รู้จัก 6 วรรณกรรมระดับโลกผ่าน MV เพลงดังของศิลปิน K-POP ดีงามจนอยากตามไปอ่านต้นฉบับ!

อันยองชาว Dek-D ทุกคนค่า~ อย่างที่เราทราบกันว่าศิลปะทุกรูปแบบล้วนเป็นแหล่งของแรงบันดาลใจ โดย ‘วรรณกรรม’ ถือเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่งที่มั่งคั่งไปด้วยแนวคิดต่างๆ จึงมีการหยิบยกวรรณกรรมระดับโลกมาสร้างสรรค์ต่อยอดอยู่เสมอ ยิ่งหากเป็นการตีความใหม่และดัดแปลงให้โลดแล่นในรูปแบบของภาพเคลื่อนไหวแล้ว ก็จะยิ่งน่าตื่นเต้นและดึงดูดความสนใจเข้าไปใหญ่ 

วันนี้พี่ชีตาร์เลยจะพาไปดู 6 วรรณกรรมระดับโลกที่อยู่เบื้องหลังแนวคิดใน Music Video (MV) ของศิลปิน K-POP กันค่ะว่าจะมีชิ้นไหน และเป็นผลงานของด้อมใดบ้าง ตามไปดูกันเลยค่า ;-) 


1
‘Blood Sweat & Tears’ –BTS 

เปิดมาด้วยมิวสิกวิดีโอเพลง ‘Blood Sweat & Tears’ ของหนุ่มๆ BTS ที่ได้แรงบันดาลใจหลักมาจาก Novella (โนเวลล่า) หรือนวนิยายเรื่องสั้น ‘Demian’ ซึ่งเป็นวรรณกรรมระดับตำนานจากปลายปากกาของนักเขียนชาวเยอรมันนามว่า Hermann Hesse (เล่มนี้ดังมากๆ ในประเทศเกาหลีใต้) ว่าด้วยเรื่องราวของ Emil Sinclair เด็กหนุ่มที่พยายามจะค้นหาตัวเอง เพราะสำหรับเขาในวัยเด็กแล้ว ‘ความดี’ ได้ถูกตีกรอบด้วยความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสาตามหลักศาสนา แต่พอเริ่มโตขึ้น เขากลับรู้สึกขัดแย้งในตัวเองระหว่างความถูกต้องที่เขาเรียกมันว่า ‘Inner Light’ กับโลกภายนอก ‘Forbidden Realm’ ซึ่งเป็นตัวแทนแห่งบาป ความโดดเดี่ยว การหลอกลวง และความไม่มั่นคง จนท้ายที่สุดเขาก็ได้ผันผวนอยู่ระหว่างกลางของทั้งสองขั้วตรงข้าม โดยไม่ได้ลงเอยที่ใดที่หนึ่งเลย 

โดย BTS ได้หยิบยืมนำธีมหลักของเรื่องอย่าง ‘ช่องว่างระหว่างวัยเด็กและความเป็นผู้ใหญ่’ และกึ่งกลางระหว่าง ‘ความดีและความชั่ว’ ออกมาตีแผ่โดยมีเป้าหมายที่จะแก้ต่างถึงอคติที่เคยถูกกดทับในยุคนั้น พร้อมปกป้องคุณค่าทางดนตรีของพวกเขาเอาไว้ สอดคล้องกับแนวคิดของตัวละครหลักในเรื่องที่พยายามหาที่ยืนของตัวเองท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

และนอกจากจะมีการใช้ Allusion หรืออ้างอิงจากเรื่องก่อนหน้าแล้ว ภายในมิวสิกวิดีโอเพลงนี้ (และใน 화양연화 HYYH) ยังใช้ Motif ของ ‘The Fall (การร่วงหล่น)’ อีกด้วย อย่างในฉากแรกเราจะเห็นว่า ‘จิน’ กำลังยืนมองภาพ ‘The Fall of Rebel Angels’ โดยศิลปิน Pieter Bruegel the Elder และ ‘จองกุก’ ที่ล่องลอยอยู่ในอากาศโดยมีภาพวาด ‘The Lament for Icarus’ ของศิลปิน Herbert James Draper แขวนอยู่เป็นฉากหลัง หรือแม้แต่ตอนที่ ‘วี’ กระโดดลงจากระเบียงก็ยังมีพื้นหลังเป็นภาพวาด ‘Landscape with the Fall of Icarus’ โดย Bruegel อีกด้วย 

