Hallo! สวัสดีชาว Dek-D ทุกคนค่า~ ถ้าพูดถึงประเทศที่มีชื่อเสียงในด้าน ‘วิศวกรรม’ แน่นอนว่าประเทศเยอรมนี ต้องขึ้นมาอยู่ในภาพจำเป็นอันดับต้นๆ ของใครหลายๆ คนแน่นอน เห็นได้จากแบรนด์รถยนต์ชั้นนำ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากมาย หรือบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังอย่าง Siemens ก็ล้วนมีต้นกำเนิดจากประเทศนี้ ดังนั้นถ้าใครได้เรียนต่อสาย Engineering ที่เยอรมนีก็ย่อมเป็นเรื่องที่ดีแน่นอน!
ว่าแต่น้องๆ อยากรู้มั้ยว่าอะไรคือเบื้องหลังที่ทำให้เยอรมนีเป็นดาวเด่นในสายวิศวะฯ จนติดอันดับโลก วันนี้พี่ลูกหมูเลยได้รวบรวม 5 เหตุผลเริ่ดๆ มาให้แล้วค่ะ ใครที่สนใจหรือหาข้อมูลกำลังจะไปเรียนต่ออยู่พอดี ตามไปไขคำตอบพร้อมกันเล้ยย~
1. ประวัติศาสตร์ยาวนานในอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี
หลายคนอาจได้ทราบมาบ้างว่าประเทศเยอรมนีนั้นผ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์แต่ละยุคมาอย่างยาวนานและเข้มข้นมากๆ และก็เพิ่งรวมเป็นประเทศได้เมื่อปี ค.ศ. 1990 ซึ่งถือว่าช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรป แต่ต้องบอกว่าเค้ามีการวางรากฐานอุตสาหกรรมให้แข็งแกร่งมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) แล้วค่ะ (อย่างบริษัท Siemens ก็เริ่มตั้งแต่ปี 1847 แล้ว)
จากนั้นเยอรมนีก็พัฒนามาเรื่อยๆ จนก้าวกระโดดเป็นผู้นำโลก โดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมหนัก (Heavy Industry) และการผลิตที่ต้องการความแม่นยำสูง ซึ่งนำไปสู่การเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมหลักของประเทศ เช่น เหล็ก เครื่องจักรกล เคมี ไฟฟ้า อุปกรณ์โครงสร้างหรือยานยนต์ เป็นต้น
Photo Credit: MeisterDrucke (webiste)
ตลอดประวัติศาสตร์ เยอรมนีได้ผลิตนักประดิษฐ์ วิศวกร รวมถึงนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากมาย และยังเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลังๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่น
- Carl Benz และ Gottlieb Daimler ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมยานยนต์
- Rudolf Diesel ผู้คิดค้นเครื่องยนต์ดีเซล
- Werner von Siemens ผู้สร้างนวัตกรรมด้านวิศวกรรมไฟฟ้า
- Johann Carl Friedrich Gauß เจ้าชายแห่งคณิตศาสตร์
- Max Planck นักฟิสิกส์ผู้บุกเบิกทฤษฎีควอนตัม
- Albert Einstein นักฟิสิกส์ทฤษฎีคนสำคัญของโลก
Photo Credit: Autocar Professional (Website)
น้องๆ รู้หรือเปล่าว่าเยอรมนีเป็นผู้นำในแนวคิด "อุตสาหกรรม 4.0" และกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว 10-15 ปี ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างวิศวกรรม ระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อสร้างระบบการผลิตที่ชาญฉลาด เป้าหมายคือรักษาการเป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมการผลิตและก้าวเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี ซึ่งทั้งหมดทั้งมวบนี้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมวิศวกรรมในระดับโลกนั่นเองค่ะ
...................
