Dek-D.com ใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของ
ผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่
ยอมรับ

สอนวาดเส้นขวดน้ำ

ตั้งกระทู้ใหม่
ตั้งกระทู้ใหม่

แบบฝึกหัดวันนี้เป็นขวดน้ำ สิ่งที่เราจะได้ฝึกคือวัตถุที่มีความโปร่งใส หากไม่เคยฝึกไว้บ้างถ้าออกข้อสอบจะเกร็งจนทำไม่ได้เหมือนกัน
หุ่นขวดน้ำที่่ใช้วาดจริง อันนี้เป็นหุ่นจริงที่ใช้สาธิตในการวาดครั้งนี้ จะเห็นได้ว่ามีรายละเอียดมากมายมหาศาล น้ำหนักคลุมเคลือ ไม่ชัดเจนสวยงาม แุถมมุมที่ได้ก็ย้อนแสงจนทำให้ภาพมืดไปหมด. (เวลาสอบจริงหวังว่าคงไม่มีใครโชคร้ายโดนมุมแบบนี้เยอะนัก ^^”) เอาเป็นว่าแบบมาไม่ค่อยสวยเลย… แต่จะทำไงได้ หน้าที่เราศิลปินก็ต้องวาดออกมาให้มันสวยขึ้นล่ะ

หุ่นขวดน้ำที่จัดแสงและตัดพื้นหลังรบกวนออก ภาพนี้เป็นภาพที่มีการปรับแสงไฟ เพิ่มแสงจากมุมซ้ายบน ด้านหน้าเข้าไปและตัดพื้นหลังออก, ขอใช้ประกอบการอธิบายคุณสมบัติของวัตถุโปร่งใส 1) คือเวลาวาดเราจะมองเห็นทะลุไปด้านหลัง เพราะฉะนั้นพื้นหลังจะปรากฏและมีผลกระทบต่อน้ำหนักของตัวภาพโดยตรง 2) โชว์ให้เห็นโครงสร้างของวัตถุเอง 3) พลาสติกมีความมันวาวเล็กน้อย มันจึงสะท้อนแสงสว่างสุด (Highlight) ออกมาในบริเวณที่เป็นส่วนโค้งนูน หรือเว้า ตามร่องหรือรอยต่างๆของตัวขวด รวมทั้งผิวและหยดน้ำที่เกาะบนขวดด้วย. 4) ความเข้มนอกจากจะเป็นไปตามพื้นหลังแล้ว ยังขึ้นอยู่กับ 4.1)ความหนาของพลาสติกก็คือจุดที่พลาสติกโค้งซ้อนกันจากมุมมองเรา เช่นบริเวณขอบขวด หรือแก้ว 4.2)น้ำหนักแสงเงาภาพรวม (ตามโมเดลน้ำหนักแสงเงาทรงกระบอก หากใครเคยเรียนผ่านมาบ้างแล้วจะจำได้) โดยสมมุติให้ขวดนี้ทึบแสงเป็นเหมือนปูนพลาสเตอร์สีขาวทั้งหมดดู ว่าจะมีแสงเงาอย่างไร. เทคนิค นอกจากหลักการสังเกตพื้นฐานที่กล่าวมานี้ ยังมีวิธีวาดวัตถุโปร่งใสง่ายๆด้วย คือให้เราลงน้ำหนักกลางออกเทาๆไว้ทั้งหมด แล้วเขียนแสงสว่างสุดขึ้นมาตามขอบของรูป ก็ช่วยให้งานดูโปร่งใสได้มากเช่นกัน. มาดูขั้นตอนการวาดกันเลยค่ะ

ขั้นตอนที่ 1 ขึ้นโครงภาพ โดยใช้เส้นแกนช่วยกะระยะให้สมดุลย์ซ้ายขวาเท่าๆกัน ช่วยให้ขวดไม่เบี้ยวได้

