สวัสดีค่ะ น้องๆ ชาว Dek-D จาก 2 บทความก่อนหน้านี้ พี่แป้งได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับ 4 กฎหมายแพ่งฯ และกฎหมายครอบครัว ที่ออกสอบบ่อยไป ในวันนี้คอลัมน์ ‘รู้ไว้เผื่อออกสอบ’ จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับอีกหนึ่งกฎหมายสำคัญของประเทศ นั่นก็คือ กฎหมายอาญา ค่ะ ที่น้องๆ ต้องรู้ว่ากฎหมายอาญามีลักษณะสำคัญอย่างไรบ้าง เพื่อให้ทุกคนได้รู้ถึงสิทธิและความรับผิดชอบต่อสังคม อ่านจบกันแล้วอย่าลืมทำแบบทดสอบความรู้จากข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยจริงด้านล่างกันด้วยนะคะ
กฎหมายอาญา (Criminal Law)
คือ กฎหมายมหาชนที่เกี่ยวข้องกับคนหมู่มาก เป็นกฎหมายที่บอกลักษณะความผิด องค์ประกอบความผิด และบทลงโทษอย่างชัดเจน โดยกำหนดว่าการกระทำแบบไหนบ้างที่เป็นความผิด ซึ่งผู้ที่ฝ่าฝืนก็จะได้รับโทษตามที่กำหนดไว้ ทำให้การตีความกฎหมายอาญาต้องตีความอย่างเคร่งครัด และไม่สามารถใช้บทกฎหมายอื่นมาเทียบเคียงในการปรับได้ ซึ่งความสำคัญกฎหมายอาญามีไว้เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของคนส่วนรวม โดยควบคุมไม่ให้บุคคลทำสิ่งที่เป็นอันตรายแก่ผู้อื่นหรือต่อสังคม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม
โทษทางอาญามีอะไรบ้าง?
สำหรับโทษทางอาญาจะใช้การบังคับโดยเสมอภาค และมีหลักการคือโทษเป็นอันระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำความผิด หมายความว่า เมื่อผู้กระทำผิดเสียชีวิตก็ไม่ต้องลงโทษเขาแล้วนั่นเองค่ะ โดยรัฐได้กำหนดโทษไว้สำหรับลงโทษผู้กระทำความผิด 5 ประเภท ได้แก่
1.โทษประหารชีวิต
เป็นโทษสูงสุดตามกฎหมายอาญา จากเดิมใช้วิธียิงเป้า แต่ในปี 2546 รัฐแก้ไขกฎหมายอาญา เปลี่ยนวิธีเป็นการฉีดยา หรือสารพิษเพื่อให้เสียชีวิตแทน โดยที่จะทำการฉีดยาภายใน 60 วัน นับจากวันฟังคำพิพากษา
2.โทษจำคุก
เป็นโทษที่มีการคุมตัวผู้กระทำความผิดไปขังไว้ที่เรือนจำ ตามที่กำหนดเวลาที่ศาลพิพากษา ส่วนจะนานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับคดี และดุลพินิจของศาล การคำนวณระยะเวลาจำคุกให้นับวันเริ่มจำคุกรวมคำนวณเข้าด้วย และให้นับเป็นหนึ่งวันเต็มโดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนชั่วโมง เช่น เริ่มรับโทษจำคุกในวันนี้ เวลา 17.00 น. ก็ให้นับเป็น 1 วันเลย เมื่อถึง 00.00 น. ของวันรุ่งขึ้นก็นับเป็นวันใหม่ได้เลย และเมื่อถูกจำคุกครบกำหนดแล้ว ให้ปล่อยตัวในวันถัดจากวันที่ครบกำหนด
Note : การต้องโทษประหารชีวิตและโทษจำคุกตลอดชีวิต กฎหมายจะไม่ให้นำมาบังคับใช้กับผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่ในกรณีที่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี กระทำความผิดจริง และต้องโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต กฎหมายให้ถือว่าระวางโทษดังกล่าวเปลี่ยนเป็นโทษจำคุก 50 ปี แทน
รู้หรือไม่? โทษจำคุก 1 ปี ไม่เท่ากับ จำคุก 12 เดือน
น้องๆ คงเคยเจอพาดหัวหรือการรายงานข่าวว่า ตัดสินจำคุก 10 ปี 12 เดือน และคงจะเกิดความสงสัยว่า ทำไมถึงไม่นับ 12 เดือนนั้นเป็น 1 ปี ไปเลยกันใช่มั้ยคะ?