2. ระบบการศึกษาและการฝึกอบรมที่แข็งแกร่ง
แน่นอนว่าถ้าพูดถึงคณะทางด้านวิศวกรรม หลายๆ คนจะต้องนึกถึงเยอรมนีเป็นอันดับต้นๆ เพราะมีมหาวิทยาลัยและสถาบันเทคนิคชั้นนำที่มีชื่อเสียงระดับโลกเยอะมากๆ เช่น Technical University of Munich ที่ติดท็อป 20 ของโลก ด้านสาขาวิศวกรรมและเทคโนโลยี (จากการจัดอันดับโดย QS University Ranking 2024 by Subject 2024) อีกทั้งมหาวิทยาลัยในเยอรมนีมีหลักสูตรด้านวิศวกรรมหลากหลายให้เลือก ตั้งแต่วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมพลังงาน วิศวกรรมวัสดุ วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมชีวการแพทย์ วิศวกรรมอุตสาหการ วิศวกรรมพลังงาน วิศวกรรมการบินและอวกาศ และวิศวกรรมยานยนต์ (ซึ่งเราจะพูดถึงในหัวข้อด้านล่าง) ซึ่งระบบการศึกษาที่แข็งแกร่งนี่ก็มีการวางรากฐานอย่างแน่นตั้งแต่ช่วงหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมนั่นเองค่ะ
นอกจากทางรัฐจะเน้นด้านศึกษาให้มีคุณภาพสูงแล้ว ค่าเล่าเรียนมหาวิทยาลัยของรัฐก็ไม่สูงมาก ทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย (บางที่ให้เรียนฟรีทั้งคนเยอรมนีและชาวต่างชาติเลยค่ะ) และในฐานะนักเรียนต่างชาติแบบเราๆ ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ ทุนสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมนี DAAD-EPOS ซึ่งยกเว้นค่าเล่าเรียน (ถ้ามี) และซัปพอร์ตค่าใช้จ่ายอื่นๆ อย่างครบครัน และครอบคลุมหลายสาขาเลยทีเดียว โดยเฉพาะด้านวิศวกรรม ใครที่อยากต่อสายนี้ที่เยอรมนี ห้ามพลาดทุน DAAD เลยค่ะ // แอบกระซิบว่ามีคนไทยได้รับทุนนี้ทุกปี!
เรียนฟรี ชีวิตดีมาก! เปิด 10 เหตุผลเจ๋งๆ ของการเรียนต่อ ‘เยอรมนี’ มีดียังไงบ้าง?
อย่างที่เล่าไปข้างต้นว่าทางรัฐนั้นสนับสนุนด้านวิศวกรรมมากๆ และได้เข้ามาเป็นตัวกลางเชื่อมโยงอุตสาหกรรมในเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาด้านการศึกษา จนทำให้มีการออกแบบการเรียนสอนระบบ "Dual Education System" หรือก็คือการผสมผสานการเรียนเชิงทฤษฎีในมหาวิทยาลัยเข้ากับการฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการ ทำให้นักศึกษามีประสบการณ์ตรงจากอุตสาหกรรม ซึ่งการที่สถาบันการศึกษาต่างๆ ทำงานร่วมกับบริษัทวิศวกรรมชั้นนำ ก็ทำให้นักศึกษาได้มีโอกาสได้ฝึกงาน เข้าถึงโครงการจริงระหว่างเรียน และนำไปพัฒนาหรือวิจัยโครงการอื่นๆ ในอนาคตต่อได้ และที่สำคัญเลยก็คือเครือข่ายนี้ช่วยพัฒนาทักษะผู้เรียนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยว่าคนที่เรียนจบปริญญาสายวิศวกรรมจากเยอรมนีล้วนเป็นที่ยอมรับในระดับโลก
Note: สำหรับใครที่อยากรู้ว่ามีมหาวิทยาลัยเปิดสอนในเยอรมนีบ้าง สามารถค้นหาที่เว็บไซต์ https://www.myguide.de/en/ ซึ่งเป็นช่องทางสำหรับค้นหาหลักสูตรเรียนต่อระดับปริญญาตรีและปริญญาโทในประเทศเยอรมนีได้เลยค่ะ
น่าเรียนแบบตะโกน! หลักสูตร ป.โท พร้อมทำงานกับ ‘Audi’ แบรนด์รถหรูที่เยอรมนี
...................
3. การลงทุนในงานวิจัยและพัฒนา (R&D)
นอกจากระบบการศึกษาที่เข้มข้นสุดๆ แล้ว เยอรมนีเป็นหนึ่งในประเทศที่ลงทุนในงานวิจัยและพัฒนามากที่สุดในโลกอีกด้วย โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรม ที่ทางภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมเข้ามาช่วยกันผลักดันและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ อย่างเต็มที่ยกตัวอย่างสถาบันวิจัยชั้นนำ เช่น Fraunhofer-Gesellschaft และ Max Planck Institute เป็นต้น
นอกจากนี้มาตรฐานการออกแบบและการผลิตสินค้าของเยอรมนี เช่น DIN (Deutsches Institut für Normung) หรือที่น้องๆ หลายคนน่าจะได้ยินบ่อยๆ อย่างมาตรฐาน ISO (International Organization for Standardization) ก็มาจากเยอรมนีและได้รับการยอมรับในระดับสากลอีกด้วย จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมอุตสาหกรรมต่างๆ จากประเทศนี้มีชื่อเสียงในด้าน "ความแม่นยำ" และ "คุณภาพ" เพราะว่ารากฐานที่แข็งแกร่งนี้ได้ฝังอยู่ในวัฒนธรรมการทำงาน การวิจัย และการพัฒนาเทคโนโลยีมาอย่างเข้มข้นนั่นเอง
Good to know!