ขั้นตอนที่ 1 ร่างภาพ กะขนาดและสัดส่วนให้ดีๆ เขียนรายละเอียดลงไป

ขั้นตอนที่ 2 ตัดเส้น โดยเริ่มจากลบเส้นร่างออกให้สะอาดที่สุด แต่ยังพอมองเห็น แล้วค่อยตัดเส้นใหม่ลงไปให้เรียบร้อยที่สุด

ขั้นตอนที่ 3 แรเงาน้ำหนักภาพรวม แรเงาน้ำหนักภาพรวมลงไปตามโมเดลแสงเงาทรงกระบอก เพื่อเป็นเสมือนแผนที่นำทางให้เราขณะเก็บรายละเอียด

ขั้นตอนที่ 4 เก็บรายละเอียดแสงเงา เก็บรายละเอียดน้ำหนักแสงเงาตามที่ตาเห็น และคำนึงถึงโมเดลแสงเงาที่กำหนดไว้ พยายามใช้ปลายดินสอที่แหลมทำให้งานเรียบร้อยเสมอ

ขั้นตอนที่ 5 วาดลวดลายขวดน้ำ วาดลวดลายไปพร้อมๆกับเก็บรายละเอียดน้ำหนักแสงเงาเลยเพราะวันนี้ เราเจอกับหุ่นที่มีลวดลายสีอ่อนบนพื้นสีเข้ม มันเขียนทับขึ้นมาทีหลังไม่ได้ จึงต้องเว้นไว้ระหว่างทำ

ภาพวาดขวดน้ำ ขนาด A2 ภาพรวมผลงานวาดเส้นขวดน้ำ ขนาดกระดาษ A2 ความจริงทีแรกก็ลังเลอยู่ว่าจะวาดให้ขนาดเท่าจริงหรือใหญ่กว่าแบบดี แล้วคิดไปคิดมาแล้วถ้าเราวาดเท่าแบบจริงใส่กระดาษ A2 ก็จะเหลือพื้นที่ว่างมาก อาจจะดูเล็กไป (อีกอย่างเราตั้งกล้องไว้ห่างในระยะเห็นเต็มกระดานด้วย) เลยตัดสินใจวาดใหญ่กว่าแบบจริง ซึ่งมันก็ทำให้ได้ผลงานที่เหมาะสมและดูดีกับหน้ากระดาษ. แต่ข้อควรระวังคือ ถ้าโจทย์บอกให้วาดแบบสมจริง หากเราวาดขนาดเท่าขวดน้ำจริงๆ ก็จะทำให้ดูสมจริงมากกว่าด้วย. หากน้องๆอยากวาดสมจริงก็ให้เก็บน้ำหนักพื้นหลังมา ช่วยให้ขนาดงานเราไม่เล็กจนดูหลวมได้ค่ะ.

ภาพวาดขวดน้ำมุมขยาย และสุดท้ายนี้ขอฝากคลิปสาธิตวาดเส้นครั้งนี้ไว้ด้วยค่ะ.

สำหรับน้องๆที่เพิ่งฝึกวาดขวดใสเป็นครั้งแรกมันอาจจะยากมากๆ อาจลองเปลี่ยนมาวาดแก้วใส่น้ำ หรือลองขวดที่มีลวดลายน้อยหน่อย ทั้งนี้ จำเป็นต้องมีสมาธิในการวาดเป็นอย่างมาก วิเคราะห์น้ำหนักแสงเงาให้ออกแล้วค่อยๆสังเกตรายละเอียดดีๆ ใจเย็นๆค่อยๆวาดไปค่ะ วาดเสร็จแล้วยังไงเอามาโพสต์เพื่อขอคอมเม้นต์ได้ค่ะ ยินดีให้คำแนะนำ.

ติดตามอ่านบทความได้ที่เว็บบ้านโพรงไม้.com ค่ะ
www.baanprongmai.com
ดูบทความนี้ที่เว็บไซต์

แสดงความคิดเห็น

>