ปกติเวลานับเดือนนับปี หากนับตามปีปฏิทินตามที่เราเรียนกันมา 12 เดือน จะเท่ากับ 1 ปี แต่การนับแบบนี้จะมีผลต่อการคำนวณระยะเวลาการใช้ชีวิตในเรือนจำของจำเลยที่อาจไม่ได้รับความยุติธรรมค่ะ ทางกฎหมายจึงได้มีการกำหนดวิธีการนับขึ้นมา
หากนับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 21 ระยะเวลา 1 เดือน จะเท่ากับ 30 วัน ดังนั้นตามกฎหมาย 12 เดือน คือ 360 วัน หากนำ 12 เดือนไปนับเป็น 1 ปีปฏิทิน จะกลายเป็น 365-366 วัน ทำให้จำนวนวันที่ต้องโทษเพิ่มมา อีก 5-6 วัน เท่ากับวันที่จำเลยต้องใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำก็จะนานขึ้น ซึ่งไม่ยุติธรรมต่อตัวจำเลยนั่นเองค่ะ
3.โทษกักขัง
โทษกักขังเป็นโทษที่เปลี่ยนมาจากโทษจำคุก หากผู้กระทำผิดมีโทษจำคุก และในคดีนั้นศาลสั่งลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ก็จะถูกกักตัวไว้ในสถานที่กักขังซึ่งไม่ใช่เรือนจำ แต่เป็นสถานีตำรวจ หรือสถานที่ควบคุมผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวน
แต่ถ้าศาลเห็นสมควรว่าจะสั่งในคำพิพากษาให้กักขังผู้กระทำความผิดไว้ในที่อยู่อาศัยของตัวเอง หรือของผู้อื่นที่ยินยอม หรือสถานที่อื่นที่อาจกักขังได้ เพื่อให้เหมาะสมกับประเภท หรือสภาพของผู้ถูกกักขังก็ได้เช่นกัน
4.โทษปรับ
ผู้ที่ได้รับโทษปรับจะต้องชำระเงินตามจำนวนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาต่อศาล กรณีไม่ชำระค่าปรับภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลพิพากษา ศาลจะยึดทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับ ซึ่งเงินที่ได้จากการปรับไม่ได้นำไปเยียวยาผู้เสียหาย แต่เป็นการปรับที่นำเงินเข้าสู่รัฐบาลไปเลย
ในกรณีที่ถูกศาลพิพากษาว่าต้องจ่ายค่าปรับ แต่จำเลยไม่มีเงินจ่ายหรือไม่ยอมจ่ายค่าปรับ ศาลจะสั่งให้กักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปก่อนก็ได้ โดยใช้อัตรา 500 บาท ต่อหนึ่งวัน และกักขังไม่เกิน 1 ปี เว้นแต่กรณีที่ปรับตั้งแต่ 200,000 บาทขึ้นไป ศาลจะสั่งให้กักขังแทนค่าปรับเกิน 1 ปี ได้ แต่ห้ามเกิน 2 ปี
5.โทษริบทรัพย์สิน
เป็นโทษเบาสุดตามกฎหมายอาญา โดยจะทำการริบทรัพย์สินที่ผู้กระทำผิดได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ทำความผิด หรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการทำความผิด เว้นแต่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการทำความผิด โดยทรัพย์สินที่ถูกริบมาจะตกเป็นของรัฐบาล
ยกตัวอย่างทรัพย์สินที่ถูกริบ
- ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด เช่น นายแดนใช้มีดจี้ เพื่อให้ได้เงินจากนางสาวมด มีดเล่มนี้จึงเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด
- ทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด เช่น นายบิ๊กเตรียมธนบัตรใบละ 100 บาทจำนวน 400 ใบ เพื่อแจกชาวบ้านให้เลือกตัวเองเป็นผู้ใหญ่บ้าน ธนบัตรจำนวนดังกล่าวถือเป็นทรัพย์ที่เตรียมไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด
- ทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด เช่น เงินที่นายแดนได้มาจากนางสาวมดโดยการจี้นั้น ถือเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด
- ยกเว้น ทรัพย์ของผู้ที่ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วย เช่น มีดที่นายแดงใช้จี้นางสาวมดเป็นของนายบีม ซึ่งใช้ทำครัวที่บ้าน นายแดนนำมาโดยนายบีมไม่รู้เรื่อง
นอกจากโทษทางอาญาที่ผู้กระทำความผิดต้องได้รับแล้ว ยังมีมาตรการในทางอาญาอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่บทลงโทษ เรียกว่า ‘วิธีการเพื่อความปลอดภัย’ ด้วยค่ะ น้องๆ อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูกับคำนี้สักเท่าไหร่ แต่รู้ไว้ก็ไม่เสียหายเผื่อออกสอบ ไปดูกันค่ะวิธีการเพื่อความปลอดภัยคืออะไร และมีอะไรบ้าง?
