กฎหมายใกล้ตัวที่เราคุ้นหูได้ยินกันในชีวิตประจำวัน แถมยังเป็นเรื่องที่ออกสอบบ่อยก็คือ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กับกฎหมายอาญา ซึ่งบางคนยังสับสนว่าทั้งสองกฎหมายนี้คล้ายกัน ความจริงแล้วต่างกันโดยสิ้นเชิงเลยค่ะ วันนี้ คอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ สรุปมาให้ทุกคนแล้วค่ะว่า กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กับกฎหมายอาญา ต่างกันอย่างไร? อ่านจบอย่าลืมทำแบบฝึกหัดท้ายบทความกันด้วยนะ
Note : การแบ่งกฎหมายออกเป็นประเภทต่างๆ นิยมทำกันในประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายลายลักษณ์อักษร สามารถแบ่งออกเป็นกฎหมายมหาชน และกฎหมายเอกชน โดยยึดถือลักษณะของควมสัมพันธ์เป็นเกณฑ์ กล่าวคือ
"กฎหมายมหาชน" เป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชน
"กฎหมายเอกชน" เป็นความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนด้วยกันเอง
ความหมายของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ vs กฎหมายอาญา
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คืออะไร?
เป็นกฎหมายเอกชนที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน เป็นเรื่องที่รัฐไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว เพราะไม่มีผลกระทบต่อสังคมส่วนรวม จึงปล่อยให้ประชาชนมีอิสระในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างกันเองภายใต้กรอบของกฎหมาย และหลักทั่วไปที่ควรทราบเป็นพื้นฐาน
โดยกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของบุคคล ทรัพย์สิน นิติกรรม สัญญา ครอบครัว และมรดก เป็นต้น ซึ่งมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนตาย อย่างที่บอกไปว่ากฎหมายแพ่งฯ เป็นกฎหมายที่รับรองให้เรามีสภาพบุคคล คือ ให้เราเป็นผู้ที่สามารถใช้สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบต่างๆ ตามกฎหมายได้
ทั้งนี้ แต่ละกฎหมายก็จะมีข้อกำหนด และรายละเอียดอื่นๆ ที่ต่างกันออกไป โดยน้องๆ สามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายบุคคล กฎหมายทรัพย์สิน กฎหมายนิติกรรม และกฎหมายสัญญา เพิ่มเติมได้ที่ >> สรุป 4 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในชีวิตประจำวัน
ส่วนกฎหมายครอบครัว และมรดก สามารถอ่านเพิ่มได้ที่ >> สรุปกฎหมายครอบครัว และมรดก พร้อมตัวอย่างการแบ่งมรดก
กฎหมายอาญา คืออะไร?
เป็นกฎหมายมหาชนที่เกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก เป็นกฎหมายที่บอกลักษณะความผิด องค์ประกอบความผิด และบทลงโทษอย่างชัดเจน โดยกำหนดว่าการกระทำแบบไหนบ้างที่เป็นความผิด ซึ่งผู้ที่ฝ่าฝืนก็จะได้รับโทษตามที่กำหนดไว้ ทำให้การตีความกฎหมายอาญาต้องตีความอย่างเคร่งครัด และไม่สามารถใช้บทกฎหมายอื่นมาเทียบเคียงในการปรับได้
ซึ่งความสำคัญกฎหมายอาญามีไว้เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของคนส่วนรวม โดยควบคุมไม่ให้บุคคลทำสิ่งที่เป็นอันตรายแก่ผู้อื่นหรือต่อสังคม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม
โดยน้องๆ สามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายอาญาเพิ่มเติมได้ที่ >> สรุปหลักกฎหมายอาญา ออกสอบบ่อย
ลักษณะของคดีแพ่ง และคดีอาญา
ลักษณะคดีแพ่ง
คดีแพ่ง เป็นคดีที่มีการโต้แย้งสิทธิ หน้าที่กันระหว่างบุคคล 2 ฝ่าย เรียกคดีประเภทนี้ว่า คดีมีข้อพิพาท (มีคู่ความ) เช่น การทำผิดสัญญา ข้อตกลง หรือโต้แย้งกันเรื่องผลประโยชน์ต่างๆ เช่น ฟ้องผิดสัญญาซื้อขาย ฟ้องให้จ่ายหนี้ ฯลฯ
หรือเป็นคดีที่มีการร้องขอต่อศาลให้ศาลรับรองสิทธิบางอย่างให้ เรียกว่า คดีไม่มีข้อพิพาท (ไม่มีคู่ความ) เช่น ขอเป็นผู้จัดการมรดก ขอเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ ฯลฯ ทั้งนี้ถ้ามีคนยื่นขอคัดค้าน จากคดีไม่มีข้อพิพาทก็สามารถกลายเป็นคดีมีข้อพิพาทได้เหมือนกัน
