำโปรเจกต์นี้ขึ้นมา

(และหลังจบโปรเจกต์เรายังค้นพบว่าจริงๆ แล้ว Friendship ไม่ได้สำคัญน้อยกว่า Romantic Relationship และการเป็นเพื่อนก็มีคุณค่าไม่น้อยไปกว่าสถานะแฟน)

อันนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานจบ ให้เพื่อนมามีส่วนร่วมตอบคำถาม
อันนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานจบ ให้เพื่อนมามีส่วนร่วมตอบคำถาม
ไปชมโปรเจกต์จบกัน!
ไปชมโปรเจกต์จบกัน!

แต่โควิดพรากโมเมนต์สำคัญ

เรื่องเศร้าของนักเรียนอาร์ตคือทุกคนอยากมี Exhibition เป็นของตัวเอง ปกติก่อนเรียนจบเค้าจะมีจัดงานแสดงโปรเจกต์ที่รวมทุกคณะ แต่รุ่นเราถูกงดเพราะโควิด ตอนนั้นมาตรการยังไม่นิ่งด้วย  ไม่มีกระทั่งงานจบด้วยซ้ำ  เราเสียดายมากเพราะเคยอยู่ในงานจบของเพื่อนปีก่อน มันสนุกมากจริงๆ แต่ถึงยังไงนักเรียนก็เข้าใจสถานการณ์ แล้วพอมาปีนี้เค้าจัดแบบจำกัดคณะแทน

จัด exhibition เล็กๆของตัวเอง :')
จัด exhibition เล็กๆของตัวเอง :')
งาน exhibition ของเพื่อนที่เพิ่งจบปีนี้
งาน exhibition ของเพื่อนที่เพิ่งจบปีนี้
เพื่อนๆ เตรียมจัด exhibition กัน
เพื่อนๆ เตรียมจัด exhibition กัน

รู้จัก Konstfack ให้มากขึ้น

 

Website: https://www.konstfack.se/en/ 

Facebook: @Konstfack

Instagram: https://www.instagram.com/konstfack/  

YouTube: Konstfack - University College of Arts, Crafts and Design

จบมาหางานยากเบอร์ไหน?

โคตรยาก! อันนี้จากประสบการณ์ส่วนตัวในมุมของคนที่เรียนสายอาร์ตและภาษาสวีเดนยังไม่แข็ง ถ้าอยากเป็นศิลปินเต็มตัว มีจัดแกลอรีโชว์ผลงาน เรื่องคอนเนกชันนี่สำคัญมาก อย่างน้อยควรพูดภาษาสวีเดนได้ เพราะจะทำให้เข้าถึงวัฒนธรรมของเค้าได้มากกว่าการพูดภาษาอังกฤษ 

อย่างเช่นเรามีเพื่อนคนฟินแลนด์ที่เข้าสังคมเก่งและพูดภาษาสวีเดนได้ ทำให้มีเพื่อนเยอะมาก และมีคนเข้าถึงผลงานของเขาบนโซเชียลแพลตฟอร์มต่างๆ ได้เยอะ เป็นประโยชน์กับการขายงาน หรือเพื่อนอีกคนนึงเป็นนักวาดที่ดังอยู่แล้ว ดังถึงขั้นที่ห้างในสวีเดนมา co งานกับนางเลย ผลงานอาจจะอยู่ตามป้ายโปสเตอร์ของห้าง สายการบิน หรือแม้แต่ปก Spotify ของศิลปินที่มาจ้างเขา  แต่นอกจากศิลปินเต็มตัวแบบนี้ บางคนก็เน้นทำผลงานขายเรื่อยๆ เป็นงานเสริมแทน