วิธีการเพื่อความปลอดภัย
คือ มาตรการในทางอาญาอย่างหนึ่งที่ไม่ใช่บทลงโทษ เป็นมาตรการที่นำมาใช้เพื่อคุ้มครองสังคมและประชาชนให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ป้องกันไม่ให้คนทำความผิด หรือทำความผิดซ้ำเดิมอีก โดยวิธีการเพื่อความปลอดภัยนี้ศาลจะกำหนดเพิ่มจากโทษที่ลงโทษแก่ผู้กระทำผิดก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลเลยว่าจะกำหนดหรือไม่ ถ้าจะกำหนดเพิ่มก็ต้องกำหนดไว้ในคำพิพากษาเลย และถ้าผู้กระทำผิดไม่ปฏิบัติตามก็จะมีโทษเพิ่มเข้าไปอีก ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 วิธี ได้แก่
- กักกัน - การควบคุมผู้กระทำความผิดจนติดนิสัยไว้ให้อยู่ในเขตที่กำหนด เพื่อไม่ให้ไปกระทำความผิด เพื่อดัดนิสัย และฝึกอาชีพ (ผู้กระทำความผิดจนติดนิสัย คือ ผู้ที่เคยถูกศาลพิพากษาให้กักกัน หรือเคยถูกพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง)
- ห้ามเข้าเขตกำหนด - การห้ามไม่ให้เข้าไปในท้องที่หรือสถานที่ที่ศาลกำหนดไว้ในคำพิพากษา ศาลสามารถกำหนดห้ามเข้าไปในสถานที่นั้นๆ ได้สูงสุด 5 ปี
- เรียกประกันทัณฑ์บน - การที่ศาลกำหนดเงินทัณฑ์บนขึ้นมาให้ผู้กระทำผิดวางเงินไว้ (ไม่เกิน 50,000 บาท) โดยผู้กระทำผิดสัญญาว่าจะไม่ก่อเหตุร้ายหรือทำความผิดที่ถูกฟ้องอีกภายในเวลาที่กำหนด แต่ไม่เกิน 2 ปี และศาลอาจจะสั่งให้หาประกันมาด้วยก็ได้
- คุมตัวไว้ในสถานพยาบาล - การคุมตัวผู้กระทำผิดที่มีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือนที่ไม่ต้องรับโทษ หรือได้รับการลดโทษและศาลเห็นว่าถ้าปล่อยไปจะเป็นอันตรายกับผู้อื่น ศาลจะส่งไปคุมตัวที่สถานพยาบาล
- ห้ามการประกอบอาชีพบางอย่าง - เมื่อผู้กระทำผิดอาศัยโอกาสจากการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพในการกระทำความผิด หากศาลเห็นว่าถ้าเขายังทำอาชีพนั้นต่อไปอาจจะกระทำความผิดอีก ศาลจะสั่งไว้ในคำพิพากษาว่า ห้ามการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพนั้นโดยกำหนดเวลาไม่เกิน 5 ปี นับจากวันพ้นโทษ เช่น คนที่ใช้อาชีพที่มีความน่าเชื่อถือของตัวเองไปหลอกลวงคนอื่นเพื่อให้ได้เงินมา
ประเภทของคดีอาญา
คดีอาญาแบ่งเป็น 2 ประเภท
1. ความผิดอาญาต่อแผ่นดิน คือ ผู้ถูกกระทำได้รับผลกระทบโดยตรง และมีผลกระทบต่อสังคมโดยรวม ดังนั้น รัฐต้องดำเนินคดีเอาผู้กระทำความผิดมาลงโทษ และไม่สามารถยอมความได้ แม้ไม่มีการแจ้งความหรือไม่มีผู้เสียหายร้องทุกข์ ทางอัยการสามารถสั่งฟ้องได้