โดยในคดีแพ่งศาลเปิดโอกาสให้คู่กรณีทำการยอมความกันได้ตลอดเวลา แม้ว่าจะมีคำพิพากษาไปแล้วก็ตาม การยอมความในคดีแพ่ง เรียกว่า สัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่จะทำภายใต้คดีความ และมีผู้พิพากษาให้คำพิพากษาบังคับตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันไว้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของคู่กรณีและจะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายด้วย
ตัวอย่างคดีแพ่ง : คดีกู้ยืมเงิน, ฟ้องหย่า, ขอรับรองบุตร, ฟ้องผิดสัญญาซื้อขาย, ร้องขอแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ฯลฯ
ลักษณะคดีอาญา
คดีอาญา เป็นเรื่องการกระทำความผิด หรือฝ่าฝืนกฎหมายที่มีโทษทางอาญา การดำเนินคดีอาญาจะเป็นไปเพื่อพิสูจน์ความผิดและให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษตามกฎหมายกำหนด เพื่อชดใช้สิ่งที่ได้ทำลงไป โดยคดีอาญาจะถูกแบ่งออกเป็น
- ความผิดยอมความไม่ได้ หรืออาญาแผ่นดิน เช่น ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
- ความผิดที่ยอมความได้ หรือความผิดต่อส่วนตัว เช่น หมิ่นประมาท ยักยอกทรัพย์ สำหรับคดีอาญาอันยอมความได้ ต้องรีบแจ้งความภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องและรู้ตัวคนทำผิด
ตัวอย่างคดีอาญา : ชิงทรัพย์, ปล้นทรัพย์, ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, หมิ่นประมาท, ยักยอกทรัพย์, ลักทรัพย์
การลงโทษผู้กระทำผิด
โทษทางอาญา
สำหรับโทษทางอาญาจะใช้การบังคับโดยเสมอภาค และมีหลักการคือโทษเป็นอันระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำความผิด หมายความว่า เมื่อผู้กระทำผิดเสียชีวิตก็ไม่ต้องลงโทษเขาแล้วนั่นเองค่ะ โดยรัฐได้กำหนดโทษไว้สำหรับลงโทษผู้กระทำความผิด 5 ประเภท ได้แก่
- โทษประหารชีวิต - เป็นโทษสูงสุดตามกฎหมายอาญา จากเดิมใช้วิธียิงเป้า แต่ในปี 2546 รัฐแก้ไขกฎหมายอาญา เปลี่ยนวิธีเป็นการฉีดยา หรือสารพิษเพื่อให้เสียชีวิตแทน
- โทษจำคุก - เป็นโทษที่มีการคุมตัวผู้กระทำความผิดไปขังไว้ที่เรือนจำ ตามที่กำหนดเวลาที่ศาลพิพากษา ส่วนจะนานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับคดี และดุลพินิจของศาล
- โทษกักขัง - เป็นโทษที่เปลี่ยนมาจากโทษจำคุก หากผู้กระทำผิดมีโทษจำคุก และในคดีนั้นศาลสั่งลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ก็จะถูกกักตัวไว้ในสถานที่กักขังซึ่งไม่ใช่เรือนจำ แต่เป็นสถานีตำรวจ หรือสถานที่ควบคุมผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวน
- โทษปรับ - ผู้ที่ได้รับโทษปรับจะต้องชำระเงินตามจำนวนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาต่อศาล กรณีไม่ชำระค่าปรับภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลพิพากษา ศาลจะยึดทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับ
- โทษริบทรัพย์สิน - เป็นโทษเบาสุดตามกฎหมายอาญา โดยจะทำการริบทรัพย์สินที่ผู้กระทำผิดได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ทำความผิด หรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการทำความผิด เว้นแต่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการทำความผิด โดยทรัพย์สินที่ถูกริบมาจะตกเป็นของรัฐบาล
โทษทางแพ่ง
สำหรับคดีแพ่ง ไม่มีโทษติดคุก หรือกักขังเหมือนคดีอาญา โทษของคดีแพ่ง คือ การชดใช้ค่าเสียหาย (ค่าสินไหมทดแทน), ถูกยึดทรัพย์, ตัดเงินเดือน หรือถูกบังคับให้ทำอะไรบางอย่าง เช่น ย้ายออกจากที่ดิน ย้ายออกจากบ้าน เปิดให้คนอื่นใช้ทางในที่ดิน เป็นต้น กรณีที่ไม่ยอมทำตามที่คำพิพากษาของคดีแพ่งนั้นบอกไว้ ศาลอาจสั่งขังเราจนกว่าเราจะยอมทำก็ได้
ฟ้องคดีแพ่ง - ฟ้องคดีอาญา ต้องทำอย่างไร?