ส่วนเราตอนนี้กำลังทำงานด้านคอนเทนต์ให้บริษัทบางแห่ง และพยายามหางานอื่นๆ ในสวีเดนไปด้วย แต่ด้วยความที่มันไม่ง่าย ก็เลยตัดสินใจขอวีซ่า Self-employed Persons  ที่ต้องมีแผนธุรกิจและลูกค้าที่ชัดเจนก่อนถึงจะจดได้ // เรากำลังวางแผนทำธุรกิจขนาดเล็กที่จะใช้งานศิลปะของตัวเองเป็นจุดขายด้วย

เที่ยว Museum จร้าติดตามผลงานเพจ MJ'S WORLD
เที่ยว Museum จร้าติดตามผลงานเพจ MJ'S WORLD

“การจะเข้าถึงคนสวีเดนได้
ต้องใช้ energy โคตรสูงมาก”

จริงๆ แล้วอ่ะคนสวีเดน nice และช่วยเหลือดีมากกก แต่มันยากที่จะทลายกำแพงบางอย่าง  เพราะเค้ามักจะสนิทกับคนที่โตมาด้วยกันตั้งแต่เด็ก ยิ่งต่างชาติที่วัฒนธรรมต่างกันมันยิ่งยากเข้าไปใหญ่  สังคมเค้าจะแตกต่างจากไทย ถ้าคนเอเชียจะช่วยเหลือพึ่งพา แต่สังคมยุโรปโดยเฉพาะสวีเดน (ยกตัวอย่างสวีเดนเพราะเราไม่เคยอยู่ที่อื่น 555) พวกเค้าจะ individual มากกว่า พึ่งตัวเอง และไม่เฮฮาปาร์ตี้เบอร์แรงเหมือนบ้านเรา

อย่างเช่นงานนิทรรศการของแต่ละคณะที่เล่าไปตอนแรก ด้วยธรรมชาติของคนสวีเดนที่เป็น Introvert ไปแทบจะ 95-98% ก็ทำให้บางทีบรรยากาศดูไฝแห้งไปหน่อย ดังนั้นถ้าจะไปงานคณะไหนควรไปกับเพื่อนเป็นกลุ่ม

และไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เราจะซึมซับความเป็นประเทศนั้นมาด้วย ทำให้ตอนที่เรากลับไทยมาตอนปี 2019 เรากลายเป็นคนที่นิ่งขึ้นจนน่าตกใจ เกรงใจกับเคารพสิทธิคนอื่นมากขึ้นไปอีกทั้งที่บางเรื่องในสังคมไทยก็ไม่ได้ซีเรียสเท่า อย่างเช่น พอเจอคนที่ไม่ได้เจอกันนานหลายคน จะทัก อ้วนขึ้นนะเนี่ย ซึ่งเรารู้สึกว่าเสียมารยาทมาก เราเลยรู้สึกว่าจะไม่พูดหรือวิจารณ์อะไรเกี่ยวกับรูปลักษณ์หรืออะไรก็ตามที่เป็นตัวของคนๆ นั้นเลย

วาดรูปชิลล์ๆ ช่วงหน้าร้อน
วาดรูปชิลล์ๆ ช่วงหน้าร้อน
เล่นกีตาร์ชิลล์ๆ
เล่นกีตาร์ชิลล์ๆ

รีวิวสวีเดนใน 5 ข้อ
ทำไมคุณภาพชีวิตถึงดี?

  • การเดินทางสะดวก จะนั่งรถไฟใต้ดินก็เปิดเช็กเวลาในเว็บได้เลย มาแบบตรงเวลา มีบัตรที่ต้องซื้อรายเดือน ใช้ได้ทั้งรถไฟ รถบัส เรือข้ามฟาด ฯลฯ สตอล์กโฮล์มเป็นเกาะ อาจจะต้องนั่งเรือข้ามเพื่อไปมิวเซียมบางที่ (เหมือนวังหลังอ่ะๆๆ)
มีสถานีรถไฟสีรุ้งด้วย!
มีสถานีรถไฟสีรุ้งด้วย!
  • ค่าครองชีพแพงจริง แต่ถ้าชินจะพอหาแหล่งซื้ออาหารไทยได้ ด้วยความที่มีคนไทยเยอะ เลยมี supermarket ไทยและเอเชียเยอะ  ในสตอล์กโฮล์มคือร้านอาหารไทยเพียบ แล้วยังมี Facebook กลุ่มคนไทยในสวีเดนมาโพสต์ขายของ มีร้านเก๋ๆ หลากหลายชาติ พวกร้าน คาเฟ่ บาร์ต่างๆ (IKEA ในไทยกับสวีเดนคล้ายกัน เค้าน่าจะพยายามคุมโทนให้เหมือนกันทุกที่)
     