ตัวอย่างคดีอาญาแผ่นดิน เช่น ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงความตาย ฉ้อโกงประชาชน บุกรุกในเวลากลางคืนหรือมีอาวุธติดตัวมาขู่เข็ญ และความผิดฐานฆ่าคนตาย เป็นต้น
2. ความผิดอาญาต่อส่วนตัว คือ ผู้ถูกกระทำได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ไม่มีผลกับสังคมโดยรวม โดยผู้เสียหายต้องฟ้องร้องดำเนินคดีเอง นับเป็นความผิดที่สามารถยอมความกันได้
ตัวอย่างคดีอาญาส่วนตัว เช่น หมิ่นประมาท ทำให้เสียทรัพย์ ฉ้อโกง และยักยอกทรัพย์ เปิดเผยความลับ กระทำชำเรา เป็นต้น
ความผิดทางอาญามีอะไรบ้าง?
ความผิดทางอาญา มีทั้งหมด 3 ประเภท ได้แก่
- ความผิดที่ยอมความได้ - เป็นความผิดส่วนบุคคล ที่ไม่ได้เกิดความเสียหายต่อคนหมู่มากหรือสังคม เป็นความผิดที่คู่กรณียอมตกลงไม่เอาความหรือเลิกคดีได้ หากผู้เสียหายไม่ร้องทุกข์ใน 3 เดือน ที่รับรู้เรื่องคดีจะขาดอายุความ
- ความผิดที่ยอมความไม่ได้ - เป็นความผิดที่มีความรุนแรง ส่งผลกระทบต่อคนหมู่มาก หรือความสงบสุขของสังคม ต้องดำเนินคดีโดยไม่มีข้อยกเว้น แม้ผู้เสียหายจะไม่แจ้งความก็ตาม
- ความผิดลหุโทษ - ความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มีโทษที่ไม่ร้ายแรง เป็นความผิดที่มีโทษจําคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เช่น สร้างความรำคาญต่อผู้อื่น ทำลามกอนาจารในที่สาธารณะ ยิงปืนในพื้นที่ชุมชน บอกข่าวลือให้ผู้อื่นตกใจ ฯลฯ
กฎหมายอาญาจะลงโทษผู้ที่กระทำผิดตอนไหน? สำหรับประเด็นนี้มีกฎอยู่ 2 ข้อ คือ
- กฎหมายต้องกำหนดว่าเป็นความผิด และกำหนดโทษไว้ก่อนการกระทำ
- กฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลังไปในทางที่เป็นโทษแก่บุคคลผู้กระทำผิด แต่เป็นคุณได้
เช่น สมมตินายเอทำผิดกฎหมาย และได้รับโทษไปแล้ว แต่มีกฎหมายใหม่ออกมา และมีโทษหนักขึ้น นายเอจะไม่ถูกเพิ่มโทษ แต่ในกรณีที่กฎหมายใหม่ออกมาแล้วโทษน้อยลง เป็นคุณมีประโยชน์ต่อนายเอ กรณีนี้ก็จะสามารถช่วยลดโทษลงได้
การกระทำผิดที่เป็นความผิดทางอาญา
ก่อนที่ผู้กระทำผิดจะได้รับโทษตามกฎหมายนั้น แน่นอนว่าต้องมีการคิดหรือวางแผนมาก่อนใช่มั้ยคะ ซึ่งขั้นตอนการกระทำความผิดตามกฎหมายอาญาที่จะใช้ในการพิจารณาความผิด มีดังนี้
Step 1 คิดการ : เช่น นายเอ็กซ์โกรธนายซีมากจนอยากเอาคืนด้วยการทำร้ายร่างกาย ขั้นนี้ยังไม่ถือผิด เพราะแค่เป็นการคิดในใจเท่านั้น
Step 2 ตกลงใจ : เป็นขั้นที่ผู้กระทำผิดตัดสินใจแล้วว่าจะลงมือทำ ขั้นนี้ก็ยังไม่ถือผิด เพราะแค่เป็นการคิดในใจเท่านั้นเช่นกัน