การฟ้องคดีแพ่ง โดยส่วนใหญ่แล้วคู่ความมักต้องไปจ้างทนายความ หรือติดต่อศูนย์ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย เพื่อให้ฟ้องคดีต่อศาลด้วยตนเอง
ส่วนการฟ้องคดีอาญา ผู้เสียหายจะจ้างทนายความให้ฟ้องศาลเองก็ได้ หรือแจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดีเพื่อส่งให้อัยการเป็นโจทก์ฟ้องแทนก็ได้ ส่วนจำเลยในคดีอาญา ต้องจ้างทนายความมาช่วยต่อสู้ เว้นแต่ไม่มีเงินจ้างก็สามารถขอทนายความฟรีในชั้นสอบสวนกับชั้นศาลได้
การพิจารณาคดีแพ่ง และคดีอาญา
สำหรับการพิจารณาคดีแพ่ง และคดีอาญาในศาลตามหลักแล้วต้องพิจารณาโดยเปิดเผย ไม่ใช่เพียงแค่เปิดเผยต่อจำเลย ทนายความ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีเท่านั้น แต่ต้องเป็นการเปิดเผยการพิจารณาคดีต่อสาธารณชน
- ตามประมวลกฎหมายวิธีการพิจารณาความแพ่ง มาตรา 36 ระบุว่า “การพิจารณาคดีจะต้องกระทำในศาลต่อหน้าคู่ความที่มาศาลและโดยเปิดเผย” และ
- ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ระบุว่า “การพิจารณาและสืบพยานในศาล ให้ทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย เว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”
ดังนั้น คนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี เช่น ประชาชนทั่วไป สื่อมวลชน ผู้ที่สนใจ ก็สามารถเข้าไปรับฟังการพิจารณาคดีในศาลได้ แต่การเข้าไปนั่งฟังการพิจารณาคดีจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ กติกาที่ศาลวางไว้ ไม่ทำการปั่นป่วน ไม่ขัดขวางการพิจารณา มิเช่นนั้นศาลก็มีอำนาจสั่งให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 33 โดยวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือทั้งสองวิธี ดังนี้ คือ
- ไล่ออกจากบริเวณศาล หรือ
- จำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าทุกคดีจะเปิดโอกาสให้คนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปรับฟังพิจารณาได้ เพราะคดีบางประเภทเป็นคดีที่ไม่ควรเปิดเผยข้อเท็จจริงให้คนอื่นทราบ หากเปิดเผยข้อเท็จจริงไปแล้วอาจก่อให้เกิดผลเสียแก่คู่ความโดยรวม ประโยชน์ของทางราชการ หรือประโยชน์ของสาธารณะได้ หรือบางคดีอาจเป็นคดีที่เป็นเรื่องส่วนตัวจริงๆ ไม่ควรจะเปิดเผย เช่น ฟ้องชู้ ฟ้องรับรองบุตร คดีข่มขืน ฯลฯ จากคดีตัวอย่างที่กล่าวไปแน่นอนว่าหากมีการเปิดเผย หรืออนุญาตให้ใครเข้ามาฟังพิจารณคดีก็อาจจะไม่เหมาะสม
ดังนั้น ในบางคดีศาลก็อาจสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ เฉพาะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามที่กำหนดเท่านั้นจึงมีสิทธิอยู่ในห้องพิจารณา แต่ไม่ใช่ว่าทุกคดีจะสามารถขอให้ศาลสั่งพิจารณาเป็นการลับได้ เช่น คดีที่ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว หรือไม่ได้เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ ศาลจะสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับโดยหลักไม่สามารถทำได้ เนื่องจากตามหลักแล้วการพิจารณาคดีจะต้องทำโดยเปิดเปย ส่วนการพิจารณาคดีเป็นการลับจะต้องเป็นข้อยกเว้นต้องมีเหตุทางกฎหมาย