- Fraunhofer-Gesellschaft หรือชื่อเต็มๆ คือ Fraunhofer-Gesellschaft zur Förderung der angewandten Forschung e.V. เป็นสถาบันวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือจากทางภาครัฐและอุตสาหรกรรม มีศูนย์วิจัยมากกว่า 76 สถาบัน กระจายตัวทั่วเยอรมนี โดยทำการวิจัยหลากหลายสาขา เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ วิศวกรรมและเทคโนโลยีการผลิต วัสดุศาสตร์ เป็นต้น ตัวอย่างผลงานเด่น เช่น MP3 Technology H.264/AVC Video Compression (เทคโนโลยีการบีบอัดวิดีโอที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมสื่อ)
- Max Planck Institute เป็นสถาบันวิจัยชั้นนำในประเทศเยอรมนี ที่เน้นการวิจัยขั้นสูงที่เน้นใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ วิทยาศาสตร์มนุษย์และสังคม และวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต ตัวอย่างผลงานเด่น เช่น การศึกษาหลุมดำและการเกิดจักรวาล เป็นต้น
...................
4. ตลาดแรงงานด้านวิศวกรรมที่แข็งแกร่ง
อย่างที่เกริ่นไปว่าเยอรมนีนั้นมีการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอย่างไม่หยุดหย่อน จึงทำให้หลากหลายบริษัทต้องการวิศวกรที่มีคุณภาพสูงเข้าไปร่วมงานด้วย โดยเฉพาะในสาขาเครื่องกล ยานยนต์ พลังงาน และเทคโนโลยีดิจิทัล ที่กลายเป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศ เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น พี่ขอลิสต์ตัวอย่างรายชื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกสัญชาติเยอรมันมาให้น้องๆ ได้รู้จักกันสักหน่อย (บริษัทรถยนต์จะพูดถึงในหัวข้อถัดไปนะคะ)
- thyssenkrupp Steel – บริษัทเหล็กยักษ์ใหญ่
- Deutsche Telekom - ผู้นำบริการด้านโทรคมนาคม
- SAP - บริษัทซอฟต์แวร์เบอร์หนึ่งของยุโรป
- MAN Energy Solutions - บริษัทผลิตเครื่องยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ เทคโนโลยีพลังงาน และโซลูชันสำหรับการเดินเรือและอุตสาหกรรม
- MTU Aero Engines - บริษัทที่ผลิตและพัฒนาเครื่องยนต์สำหรับอุตสาหกรรมการบิน
นอกจากจะเน้นผลิตบุคลากรผู้เชี่ยวชาญจากในประเทศแล้ว เยอรมนีก็เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติได้มาเรียนรู้ ฝึกฝนประสบการณ์ และมอบโอกาสการทำงานหลังเรียนจบ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ การขอวีซ่าเพื่ออยู่หางานทำ (Job Seeker Visa) ที่จะอนุญาตให้เราหางานในเยอรมนีต่อไปได้อีก 18 เดือน และหากน้องๆ ได้งานที่ตรงกับสายที่เรียนมาและทำสัญญาจ้างเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถเปลี่ยนรูปแบบวีซ่าไปเป็นวีซ่าทำงาน เพื่ออยู่ทำงานที่นั่นต่อได้อีกยาวๆ เลยค่ะ แอบกระซิบว่าสาย R&D นั้นเป็นที่ต้องการของตลาดงานมากๆ เนื่องจากบริษัทในเยอรมนีจำนวนมากมีส่วนร่วมในการวิจัยและพัฒนาที่ล้ำสมัยอยู่เสมอ (แถมรายได้ดีด้วยน้า) ดังนั้นใครจบวิศวกรรมจากที่นี่ และมีความเชี่ยวชาญในด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี บอกเลยว่าหางานได้ไม่ยากแน่นอนค่า
...................