  • เมืองหลวงจะไม่ได้เงียบเท่าเมืองอื่น และแม้จะเป็นเมืองหลวงเราก็ยังเข้าถึงธรรมชาติได้ตลอดเวลา มีทั้งป่า ต้นไม้ดอกไม้ สวนสาธารณะและทะเลสาบเยอะมาก อากาศดี เดินเล่นได้สบายๆ พอเข้าช่วงซัมเมอร์จะนั่งรถไปเล่นน้ำในเมืองก็ง่ายอีก
สวนสาธารณะสวยๆ
สวนสาธารณะสวยๆ
ดอกซากุระในเมือง
ดอกซากุระในเมือง
  • ทุกอาชีพล้วนมีคุณค่า วัยทำงานมี Work-life Balance และชั่วโมงการทำงาน (Working Hour) น้อย ซึ่งเป็นข้อดี แต่เราอาจเจอปัญหาเรื่องงานเอกสารล่าช้าบ้าง แล้วพอหมดเวลางานเค้าก็ไม่ได้มารับโทรศัพท์หรือตอบอีเมลใดๆ ยิ่งช่วงซัมเมอร์ที่เจ้าหน้าที่หยุดเยอะก็ส่งผลให้ service ล่าช้าเพราะคนไม่พอ
     
  • เราอาจยังไม่เห็นวัฒนธรรมการทำงานชัดเจน แต่เท่าที่ได้ยินมาคือคนไม่ได้มีแบ่งชนชั้น ไม่มีระบบอาวุโสไรยังงั้น จริงๆ ก็เป็นสไตล์ฝรั่งแหละที่จะไม่ได้ใส่ใจเรื่องคนอื่นเยอะ ถ้าเป็นบางประเทศ สมมติเลิกงาน 5 โมงแล้วลุกตรงเวลาเป๊ะอาจโดนมองแปลกๆ ก็ได้

เมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมาพี่นิทานพบว่าตัวเองติดโควิด เธอเลยอยากมาแชร์ How-to การตรวจที่ง่ายมาก, รีวิวช่วงกักตัว รวมถึงเล่าบรรยากาศในประเทศ, นโยบาย, วิธีรับมือต่างๆ  ให้อ่านกันค่ะ :)

 

อ่านรีวิวที่นี่

.
.
.

ปิดท้ายด้วยภาพสวยๆ  :)

Winter
Winter
Winter
Winter
Summer
Summer
Summer
Summer

ติดตามผลงาน & ไลฟ์สไตล์ในสวีเดน

ชวนอ่านต่อ

[Review] Workaway โครงการเพื่อคนอยากลองหาประสบการณ์ทำงานลุยๆ ในต่างแดน

https://www.dek-d.com/studyabroad/41039/

[Review] เมื่อป่วยเป็นโควิดที่สวีเดน! แชร์มาตรการรับมือ & วิธีตรวจสุดง่ายที่ใครๆ ก็ทำเองได้

https://www.dek-d.com/studyabroad/58116/ 

[Review] ชีวิตที่เหมือนฝันใน 'สวีเดน' เรียนม.ชั้นนำ ณ ประเทศแห่งความสุข ในเมืองที่สวยดุจเทพนิยาย

https://www.dek-d.com/studyabroad/57809/

 

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น