การพิจาณาคดีที่เป็นการลับ ศาลสามารถสั่งห้ามเปิดเผยข้อความ กระบวนพิจารณา และการดำเนินการต่างๆ ในศาลให้ออกสู่สาธารณะได้ แต่สุดท้ายเมื่อศาลมีคำพิพากษาออกมาแล้ว คำพิพากษาของศาลสามารถเผยแพร่ได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่ง หรือคดีอาญา ทั้งคำพิพากษาฉบับเต็ม หรือฉบับย่อก็สามารถเผยแพร่ได้ ยกเว้นแต่ในคดีเยาวชนและครอบครัว ในคดีที่ผู้ต้องหา หรือจำเลยเป็นเด็ก ในการพิจารณาคดีอาญาหลักคือต้องพิจารณาโดยการลับ บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องไม่สามารถเข้าห้องพิจารณาได้ และห้ามเผยแพร่รายงานกระบวนพิจารณา คำสั่ง คำพิพากษา รายละเอียดการดำเนินคดีต่างๆ ของศาล เพราะมีจุดประสงค์เพื่อคุ้มครองเด็ก
สรุปความแตกต่างของกฎหมายแพ่งฯ vs กฎหมายอาญา
Note : กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กับกฎหมายอาญาเป็นเรื่องที่ออกสอบทุกปีค่ะ โดยส่วนใหญ่มักจะถามเกี่ยวกับหลักการต่างๆ ของทั้งสองกฎหมาย รวมถึงยกกรณีตัวอย่างจากคดีต่างๆ มาให้เราพิจารณาว่า จากโจทย์ตรงกับความผิดในข้อใด ซึ่งน้องสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กับกฎหมายอาญา ตามลิงก์ที่พี่แป้งแปะไว้ด้านล่างได้เลย
มาทดสอบความรู้กัน!
ทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างกฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญากันไปแล้ว มาทดสอบความรู้กันหน่อยดีกว่าค่ะว่าเข้าใจกันจริงหรือเปล่า? วันนี้พี่แป้งมีตัวอย่างแนวข้อสอบวิชาสังคมศึกษามาฝากน้องๆ ถึง 3 ข้อด้วยกัน ถ้าพร้อมแล้วก็ทำได้เลย!
1. ข้อใดกล่าวไม่ถูกต้อง (แนวข้อสอบวิชาสังคมศึกษา)
1) กฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นกฎหมายเอกชน
2) โทษประหารชีวิต เป็นโทษสูงสุดตามกฎหมายอาญา
3) การพิจารณาคดีแพ่งและคดีอาญาต้องพิจารณาโดยเปิดเผย
4) คดีประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายถือเป็นคดีแพ่ง
________________________________________
2. โทษของผู้กระทำผิดทางแพ่งคือข้อใด (แนวข้อสอบวิชาสังคมศึกษา)
1) จำคุก
2) กักขัง
3) ริบทรัพย์สิน
4) ชดใช้ค่าเสียหาย
________________________________________
3. ข้อใดเป็นลักษณะสำคัญของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (แนวข้อสอบวิชาสังคมศึกษา)
1) เป็นกฎหมายชุมชน
2) เป็นกฎหมายเอกชน
3) เป็นกฎหมายมหาชน
4) เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ
น้องๆ คิดว่าแต่ละข้อตอบอะไรบ้าง ใครรู้คำตอบมาคอมเมนต์ด้านล่างเลย!
สำหรับคอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ วิชาสังคมศึกษาฯ บทความต่อไปจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร ฝากติดตามกันด้วยนะคะ หรือถ้าน้องๆ มีเรื่องราวน่าสนใจเรื่องไหน ที่อยากให้นำมาเล่า หรือแจกทริคการจำ ก็สามารถคอมเมนต์เอาไว้ด้านล่างได้เลย!
ข้อมูลจาก https://www.facebook.com/share/p/15a1UpGH5L/https://champ-lawfirm.com/th/civil-court-case-2/ https://justhat.app/civil-case-vs-criminal-case/ https://www.youtube.com/watch?v=TGviLjAKi9E https://www.drthawip.com/civilprocedurecode/010
0 ความคิดเห็น