ยิ่งไปกว่านั้นนั้น ในฉากสุดท้ายที่เราเห็นว่าวีเป็นเทวดาปีกหัก นั่นก็คือการอ้างถึงผลงานในตำนานอย่าง ‘Paradise Lost’ ของ John Milton ที่ว่าด้วยเรื่องการก่อกบฏของเทวดาบนสวรรค์เพื่อเชื่อมเข้ากับธีม ‘ความทะเยอทะยาน’ ของตัวละครหลักในเรื่อง Demain นั่นเอง 

“He too … was a tempter; he, too, was a link to the second, the evil world with which I no longer wanted to have anything to do.” 
— Demian: The Story of Emil Sinclair’s Youth, Hermann Hesse

///
2
‘Paradise Lost’ –GAIN 

 ในทางตรงกันข้าม ‘Paradise Lost’ โดย John Milton ก็ถูกหยิบขึ้นมาตีความใหม่ให้มีความโมเดิร์นขึ้นในเพลง ‘Paradise Lost’ ของ GAIN (ซน กาอิน) นักร้องสาวสุดเซ็กซี่จากวง Brown Eyed Girls ด้วยค่ะ ตามต้นฉบับวรรณกรรมแล้ว เรื่องราวจะเน้นไปที่มุมมองของ ‘ลูซิเฟอร์’ (Antagonist) เทวดาตกสวรรค์ที่ต้องการจะแก้แค้นพระผู้เป็นเจ้าด้วยการล่อลวง ‘มนุษย์’ สิ่งมีชีวิตอันเป็นที่รักของพระองค์ หรือที่เรียกว่า ‘The First Temptation’ แต่กาอินปังกว่านั้น เพราะฉบับรีเมคใหม่นี้ได้รื้อสร้างภาพของ ‘Adam’ และ ‘Eve’ มาปรับโฉมใหม่ทั้งหมด 

เผ็ดร้อนตั้งแต่เริ่มเปิดมาด้วยคำโปรยที่ว่า ‘Apple - Free Will - Paradise Lost - The First Temptation - Two Women - Guilty - Hawwah (ชื่อของอีฟซึ่งรากศัพท์มาจากคำว่า ’งู’)’ แทนที่จะเป็นเรื่องราวของชายหญิงที่ถูกขับไล่ลงมาจากสวรรค์อย่างอดัมและอีฟ หนำซ้ำการลงมาบนโลกก็ยังเป็น ‘Free Will’ หรือเจตจำนงเสรีที่เธอเลือกที่จะ ‘ปฏิเสธ’ การอยู่บนสวรรค์และลงมาหาอิสรภาพบนโลกมนุษย์ด้วยตัวเอง

และหากฟังเนื้อเพลงเราจะเห็นว่าบทบาทของกาอินในมิวสิกวิดีโอนี้เป็นทั้ง ‘อีฟ’ และ ‘ลูซิเฟอร์’ เพราะคาแรกเตอร์ของเธอเปี่ยมไปด้วยความหยิ่งยโส (Pride) ซึ่งเป็นบาปสูงสุดของซาตาน และท่าเต้นท่อน Break Dance จะมีท่วงท่าคล้าย ‘งู’ สิ่งมีชีวิตที่ลูซิเฟอร์ปลอมตัวเพื่อมาหลอกล่ออีฟด้วย เรียกได้ว่าเป็นการฉีกภาพลักษณ์ของอีฟจากต้นฉบับไปอย่างสิ้นเชิง! 

ดังนั้นหากมองว่า ‘BTS’ กำลังก่อกบฎต่อต้านความอยุติธรรมที่ก่อกวนสังคมอยู่ล่ะก็ ‘กาอิน’ ก็กำลังเน้นย้ำถึงเจตจำนงเสรีที่ทุกคนควรได้รับอยู่นั่นเอง ถ้ามองในแง่นี้เราจะเห็นว่าทั้ง 2 ศิลปินได้สนับสนุนแนวความคิดที่เราควรจะต่อสู้เพื่อ ‘ช่วงเวลาที่สวยงามที่สุดในชีวิต’ หรือ ‘สวรรค์’ ที่เรากำลังมองหาให้ถึงที่สุดนั่นเองค่ะ 

///
3
‘Sherlock’ –SHINee

ต่อมาที่เพลง ‘Sherlock’ ของ SHINee ที่ทั้งชื่อเพลงและเนื้อหาในมิวสิกวิดีโอล้วนได้แรงบันดาลใจมาจากตัวละคร ‘Sherlock Holmes’ จากนวนิยายสืบสวนสอบสวนชื่อดังแห่งเกาะอังกฤษเรื่อง 'A Study in Scarlet' โดยนักเขียน Arthur Conan Doyle ในปี 1887 