Step 3 เตรียมการ : เป็นขั้นที่ผู้กระทำผิดเริ่มวางแผน ซื้ออุปกรณ์ ที่จะใช้ทำความผิด ซึ่งทางกฎหมายก็ยังถือว่าขั้นนี้ยังไม่มีความผิด (ยกเว้น เตรียมลอบปลงพระชนม์ เตรียมก่อกบฏ และเตรียมวางเพลิง ทั้ง 3 คดีนี้ แค่ขั้นเตรียมการก็ถือว่ามีความผิดแล้ว)
Step 4 ลงมือกระทำ : ขั้นนี้มีความผิดอย่างแน่นอน เพราะถือว่าลงมือทำเรียบร้อยแล้ว แต่กรณีที่ลงมือกระทำแล้วแต่ไม่สำเร็จ
เช่น นายเอ็กซ์ตั้งใจยิงนายซีให้เสียชีวิต แต่หมอดันรักษานายซีจนรอด กรณีนี้นายเอ็กซ์ก็ยังมีความผิดอยู่ดี แต่จะมีความผิดฐานพยายามกระทำความผิด เพราะเขามีเจตนาและกระทำเกินขึ้นเตรียมการมาแล้ว แค่ไม่สำเร็จตามความตั้งใจที่คิดไว้นั่นเอง และจะได้รับโทษ 2 ใน 3 ตามที่กฎหมายกำหนดไว้
สำหรับการกระทำผิดอาญา แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ ได้แก่
1. การกระทำผิดโดยเจตนา คือ การกระทำผิดที่ผู้กระทำผิดได้กระทำโดยรู้ตัว และคาดหวังผล หรือย่อมเล็งเห็นผลในการกระทำนั้น
เช่น นายเจใช้ปืนยิงนายจอห์นจนเสียชีวิต โดยนายเจรู้ตัวว่ายิงนายจอห์น และต้องการให้นายจอห์นเสียชีวิต ดังนั้น นายเจมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา
2. การกระทำผิดโดยไม่เจตนา คือ การกระทำผิดโดยมีเจตนาร้าย แต่ไม่ได้คาดหวังผล หรือไม่ได้เล็งเห็นผลในการกระทำ
เช่น นายเอปืนลั่นถูกนายบีจนเสียชีวิต แม้ว่า นายเอไม่ได้เจตนาทำร้าย นายบี แต่นายเอก็มีความผิดฐานฆ่านายบีตายโดยไม่เจตนา
3. การกระทำผิดโดยประมาท คือ การกระทำผิดที่กระทำโดยไม่เจตนา แต่ได้กระทำไปโดย ปราศจากความระมัดระวัง
เช่น นางสาวมดขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูง เป็นเหตุให้รถไปชนนายขาว ซึ่งเดินอยู่ข้างถนนถึงแก่ความตาย นางสาวมดมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งนางสาวมดไม่มีมีเจตนาชนนายขาว แต่เธอขับรถโดยปราศจากความระมัดระวังจนเป็นเหตุให้ชนนายขาวถึงแก่ความตายนั่นเอง
ผู้กระทำผิดทางอาญา
เมื่อเกิดกรณีที่ทำความผิด น้องๆ คิดว่าแต่ละกรณีทุกคนที่เกี่ยวข้องจะได้รับโทษเท่ากันมั้ย? คำตอบคือ “ไม่เท่ากัน” ซึ่งทางกฎหมายได้มีการแบ่งบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดเป็น 3 ชนิด ได้แก่
- ตัวการ คือ ผู้ที่ลงมือกระทำความผิด โดยจะได้รับโทษเต็มๆ ตามที่กฎหมายกำหนด