5. นึกถึงวิศวกรรมยานยนต์ นึกถึงเยอรมนี
ถ้าพูดถึงประเทศที่เป็นจุดกำเนิดแบรนด์รถหรูระดับโลกอย่าง BMW, Benz, AUDI, Volkswagen หรือ Porsche แน่นอนว่าต้องนึกถึงประเทศเยอรมนี เรียกว่าแต่ละแบรนด์นั้นมีจุดกำเนิดที่ยาวนานเลยทีเดียว และมีคุณภาพสูงจนครองใจผู้คนทั่วโลก ซึ่งเบื้องหลังของความสำเร็จนี้ก็มาจากอุตสาหกรรมวิศวกรรมยานยนต์ที่แข็งแกร่งมากๆ และเยอรมนียังเป็นศูนย์กลางในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EVs) และระบบการขับขี่อัตโนมัติ (Autonomous Driving) อีกด้วยนะคะ นอกจากนี้ยังมีมีบริษัทวิศวกรรมระดับโลกอื่นๆ เช่น Siemens, Bosch เป็นต้น ซึ่งแสดงถึงความเป็นผู้นำด้านการผลิตเครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์อีกด้วยนั่นเองค่า
ว่าแล้วก็ขอปิดท้ายด้วยลิสต์รายชื่อบริษัทปังๆ สัญชาติเยอรมันกันอีกสักหน่อย แต่ละที่รับรองว่าน้องๆ อาจคุ้นเคยแน่นอน!
- Siemens - หนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก เชี่ยวชาญด้านระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ เช่น ระบบควบคุมอุตสาหกรรม เครื่องมือทางการแพทย์ ระบบขนส่ง (เช่น รถไฟ) และโครงข่ายไฟฟ้า // รถไฟฟ้า BTS บ้านเราก็ใช้ตัวรถจากบริษัทนี้นะ
- Bosch - มีชื่อเสียงในด้านการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เช่น ระบบเบรก หัวฉีดน้ำมัน และเซ็นเซอร์ต่างๆ นอกจากนี้ยังมีธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เช่น เครื่องซักผ้า ตู้เย็น และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เช่น ระบบอัตโนมัติและโซลูชันพลังงาน
- Volkswagen - หนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในโลก มีแบรนด์ย่อยที่เป็นที่รู้จัก เช่น Audi, Porsche, Lamborghini, และ Bugatti
- Mercedes-Benz / BMW - แน่นอนว่า 2 แบรนด์นี้ทุกคนรู้จักกันดีอยู่แล้ว เพราะเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์หรูที่มีชื่อเสียงระดับโลกนั่นเอง
- Lufthansa - สายการบินแห่งชาติของเยอรมนี และเป็นสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปอีกด้วยค่ะ
- Leica - ผู้บุกเบิกวงการกล้องฟิล์ม 35 มม. มีชื่อเสียงอย่างมากในหมู่ช่างภาพมืออาชีพและคนรักการถ่ายภาพแบบคลาสสิก // ใครชอบถ่ายภาพโทนฟิล์มต้องรู้จักแบรนด์นี้แน่นอนค่า
นี่เป็นแค่เพียงเหตุผลส่วนหนึ่งเท่านั้นนะคะ ซึ่งต้องบอกว่ากว่าที่ด้านวิศวกรรมของเยอรมนีจะก้าวเป็นผู้นำระดับโลกได้อย่างทุกวันนี้ ก็มีการพัฒนามาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมประเทศนี้ถึงมีนักวิศวกร นักประดิษฐ์ และนักวิทยาศาสตร์ระดับตำนาน จนส่งผลมาถึงปัจจุบันทำให้มีบริษัทขึ้นชื่อเป็นแบรนด์ดังๆ ด้านอุตสาหกรรมการผลิตมากมาย
และที่สำคัญคือระบบการศึกษาที่ได้รับการส่งเสริมทั้งจากภาครัฐและเอกชนอย่างเต็มที่ (เรียนและฝึกงานกับบริษัทชั้นนำ) จึงทำให้เยอรมนีเป็นที่ต้องตาต้องใจของนักเรียนทั่วโลกที่จะเข้ามาเรียนทางด้านนี้นั่นเองค่า น้องๆ คนไหนที่สนใจอยากจะไปเรียนทางด้านนี้และอยากขอทุน สามารถติดตามอัปเดตจากทาง DAAD Thailand ได้เลยนะคะ จะได้เตรียมตัวให้พร้อม เพื่อจะไปเป็น #ทีมเยอรมัน กันค่า
...................
สำหรับใครที่มองหาโอกาสโกอินเตอร์ ตอนนี้มีหลายทุนกำลังเปิดรับสมัคร
ตามไปเช็กกันต่อได้เลยที่ "โปรแกรมค้นหาทุนเรียนต่อนอก by Dek-D"
ติดตามทุนต่อนอกง่ายๆ กับ Dek-D
- Website: www.dek-d.com/studyabroad
- X: @tornokandcourse
- IG: @tornokandcourse
- Facebook: Study Abroad เรียนต่อนอก by Dek-D
- Facebook: Study Guide ไปเรียนต่อนอกกันเถอะ
- TikTok: @tornokandcourse
0 ความคิดเห็น