ในเล่มนี้ถือเป็นการปรากฎตัวครั้งแรกของโฮมส์และดร.วัตสัน คู่หูนักสืบที่โด่งดังไปทั่วโลก เราจะได้ทราบเกี่ยวกับภูมิหลังและบุคลิกของโฮล์มที่แปลกประหลาดทว่าฉลาดเฉลียวในเวลาเดียวกัน เขามีความรู้ในหลากหลายแขนงและเฉพาะทาง และด้วยส่วนผสมที่แตกต่างนี้เองทำให้เขาและวัตสันตัดสินใจอยู่และทำงานร่วมกันตั้งแต่นั้นมา 

และในมิวสิกวิดีโอเพลงนี้ของ SHINee ก็เรียกได้ว่าทั้งเสื้อผ้าหน้าผม เครื่องประดับต่างๆ และวิธีการสืบสวนล้วนถอดแบบมาจากในหนังสือต้นฉบับทั้งนั้นเลยค่ะ 

///
4
‘To Be Or Not To Be’ –ONEUS 

 ต่อด้วยมิวสิกวิดีโอเพลง ‘To Be Or Not To Be’ ของวง ONEUS ที่ได้นำเอา ‘Quote’ หรือท่อนพูดจากบทละคร (Play) วรรณกรรมระดับโลกอย่าง ‘Hamlet’ ของตัวพ่องานเขียน William Shakespeare มาตั้งเป็นชื่อเพลง ขอบอกว่าเป็นบทพูดที่ดังมากๆ ถูกหยิบขึ้นมาอ้างอิงในผลงานศิลปะแขนงต่างๆ ตั้งแต่ช่วงปี 1600s จนถึงปัจจุบัน (ใครเรียนสายภาษาหรือชื่นชอบวรรณกรรมต้องรู้จัก!) 

กษัตริย์แห่งเดนมาร์กถูกลอบปลงพระชนม์เลยกลายมาเป็นผีคอยบอก 'Hamlet' ลูกชายของเขาให้ล้างแค้นผู้เป็นอาซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ปัจจุบัน ดังนั้นเขาจึงแสร้งแกล้งทำเป็นบ้า หมกหมุ่นอยู่กับการครุ่นคิดเรื่องชีวิตและความตายพร้อมหาทางแก้แค้นผู้เป็นอา ในขณะเดียวกันนั้น อาของเขาเองก็ได้วางแผนที่จะฆ่าแฮมเลทเช่นเดียวกัน ใน ACT III Scene I ก็ได้มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับ ‘ชีวิต ความตาย และการฆ่าตัวตาย’ จนเกิดเป็นไลน์นี้ขึ้นมา

ONEUS ไม่เพียงหยิบยกเป็นชื่อเพลงเท่านั้น แต่ยังได้รับแรงบันดาลใจจากธีม ‘ชีวิต’ และ ‘ความตาย’ และสอดแทรกลงในมิวสิกวิดีโออีกด้วย เรียกว่าเอ็มวีนี้มีความแกรนด์มากกก เพราะว่าถ่ายในปราสาทที่มีบัลลังก์และมงกุฎวางอยู่ เป็นฉากที่มีกลิ่นอายของเรื่อง Hamlet เราจะเห็นว่าโทนสีในวิดีโอช่วงแรก (ก่อนยกมงกุฏขึ้นมา) จะมาแนวฟรุ้งฟริ้งสดใส ครอบครัวเพื่อนพ้องอยู่ด้วยกันพร้อมหน้า แต่ mood หลังจากนั้นคือเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง มีความดำมืดเอฟเฟ็กต์เลือดสาดเลียนฉากการนองเลือดที่เกิดขึ้นในเรื่อง 

///
5
‘The Red Shoes’ –IU

 มาที่อีกหนึ่งมิวสิกวิดีโอเพลง ‘The Red Shoes’ ของนักร้องเสียงหวาน IU ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเทพนิยายวรรณกรรมอันโด่งดังเรื่อง ‘Red Shoes’ ของ Hans Christian Andersen ว่าด้วยเรื่องราวของ Keren สาวน้อยที่ได้รองเท้าสีแดงแสนสวยมาจากช่างทำรองเท้า ซึ่งเป็นคู่ที่สวยถูกใจเธอมากจนใส่ไม่ยอมถอด ใส่ไปในทุกๆ ที่แม้จะเป็นงานศพแม่ของเธอ ใครเตือนก็ไม่ฟัง รองเท้าสีแดงคู่นี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของ ‘บาปที่เย้ายวนใจ’ นั่นเอง