- ผู้ใช้ คือ ผู้ที่มีเจตนาให้คนอื่นลงมือกระทำความผิด จากวิธีการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วาน ยุยง หรือส่งเสริม ซึ่งผู้ใช้ก็จะได้รับโทษเท่ากับตัวการเหมือนกัน แต่ในกรณีที่ตัวการไม่ลงมือทำตามที่ผู้ใช้สั่ง ก็ถือว่ามีความผิด แต่จะได้รับโทษแค่ 1 ใน 3 ของโทษจริงที่กำหนดไว้
- ผู้สนับสนุน คือ ผู้ที่ช่วยเหลือผู้ทำผิด ก่อน หรือ ขณะทำความผิด ซึ่งการสนับสนุนกฎหมายจะไม่สนว่าผู้ทำผิดจะรู้หรือไม่รู้ถึงการช่วยเหลือก็ตาม ผู้สนับสนุนก็มีความผิดอยู่ดี โดยจะได้รับโทษ 2 ใน 3 ของโทษของตัวการ ทั้งนี้ ถ้ามีการช่วยเหลือ หลังทำความผิด จะไม่มีความผิดฐานผู้สนับสนุน แต่จะผิดในฐานอื่นๆ เช่น รับของโจร พาหลบหนี ขัดขวางเจ้าหน้าที่พนักงาน เป็นต้น
กฎหมายอาญาบังคับใช้ที่ไหนบ้าง?
กฎหมายอาญาจะบังคับใช้โดยที่จะยึดหลักดินแดนตามราชอาณาจักรไทย โดยกฎหมายจะพิจารณาดังนี้
- พื้นดิน พื้นน้ำในราชอาณาจักร
- ทะเลอ่าวไทย
- ทะเลอาณาเขต คือ น่านน้ำของประเทศนั้นๆ นับจากฝั่งออกไป 12 ไมล์ทะเล (ประมาณ 22 กิโลเมตรจากชายฝั่ง)
- พื้นอากาศเหนือข้อที่ผ่านมา
กรณีที่ทำผิดนอกราชอาณาจักรไทย จะมีความผิดตามกฎหมายไทยมั้ย? คำตอบคือ ‘มี’ ค่ะ หากการกระทำความผิดเกิดขึ้นดังนี้
- กระทำความผิดบนเรือไทย หรืออากาศยานไทยไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม เช่น ทำผิดอยู่เหนือน่านฟ้าญี่ปุ่น แต่เครื่องบินที่เรานั่งคือเครื่องบินของไทย ก็ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายอาญาไทย
- กระทำความผิดในต่างประเทศ แต่ความผิดนั้นส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงของไทย เช่น ปลอมธนบัตร ปลอมเอกสารราชการ ก่อกบฏ
มาลองทดสอบความรู้กัน!
มีความรู้เรื่องหลักกฎหมายอาญากันไปแล้ว มาลองทำข้อสอบจริงๆ กันดีกว่าค่ะ สำหรับโจทย์ในวันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับโทษทางอาญา จากข้อสอบ A-level วิชาสังคมศึกษา ปี 2566
ข้อใดไม่ใช่โทษทางอาญา
1.ปรับ
2.ประหาร
3.จ่ายค่าเสียหาย
4.กักขัง
5.ริบทรัพย์สิน
น้องๆ ชาว Dek-D คิดว่า คำตอบข้อไหนไม่ถูกต้องคะ ลองคอมเมนต์คุยกันด้านล่างได้เลยค่ะ !
รวมคดีอาญาในชีวิตประจำวันนี่เป็นส่วนหนึ่งของลักษณะสำคัญเกี่ยวกับกฎหมายอาญาที่น้องๆ ต้องรู้เท่านั้นนะคะ การรู้หลักการต่างๆ จะช่วยให้เราเข้าใจ และตีโจทย์ให้แตกได้ง่ายขึ้น ส่วนความผิดในคดีต่างๆ เกี่ยวกับกฎหมายอาญาที่ออกสอบบ่อยจะมีอะไรบ้าง สามารถอ่านได้ที่ลิงก์ด้านล่างนี้เลย!
ข้อมูลจาก https://www.facebook.com/photo/?fbid=209859663233515&set=a.192749148277900 https://www.ilaw.or.th/articles/2841
0 ความคิดเห็น