ถึงแม้ว่าในเวอร์ชั่นของไอยูจะเป็นโทนแฮปปี้สดใสกว่าต้นฉบับ แต่ยังคงกิมมิค (Gimmick) ที่รองเท้าสีแดงยังคงไล่ล่าและบังคับให้เธอเต้นไปเรื่อยๆ และทิ้งท้ายด้วยความหลอนกับเนื้อเพลงที่เน้นย้ำคำว่า ‘다시 (อีกครั้ง)’ ซึ่งก็คือให้เต้นไปเรื่อยๆ ห้ามหยุดนั่นเองค่ะ 

///
6
‘Scentist’ –VIXX

 ปิดท้ายด้วย ‘VIXX’ อีกวงไอดอล KPOP ที่มักหยิบเอาเรื่องราวจากหนังสือวรรณกรรมมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างมิวสิกวิดีโอ และได้รับสมญานาม ‘K-pop’s concept-dols’ เพราะไอเดียในแต่ละเพลงคือล้ำสุดอะไรสุด! อย่างในเพลง ‘Scentist’ ที่หลายคนอาจเคยได้ยินหรือดูมิวสิกวิดีโอมาบ้างแล้ว แต่อาจยังไม่ทราบว่าได้อ้างอิงมาจาก ‘Perfume: The Story of a Murderer’ วรรณกรรมสุดอื้อฉาวแห่งปี 1985 ผลงานของนักเขียนชาวเยอรมันนาม Patrick Süskind 

วรรณกรรมดังกล่าวบอกเล่าเรื่องราวของนักปรุงน้ำหอมผู้หลงใหลในกลิ่นที่แตกต่าง ดังนั้นเพื่อให้สามารถรักษากลิ่นกายของเหล่าหญิงสาวเอาไว้ เขาจึงฆาตกรรมพวกเธอและนำกลิ่นมาบรรจุไว้ในขวดน้ำหอมซะ // ฟังอย่างนี้แล้ว สารสีแดงในมิวสิกวิดีโอก็ให้ความรู้สึกที่แตกต่างไปเลยใช่มั้ยคะ 

และนอกจากมิวสิกวิดีโอเพลงนี้แล้ว ยังมีอีกหลายๆ เพลงของหนุ่มๆ VIXX ที่ชอบนำเสนอเนื้อหาผ่านงานวรรณกรรมระดับโลก เช่นเพลง ‘Hyde’ ที่มีการดัดแปลงเนื้อหาจาก ‘The Strange Case of Dr. Jekyll and Mr. Hyde’ โดย Louis Robert Stevenson มาสร้างตัวละครในมิวสิกวิดีโออีกด้วย 

...

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น เพราะยังมีศิลปินไอดอลในวงการ K-POP อีกมากมายที่หยิบยกวรรณกรรมระดับโลกมาใช้อ้างอิงหรือเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างมิวสิกวิดีโอ ไม่ว่าจะเป็นในเพลง ‘Chococo’ ของ gugudan ที่ยกภาพโรงงานช็อกโกแล็ตจาก Roald Dahl’s ‘Charlie and the Chocolate Factory’ มาเนรมิตเป็นฉากหลัง หรือวง LOONA ในเพลง ‘Heart Attack’ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเทพนิยายโศกนาฏกรรมเรื่อง ‘The Little Match Girl’ โดย Hans Christian Anderson

 การที่ K-POP หรือวงการอื่นๆ ในกระแส Pop Culture ปัจจุบันเลือกหยิบยืมนำเอาคอนเซ็ปต์จากงานเขียนในยุคก่อนๆ มาสร้างสรรค์ผลงานใหม่เรื่อยๆ ก็ได้ตอกย้ำคุณค่าและความเป็นอมตะของวรรณกรรมเหล่านั้น รวมถึงสื่อให้เห็นว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศที่ให้ค่ากับงานศิลปะมากเพียงใดอีกด้วย

 

 

Sources:https://www.soompi.com/article/1478478wpp/9-k-pop-mvs-that-are-based-on-famous-literature?fbclid=IwAR2a1j_UEjCrCFxb6o5-VeiFqnj0RAwt3ny0Q7Fw4VWz2pgiCbwGm6OgUAM https://www.hellokpop.com/editorial/k-pop-literature-mythology/ https://www.koreaboo.com/lists/kpop-music-videos-based-inspired-books/
พี่ชีตาร์
พี่ชีตาร์ - Columnist Once a Literature Student, Always a Literature Student

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

Clothia Member 2 ส.ค. 64 09:41 น. 1

ขอสอบถามนิดนึงนะคะ ตรงที่กล่าวถึงเรื่องย่อของ Hamlet ว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับแม่ทัพเอกที่ได้รับคำทำนายว่าจะได้เป็นผู้ปกครองคนต่อไป..... ตรงนี้เป็นเรื่อง Macbeth หรือเปล่าคะ

1
กำลังโหลด
กำลังโหลด